ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
  • สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน
แสดงกระทู้
This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.
  Messages   Topics   Attachments  

  Topics - raponsan
หน้า: 1 ... 554 555 [556] 557
22201  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / กรรมฐานอันยอดเยี่ยม กับอานิสงส์อันยอดยิ่ง เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2010, 09:14:48 pm


กรรมฐานอันยอดเยี่ยม กับอานิสงส์อันยอดยิ่ง

ว่าด้วยผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ

คาถาบทนี้เป็นของพระสุภูติเถระ พระสุภูติเป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เป็นพระอรหันต์ ที่เป็นเอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเป็นเลิศ
อันประกอบด้วยองค์ ๒ คือ

พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเรา ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส
พระสุภูติเป็นผู้เลิศแห่งภิกษุสาวกของเราผู้เป็นทักขิไณยบุคคล
(ทักขิไณย ผู้ควรแก่ทักขิณา, ผู้ควรรับของทำบุญที่ทายกถวาย)

ครั้งหนึ่งพระสุภูติได้กล่าวถึง อดีตชาติของตน ในสมัยพระพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตระ
 (พระพุทธปทุมุตระ เป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๓ จากพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์)
ครั้งนั้นพระสุภูติมีนามว่า นันทดาบส(หรือโกลิยะ) มีศิษย์ ๔,๔๐๐๐ คน

เมื่อพระปทุมุตระมาโปรดนันทดาบสและศิษย์
พระศาสดาเสด็จมาทางอากาศ และเดินจงกรมบนอากาศให้นันทดาบสดู
ได้สร้างศรัทธาอันยิ่งแก่นันทดาบส  นันทดาบสได้นิมนต์ให้อยู่ ๗ วัน
โดยจัดอาสนะเป็นดอกไม้นานาพรรณ พร้อมไทยธรรมเป็นผลไม้
พระศาสดาได้เข้านิโรธสมาบัติ ตลอด ๗ วัน
ตลอด ๗ วันนั้น นันทดาบสได้เฝ้าพระศาสดาด้วยความปิติ
พร้อมถือฉัตรดอกไม้ใหญ่ยืนกั้นไว้เหนือพระเศียรของศาสดา โดยไม่แตะต้องอาหารเลย

หลังออกจากนิโรธสมาบัติพระศาสดา ได้ให้ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวอนุโมทนาแก่ดาบสทั้งหลาย
จากนั้นพระองค์ได้เทศนาแก่ดาบส จบเทศนาดาบสทั้ง ๔๔,๐๐๐ คนได้สำเร็จอรหันตผล
เว้นแต่นันทดาบสคนเดียวที่ไม่ได้คุณวิเศษเลย เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน เฝ้าแต่ครุ่นคิดว่า
ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นดั่ง ภิกษุรูปที่พระศาสดาใช้ให้กล่าวอนุโมทนาได้

นันทดาบสได้ทูลถามพระศาสดาว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นใคร
พระศาสดาตรัสตอบว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าถึงแล้วซึ่งตำแหน่งเอตทัคคะ
ในองค์แห่งภิกษุผู้อยู่อย่างไม่มีกิเลส
และในองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคล

นันทดาบสได้กล่าวความปรารถนาของตนต่อพระศาสดาว่า
ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่น แต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงเป็นสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ ดุจพระเถระนี้ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิด.
               
พระศาสดาทรงส่งอนาคตังสญาณไปตรวจดูอยู่ว่า ความปราถนาของดาบสนี้จักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงตรวจดูอยู่ ทรงเห็นความปรารถนาของดาบสจะสำเร็จโลยล่วงแสนกัปไปแล้ว จึงตรัสว่า

ดูก่อนดาบส ความปรารถนาของท่านจักไม่เป็นโมฆะ ในอนาคตกาลผ่านแสนกัปไปแล้ว. พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักเสด็จอุบัติขึ้น ความปรารถนาของท่านจักสำเร็จ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมนั้น
จากนั้นทรงพระดำรัสต่อไปว่า

                       
ท่านจงเจริญพุทธานุสสติอันยอดเยี่ยมกว่าภาวนาทั้งหลาย
ท่านเจริญพุทธานุสสตินี้แล้วจักยังใจให้เต็มเปี่ยมได้
            
จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัลป
จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๘๐ ครั้ง
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในแว่นแคว้น ๑๐๐๐ ครั้ง
จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้
จักได้เสวยสมบัตินั้นทั้งหมด นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ)พุทธานุสสติ

   


                   
เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ จักได้โภคสมบัติเป็นอันมาก
จะไม่มีความบกพร่องด้วยโภคะ นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ)พุทธานุสสติ

                         
นแสนกัลป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร
ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ท่านจักทิ้ง
ทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ทาสและกรรมกรเป็นอันมาก จักบวชในพระศาสนาของ
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม จักยังพระสัมพุทธเจ้าโคดมศากยบุตรผู้
ประเสริฐให้ทรงยินดี จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่าสุภูติ

พระศาสดาพระนามว่าโคดม ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว จักทรง
ตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศใน ๒ ตำแหน่ง คือ
ในคณะพระทักขิไณยบุคคล ๑
ในการอยู่โดยไม่มีข้าศึก ๑
พระสัมพุทธเจ้าผู้รุ่งเรือง ทรงเป็นนายกสูงสุดเป็นนักปราชญ์

ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ ดังพญาหงส์ในอัมพร

เราอันพระโลกนาถทรงพร่ำสอนแล้ว นมัสการพระตถาคต มีจิต
เบิกบาน เจริญพระพุทธานุสสติอันอุดมทุกเมื่อ ด้วยกุศลกรรมที่เราทำดี
แล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตนาไว้ เราละกายมนุษย์แล้ว
ได้ไปสู่ภพดาวดึงส์ ได้เป็นจอมเทวดาเสวยทิพยสมบัติ ๘๐ ครั้ง
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐๐ ครั้ง
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณานับมิได้
ได้เสวยสมบัติเป็นอันดี นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ

เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เราย่อมได้โภคสมบัติเป็นอันมาก เรา
ไม่มีความบกพร่องโภคะเลย นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ

ในแสนกัลปแต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมอันใดไว้ในกาลนั้น ด้วยผลแห่ง
กรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง (การเจริญ) พุทธานุสสติ

คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้
แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.


อ้างอิง   : พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม(มหามกุฏ) พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑  สุภูติเถราปทาน.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒  บรรทัดที่ ๑๕๐๒ - ๑๕๙๐.  หน้าที่  ๖๗ - ๗๐.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=1502&Z=1590&pagebreak=0
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๓. สุภูติวรรค ๑. สุภูติเถราปทาน (๒๑)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=23
22202  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / มารู้จักกับ “นางวิสาขา” ในเดือน “วิสาขะ” เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2010, 12:06:35 pm


มารู้จักกับ “นางวิสาขา” ในเดือน “วิสาขะ”

๑. อายุ ๗ ขวบบรรลุโสดาบัน
๒. หญิงงามเบญจกัลยาณี
๓. ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม
๔. ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว
๕. อานิสงส์ของการทำบุญแล้วแถม
๖. นางวิสาขาตำหนิพ่อผัว
๗. พ่อผัวยกย่องนางวิสาขาในฐานะมารดา
๘. คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา
๙. นางวิสาขาร้องไห้อาลัยหลาน
๑๐. นางวิสาขาสร้างวัด
๑๑. เพราะพระเปลือยกายจึงถวายผ้าอาบน้ำฝน
๑๒. พระภิกษุคิดว่านางเป็นบ้า

 

นางวิสาขาเอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกา

อธิบายศัพท์
วิสาข-,วิสาขะ ๒,วิสาขา[วิสาขะ-] น.ชื่อเดือนที่ ๖ แห่งจันทรคติ ตกราวเดือนพฤษภาคม,ถ้าในปีอธิกมาสจะตกราวเดือนมิถุนายน.(ป)

เอตทัคคะ [เอตะ-] น. ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ. (ป.).
ทายิกา ดู ทายก.

ทายก [-ยก] น. ผู้ถวายจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร,ถ้าเป็นเพศหญิงเรียกว่า ทายิกา. (ป., ส.).


ที่มา   พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒



ประวัตินางวิสาขา

นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อว่า ธนญชัย
มารดาชื่อว่าสุมนาเทวี และปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี ขณะที่เธอมีอายุอยู่ในวัย ๗ ขวบ
เป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของเมณฑกะผู้เป็นปู่ยิ่งนัก



๑. อายุ ๗ ขวบบรรลุโสดาบัน
เมื่อเมณฑกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากกำลังเสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ ท่านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ออกไปทำการรับเสด็จที่นอกเมือง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่นั้น เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด

ส่วนเมณฑกเศรษฐี เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงแล้วจึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตนตลอดระยะเวลา ๑๕ วันที่ประทับอยู่ที่ภัททิยนครนั้น

สมัย พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ มีความเกี่ยวข้องกันโดยต่างก็ได้ภคินี (น้องสาว) ของกันและกันมาเป็นมเหสี แต่เนื่องจากในเมืองสาวัตถีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากเลย และได้ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติขนานนับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ คน

ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้งความประสงค์ที่มาในครั้งนี้ ก็เพื่อขอพระราชทานตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ไปอยู่ในเมืองสาวัตถีสักหนึ่งตระกูลพระเจ้าพิมพิสารได้สดับแล้วตรัสตอบว่า “การโยกย้ายตระกูลใหญ่ ๆ เพียงหนึ่งตระกูลก็เหมือนกับแผ่นดินทรุด”

แต่เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้หลังจากที่ได้ปรึกษากับอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี ให้ไปอยู่เมืองสาวัตถีกับพระเจ้าปเสนทิโกศ

ธนญชัยเศรษฐีได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งบริวารและสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เดินทางสู่พระนครสาวัตถีพร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และเมื่อเดินทางเข้าเขตแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้ว
 
ขณะที่พักค้างแรมระหว่างทางก่อนเข้าเมืองธนญชัยเศรษฐีเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณที่พักนั้นเป็นชัยภูมิเหมาะสมดี อีกทั้งตนเองก็มีบริวารติดตามมาเป็นจำนวนมาก ถ้าไปตั้งบ้านเรือนภายในเมืองก็จะคับแคบ จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อตั้งบ้านเมืองลง ณ ที่นั้น และได้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์



๒. หญิงงามเบญจกัลยาณี
ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่งเมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบายเลี่ยงโดยบอกแก่บิดามารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี แล้วจึงจะยอมแต่งงาน

เบญจกัลยาณี ความงามของสตรี ๕ อย่าง คือ
๑. เกสกลฺยาณํ ผมงาม คือ หญิงที่มีผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขึ้น
๒. มงฺสกลฺยาณํ เนื้องาม คือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี
๓. อฏฺฐิกลฺยาณํ กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน
๔. ฉวิกลฺยาณํ ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดังดอกกรรณิกา
๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม คือ หญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่างกายสาวสวยดุจคลอดครั้งเดียว


บิดามารดาเมื่อได้ฟังแล้วจึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอิตถี ลักษณะมาถามว่า
หญิงผู้มีความงามดังกล่าวนี้มีหรือไม่ เมื่อพวกพราหมณ์ตอบว่ามี จึงส่งพราหมณ์เหล่านั้นออกเที่ยวแสวงหาตามเมืองต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบพวงมาลัยและเครื่องทองหมั้นไปด้วย


๓. ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม
พวกพราหมณ์เที่ยวแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ จนมาถึงเมือง
สาเกต ได้พบนางวิสาขามีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถี ลักษณะครบทุกประการ ขณะที่นางพร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคงเดินด้วยอาการปกติ ทำให้พวกพราหมณ์ทั้งหลายรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนาง ด้วยจึงถามนางว่า “ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนกับหญิงอื่น ๆ

” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งามได้แก่
๑. พระราชา ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ
๒. บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์
๓. สตรี ผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลาย นอกจากจะดูไม่งานแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจน
เสียโฉม หรือพิการ จะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณค่า
๔. ช้างมงคล ตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง


พวกพราหมณ์ได้เห็นปัญญาอันชาญฉลาด และคุณสมบัติ เบญจกัลยาณี ครบทุกประการ
แล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้านเพื่อทำการสู่ขอต่อพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาขาเป็นการหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคลธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับ ชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับด้วยเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก
 
นอกจากนี้ ธนญชัยเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมายมหศาล อีกทั้งส่งกุฏุมพีผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย



๔. ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว
ก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐีได้อบรมมารยาทสมบัติของ
กุลสตรีผู้จะไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการ เป็นแนวปฏิบัติ คือ

โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและสามีออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง
โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง
โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้วแล้วนำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้ว แล้วไม่นำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ยากจนมาขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วจะให้คืนหรือไม่ให้คืน ก็ควรให้
โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อผัว แม่ผัวและสามีโอวาทข้อที่ ๗ พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อผัวแม่ผัวและสามีโอวาทข้อที่ ๘ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามีบริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคภายหลัง
โอวาทข้อที่ ๙ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัวและสามีเป็นเหมืองกองไฟ และพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล
โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสอมว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม



๕. อานิสงส์ของการทำบุญแล้วแถม
ธนญชัยเศรษฐี ให้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติเพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา
สำหรับใช้สอยเมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามี เฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เพียงอย่างเดียวก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือน เช่นกัน เมื่อถึงกำหนดนางวิสาขาได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารทรัพย์สินเงินทองของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมากมายมหาศาล ที่บิดาจัดการมอบให้

แม้กระนั้น โคกระบือที่อยู่ในคอกยังทำลายคอกวิ่งออกตามขบวนของนางวิสาขาไปอีก
จำนวนมาก ทั้งนี้ด้วยอานิสงส์แห่งการทำบุญถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือ ในครั้งที่นางวิสาขาเดิมเป็นธิดาของพระเจ้ากิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำ และทั้ง ๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “พอแล้ว ๆ” ก็ยังตรัสว่า “พระคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวายเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้ บันดาลให้โคเหล่านั้นแม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ก็ยังโดดออกจากคอกวิ่งตาม ขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก


๖. นางวิสาขาตำหนิพ่อผัว
เมื่อนางวิสาขา เข้ามาสู่ตระกุลของสามีแล้ว เพราะความที่เป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอน
เป็นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีน้ำใจเจรจาไพเราะ ให้ความเคารพผู้ที่มีวัยสูงกว่าตน จึงเป็นที่รักใคร่และชอบใจของคนทั่วไป ยกเว้นมิคารเศรษฐีของสามี ซึ่งมีจิตฝักใฝ่ในนักบวชอเจลกชีเปลือย โดยให้ความเคารพนับถือว่าเป็นพระอรหันต์ และนิมนต์ให้มาบริโภคโภชนาหารที่บ้านของตนแล้ว สั่งให้คนไปตามนางวิสาขามาไหว้พระอรหันต์ และให้มาช่วยจัดเลี้ยงอาหารแก่อเจลกชีเปลือยเหล่านั้นด้วย

นางวิสาขา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาชั้นโสดาบันพอได้ยินคำว่า อรหันต์ ก็รู้สึกปีติยินดีรีบ
มายังเรือนของมิคารเศรษฐี แต่พอได้เห็นอเจลกชีเปลือย ก็ตกใจจึงกล่าวว่า “ผู้ไม่มีความละอาย เหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้” พร้อมทั้งกล่าวติเตียนมิคารเศรษฐีแล้วกลับที่อยู่ของตน


ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขาคอย
ปรนนิบัติอยู่ใกล้ ๆ ได้มีพระเถระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมาหยุดยืนที่หน้าบ้านของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาทราบดีว่าเศรษฐีแม้จะเห็นพระเถระแล้วก็ทำเป็นไม่เห็น นางจึงกล่าวกับพระเถระว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างหน้าก่อนเถิด ท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่”

เศรษฐี ได้ฟังดังนั้นแล้วจึงโกรธเป็นที่สุด หยุดบริโภคอาหารทันทีแล้วสั่งให้บริวารมา
จับและขับไล่นางวิสาขาให้ออกจากบ้านไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับนางวิสาขาขอชี้แจงแก่กุฎุมพี ๘ นายที่คุณพ่อได้ส่งมาช่วยดูแลนางก่อน และเมื่อมิคารเศรษฐีให้คนไปเชิญกุฎุมพีมาแล้วแจ้งโทษของนางวิสาขาให้ฟัง ซึ่งนางก็แก้ด้วยคำว่า “ที่ดิฉันกล่าวอย่างนั้น หมายถึง มิคารเศรษฐีบิดาของสามีกำลังบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ” กุฎุมพีทั้ง ๘ จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า “เรื่องนี้นางวิสาขาไม่มีความผิด”




๗. พ่อผัวยกย่องนางวิสาขาในฐานะมารดา

เมื่อมิคารเศรษฐี ฟังคำชี้แจงของลูกสะใภ้แล้วก็หายโกรธขัดเคือง และกล่าวขอโทษนาง
พร้อมทั้งอนุญาตให้นางนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตใน เรือนของตน ขณะที่นางวิสาขาจัดถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์อยู่นั้น ก็ได้ให้คนไปเชิญมิคารเศรษฐีมาร่วมถวายภัตตาหารด้วย แต่เศรษฐีเมื่อมาแล้วไม่กล้าที่ออกไปสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงแอบนั่งอยู่หลังม่าน

เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมิคารเศรษฐีแม้จะหลบอยู่หลังม่านก็มีโอกาสได้ฟังธรรมด้วยจนจบ และได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลในพุทธศาสนาเป็นสัมมาทิฎฐิบุคคลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทันใดนั้น มิคารเศรษฐีได้ออกมาจากหลังม่านแล้วตรงเข้าไปหานางวิสาขาใช้ปากดูดถันของลูกสะใภ้ และประกาศให้ได้ยินทั่วกัน ณ ที่นั้นว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอเธอจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า” และตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาก็ได้นามว่า “มิคารมารดา” คนทั่วไปนิยมเรียกนางว่า “วิสาขามิคารมารดา”



๘. คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา
ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็น
พิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ หลายประการ เช่น

๑. ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-หญิง ถึง ๒๐ คน ลูก
เหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขา นางมีอายุยืนได้เห็นหลานได้เห็นเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น คนพวกอื่นจะไม่สามารถทราบได้ว่านางวิสาขาคือคนไหน แต่จะสังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกได้ทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั่นแหละจึงจะทราบว่านางวิสาขาคือคนไหน

๒. นางมีกำลังมากเท่ากับช้าง ๕ เชือกรวมกัน ครั้งหนึ่งพระราชามีพระประสงค์จะ
ทดลองกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลายตัวที่มีกำลังมากเพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นางเห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ถ้ารับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียวแล้วผลักไป ช้างก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เราก็จะเป็นบาป ควรจะรักษาชีวิตช้างไว้จะดีกว่า” นางจึงใช้นิ้วมือเพียงสองนิ้วจับช้างที่งวงแล้วเหวี่ยงไปปรากฏว่าช้างถึงกับล้มกลิ้งแต่ไม่เป็นอันตราย

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ชนทั้งหลายเมื่อขจัดงานมงคลในบ้านเรือนของตนจึงพา กันเชิญ
นางวิสาขาให้ไปเป็นประธานในงาน มอบให้นางเป็นผู้นำในพีธีต่าง ๆ แม้แต่อาหารก็ให้นางทานก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล จนนางวิสาขาไม่มีเวลาดูแลปฏิบัติพระภิกษุที่มาฉันในบ้านของตน ต้องมอบให้ลูก ๆ หลาน ๆ ดำเนินการให้




๙. นางวิสาขาร้องไห้อาลัยหลาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารบุพพาราม ซึ่งนางวิสาขาเป็นผู้สร้าง
ถวายใกล้กรุงสาวัตถี ขณะนั้นหลานสาวชื่อว่าสุทัตตีผู้เป็นที่รักเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของนางได้ ถึงแก่กรรมลง ทำให้นางเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้รำพันถึงหลานรัก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทั้ง ๆ ที่กำลังร้องไห้อยู่ด้วยพระพุทธองค์ตรัสถามเหตุแห่งความเศร้า ทรงทราบโดยตลอดแล้ว จึงตรัสถามว่า

“ดูก่อนวิสาขา ในพระนครสาวัตถีนี้ เธอต้องการบุตรหลานสักกี่คน ?”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการบุตรหลานในพระนครนี้ทั้งหมด พระเจ้าข้า”

“ดูก่อนวิสาขา ก็ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละเท่าไร ?”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละ ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ถึงวัน
ละ ๑๐ คนบ้าง พระเจ้าข้า”


“ดูก่อนวิสาขา ถ้าคนเหล่านั้นเป็นบุตรหลานของเธอจริง เธอก็คงมีหน้าเปียกชุ่มด้วยน้ำ
ตาโดยไม่มีวันแห้งเหือด วิสาขา คนในโลกนี้ ผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๕๐ เช่นกัน

“ดูก่อนวิสาขา เราขอบอกเธอว่า ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ที่คนทั้ง
หลายประสบกันอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ถ้าไม่มีสัตว์หรือสัตว์อันเป็นที่รักแล้ว ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพันเหล่านั้นก็ไม่มี ผู้นั้นก็จะมีแต่ความสุข

ดังนั้น ผู้ปรารถนาความสุขให้กับตนเอง ก็ไม่ควรทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก”
นางวิสาขา เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสตรัสสอนจบลงแล้ว ก็คลายจากความเศร้าโศก แต่
เพราะความที่นางมีลูกหลานหลายคน ซึ่งต่อจากนั้นอีกไม่นานนักหลานสาวอีกคนหนึ่ง ที่นางได้มอบหมายหน้าที่การปฏิบัติดูแลพระภิกษุสงฆ์ซึ่งนิมนต์มาฉันที่บ้านเป็นประจำ ก็ได้ถึงแก่ความตายลงอีก นางวิสาขาก็ต้องเสียน้ำตาร่ำไห้ด้วยความรักความอาลัยต่อหลานสาวเป็นครั้งที่ สอง และพระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาโปรดนางให้คลายความเศร้าโศกลงดุจเดียวกับครั้งก่อน



๑๐. นางวิสาขาสร้างวัด
โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้า
ไปเวลาเช้าก็จะมีของเคี้ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเองก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่า ๆ เพราะละอายที่พระภิกษุหนุ่มสามเณรีน้อยต่างก็จะมองดูที่มือว่านางถืออะไรมา

และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมเยือนถามไถ่ความสุข ความทุกข์ และความประสงค์ของพระภิกษุสามเณร และเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุก ๆ องค์ก่อนแล้วจึงกลับบ้าน

วันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้
ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้านนางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา
แต่สั่งว่าถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืนมาให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ”

ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายในราคา ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้างดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร

พระบรมศาสดารับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาในการก่อสร้างถึง ๙ เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่า “พระวิหารบุพพาราม”



๑๑. เพราะพระเปลือยกายจึงถวายผ้าอาบน้ำฝน
โดยปกตินางวิสาขา จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาเสวยและ
ฉันภัตตาหารที่บ้านของนางเป็นประจำ เมื่อการจัดเตรียมภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยพร้อมแล้ว ก็จะให้สาวใช้ไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปยังบ้านของนาง

วันหนึ่ง สาวใช้ได้มาตามปกติเหมือนทุกวัน แต่วันนั้นมีฝนตกลงมาพระสงฆ์ทั้งหลาย จึง
พากันเปลือยกายอาบน้ำฝน เมื่อสาวใช้มาเห็นเข้าก็ตกใจเพราะความที่ตนมีปัญญาน้อยคิดว่าเป็นนักบวชชีเปลือย จึงรีบกลับไปแจ้งแก่นางวิสาขาว่า


“ข้าแต่แม่เจ้า วันนี้ที่วัดไม่มีพระอยู่เลย เห็นมีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำ กันอยู่”

นางวิสาขาได้ฟังคำบอกเล่าของสาวใช้แล้ว ด้วยความที่นางเป็นพระอริยบุคคลชั้น
โสดาบัน เป็นมหาอุบาสิกา เป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใส มีความใกล้ชิดกับพระภิกษุสงฆ์ จึง
ทราบ เหตุการณ์โดยตลอดว่า พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอย
เพียง ๓ ผืน คือ ผ้าจีวรสำหรับห่ม ผ้าสังฆาฎิสำหรับห่มซ้อน และผ้าสบงสำหรับนุ่ง

ดังนั้นเมื่อเวลาพระภิกษุจะอาบน้ำจึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ ก็จำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำอาศัยเหตุนี้ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่บ้านและเสร็จภัตกิจแล้ว นางวิสาขา จึงได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาตตามที่ขอนั้น และนางวิสาขาก็เป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์



๑๒. พระภิกษุคิดว่านางเป็นบ้า

นางวิสาขา ได้ชื่อว่าเป็นมหาอุบาสิกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกา ทะนุบำรุงพระ
พุทธศาสนาด้วยวัตถุจตุปัจจัยไทยทานต่าง ๆ ทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวม และถวายเป็นของส่วนบุคคลคือแก่พระภิกษุแต่ละองค์ ๆ การทำบุญของนางนับว่าครบถ้วนทุกประการตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ดังคำที่นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือ วัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วยคำว่า

“ความปรารภนาใด ๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ทั้งหมดของเราได้
สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้วความปรารถนาเหล่านั้น คือ

๑. ความปรารถนาที่จะสร้างปราสาทฉาบด้วยปูนถวายเป็นวิหารทาน
๒. ความปรารถนาที่จะถวายเตียง ตั่ง ฟูก หมอน และเสนาสนภัณฑ์
๓. ความปรารถนาที่จะถวายสลากภัตเป็นโภชนาทาน
๔. ความปรารถนาที่จะถวายผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็น จีวรทาน
๕. ความปรารถนาที่จะถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน


ความปรารถนาเหล่านั้นของนางวิสาขาสำเร็จครบถ้วนทุกประการ สร้างความเอิบอิ่มใจ
แก่นางยิ่งนัก นางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิหารทานพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว
พระภิกษุทั้งหลายได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้ว ต่างก็รู้สึกประหลาดใจ ไม่
ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาง

จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขาก็เป็นเวลานานพวก ข้าพระ
องค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลงและแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย
แต่วันนี้ นางอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาบุตรธิดาและหลาน ๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาทและบ่นพึมพำคล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้วหรืออย่างไร พระเจ้าข้า ?”


พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องเพลงหรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหรอก แต่ที่
ธิดาของเราเป็นอย่างนั้นก็เพราะความปีติยินดีที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้ นั้นสำเร็จลุล่วง
สมบูรณ์ทุกประการ นางจึงเดินเปล่งอุทานออกมาด้วยความอิ่มเอมใจด้วยเหตุที่นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ และได้ถวายวัตถุจตุปัจจัยในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
 
ดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงประกาศยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นทายิกา


ที่มา    http://www.84000.org/one/4/02.html
หากต้องการอ่านเนื้อหาโดยละเอียด คลิกลิงค์ข้างล่างเลยครับ
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=14&p=8
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔
22203  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / "พระฉัพพรรณรังสี" ของพระพุทธเจ้า เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2010, 11:41:15 am
 
๏ พระฉัพพรรณรังสีที่แผ่จากพระวรกายพระพุทธเจ้า


ฉัพพรรณรังสี คือแสงสว่างที่พวยพุ่งออกจากจุดกลางเป็นรัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระสรีรกายของพระพุทธเจ้า คือ

๑. นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฏฐะ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
๖. ปภัสสระ เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก


สีทั้ง ๖ นี้ไม่ได้พุ่งออกเป็นสีๆ ดังที่แยกไว้นี้ แต่แผ่ออกมาพร้อมกันในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงพระฉัพพรรณรังสีที่แผ่ซ่านออกจากพระกายพระพุทธเจ้า ไว้ดังนี้

"ในลำดับนั้น พระฉัพพรรณรังสีก็โอภาสแผ่ออกจากพระสริรกาย

อันว่านิลประภาก็เขียวสดเสมอด้วยสีแห่งดอกอัญชันมิฉะนั้น ดุจพื้นแห่งเมฆแลดอกนิลุบลแลปีกแห่งแมลงภู่ ผุดออกจากอังคาพยพในที่อันเขียวแล่นไปจับเอาราวป่า

และพระรัศมีที่เหลืองนั้นมีครุวนา ดุจสีเขียวแล่นไปจับเอาราวป่า แลพระรัศมีที่เหลืองนั้นมีครุวนา ดุจสีหรดารทองแลดอกกรรณิการ์แลกาญจนปัฏอันแผ่ไว้ พระรัศมีออกจากพระสริรประเทศในที่อันเหลืองแล้ว แล่นไปสู่ทิศานุทิศต่างๆ

พระรัศมีที่แดงอย่างพาลทิพากรแลแก้วประพาฬ แลกุมุทปทุมกุสุมชาติ โอภาสออกจากพระสริรอินทรีย์ในที่อันแดงแล้วแล่นฉวัดเฉวียนไปในประเทศที่ทั้งปวง

พระรัศมีมีที่ขาวก็ขาวดุจดวงรัชนิกร แลแก้วมณี แลสีสังข์ แลแผ่นเงิน แลดวงดาวพกาพฤกษ์ พุ่งออกจากพระสริรประเทศในที่อันขาวแล้วแล่นไปในทิศโดยรอบ

พระรัศมีหงสสิบาทก็พิลาสเล่ห์ดุจสีดอกเซ่ง แลดอกชบา แลดอกหงอนไก่ออกจากรัชกายรุ่งเรืองจำรัส
พระรัศมีประภัสสรประภาครุนา ดุจสีแก้วพลึกแลแก้วไพฑูริย์เลื่อมประประภัสสร


พระฉัพพรรณรังสีทั้ง ๖ ประการแผ่ไพศาลแวดล้อมไปโดยรอบพระสกลกายยินทรีย์ กำหนดที่ ๑๒ ศอก โดยประมาณ อันว่าศศิสุริยประภาแลดาราก็วิกลวิการอันแสง เศร้าสีดุจหิ่งห้อยเหือดสิ้นสูญ มิได้จำรูญไพโรจโชติชัชวาล"

    รัศมีเฉกเช่นฉัพพรรณรังสีนี้มีเฉพาะพระพุทธเจ้าและเทวดาเท่านั้น นอกจากนี้ก็เกิดแต่ธรรมชาติเช่นสีรุ้งที่เรียกกันเป็นสามัญว่ารุ้งกินน้ำ หรือ พระจันทร์ พระอาทิตย์ทรงกลด ที่ออกจากเทวดานั้นจะเห็นได้ดังที่พรรณนาไว้ในพระสูตรต่างๆ ในเวลาที่เทวดามาเฝ้าพระพุทธเจ้าดังนี้

   มีเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีสว่างจ้าเข้ามายังพระเชตวัน ทำพระเชตวันให้สว่างไสวไปทั่วบริเวณ เข้าเผ้าพระทุทธเจ้าที่ประทับความสว่างของรัศมีนั้น ไม่เหมือนแสงเดือนแสงตะวัน หรือไม่เหมือนแสงไฟ เป็นแสงสว่างที่เสมอกันทั้งหมด และเป็นแสงสว่างที่ไม่มีเงาเหมือนแสงอื่นเป็นแสงที่แผ่ไปติดอยู่ทั่วบริเวณ

มีข้อความในปฐมสมโพธกถา ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมจักรปริวรรตว่าดังนี้

    "ฝ่ายอุปกาชีวเดินมาโดยทุราคมวิถีทางไกล ระหว่างคยาประเทศเขตเมืองราชคฤห์กับมหาโพธิญาณ ติดต่อกัน แลเห็นไพสณฑ์สถานอันโอฬารไพโรจน์พรรณราย ด้วยข่ายฉัพพรรณรังสีโสณิวิลาส ปรากฏโดยทิวาทัศนาการทั้งพสุธารแลอากาศโอภาสด้วยพระรัศมีมีพรรณแห่งละ ๖ อย่าง ทั่วทั้งทิศล่างและทิศบน มาสัมผัสกายตนประหลาดมหัศจรรย์ไม่เคยได้พบเห็นเป็นเช่นนี้มาแต่ก่อน

        ถ้าจะเป็นเพลิง ไฉนกายอาตมาจึงไม่ร้อนกระวนกระวาย แม้จะเป็นน้ำ ไฉนกายอาตมาจะไม่ชุ่มชื้นเย็นนี่จะเป็นสิ่งอันใดยิ่งสงสัยสนเท่ห์จิต จึงเพ่งพิศไปข้างโน้นข้างนี้ ก็เห็นองค์พระผู้ทรงสวัสดิ์ภาคย์เสด็จบทจรมา รุ่งเรืองด้วยพระสิดิฉันธมหาหว่างติสสุระ ลักษณะแลพระพยามประภาโอภาสเบื้องบน พระสุริยก็ช่วงโชติด้วยพระเกตุมาลา ครุนาดุจทองทั้งแท่งประดับด้วฉัพพรรณรังสี รังสีแสงไพโรจน์จำรัส"


ที่มา  เว็บพลังจิต
--------------------------------------------------------------------------------

พระพุทธฉัพพรรณรังสี


ใน พระธัมมสังคณีภาคหนึ่งเล่มที่ ๑ คัมภีร์ที่ ๑ ในพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ บรรยายว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง เริ่มตั้งแต่พระคัมภีร์ที่ ๑ - ๖ เป็นการแสดงให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรมทั้งปวง ระยะนั้นไม่มีความพิศดารแปลกประหลาด

แต่เมื่อทรงแสดงคัมภีร์ที่ ๗ มหาปัฏฐาน อันเป็นพระอภิธรรมประเสริฐยิ่ง ทรงปลื้มปิตี ยินดีอย่างล้นพ้น เกิดพระฉัพพรรณรังสี พระพุทธองค์ทรงพิจารณาธรรมนั้นอยู่ถึง ๗ วัน ด้วยสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ทุก ๆ พระองค์

ฉัพพรรณรังสีมี ๖ สี คือ สีเขียว ขาว แดง เหลือง ม่วง และประภัสสร (เลื่อมพราย) ท่านอุปมาว่า

สีเขียว - นิลกะ สีเขียวเข้มเหมือนดอกอัญชัน ดอกสามหาว กลีบบัวเขียวที่ซ่านออกไปจากพระเกสา คือ ผม และพระมัสสุ (หนวด) ออกมาจากสีเขียวแห่งพระเนตรทั้งสอง

สีขาว - โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน เหมือนน้ำนม และดอกโกมุท ดอกย่านทรายและมลิวัลย์ ซ่านออกมาจากพระอัฐิ (กระดูก) พระทนต์ (ฟัน) และสีขาวออกจากพระเนตรทั้งสอง

สีแดง - โลหิต แดงเหมือนสีตะวันทอง สีผ้ากัมพล ดอกชัยพฤกษ์ ดอกทองกวาว ดอกชบา ที่ออกมาจากพระมังสะ (สีเนื้อ) พระโลหิต (สีเลือด) ซ่านออกมาจากพระเนตรทั้งสอง

สีเหลือง - ปิตะ สีเหมือนแผ่นทองคำ สีเหลืองเหมือนผงขมิ้น ดอกกรรณิการ์ที่ซ่านออกมาจากพระฉวีวรรณ(ผิว)

สีม่วง - มันชิถะ เหมือนสีเท้าหงส์ที่เรียกว่า หงสบาท สีดอกหงอนไก่ สีม่วงแดง ที่ซ่านออกมาจากพระสรีระ (ร่างกาย)

สีประภัสสร - สีเลื่อมพราย เหมือนสีแก้วผลึกที่เรียกว่า สีเลื่อมประภัสสร ออกมาจากพระสรีระเช่นกัน

ฉัพพรรณรังสีที่ซ่านออกมาหลังจาก ทรงพิจารณาพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาถึงคัมภีร์มหาปัฏฐาน ในเบื้องต้นฉัพพรรณรังสีออกจากพระวรกายไปสู่เบื้องล่าง

จากมหาปฐพีใหญ่ อันหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ รัศมีเหล่านั้นลอดทะลุแผ่นดิน ลงไปจับน้ำในแผ่นดินหนาถึงสี่แสนแปดหมื่นโยชน์ รัศมีเหล่านั้นเมื่อเจาะทะลุลมแล้ว แล่นลงไปสู่อัชฎากาส อากาศว่าง ๆ ภายใต้ลม

ฉัพพรรณ รังสีที่แผ่ไปสู่เบื้องบนแผ่ไปตั้งแต่มนุษย์และเทวภูมิ ๖ คือ จากนั้นแผ่ไปยังพรหมโลก ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชา จนถึงชั้นสุทธาวาส ๕ แล้วแล่นไปสู่อัชฎากาส

ฉัพพรรณรังสี ที่ไปสู่เบื้องขวาอันหาที่สุดมิได้ ไม่มีรัศมีใด ๆ ที่เทียบเท่าได้เลย แม้รัศมีของพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว และเทวดาทั้งหลายก็สู้ไม่ได้

ทีมา   http://www.gmwebsite.com

22204  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / เหตุให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ "ไม่นานและนาน" เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2010, 11:17:22 am
เหตุให้พระศาสนาดำรงอยู่ไม่นานและนาน

   [๗] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิด
ขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ของพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน ดังนี้ ครั้นเวลาสายัณห์ท่านออกจากที่เร้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ-ภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลว่า

     พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไปในที่สงัดหลีกเร้นอยู่ ณ ตำบลนี้ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไหนไม่ดำรงอยู่นาน ขอพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน.

   พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสารีบุตร พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค

พระนามวิปัสสี
พระนามสิขี
และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน


ของพระผู้มีพระภาค
พระนามกกุสันธะ
พระนามโกนาคมนะ
และพระนามกัสสปะดำรงอยู่นาน.

   ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี
พระนามสิขี และพระนามเวสสภู ไม่ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?


   ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภู
ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย

อนึ่ง สุตตะ เคยยะเวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีน้อย สิกขาบทก็มิได้ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็มิได้ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น

    เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ยังไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ลมย่อมกระจาย ขจัด กำจัด ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเขาไม่ได้ร้อยด้วยด้าย ฉันใด

    เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกันต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงยังพระศาสนานั้นให้อันตรธานโดยฉับพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงกำหนดจิตของสาวกด้วยพระหฤทัย แล้วทรงสั่งสอนสาวก.


   ดูกรสารีบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม
เวสสภู ทรงกำหนดจิตภิกษุสงฆ์ด้วยพระหฤทัยแล้วทรงสั่งสอน พร่ำสอน ภิกษุสงฆ์ประมาณพันรูป ในไพรสนฑ์อันน่าพึงกลัวแห่งหนึ่งว่า พวกเธอจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าได้ทำในใจอย่างนั้น จงละส่วนนี้ จงเข้าถึงส่วนนี้อยู่เถิด ดังนี้

    ลำดับนั้นแลจิตของภิกษุประมาณพันรูปนั้น อันพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามเวสสภูทรงสั่งสอนอยู่อย่างนั้น ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นในเพราะความที่ไพรสณฑ์อันน่าพึงกลัวนั้นซิ เป็นถิ่นที่น่าสยดสยอง จึงมีคำนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ไพรสณฑ์นั้น โดยมากโลมชาติย่อมชูชัน.


   ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามวิปัสสี พระนามสิขี และพระนามเวสสภูไม่ดำรงอยู่นาน.

   ส. อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะพระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า?

   ภ. ดูกรสารีบุตร พระผู้มีพระภาคพระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ มิได้ทรงท้อพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวกทั้งหลาย

      อนึ่ง สุตตะเคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน  อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
ของพระผู้มีพระภาคทั้งสามพระองค์นั้นมีมาก สิกขาบทก็ทรงบัญญัติ ปาติโมกข์ก็ทรงแสดงแก่สาวก เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น

       เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ดูกรสารีบุตร ดอกไม้ต่างพรรณที่เขากองไว้บนพื้นกระดาน ร้อยดีแล้วด้วยด้าย ลมย่อมกระจายไม่ได้ ขจัดไม่ได้ กำจัดไม่ได้ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาร้อยดีแล้วด้วยด้าย ฉันใด

  เพราะอันตรธานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะอันตรธานแห่งสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น สาวกชั้นหลังที่ต่างชื่อกัน ต่างโคตรกัน ต่างชาติกัน ออกบวชจากตระกูลต่างกัน จึงดำรงพระศาสนานั้นไว้ได้ตลอดระยะกาลยืนนาน ฉันนั้น เหมือนกัน.

   ดูกรสารีบุตร อันนี้แลเป็นเหตุ อันนี้แลเป็นปัจจัย ให้พระศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระนามกกุสันธะ พระนามโกนาคมนะ และพระนามกัสสปะ ดำรงอยู่นาน.

ปรารภเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบท

   [๘] ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะ ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ประณมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระสุคตถึงเวลาแล้ว ที่จะทรงบัญญัติสิกขาบท ที่จะทรงแสดงปาติโมกข์แก่สาวก อันจะเป็นเหตุให้พระศาสนานี้ยั่งยืนดำรงอยู่ได้นาน.


   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จงรอก่อน สารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้
กาลในกรณีย์นั้น พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดงปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้

ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรม(ธรรมอันก่อให้เกิดอาสวะ) บางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ 

อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนาน ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยภิกษุผู้บวชนานแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ


อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลาย ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่โดยแพร่หลายแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวกเพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ

อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ตลอดเวลาที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภ ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นหมู่ใหญ่เลิศโดยลาภแล้ว และอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ย่อมปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงจะบัญญัติ-สิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้นแหละ

ดูกรสารีบุตร ก็ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ปราศจากมัวหมองบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งอยู่ในสารคุณ เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุที่ทรงคุณธรรมอย่างต่ำ ก็เป็นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.
               
ที่มา      พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค
   พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

            

22205  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / มหาสุบิน ๕ ประการ ก่อนการตรัสรู้ เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2010, 11:11:37 am
มหาสุบิน, ความฝันของพระโพธิสัตว์


   คือความฝันอันยิ่งใหญ่  เป็นความฝันครั้งสำคัญ ซึ่งหมายถึง
ความฝัน ๕ เรื่อง (ปัญจมหาสุบิน)   ของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้
ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  (พระอรรถกถาจารย์ระบุว่า
ทรงพระสุบินในคืนก่อนตรัสรู้ คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖  แต่อาจารย์
บางพวกกล่าวว่า วันขึ้น ๑๓ ค่ำก็มี)  ดังตรัสไว้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย
ปัญจกนิบาต พระสุตตันตปิฎก ใจความว่า

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  มหาสุบิน  ๕  ประการ  ปรากฏแก่ตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็น
โพธิสัตว์อยู่  ๕ ประการเป็นไฉน  คือ 

   แผ่นดินใหญ่นี้เป็นที่นอนใหญ่  ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนยมือซ้าย
หย่อนลงในสมุทรด้านทิศบูรพา  มือขวาหย่อนลงในสมุทรด้านทิศประจิม
เท้าทั้งสองหย่อนลงในสมุทรด้านทิศทักษิณ  นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๑ 
ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้ 
ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  ฯ


   อีกประการหนึ่ง  หญ้าคาได้ขึ้นจากนาภีของตถาคตอรหันต
สัมมาสัมพุทธะก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ 
จดท้องฟ้า  ตั้งอยู่  นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๒  ปรากฏแก่ตถาคตอรหันต
สัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  ฯ


   อีกประการหนึ่ง หมู่หนอนมีสีขาว ศีรษะดำ ได้ไต่ขึ้นมาจากเท้าของ
สัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์
อยู่  ปกปิดตลอดถึงชานุมณฑล  นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๓  ปรากฏแก่
ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็น
พระโพธิสัตว์อยู่  ฯ


   อีกประการหนึ่ง  นกสี่เหล่ามีสีต่างๆ กัน  บินมาจากทิศทั้งสี่ 
ตกลงแทบเท้าของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้ 
ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  แล้วกลับกลายเป็นสีขาวทุกตัว 
นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๔  ปรากฏแก่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ 
ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  ฯ 


   อีกประการหนึ่ง  ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้ 
ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  เดินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ 
(แต่)  ไม่แปดเปื้อนคูถ  นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๕  ปรากฏแก่ตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็น
พระโพธิสัตว์อยู่  ฯ


   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ข้อที่แผ่นดินใหญ่นี้  เป็นที่นอนใหญ่ของ
ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็น
พระโพธิสัตว์อยู่ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย  มือซ้ายหย่อนลงในสมุทร
ด้านทิศบูรพา  มือขวาหย่อนลงในสมุทรด้านทิศประจิม  เท้าทั้งสอง
หย่อนลงในสมุทรด้านทิศทักษิณ  นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๑  ปรากฏ
เพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า
 
   ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
ที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า  ฯ


   ข้อที่หญ้าคาได้ขึ้นจากนาภีของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ 
ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  จดท้องฟ้าตั้งอยู่ 
นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๒  ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า
 
   ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะได้ตรัสรู้  อริยมรรคมีองค์  ๘ 
แล้วประกาศด้วยดี  ตลอดถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ฯ

   ข้อที่หมู่หนอนมีสีขาว  ศีรษะดำ  ได้ไต่ขึ้นจากเท้าของตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็นพระ
โพธิสัตว์อยู่  ปกปิดตลอดถึงชานุมณฑล  นี้เป็นมหาสุบินข้อที่  ๓ 
ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า 

   คฤหัสถ์  ผู้นุ่งห่มผ้าขาวจำนวนมากได้ถึงตถาคตเป็นสรณะ
ตลอดชีวิต  ฯ 

   ข้อที่นกสี่เหล่ามีสีต่างๆ  กัน  บินมาจากทิศทั้งสี่  ตกลงแทบเท้า
ของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยัง
เป็นพระโพธิสัตว์อยู่  แล้วกลับกลายเป็นสีขาวทุกตัว  นี้เป็นมหาสุบิน
ข้อที่  ๔  ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า
 
   วรรณะทั้งสี่เหล่านี้  คือ  กษัตริย์  พราหมณ์  แพศย์  ศูทร
ออกบวชในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว  ก็ทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติอัน
ยอดเยี่ยม  ฯ 


   ข้อที่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้  ยังไม่ได้
ตรัสรู้  ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่  เดินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ (แต่) ไม่
แปดเปื้อนคูถนี้  เป็นมหาสุบินข้อที่ ๕ ปรากฏเพื่อเป็นนิมิตให้ทราบว่า
 
   ตถาคตได้  (ร่ำรวย)  จีวร  บิณฑบาต  เสนาสนะ  และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร  แล้วไม่ลุ่มหลง  ไม่หมกมุ่นไม่พัวพัน  มีปกติเห็นโทษ 
มีปัญญาเปลื้องตนออกบริโภค 


   ดูกรภิกษุทั้งหลาย  มหาสุบิน  ๕  ประการนี้  ปรากฏแก่ตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ก่อนแต่ตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้  ยังเป็น
พระโพธิสัตว์อยู่  ฯ

ที่มา   พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน
#องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๙๖


22206  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / เหตุใดจึงเป็นผู้มีรูปงาม เมื่อ: พฤษภาคม 06, 2010, 04:27:32 pm
เหตุใดจึงเป็นผู้มีรูปงาม

กรรมที่มีอิทธิพลปรุงแต่งรูปร่าง หน้าตาให้กระเดียดไปในทางหนึ่งๆ
พวกเราทำกรรมกันมา ซับซ้อนหลายหลาก จึงมักเกิดคำถามว่าแล้วมีการเลือกสรรกรรมมาตกแต่งหน้าตาอย่างไร เช่นบางคนเคยร้ายมากและดีมากในชาติเดียวกัน อย่างนี้มิต้องมีหน้าตาพิลึกกึกกือขัดแย้งกันเองแย่หรอกหรือ?

กรรมหลายๆประการทำให้บางคนหน้ากลม บางคนหน้าแหลม บางคนหน้ารูปหัวใจ บางคนหน้ารูปไข่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้ามีบุญปรุงรูปโฉมให้ดีเสียหน่อย พอรวมเครื่องหน้าทั้งหมดก็ยังดูงามได้ทั้งนั้น ผิดกับบางคน ถึงแม้เค้าโครงหน้าตาจะดูดี เครื่องเคราบนใบหน้าก็ไม่มีชิ้นใดผิดรูปผิดทรง แต่รวมออกมาทั้งหมดกลับจืดๆ เฉยๆ ไม่เห็นเด่นสะดุดตาแต่อย่างใด เหล่านี้ล้วนเป็นเพราะการเสกการบันดาลของกรรมเก่า จะไปคิดคำนวณตีค่าความงามเป็นสัดส่วนตายตัวไม่ได้

กรรมที่ทำเป็นประจำจนคนสนิทใกล้ตัวเอาไปโจษกันว่า ‘คนนี้นะ มีนิสัย…’ สิ่งที่สังคมพูดกันตรงกันว่าเราเป็นอย่างไรนั่นแหละ มักมีบทบาทสำคัญในการตกแต่งความงามให้เป็นไปต่างๆ เสมือนเป็นตะกร้าใหญ่ที่รวบรวมเอาผลหมากรากไม้ต่างๆมารวมไว้ในที่เดียว คนเห็นเพียงผาดย่อมเห็นทั้งตะกร้านั้นก่อนที่จะลงไปดูผลไม้เป็นลูกๆ

ขอจำแนกความงามที่เห็นแล้วรู้สึกสะดุดตาสัก ๖ ประเภท พร้อมกรรมอันก่อไว้เป็นเหตุให้งามในประเภทนั้นๆ

๑) งามแบบสง่า บางคนมีรัศมีงามจับตา เห็นเด่นแต่ไกลอยู่ตลอด ท่วงท่าเวลาจะนั่งจะเดินดูมีความจับตาจับใจแปลกประหลาดกว่าคนธรรมดา ในอดีตชาติพวกนี้เคยทำบุญกับผู้มีคุณวิเศษเช่นสมณะที่พยายามเพียรเพื่อละกาม เวลาทำบุญทำด้วยความเคารพลึกซึ้ง จะจัดถวายทานใดก็นิยมพิธีรีตองที่งดงามโดยมีเจตนาให้เกียรติผู้รับ ส่วนในแง่ศีลธรรมนั้น เวลาจะทำผิดอะไรเห็นแก่หน้าพ่อแม่และวงศ์ตระกูล ไม่ทำตามอำเภอใจเพียงเพราะเห็นแก่กิเลสตนเอง แต่ถ้าไม่ค่อยเป็นคนรักเกียรติ ผิดศีลผิดธรรมเก่ง อย่างนี้แม้ทำบุญด้วยความเคารพก็จะได้ผลเป็นความงามสง่าแบบแปลกๆ ไม่ดูดีเต็มร้อย คือบางมุมเหมือนหงส์ แต่บางมุมเหมือนกาก็ได้

๒) งามแบบอ่อนหวาน ความอ่อนหวานดูเป็นธรรมชาติประจำเพศของผู้หญิง แต่ความจริงก็คือมีผู้หญิงไม่กี่คนที่เห็นแล้วทำให้อยากออกปากวิจารณ์ว่า หน้าหวานจริง ส่วนใหญ่จะธรรมดา เอียงไปทางจืดชืดหรือทางคมคายกัน ในอดีตชาติพวกที่หน้าหวานนั้นเคยพูดจาอ่อนโยน ใช้ถ้อยคำหวานหูโดยมีเจตนาให้คนฟังรู้สึกดี ไม่ใช่พูดหวานแต่จิตใจซ่อนแฝงความประสงค์ร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ และไม่ใช่พูดหวานในลักษณะแกล้งดัดจริต เวลาทำบุญจะทำด้วยความนุ่มนวล ผู้หญิงแสดงท่าทีชดช้อย ผู้ชายแสดงท่าทีนบนอบอ่อนน้อม


๓) งามแบบฉูดฉาดจัดจ้าน บางคนสวยหรือหล่อแบบคมเข้ม ดูว่าบาดตาบาดใจก็ได้ หรือดูว่าน่าเขม่นชวนให้อยากชิงดีชิงเด่นกันก็ได้ ในอดีตชาติพวกนี้เวลาทำบุญจะมีจิตคิดออกหน้าออกตา ชอบทำให้คนเห็นเยอะๆ เป็นจุดเด่น เป็นความสนใจ ซึ่งแง่ดีคือเป็นแรงบันดาลใจให้คนเห็นอยากเอาตาม แต่แง่เสียคือเป็นที่หมั่นไส้ได้ และจิตของคนชอบเป็นจุดเด่นในงานบุญนั้น มักพ่วงเอาความโลภเข้าไปเจืออยู่ในบุญ พร้อมจะแปรจิตจากบุญเป็นบาปได้ทันทีที่มีการแก่งแย่งชิงดีทางหน้าตากัน

๔) งามแบบเร้าความรู้สึกทางเพศ บางคนถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ทางเพศโดยไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ปรากฏตัวยังไม่ทันอวดเนื้ออวดหนังสักเท่าไหร่ด้วยซ้ำ ในอดีตชาติพวกนี้เคยทำบุญแบบหวังผลทางรูปร่างหน้าตาโดยเฉพาะ แบบที่ดึงดูดใจเพศตรงข้ามมากๆ

๕) งามแบบน่าเอ็นดูเหมือนเด็กๆ บางคนหน้าอ่อนเยาว์ตลอดชีวิต ดาราบางรายอายุจะ ๕๐ อยู่แล้วยังได้เล่นบทหนุ่ม ๓๐ โดยไม่ต้องอาศัยการแต่งหน้าหรือเทคนิคการถ่ายทำเข้ามาช่วย ในอดีตชาติพวกนี้เคยถวายเครื่องบำรุงสุขภาพ เครื่องชะลอความชราให้แก่สมณะหรือพราหมณ์ โดยมีเจตนาจะยืดอายุของพวกท่าน ให้พวกท่านมีความอ่อนกว่าวัย เพื่อเป็นประโยชน์กับโลกต่อไปนานๆ นอกจากนั้นยังมีศีลข้อแรกสะอาดหมดจด ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่นแม้ด้วยความคิด

๖) งามแบบแปลกประหลาด บางคนมีหลายมุมมองเหลือเกิน บางมุมดูแล้วดี อีกมุมดูแล้วชอบกล เอาไปบอกต่อได้ยากว่างามหรือไม่งามกันแน่ ต้องให้ดูเอาเอง ในอดีตชาติพวกนี้มักทำทานพอประมาณ รักษาศีลพอประมาณ แต่ชอบมีความคิดแหวกแนว พิลึกกึกกือ ไม่ค่อยลงใจสนิทกับทานและศีล ยกตัวอย่างเช่นเป็นยอมใส่บาตรพระกับญาติได้ แต่ก็มักมาพูดทีหลังว่าจะทำไปทำไม น่าจะเก็บไว้กินเองมากกว่า หรือยอมรักษาศีลไม่ประพฤติผิดทางกามกับใคร แต่ก็ชอบไปยั่วเย้าให้เขามาอยากมีเพศสัมพันธ์แบบผิดๆกับตน ความคิดซ่อนแฝงที่ขัดแย้งกันกับพฤติกรรมทำนองนี้แหละ ที่ทำให้สวยหล่อแบบแปลกๆ แบบที่สมัยนี้เรียกกันว่าสวยไม่เสร็จ หล่อไม่เสร็จ คือเหมือนยังปั้นไม่ครบ หรือครบแต่เว้าแหว่ง บางส่วนเหมือนหายๆไปไม่เต็มบริบูรณ์

ความงามไม่ได้มีแค่ ๖ ประเภทเท่านี้ แต่ขอยกมาพอสังเขป ขอให้ถือว่าถ้าไม่งามเลย หรือน่าเกลียดอัปลักษณ์ต่างๆนานา ก็ขึ้นอยู่กับศีลไม่บริสุทธิ์และพูดจาระคายโสตเป็นหลัก นอกจากนั้นคือไม่ค่อยทำทาน หรือทำทานด้วยความคิดอุตริไปต่างๆ เหล่านี้มีผลตกแต่งให้หน้าตาดูแย่ได้ทั้งสิ้น ยิ่งพวกชอบพูดหยาบ ชอบสาปแช่งชาวบ้านเป็นงานอดิเรก ถ้าเกิดใหม่มีวาสนาพอได้เป็นคน ก็มักเป็นประเภทสิวปรุ เตี้ยล่ำดำมิด หรือโหนกแก้มไม่เท่ากันไปโน่น

ที่มา : คัดลอกมาจากหนังสือ เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน (ดังตฤณ)
เหตุใดจึงเป็นผู้มีรูปงาม - PaLungJit_com.mht
ขอขอบคุณ คุณแบงก์จ้า




22207  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / ความหมายของ ((( การอโหสิกรรม ))) เมื่อ: พฤษภาคม 06, 2010, 04:21:23 pm
ความหมายของ ((( การอโหสิกรรม )))


การอโหสิกรรม
คำว่า อโหสิกรรม มาจากคำ ๒ คำ คือ อโหสิ เป็นคำภาษาบาลีแปลว่า “ ได้มีแล้ว ” หมายความว่า ได้ให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว กับคำว่า กรฺม ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า การกระทำ หมายถึงการกระทำที่มีเจตนา อโหสิกรรม แปลรวมกันว่า กรรมที่ไม่ส่งผลแก่ผู้กระทำกรรมอีกต่อไป

ตามหลักพระพุทธศาสนา บุคคลที่ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วโดยมีเจตนาในการทำกรรมนั้นจะต้องได้รับผลกรรมตามสมควรแก่การกระทำของตน คนที่ทำร้ายผู้อื่นคนที่คดโกงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงก็จะได้รับผลกรรมนั้น เช่น ตนเองได้รับโทษถูกจำคุก หรือลูกหลานประสบเคราะห์ร้ายต่างๆ ทำให้ตนต้องเสียใจทุกข์ทรมานเพราะการสูญเสีย หรือแม้ไม่ได้รับกรรมในชาตินี้ กรรมก็จะติดตามไปส่งผลในชาติหน้า

แต่กรรมที่ทำไว้นั้นถ้าเป็นกรรมเบาอาจจะไม่ส่งผลก็ได้ หากทำให้กรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม วิธีทำกรรมให้เป็นอโหสิกรรมวิธีหนึ่งคือการยกโทษให้ เช่น เมื่อเราประพฤติล่วงเกินผู้อื่นด้วยกาย วาจา หรือใจ แล้วไปขอให้ผู้ที่เราประพฤติล่วงเกินยกโทษให้ เมื่อท่านยกโทษให้แล้วก็ถือว่ากรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม ไม่ให้ผลอีกต่อไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

ในภาษาไทยคำว่า อโหสิกรรม จึงกลายมามีความหมายว่า การเลิกแล้วต่อกัน การไม่เอาโทษกัน การเลิกจองเวรกัน ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ เมื่อได้ประพฤติล่วงเกินผู้อื่นก็ควรขอให้ผู้นั้นยกโทษให้ และในทำนองเดียวกันหากมีผู้มาขออโหสิกรรมจากเรา ก็ควรยกโทษให้ ไม่อาฆาต พยาบาท จองเวรกัน เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความรักใคร่กัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

กรรม คือ การกระทำ เรียกว่าเป็นเหตุก็ได้ หรือ มัคคก็ได้

ในที่นี้จะเรียกรวมๆว่ามัคคก็แล้วกันเข้าใจง่ายดี

วิบากกรรม ก็คือ ผลของการกระทำ หรือ ผลกรรม หรือ ผล

เรียกให้ไพเราะว่า " ผล คือ วิบากแห่งมัคค " นั่นเอง


ผลกรรมพอจะแบ่งได้ 3 ประเภท

1. กรรมที่ให้ผลตามกาล(คราว)

1.1 กรรมให้ผลในภพนี้(ให้ผลทันตาเห็น)

ได้แก่ผลทานบริสุทธิ์ที่ถวายแก่ ผู้ออกจากฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ และ สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติใหม่ ซึ่งเราเป็นผู้ถวายเป็นคนแรกหรือกลุ่มแรก ก็จะได้สมบัติทันตาเห็น

ได้แก่ผู้บำเพ็ญเพียรเจริญมัคคปฏิปทา บรรลุฌานสมาบัติ 1 - 8 ก็ดี....บรรลุมัคค 4 ....ผล 4 ก็ดี ....สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติก็ดี จะได้ปีติ สุข อุเบกขา ตลอดจนญาณปัญญาทันตาเห็นทีเดียว


1.2 กรรมให้ผลต่อเมื่อเกิดแล้วในภพหน้า(ให้ผลในชั่วโมงหน้า วันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าได้ด้วย)

1.3 กรรมให้ผลในภพต่อๆไป(ให้ผลในชั่วโมงต่อไป วันต่อไป เดือนต่อไป ปีต่อไป ชาติต่อๆๆไปได้ด้วย)

1.4 กรรมให้ผลสำเร็จแล้ว/อโหสิกรรม/ (เป็นกรรมล่วงกาลเวลาแล้ว เลิกให้ผลแล้ว เปรียบเสมือนเมล็ดพืชที่ต้นอ่อนข้างในตายแล้ว ย่อมเพาะไม่ขึ้น)


2. กรรมให้ผลตามกิจ

2.1 กรรมแต่งให้ไปเกิดใหม่(สามารถยังผู้กระทำกรรมนั้น ให้เคลื่อนจากภพหนึ่ง ไปถือปฏิสนธิในภพอื่น เช่นฆ่าตัวตาย)

2.2 กรรมสนับสนุน(ไม่อาจแต่งปฏิสนธิเอง ต่อเมื่อกรรมในข้อ 2.1 แต่งปฏิสนธิแล้ว จึงเข้าสนับสนุนส่งเสริมกรรมในข้อ 2.1 นั้น )


2.3 กรรมบีบคั้น(เมื่อกรรมในข้อ 2.1 แต่งปฏิสนธิแล้ว ก็เข้าบีบคั้นผลกรรมแห่งข้อ 2.1 นั้น ไม่ให้ให้ผลได้เต็มที่ เช่น เป็นคนดีมีความรู้มีความสามารถ แต่บังเอิญได้คู่ครองที่ไม่เอาไหนก็ซวยได้เหมือนกัน)

2.4 กรรมตัดรอน(ย่อมตัดรอนผลกรรมในข้อ 2.1 และ 2.2 ให้ขาดเสีทีเดียว เช่น เกิดเป็นผู้หญิงที่สวยงามประกวดแล้วได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลแน่นอน แต่เกิดอุบัติเหตุเสียโฉมเสียก่อน ไม่เสียชีวิตแค่เสียโฉม)


3. กรรมให้ผลตามลำดับ

3.1 กรรมหนัก กรรมใดหนักกรรมนั้นให้ผลก่อน
ในฝ่าย "อกุศล" อนันตริยกรรม 5 เป็นกรรมที่หนักที่สุด ได้แก่กรรม ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรห้นต์ ประทุษร้ายให้พระพุทธเจ้าทรงห้อพระโลหิต และยุยงทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ตายแล้วไปนรกก่อน

ในฝ่าย "กุศล" ฌานสมาบัติ 8 เป็นกรรมหนักที่สุด ตายแล้วไปพรหมโลกก่อน แต่คนมักไม่ค่อยไปเพราะมันมีความสุขสบาย


3.2 กรรมชิน (ได้แก่กรรมที่เคยทำมามาก ทำมาบ่อยๆ จนชินติดเป็นนิสัย เช่นนั่งสมาธิเป็นนิสัย เป็นต้น)

3.3 กรรมเมื่อจวนเจียน/กรรมอันทำเมื่อจวนจะตายใกล้จะตาย


3.4 กรรมสักแต่ว่าทำ/กรรมอันทำด้วยไม่จงใจ ไม่เจตนาให้ผู้อื่นเดือดร้อน เช่นหกล้มทับมดตายไปด้วย เป็นต้น
------------------------------------------------------------------------

ที่มา http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=4202

22208  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบชีวิตในวัฏสงสารว่า เมื่อ: พฤษภาคม 06, 2010, 04:16:15 pm

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบชีวิตในวัฏสงสารว่า

•   ปุถุชนทั้งหลายเหมือนผู้คนที่ผุด ๆ โผล่ ๆ อยู่กลางน้ำลึก ต้องทนทุกข์ทรมาน สำลักน้ำอยู่อย่างไม่รู้อนาคต ต้องเสี่ยงภัยจากปลาร้ายทั้งหลาย

•   โสดาบันเปรียบเหมือนผู้ที่พยุงตัวพ้นจากผิวน้ำขึ้นมาได้ จนสามารถมองเห็นฝั่ง(แห่งพระนิพพาน) แล้วเตรียมตัวว่ายเข้าหาฝั่งนั้น

•   สกทาคามีบุคคลเปรียบเหมือนผู้ที่กำลังว่ายเข้าหาฝั่ง

•   อนาคามีบุคคลเปรียบเหมือนผู้ที่เข้าใกล้ชายฝั่งมาก คือถึงจุดที่น้ำตื้นพอที่จะหยั่งเท้าถึงพื้นดินได้ แล้วเดินลุยน้ำเข้าหาฝั่ง จึงพ้นจากการสำลักน้ำแล้ว

•   พระอรหันต์เปรียบเหมือนผู้ที่เดินขึ้นฝั่งได้เรียบร้อยแล้ว พ้นจากอันตรายทั้งปวงแล้ว รอวันปรินิพพานอยู่

ท่านผู้อ่านอยากอยู่ในสภาพไหนก็เชิญเลือกเอาเองเถิด.


ที่มา  เว็บพลังจิต
22209  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / พระพุทธเจ้าตรัสถึง "โลกอื่นๆ หรือ ต่างดาว" ไว้ว่าอย่างไร เมื่อ: พฤษภาคม 06, 2010, 03:56:18 pm



พระพุทธเจ้าตรัสถึง "โลกอื่นๆ หรือ ต่างดาว" ไว้ว่าอย่างไร

จักรวาลอันหนึ่ง
   โดยยาวและโดยกว้าง ประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) ส่วนโดยรอบปริมณฑลทั้งสิ้น (ของจักรวาลนั้น) ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์

ขนาดหนาของแผ่นดิน
   ในจักรวาลนั้น แผ่นดินนี้ กล่าวโดยความหนา มีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดหนาของน้ำรองแผ่นดิน
    สิ่งที่รองแผ่นดินนั้นหรือ คือ น้ำอันตั้งอยู่บนลม โดยความหนามีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดความหนาของลมรองน้ำ
    ลมอัน (พัดดัน) ขึ้นฟ้า (โดยความหนา) มีประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ นี่เป็นความตั้งอยู่พร้อมมูลแห่งโลก

ขนาดภูเขาสิเนรุ(เขาพระสุเมรุ) และต้นไม้ประจำทวีป
    อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มี ภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น

    ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป (ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ
    ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ (จาตุ)มหาราช เป็นที่ๆ เทวดา และยักษ์อาศัยอยู่

    ภูเขาหิมวาสูง ๕๐๐ โยชน์ ยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด
ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ ๑๕ โยชน์ ลำต้นสูง ๕๐ โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง)ก็ ยาว ๕๐ โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของ ต้นชมพู(นี้)ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป


  ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร
   ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ
   ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป
   ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป
   ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป
   ต้นปาริฉัตตกะ ในดาวดึงส์

   เพราะเหตุนั้นแล ท่านโบราณจารย์จึงกล่าวไว้ว่า (ต้นไม้ ประจำภพและทวีป คือ) ต้นปาฏลี ต้นสิมพลี ต้นชมพู ต้นปาริตฉัตตะของพวกเทวดา ต้นกทัมพะ ต้นกัปปะ และต้นที่ ๗ คือ ต้นสิรีสะ ดังนี้


ขนาดภูเขา จักรวาล
   ภูเขาจักรวาล หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๒,๐๐๐ โยชน์สูง ขึ้นไป (ในฟ้า) ก็เท่ากันนั้น ภูเขาจักรวาลนี้ตั้งล้อมโลกธาตุทั้งสิ้นนั้นอยู่

ขนาดของภพและทวีป
   ในโลกธาตุนั้น มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภพดาวดึงส์ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ภพอสูร มหานรกอเวจี และชมพูทวีปก็ เท่ากันนั้น อมรโคยานทวีป ๗,๐๐๐ โยชน์ บุพพวิเทหทวีปก็เท่านั้น อุตตรกุรุทวีป ๘,๐๐๐ โยชน์
   อนึ่ง ในโลกธาตุนั้น ทวีป ใหญ่ๆ ทวีป ๑ ๆ มีทวีปน้อยเป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐
   สิ่งทั้งปวง(ที่กล่าวมานี้)นั้น (รวม) เป็นจักรวาล ๑ ชื่อว่า โลกธาตุอัน ๑ และ ๑ ในระหว่างแห่งโลกธาตุ ทั้งหลายมีโลกันตนรก (แห่งละ ๑)
   ๑. มหาฎีกาว่า จักรวาล ก็คือ โลกธาตุ โลกธาตุได้ชื่อว่า จักรวาล ก็เพราะมีภูเขาจักรวาล ซึ่งสัณฐานดังกงรถล้อมอยู่โดยรอบเท่านั้นเองไม่ ใช่จักรวาลอัน ๑ โลกธาตุอัน ๑
   ๒. ท่านว่าจักรวาลหรือโลกธาตุนั้นมีมากนัก ช่องว่างในระหว่างจักรวาล ๓ จักรวาลต่อกัน มีโลกันตนรก ๑ ทุกแห่งไป โดยนัยนี้ คำว่า โลกันตนรก ก็แปลว่า นรกอันตั้งอยู่ในช่องระหว่างจักรวาล ๓ อันนั่นเอง



พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "จูฬนีสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๒๑๕ เล่ม ๒๐ ว่า
    จักรวาล ประกอบด้วยดวงจันทร์ โลก ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจร ไปร่วมกัน
    จะมีขุนเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) (เป็นภูเขาทิพย์ที่เห็นได้เฉพาะผู้มีอภิญญา)
    ทวีปต่างๆ ที่ตั้งชื่อกันในสมัย นั้นคือ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป มหาสมุทรทั้ง ๔ (นับกันได้ในสมัยนั้น)
    มีนรกขุมต่างๆ สวรรค์ชั้นต่างๆ และพรหมโลกชั้นต่างๆ

    โลกธาตุ มี ๓ ขนาด คือ
    โลกธาตุอย่างเล็ก มีจำนวนพันจักรวาล
    โลกธาตุอย่างกลาง มีจำนวนล้านจักรวาล
    โลกธาตุอย่างใหญ่ มีจำนวนแสนโกฏิจักรวาล
    ทั้งโลกธาตุอย่างเล็กก็ดี อย่างกลางก็ดี อย่างใหญ่ก็ดี ยังมีอีกจำนวนมากมาย

    "ทุกสิ่งทุกอย่างมี การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไปในที่สุด"
 
กำเนิดของโลกพระพุทธเจ้าทรง ตรัสไว้ใน "อัคคัญญสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๖๑ เล่ม ๑๑ ว่า
   เกิดมีน้ำขึ้น ในห้วงอวกาศอันมืดมิดก่อนแล้วนานๆไปเกิดการรวมตัวงวดเข้าเป็นง้วนดิน แล้วพัฒนาเป็นกระบิดิน ต่อไปเป็นเครือดิน จากนั้น มีต้นข้าว และพืชทั้งหลายเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หมู่ดาว นรกขุมต่างๆ เทวโลกและพรหมโลกชั้นต่างๆ ก็เกิดขึ้นเอง

กำเนิดชีวิตพระ พุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
"เพราะมีความอยาก จึงมีการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา เมื่อไม่มีความอยากการเกิดเป็น สัตว์เป็นบุคคลก็ไม่มี"

๑) ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
   - มีธาตุมรกตอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุมรกตทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของชมพูทวีปมีสีน้ำเงินแกมเขียว
   - มนุษย์ที่ชมพูทวีป มีความสูง ๔ ศอก มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี (อาจตายก่อนอายุได้ ไม่แน่นอน)
   - มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ อายุยิ่งหย่อนขึ้นอยู่กับคุณธรรม ไม่แน่นอน
   - สมัยของพระพุทธเจ้าพระนาม ว่า "พระวิปัสสี" มนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
   - สมัยของพระ พุทธเจ้าพระนามว่า "พระเรวะตะ" มนุษย์ในชมพูทวีปมีความสูงถึง ๘๐ ศอก
   - แต่ เมื่อคุณธรรมเสื่อมลง จิตใจหยาบช้าลง อาหารเลวลง อายุก็ลดลง ร่างกายก็เตี้ยลง
   - ต่อไปภายภาคหน้ามนุษย์ในชมพูทวีป จะมีอายุเพียง ๑๐ ปี เท่านั้น และตัวจะเตี้ยถึงขนาดต้องสอยมะเขือกิน เรียกยุคนั้นว่า "ยุคทมิฬ" เป็นยุคที่เสื่อมที่สุดของ "ชมพูทวีป"
   - ดอกไม้ประจำชมพูทวีป คือ "ชมพู (ไม้หว้า)" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกว่า "ชมพูทวีป" เพราะ ดอกไม้ประจำทวีปนี้คือ ดอก "ชมพู"
   - ชมพูทวีป เป็นทวีปเดียวที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ต้องมาตรัสรู้ที่ทวีปนี้เท่านั้น

๒) อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
  - เป็น แผ่นดินกว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ ประกอบด้วยเกาะ และแม่น้ำใหญ่น้อย
   - มีธาตุ แก้วผลึกอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุแก้วผลึกทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของอมรโคยานทวีปมีสีแก้ว ผลึก
   - มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก มีใบหน้าวงกลม คล้ายวงพระจันทร์ คนหน้าเหมือนดั่งเดือนแรม จมูกโด่ง คางแหลม
   - มนุษย์ที่อมรโคยานทวีป มีความสูง ๖ ศอก มีอายุ ๕๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
   - ดอกไม้ประจำอมรโคยานทวีปคือ "กะทัมพะ (ไม้กระทุ่ม)"


๓) ปุพพวิเทหะทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
    - เนื้อที่กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ มีเกาะ ๔๐๐ เกาะ
    - มีธาตุเงินอยู่ทางทิศตะวันออกของเขา สิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุเงินทำให้ทองฟ้า และมหาสมุทรของปุพพวิเทหะทวีปมี สีเงิน
    - มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์เต็มดวง คนหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์มีใบหน้าตอนบนโค้งตัดลงมาเหมือนบาตร
    - มนุษย์ ที่ปุพพวิเทหะทวีป มีความสูง ๙ ศอก มีอายุ ๗๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
    - ดอกไม้ประจำปุพพวิเทหะทวีปคือ "สิรีสะ (ไม้ทรึก)"


๔) อุตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
    - มี พื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อที่กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่ราบ
    - มี ธาตุทองคำอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุทองคำทำให้ทองฟ้า และ มหาสมุทรของอุตรกุรุทวีปมีสีเหลืองทอง
    - มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ รูปร่างงาม มีลักษณะใบหน้าเป็นรูป ๔ เหลี่ยม รักษาศีล ๕ เป็นนิจ ไม่ยึด ถือสมบัติ บุตร ภรรยา สามี ว่าเป็นของๆตน
    - มนุษย์ที่อุตรกุรุทวีป มีความสูง ๑๓ ศอก มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
    - มีต้นไม้นานาชนิด ดอกไม้ประจำอุตรกุรุทวีปคือ "กัปปรุกขะ (กัลปพฤกษ์)"
ถ้า อยากได้อะไร ก็ไปนึกเอาที่ต้นกัลปพฤกษ์ จะสมปรารถนา
    - มนุษย์ที่อุตรกุรุ ทวีป เมื่อตายจากทวีปนี้ ทุกคนจะได้ไปเกิดใน "เทวภูมิ ชั้นตาวติงสาห์ภูมิ" ทุกๆคน เป็นกฏตายตัว
    - ในภาษาบาลี "อุตร" แปลว่า "เหนือ" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกทวีปนี้ว่า "อุตรกุรุทวีป"


   สําหรับเรื่องรูปร่างหน้าตาของมนุษย์ต่างดาว ในแต่ละทวีปนั้น ตามในพระไตรปิฏกและอรรถกถาต่างๆ ยืนยันว่ารูปร่างเหมือนมนุษย์เราเนี่ยแหละครับ เพราะพื้นฐานการเกิดบนดาวเขาก็อาศัยธาตุทั้ง 4 เหมือนชมพูทวีป (ดาวโลกเรา)

   ผมได้อ่านเจอในพระสูตรหนึ่ง กล่าวถึงโชติกะเศรษฐี ใครสนใจลองไปค้นอ่านได้ในพระไตรปิฏกครับ
   ท่านว่าโชติกะเศรษฐีนี้ มีบุญมาก เกิดมาเพื่อบํารุงพุทธศาสนาด้วย พอถึงเวลาที่ท่านจะมีภรรยา ปรากฏว่าหาคู่บารมีไม่ได้ เพราะกําลังบุญท่านสูงมาก ไม่มีหญิงคนไหนในโลกเทียบได้ที่จะมาเป็นภรรยาท่าน พระอินทร์ทราบดังนั้น ได้ไปนําหญิงสาวจากอุตกรุทวีปมาให้ เป็นภรรยา



ที่มา  เว็บสถานีมหาปราชญ์
ขอขอบคุณพระไตรปิฏกฉบับประชาชน
22210  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / คาถาพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ เมื่อ: พฤษภาคม 05, 2010, 09:03:36 pm

นมัสการพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์

นะโม เม สัพพะพุทธานัง
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวง

อุปปันนานัง มะเหสินัง
ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ซึ่งได้อุบัติแล้ว คือ

๑. ตัณหังกะโร มะหาวีโร
ปฏิปทาพิเศษของพระตัณหังกรผู้กล้าหาญ

.๒. เมธังกะโร มะหายะโส
ปฏิปทาพิเศษของพระเมธังกรผู้มียศใหญ่

๓. สะระณังกะโร โลกะหิโต
ปฏิปทาพิเศษของพระสรณังกรผู้เกื้อกูลต่อชาวโลก

๔. ทีปังกะโร ชุตินธะโร
ปฏิปทาพิเศษของพระทีปังกรผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาอันรุ่งเรือง

๕. โกณฑัญโญ ชะนะปาโมกโข
ปฏิปทาพิเศษของพระโกณฑัญญะผู้เป็นประมุขแห่งหมู่ชน

๖. มังคะโล ปุสิสาสะโก
ปฏิปทาพิเศษของพระมังคละผู้เป็นบุรุษประเสริฐ

๗. สุมะโน สุมะโน ธีโร
ปฏิปทาพิเศษของพระสุมนะผู้เป็นธีรบุรุษมีพระหฤทัยงาม

๘. เรวะโต ระติวัฑฒะโน
ปฏิปทาพิเศษของพระเรวะตะผู้เพิ่มพูนความยินดี

๙. โสภิโต คุณสัมปันโน
ปฏิปทาพิเศษของพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณ

๑๐. อะโนมะทัสสี ชะนุตตะโม
ปฏิปทาพิเศษของพระอโนมทัสสีผู้สูงสุดอยู่ในหมู่ชน

๑๑. ปะทุโม โลกะปัชโชโต
ปฏิปทาพิเศษของพระปทุมะผู้ทำให้โลกสว่าง

๑๒. นาระโท วาระสาระถี
ปฏิปทาพิเศษของพระนารทะผู้เป็นสารถีประเสริฐ

๑๓. ปะทุมุตโต สัตตะสาโร
ปฏิปทาพิเศษของพระปทุมุตตระผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์

๑๔. สุเมโธ อัปปะฏิบุคคะโล
ปฏิปทาพิเศษของพระสุเมธะผู้หาบุคคลเปรียบมิได้


๑๕. สุชาโต สัพพะโลกัคโค
ปฏิปทาพิเศษของพระสุชาตะผู้เลิศกว่าสัตว์โลกทั้งปวง

๑๖. ปิยะทัสสี นะราสะโภ
ปฏิปทาพิเศษของพระปิยทัสสีผู้ประเสริฐกว่าหมู่นรชน

๑๗. อัตถะทัสสี การุณิโก
ปฏิปทาพิเศษของพระอัตถทัสสีผู้มีพระกรุณา

๑๘. ธัมมะทัสสี ตะโมนุโท
ปฏิปทาพิเศษของพระธรรมทัสสีผู้บรรเทาความมืด

๑๙. สิทธัตโถ อะสะโม โลเก
ปฏิปทาพิเศษของพระสิทธัตถะผู้หาบุคคลเสมอมิได้ในโลก

๒๐. ติสโส จะ วะทะตัง วาโร
ปฏิปทาพิเศษของพระติสสะผู้ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย

๒๑. ปุสโส จะ วะระโท พุทโธ
ปฏิปทาพิเศษของพระปุสสะผู้ประทานธรรมอันประเสริฐ


๒๒. วิปัสสี จะ อะนูปะโม
ปฏิปทาพิเศษของพระวิปัสสสีผู้ที่หาเปรียบมิได้

๒๓. สิขี สัพพะหิโต สัตถา
ปฏิปทาพิเศษของพระสิขีผู้เป็นศาสดาเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์

๒๔. เวสสะภู สุขะทายะโก
ปฏิปทาพิเศษของพระเวสสภูผู้ประทานความสุข

๒๕. กะกุสันโธ สัตถะวาโท
ปฏิปทาพิเศษของพระกกุสันโธผู้นำสัตว์ออกจากสันดารตัวกิเลส

๒๖. โกนาคะมะโน ระณัญชะโห
ปฏิปทาพิเศษของพระโกนาคมนะผู้หักเสียซึ่งข้าศึก คือ กิเลส

๒๗. กัสสะโป สิริสัมปันโน
ปฏิปทาพิเศษของพระกัสสปะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ

๒๘. โคตะโม สักยะปุงคะโว
ปฏิปทาพิเศษของพระโคตมะผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช



เตสาหัง สิระทา ปาเท วันทามิ ปุริสัตตะเม วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเมเต ตะถาคะเต
ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระบาทของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า และขอกราบไหว้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้เป็นบุรุษอันสูงสุด ผู้เป็นตถาคตด้วยวาจาและใจทีเดียว

สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา
ทั้งในที่นอนในที่นั่ง ในที่ยืน และแม้ในที่เดินด้วย ในกาลทุกเมื่อฯ


คาถาโดยย่อ

ตัณ เม สะ ที โก มัง สุ เร โส อะ ปะ นา ปะ สุ สุ
ปิ อะ ธะ สิ ติ ปุ วิ สิ เว กุ โก กะ โค นะมามิหัง


พระนามพระพุทธเจ้าตั้งแต่องค์แรกถึงองค์ปัจจุบัน โบราณจารย์ท่านถือว่าเป็นพระคาถาแก้วสารพัดนึก


ที่มา  เว็บพลังจิต
22211  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / คนค้นกรรม 2 เมื่อ: พฤษภาคม 03, 2010, 01:38:36 pm
คนค้นกรรม 2

ท่านใดที่ยังไม่ได้อ่าน “คนค้นกรรม” ภาคแรก กรุณาคลิกลิงค์นี้ครับ
http://board.palungjit.com/f8/คนค้นกรรม-231089.html
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=466.0

หลังจากครั้งก่อนได้ไปค้นกรรมของตัวเองกับอาจารย์อุบล เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 พร้อมได้กำหนดว่า โรคที่เป็นอยู่  6 โรค ต้องหายภายใน 15 วัน ขณะนี้ได้ครบกำหนดแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ผมขอเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญๆให้ทราบดังนี้ครับ

วันที่ 16 มีนาคม 2553 เปิดเผยตัวตนให้คนอื่นรู้
   หนึ่งในห้าคำสัตย์ที่ได้ให้ไว้กับอาจารย์อุบล คือ “นำเรื่องที่คุยกันโพสต์ขึ้นอินเตอร์เน็ต” ผมได้ใช้เวลาเขียนเรื่องที่คุยกับอาจารย์อุบลอยู่ 2-3 วัน ในวันที่ 16 มีนาคม ผมได้ตัดสินใจนำเรื่องนี้ โพสต์ขึ้นเว็บไซท์ต่างๆตามที่ได้ให้สัญญาไว้ โดยใช้ชื่อบทความว่า “คนค้นกรรม”

วันที่ 18,19 และ 20 มีนาคม 2553 เริ่มชำระล้างกรรม
“ช่วยออกแรงสร้างสถานปฏิบัติธรรมบ้านสวนพีระมิด แต่ต้องทำติดต่อกัน ๓ วัน อย่างน้อยเดือนละครั้ง”
 เป็นสัจจะข้อที่ 4 ที่ได้ให้ไว้กับอาจารย์อุบล ทำให้ผมต้องไปช่วยเหลาไม้ไผ่เพื่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม
ตลอดสามวันที่ไป ผมไปถึงสายมากประมาณสิบเอ็ดโมงกว่า พอบ่ายสามก็เลิก เหลาไม้ไผ่ได้รวม 82 อัน

สองวันแรกผมยืนทำงานโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่พอวันสุดท้าย(วันที่ 20 มีนาคม)ผมเหลาไม้ไผ่ได้ประมาณสองสามอันก็รู้สึกปวดหัวอย่างแรง อาจารย์เอายาฟ้าทะลายโจรแค็ปซูลเสริมพลังพีระมิดให้ผมกิน แต่อาการไม่ดีขึ้น อาจารย์อุบลบอกให้ไปนอนบนเรือนพีระมิด ผมนอนจนใกล้เย็น อาการดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ลุกขึ้นมาเหลาไม้ไผ่ต่อ กะจะให้ได้ครบ 81 อันจากการเหลาทั้งหมด 3 วัน อยากให้ตัวเลขออกมาที่ 9 คูณ 9 ผลปรากฏว่า นับผิดเกินมา 1 อัน ตัวเลขสุดท้ายเลยออกมาที่ 82 อัน

   อาการที่ปวดหัวอย่างรุนแรงนี้ อาจารย์บอกว่า เวลาใกล้ที่จะถึงเส้นชัย จะเป็นแบบนี้ ส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่า นี่คือการชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกจากตัวผม

 ก่อนกลับอาจารย์ได้ให้ข้าวกล้องแค็ปซูลเสริมพลังพีระมิดจำนวน 7 แค็ปซูลให้ผม บอกให้กินวันละแค็ปซูล ผมกลับถึงบ้านด้วยอาการที่ทรุดหนักปวดหัวปวดตัวแทบระเบิด รีบอาบน้ำกินยาที่ได้มา เข้านอนทันที คืนนั้นทั้งคืนเหมือนอยู่ในนรก ปวดหัวมากๆนอนแทบจะไม่หลับเลย คิดในใจว่า คนกำลังจะตายเป็นแบบนี้รึเปล่าหนอ
 
เช้าวันต่อมาตื่นขึ้นมาดัวยอาการที่ดีขึ้นมาก แต่ยังไม่หาย อีกสองวันต่อมา อาการปวดหัวปวดตัวก็หายไป ผมได้กินยาของอาจารย์อุบลจนครบ 7 แค็ปซูล อาการของโรคดีขึ้น แต่ไม่หายครับ


วันที่ 3 เมษายน 2553 สาเหตุที่โรค ไม่หายขาด
   ผมไปรายงานผลกับอาจารย์อุบลที่บ้านสวนพีระมิด ตามความเป็นจริงว่า โรคที่เป็นอยู่ไม่หาย แต่โดยรวมแล้วดีขึ้น  โรคที่เห็นชัดเจนว่าดีขึ้นคือ โรคกระเพาะ และริดสีดวง

   เหตุที่เป็นเช่นนั้น นอกจากเหตุผลหลักที่มีศรัทธาไม่เต็มร้อย ตามที่อาจารย์ได้เคยกล่าวไว้เก่อนแล้ว อาจเกิดมาจากการปฏิบัติตัวตามคำสัตย์ที่ให้ไว้ ยังไม่เต็มที่ ขาดความสมบูรณ์

ผมขอวิเคราะห์ให้ดูเป็นข้อๆดังนี้ครับ

1. ถือศีลห้าอย่างเคร่งครัด อย่าส่งเสริมให้คนทำผิดศีล ไม่ยินดีเมื่อเห็นคนทำผิดศีล
   ข้อแรกนี้ผมมีปัญหากับสัตว์เล็กๆ ที่อยู่บนพื้นดิน เนื่องจากบ้านที่อยู่เป็นบ้านสวน ผมมักเหยียบหอย กับมด โดยไม่ตั้งใจเสมอ ทั้งที่ถ้าผมตั้งสติดีๆแล้ว จะอยู่ในวิสัยที่หลีกเลี่ยงได้  ศีลห้าของผมเลยด่างไปเล็กน้อย

2. ทำทานให้มากขึ้น ไม่มีปัจจัยก็ให้อนุโมทนาเอา อนุโมทนาไม่ต้องออกเสียงก็ได้
   ข้อสอง ผมแทบจะไม่มีโอกาสไปไหน วันๆจะอยู่แต่ในบ้าน การทำทานหรืออนุโมทนาเลยไม่เกิด

3. ทำสมาธิวิปัสสนาทุกวัน
   ข้อสามนี้ ผมเป็นกังวลมากที่สุด ถึงแม้ผมจะเป็นคนชอบนั่งสมาธิ แต่จะนั่งได้แค่ประมาณ 10-20 นาทีเท่านั้น ในส่วนของวิปัสสนาเป็นงานยากของผม ความรู้สึกของผมที่เข้าใจก็คือ ผมยังขึ้นวิปัสสนาไม่ได้

4. ช่วยออกแรงสร้างสถานปฏิบัติธรรมที่นี่ แต่ต้องทำติดต่อกัน ๓ วัน อย่างน้อยเดือนละครั้ง
   การทำทานโดยใช้แรงกาย ผมทำก็จริงอยู่ แต่ผมเข้าใจเอาเองว่า ระยะเวลามันน้อยเกินไป ที่ผ่านมาผมใช้เวลาประมาณวันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง

5. นำเรื่องที่คุยกันวันนี้โพสต์ขึ้นอินเตอร์เน็ต พร้อมแจ้งชื่อที่อยู่และเบอร์โทร
   ข้อนี้ดูไม่น่ามีปัญหา แต่ปัญหาก็เกิด เนื่องจากวันนั้นคุยกับอาจารย์นานมากและไม่ได้อัดเสียงเอาไว้  สิ่งที่ผมโพสต์ขึ้นเว็บไซต์ไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคมนั้น ผมเน้นเรื่องที่ผมได้กรอกแบบสอบถามไปเท่านั้น คือ โรคจำนวน 6 โรคที่ผมเป็นอยู่ ส่วนเรื่องอื่นๆที่อาจารย์บอก เป็นเรื่องที่ผมไม่ได้ถามอาจารย์ เลยคิดเอาเองว่าไม่จำเป็น ทำให้ไม่ได้เขียนขึ้นเว็บไซต์ แต่บางส่วนของเรื่องที่ผมไม่ได้ถาม ผมก็ลืมจริงๆ

   ผมขอถือโอกาสนี้เสนอเรื่องที่ครั้งที่แล้วไม่ได้เขียนลงเว็บไซต์ เท่าที่ผมจำได้ มีดังนี้ครับ

1.   อาจารย์บอกว่า ผมเคยกล่าวปรามาสคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” ผมเคยพูดอย่างนี้จริงครับ เป็นการพูดด้วยความคึกคนองกับเพื่อนๆตามภาษาวัยรุ่น ประมาณ 30 ปีมาแล้ว

2.   อาจารย์บอกว่า “ผมชอบเดินกระทืบเท้า เป็นการไม่ให้ความเคารพพระแม่ธรณี” เรื่องนี้เป็นความจริงครับ ผมเป็นคนชอบเดินลงส้นแรงๆ เมื่อก่อนผมไม่รู้ตัวว่า ตัวเองเดินเสียงดัง มีครั้งหนึ่งผมเดินอยู่บนชั้นสาม คนอยู่ชั้นสองเค้าได้ยินเสียงผมเดิน และถามว่าทำไมเดินดังจัง

3.   อาจารย์บอกว่า “ผมชอบวางฟอร์ม รักษาฟอร์ม” เรื่องนี้จริงครับ ผมมักที่จะเจตนาปิดปัง หลีกเลี่ยงอะไรบางอย่าง พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่อยากให้ใครรู้   มีอีกอย่างที่ผมอยากบอกก็คือ นิสัยเด่นๆของผมนั้น มีเจ้าอยู่สามเจ้า คือ เจ้าทิฏฐิ  เจ้าเล่ห์ และเจ้าชู้  เรื่องนิสัยของผมนี้ในครั้งต่อๆมาที่ได้พบอาจารย์ อาจารย์มักพูดเปรยๆกับผมเสมอว่า “คุณน่ะดื้อ ถ้าไม่ดื้อ หายไปแล้ว” ผมขอสารภาพว่า ผมเป็นคนมีนิสัยดื้อรั้นจริงๆครับ

4.   อาจารย์บอกว่า ผมมีกรรมผิวพรรณ เนื่องจากหน้าผมเป็นฝ้า และถามผมว่าตอนหนุ่มๆหน้าคุณดูดีใช่ไหม  ผมตอบว่า ใช่ครับ

5.   อาจารย์ทราบว่าผมว่างงานอยู่  จึงอวยพรให้ผมได้งาน และมีช่องทางทำงาน

ยังมีอีกครับ อันนี้ผมอยากบอกเอง  เรื่องนี้อาจารย์พูดกับผมหลังจากได้พบกันครั้งแรก เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งผมได้ไปหาหมอเพื่อรักษาโรคที่ผมเป็นอยู่ หมอท่านนี้เป็นหมอแผนปัจจุบัน แต่ใช้วิธีรักษาโรคด้วยวิชาพุทธคุณและยาแผนโบราณ หมอดูอาการทั่วไปแล้ว ให้ผมกินหมากเสก  ผมรู้สึกปวดหัว ตัวร้อน และมีลมออกหู หมอสรุปว่า ผมโดยทำเสน่ห์ และมีผีปอบสิงอยู่
 
ผมได้นำเรื่องนี้มาพูดกับอาจารย์อุบลว่า “มีหมอคนหนึ่ง บอกว่าผมโดยของ” อาจารย์ยิ้มแล้วบอกว่า “ใช่ อาจารย์รู้ตั้งแต่เห็นครั้งแรกแล้ว แต่พูดไม่ได้ ต้องให้คุณบอกเอง”  “คุณน่ะมีกาฝากมากไปทำให้เป็นโรคหลายโรค”  ผมได้ถามอาจารย์ต่อไปอีก แต่จำคำพูดที่แน่นอนไม่ได้  กล่าวโดยสรุปก็คือ ที่ผมโดยทำเสน่ห์นั้น คนทำไม่ได้เจตนาให้ผมหลง แต่ตั้งใจให้ผมมีอันเป็นไป ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต การโดนทำเสน่ห์ครั้งนี้ทำให้ร่างกายผมอ่อนแอ ขาดพลังต้านทานกับสิ่งชั่วร้าย  ผลก็คือ ผมรับเอาสิ่งไม่ดีต่างๆเข้าตัวผมหลายอย่าง  นั่นคือ ที่มาของคำว่า “ผมมีกาฝากมากเกินไป”  กาฝากต่างๆในตัวผมนอกจากจะมีผลกับสุขภาพแล้ว ยังมีผลกับจิตใจผมด้วย ทำให้ใจผมคิดแต่ด้านลบในหลายๆเรื่อง
ทุกท่านครับ ตอนเป็นหนุ่มผมเจ้าชู้มาก ทำผู้หญิงช้ำใจมาหลายคน การที่ชีวิตผมไม่ประสบความสำเร็จใดๆเลย แถมถูกรุมเร้าดัวยโรคร้าย มันยุติธรรมแล้วครับ กฏแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ


วันที่ 4 เมษายน 2553 ขอเป็นโสดาบัน
   ผมไปพบอาจารย์อุบลอีกครั้ง  อาจารย์แปลกใจ เนื่องจากผมเพิ่งมาเมื่อวานนี้เอง(3 เมษายน) คราวนี้ผมไปขอปิดประตูอบายภูมิ ข้ามสังสารวัฏ เข้าสู่นิพพาน อาจารย์บอกว่า “คุณต้องเป็นโสดาบันก่อน” ผมพยักหน้าตอบว่าครับ อาจารย์กล่าวต่อไปว่า “คุณได้สิทธิ์นั้น” สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ

1.   ถือศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
2.   ระลึกถึงความตายทุกวัน
3.   เจริญพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา คือ ความรัก ,กรุณา คือ สงสาร,มุทิตา คือ ยินดีกับผู้อื่นเมื่อเขาทำดีหรือได้ดี ,อุเบกขา คือ ความวางเฉย
4.   เจริญวิปัสสนาโดยใช้คำบริกรรม พุทโธ


นอกจากนี้อาจารย์ได้กล่าวถึง ลำดับของอริยบุคคลที่เข้าสู้นิพพานได้ ต้องเริ่มจาก
   -โสดาบัน
   - สกิทาคามี
   - อนาคามี
   - อรหันต์

ในตอนท้ายอาจารย์กล่าวว่า  สำหรับการเป็นอรหันต์ อาจารย์จะต้องรอดูความประพฤติของผมอีกที
   
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆนักปฏิบัติธรรมคงเกิดข้อสงสัยต่างๆมากมาย
   การเข้านิพพาน ต้องมาขออนุญาตอาจารย์อุบลด้วยเหรอ ?
   ทำไม ? เพราะอะไร ? และมีอีกมากมายหลายคำถาม ? ที่ตามมา

เพื่อนๆครับ ก่อนที่ผมจะไปพบอาจารย์อุบล ผมได้ไตร่ตรองอย่างหนัก กลัวว่าคนอื่นเค้าจะหาว่าผมบ้า
การมาขอเป็นโสดาบันกับอาจารย์อุบลนั้น ต้องกล่าวอย่างเปิดเผยกับสาธารณชน ผมรู้สึกเขินเหมือนกันตอนที่คุยกับอาจารย์  แต่เมื่อตั้งเจตนาไว้แล้ว และได้เอ่ยปากขอแล้ว ต้องเดินหน้าอย่างเดียวครับ

   เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจสำหรับคนที่รู้แล้ว และเป็นการให้ความรู้สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาธรรม จึงขอนำคำสอนของหลวงพ่อฤาษีลิงดำมาแสดงโดยสรุป ตามที่ผมเข้าใจดังนี้ครับ

   หลวงพ่อบอกว่า การเป็นโสดาบันเป็นเรื่องง่าย หากยังเป็นไม่ได้ให้ดูที่บารมี ๑๐ ว่าพร่องข้อไหนบ้าง
ถ้าพิจารณาแล้วไม่มีข้อไหนพร่อง  ให้ไปดูที่จรณะ ๑๕ ว่ายังขาดข้อไหนบ้าง  กล่าวโดยย่อก็คือ หากบารมี ๑๐ และจรณะ ๑๕ ไม่ขาดไม่พร่อง การเป็นโสดาบันจะเป็นเรื่องง่าย

   เพื่อนๆครับ บารมี ๑๐ ก็คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ  สัจจะ  อธิษฐาน  เมตตา  อุเบกขา

   มาถึงตอนนี้ อยากให้เข้าใจว่า การขอเป็นโสดาบันกับอาจารย์อุบลเป็นการสร้าง สัจจะบารมี และอธิษฐานบารมีไปพร้อมกัน  หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้อธิบายถึงประโยชน์ของการมีสัจจะบารมี และอธิษฐานบารมีไว้ว่า

   หากสัจจะบารมีเต็มแล้ว จะตัดความโลเล ไม่เอาจริงในผลการปฏิบัติได้
   หากอธิษฐานบารมีเต็มแล้ว  จะมีกำลัง คือ มีสติกำหนดรู้ในการกระทำ ทางกาย วาจา ใจว่า เราจักทำเพื่อพระนิพพานอยู่เสมอ ไม่คลอนแคลน

   กล่าวโดยสรุปก็คือ การทำให้บารมี ๑๐ เต็ม เป็นทางนำไปสู่โสดาบัน

   การปรารถนาเป็นโสดาบันเพื่อปิดประตูอบายภูมิของผมนั้น ได้ปรารถนามาหลายปีแล้วครับ  และผมได้ศึกษาวิธีเป็นโสดาบันมานานแล้วเหมือนกัน แต่อุปสรรคที่ผ่านมาก็คือ ความไม่มั่นใจในตนเอง จนกระทั้งได้พบกับกัลยาณมิตรสองท่าน การได้พบกัลยาณมิตรทั้งสองท่านเป็นการพบต่างกรรมต่างวาระ  ท่านหนึ่งได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการเป็นโสดาบันของผม  อีกท่านได้ช่วยหาวิธีรวมบารมีให้ผม ทั้งสองท่านได้สร้างกำลังใจให้กับผมเป็นอย่างมาก  ที่สุดแล้วก็ได้มาพบกับอาจารย์อุบลนี่ละครับ


วันที่ 23, 24 และ 25 เมษายน 2553 เข้าค่ายหนีกรรมผิวพรรณ

การเข้าค่ายครั้งนี้ เดิมทีผมไม่ได้มีความประสงค์ใดๆเลย ถึงแม้หน้าผมจะเป็นฝ้า ผมก็ทุกข์กับมันน้อยมาก แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เนื่องจากอาจารย์อุบลได้เอ่ยปากเชิญผมโดยตรง

การเข้าร่วมครั้งนี้ของผม อยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์เสียส่วนใหญ่ เนื่องจากผมไปเช้าบ่ายกลับ ไม่ได้นอนค้างคืนที่นั่น กิจกรรมที่ผมได้ทำไปส่วนใหญ่ ผมจะอธิษฐานให้หายจากโรค และขอให้พบ มรรค ผล นิพพานโดยเร็ว

อีกอย่างหนึ่งที่ประทับใจ คือ การได้พบ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา และได้ฟังการบรรยายจากท่าน

วันที่ 28, 29 และ 30 เมษายน 2553 ใช้แรงกายเป็นทานครั้งที่สอง
ผมมาปฏิบัติภารกิจตามที่ให้สัจจะไว้ คือ ใช้แรงกายเป็นทาน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สอง  ครั้งนี้ผมตั้งใจกว่าเดิม มาแต่เช้ากลับช่วงเย็นๆ จึงมีเวลาทำงานมากกว่าเดิม จากการสังเกตทุกครั้งที่มาบ้านสวนพีระมิด  เวลาทำงานจะรู้สึกไม่ค่อยเหนื่อยนัก เมื่อเทียบกับการทำงานที่อื่นๆ  และที่แปลกที่นี้จะมีลมพัดอยู่บ่อยๆ แถมมีเมฆบังดวงอาทิตย์หลายครั้ง ทำให้รู้สึกไม่ค่อยร้อน

ครั้งนี้เตรียมตัวมาเต็มที่ ขณะทำงานพยายามเจริญสติอยู่ตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้  ผมบริกรรมคาถาพญาไก่เถื่อนเป็นวิหารธรรมในขณะทำงาน บางทีก็ท่องพุทโธ  การบริกรรมทำให้เจริญสติได้ดี บางครั้งก็ดูจิต บางครั้งก็ดูกาย บางครั้งก็ดูเวทนา  แล้วแต่อะไรจะเด่นขึ้นมา การเจริญสติของผมช่วยสร้างสมาธิในการทำงานได้เป็นอย่างดี เวลาผมเหนื่อยมากๆจนรู้สึกท้อใจ ผมจะแก้ด้วยการเร่งบริกรรมคาถา แต่บางครั้งก็บริกรรมไม่ได้ อาจเป็นเพราะเหนื่อยเกินไป ต้องเปลี่ยนไปอธิษฐานในใจว่า การทำงานครั้งนี้เพื่อพระพุทธเจ้า เพื่อในหลวง เพื่อชาติ  อันนี้เป็นอุบายเฉพาะตัวนะครับ  กับท่านอื่นๆไม่รับรองผลนะครับ

ตลอดสามวัน ผมทำงานกลางแดดเสียส่วนใหญ่  เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ทำต่อ สลับกันไปแบบนี้
ปริมาณงานที่ได้ออกมา ประเมินด้วยความรู้สึกของผมเอง มีมากกว่าครั้งก่อนๆ ถึงแม้อากาศจะร้อนมาก แต่ก็มีลมพัดโชย และมีเมฆบังแดดอยู่หลายครั้ง ทำให้คลายร้อนไปได้มาก  ปรากฏการณ์ของลมและเมฆที่บ้านสวนพีระมิด ไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่น่าจะเป็นเจตนาของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติมากกว่า ผมรู้สึกอย่างนั้น

เจริญสติได้ดีขึ้น
หลังจากสามวันนั้นแล้ว ผมกลับมาสำรวจตัวเองแล้วพบว่า ผมเจริญสติได้ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เห็นจิตตัวเองคิด เห็นกายตัวเองเคลื่อนได้ชัดเจนกว่าเมื่อก่อน สมาธิก็ดีขึ้น เวลานั่งจิตจะสงบเร็วกว่าเมื่อก่อน การเจริญพรหมวิหาร ๔ ก็ดีขึ้น การคิดถึงความตายก็คิดได้วันละครั้งสองครั้ง จากที่เมื่อก่อนไม่เคยคิดถึงความตายเลย

อยากจะบอกทุกท่านว่า การปฏิบัติธรรมของตัวผมเอง เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว เริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไปขอเป็นโสดาบันกับอาจารย์อุบลแล้วครับ ท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผม เรื่องนี้เป็นปัจจัตตัง รู้ก็รู้ด้วยตนเอง


เลิกกินยา เร่งปฏิบัติธรรม

สุดท้ายแล้วครับ เรื่องนี้อาจเป็นคำตอบที่หลายท่านสนใจ ท่านสงสัยไหมว่า หลังจากครบ 15 วัน โรคของผมไม่หาย แล้วผมทำอย่างไงต่อไป
 
ก่อนที่ผมจะไปพบอาจารย์อุบล ผมต้องกินยาสมุนไพรหลายขนานและผมต้องไปนวดประคบอาทิตย์ละครั้ง หากไม่กินยาและไม่นวด จะรู้สึกหนักๆไม่สบายตัวขึ้นมา

หลังจากได้กินข้าวกล้องแค็ปซูลเสริมพลังพีระมิดแล้ว อาการดีขึ้นแต่ไม่หายขาด ผมหันมากินสมุนไพรที่ผมเคยกินอยู่เดิมจนหมด โดยใช้เวลาประมาณสองสามวัน  จากนั้นก็หันมาตั้งใจปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น
 
จากวันนั้นถึงวันนี้ประมาณหนึ่งเดือนแล้วครับ ที่ผมไม่ได้กินยา ไม่ได้ไปนวด  แต่อาการป่วยของผมในภาพรวมถือว่าดีกว่าเมื่อก่อน และก็ทรงตัวอยู่อย่างนี้ไม่ทรุดลงไปแต่อย่างใด

ผมเชื่อว่าการปฏิบัติธรรม และทำตามสัจจะที่ให้ไว้กับอาจารย์อุบลอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด จะช่วยรักษาโรคที่ผมเป็นอยู่ให้หายขาดได้  ท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผมนะครับ  แต่ขออย่าได้ลังเลที่จะพิสูจน์ด้วยตนเอง

----------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลของอาจารย์
อาจารย์อุบล  ศุภเดชาภรณ์
ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ “คุยไปแจกไป”ออกอากาศทาง MVTVช่องบางกอกทูเดย์
ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.  ออกอากาศซ้ำวันจันทร์ เวลา ๒๔.๐๐ – ๐๒.๐๐ น.
สอบถามรายละเอียดอื่นๆได้ที่  บ้านสวนพีระมิด ต.เขาเพิ่ม อ.บ้านนา จ.นครนายก
โทรศัพท์มือถือ. 081-820-8468 และ 081-919-6705
โทรศัพท์พื้นฐาน (037) 351-265-9
http://www.baansuanpyramid.com/

ข้อมูลผู้เขียน
นายณฐพลสรรค์  เผือกผาสุข
ปัจจุบันอยู่ บ้านเลขที่  69/2 หมู่ 10 ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  30320
โทรศัพท์มือถือ. 089-823-6122
e-mail   nathaponson@gmail.com หรือ  nathaponson@yahoo.co.th
22212  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / พรหมทัณฑ์ เป็นอย่างไร เมื่อ: เมษายน 21, 2010, 10:29:54 pm

พรหมทัณฑ์ เป็นอย่างไร

พรหมทัณฑ์, โทษอย่างสูงของสงฆ์
โทษอย่างสูง คือ สงฆ์ตกลงกันลงโทษภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง โดย
ภิกษุทั้งหลาย  พร้อมใจกันไม่พูดด้วย  ไม่ว่ากล่าวตักเตือน  หรือ
สั่งสอนภิกษุรูปนั้น,  พระฉันนะซึ่งเป็นพระเจ้าพยศ   ถือตัวว่า
เป็นคนเก่าใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาก่อนใครอื่น  ใครว่าไม่ฟัง 
ภายหลังถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ถึงกับเป็นลมล้มสลบหายพยศได้
 
# วินย. ๗/๖๒๔-๖๒๙; ที.ม. ๑๐/๑๔๑
--------------------------------------------------

[๖๒๔] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะพระเถระทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อจวน
เสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เมื่อเราล่วง
ไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ

   พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือ ว่า พระพุทธเจ้าข้า
ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร 
 
   พระอานนท์ตอบว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วว่า  พรหมทัณฑ์เป็น
อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์  ภิกษุฉันนะพึงพูดตามปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงสั่งสอน ไม่  พึงพร่ำสอนภิกษุฉันนะ
   
   ท่านพระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั้นแหละจง ลงพรหมทัณฑ์
แก่พระฉันนะ
 

   พระอานนท์ปรึกษาว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ  ได้อย่างไร เพราะ
เธอดุร้าย หยาบคาย

   พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงไปกับภิกษุ  หลายๆ รูป ท่าน
พระอานนท์รับเถระบัญชาแล้วโดยสารเรือไป พร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมือง
โกสัมพี ลงจากเรือแล้วได้นั่ง ณ โคนไม้  แห่งหนึ่งใกล้พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน
ฯ 

            ลงพรหมทัณฑ์  
   [๖๒๗] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยังวัดโฆสิตาราม ครั้นแล้ว   นั่งบนอาสนะที่เขา
ปูลาดไว้ ท่านพระฉันนะเข้าไปหาท่านพระอานนท์อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่าน
พระอานนท์ได้กล่าวกะท่านพระฉันนะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ท่านฉันนะ สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์
แก่ท่านแล้ว ฯ

   ฉ. ท่านพระอานนท์ ก็พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร
   อา. ท่านฉันนะ ท่านปรารถนาจะพูดคำใด พึงพูดคำนั้น ภิกษุทั้งหลาย   ไม่พึงว่ากล่าว
ไม่พึงตักเตือน ไม่พึงพร่ำสอนท่าน 
   ฉ. ท่านพระอานนท์ ด้วยเหตุเพียงที่ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่พร่ำสอน
ข้าพเจ้านี้ เป็นอันสงฆ์กำจัดข้าพเจ้าแล้วมิใช่หรือ แล้วสลบล้มลง   ณ ที่นั้นเอง

 
   ต่อมา ท่านพระฉันนะ อึดอัด ระอา รังเกียจอยู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงหลีกออกอยู่แต่
ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ได้ ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม
เป็นที่สุดพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออก  จากเรือนบวชโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ   เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ   ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี
 
   ก็แล ท่านพระฉันนะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง บรรดาพระอรหันต์  ทั้งหลาย ครั้นท่าน
พระฉันนะบรรลุพระอรหัตแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์แล้ว กล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ขอท่าน
จงระงับพรหมทัณฑ์แก่ผมในบัดนี้เถิด
 
   ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านฉันนะ เมื่อใด ท่านทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต   แล้ว เมื่อนั้น
พรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับแล้ว ฯ


ที่มา พระไตรปิฎก    ฉบับธรรมทาน
พระวินัยปิฎก  เล่ม ๗  จุลวรรค ภาค ๒ 


22213  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / คว่ำบาตร เป็นอย่างไร เมื่อ: เมษายน 21, 2010, 10:25:23 pm

คว่ำบาตร เป็นอย่างไร

คว่ำบาตร,การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสก
   การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสกผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย 
โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วยคือ ไม่รับบิณฑบาต
ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม คู่กับ หงายบาตร
------------------------------------------------------ 

เหตุเกิดการคว่ำบาตร
   สมัยนั้น เจ้าวัฑฒะลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะ และ
พระภุมมชกะ  ได้เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้ว
กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ เมื่อเธอกล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งสองรูปก็
มิได้ทักทาย ปราศรัย แม้ครั้งที่สอง... แม้ครั้งที่สาม...
เจ้าวัฑฒะลิจฉวีได้กล่าวว่า  ผมไหว้ขอรับ แม้ครั้งที่สาม
ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย 

   ว. ผมผิดอะไรต่อพระคุณเจ้าอย่างไร ทำไม พระคุณเจ้าจึง
ไม่ทักทายปราศรัยกับผม 
   ภิกษุทั้งสองตอบว่า ก็จริงอย่างนั้นแหละ ท่านวัฑฒะ พวก
อาตมาถูก  พวกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ ท่านยังเพิกเฉยได้   
   ว. ผมจะช่วยเหลืออย่างไร ขอรับ
   ภิ. ท่านวัฑฒะ ถ้าท่านเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาค
ต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก   
   ว. ผมจะทำอย่างไร ผมสามารถจะช่วยได้ด้วยวิธีไหน   
   ภิ. มาเถิด ท่านวัฑฒะ ท่านจงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว
กราบทูลอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย
ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ
สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมีลมแรงขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉัน
ถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผาพระพุทธเจ้าข้า.


   เจ้าวัฑฒะลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้ว
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่แนบเนียน... บัดนี้กลับมีลม
แรงขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย
คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า ฯ   
   ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะ
เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่าน
พระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำ
กรรมตามที่เจ้าวัฑฒะลิจฉวีนี้  กล่าวหา  ท่านพระทัพพมัลลบุตร
กราบทูลว่า
    ทัพพ. ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝัน ก็ยัง
 ไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า พระพุทธเจ้าข้า

   ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
   ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้า
วัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์,ไม่รับบิณฑบาต,ไม่รับนิมนต์ ฯ    
   ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกแล้วถือบาตร
จีวร  เข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะ
เจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า 
   ท่านวัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้
พอเจ้าวัฑฒะลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบ
กับสงฆ์ไม่ได้แล้ว ก็สลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง.


         องค์แห่งการคว่ำบาตร 
   สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ: 
      ๑. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย   
      ๒. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย   
      ๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย 
      ๔. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย 
      ๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
      ๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า   
      ๗. กล่าวติเตียนพระธรรม 
      ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรแก่อุบาสก
ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯ 

ที่มา   พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน
#วินย. ๗/๑๑๐-๑๑๕.
พจน.พุทธ.ประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

22214  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / อนันตริยกรรม ๕ และ อภิฐาน ๖ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เมื่อ: เมษายน 20, 2010, 09:06:31 pm


อนันตริยกรรม ๕ และ อภิฐาน ๖ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ครุกรรมหรือครุกกรรม คือ กรรมหนักเป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล.
   
ครุกกรรมนี้นั้น ในฝ่ายกุศลพึงทราบว่าได้แก่ มหัคคตกรรม
เช่น ฌานสมาบัติ

   ในฝ่ายอกุศล พึงทราบว่าได้แก่ อนันตริยกรรม ๕.
   เมื่อครุกรรมนั้นมีอยู่  กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่เหลือ
จะไม่สามารถให้ผลได้.
 
   ครุกรรมแม้ทั้งสองอย่างนั้นแหละ จะให้ปฏิสนธิ.
   อุปมาเสมือนหนึ่งว่า ก้อนกรวดหรือก้อนเหล็ก แม้ประมาณ
เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่โยนลงห้วงน้ำ ย่อมไม่สามารถจะลอยขึ้น
เหนือน้ำได้  จะจมลงใต้น้ำอย่างเดียว  ฉันใด    ในกุศลกรรมก็ดี
อกุศลกรรมก็ดี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กรรมฝ่ายใดหนัก เขาจะถือ
เอากรรมฝ่ายนั้นแหละไป.

   หรือกรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่นเหมือนคนอยู่บนที่สูงเอา
วัตถุต่าง ๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นย่อมถึงพื้นก่อน.


ที่มา  พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน
# ๑. องฺ.อ. ๑/๓/๑๒๑-๑๓๓.  ๒. วิสุทธิ.  ๓/๒๒๓

----------------------------------------------------------------- 

มาตริสูตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ไม่ควรเป็นได้ ๖ ประการนี้ ๖ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ ย่อม

เป็นผู้ไม่ควรเพื่อฆ่ามารดา ๑
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อฆ่าบิดา ๑
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อฆ่าพระอรหันต์ ๑
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้นด้วยจิตประทุษร้าย ๑
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑
 เป็นผู้ไม่ควรเพื่อถือศาสดาอื่น ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลายฐานะที่ไม่ควรเป็นได้ ๖ ประการนี้แล ฯ

ที่มา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=10326&Z=10333&pagebreak=0

-----------------------------------------------------------------   

อนันตริยกรรม ๕ (กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที)

๑. มาตุฆาต (ฆ่ามารดา)
๒. ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา)
๓. อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์)
๔. โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป)
๕. สังฆเภท (ยังสงฆ์ให้แตกกัน, ทำลายสงฆ์)


อภิฐาน ๖ (กรรมที่เด่นยิ่งกว่ากรรมอื่นๆ, ฐานะอันยิ่งยวด, ฐานอันหนัก, ความผิดพลาดสถานหนัก)

อภิฐาน ๕ ข้อแรก ตรงกับ อนันตริยกรรม ๕ คือ มาตุฆาต ปิตุฆาต อรหันตฆาต โลหิตุปบาท และ สังฆเภท   เพิ่มข้อ ๖ คือ

๖. อัญญสัตถุทเทส (ถือศาสดาอื่น คือ ถือถูกอยู่แล้ว กลับไพล่ทิ้งไปถือผิด)

อภิฐานนี้ ในบาลีที่มาเดิม เรียกว่า อภัพพฐาน (ฐานะที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ไม่อาจจะกระทำ คือ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำ)
 
ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)
----------------------------------------------------------------- 



22215  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / การไปเผาศพได้อานิสงส์อะไร เมื่อ: เมษายน 20, 2010, 08:59:25 pm

การไปเผาศพได้อานิสงส์อะไร

          ถาม  ช่วยเล่าอานิสงส์ของการไปเผาศพให้ทราบด้วยว่า ได้บุญอย่างไร

          ตอบ  สำหรับเรื่องไปเผาศพนี้ ถ้าจะพิจารณาดูแล้วก็คิดว่าคงจะได้อานิสงส์ ๔ ประการคือ

          ๑. ได้บำเพ็ญญาติธรรมหรือมิตรธรรม คือแสดงน้ำใจของญาติของมิตรต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือต่อบุตรภรรยาสามีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

          ๒. ได้เจริญสังเวคธรรม คือธรรมที่ให้เกิดความสลดสังเวชว่า แม้เราเองก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือต้องตายเป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่มีใครหลีกหนีความตายไปได้พ้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีชีวิตอยู่จึงควรทำแต่ความดี ตายแล้วก็ยังมีคนชื่นชมยกย่อง ไม่ใช่ตายแล้วมีแต่คนสาบแช่ง สมน้ำหน้าว่า คนอย่างนี้ตายเสียได้ก็ดี แผ่นดินเบาไปแยะเป็นต้น

          ๓. เป็นการเจริญอนิจจสัญญา คือเห็นความจริงของสังขารรูปนาม อันประกอบไปด้วยกายและใจนี้ว่าไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ต้องดับ มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ไม่ยั่งยืนคงทน

          ๔. สำหรับในสถานที่ที่เผาศพกันกลางแจ้ง ก็อาจเจริญอสุภสัญญา คือความเห็นว่าร่างกายนี้ไม่งามได้ด้วย อย่างในประเทศอินเดียเขาเผาศพกันกลางแจ้ง ริมฝั่งแม่น้ำที่เขาเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ มีแม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น ซึ่งผู้ที่เข้าใจสามารถเจริญอสุภสัญญาได้เสมอ
________________________________________
ที่มา    หนังสือนานาปัญหา โดย คณะสหายธรรม
อ้างอิง และแนะนำ :-
          พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
          ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
          ติโรกุฑฑกัณฑ์ในขุททกปาฐะ
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=25&A=155&Z=194
          พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
          อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
          สัญญาสูตรที่ ๒
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=23&A=1076&Z=1220
          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า สังเวค
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สังเวค
          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า กถาวัตถุ 10
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กถาวัตถุ_10&detail=on
          คำว่า สัญญา 10
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สัญญา_10&detail=on
     

22216  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / ที่มาของคำว่า "กิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘" เมื่อ: เมษายน 20, 2010, 08:55:41 pm

ขอทราบการนับกิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘

          ถาม  ขอให้นับกิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ ให้ทราบด้วย

          ตอบ  ก่อนอื่นขอพูดถึงกิเลส ๑๐ ก่อนว่ามีอะไรบ้าง
       
 กิเลส ๑๐ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะและถีนะ
         
ในปรมัตถธรรมทั้ง ๔ เว้นนิพพาน คงนับจิตทั้งหมดเป็น ๑
         
เจตสิก ๕๒ นับทั้ง ๕๒
         
รูป ๒๘ นับเพียง ๒๒ รูป คือ นิปผันนรูป ๑๘ กับลักษณะรูป ๔
         
รวมนับจิต ๑ รวมกับเจตสิก ๕๒ รูป ๒๒ เป็น ๗๕
         
ส่วนกิเลส ๑๐ นั้นมีทั้งที่เกิดขึ้นในสันดานของตนเองและในสันดานของคนอื่น กิเลส ๑๐ คูณด้วย

สภาวะธรรม ๗๕ เป็น ๗๕๐ เกิดขึ้นในสันดานของตนเอง ๗๕๐ เกิดขึ้นในสันดาน ของคนอื่นอีก ๗๕๐

จึงรวมเป็นกิเลส ๑๕๐๐

          ขออธิบายเพิ่มเติมว่า กิเลส ๑๐ ยึดถือสภาวะธรรม ๗๕ นี้เป็นอารมณ์ กิเลส ๑๐ คูณด้วย

อารมณ์ ๗๕ เป็น ๗๕๐ คูณด้วยภายในภายนอก ๒ จึงเป็น ๑๕๐๐


          คราวนี้เป็นการนับตัณหา ๑๐๘
         
ตัณหานั้นท่านจัดไว้ตามธรรมดาเป็น ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๓ นี้ เกิดขึ้นเพราะ

อาศัยอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ ๓ คูณด้วย ๖ จึงเป็น ๑๘ ตัณหา

๑๘ นี้เกิดขึ้นได้ในกาล ๓ คือ อดีต ๑๘ ปัจจุบัน ๑๘ รวมเป็น ๕๔
         
ตัณหา ๕๔ นี้เกิดขึ้นภายในตน ๑ ภายนอกตน ๑ จึงเป็นตัณหาภายใน ๕๔ ภายนอก ๕๔
         
๕๔ รวมกับ ๕๔ เป็นตัณหา ๑๐๘
         
 สรุปว่าตัณหา ๓ คูณด้วยอารมณ์ ๖ คูณด้วยกาล ๓ เป็น ๕๔ คูณด้วยภายใน ภายนอก ๒ จึงเป็น ๑๐๘

________________________________________

ที่มา   หนังสือ นานาปัญหา โดย คณะสหายธรรม
อ้างอิง และแนะนำ :-
          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า กิเลส 1500
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กิเลส_1500
          คำว่า ตัณหา 108
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ตัณหา_108
     
22217  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / เหตุใด พระพุทธเจ้า ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ ไม่เชื้อเชิญ บุคคลใดเลย เมื่อ: เมษายน 20, 2010, 08:49:47 pm

เหตุใด พระพุทธเจ้า ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับ ไม่เชื้อเชิญ บุคคลใดเลย

เรื่องเวรัญชพราหมณ์

   [๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์

สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญชพราหมณ์

ได้สดับข่าวถนัดแน่ว่า ท่านผู้เจริญ พระสมณะโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยตระกูล

ประทับอยู่ ณ บริเวณต้นไม้สะเดาที่นเฬรุยักษ์สิงสถิต เขตเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์

หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ก็แลพระกิตติศัพท์อันงามของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ขจรไปแล้ว

อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์แม้เพราะเหตุนี้ ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ

แม้เพราะเหตุนี้ ทรงบรรลุวิชชาและจรณะแม้เพราะเหตุนี้ เสด็จไปดีแม้เพราะเหตุนี้ ทรงทราบ

โลกแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็น

ศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลายแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพุทธะแม้เพราะเหตุนี้ ทรงเป็นพระ

ผู้มีพระภาคแม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัด

ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง แล้วทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทพ

และมนุษย์ ให้รู้ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ

พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์ อนึ่ง การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็น

ปานนั้น เป็นความดี.

            

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตู่พระพุทธเจ้า

   [๒] หลังจากนั้น เวรัญชพราหมณ์ได้ไปในพุทธสำนัก ครั้นถึงแล้วได้ทูลปราศรัยกับ

พระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการทูลปราศรัยพอให้เป็นที่บันเทิงเป็นที่ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ

ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เวรัญชพราหมณ์นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค

ว่า ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณะโคดม ไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่

ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อที่ข้าพเจ้าทราบมานี้

นั้นเป็นเช่นนั้นจริง อันการที่ท่านพระโคดมไม่ไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้

ล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะนี้นั้น ไม่สมควรเลย.
   
   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ในโลก ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ใน

หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทพ และมนุษย์ เราไม่เล็งเห็นบุคคลที่เราควรไหว้ ควร

ลุกรับ หรือควรเชื้อเชิญด้วยอาสนะ เพราะว่า ตถาคตพึงไหว้ พึงลุกรับ หรือพึงเชื้อเชิญ

บุคคลใดด้วยอาสนะ แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็จะพึงขาดตกไป
.


ที่มา    พระวินัยปิฎก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ปฐมภาค เวรัญชกัณฑ์
พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

---------------------------------------------------------------------------- 

ใครเคยอ่านหนังสือของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ที่เกี่ยวกับองค์ปฐม จะทราบว่า
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะไหว้พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

22218  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / ควรเชื่อฤกษ์ยามหรือไม่ เมื่อ: เมษายน 20, 2010, 08:42:56 pm



ควรเชื่อฤกษ์ยามหรือไม่
          ถาม
          ๑. เรื่องการเริ่มกิจการงานต่างๆ ต้องดูฤกษ์ยาม วันเวลา อาจารย์คิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระมีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
          ๒. อาจารย์มีความเชื่อเรื่องนี้หรือไม่ และอาจารย์เคยทำหรือไม่ หมายความว่า อาจารย์เคยหรือไม่ ที่ว่าการเริ่มกิจการงานของอาจารย์เคยเลือกวันเวลา ตามหลักทำนายของโหราศาสตร์


          ความจริงผมไม่เชื่อเรื่องนี้เท่าไร ผมเชื่อหลักกรรมเหตุผลตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่มันก็ยังรู้สึกติดใจตัดไม่ออก เพราะผมปฏิบัติกันมาแต่เด็กๆ และแม้แต่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่บางท่านก็ยังดูฤกษ์ ดูดวงให้ศรัทธาประชาชน ผมขอคำแนะนำของอาจารย์และผมจะปฏิบัติตาม ถ้าอาจารย์เห็นว่าควรทำ

          ตอบ  เรื่องของการดูฤกษ์ยามเวลาจะเริ่มทำกิจการงานต่างๆ นั้น ถ้าดูแล้วทำให้สบายใจ และไม่ทำให้เดือดร้อนก็ทำเถิด แม้บางครั้งจะไร้สาระ แต่มีประโยชน์แก่จิตใจก็ทำตามสบาย ขอเพียงอย่าถึงกับเชื่อมั่นคงว่า ถ้าทำไม่ได้ตามฤกษ์ตามยามนั้นแล้วทุกอย่างจะล้มเหลว เพราะจริงๆ แล้วการดูฤกษ์ยามเป็นเพียงการช่วยให้เกิดความมั่นใจส่วนหนึ่งเท่านั้น

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า เวลาที่สัตว์ประพฤติชอบชื่อฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดีเป็นต้น ซึ่งหมายความว่า เมื่อบุคคลประพฤติดีประพฤติชอบเวลาใด เวลานั้นแหละเป็นฤกษ์ดี มงคลดีสำหรับบุคคลนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นการทำความดีจึงไม่ควรรอเวลา เพราะทำเมื่อไรก็เป็นความดีเมื่อนั้น


          แม้ในนักขัตตชาดก เอกนิบาตชาดกข้อ ๔๙

          พระพุทธเจ้าของเรา สมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ได้กล่าวคาถาสอนชาวเมืองผู้มัวแต่ถือฤกษ์ยามอยู่ จึงพลาดจากประโยชน์ที่ตนจะได้รับไป

          ท่านกล่าวสอนว่า “ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดาวดวงจักทำอะไรได้”


          แล้วท่านก็อธิบายให้ฟังว่า “คนโง่มัวแต่รอฤกษ์อยู่ว่า ฤกษ์จะมีในบัดนี้ จักมีในเวลานี้ ปล่อยเวลาให้ผ่านไปด้วยการอคอย ประโยชน์ที่เขาความจะได้รับ ก็ได้ผ่านเลยไปเสีย ในช่วงเวลาที่เขารอคอยอยู่นั่นแหละ ดวงดาวในอากาศจักยังประโยชน์ให้สำเร็จได้อย่างไร การกระทำของตนต่างหากที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ”

          และถ้าเราคิดถึงเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง บางครั้งในขณะที่เรามัวรอฤกษ์งามยามดีอยู่นั่นแหละ เราก็สิ้นชีวิตไปเสียก่อน โดยที่ยังมิได้ทำตามที่ตั้งใจเลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำความดีแล้ว ไม่จะเป็นต้องรอฤกษ์รอยามเลย จงทำทันทีจะดีกว่า ทั้งชื่อว่าได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างถูกต้องด้วย

          ในส่วนตัวนั้น ก็อาจจะเคยเชื่อฤกษ์ยามมาบ้าง เพราะเชื่อตามผู้ใหญ่ แต่เมื่อศึกษาพระธรรมจนพอเข้าใจแล้ว ก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องฤกษ์ยามแต่ถือฤกษ์สะดวก คือความพร้อมของตนเป็นสำคัญ หรือถ้างานนั้นต้องทำหลายคน ก็ถือเอาความสะดวกของทุกคนเป็นสำคัญ สะดวกและพร้อมเมื่อใดก็ทำเมื่อนั้น ไม่ต้องไปดูฤกษ์ดูยามให้ยุ่งยากใจ

________________________________________
ที่มา  หนังสือ นานาปัญหา โดย คณะสหายธรรม
อ้างอิง และแนะนำ :-
          พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
          อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
          สุปุพพัณหสูตร
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=20&A=7802&Z=7826
          พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙
          ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
          นักขัตตชาดก ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=27&A=323&Z=327
          อรรถกถา นักขัตตชาดก
          ว่าด้วย ประโยชน์คือฤกษ์
http://84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270049

     
22219  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / “ปัญจมหาวิโลกนะ” และ “๗ สหชาติ” ของพระสมณโคดม เมื่อ: เมษายน 07, 2010, 08:05:36 am

 “ปัญจมหาวิโลกนะ” และ “๗ สหชาติ” ของพระสมณโคดม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)

ก่อนการประสูติของพระพุทธเจ้า

ใน กาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า บังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราชเสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ ชั้นดุสิตเทวโลก ครั้งนั้นท้าวมหาพรหม และเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า ชวนกันไปเผ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ให้จุติลงไปบังเกิดทั้งสองประชากร ให้รู้ธรรม และประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก


พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายทรงพิจารณาดู

"ปัญจมหาวิโลกนะ" หมายถึงสิ่งที่พระบรมโพธิสัตว์ทรงพิจารณาข้อตรวจสอบที่สำคัญหรือ "การตรวจดูอันยิ่งใหญ่ ๕ อย่าง" ก่อนที่จะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้ามี ๕ อย่างคือ

๑. กาล ๒.ทวีป ๓.ประเทศ ๔.ตระกูล ๕.มารดา พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงเลือกดังนี้

๑. กาล ทรงเลือกอายุกาลของมนุษย์
๒. ทวีป ทรงเลือกชมพูทวีป
๓. ประเทศ ทรงเลือกมัธยมประเทศ
๔. ตระกูล ทรงเลือกตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์
๕. มารดา ทรงเลือกมารดาที่มีศีลห้าบริสุทธิ์ ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัป และกำหนดอายุของมารดา ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา


การที่ทรงเลือก อายุกาลมนุษย์ เพราะอายุมนุษย์ขึ้นลงตามกระแสสังขาร บางยุคอายุ ๘ หมื่นปี ๔ หมื่นปี ๒ หมื่นปี อายุกาลของมนุษย์ในยุคนั้น ๑๐๐ ปีตรงตามที่ทรงกำหนดไว้คือต้องไม่สั้นกว่าร้อยปี ต้องไม่ยาวเกินแสนปี ที่ทรงเลือกอายุ ๑๐๐ ปีเพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร เหตุที่ไม่ตรัสรู้บนสวรรค์ทั้งนี้เพราะเทวดาไม่เห็นทุกข์มีแต่สุข อายุยืนยาวนานนัก จะไม่เห็นอริยสัจ การตรัสรู้ธรรมและแสดงธรรมได้ผลดีมากในเมืองมนุษย์

การที่ทรงเลือกชมพูทวีป ซึ่งแปลว่า "ทวีปแห่งต้นหว้า" เพราะมีต้นหว้าขึ้นมากในดินแดนแห่งนี้ แผ่นดินชมพูทวีปในยุคนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่าประเทศอินเดียในปัจจุปันมากนัก มีดินแดนกินประเทศอื่นในปัจจุบันอีก ๖ ประเทศ คือ


๑.ปากีสถาน
๒. บังกลาเทศ
๓. เนปาล
๔.ภูฏาน
๕.สิขิม
๖. บางส่วนของอัฟกานิสถาน (แคว้นกัมโพชะ ในมหาชนบท ๑๖ ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน)


ชมพูทวีปครั้งพุทธกาลแบ่ง เป็นหลายอาณาจักร เป็นมหาชนบท ๑๖ แคว้น และยังปรากฎอีก ๔ แคว้นในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา อาณาจักรเหล่านี้มีพระเจ้าแผ่นดินดำรงยศเป็นมหาราชาบ้าง ราชาบ้างมีอธิบดีบ้าง เป็นผู้ปกครองโดยทรงอำนาจสิทธิขาดบ้างโดยสามัคคีธรรมบ้าง บางคราวตั้งเป็นอิสระ บางคราวตกอยู่ในอำนาจอื่นตามยุคตามสมัย

คนใน ชมพูทวีปแบ่งเป็นชนชั้น ที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทรคนในชมพูทวีปสนใจในวิชาธรรมมาก มีคณาจารย์ตั้งสำนักแยกย้ายกันตามลัทธิต่าง ๆ มากมาย เกียรติยศของศาสดาเจ้าลัทธิเจ้าสำนักผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ได้รับยกย่องเสมอเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินหรือมากยิ่งกว่า

การที่ทรงเลือกมัธยมประเทศ เพราะชมพูทวีปแบ่งเป็น ๒ จังหวัด เหนือ ๑ อาณาเขต
อาณาเขตในคือ มัชณิมชนบทหรือมัธยมประเทศเป็นถิ่นกลางที่ตั้งแห่งนครใหญ่ ๆ มีความเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่ของนักปราชญ์ผู้มีความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยาการ เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพวกอารยันหรืออริยกะ รูปร่างสูง ผิวค่อนข้างขาวเป็นพวกที่มีความเจริญไม่ใช่เจ้าของถิ่นเดิม ทรงกำหนดกรุงกบิลพัสดุเป็นที่บังเกิด
ส่วนอาณาเขตนอก เรียกว่าปัจจันตชนบทหรือประเทศปลายแดนเป็นถิ่นที่ยังไม่เจริญ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนพื้นเมืองดั้งเดิม รูปร่างเล็กผิวดำ จมูกแบน เป็นพวกเชื้อสายดราวิเดียนหรือพวกทมิฬในปัจจุบัน


การที่ทรงเลือกอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา เพระทรงกำหนดว่าเวลานั้นโลกสมบัติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูล พราหมณ์ และศากยสกุลเป็นตระกูลที่บริสุทธิ์ ๗ ชั่วโคตร ถ้าไม่บริสุทธิ์ก็ยากที่จะมีคนเคารพนับถือ การเผยแผ่ศาสนาจะทำได้ยาก เพราะคนในสมัยนั่นถือชั้นวรรณะกันมากจึงเลือกวรรณะกษัตริย์ ที่สูงสุด เพราะไม่ใช่เพื่อตรัสรู้อย่างเดียว ทรงประประสงค์สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนด้วย

การ ที่ทรงเลือกมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัป ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่ไม่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาเป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์


ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์

พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อน มลทินโทษ มิฉะนั้น จะยากแก่การเผยแผ่ศาสนาจะถูกโจมตี พระนางสิริมหามายา ได้อธิฐานไว้ว่า ขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ ๗ วันก็เสด็จทิวงคต เพระสงวนไว้สำหรับประสูติพระพุทธเจ้าองค์เดียว ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลกตามประเพณีพระพุทธมารดาไม่ได้เป็น หญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพระอธิษฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า


"๗ สหชาติ ของพระพุทธเจ้า"


ครั้น พระนางสิริมหามายา พระราชมารดาของพระพุทธเจ้าเมื่อใกล้ถึงกำหนดพระประสูติกาล ก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปยังกรุงเทวทหะอันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง (ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ฝ่ายหญิงจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านบิดามารดา) เมื่อขบวนผ่านมาถึงอุทยานลุมพินีซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนครทั้งสอง พระนางประชวรพระครรภ์ บรรดาข้าราชบริพาลก็รีบจัดที่ประสูติถวายภายใต้ต้นสาละใหญ่

กาลเวลา นั้นแดดอ่อน ดวงตะวันยังไม่ขึ้นตรงศรีษะเป็นวันเพ็ญเดือน ๖ พระจันทร์จักโคจรเต็มดวงในยามเที่ยงคืน ชมพูทวีปเริ่มมีฝนอากาศโปร่ง ต้นไม้ในอุทยานป่าสาละกำลังผลิดอกออกใบอ่อน ดอกสาละ ดอกจำปาป่า ดอกอโศก และดอกไม้นานาพรรณกำลังเบ่งบานส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ พระนางสิริมหามายาประทับยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ พระหัตถ์ซ้ายปล่อยตก ประสูติพระโอรสโดยสะดวก


พอประสูติจากพระครรภ์พระ มารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว

ในวันเพ็ญเดือน ๖ วันที่พระกุมารประสูตินั้น มีมนุษย์และสัตว์กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมถึง ๗ อัน "สหชาติ" นั้นหมายถึงผู้เกิดร่วมด้วย ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า คือ

๑. พระนางพิมพา

หรือ พระนางยโสธรา เป็นพระราชบุตรีของประเจ้าสุปปพุทธะกรุงเทวทหะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะเมื่อมีประชนม์ได้ ๑๖ พรรษา เป็นพระมารดาของพระราหุล ภายหลังออกบวชมีนามว่า พระภัททกัจจานา

๒. พระอานนท์

เป็น เจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านออกบวชในพุทธศาสนา และได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธศาสนาและได้รับเลือก เป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหลาย ด้าน ท่านบรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนาท่านดำรงชีวิตสืบมาจนถึงอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติสองฝ่ายคือศากยะ และโกลิยะ


๓. นายฉันนะ

เป็น อำมาตย์คนสนิท และเป็นสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะในวัง เสด็จออกบรรพชาเมื่อมีพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา นายฉันนะตามเสด็จไปด้วยและนำเครื่องอาภรณ์พร้อมทั้งคำกราบทูลของเจ้าชายสิ ทธัตถะกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ภายหลังบวชเป็นภิกษุถือตัวว่าเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาแต่เก่าก่อน ใครว่าไปฟังเกิดความบ่อย ๆ หลังจาก พระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว ถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์หายพยศและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์


ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้า กัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา

๔. อำมาตย์กาฬุทายี

เป็น พระสหายสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์พระเจ้าสุทโธนะส่งไป ทูลเชิญพระศาสดาเพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์อำมาตย์กาฬุทายีไปเผ้าพระศาสดา ที่กรุงราชคฤห์ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตตผล อุปสมบทเป็นภิกษุแล้วทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส
 


๕. ม้ากัณฐกะ

ม้า พระที่นั่งของเจ้าชายสิทธัตถะ ตัวม้ายาวจากคอถึงหาง ๑๘ ศอก ส่วนสูงก็เหมาะสมกับส่วนยาว มีสีขาวผ่องเหมือนเปลือกหอยสังข์ที่ขาวสะอาด ในราตรีที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีออกจากพระราชวัง เพื่อเสด็จออกพรรพชา การเดินทางครั้งนี้มีนายฉันนะเกาะหางม้ากัณฐกะไปด้วย ม้ากัญฐกะเดินทางถึงแม่น้ำอโนมาใช้เวลาเที่ยงคืนถึงเช้าระยะทาง ๓๐ โยชน์ (๔๘๐ กิโลเมตร) กระโดดครั้งเดียวก็ข้ามแม่น้ำอโนมา เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำแล้วเจ้าชายสิทธัตถะจึงรับสั่งว่า กัณฐกะเจ้าจงกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์เถิด ม้ากัณฐกะจึงเหลียวมองไปทางเจ้าชายสิทธัตถะ พอเจ้าชายลับสายตาไป ม้าก็ถึงแก่ความตายเนื่อง จากเสียใจ และได้ไปเกิดอยู่ในดาวดึงส์ มีชื่อว่า "กัณฐกเทวบุตร"
 

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ใต้ต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

๖. ต้นมหาโพธิ์


เจ้าชายสิทธัตถะขณะที่มี พระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ใต้ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือ ตำบลพุทธคยา แขวงเมืองอุรุเวลาเสนานิคม ของรัฐพิหาร) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๑ เกิดพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ มีอายุ ๓๐๕ ปี (ต้นโพธิ์ตรัสต้นที่ ๒ มีอายุ ๘๙๑ ปี ต้นที่ ๓ มีอายุ ๑,๒๒๗ ปี ต้นโพธิ์ตรัสรู้ปัจจุบันเป็นหน่อที่ ๔ ปลูกราว พ.ศ. ๒๔๓๔)


ทรงลาดหญ้าคาประทับเป็น โพธิบัลลังก์ ตกเย็นพญามารก็กรีฑาพลมาขับไล่

๗. ขุมทรัพย์ทั้งสี่

ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ หรือนิธิกุมภี คือขุมทอง ๔ ขุม ได้แก่ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี

ที่มา  http://www.masteryuk.net/bb6/viewtopic.php?f=5&t=97&start=10#p235

22220  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / วิปัสสนาแบบธรรมชาติ โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เมื่อ: เมษายน 06, 2010, 10:28:00 am
วิปัสสนาแบบธรรมชาติ
คำเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ท่านใดชื่นชอบความเป็นธรรมชาติ  มีจริตที่เรียบง่าย ไม่ชอบทำตามรูปแบบ แต่ชอบทำตัวกลมกลืนกับธรรมชาติ เชิญทางนี้เลยครับ


   
  นักวิปัสสนาที่ยังต้องอาศัยเวลาที่สงัด ยังต้องยึดแบบนั้น ท่านว่ายังไกลมรรคผลมาก นักวิปัสสนา

ที่เข้าระดับวิปัสสนาจริง ท่านเอาธรรมชาติที่ปรากฏเฉพาะหน้าเป็นเครื่องพิจารณา ขั้นแรกจงเข้าใจคำ

ว่า "วิปัสสนาเสียก่อน" คำว่า "วิปัสสนา แปลว่า รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง" วิปัสสนาท่านแปลว่า

อย่างนั้น หรือจะพูดเป็นภาษาไทยแท้ก็ได้ความว่า ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เมื่อได้ความอย่างนี้แล้ว

 การเจริญวิปัสสนาก็ไม่มีอะไรยาก ความจริงวิปัสสนานี้มีวิธีเจริญง่ายมาก ง่ายกว่าระดับสมาธิมาก คือยก

อารมณ์ให้เข้าถึงความเป็นจริง คล้อยตามความเป็นจริง ไม่ฝืนความจริง รับรู้รับทราบตามกฎของความ

เป็นจริงตลอดเวลา และไม่พยายามฝ่าฝืนกฎธรรมดาเป็นอันขาด


กฎธรรมดา

      กฎของธรรมดามีอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรที่เราได้มา หรือเห็นอยู่ ตามกฎที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เมื่อมัน

เกิดมาใหม่ มันเป็นของใหม่ แต่ต่อไปมันจะค่อยๆ เก่าลงทุกทีตามวันเวลาที่ล่วงไปแล้ว ในที่สุดมันก็จะ

ต้องแตกทำลาย สิ่งที่มีชีวิตต้องตาย สิ่งที่ไม่มีชีวิตต้องผุพัง กฎธรรมดามีเท่านี้ จะเป็นใครก็ตามแม้แต่

ตัวเรา ลูกเรา หลานเรา ไม่ว่าท่านผู้วิเศษที่ไหน เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด จำเข้าไว้และคิดคำนึงไว้

เป็นปกติ อย่าคิดเฉย พยายามทำอารมณ์จิตให้เข้าระดับจริงๆ คือคิดแล้วปลงด้วย โดยปลงว่า

 ก็อะไรๆ มันไม่แน่นอนอย่างนี้ เราควรหรือที่จะยึดจะเกาะสิ่งทั้งหมดที่เห็น ที่มีอยู่และกำลังจะมีว่า มัน

เป็นเรา เป็นของเรา ถ้าคิดอย่างนั้นมันก็ผิดถนัด เป็นการหลอกหลอนตัวเอง เพราะมันต้องเก่า ต้อง

ทำลาย เมื่อมันมีสภาพอย่างนี้ทั้งหมดโลก ก็การเกิดในโลกที่เต็มไปด้วยความกลับกลอกหลอกหลอน

โกหกมดเท็จอย่างนี้ มีอะไรเป็นของน่ารัก น่าทะนุถนอม น่าปรารถนาบ้าง พยายามคิดๆ ให้เห็นว่า ความ

จริงมันน่าเบื่อจริงๆ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ แม้แต่วัตถุที่ไม่มีวิญญาณ หาอะไรคงสภาพไม่มี พยายามแสวงหา

สะสมกันเสียพอแรงแต่แล้วก็ผิดหวัง เมื่อจะหามา เลือกแล้วเลือกอีก เอาสวยๆ งาม ที่สุดเท่าที่จะหาได้

ดูทนทานแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะมีในโลกนี้ แล้วมีอะไรเกิดขึ้น เมื่อได้มาแล้วมันจะค่อยๆ คลายความสวย

ลง แล้วก็เริ่มคร่ำคร่าลงทุกวันทุกเวลา ในที่สุดก็พัง โลกคือความโกรธเต็มไปด้วยความคร่ำคร่าผุพัง น่า

เบื่อหน่าย น่าเอือมระอาเป็นที่สุด ต่อมาเมื่ออาการพังทลายปรากฎทำจิตอย่าให้หวั่นไหว เพราะเราทราบ

แล้วว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ยิ้มรับความสลายตัวของทรัพย์สินด้วยอารมณ์ชื่นบาน และรับทราบมีอารมณ์

ปกติเมื่อความตายมาถึงตน มีความชื่นบานด้วยความคิดว่าดีแล้ว


    โลกที่ศิวิไลซ์ด้วยความปลิ้นปล้อนตลบตะแลง เราสิ้นชาติสิ้นภพกันที การสิ้นลมปราณคราวนี้

เป็นการสิ้นทุกอย่าง เราจะไม่มีทุกข์อีก เพราะเราไม่ปรารถนาความเกิดอีก ขึ้นชื่อว่าชาติภพความเกิด จะ

เกิดในแดนใดเราไม่ต้องการ มีสถานเดียวคือพระนิพพานเท่านั้น เป็นสถานที่เราปรารถนา ทำอารมณ์

พอใจในพระนิพพานให้เป็นปกติ สร้างความรู้สึกตามกฎธรรมดา รู้เกิด รู้เสื่อม รู้สลายของของทุกชนิด

จนมีอารมณ์ปกติ ไม่หวั่นไหวในเมื่อมรณภัยมาถึง สมบัติ ญาติ บุตร สามี ภรรยา ในที่สุดแม้แต่ตัวเรา

อารมณ์เป็นปกติอย่างนี้ตลอดวัน ไม่ดีใจในเมื่อมีลาภ ได้ยศ รับคำสรรเสริญ มีความสุข ไม่หวั่นไหวใน

เมื่อสิ้นลาภสิ้นยศ ถูกนินทา มีความทุกข์ เท่านี้น่าภูมิใจได้แล้ว ท่านสิ้นภาระในทุกขภัยแล้ว ต่อไปท่าน

มีพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอน นักวิปัสสนาญาณเจริญอย่างนี้โดยที่เห็นรูปกระทบตลอดวัน ท่านจึงจะ

นับว่าเป็นนักวิปัสสนาญาณแท้ และเข้าวิปัสสนาจริง ถ้ายังรอวัน รอเวลาหาที่สงัดอยู่แล้ว ยังหรอกท่าน

ยังไกลคำว่า วิปัสสนามากนัก ขอยุติวิปัสสนาตามธรรมชาติโดยย่อไว้เพียงเท่านี้

 

อ้างอิง "คู่มือนักปฏิบัติพระกรรมฐาน" ลพ.ฤาษีลิงดำ
ที่มา  เว็บพระรัตนตรัย.คอม
http://www.praruttanatri.com/book.php



 
22221  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / พุทธานุสสติ เป็นวิปัสสนา โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เมื่อ: เมษายน 05, 2010, 09:18:04 pm
บทนำ   

เท่าที่ผมได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มาหลายเล่มโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า คำเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มักจะยกคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาแสดงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เห็นว่า ท่านน่าจะปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของวิสุทธิมรรค ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า หลวงพ่อฤาษีลิงดำ น่าจะมีส่วนช่วยผดุงกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ไม่มากก็น้อย
 
ดังนั้น เพื่อให้เพื่อนๆได้รับความรู้อันเนื่องด้วยกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ในอีกมุมหนึ่ง
จึงขอเสนอ คำเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เรื่อง“พุทธานุสสติกรรมฐาน”ดังนี้ครับ


 

พุทธานุสสติเป็นวิปัสสนา
 
   วันนี้จะขอพูดเรื่องพุทธานุสสติต่อ เพราะว่าพุทธานุสสติตามที่อธิบายมาแล้วเราจัดเป็นระดับ ๔ ระดับด้วยกัน

   อันดับแรก การพิจารณาตามแบบ คือพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า โดยใช้คำว่า อิติปิโสภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น ใช้จิตใคร่ครวญในด้านของจริยาของพระองค์ สร้างความเลื่อมใสให้เกิด สร้างความผูกพันให้เกิดในพระพุทธเจ้า อย่างนี้ผลจะพึงมีได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ

   ถ้าเราทำพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสมาบัติ ท่านสอนให้จับภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราพอใจ เวลาที่ภาวนาไปว่าพุทโธหรืออรหังก็ตาม เอาจิตนึกถึงภาพนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ถือว่าเอาภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณ ถ้าปฏิบัติแบบนี้ก็สามารถเข้าถึงฌานที่ ๔ ได้ จัดว่าเป็นรูปฌาน

   ถ้าจะทำพุทธานุสสติให้เป็นอรูปฌานเป็นสมาบัติ ๘ ก็ให้จับภาพพระพุทธรูปนั้น ทรงอารมณ์จิต ให้เข้าถึงฌาน ๔ เมื่อทรงจิตสบายดีแล้วก็เพิกภาพกสิณนั้นทิ้งไป คือถอนภาพออกจากใจ พิจารณาอากาศวิญญาณ ความไม่มีอะไรทั้งหมด แล้วสัญญาหรือไม่มีสัญญา ที่เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือไม่พิจารณารูปเป็นสำคัญ ไม่ต้องการรูป ต้องการแต่นามฝ่ายเดียว เพราะท่านที่ปฏิบัติแบบนี้เพราะมีความรังเกียจในรูป ถือว่ารูปเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ เกิดไปชาติหน้าไม่ต้องการรูปอีก และเป็นสมถภาวนาจัดเป็นอรูปฌาน

   ในอันดับนี้ เราต้องการจะใช้พุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นวิปัสสนาญาณ ท่านก็ให้ตั้งอารมณ์จิตของเรายึดภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ ทำภาพให้เห็นชัดด้วยจิตเป็นสมาธิถึงฌาน ๔ แล้วก็สามารถจะบังคับรูปนั้นให้เล็กก็ได้ ให้โตก็ได้ แล้วบังคับให้หายไปก็ได้ เป็นไปตามความต้องการ บังคับให้รูปนั้นปรากฏขึ้นก็ได้ หายไปก็ได้ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ แล้วก็จับภาพนั้นเป็นอารมณ์ พิจารณาว่าพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ความจริงพระพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ผู้มีความอัศจรรย์ ไม่มีบุคคลใดจะเสมดเหมือน แต่ว่าพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่มีชีวิตอยู่ ก็มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ เทวดาหรือพรหมก็ตาม ก็ไม่สามารถจะทรงขันธ์ ๕ ให้ยืนยงคงอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด

   ทีนี้มานั่งมองตัวของเราเอง พิจารณาตัวของเราเองว่าพระพุทธเจ้านะดีกว่าเราหลายล้านเท่า ความดีของเราได้หยดหนึ่งในหลายล้านเท่าของท่านก็ไม่ได้ ในเมื่อขันธ์ ๕ ขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ไม่สามารถจะทรงอยู่ได้ เราซึ่งมีความดีไม่ถึง ขันธ์ ๕ มันจะทรงอยู่ได้ยังไง มันก็ต้องมีความเกิดขึ้น มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน ขณะที่ทรงตัวอยู่ก็เต็มไปด้วยอำนาจของความทุกข์ นี่มองเห็นขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้าว่าไม่มีความจีรังยั่งยืน แล้วก็เข้ามาเปรียบเทียบกับขันธ์ ๕ ของเรา

   ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ขันธ์ ๕ นี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ คือร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ๔ คือธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันทรงกายอยู่ได้ชั่วคราวแล้วมันก็สลายตัวไปในที่สุด เมื่อการสลายตัวของมันปรากฏขึ้น ถ้ากิเลสของเรายังไม่หมดเพียงใด มันก็ต้องไปเกิดแสวงหาความทุกข์อีก เมื่อตายใหม่กิเลสมันยังไม่หมดมันก็ต้องไปเกิดใหม่ ให้มีความทุกข์เกิดขึ้นมาอีกหาที่สุดมิได้ จะเทียบกันได้กับพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เรายกขึ้นเป็นกสิณ ถ้าเราต้องการให้พระรูปโฉมปรากฏก็ปรากฏขึ้น เราก็ต้องการให้หายไป สลายตัวไป การสลายตัวไปไม่ใช่การสลายไปหมด เราต้องการให้ภาพนี้ปรากฏ ก็กลับมาปรากฏตามเดิม สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ การที่ภาพหายไปถือว่าเป็นสภาวะของอนัตตา เราบังคับไม่ได้ แล้วภาพที่ทรงอยู่ก็ถือว่าอัตตา ทรงอยู่ แต่เป็นอัตตาชั่วคราว ต่อไปก็เป็นอนัตตา คือสลายตัว

   นี่เราก็มานั่งพิจารณาร่างกายของเราที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์  ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์  มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์  โสกปริเทวทุกขโทมนัส เป็นต้น ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าทุกอย่างเราเกิดมามันเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ ในเมื่อร่างกายของเราไม่มีความสุข ร่างกายของพระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่มีความสุข เมื่อขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ ดูตัวอย่างพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะทรงตัวได้ฉันใด ร่างกายของเราที่เต็มไปด้วยความทุกข์มันก็ไม่สามารถจะทรงตัวไว้ได้ฉันนั้น มีความเกิดขึ้นแล้ว มีความเสื่อมไป แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด ในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม มีเหงื่อ มีไคล มีอุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เต็มไปทั้งร่างกาย ไม่มีอะไรเป็นของน่ารัก ไม่มีอะไรเป็นของน่าชม มีแต่ของน่าเกลียด ฉะนั้น ถ้าตายแล้วคราวนี้ ถ้าเราต้องเกิดใหม่ เราก็ต้องไปแบกทุกข์ใหม่


      การที่เราจะไม่แบกทุกข์ต่อไป จะทำอย่างไร?

   องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราละสังโยชน์ ๑๐ ประการ อาศัยสักกายทิฏฐิตัวเดิมเป็นตัวปฏิบัติ คือเป็นตัวตัด เอามาพิจารณาร่างกายว่า อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา มันเกิดขึ้นแล้วมันต้องตายแน่ ถ้าการเกิด เกิดแล้วตายมีอยู่ตราบใด เราก็ยังไม่พ้นทุกข์ตราบนั้น ฉะนั้น ขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยความสกปรก ขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการนั้นก็คือพระนิพพานอย่างเดียว

      การที่เราจะต้องการพระนิพพานได้นั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป?

   ในเมื่อเราเห็นว่าขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เกิดเป็นทุกข์ เราเชื่อท่าน  ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์เราเชื่อท่าน  มรณัมปิ ทุกขัง เมื่อความตายเข้ามาถึงเป็นทุกข์ เราเชื่อพระองค์พร้อมไปด้วยของจริง เพราะความตายร่างกายต้องถูกบีบคั้นอย่างหนัก มีทุกขเวทนาอย่างหนัก มันจึงจะตายได้ คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง นี่เราไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า

   แล้วต่อไปเราก็ตั้งใจเกาะศีลให้บริสุทธิ์ ศีลถ้าเราเกาะได้แล้วก็ชื่อว่าเป็นการตัดอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น  ฆราวาสตั้งใจทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์  สำหรับสามเณรทรงศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์  สำหรับพระทรงศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์

   แล้วก็นั่งพิจารณาร่างกายว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันแก่ลงไปทุกวัน มันพังลงไปทุกวัน ไม่ช้าก็สลายตัว ตัดความเมาในร่างกายเสีย อย่างนี้ก็ถือว่าเข้าถึงความดีเป็นอันดับแรก การตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการได้จัดว่าเป็นพระโสดาบัน นี่เป็นทุนแล้ว

   

ต่อไปก็ขยับจิตให้สูงขึ้นไปกว่านั้น เพราะมันยังต้องเกิดอยู่อีก นี่พระโสดาบันนะ เราก็มาพิจารณาร่างกายเป็นอสุภกรรมฐาน ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี

   ในอันดับแรกพิจารณาเป็นกายคตาสติกรรมฐานว่า ร่างกายนี้เป็นชั้นเป็นท่อน มันไม่ได้เป็นแท่งทึบ แท่งอันเดียวกัน ข้างในเป็นโพรงเต็มไปด้วยอวัยวะต่างๆ

   น้อมกายคตาสติกรรมฐานเข้าไปหาอสุภกรรมฐาน เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มีอุจจาระปัสสาวะน้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนอง เป็นต้น อยู่ข้างใน ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทั้งร่างกายของเรา มีสภาพเหมือนกับซากศพที่เคลื่อนที่ได้ หรือเหมือนกับส้วมที่เคลื่อนที่ได้ มันเต็มไปด้วยความสกปรกไม่มีอะไรจะเป็นที่น่ารัก

   เมื่อพิจารณาในด้านอสุภกรรมฐานแล้วก็จับกายคตาสติขึ้นมาพิจารณาต่อว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีมีสภาพเหมือนกัน มันมีแต่ความสกปรกเหมือนกัน เราจะมัวไปนั่งยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราเพื่อประโยชน์อะไร เพราะว่านอกจากสกปรกแล้วยังเต็มไปด้วยความทุกข์ ความแก่เข้ามาท่วมทับ แล้วก็มีความตายไปในที่สุด พิจารณาแบบนี้ ค่อยๆพิจารณาไป ปัญญามันจะเกิด เกิดนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่าย เห็นว่าขันธ์ ๕ คือร่างกายไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นที่พึงปรารถนาสำหรับเรา

   เมื่อนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายบังเกิดขึ้นก็พิจารณาเรื่อยไป ให้จิตเข้าถึงสังขารุเบกขาญาณ
-          ความหนาวความร้อนปรากฏขึ้น การกระทบกระทั่งจากวาจาที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างปรากฏขึ้น อาการของจิตมีความรู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นทุกข์
-          ความป่วยไข้ไม่สบายบังเกิดขึ้น ก็ถือว่านี่มันเป็นหน้าที่ มันเป็นภาระของขันธ์ ๕ คือร่างกายมันต้องป่วย
-          ความทรุดโทรมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมันมีความเกิดแล้วก็มีความแก่ไปในที่สุด
-          อาการกระทบกระทั่งกับคำนินทาว่าร้ายต่างๆ ก็คิดว่าคนเราที่เกิดมาในโลกนี้มันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน หาความทรงตัวอะไรไม่ได้ แม้แต่วาจาเป็นเครื่องกล่าวกระทบกระทั่งนี้จัดว่าเป็นโลกะธรรมดา เป็นธรรมดาของคนเกิดมาในโลก
-          ทำจิตให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของธรรมดา
เมื่อถูกด่าใจก็สบาย อาการป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นใจก็สบาย ความกระทบกระทั่งอารมณ์เป็นที่ไม่ชอบใจใจก็สบาย ใครเขาชมก็ไม่หวั่นไหวไปตามคำชม
-          ตัดอารมณ์แห่งความโกรธเสียได้
-          ตัดอารมณ์ความทุกข์ คือความเกาะขันธ์ ๕ เสียได้
อย่างนี้ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี

เพราะการพิจารณาร่างกายในด้านอสุภกรรมฐาน เป็นการตัดความกำหนัดยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัส จนกระทั่งความรู้สึกในเพศไม่มี การยอมรับนับถือกฎธรรมดาใจไม่มีความหวั่นไหว ใจไม่มีความสะทกสะท้าน คือไม่มีความหนักใจ ไม่มีการเจ็บ ถือว่าธรรมดาของคนเกิดมาในโลกเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ชื่อว่าตัดโทสะลงไปเสียได้ มีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา เมื่อเราตัดโทสะได้ตัดกามราคะได้ทั้งสองประการ ท่านเรียกว่าพระอนาคามี ทั้งนี้เพราะอะไรเพราะเรายึดเอาพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้ง คือกสิณแล้วพิจารณาร่างกายของพระพุทธเจ้า ร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้าน เอามาเปรียบเทียบกันว่าไม่มีการทรงตัว มีการเสื่อมไป มีการสลายไปในที่สุด จะมานั่งรักความสวยสดงดงามอันเต็มไปด้วยความหลอกลวงเพื่อประโยชน์อะไร จะทำจิตหวั่นไหวไปในโลกธรรมก็ไม่มีประโยชน์ เพราะร่างกายมันทรงตัวไม่นาน แล้วมันก็พัง

ในเมื่อเรายับยั้งอารมณ์จิตยอมรับนับถือกฎธรรมดาได้ทุกอย่าง ก็ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี เกือบจะเป็นอรหันต์อยู่แล้ว อย่างนี้ตายแล้วไม่ต้องเกิด ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหมแล้วก็นิพพานบนนั้น

ต่อไปเราต้องการทำจิตใจให้ถึงความเป็นอรหันต์ ก็มาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงศึกษาในสำนักของอาจารย์ทั้งสอง คืออาฬารดาบส อุทกดาบส รามบุตร เป็นต้น ได้ฌาน ๔ คือ รูปฌานและอรูปฌาน รูปฌานและอรูปฌานนี่เป็นปัจจัยให้เข้าถึงความดี คือมีจิตตั้งมั่น แต่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาก็เห็นว่ายังไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ ยังไม่จบกิจ ยังชื่อว่ายังไม่มีโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นแห่งความตาย ยัง ยังไม่ถึง เราก็ถือจริยาของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ว่าอารมณ์ของเราที่เข้าถึงอนาคามีนี่มันยังมีทุกข์  คือยังมีอารมณ์สำคัญอยู่ เห็นว่ารูปฌานเป็นของดี อรูปฌานเป็นของดี ยังมีมานะถือตัวถือตนพอสมควร ยังมีอุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ยังมีอวิชชาความโง่ บางอย่างยังติดตัวอยู่

องค์สมเด็จพระบรมครูกล่าวว่า ถ้าเราจะตัดความโง่ให้หมดก็ให้ใคร่ครวญหาความจริงว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ทั้งสองประการนี้เป็นแต่เพียงบันไดก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น  ไม่ใช่อารมณ์ที่เข้าถึงพระนิพพาน แต่ว่ารูปฌานและอรูปฌานทั้งสองประการนี่เราต้องเกาะเข้าไว้เพื่อความอยู่เป็นสุขหรือว่าจิตไม่ฟุ้งซ่าน แต่เรายังไม่เห็นว่าที่สุด คือรูปฌานและอรูปฌานนี่ยังไม่เป็นที่สุดของความทุกข์ เราต้องเดินทางต่อไป จึงตัดอารมณ์ ไม่มัวเมาในรูปฌานและอรูปฌาน แต่จะรักษาไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่จิตใจเท่านั้น

ทรงฌานไว้เป็นปกติแล้วใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕ ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ เต็มไปด้วยความทุกข์ ขันธ์ ๕ มีการสลายตัวไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ ในเมื่อขันธ์ ๕ มันไม่ทรงตัวแบบนี้แล้ว มานะการถือตัวถือตนเราจะไปนั่งถือตัวว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา  เพื่อประโยชน์อะไร เพราะร่างกายของคนมีธาตุ ๔ เหมือนกัน เต็มไปด้วยความสกปรกเหมือนกัน มีความเสื่อมเหมือนกัน มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน คนและสัตว์มีสภาวะเสมอกัน คือมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแก่ในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด นี่ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จในการที่จะมานั่งเมาตัวหรือถือตัว วางอารมณ์แห่งการถือตัวถือตนเสีย มีเมตตาบารมีเป็นที่ตั้ง เห็นคนและสัตว์ทั้งหมด ถือว่าทุกคนมีความทุกข์ ทุกคนจะต้องมีความตายไปในที่สุด แล้วเราจะมานั่งถือตัวถือตน เสมอกัน เลวกว่ากัน ดีกว่ากัน เพื่อประโยชน์อะไร เพราะต่างคนต่างก็ไม่มีร่างกายเป็นเราเป็นของเราจริง เรือนร่าง ร่างกายเป็นแต่เพียงบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ถ้าทำอารมณ์ได้อย่างนี้เราก็จะตัดมานะ คือการถือตัวถือตนเสียได้
 

ต่อไปก็เหลืออุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน พระอนาคามียังมีความฟุ้งซ่านอยู่ตามสมควร แต่ว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของพระอนาคามีนี้ไม่ฟุ้งลงไปหาอกุศล เพราะนับตั้งแต่เป็นพระโสดาบันเป็นต้นมา อารมณ์ที่เป็นอกุศลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า จะมีอย่างเดียวก็คืออารมณ์จิตเป็นกุศลเท่านั้น อย่างพระอนาคามีที่เรียกว่ายังมีอารมณ์จิตฟุ้งซ่านก็หมายความว่ายังพอใจในการบำเพ็ญทาน เห็นว่าทานเป็นของดี พอใจในการรักษาศีล พอใจในการสงเคราะห์ในด้านสังคหวัตถุ ในบางครั้งบางคราวจิตใจก็แวะซ้ายแวะขวา ยังไม่ตัดหน้าตรงไปทีเดียว ยังเห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้บางครั้งนี้มันยังเป็นประโยชน์อยู่ เรียกว่าบางครั้งยังเห็นว่าร่างกายเป็นของดีอยู่ ในการบางคราวยังเห็นว่า ทรัพย์สินคือวัตถุที่เราปกครองที่เราหามาได้ มันเป็นของดีอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็ดี จิตใจของท่านก็ไม่ลืมนึกว่าท่านจะต้องตาย จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความหวั่นไหวไม่มีก็จริงแหล่ แต่ทว่าจิตก็ยังมีอารมณ์เกาะอยู่บ้างตามสมควร นี่เรียกว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของพระอนาคามี

การตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านนี้ก็ไปตัดที่สักกายทิฏฐิ พิจารณาร่างกายว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว อะไรในโลกนี้มันจะเป็นของเราอีก มันก็หาไม่ได้ ถ้าตายแล้วมันก็แบกเอาไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง เราก็ต้องแบกมันไปได้ นี่ดูตัวอย่างสรีระขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เมื่อทรงปรินิพพานแล้ว ขณะทรงชีวิตอยู่ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีทรัพย์สินมาก ชาวบ้านเขานำมาถวายราคานับไม่ได้ เมื่อเวลาที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรินิพพานแล้ว แม้แต่จีวรชิ้นหนึ่งก็นำไปไม่ได้ ปล่อยให้ร่างกายทับถมพื้นปฐพี ความนี้มีอุปมาฉันใด เราเองก็ฉันนั้น เราจะไปนั่งฟุ้งซ่าน ยึดโน่นยึดนี่เพื่อประโยชน์อะไร ใจมันก็จะปลดออกเสียได้


เมื่อเจริญเข้ามาถึงตอนนี้แล้ว องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า เหลืออวิชชาอีกหนึ่ง ตัวอวิชชานี่ได้แก่ฉันทะกับราคะ

   ฉันทะยังเห็นว่ามนุษย์โลกดี  เทวโลกดี  พรหมโลกดี
   ราคะเห็นว่ามนุษย์โลกสวยสองดงาม  เทวโลกสวย  พรหมโลกสวย

เราก็มานั่งตัดฉันทะกับราคะทั้งสองประการเสีย พิจารณาหาความจริงว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว ความสวยของความเป็นมนุษย์ เมืองมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี หรือพรหมก็ดี มันจะมีประโยชน์อะไรในฐานะที่เราเองก็ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้มันไม่เกิดประโยชน์อะไร ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของเรา เราต้องการอย่างเดียว คือพระนิพพาน จับจิตจับจุดเฉพาะอารมณ์พระนิพพานเพียงเท่านั้น

แล้วก็ถอยหลังเข้ามาดูอารมณ์ความจริงของเราว่า เวลานี้เรามีความโลภ คือเมาในลาภสักการะหรือเปล่า ยังถือว่ามีอะไรเป็นเราเป็นของเรามีบ้างไหม ถ้ายังมีก็ยังถือว่าใช้ไม่ได้ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าเห็นร่างกายนี้ อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว ทรัพย์สินที่มีอยู่นี่มันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันทรงตัวอยู่ไม่ได้ ตายแล้วนำไปไม่ได้ บางทีเรายังไม่ทันจะตาย ยังไม่ตายเราก็ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ คือของที่เราต้องการมันก็สลายตัวไปหมด มันไม่ปรากฏว่าจะยืนยงคงทนตลอดกาลตลอดสมัย นี่เราจึงเห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของไม่ดี การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่มีความต้องการ โลกทั้งสามนี้เป็นอนัตตาเหมือนกันหมด มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด ในที่สุดเราก็มีอารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์

-          มีความต้องการอย่างยิ่งโดยเฉพาะคือพระนิพพาน
-          อารมณ์แห่งความรักในเพศไม่มี
-          อารมณ์แห่งความโกรธไม่มี
-          การเกาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นเราเป็นของเราไม่มี

อย่างนี้ชื่อว่าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงความเป็นพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่าจบกันแค่นี้

นี่การเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธานุสสติกรรมฐาน เราก็ทำได้ทุกอย่าง คือทำได้ตั้งแต่ขั้นอุปจารสมาธิ คือพิจารณาแบบต้น ถ้าพิจารณาแบบจับรูปเราก็ทรงได้ถึงฌานสี่ แล้วทิ้งรูปเสียพิจารณาอรูป ทรงฌาน ๔ ได้อีกก็เป็นสมาบัติ ๘ แล้วก็จับพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการแก่เฒ่าไปในที่สุด แล้วก็สลายตัวไปในขั้นสุดท้าย ถือว่าเป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีสภาพจีรังยั่งยืนเป็นประการใด มาเทียบกับกายของเราแบบนี้เป็นวิปัสสนาญาณ นี่แหละบรรดาพุทธบริษัททุกท่าน

 
กรรมฐานทุกกองเราทำได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ ทางด้านรูปฌานและอรูปฌาน และวิปัสสนาญาณทำได้หมด ตัวอย่างที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตสอนโลหิตกสิณแก่พระลูกชายนายช่างทอง อย่างเดียวสามารถให้ทำฌานได้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทำโลหิตกสิณนั่นแหละให้เป็นวิปัสสนาญาณในที่สุดเธอก็ได้บรรลุอรหัตผล

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกคน เวลาแห่งการจะพูดมันก็เลยมานานแล้ว ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
 

อ้างอิง   หนังสือกรรมฐาน ๔๐  โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ที่มา   เว็บพระรัตนตรัย.คอม
http://www.praruttanatri.com/book.php



22222  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / พุทธานุสสติ มีกำลังถึงสมาบัติ ๘ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เมื่อ: เมษายน 05, 2010, 09:06:53 pm
บทนำ
   
เท่าที่ผมได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มาหลายเล่มโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า คำเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ มักจะยกคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาแสดงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เห็นว่า ท่านน่าจะปฏิบัติกรรมฐานตามแนวของวิสุทธิมรรค ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่า หลวงพ่อฤาษีลิงดำ น่าจะมีส่วนช่วยผดุงกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ไม่มากก็น้อย
 
ดังนั้น เพื่อให้เพื่อนๆได้รับความรู้อันเนื่องด้วยกรรมฐานมัชฌิมา แบบลำดับ ในอีกมุมหนึ่ง
จึงขอเสนอ คำเทศนาของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เรื่อง“พุทธานุสสติกรรมฐาน”ดังนี้ครับ


 

สัมมาสมาธิ , พุทธานุสสติ
 
ต่อไปนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงพยายามรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ คำว่าสมาธิ คือ รวบรวมกำลังใจให้อยู่ในจิตที่เป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่าสัมมาสมาธิ สมาธิแบ่งออกเป็น ๒ ประการด้วยกันคือ สัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง สมาธิถ้าพูดกันตามภาษาไทยก็เรียกว่าการตั้งใจไว้หรือว่าการทรงอารมณ์ไว้ ตั้งใจไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง คิดไว้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิ ถ้าหากว่าเราคิดในสิ่งที่ชั่วเป็นการประทุษร้ายตนเองและบุคคลอื่นให้ได้รับความลำบากอย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ คิดให้จิตของเรามีความสุขเป็นไปในทำนองคลองธรรมอย่างนี้ เรียกว่าสัมมาสมาธิ อารมณ์จะตั้งอยู่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าทรงอยู่ในอารมณ์นั้นจะน้อยหรือใช้เวลาได้มาก็ตามหรือว่าน้อยก็ตามก็เรียกว่าสมาธิ

ในส่วนของสัมมาสมาธินี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยกไว้ถึง ๔๐ ประการ เราก็ได้เคยพูดถึงอานาปานสติกรรมฐานมาแล้ว สำหรับวันนี้จะพูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานพอเป็นที่เข้าใจของท่านบรรดาพุทธบริษัทโดยย่อ


คำว่า พุทธานุสสติ หมายถึงว่าการนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การที่คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเราก็พรรณนากันไม่จบ ใคร่ครวญกันไม่จบ ตามพระบาลีท่านมีอยู่ว่าถึงแม้ว่าจะปรากฎ มีพระพุทธเจ้าขึ้นมา ๒ องค์ นั่งถามกันตอบกันถึงความดีของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก แม้แต่สิ้นเวลา ๑ กัปก็ไม่จบความดีของพระพุทธเจ้าได้ ฉะนั้นท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า พุทโธ อัปปมาโณ คุณของพระพุทธเจ้านี่หาประมาณมิได้ ในเมื่อคุณของพระพุทธเจ้าหาประมาณไม่ได้ เราพิจารณาไม่จบ เราจะพิจารณาว่ายังไงกันดี โบราณาจารย์ที่ประพันธ์ไว้โดยตรงว่า อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เพราะเหตุนี้แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบรรลุแล้วโดยชอบ อรหัง เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เราก็พิจารณาไม่ไหวเหมือนกัน เป็นอันว่าจะกล่าวโดยย่อว่า คุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเราก็คือว่า

๑. สัพพปาปัสสะ อกรณัง      พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราระงับความชั่วทั้งหมด
๒. กุสลัสสูปสัมปทา      พระองค์ทรงสงเคราะห์ให้พวกเราปฏิบัติเฉพาะในความดี
๓. สจิตตปริโยทปนัง      พระองค์ทรงสั่งสอนให้ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส


นี่ โดยย่อพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ สอนให้พวกเราปฏิบัติอยู่ในกฎทั้ง ๓ ประการที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าจะย่อลงไปอีกทีหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาทที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสเป็นปัจฉิมวาจา วันใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า

อานันทะ ดูกรอานนท์ พระธรรมคำสั่งสอนที่เราสอนพวกเธอนั้น ย่อมรวมอยู่ในความไม่ประมาท แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ตรัสว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ประมาทในการที่จะละความชั่ว หมายความว่า จงอย่าคิดว่านี่เราไม่ชั่ว พระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์สอนไว้บอกว่า อัตตนาโจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่ก็หมายถึงว่าพระองค์ไม่ให้เราประมาท จงมองดูความชั่ว มองดูความผิด มองดูความเสียหายของตนเองไว้เป็นปกติ ถ้าเรามองความชั่ว มองความเสียหายของตัวไว้แล้ว เราก็จะมีแต่ความดี เราอย่าเป็นคนเข้าข้างตัว เอาพระวินัยมากาง เอาธรรมะมากางเข้าไว้ ดูพระวินัยดูธรรมะว่าอะไรมันผิดบ้างแม้แต่นิดหนึ่งก็ต้องตำหนิ เหมือนกับผ้าขาวทั้งผืน มีจุดดำอยู่จุดหนึ่งก็ชื่อว่าทำผ้าขาวนั้นให้สิ้นราคา แม้จุดนั้นจะเป็นจุดเล็กเท่ากับปลายปากกาที่จิ้มลงไปก็ตามที เขาก็ถือว่ามีตำหนิ นี่เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะพิจารณาหาความดีของพระองค์ก็ต้องหากันตรงนี้ ว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้เรามีจิตบริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วไปไหน จิตเตปาริสุทเธ สุคติ ปาฎิกังขา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วอย่างน้อยเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ คำว่าสุคตินี้ก็ยกยอดไปถึงสวรรค์ก็ได้ พรหมโลกก็ได้ นิพพานก็ได้ นี่เราก็มานั่งใคร่ครวญความดีของพระพุทธเจ้า นั่งนึกเอาว่าพระพุทธเจ้าจะทรงเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็อาศัย ตัดความรัก ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง

ตัดความรัก พระพุทธเจ้ามีพระชายาอยู่แล้ว มีพระราชโอรสคือพระราหุล พระราชโอรสคลอดในวันนั้น พระชายาก็ยังสาวอายุเพียง ๑๖ ปี แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์เห็นว่าการครองเรือนเป็นทุกข์ จึงแสวงหาความสุขคือพระโพธิญาณด้วยการออกบวช ทรงตัดความรักความอาลัยเสียได้ ออกจากบ้านในเวลากลางคืน


ตัดความโลภ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่าอีก ๗ วัน ตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิราชจะเข้าถึงพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่อาลัยใยดีในความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชเพราะการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องเดือนร้อนเหมือนกัน นี่องค์สมเด็จพระภควันต์ แม้จะเป็นเจ้าโลก ก็วางทิ้งไปเสียไม่ต้องการ อันนี้เราต้องปฏิบัติตาม ใคร่ครวญตามว่ามันไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงวาง ถ้าดีแล้วก็ไม่วาง อะไรที่พระพุทธเจ้าวางไว้และเป็นสิ่งเกินวิสัยที่เราจะครองได้เราจะมีได้ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์มีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ววางเสียเราก็ต้องวางตาม เพราะของท่านมากกว่าเราสูงกว่าเราหนักกว่าเราดีกว่าเราที่จะพึงมีท่านยังวาง ถ้าเรามีดีไม่เท่าท่านทำไมเราจึงจะไม่วาง

ประการต่อมาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสวงหาอภิเนษกรมณ์อยู่ในสำนักอาฬารดาบส กับอุทกดาบสรามบุตร ปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌานทั้งสองประการจนมีความคล่องแคล่วมีความชำนาญมาก อาจารย์ยกย่องให้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครูสอนแทน แต่พระองค์ก็มาพิจารณาว่าเพียงแค่รูปฌาน และอรูปฌานทั้งสองประการนี้ไม่ใช่หนทางบรรลุมรรคผล สมเด็จพระทศพลจึงได้วางเสียแล้วออกจากสำนักของอาจารย์นั้นแสวงหาความดีต่อไป

ในด้านของสมาธินี่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงถึงที่สุดถึงสมาบัติ ๘ ก็ยังเห็นว่าไม่เป็นทางที่สุดของความทุกข์ แต่สมาธินี้ก็ทรงไว้ไม่ทิ้ง หาต่อไปให้เข้าถึงที่สุดของทุกข์คือความไม่เกิด ต่อมาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็พบธรรมะที่ประเสริฐที่เรียกกันว่า อริยสัจ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์

ทุกข์ได้แก่อาการที่ทนได้ยาก ก็คือการเกิดขึ้นมาแล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่เราพูดกันมานานแล้ว
เหตุให้เกิดความทุกข์ก็คือตัณหา ความอยากเกินพอดี ความอยากนี่ต้องใช้คำว่าเกินพอดี ร่างกายมันหิวอาหาร ร่างกายมันอยากกินน้ำ ร่างกายมันปวดอุจจาระปัสสาวะจะต้องไปส้วม ร่างกายต้องการเครื่องนุ่งห่มตามปกติ ร่างกายต้องการบ้านเรือนตามปกติเป็นไปตามวิสัย อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นตัณหาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะมันเป็นของพอดีพอใช้ที่เราจะพึงใช้พึงมีตามความจำเป็นของร่างกาย แต่ว่าความตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่รู้จักพอ มีแค่นี้พอดิบพอดีแล้วยังตะกายมากเกินไปทำให้เกิดความลำบาก มีความอยากไม่รู้จักจบ อยากอย่างนี้เรียกว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ทางดับตัณหาตัวนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกว่า มรรค มรรคนี่มี ๘ อย่าง โดยย่นย่อเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล คือการระงับกายวาจาให้เรียบร้อย ให้ดำรงอยู่ในความดีตามขอบเขตที่เราเรียกว่าพระวินัย
สมาธิ แปลว่ามีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในความดี คือทรงศีล ทรงทานอยู่ จิตน้อมอยู่ในอารมณ์ทั้งสองประการอย่างนี้เป็นต้น

ปัญญา พิจารณาเห็นว่าธรรมะที่องค์สมเด็จพระทศพลคือจริยาที่พระองค์ทรงละ ความรัก ละความโลภ ละความปรารถนาความมักใหญ่ใฝ่สูง ละการเกิด นี้องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปฏิบัติถูกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้เป็นพระอรหันต์ นี่เราปฏิบัติพิจารณาตามประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไปอีกนานมันก็ไม่จบ รวมความว่าวันหนึ่งเราก็นั่งใคร่ครวญถึงความดีของพระพุทธเจ้าตามหนังสือที่มีมา จับใจตรงไหนยึดตรงนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นพุทธานุสสติ การนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติตามนี้สำหรับพุทธานุสสติ และตามคิดแบบนี้จะทรงอารมณ์อยู่ได้แค่อุปจารสมาธิ นี่เป็นแบบหนึ่ง


และอีกแบบหนึ่งไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ท่านสอนให้ภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ การหายใจกำหนดตามสบายๆ เป็นการควบกับอานาปานสติกรรมฐาน ทำอารมณ์ใจให้สบายจิตใจชื่นบานนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระพิชิตมารแล้วจับใจว่า พุทโธ พุทโธ ภาวนาไว้ แล้วขณะใดที่จิตผูกพันว่าพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก ขณะนั้นก็ชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิ การภาวนาแบบนี้สมาธิจะมีอารมณ์สูงเข้าถึงฌานสมาบัติได้

การพิจารณาว่าพุทโธก็จะขอข้ามอารมณ์ต่างๆไป (ไว้พูดในตอนต่อไป) ถ้ากำลังใจของเราทรงมัน ถ้าจะมีนิมิตปรากฎขึ้นโดยเฉพาะ นิมิตตรงๆ ก็คือต้องเห็นเป็นพระพุทธรูป หรือว่าเห็นเป็นรูปของพระสงฆ์ แต่มีรัศมีกายผ่องใส อย่างนี้เขาเรียกว่านิมิตของพุทธานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้จับเอาได้ ถ้านิมิตอย่างนี้ปรากฏมาเมื่อไร ในกาลต่อไปข้างหน้า ถ้าเราจะภาวนาว่าพุทโธ ก็ให้จิตน้อมนึกถึงภาพนั้นไว้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่าเกิดอุคหนิมิต

ถ้านิมิตนั้นเปลี่ยนแปลง ทีแรกเราเห็นเป็นพระพุทธรูปดำบ้าง ขาวบ้าง เหลืองบ้าง แต่ไม่แจ่มใส ต่อไปถ้ามีสมาธิ สมาธิสูงขึ้นก็เห็นเป็นพระพุทธรูปใสขึ้น ใหญ่โตขึ้น เปลี่ยนแปลงมีความงดงามกว่า อย่างนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิระดับสูง นี่จิตนึกถึงภาพนะ ภาพปรากฎชัดภายในใจ ไม่ใช่ไปนั่งหาภาพที่จะมาปรากฎใหม่ ต่อไปเมื่อจิตนึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระจอมไตร เกิดมีรัศมีกาย มีอารมณ์ผ่องใสแทนที่จะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวสีดำสีแดงอะไรก็ตาม สีนั้นเปลี่ยนไปทีละน้อยจากเหลืองเข้มเป็นเหลืองอ่อนๆมีความใส ต่อไปก็เป็นแก้ว แก้วใสเป็นประกายพรึกเต็มดวง หรือคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงพระอาทิตย์ มีความชุ่มชื่นจะนึกให้ใหญ่ก็ได้ จะนึกให้เล็กก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิต นั่นระดับฌาน ถ้าจิตจับอยู่แค่นี้จิตใจของเราชื่นบาน จิตจะทรงฌานไปด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐาน จะมีอารมณ์เป็นสุขตลอดกาล แล้วเมื่อได้ภาพอย่างนี้จงอย่าคลายภาพนี้ทิ้งไป ให้ดำรงภาพนี้เข้าไว้ ขณะใดจิตยังนึกเห็น ไม่ใช่เห็นเฉยๆ นึกเห็น เห็นภาพอยู่ตราบใด ขณะนั้นเรียกว่าจิตทรงสมาธิ จิตของท่านจะมีแต่ความสุข

ถ้าหากว่าทำจิตได้ถึงระดับนี้แล้ว ปรากฎว่าปัญญาก็จะเกิด คำว่าอริยสัจก็จะปรากฎขึ้นแก่ใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ความรู้เท่าของคำว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์อย่างนี้มันจะเกิดขึ้นแก่ใจเอง ความเบื่อหน่ายในการเกิดก็จะปรากฎ ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้บอกว่า นี่เป็นอธรรมเป็นความไม่ดี จิตใจของเราจะเห็นน้อมไปตามกระแสพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระชินสีห์ ด้วยอำนาจของปัญญาอย่างแจ่มใส ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาบอกควรประพฤติปฏิบัติควรทำให้เกิดมีขึ้น เพราะธรรมนั้นจะสร้างความชุ่มชื่นคือความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ ใจคือปัญญาของเราก็จะเห็นธรรมนั้นได้แบบผ่องใสไม่เคลือบแคลง เกิดเป็นคุณประโยชน์ การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานพระอัตถกถาจารย์ กล่าวว่าเป็นกรรมฐานที่สามารถสร้างความดีให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ง่าย
สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานโดยย่อก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

 

พุทธานุสสติถึงสมาบัติ
 
   วันนี้จะได้พูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานต่อ  เมื่อวานนี้ได้มาพูดถึงการเจริญกรรมฐานด้านพุทธานุสสติกรรมฐาน  จากระบบปฏิบัติตามแบบที่พิจารณาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คือใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสั่งสอนตามแบบนี้ที่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า  การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานย่อมมีกำลังแค่อุปจารสมาธิ  แต่สำหรับพระอาจารย์ผู้สอนที่มีความฉลาด  ท่านสอนต่อๆกันมา คือสามารถดัดแปลงเอาพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสามบัติจนกระทั่งเข้าถึงฌาน ๔ ได้ วันนี้ก็จะได้อธิบายการเจริญพระกรรมฐานในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานจากอารมณ์อุปจารสมาธิมาเป็นฌาน ๔ การเจริญพระกรรมฐานถ้ามีความเข้าใจ  กรรมฐานทุกองค์ก็ทำเป็นฌาน ๔ ได้เหมือนกันหมด แล้วก็ต่อไปเป็นสมาบัติ ๘ ก็ได้

   การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌาน ท่านก็ใช้คำภาวนาเป็นพื้นฐาน คือใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตามแบบที่กล่าวมาแล้ว ถ้าต้องการให้เป็นฌานอย่างยิ่ง ก็งดการพิจารณานั้นเสีย จิตน้อมยอมรับนับถือเนื้อถือหนัง ถือรูปร่างของท่านเป็นสำคัญ เนื้อหนังรูปร่างของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามิได้ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะความเป็นพระพุทธเจ้ามาจากการบรรลุธรรมะพิเศษ ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นคนแล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในตอนที่จะเข้าสู่การดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานที่ระหว่างนางรังทั้งคู่ว่า

   อานันทะ ดูกรอานนท์ เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่เราสอนเธอทั้งหมดนี่จะเป็นศาสดาสอนเธอ ศาสดานี่แปลว่าครู นี่เราจะเห็นได้ว่าความเป็นพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรมคำสั่งสอนนั่นเอง

   เรามาเปลี่ยนแปลงจากการพิจารณาความดี เอาจิตเข้ามาจับความดีจุดเล็ก คือแทนที่จะเป็นการใคร่ครวญ กลับมาภาวนา นึกว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ เราจะผูกใจของเราให้จับอยู่เฉพาะความดีของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านจึงสอนให้ใช้คำภาวนาแทนที่จะพิจารณา แต่ว่าเราก็ไม่ทิ้งคำพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า ให้จิตเข้าถึงความดีของพระองค์ เป็นการสร้างธรรมปีติ ความมั่นใจในความดีก่อน


   เมื่อเราพิจารณาความดีใคร่ครวญความดีของพระองค์แล้ว เมื่อใจสบายก็จับอารมณ์เป็นสมาธิพิเศษ คือใช้อานาปานสติกับพุทธานุสสติควบกันไป โดยใช้คำภาวนาว่า พุทโธ นี่ง่ายดี ความจริงการภาวนาในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ว่าได้หลายอย่าง อิติปิ โส เบื้องต้นทั้งหมดทั้ง ๙ ข้อ เราว่าได้ทุกข้อ จะว่าข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ก็ชื่อว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐานทั้งนั้น แต่ว่าการที่ท่านตัดเอาใช้คำว่าพุทโธ เพราะเป็นการสะดวกแก่บุคคลผู้ฝึกจิตในตอนแรก

   ในตอนต้นให้พิจารณาลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อันดับแรกจับเอาแค่จมูกก่อน หายใจเข้าก็นึกว่า พุท หายใจออกก็ โธ แค่นี้ให้จิตสบาย พอจิตมีความสบาย มีกำลังเป็นสมาธิสูงขึ้น จิตจะรู้ลมกระทบสัมผัสภายใน หายใจเข้าลมจะกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ หายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปากหรือจมูก

   ถ้าปรากฏว่าลมกระทบ ๓ ฐานมีความรู้สึกแบบสบาย หรือมีจิตละเอียดไปยิ่งกว่านั้น รู้สึกลมไหลลงไปตั้งแต่ต้นยันท้อง ไหลจากท้องมายันจมูก ออกทางจมูกอย่างนี้ก็ยิ่งดีใหญ่ ที่จะมีความรู้สึกอย่างนี้ต้องปล่อยลมหายใจเข้าออกตามธรรมดา อย่าหายใจแรงๆยาวๆหรือบังคับให้หนักๆ อันนี้ไม่ได้ ต้องปล่อยลมหายใจไปตามกฎธรรมดา ที่เราจะรู้ได้ก็โดยอาศัยสติสัมปชัญญะของเรามันดีหรือมันเลวเท่านั้น ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดี จิตเป็นสมาธิมากก็รับสัมผัสได้สามฐาน ถ้ามีอารมณ์ละเอียดไปกว่านั้นก็รู้ลมไหลเหมือนกับน้ำไหลเข้าน้ำไหลออก

   ถ้ารู้ลมได้ ๓ ฐานก็ดี หรือรู้ลมไหลออกไหลเข้าตลอดเวลา อย่างนี้ชื่อว่าจิตเป็นฌาน เรียกว่าปฐมฌาน พร้อมกันก็ทรงคำภาวนาไว้ด้วย

   ถ้าภาวนาไปภาวนาไป รู้สึกว่าลมหายใจเบาลง เบาน้อยลง จิตใจมีความชุ่มชื่น คำภาวนาหายไปหยุดภาวนาไปเฉยๆ แต่มีใจสบาย ลมหายใจอ่อนลง มีความชุ่มชื่นมากกว่า จิตทรงมากกว่า อย่างนี้เป็นฌานที่ ๒

   ถ้าต่อไปความชุ่มชื่นหายไป มีแต่อาการเครียด จิตใจสบาย ลมหายใจเบาลง ได้ยินเสียงภายนอกน้อยลงไป เบาลงไปมาก จิตใจทรงตัวดิ่ง มีอาการไม่อยากเคลื่อน มีร่างกายคล้ายกับมีอาการทรงตัวเหมือนหลักปักแน่นๆ หรือว่าใครเขามัดตัวตรึงไว้เฉยๆไม่อยากเคลื่อน ใจสบาย แนบนิ่ง นิ่งสนิท จิตไม่อยากจะขยับเขยื้อนไปไหน อันนี้เรียกว่าฌานที่ ๓ นี่คำภาวนาไม่มีเหมือนกัน คำภาวนานั้นมีแค่ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือปฐมฌานเท่านั้น


   ต่อไปเริ่มต้นเราจับคำภาวนา แล้วก็ต่อมาปรากฎว่าจิตมีอารมณ์สว่างสดใส มีจิตใจชุ่มชื่น มีอารมณ์ทรงตัวเป็นปกติไม่เคลื่อนไหวไปไหน ทรงตัวแบบสบาย มีความโพลงอยู่ในใจ เป็นความสว่างมาก แต่ว่าไม่ปรากฏลมหายใจ หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก แม้จะเอาปืนใหญ่หรือพลุมาจุดใกล้ๆก็ไม่ได้ยิน อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๔

   ถ้าจะถามตอบกันตามแบบฉบับของการเจริญสมาธิ ไอ้เรื่องยุงกินริ้นกัดนี่ มันไม่กวนใจเราตั้งแต่อุปจารสมาธิ พอจิตผ่านปีติเข้าถึงสุข มันจะมีความสุขเยือกเย็น มีความสบาย ไอ้เรื่องเสียงที่เราได้ยินก็เหมือนกัน มันก็ไม่กวนใจ ใจเราก็มีความสบาย ร่างกายก็ไม่ปวดไม่เมื่อย ไม่มีอะไรทั้งหมด มันสุขจริงๆ มีแต่ความชุ่มชื่น ยุงกินริ้นกัดหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้กัน ไม่รู้ว่ายุงมันกินหรือเปล่า แต่ว่าส่วนมากยุงไม่กวน แต่บางท่านก็กวนเหมือนกัน บางทีนั่งพอเลิกแล้วเป็นตุ่มหมดทั้งตัวปรากฏว่ายุงกัด แต่เวลาขณะปฏิบัติทรงจิตเป็นสมาธิไม่รู้สึกว่ายุงกัด นี่ความจริงเรื่องการสัมผัสกับอาการภายนอก แต่จิตไม่ยอมรับสัมผัสจากประสาทเริ่มมีตั้งแต่ตอนสุข เพราะคำว่าสุขนี่มันต้องไม่มีคำว่าทุกข์ มันสุขจริงๆหาตัวทุกข์ไม่ได้ ถ้าเมื่อยมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงมากวนที่หูมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงกินแล้วคันหรือเจ็บมันก็ไม่สุข มันเป็นทุกข์ นี่คำว่าสุขตัวนี้ก็ตัดอาการเหล่านี้ไปทั้งหมด

   ความจริงเรื่องเสียงก็ดี ที่เราจะรำคาญภายนอก หรือยุงกินริ้นกัดก็ดี มันตัดกันแค่สุขยังไม่ถึงปฐมฌาน แต่ว่าอาการของความสุขและปฐมฌานนี่มันใกล้เคียงกันมาก เขาบอกว่าห่างกันแค่เส้นผมผ่า ๘ เท่านั้น ขอบรรดาทุกท่านจำไว้ด้วย ถ้าว่าใครเขาถามละก็ตอบเขาแบบนี้ ถามว่ายุงกินไหม บอกบางองค์กินบางองค์ก็ไม่กิน ถามว่าทำไมยุงกินหรือไม่กิน กัดหรือไม่กัดไม่เหมือนกัน บางองค์ก็ถูกกวนบางองค์ก็ไม่ถูกกวน ก็ต้องตอบว่า ถ้าองค์ใดหรือท่านใดมีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน มีจิตทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ท่านผู้นั้นยุงไม่กินริ้นไม่กัด ถ้าบกพร่องในพรหมวิหาร ๔ มันกัดแน่ มันกินแน่ นี่ตอบเขาอย่างนี้ แล้วก็ตอบตัวของเราเองเสียด้วย

   นี่เป็นอาการของฌาน ๔ ปกติ เมื่อถึงฌาน ๔ แล้วก็ต้องพยายามทรงฌานทรงสมาธิจะเป็นอันดับไหนก็ตาม ให้มันมีความคล่องตัวที่เรียกว่า วสี จะเป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ อะไรก็ตาม ให้มันคล่องจริงๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรจิตเป็นสมาธิทันที เดินไปเดินมาเหนื่อยๆ นั่งปั๊บจิตจับปุ๊บเป็นสมาธิทันที นี่ต้องหัดให้คล่องอย่างนี้  จึงชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌาน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำกันส่งเดชไป อารมณ์มันจะใช้อะไรไม่ได้ ถ้าทำกันส่งเดชได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาไม่ถือว่าได้ แต่ก็ยังดีตายเป็นเทวดาได้แต่เป็นพรหมไม่ได้ ถ้าจิตเราสามารถจะทรงฌานได้ทุกขณะจิตละก็เป็นพรหมได้แน่นอนเพราะเวลาที่ป่วยไข้ไม่สบายเกิดทุกขเวทนามาก เราก็เอาจิตจับเข้าฌานทันที ทุกขเวทนามันก็คลายตัว ดีไม่ดีไม่รู้สึกตัวเพราะจิตและประสาทมันไม่ยอมรับรู้ซึ่งกันและกัน มันแยกจากกันเด็ดขาด

   หากว่าเราจะทรงฌานด้านพุทธานุสสติกรรมฐานเข้าถึงฌานที่ ๘ เราจะทำอย่างไร
   แบบท่านบอกไว้ว่า พุทธานุสสติกรรมฐานและอนุสสติทั้งหมด เว้นไว้แต่อานาปานสติ จะเข้าถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ท่านว่าไว้อย่างนั้น เราก็ดัดแปลงให้เข้าถึงฌาน๘ เสียให้หมดมันจะเป็นยังไงไป ทำเป็นเสียอย่างเดียวมันก็ทำได้ เข้าใจแล้วก็ทำได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้จำกัด ถ้าเราจะทรงฌาน ๘ ทำยังไง

   แทนที่เราจะภาวนาเฉยๆ เราก็จับภาพพระพุทธรูป กำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ เวลาจับลมหายใจเข้าออกภาวนาว่าพุทโธ ก็นึกเห็นภาพขององค์สมเด็จพระบรมครูจะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ให้ปรากฏอยู่ในใจ ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้ ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย จะนึกอยู่ในอกให้เห็นอยู่ในอกหรือเห็นภายนอกก็ได้ไม่จำกัด


   ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิม อย่างนี้เรียกว่าอุคหสมาธิหรืออุคหนิมิต
   ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไปเปลี่ยนแปลงไปชักใหญ่ขึ้น จะสูงขึ้นจะเล็กลง แล้วก็มีสีสันวรรณะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย จางลงไปจางลงไป แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด นึกเห็นนะ ไม่ใช่ภาพลอยมา อารมณ์จิตนึกเห็นชัดจนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นอุปจารสมาธิตอนกลาง

   ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ จิตใจสามารถจะบังคับให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้สูงก็ได้ต่ำก็ได้ ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ข้างหลังก็ได้ตามใจนึก นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ท่านกล่าวว่าเป็นปฐมฌาน

   การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ นึกเห็นเมื่อไรเห็นได้เมื่อนั้นทันที นี่อย่างนี้เป็นกสิณด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย

   ถ้าการเห็นภาพแบบนั้นปรากฏว่าคำภาวนาว่าพุทโธหายไป ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม อันนี้เป็นฌานที่ ๒ แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิตมันเหมือนกัน

   ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น มีความแจ่มใสมากขึ้น ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็นฌานที่ ๓

   การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ สว่างไสวคล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่ ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท จะนั่งนานเท่าไรก็เห็นได้ตามความปรารถนา หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่ปรากฏลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌานที่ ๔ ก็ยังเป็นรูปฌานอยู่

   ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะทำเป็นอรูปฌาน จะทำอย่างไร เราจะทำถึงฌาน ๘ กันนี่ นี่เป็นวิธีแนะนำปฏิบัติตามผลแห่งการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เกาะตำราเสียจนแจ แล้วไปไหนไม่พ้น เขาทำแบบนี้


   จับภาพพระพุทธเจ้าองค์นั้นแหละ ที่เป็นประกายพรึกอยู่ เพ่งจับจุดให้จิตจับดีเมื่อจิตทรงอารมณ์ดีแล้วก็เพิกภาพนั้นให้หายไป คำว่าเพิกเป็นภาษาโบราณ คือนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป จับอากาสานัญจายตนะแทน คือพิจารณาอากาศว่า อากาศนี้หาที่สุดมิได้ มันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีจุดจบ จับอากาศเป็นอารมณ์อย่างนี้ เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ จิตทรงอยู่ในด้านของฌาน ๔ จับอากาศ ความหวั่น การเคลื่อนไหวของอากาศว่า ว่างมากโลกนี้หาอะไรเป็นที่สุดมิได้ หานิมิตเครื่องหมายอะไรไม่ได้เลย หาจุดจบไม่ได้ จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ทรงตัวดีแล้ว อย่างนี้จัดเป็นอรูปฌานที่ ๑ ถ้าจะเรียกกันว่าฌาน ก็เป็นที่ ๕ สมาบัติที่ ๕

   เมื่อจับอารมณ์ของอากาศได้แบบสบายๆ ใจสบาย นึกขึ้นมาว่าอากาศมันเวิ้งว้าง ทุกอย่างมันว่างเปล่าเป็นอากาศไปหมด โลกทั้งโลกไม่มีอะไรทรงตัว คนเกิดมาแล้วก็ตาย สัตว์เกิดมาแล้วก็ตาย ภูเขาไม่ช้ามันก็พัง บ้านเรือนโรงก็พัง ผลที่สุดมันก็ว่างไปหมด อย่างนี้เรียกว่าจิตเข้าถึงอากาศได้เป็นอย่างดี เป็นอากาสานัญจายตนะ

   ทีนี้ก็มาเป็นวิญญานัญจายตนะ นึกถึงวิญญาณ คือจิต สภาวะของจิต ที่มีอารมณ์คิดเป็นปกติ มันก็ไม่มีอาการทรงตัว มันหาที่สุดไม่ได้ มันไม่มีอะไรทรงอยู่เฉพาะแน่นอน เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็คิดอย่างโน้น ขึ้นชื่อว่าเอาจิตมีอารมณ์เกาะว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา นี่มันไม่ใช่มีอะไรจริง ความจริงจิตมีสภาพไม่นิ่ง จิตมีสภาพไม่แน่นอน เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ต้องการอย่างโน้น จึงถือว่าอารมณ์ของจิตนี่หาที่สุดมิได้ นี่เราไม่มีความต้องการอารมณ์อย่างนี้ จนกระทั่งอารมณ์จิตของเรานี้มีความแนบแน่นสนิท ไม่มีความผูกพันอะไร ในด้านร่างกายก็ดี ในวัตถุก็ดี ไม่เอา แล้วก็ไม่สนใจ ต้องการอย่างเดียวอากาศ คือความว่างเปล่าปราศจากแม้แต่จิต ถ้าถือว่าขณะใดยังมีขันธ์ ๕ ยังมีภาพอยู่ ยังมีจิตเป็นเครื่องเกาะ มันมีความทุกข์อย่างนี้ ถ้าจิตมันทรงตัวทรงอยู่ได้ตลอดเวลา นึกขึ้นมาเมื่อไร อารมณ์ว่างไม่เกาะอะไรทั้งหมด มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน สภาวะทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย มันไม่มีอะไรทรงตัว มีอารมณ์ว่างหาที่สุดมิได้ ถ้าเราเกาะโลกอยู่เพียงใด ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้มีทุกข์

   นี่ อาการอย่างนี้คล้ายคลึงวิปัสสนาญาณมาก อย่างนี้เรียกว่าได้วิญญานัญจายตนะฌาน นี่เป็นอารมณ์ เราพูดกันถึงอารมณ์ ถ้าไปอ่านตามแบบบางทีจะค้านกัน เมื่อเราได้วิญญานัญจายตนะฌานแล้ว ก็ชื่อว่าได้สมาบัติที่ ๖ อย่าลืมนะว่า เราต้องจับภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณก่อน ต่อมาเราก็เพิกให้หายไป ถือเอากสิณนำให้จิตมันจับเป็นอารมณ์ทรงตัวก่อนนั่นเอง เพราะกสิณเป็นของหยาบ ภาพพระพุทธรูปเป็นของหยาบ จับให้ทรงตัวแล้วจงนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป

   นี้ก็มาพิจารณาฌานที่ ๗ สมาบัติที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะฌาน พิจารณาว่าโลกนี้มันไม่มีอะไรเหลือเลยนี่ มันพังหมดมันสลายตัวหมด ตึกรามบ้านช่อง เขาสร้างขึ้นมาอย่างดีๆก็พัง บ้านเมืองเก่าๆ เขาสร้างแข็งแรงก็พัง กำแพงเมืองใหญ่อย่างกำแพงเมืองจีน กำแพงเมืองไทย กำแพงเมืองฝรั่ง เขาสร้างแข็งแรงมากที่สุด มันก็พัง ภูเขามันก็มีอาการผุ เขาเอาดินมาทำลูกรังมันก็ผุจมหายไปหมด คนก็ดี สัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี เรือนโรงก็ดี นี่เมื่อถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อากิญจัญญายตนะ นี่เขาแปลว่าหาอะไรเหลือไม่ได้ จิตใจว่างจากอารมณ์ เลยไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด อะไรเล่าที่เป็นสาระสำหรับเราไม่มี แม้แต่ร่างกายของเรานี้ไม่ช้ามันก็พัง การทรงร่างกายอยู่อย่างนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการมีร่างกายอีก ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันทรงตัวได้ดีแล้ว ก็ชื่อว่าเราได้อากิญจัญญายตนะฌาน เป็นสมาบัติที่ ๗


22223  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / กฎแห่งกรรม กับ สัมมาทิฐิ เมื่อ: เมษายน 02, 2010, 04:42:17 pm

กฎแห่งกรรม กับ สัมมาทิฐิ

พระพุทธเมตตาภายในเจดีย์พุทธคยา

    กฎแห่งกรรม คือ กฎที่แสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของการกระทำใดๆของมนุษย์ กล่าวคือ ใครกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม บุคคลผู้กระทำนั้นจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆเสมอ มิได้เกิดจากการดลบันดาลจากอำนาจของพระเจ้าองค์ใด และไม่มีใครมารับผลของกรรมแทนบุคคลอื่นได้
 
    พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า ปุพพังคสูตร ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ว่า...
 
    “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเหนือโลกหล้า ย่อมมีแสงเงินแสงทองจับขึ้นที่ขอบฟ้า เป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันใด ก่อนที่กุศลธรรมทั้งหลายจะบังเกิดขึ้น ย่อมมีสัมมาทิฐิเป็นนิมิตเบื้องต้นให้เห็นก่อน ฉันนั้น"

สัมมาทิฐิที่เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมนั้น มี ๑๐ ประการ ได้แก่
 
๑.ทาน ที่ให้แล้วมีผล
 
๒.การสงเคราะห์กันมีผล
 
๓.การยกย่องบูชาบุคคลที่ควร บูชามีผล
 
๔.ผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วมี จริง
 
๕.โลกนี้มี (ที่มา)
 
๖.โลกหน้ามี (ที่ไป)
 
๗.คุณของมารดามี
 
๘.คุณของบิดามี
 
๙.สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะมี
 
๑๐.พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว มี

 
    สัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ โดยเนื้อแท้คือเรื่องของกฎแห่งกรรม ซึ่งการที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องสัมมาทิฐิ ๑๐ ประการนี้ก่อนอย่างอื่น ก็เพราะว่าสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นเบื้องต้นของความดีทุกประการของคนเรา การประพฤติกรรมดีหรือชั่ว หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การกระทำความดีและความชั่วของคนเรานั้น ทำได้ ๓ ทาง คือ

ทาง กาย (กายกรรม)
ทาง วาจา (วจีกรรม)
ทาง ใจ (มโนกรรม)

 
    ไม่ว่าเราทำอะไรไว้ทั้งกรรมดีและชั่วก็ตาม เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นเสมอ จะให้ใครมารับผลกรรมแทนเราไม่ได้
 
    เมื่อทำความเข้าใจพื้นฐานตรงนี้แล้ว ความตระหนักในความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองก็จะเกิดขึ้นตามมา มีผลที่ทำให้ใจของเขาสว่างพอที่จะมองออกต่อไปว่า พระธรรมคำสอนต่างๆที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ แท้จริงทุกคำสอนล้วนเป็นการสอนให้เกิดความเข้าใจถูก ในเรื่องกฎแห่งกรรมดีและกฎกรรมชั่ว ถ้าเราแยกไม่ออกว่าเส้นทางไหน คือ เส้นทางแห่งความดีและความชั่ว เราก็จะมีโอกาสพลาดไปทำความชั่ว แล้วผลทุกข์แห่งความชั่วก็ย่อมตกมาถึงตัวเรา
 
    เมื่อความเข้าใจของใครก็ตาม ที่มีใจสว่างมาถึงระดับนี้ ความซาบซึ้งในเรื่อง กฎแห่งกรรมของเขาก็จะยิ่งทับทวีแก่กล้าขึ้นไป และจะส่งผลให้ตัดสินใจเลือกทำแต่กรรมดีได้อย่างถูกต้อง เช่น เริ่มตั้งแต่เลือกคิดในเรื่องดีๆ เลือกพูดในเรื่องดีๆ เลือกทำในสิ่งที่ดีๆ เลือกประกอบอาชีพที่ไม่ก่อบาปก่อเวร พากเพียรทำความดีเพิ่มยิ่งขึ้นไป มีสติระมัดระวังตนไม่ให้พลาดพลั้งกลับไปทำความชั่ว และมีสมาธิที่แน่วแน่มั่นคงในการทำความดี ไม่หวั่นไหวกับอุปสรรคใดๆที่มาขวางกั้นทั้งสิ้น ในที่สุด ความดีที่เขาทำผ่านกาย วาจา ใจ รอบแล้วรอบเล่านี้ ก็ได้กลายเป็นนิสัยดีๆประจำตัวเขาขึ้นมา แล้วก็ทำให้เขาสามารถทำความดีต่างๆให้สูงยิ่งขึ้นไป




    ในทางตรงกันข้าม ถ้าสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ไม่เกิดขึ้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นแทน คำตอบก็คือ ความเห็น ผิดเป็นชอบจะเกิดขึ้นแทน เมื่อเห็นผิดเป็นชอบจึงทำความชั่ว เมื่อทำความชั่วบ่อยเข้า นิสัยเลวๆก็เกิด การสั่งสมอาสวะก็เกิด ผลทุกข์ที่เดือดร้อนแสนสาหัสที่ยาวนานก็เกิด และกลายเป็นความทุกข์ที่ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะคิดได้ในวันใดวันหนึ่ง วันนั้นจึงจะเริ่มทำความเข้าใจกฎแห่งกรรม แต่ถ้าในยุคนนั้น ไม่มีพระพุทธศาสนามาบังเกิดขึ้น ก็จะต้องทุกข์ต่อไป วันใดเข้าใจในสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ประการ วันนั้น คือ วันที่จะได้มีโอกาสพ้นทุกข์
 
    ดังนั้น สัมมาทิฐิเบื้องต้นทั้ง ๑๐ ประการนี้ จึงเป็นเหมือนกับฐานรากของความดีทุกประการในโลกนี้ อุปมาเหมือนการสร้างตึกสูง ๑๐๐ ชั้น ถ้าฐานรากของตึกไม่แข็งแรงมั่นคง ตึกก็ย่อมต้องพังถล่มลงมาเป็นซากอิฐซากปูน ฉันใด ความดีของคนเราก็เช่นกัน จะพัฒนาสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ ไม่ดีแตกเสียกลางทาง ก็ต่อเมื่อเขามีสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการเป็นฐานรากที่แข็งแรงมั่นคง ฉันนั้น
 
    ด้วยเหตุที่การศึกษาเรื่องสัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ เป็นเรื่องใหญ่ของมวลมนุษยชาติเช่นนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า สัมมาทิฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการนี้ เป็นเบื้องต้นของกุศลกรรมทั้งหลายของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เพื่อให้เราดำเนินชีวิตในโลกนี้ได้อย่างปลอดภัย เราจึงต้องศึกษาสัมมาทิฐิทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

 

ที่มา   http://www.dmc.tv/pages/guide/page21.html





22224  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / สวรรค์ชั้นดุสิต หรือดุสิตบุรี ดีอย่างไร ? เมื่อ: เมษายน 02, 2010, 04:26:40 pm

สวรรค์ชั้นดุสิต หรือดุสิตบุรี ดีอย่างไร ?
 

    ทำไม พระบรมโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนักสร้างพระบรมโพธิสัตว์บารมีทั้งหลายถึงเลือกที่จะอยู่ ชั้นนี้

    สวรรค์ชั้นดุสิต มีความกว้างใหญ่ไพศาลมาก มี ท้าวสันดุสิต ซึ่งบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว เป็นผู้ปกครองภพ ที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดุสิตอยู่สูงขึ้นไปจากยอดเขาสิเนรุ อยู่ในอากาศเหนือสวรรค์ชั้นยามา ๔๒,๐๐๐ โยชน์ บนสวรรค์จะไม่มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทำให้ไม่มีเงา ไม่มีมุมมืดบนสวรรค์ อยู่ได้ด้วยความสว่างจากวัตถุสิ่งของต่างๆ เช่น กายของเหล่าเทวดา วิมาน สวน สระ สิ่งแวดล้อมต่างๆมีแต่ความสว่าง จึงไม่ต้องอาศัยดวงอาทิตย์

 

    ลักษณะของสวรรค์ชั้นดุสิต จะไม่ได้กลมอย่างโลกมนุษย์ แต่จะกลมแบบราบ ถ้ามองจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป จะมองเห็นเป็นแสงสว่างนุ่มเนียนตา และถ้ามองจากสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไป ก็จะเห็นแสงสว่างนุ่มเนียนตาของสวรรค์ชั้นนิมมานรดี หรือถ้ามองลงไปที่ดาวดึงส์ก็จะเห็นว่า มีขนาดสวรรค์ชั้นดุสิตไม่ต้องอาศัยดวงอาทิตย์เล็กนิดเดียว เพราะสวรรค์ชั้นดุสิตใหญ่กว่า
 
    โครงสร้างของสวรรค์ชั้นดุสิต มีวิมานของท้าวสันดุสิต เป็นศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นนี้ แล้วแบ่งออกเป็น 4 เขต วนโดยรอบวิมานของท้าวสันดุสิต ดังนี้...

 

เขตที่ ๑. เป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี ซึ่งอยู่ชั้นในสุด
 
เขตที่ ๒. เป็นที่อยู่ของนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน ซึ่งวงบุญพิเศษของผู้ที่มีมโนปณิธาน จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ให้หมดจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม ก็จะอยู่ในเขตนี้ด้วย

 

เขตที่ ๓. เป็นที่อยู่ของอนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับวงบุญพิเศษพยากรณ์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องสร้างบารมีอีกมาก
 
เขตที่ ๔. เป็นที่อยู่ของผู้ที่ทำกุศลมาก และมีกำลังบุญมากพอที่จะได้อยู่สวรรค์ชั้นดุสิตนี้ เป็นเขตทั่วไป นอกเหนือจาก ๓ เขตแรก

 
    สวรรค์ชั้นดุสิต มีความพิเศษกว่าสวรรค์ชั้นอื่นอยู่หลายประการ หนึ่งในความพิเศษนั้นก็คือ เป็นที่อยู่ของเหล่าพระบรมโพธิสัตว์ ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตจำนวนมาก และเหล่าเทพบุตรที่สร้างบารมีเป็นพระสาวก เพื่อตามพระบรมโพธิสัตว์ลงมาตรัสรู้ในอนาคต
 
    แล้วทำไม พระบรมโพธิสัตว์หรือบัณฑิตทั้งหลาย จึงปรารถนาที่จะได้มาบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ทั้งๆที่กำลังบุญของแต่ละท่านนั้นมากมาย ปรารถนาที่จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นใดก็ได้ เหตุที่ท่านเลือกสวรรค์ชั้นนี้ มีข้อสังเกตอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑. พระโพธิสัตว์สามารถจุติลงมาได้ตามใจปรารถนา หมายความว่าโดยปกติเทวดามีเหตุแห่งการจุติหลายประการ เช่น หมดบุญก็มี หมดอายุขัยก็มี จุติเพราะความโกรธก็มี แต่เหล่าพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ลักษณะของสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อจะจุติลงมาสร้างบารมี หรือมาบังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะนั่งทำสมาธิ อธิษฐานจิต สามารถดับวูบลงมาเกิดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของชาวสวรรค์ชั้นอื่นๆ
 
๒. เนื่อง จากสวรรค์ชั้นนี้ มีแต่บัณฑิต มีแต่พระบรมโพธิสัตว์ ล้วนแต่มีอัธยาศัยคล้ายคลึงกัน ที่จะฝึกฝนตนเองและช่วยสรรพสัตว์ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตเหมือนชาวสวรรค์ชั้นอื่นๆ มักจะคบหาบัณฑิต พูดคุยสนทนาธรรมกันเพื่อความเบิกบานใจ และหมั่นไปฟังธรรมในวันพระ ซึ่งท่านท้าวสันดุสิตจะเป็นผู้อัญเชิญพระบรมโพธิสัตว์ ที่มีบุญบารมีมาก มาแสดงธรรมให้ฟัง
 
๓. ขนาด อายุทิพย์ของสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ คือ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ ซึ่งไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป พอเหมาะพอดีที่จะเสวยสุข เพราะท่านจะต้องลงมาสร้างบารมีต่อ ถ้ามีอายุขัยนานเกินไปจะทำให้เสียเวล



ที่มา  http://www.dmc.tv/pages/guide/page10.html


22225  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / การเวียนว่ายตายเกิด เมื่อ: เมษายน 01, 2010, 08:37:10 pm

การเวียนว่ายตายเกิด
ธรรมกถาของ อ.เสถียร โพธินันทะ

 


โพสท์ในลานธรรมเสวนาโดยคุณ : pug [ 12 ก.ย. 2544 ]
คัดลอก โดย ทศพล หรือ PUG

ท่านสาธุชนทั้งหลาย
หัวข้อปาฐกถาธรรมวันนี้เป็นการพูดข้อเบ็ดเตล็ดบางสิ่งบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มชาวพุทธมามกะ ของเรา  เรื่องเบ็ดเตล็ดที่เป็นปัญหาที่ชาวพุทธของเรา   พูดกันถกเถียงกันอยู่นั้นไม่ใช่มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น   แต่ความจริงแล้วถ้าจะประมวลเรื่องราวต่างๆ  ตั้งแต่สมัยพุทธกาลลงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้  เรื่องราวก็มีมาก
   
          เป็นปัญหาที่น่าขบคิดทั้งนั้นเพราะในวันนี้จะได้นำเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ มาวิจารณ์สักสองเรื่องด้วยกันก่อน

          เรื่องแรกก็คือปัญหาเรื่องของ   การเวียนว่ายตายเกิด   เรื่องนี้ไม่ว่าจะไปพูดในที่ใด  ถ้ายิ่งไปพูดตามโรงเรียนด้วยแล้วมักจะมีนักเรียนนักศึกษาเอาปัญหานี้มาถาม   ว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่จริง  สวรรค์นรกมีจริงหรือไม่จริง  ถามกันอย่างนี้บ่อย  และก็เป็นปัญหาที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว  เคยมีคนไปทูลถามพระพุทธองค์ก็เคย  แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตอบไปแล้ว

          แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกันเรื่อยมากระทั่ง ถึงเดี๋ยวนี้

          และเชื่อว่าจะต้องเป็นปัญหาต่อเนื่องกันต่อไปจนกว่ามนุษย์ ในโลกนี้จะไม่มี  คือถ้าหาว่า ในโลกนี้ยังมีมนุษย์อยู่ ปัญหาเรื่องว่าสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้มันก็มีอยู่เรื่อยไปละครับ   อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นอันหนึ่งที่เราน่าจะเอามาวิจารณ์กันเกี่ยวกับ ปัญหาเรืองนี้  ปัญหาตายแล้วเกิดหรือไม่  ถ้าหากว่าจะพูดตามนัยในพระพุทธศาสนา
 
          การตอบปัญหาในพระพุทธศาสนาเรา   พระพุทธเจ้า  ท่านได้เสนอวิธีการที่จะโต้ตอบปัญหานี้ออกเป็น  4 ประการด้วยกัน  คือว่า ปัญหาบางอย่างเมื่อมีผู้ตั้งขึ้นแล้ว  ผู้ที่จะแก้ปัญหาก็ต้องตอบด้วยวิธียืนกระต่ายขาเดียว ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า  “ เอกังสพยากรณ์ “  คือ  การตอบโดยการยืนกระต่ายขาเดียว  ปัญหาบางอย่างตอบด้วยวิธีการยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้  จะต้องกล่าวจำแนกตามประเภทตามเหตุการณ์  อย่างนี้เรียกว่า “  วิภัชพยากรณ์   “   ปัญหาบางอย่างผู้ตั้งปัญหาถามขึ้นแล้ว  ผู้ตอบก็ต้องเอาคำถามของเขานี่ยันผู้ถามอย่างนี้  เรียกว่าย้อนหรือเรียกว่าศอกกลับ  ถ้าจะว่าไปแล้วก็เรียกว่าศอกกลับก็ว่าได้  เรียกว่า  ปฏิปุจฉาพยากรณ์

           ปัญหาบางอย่างตั้งขึ้นมาถามแล้วผู้ถามมีเจตนาที่ไม่ใคร่จะ บริสุทธิ์  ผู้ตอบพิจารณาเห็นว่า ตอบไปแล้วไม่เกื้อกูลต่อประโยชน์ทั้งใน อดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็เป็นสิทธิที่ผู้ตอบจะยกเลิก  ยกปัญหาเสีย ไม่ตอบ  อย่างนี้เรียกว่า  ฐปนียพยากรณ์

          เป็นวิธีการตอบปัญหาในพระพุทธศาสนา 4 ประการ   วิธีการตอบปัญหา 4 ประการนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาตลอดสมัยของพระองค์ในการโต้ตอบกับพวกสม ณพราหมณ์  เดียรถีนิครนถ์ต่างๆ  ที่เข้ามาลองดีพุทธิปัญญาของพระองค์   หรือผู้ที่เข้ามาตั้งคำถามโดยความเจตนาบริสุทธิ์  ต้องการจะมีความรู้ความสว่างจากพระองค์ก็ต้องอาศัยการพิจารณาของพระองค์ว่า ปัญหาเหล่านี้ควรจะตอบด้วยวิธีอะไร  ควรที่จะตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ก็ตอบด้วยเอกังสพยากรณ์

          ควรที่จะตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ก็ตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์  ควรที่จะตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ก็ตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์  แล้วควรที่จะตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ก็ตอบด้วยฐปนียยพยากรณ์ไปตามเรื่อง

          คราวนี้ปัญหาเรื่อง  ตายแล้วเกิด  ในข้อนี้ถ้าจะเอาวิธีการตอบปัญหา 4 ประเด็นมาตอบปัญหาตายแล้วเกิดควรจะเอาอะไรมาตอบ  ในวิธีการ 4 ข้อ  ก็ต้องดูเหตุการณ์อีกนะครับ  ยกตัวอย่างเช่นว่ามีปริพาชกคนหนึ่งเป็นคนถือ   สัสสตทิฏฐิ   ถึอว่าตายแล้วอัตตาของเขานี่  อัตตาตัวนี้แหละหรือเรียกว่าวิญญาณนี่แหละ  ไปเวียนว่ายตายเกิด  อัตตาตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่แปรผัน  มั่นคงดุจเสาระเนียด  ชื่อว่า วัชชโคตรปริพาชก   วัชชโคตรมีทิฏฐิอย่างนี้    เมื่อตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้าว่าพระสมณโคดม    ตายแล้วเอาอะไรไปเกิด   พระพุทธเจ้าไม่ตอบ  ไม่ตอบปัญหาข้อนี้แก่วัชชโคตร   วัชชโคตรก็เสียใจ  ก็ตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่า แหม  ช่างกระไรเลย  เขาเองมีความสงสัยในปัญหาข้อนี้  ผูกใจมานานนักหนาแล้ว  นึกว่าได้รับความสว่างในสำนักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากลับไม่ตอบปัญหา  เขาตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น   พระพุทธเจ้าก็บอกว่าวัชชโคตร  ถ้าหากว่าตถาคตจะตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอ  เธอเป็นสัสสตทิฉฐิอยู่แล้วนะ   ถ้าตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอเมื่อไหร่ละก็  เธอจะเข้าใจผิด  ยิ่งจะเป็นสัสสตทิฉฐิยิ่งขั้นไปอีก  เป็นทวีตรีคูณทีเดียวละ  เพราะฉะนั้นปัญหาข้อนี้เราจึงไม่ตอบเธอ  เพราะอะไรถึงทรงแสดงอย่างนั้น

          เพราะว่าโดยความจริงแล้วคนที่ยังมีกิเลสอยู่  ตายแล้วก็ต้องเกิด  ถ้าพระองค์ตรัสบอกกับวัชชโคตรบอกว่าคนเราตายแล้วเกิด วัชชโคตรซึ่งกำลังหลงผิดยึดถืออยู่แล้ว  ว่าอัตตาของตัวนี่แหละมั่นคงดุจจะเสาระเนียด  เป็นผู้ไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ  ก็ยิ่งจะเตลิดเปิดเปิงนึกวาพระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวว่าจริง

           เมื่อคนเรา ตายแล้วต้องเกิด  สิ่งที่ไปเกิดเป็นตัวนั่นแหละ  คือตัวอัตตาที่ข้ากำลังถืออยู่  ณ  บัดนี้นี่แหละ พระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวอย่างนี้แหละ  พระพุทธเจ้าจึงไม่ตอบวัชชโคตรก่อน  เป็นเหตุให้เขาเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น  เมื่อตัดพ้อเช่นนี้แล้วพระองค์จึงแสดง  “ ปฏิจจสมุปบาท “  ให้เห็นเป็นการทำ ลายสัสสตทิฏฐิของวัชชโคตรปริพาชก

          ถ้าไปตอบอย่างง่ายๆ บอกว่า  เออ  คนเราตายแล้วก็ต้องไปเกิดซิ   วิญญาณนี่แหละไปเกิด  ตอบง่าย ๆ อย่างนี้  คนที่เป็นสัสสตทิฏฐิก็จะ   หลงผิดเป็นสัสสตทิฏฐิยิ่งขึ้น  จึงไม่ทรงตอบในเบื้องแรก แล้วก็แสดง   ปฏิจจสมุปบาท   ในเบื้องปลายเป็นการทำลายความเข้าใจผิดของวัชชโคตรปริพาชกไปเสีย นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

          คราวนี้ถ้าหากว่าสำหรับคนที่เชื่ออยู่แล้วว่ากฏแห่งกรรมมี จริง  การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง แล้วสิ่งที่ไปเวียนว่ายตายเกิดนี่ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน  เราเขาอะไร  แต่ทว่าเป็นสังขารธรรมที่เกิดดับสืบสันตติกันได้   ถ้าคนมีความเชื่อถือเช่นนี้มาตั้งปัญหากับพระพุทธเจ้า   พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์ไปตามเหตุคือ   พยากรณ์ใช้วิธีวิภัชชพยากรณ์   บอกว่าถ้าคนยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็ต้องทำอะไรที่เป็นกรรม  เมื่อมีกรรมแล้วก็มีวิบาก

          ชีวิตยังสั้นอยู่ในชาติหนึ่งภพหนึ่ง   ไม่สามารถจะชดเชยวิบากในชาติหนึ่งภพหนึ่งได้   มันก็ต้องไปยกยอดในชาติหน้า  ไปรับวิบากในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป   อย่างนี้ก็ทรงตอบ 

          อย่างเช่นมีอุบาสก   อุบาสกหรือชาวพุทธในพระศาสนาที่มีความเข้าใจในเรื่องกฎของกรรมดีพอแล้ว ตั้งปัญหาถามพระองค์พระองค์ก็แสดงโดยวิภัชชพยากรณ์หรือแม้ไม่ต้องตั้งปัญหา  พระองค์ก็แสดงอยู่แล้ว    เช่นว่าแสดงกับพระอานนท์เถรเจ้า  พยากรณ์คติพจน์ของบรรดาอุบาสก   อุบาสิกาในนาลันทคามว่า  อุบาสกชื่อนั้นมรณะไปแล้วกำลังเสวยอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น ๆ  ตาม ทิฏฐานุคติอันชอบของผู้นั้น  ทรงพยากรณ์ทิฏฐิอยู่แล้ว  ทรงพยากรณ์คติของผู้ล่วงลับไปแล้วให้กับพระอานนท์เถระเจ้าฟัง 

          แล้วก็ตรัสบอกว่าดูก่อนอานนท์  ที่ตถาคตพยากรณ์คติสัปรายภพของอุบาสกชื่อนั้น   อุบาสิกาชื่อนั้น  ณ. ตำบลบ้านนั้น ๆ  เพราะเหตุไร  ก็เพื่อว่าจะเป็นเครื่องพยุงใจให้แก่ปัจฉิมาชนตาชน  คือชนที่เกิดภายหลัง  ได้มีความกระปรี้กระเปร่า  มีกำลังใจในการประกอบกุศลกรรม  มีกำลังใจในการทำความดี  เพราะมีข้อยืนยันว่าเมื่อทำกรรมดีอย่านี้แล้ว  ตายไปแล้วก็ได้เสวยผลกรรมดีในคติสัมปรายภพนั้น ๆ
         
          ทรงแสดงอย่างนี้คนที่ไม่เข้าใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกที่แรกเริ่มศึกษาพุทธศาสนาใหม่ ๆ  พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องโซล  คือ วิญญาณหรือตัวอาตมัน  ภาษาฝรั่งเรียกกันว่าโซลก็นึกว่าพุทธศาสนานี้ไม่ด้สอนเรื่องเวียนว่ายตาย เกิด  เรื่องเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องไร้สาระ   หรือแม้แต่นักปราชญ์บางท่านในเมืองไทยเรา  เวลาแสดงปาฐกถาก็ยังโจมตีว่าการพูดเรื่อง    เวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นเรื่องนอกคอก   นอกบาลี   ที่ไหนพระพุทธเจ้าจะมาสนใจเรื่องนี้
 
          ควรจะพูดแต่เรื่องทางพ้นทุกข์ลัดนิ้วมือเดียว  ทำอย่าไรถึงจะพ้นทุกข์ดีกว่า  พูดเรื่องพุทธภาวะในจิตเดิมแม้นี่ดีกว่า  จะได้พ้นทุกข์ไปไว ๆ  ตรัสรู้เร็ว  ๆ  ดีกว่าจะไปมัวแต่พูดเรื่องเนิ่นช้า  เรื่องเวียนว่ายตายเกิด  เรื่องวัฏสงสาร  เป็นเรื่อทำให้คนเนิ่นช้า  ไปพูดเรื่องนี้ทำไม  ปฏิจจสมุปบาทว่าที่จริงแล้วก็มีขณะ  ปัจจุบันขณะเดียว  นี่มติของบางท่านนะ แต่ไม่ใช่ทั่วไปหรอก  บางท่านว่าปฏิจจสมุปบาทอยู่ในขณะจิต ปัจจุบันขณะเดียวอย่างนี้  โดยปฏิเสธอตีตอัทธา  อนาคตอัทธาปฏิเสธหมด  ว่าเรื่องการแบ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องอดีต  ปัจจุบัน  อนาคต  เป็นมติของพระอรรถกถาจารย์    ที่ไหนจะมีในบาลีพุทธพจน์  ปฏิเสธอย่านี้ก็มีอยู่  ซึ่งถ้าหากว่าจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าธรรมะในพุทธศาสนานี้ไม่ใช่จะเกณฑ์คน ทุกคนให้เป็นพระอรหันต์ในพริบตาเดียวหมด

          ถ้าไปถืออย่างนั้นละก็เอ่ยคำอะไรจะไปนิพพานกันร่ำไปอย่างนี้น่ากลัวพุทธ ศาสนาจะไม่ได้แพร่หลายยั่งยืนถึงทุกวันนี้เป็นแน่  เพราะว่าธรรมะในพุทธศาสนามีหลายชั้น    หลายวิธีการเหมือนกับอัธยาศัยของสัตว์ตั้งแต่โง่กระทั่งถึงคนฉลาด  เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ผู้ที่น้อมนำไปปฏิบัติ ได้ทุกชั้นทุกวัย
 
          ไม่ใช่จะเกณฑ์คนให้เป็นพระอรหันต์กันหมดในพริบตาทั้งโลก เป็นไปไม่ได้  เพราะเรายังต่างกรรมต่างวาระ  ต่างอัธยาศัย  อย่างไรก็ตาม    เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา    เราจะเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ไม่ได้   ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอันนี้

          สัมมาทิฏฐิในองค์มรรคในมรรค 8 นี่  สัมมาทิฏฐิแบ่งเป็น 2 ชั้น คือ โลกียสัมมาทิฏฐิ     โลกียสัมมาทิฏฐิได้แก่อะไร  ได้แก่   กัมมัสสกตาญาณ    ถ้าคนที่มีกัมมสกตาญาณเชื่อในเรื่องว่าทำกรรมได้รับผลแห่งกรรมนั้นเท่ากับ เชื่อว่าจะต้องมีเวียนว่ายตายเกิด
   
          ถ้าเชื่อกรรมก็ต้องเชื่อเวียนว่ายตายเกิดเป็นเงาตามตัว   คน ๆ  นั้นก็ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ   เมี่อไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิแล้ว  โลกุตตรสัมมาทิฏฐิก็เกิดไม่ได้   โลกุตตรสัมมาทิฏฐิได้แก่การเห็นแจ้ง  ในอริยสัจจ์ 4  เป็นโลกุตตรสัมมาทิฏฐิแต่การที่จะเห็นแจ้งในอริยสัจจ์  4  ได้นั้น  คนนั้นจะต้องมี โลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค  ไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาคแล้ว   การเห็นแจ้งในอริยสัจจ์เป็นไปไม่ได้
 

          คือพูดง่ายๆ  ว่าถ้าไม่มีกัมมัสสกตาญาณเสียแล้ว  ที่ไหนจะมาเชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน   ถ้าคนเราไม่มีกัมมัสสกตาญาณแล้ว  ไม่เชื่อเรื่องมรรคผลนิพพานอย่างเด็ดขาด   อันนี้แหละครับเป็นปัจจัยสำคัญที่ว่าทำอย่างไรจะทำให้กัมมัสสกตาญาณในคน ปัจจุบันนี้มีมาก  ๆ  เพราะความชั่วในสังคมปัจจุบันเกิด  เพราะคนในสังคมปัจจุบันนี้  ขาดกัมมัสสกตาญาณ    ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ   โลกุตตรสัมมาทิฏฐินี่เราอย่าเพิ่งไปหวังเลย  เอาแค่โลกียสัมมาทิฏฐิ  ก่อนว่าทุกวันนี้เราจะช่วยสังคมให้ปลอดภัยจากเรื่องความเสื่อมโทรมทาง ศีลธรรมได้อย่างไร
 


          ถ้าหากว่าเราทุกคนเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดแล้ว  สังคมก็จะเป็นสังคมที่ปลอดโปร่งสบาย  เรื่องการทำร้ายเรื่องการเบียดเบียนก็จะบรรเทาเบาบางลงเหมือนอย่างสังคม สมัยโบราณ   ซึ่งเป็นสังคมของชาวพุทธแท้ ๆ    กลัวบาปกลัวกรรมกัน  เรื่องการทำร้ายคดีอุกฉกรรจ์แปลก ๆ ที่ทุกวันนี้มีอยู่ในครั้งกระโน้นก็ไม่มี  อันนี้แหละครับสำคัญมาก  เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตอบปัญหาบางครั้ง   ถ้าหากว่าไม่พิจารณา  ก็นึกว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องชาติหน้า

          อย่างตอบวัชชโคตรปริพาชก  ถ้าไปอ่านเพียงครึ่งเดียวเหมือนพระพุทธเจ้าไม่ตอบ  ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าชาติหน้าไม่มีซิ    ถ้านึกอย่างนั้นเข้าใจผิด  ต้องไปดูตอนปลายว่าพระพุทธเจ้าพูดกับวัชชโคตรว่าอย่างไร  แล้ววัชชโคตรมีสันดาน  มีทิฏฐิมาก่อนอย่าไร  แล้วเพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงไม่พูดกับวัชชโคตรทันทีทันควัน  ว่าชาติหน้ามีอะไรไปเกิด  นี่เราต้องพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการให้ดีว่าข้างหน้าข้างหลังชนปลายอย่างไร

           โดยมากคนที่นึกอย่างนั้น  ไปจับเอาความข้างเดียวมาพูด  ไม่ได้ดูความถ่องแท้ทั้งเบื้องต้นเบื้องหลัง   แล้วก็บอกว่าพระพุทธ ศาสนานี่ปฏิเสธภพชาติ   นี่เป็นเรื่องนอกศาสนาเป็นเรื่องศาสนาพราหมณ์  พระพุทธเจ้าแท้ ๆ  ท่านแสดงมีแต่เรื่องพ้นทุกข์อย่างเดียว  เรื่องจะไปนิพพานอย่างเดียว เรื่องนอกนั้นเป็นเรื่องนอกศาสนา  เป็นพราหมณ์ทั้งนั้นแหละ  นึกอย่างนั้นเป็นความเข้าใจผิด  คราวนี้ถ้าจะเกิดชาติหน้ามีอยู่  การเวียนว่ายตายเกิดมีอยู่    ก็มักจะมีปัญหาขึ้นมาว่าทำไมเรายังระลึกชาติไม่ได้  ถ้าชาติหน้ามี  อะไรเป็นเหตุที่ให้เราระลึกชาติไม่ได้  และเหตุที่เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้  ไม่ใช่อื่นไกลหรอกครับ  เพราะว่า  เรามารับ จิตตชรูป  อุตุชรูป  อาหารชรูปในปัจจุบันภพ  รูปที่เราติดมาแต่อดีตภพเกิดจากอดีตกรรมนี่  มีกัมมชรูปอันเดียว

          กัมมชรูปที่เกิดพร้อมในปฐมปฏิสนธิขณะจิต  กัมมชรูปเกิดหยั่งลงสู่ครรภ์ของมารดา  ปฏิสนธิจิตเกิดขณะต้นกัมมชรูปก็เกิดพร้อมทีเดียว   อันนี้กัมมชรูปนี้สืบมาจากอดีต   อดีตกรรม  ปรุงโดยตรง  สายตรงมาทีเดียว  แต่ว่าอาหารชรูป อุตุชรูป   เรามารับเอารูปใหม่ในปัจจุบันภพ  กายเนื้อ  กายหยาบที่เราเห็นอยู่นี้  มหาภูตรูปนี่เรามารับเอาใหม่ในปัจจุบันภพ  รับเอาใหม่อันสำเร็จมาจากเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อแม่ร่วมกัน

          เพราะฉะนั้นมันสมองคือ  สมองของเรานี่แหละก็เป็นของใหม่  ไม่ใช่ของเก่า    มันสมองนี่เป็นรูปใหม่ในปัจจุบันภพ  ไม่ใช่ของเก่าสืบมาจากชาติก่อน   ของเก่าที่เป็นส่วนรูปธาตุมาจากชาติก่อนมีเพียงกัมมชรูปอย่างเดียว  คราวนี้เมื่อมันสมองเป็นของใหม่    มันสมองเท่ากับว่าเป็นเครื่องมือสำหรับให้จิตเหมือนกระแสไฟฟ้า    กระแสไฟฟ้าจะปรากฏจะมีปฏิกิริยาออกมาก็ต้องผ่านไดนาโม  ถ้าไม่มีเครื่องไดนาโมแล้ว  ไฟฟ้าจะไม่มีปฏิกิริยาออกมา
 
          ทุกวันนี้ในอากาศเรานี่มีไฟฟ้าทั้งนั้นแหละ   แต่ที่ไม่มีปฏิกิริยาเพราะเรามองไม่เห็นมัน   เพราะว่ายังไม่มีเครื่องเข้าไปจับไปกระจายพลังงานมันออกมา  ไปกลั่นกรองพลังงานมันออกมา   เราก็ยังไม่สามารถสัมผัสไฟฟ้าได้  แต่ว่าความจริงแล้ว ไฟฟ้ามีอยู่รอบบรรยากาศในรอบตัวเรานี่ฉันใด    จิตก็เหมือนกัน จิตสืบสันตติมาจากภพเก่าเป็นองค์แห่งภพ    เก็บเอาพฤติกรรม  ต่างๆ ในชาติก่อน ๆ เอาไว้
 
          แต่จิตนั้นจะสำแดงพฤติการณ์ออกมาได้ก็ต้องผ่านสมอง   ผ่านทางสมองออก  แล้วสมองก็สั่งงานไปทางประสาท   ทางร่างกายอีกชั้นหนึ่ง  เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบบอกว่า  สมองนี่เหมือนกับเครื่องจักร  ชีวิตกับร่างกายเหมือนกับลำเรือ  มันสมองเหมือนเครื่องจักร  ส่วนผู้คุมเครื่องจักร  กัปตันเรือคือ  จิต  มีเพียงลำพังกัปตันเรือ   แต่ว่าไม่มีเครื่องเรือก็ไม่มีลำเรือก็ไม่สำเร็จอีก  มีแต่ลำเรือ  มีเครื่องเรือ  ไม่มีกัปตันเรือ   เรือลำนั้นก็เป็นซาก   ทำอะไรไม่ได้  แล่นก็ไม่ไป  ไม่มีคนคุมคนจัดการให้เครื่องมันเดิน  มันก็แล่นไม่ไปฉันใด  ชีวิตกับร่างกายมันสมองก็เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นเมื่อมันสมองเป็นเนื้อก้อนใหม่ ๆ  ที่สำเร็จในปัจจุบันภพเช่นนี้แล้ว    มันสมองก้อนนี้จึงไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะทำให้จิตระลึกชาติเก่า ๆได้   เพราะเป็นของใหม่ในปัจจุบัน  ก็คิดได้ทำได้แต่ของใหม่ ๆ จิตเองแม้จะระลึกชาติก็ระลึกไม่ออก  เพราะอะไร

          เพราะความที่จิตนั้นถูกความเศร้าหมองของกิเลสสะกดเอาไว้  สะกดเอาไว้  ท่านเปรียบจิตเหมือนกับบ่อน้ำ  บ่อน้ำที่แสนจะลึก  แล้วก็อารมณ์ต่างๆ หรือพฤติกรรมต่างๆ  ที่เราทำมาแต่ชาติภพเก่า ๆ  เหมือนกับเราโยนเอาทัพพสัมภาระวัตถุต่างๆ  ลงในบ่อน้ำนั้น  โยนทับถมกันเรื่อยไป   ที่โยนไปก่อน ๆ  ก็ถูกของใหม่ ๆ ทับเอาไว้  มองไม่เห็น  เราจะเห็นได้เฉพาะที่เพิ่งจะโยนประเดี๋ยวประด๋าวใหม่ๆ    เมื่อกี้นี้    โยนเมื่อกี้นี้แต่โยนเมื่อกี้นี้ขณะที่ยังไม่จมถึงก้นบ่อก็ยังพอเห็น   แต่พอจมถึงก้นบ่อแล้วก็ไม่เห็นอีก  เพราะอะไร เพราะความขุ่นของน้ำ

          ความขุ่นอันนี้ก็คือ กิเลส  กิเลสตัณหาที่มันเกาะเป็นสนิมใจ  เกาะกันมา  ทับถมกันมา  ธรรมดาบ่อน้ำของโยนมากก็จะไม่เห็นอยู่แล้วนะ  มิหนำซ้ำเจ้าน้ำในบ่อนั้น  ยังเป็นน้ำขุ่นอีกเสียด้วย  ขุ่นอย่างน้ำครำอย่างนี้  เพราะฉะนั้นของอะไรร้อยแปด  โยนลงไปจึงไม่มีเห็นหรอก  ไม่มีเห็น  ขณะดังป๋อมใหม่ ๆ พอเห็น  พอรู้   แต่โยนแล้วไม่ใช่วันเดียวสองวันตั้งหลายร้อยอเนกอันนตชาติ
 
          แล้วเราจะไประลึกได้อย่างไร  ไม่มีทางระลึกได้  มิหนำซ้ำสด  ๆ  ร้อนๆ  เช่นว่าเราตายปุบเกิดปับอย่างนี้   ควรจะระลึกชาติเก่าได้ยังระลึกไม่ได้   ก็เพราะอะไร   เพราะมาเจอมันสมองก้อนใหม่นี่มาเป็นอุปสรรคสำคัญ  คอยกีดกั้นเอาไว้  มันสมองก้อนี้แหละที่เรารับจากพ่อแม่ในภพปัจจุบันนี้แหละ  มันกีดกั้นเอาไว้  บังเอาไว้   ถ้าจะเปรียบ  มันสมองก็เหมือนหนึ่งวัตถุแท่งทึบที่แสงไม่สามารถทะลุไปได้มากีดกั้นเอาไว้   พฤติกรรมของจิตในอดีตอารมณ์ในอดีต   ภวังค์ไม่สามารถที่จะมาปรากฏได้ก็เพราะอานุภาพของสมองในปัจจุบันนี้กีดกั้น เอาไว้ประการหนึ่ง

          อีกประการหนึ่งเกิดเพราะความขุ่นมัวของกิเลสในพื้นเพของ จิต   อีกประการหนึ่งเกิดเพราะว่าพฤติกรรมต่างๆ  ที่ทับถมหมักหมมอยู่ในพื้นเพของจิตใจมีมากมายก่ายกองเหลือเกิน
 
          จนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะจับต้นชนปลายถูกว่าอะไรเป็นอะไร  วัตถุสิ่งนั้น  เพราะมันทับถมมากมายหลายโกฎิหลายพันล้าน   สิ่งอยู่ในบ่อน้ำบ่อเดียว  คือ  จิตนี่แหละครับ   3 กรณี  เหตุนี้เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้  ทั้ง ๆ ที่เราเกิดสดๆ ร้อนๆ  ตายปุบเกิดปับเรายังระลึกไม่ได้เลย  มูลเหตุอีกข้อหนึ่งที่ระลึกไม่ได้คือเวลาที่อยู่ในท้องแม่ 10 เดือน  เหมือนกับคนติดตะราง   ติดตะราง 10 เดือนนี่  เสวยทุกขเวทนาสาหัสนะ  สัตว์ที่อยู่ในครรภ์ของแม่นี่

          ท่านเปรียบเหมือนคล้าย ๆ คนตกนรก  เสวยทุกขเวทนาสาหัส  แม่กินของร้อนก็ร้อนตามอย่างเช่น  กินของชอบ  ถ้าผู้หญิงที่แพ้ท้องชอบกินของเผ็ดจัดอย่างนี้  ทารกในครรภ์ทุกขเวทนาเหลือเกิน   ปวดแสบปวดร้อนทุกสรรพางค์ทีเดียว    แม่กินของเย็นก็เย็นหนาวเหมือนกับตกนรกขุมหนาวอย่างนั้นแหละ   นี่หนาวทีเดียว  หนาวเย็นไปตามนั้น


          ถ้าแม่เปลี่ยนอิริยาบถรุนแรงเกินไป   เช่นวิ่งหรือว่าเกิดตกบันไดผลัดตกลงมา  ลุกในครรภ์ก็กระทบกระเทือนเจ็บปวดไปด้วยทุกขเวทนา  10 เดือนเรามองโดยสายตามนุษย์เห็นว่าเวลาเพียง 10 เดือนจะเป็นอะไร   แต่ความรู้สึกของเด็กในครรภ์ของมารดานั้น 10 เดือนเหมือนกับ  10 โกฎิปี  เหมือนกับตกนรก 10 โกฏิ     ความรู้สึกมันช้านานเหลือเกิน  ที่ถูกจองจำคุมขังเอาไว้  ไม่ใช่คุมขังเปล่า  จะดิ้นก็ลำบาก  จะพลิกตัวก็ลำบากงอมืองอเท้า  มิหนำซ้ำยังถูกความเย็นความร้อนนี่มันเสียดแทงจากมารดาดื่มกินเข้าไป

          อาหารต่างๆ  เข้าไปเสียดแทงร่างกาย  ทุกขเวทนาในครรภ์  10 เดือนนี้ลืมความเก่าหมดเลย  เหตุการณ์เก่า ๆ อย่างเช่นว่าเราจะตาย  เราก็ตั้งใจไว้ว่าเจ้าประคุณ  ชาติหน้าให้ระลึกชาติได้เถิด  ก็พยายามระลึกผูกจิตเอาไว้  บอกว่ากูตายชาตินี้แล้วชาติหน้าต้องระลึกชาติให้ได้  หมายใจผูกพันกับอารมณ์นี่อย่างเต็มแก่มาแล้ว    พอครั้นตายจริงเข้าครรภ์มารดาปุบ 10 เดือนกว่า  เหมือนตกนรกในครรภ์มารดา  ลืมความแล้ว ความทุกข์ที่มันทับถมนี่  ความผูกใจแต่ก่อนขาดใจตายในชาติที่แล้ว  บอกจะเอาความเก่ามาจำให้ได้ในชาตินี้   จะได้เล่าให้คนฟังบ้างว่า  ชาติก่อนเกิดเป็นอะไรมา  เป็นอันยกเลิกเลย  ลืมกันระหว่าง 10 เดือนนี้ลืมหมด  นี่ 10 เดือนเป็นปัจจัยอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ระลึกชาติไม่ได้

          เพราะฉะนั้นท่านว่าสัตว์นรกที่ตกนรก  เวลาเราแผ่ส่วนบุญ  ให้สัตว์นรก  มักจะไม่ใคร่ถึง  สัตว์นรกมักจะไม่ใคร่รู้  เพราะอะไร  เพราะสัตว์นรกมีทุกข์มาก  ไม่มีแก่ใจจะมารับส่วนบุญของใคร  สัตว์ประเภทที่จะมารับส่วนบุญง่าย ๆ  ก็คือพวกเปรต  พวกนี้สุข ทุกข์ก้ำกึ่ง  คล้าย ๆ มนุษย์  มีสุขบ้าง  มีทุกข์บ้าง  ถึงแม้จะมีทุกข์ก็ไม่ทุกข์อย่างสัตว์นรกทุกข์ 
 
          เพราะฉะนั้น พอมีเวลาที่จะมานึกถึงความดีบ้าง  คนที่มีทุกข์มาก ๆ  ทุกขเวทนามาก ๆ  หาเวลาแม้ชั่วขณะที่จะระลึกความดีได้ยากเหลือเกิน  นอกจากว่าสัตว์นรกตัวใดจวนจะสิ้นกรรมที่เขาทำมาแล้ว  บางครั้งอกุศลอันเป็นอปราประ

          ถ้าติดตามมานี่ก็ผลุดขึ้นได้ในบางขณะ  นึกขึ้นได้เหมือนกัน  หรือบางครั้งผู้ที่มีบุญญาวาสนาสูง ๆ  มีบุญญาธิการมาก ๆ เขาทำบุญ  กระแสจิตเขาแรง  เขาแผ่ไป  อย่างพระโพธิสัตว์อย่างนี้  บำเพ็ญบามีแผ่บารมีลงไปอย่างนี้  สัตว์นรกที่กรรมเวรจวนจะหมดแล้วก็มีเวลาว่างเพียงชั่วอึดใจหนึ่งมาอนุโมทนา ก็พ้นกรรมอันี้ไปสู่สุคติได้ก็มีอยู่

          แต่โดยเยภุยยนัยแล้วลำบาก  ลำบากมาก  เพราะว่าความทุกข์นี่บีบคั้นรุนแรงมากเหลือเกิน  เหมือนกันกับทารกในครรภ์ของแม่ตลอดระยะ 10 เดือนนี่   ความทุกข์บีบคั้นมาก  อันนี้เรียกว่า  ทุกข์เกิดตั้งแต่ อยู่ในครรภ์แล้ว  วินาทีแรกแล้ว  ถูกบีบคั้นอย่างนี้ ไหนเลยจะมีเวลามานึกถึงเหตุการณ์ในชาติก่อน ๆ  ไหนเลยจะเอาใจใส่มาทรงจำเหตุการณ์ในชาติก่อน ๆได้

          ความลำบากแค่ 10 เดือนก็เต็มทนแล้ว  เพราะฉะนั้นพอคลอดออกมา  ความเก่าก็ลืมหมดทีเดียว  ระยะที่คลอดออกมานี่มันสมองก็ยังเป็นของใหม่อารมณ์ก็ยังของใหม่อยู่   กว่าจะเติบโตรู้ความได้  ก็เข้า 3 ขวบ  พอเข้า 3 ขวบแล้ว หมดแล้ว  ความเก่า  ๆ ที่ตั้งใจจะระลึกเอาไว้เป็นอันยกยอด  แทงสูญเลย   กลายเป็นคนระลึกชาติไม่ได้  แล้วก็บอกว่าชาติก่อนไม่มี ฉันระลึกไม่ได้  เพราะชาติก่อนไม่มี   ใช้ไม่ได้  เหตุผลเพียงแต่ว่าฉันนึกไม่ได้  จึงว่าอดีตไม่มี  นี่ใช้ไม่ได้
 
          ถ้าเราเพียงแต่เอาเหตุผลเพราะเหตุที่ฉันนึกไม่ได้  อดีตจึงไม่มีแล้ว    เหตุการณ์ในปัจจุบันที่เราระลึกไม่ได้มีเยอะแยะ   ถ้าเช่นนั้นเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ระลึกไม่ได้ชื่อว่าเป็นของไม่มีกระนั้น หรือ   ผู้ที่นิยมในเหตุผลย่อมไม่สามารถจะกล่าวได้ว่าเป็นความชอบธรรม  เหตุการณ์ในปัจจุบันที่ระลึกไม่ได้มีมากมาย   แม้แต่เหตุการณ์สด ๆ  ร้อน ๆ  เดี๋ยวนี้แหละ   อย่างผมจะถามบอกว่า  เมื่อกลางวันนี่ท่านผู้ฟังเวลารับประทานอาหาร  เคี้ยวอาหาร  เคี้ยวกี่ครั้ง  ท่านจำได้บ้างไหม  ว่าเคี้ยวอาหารลงไปในท้อง  เคี้ยวกี่ครั้ง  ท่านจำได้บ้างไหม  ว่าเคี้ยวอาหารลงไปในท้อง  เคี้ยวกี่ครั้ง  ปากเราเคี้ยวกี่ครั้ง  ท่านก็ตอบไม่ได้  เหตุการณ์ปัจจุบันสด ๆ ร้อน ๆ  ท่านยังตอบไม่ได้เลยว่าท่านเคี้ยวอาหารกี่ครั้ง  เมื่อรับประทานอาหารกลางวัน   จะป่วยการกล่าวไปไยกับเรื่องที่ข้ามภพข้ามชาติ  ยิ่งระลึกไม่ได้ใหญ่  เพราะเหตุที่มีอุปสรรคต่างๆ   ดังได้พรรณนามาเป็นอุปสรรคกีดขวาง  เป็นเหตุให้ระลึกไม่ได้
       
22226  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น“สังขพราหมณ์” เคยบูชาพระสถูปด้วย“ดอกไม้” เมื่อ: มีนาคม 28, 2010, 11:27:47 am

เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็น“สังขพราหมณ์” เคยบูชาพระสถูปด้วย“ดอกไม้”

๑.เรื่องบุรพกรรมของพระองค์
ข้อความ เบื้องต้น

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภบุรพกรรมของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มตฺตาสุขปริจฺจาคา" เป็นต้น.


               เกิด ภัย ๓ อย่างในเมืองไพศาลี
             
               ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง เมืองไพศาลีได้เป็นเมืองมั่งคั่งกว้างขวาง มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น. ก็ในเมืองไพศาลีนั้นได้มีกษัตริย์ครอบครองราชสมบัติตามวาระกันถึงเจ็ดพัน เจ็ดร้อยพระองค์. ปราสาทเพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับของกษัตริย์เหล่านั้น ก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน, เรือนยอดก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน, สถานที่รื่นรมย์และสระโบกขรณี เพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน.
 
               โดยสมัยอื่นอีก เมืองไพศาลีนั้นได้เป็นเมืองมีภิกษาหาได้ยาก ข้าวกล้าเสียหาย. ทีแรก พวกมนุษย์ที่ขัดสนในเมืองไพศาลีนั้น ได้ตายแล้ว (มากกว่ามาก) เพราะโทษคือความหิว. พวกอมนุษย์ก็เข้าไปสู่พระนคร เพราะกลิ่นซากศพของมนุษย์เหล่านั้น อันเขาทิ้งไว้ในที่นั้นๆ, มนุษย์ทั้งหลายได้ตายมากกว่ามาก เพราะอุปัทวะที่เกิดจากอมนุษย์. อหิวาตกโรคเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะความปฏิกูลด้วยกลิ่นศพแห่งมนุษย์เหล่านั้น.

               ภัย ๓ อย่าง คือ "ภัยเกิดแต่ภิกษาหาได้ยาก ๑ ภัยเกิดแต่อมนุษย์ ๑ ภัยเกิดแต่โรค ๑" เกิดขึ้นแล้วด้วยประการฉะนี้.

               ชาวนครประชุมกันแล้ว กราบทูลพระราชาว่า "มหาราช ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นแล้วในพระนครนี้, ในกาลก่อนแต่กาลนี้ จนถึงพระราชาชั้น ๗ ชื่อว่าภัยเห็นปานนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าในรัชกาลของพระราชาผู้ทรงธรรมทั้งหลาย ภัยเห็นปานนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น."

               พระราชารับสั่งให้ทำการประชุมชนทั้งปวงในท้องพระโรงแล้ว ตรัสว่า "ถ้าว่าความไม่ทรงธรรมของเรามีอยู่ไซร้, ท่านทั้งหลายจงตรวจดูซึ่งเหตุนั้น." ชาวเมืองไพศาลีตรวจดูประเพณีทุกอย่าง ไม่เห็นโทษอะไรๆ ของพระราชา จึงกราบทูลว่า "มหาราช โทษของพระองค์ไม่มี" จึงปรึกษากันว่า "อย่างไรหนอแล ภัยของพวกเรานี้พึงถึงความสงบ?"


               บรรดาชนเหล่านั้น เมื่อบางพวกกล่าวว่า "ภัยพึงถึงความสงบด้วยการพลีกรรม ด้วยการบวงสรวง ด้วยการกระทำมงคล" ชนเหล่านั้นทำพิธีนั้นทั้งหมด ก็ไม่อาจป้องกันได้.

               ชนพวกอื่นกล่าวกันอย่างนี้ว่า "ครูทั้ง ๖ มีอานุภาพมาก, พอเมื่อครูทั้ง ๖ มาในที่นี้แล้ว ภัยพึงสงบไป." อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ขึ้นแล้วในโลก อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์; เมื่อพระองค์เสด็จมาในที่นี้แล้ว ภัยเหล่านี้พึงถึงความสงบได้." ชนแม้ทุกจำพวกชอบใจถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอแล?"


               ชาวเมืองไพศาลีให้ไปทูลเชิญพระศาสดา 
             
              ก็ในกาลนั้น เมื่อดิถีเป็นที่เข้าจำพรรษาใกล้เข้ามาแล้ว พระศาสดาทรงประทานปฏิญญาแก่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วเสด็จอยู่ในพระเวฬุวัน.

               ก็โดยสมัยนั้น เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลี ทรงบรรลุโสดาปัตติผล พร้อมด้วยพระเจ้าพิมพิสารในสมาคมแห่งพระเจ้าพิมพิสาร ประทับนั่งในที่ใกล้แห่งบริษัทนั้น. ชาวเมืองไพศาลีตระเตรียมบรรณาการใหญ่ ส่งเจ้ามหาลีลิจฉวีและบุตรของปุโรหิตไปด้วยสั่งว่า "ท่านทั้งหลายจงยังพระเจ้าพิมพิสารให้ยินยอมแล้ว นำพระศาสดามาในพระนครนี้." เจ้ามหาลีลิจฉวีและบุตรปุโรหิตเหล่านั้นไปแล้ว ถวายบรรณาการแด่พระราชา กราบทูลความเป็นไปนั้นให้ทรงทราบแล้วอ้อนวอนว่า "มหาราช ขอพระองค์ทรงส่งพระศาสดาไปยังพระนครแห่งข้าพระองค์."

               พระราชาตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงรู้เอาเองเถิด" แล้วไม่ทรงรับ (บรรณาการนั้น). ชนเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้ว ทูลอ้อนวอนว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเมืองไพศาลีเกิดภัย ๓ อย่าง, เมื่อพระองค์เสด็จไป ภัยเหล่านั้นก็จักสงบ เชิญเสด็จเถิด พระเจ้าข้า. ข้าพระองค์ทั้งหลายจะไป."

               พระศาสดาทรงสดับคำของชนเหล่านั้นแล้ว ทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ทรงทราบว่า "ในเมืองไพศาลี เมื่อเราสวดรัตนสูตร, อาชญาจักแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล ในกาลจบพระสูตร การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน ภัยเหล่านั้นก็จักสงบไป" แล้วทรงรับถ้อยคำของชนเหล่านั้น.

               พระ ศาสดาเสด็จเมืองไพศาลี   
           
              พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า "นัยว่า พระศาสดาทรงรับการเสด็จไปยังเมืองไพศาลี" แล้ว รับสั่งให้ทำการป่าวร้องในพระนครเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า "พระองค์ทรงรับการเสด็จไปเมืองไพศาลีหรือ พระเจ้าข้า?" เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "ขอถวายพระพร มหาบพิตร" ทูลว่า "ถ้ากระนั้น ขอพระองค์ทรงรอก่อน พระเจ้าข้า,

ข้าพระองค์จัดแจงหนทางก่อน" แล้วรับสั่งให้ปราบพื้นที่ ๕ โยชน์ในระหว่างกรุงราช คฤห์และแม่น้ำคงคา (ต่อกัน) ให้สม่ำเสมอ ให้จัดแจงวิหารไว้ในที่โยชน์หนึ่งๆ จึงกราบทูลกาลเป็นที่เสด็จไปแด่พระศาสดา.

               ครั้งนั้น พระศาสดาเสด็จเดินทางกับภิกษุ ๕๐๐ รูป. พระราชารับสั่งให้โปรยดอกไม้ ๕ สี โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่า ในระหว่างโยชน์หนึ่งๆ แล้วให้ยกธงชัย ธงแผ่นผ้า และต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ คันซ้อนกันแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กั้นเศวตฉัตรแก่ภิกษุรูปละคันๆ พร้อมทั้งบริวาร ทรงทำบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ทรงอาราธนาพระศาสดาให้ประทับอยู่ในวิหารแห่งหนึ่งๆ ถวายมหาทานแล้ว ให้เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำคงคาโดย ๕ วัน ทรงประดับเรือในที่นั้น พลางทรงส่งข่าวไปแก่ชาวเมืองไพศาลีว่า "ชาวเมืองไพศาลีจงจัดแจงหนทาง ทำการรับรองพระศาสดาเถิด."

               ชาวเมืองไพศาลีจัดการต้อนรับพระศาสดา
               
               ชาวเมืองไพศาลีเหล่านั้น คิดว่า "เราทั้งหลายจักทำการบูชาทวีคูณ (๒ เท่า) แล้วปราบพื้นที่ประมาณ ๓ โยชน์ ในระหว่างเมืองไพศาลีและแม่น้ำคงคา (ต่อกัน) ให้สม่ำเสมอ แล้วตระเตรียมเศวตฉัตรซ้อนๆ กัน ด้วยเศวตฉัตร เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ๔ คัน เพื่อภิกษุรูปละ ๒ คัน ทำการบูชาอยู่ ได้มายืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว.

               พระเจ้าพิมพิสารทรงขนานเรือ ๒ ลำ ให้ทำพลับพลา ให้ประดับด้วยพวงดอกไม้เป็นต้น ปูลาดพุทธอาสน์ สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่างไว้. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์นั้น. แม้ภิกษุทั้งหลายก็ขึ้นสู่เรือ นั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.

              พระราชา เมื่อตามส่งเสด็จลงไปสู่น้ำประมาณเพียงพระศอ กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตราบใด, หม่อมฉันจักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้นั่นแหละตราบนั้น" ส่งเรือไปแล้วก็เสด็จกลับ. พระศาสดาเสด็จไปในแม่น้ำคงคา สิ้นทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง จึงถึงแดนของชาวเมืองไพศาลี.

               เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงต้อนรับพระศาสดา ลุยน้ำประมาณเพียงพระศอ นำเรือเข้ายังฝั่งแล้ว เชิญเสด็จพระศาสดาให้ลงจากเรือ.

               พอเมื่อพระศาสดาเสด็จขึ้นจากเรือเหยียบฝั่งแม่น้ำเท่า นั้น มหาเมฆตั้งขึ้นยังฝน โบกขรพรรษให้ตกแล้ว. ในที่ทุกๆ แห่ง น้ำประมาณเพียงเข่า เพียงขา เพียงสะเอวเป็นต้น ไหลบ่าพัดพาเอาซากศพทั้งปวง ให้เข้าไปในแม่น้ำคงคาแล้ว. ภูมิภาคได้สะอาดแล้ว.

               เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทูลให้พระศาสดาประทับอยู่ในที่โยชน์ หนึ่งๆ ถวายมหาทานทำการบูชาให้เป็น ๒ เท่า นำเสด็จไปสู่เมืองไพศาลี โดย ๓ วัน.

               ท้าวสักกเทวราชอันหมู่เทวดาแวดล้อมได้เสด็จมาแล้ว. อมนุษย์ทั้งหลายหนีไปโดยมาก เพราะเทวดาทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกันแล้ว.

               น้ำมนต์ แห่งพระปริตรมีอำนาจมาก 
             
               พระศาสดาประทับยืนที่ประตูพระนครในเวลาเย็น ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาแล้ว ตรัสว่า "อานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้แล้ว เที่ยวไปกับเจ้าลิจฉวีกุมารทั้งหลาย ทำพระปริตรในระหว่างกำแพง ๓ ชั้นในเมืองไพศาลี."

               พระเถระเรียนรัตนสูตรที่พระศาสดาประทานแล้ว เอาบาตรสำเร็จด้วยศิลาของพระศาสดาตักน้ำ ยืนอยู่ที่ประตูพระนครแล้ว. ระลึกถึงพระพุทธคุณของพระตถาคตเหล่านี้ทั้งหมด

              จำเดิมแต่ตั้งความเพียรไว้ว่า "พระบารมี ๓๐ ถ้วน คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓ คือ โลกัตถจริยา ๑ ญาตัตถจริยา ๑ พุทธัตถจริยา ๑ การก้าวลงสู่พระครรภ์ในภพที่สุด การประสูติ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การทรงประพฤติความเพียร การชำนะมาร การแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณเหนือบัลลังก์ไม้โพธิ์ การยังพระธรรมจักรให้เป็นไป และพระโลกุตรธรรม ๙" แล้วเข้าไปยังพระนคร เที่ยวทำพระปริตรในระหว่างกำแพงทั้ง ๓ ตลอด ๓ ยามแห่งราตรี.
 
               เมื่อคำสักว่า "ยงฺกิญฺจิ" เป็นต้น อันพระเถระนั้นกล่าวแล้วเท่านั้น น้ำที่สาดขึ้นไปเบื้องบน ตกลงบนกระหม่อมของอมนุษย์ทั้งหลาย.

               จำเดิมแต่การกล่าวคาถาว่า "ยานีธ ภูตานิ" เป็นต้น หยาดน้ำเป็นราวกะว่าเทริดเงินพุ่งขึ้นในอากาศ แล้วตกลง ณ เบื้องบนแห่งมนุษย์ทั้งหลายผู้ป่วย. มนุษย์ทั้งหลายหายโรคในทันใดนั่นเอง แล้วลุกขึ้นแวดล้อมพระเถระ.

 
               ก็จำเดิมแต่บทว่า "ยงฺกิญฺจิ" เป็นต้น อันพระเถระกล่าวแล้ว อมนุษย์ทั้งหลายถูกเมล็ดน้ำกระทบแล้วๆ ยังไม่หนีไปก่อน ที่อาศัยกองหยากเยื่อและส่วนแห่งฝาเรือนเป็นต้น ก็หนีไปแล้วโดยประตูนั้นๆ. ประตูทั้งหลายไม่มีช่องว่างแล้ว. อมนุษย์เหล่านั้นเมื่อไม่ได้โอกาส ก็ทำลายกำแพงหนีไป. มหาชนประพรมท้องพระโรงในท่ามกลางพระนครด้วยของหอมทั้งปวง ผูกผ้าเพดานอันวิจิตรด้วยดาวทองเป็นต้นในเบื้องบน ตกแต่งพุทธอาสน์ นำเสด็จพระศาสดามาแล้ว.

               พระศาสดาประทับนั่งบนอาสนะอันตกแต่งแล้ว. ทั้งภิกษุสงฆ์ ทั้งหมู่เจ้าลิจฉวีนั่งแวดล้อมพระศาสดาแล้ว. แม้ท้าวสักกเทวราชอันหมู่เทวดาแวดล้อมแล้ว ได้ประทับยืนในโอกาสสมควร.

               ฝ่ายพระเถระเที่ยวไปสู่พระนครทั้งสิ้นโดยลำดับแล้ว มากับมหาชนผู้หายโรค ถวายบังคมพระศาสดานั่งแล้ว พระศาสดาทรงตรวจดูบริษัทแล้ว ได้ทรงภาษิตรัตนสูตรนั้น นั่นเอง.
 
              ในกาลจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พันแล้ว.

               พระศาสดาทรงแสดงรัตนสูตรนั้นเหมือนกันตลอด ๗ วัน คือแม้ในวันรุ่งขึ้น ก็ทรงแสดงอย่างนั้น ทรงทราบความที่ภัยทั้งปวงสงบแล้ว ตรัสเตือนหมู่เจ้าลิจฉวีแล้ว เสด็จออกจากเมืองไพศาลี. เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงทำสักการะทวีคูณ นำเสด็จพระศาสดาไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคาโดย ๓ วันอีก.


               พวกพระยานาคทำการบูชาพระศาสดา
   
           
              พระยานาคทั้งหลายผู้เกิดในแม่น้ำคงคา คิดว่า "มนุษย์ทั้งหลายย่อมทำสักการะแด่พระตถาคต เราทั้งหลายจะทำอะไรหนอ?" พระยานาคเหล่านั้นนิรมิตเรือสำเร็จด้วยทองคำ เงิน และแก้วมณี จัดตั้งบัลลังก์สำเร็จด้วยทองคำ เงิน และแก้วมณี ทำน้ำให้ดาดาษด้วยดอกปทุม ๕ สี แล้วทูลอ้อนวอนพระศาสดา เพื่อประโยชน์เสด็จขึ้นเรือของตนๆ ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงทำการอนุเคราะห์แม้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด." มนุษย์และนาคทั้งหลายย่อมทำการบูชาพระตถาคต.

               เทวดาทั้งปวง ตั้งต้นแต่เทวดาผู้สถิต ณ ภาคพื้น ตลอดถึงพรหมโลกชั้นอกนิฏฐ์คิดว่า "พวกเราจะทำอะไรหนอ?" แล้วทำสักการะ. บรรดามนุษย์และอมนุษย์เหล่านั้น นาคทั้งหลายยกฉัตรซ้อนๆ กันขึ้นประมาณโยชน์หนึ่ง. ฉัตรที่ซ้อนๆ กัน อันมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย คือนาคภายใต้ มนุษย์ที่พื้นดิน ภุมมัฏฐกเทวดาที่ต้นไม้ กอไม้ และภูเขาเป็นต้น อากาสัฏฐกเทวดาในกลางหาว ต่างก็ยกขึ้นแล้ว ตั้งต้นแต่นาคภพ ตลอดถึงพรหมโลก โดยรอบจักรวาลด้วยประการฉะนี้.

               ในระหว่างฉัตรมีธงชัย, ในระหว่างธงชัยมีธงแผ่นผ้า, ในระหว่างๆ แห่งธงเหล่านั้นได้มีเครื่องสักการะมีพวงดอกไม้ จุณเครื่องอบ และกระแจะเป็นต้น.

 
               เทพบุตรทั้งหลายประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ถือเพศแห่งคนเล่นมหรสพ ป่าวร้องเที่ยวไปในอากาศ.

                ได้ยินว่า สมาคม ๓ แห่งเท่านั้น คือ "สมาคมในเวลาแสดงยมกปาฏิหาริย์ ๑ สมาคมในเวลาเสด็จลงจากเทวโลก ๑ สมาคมในเวลาลงสู่คงคานี้ ๑" ได้เป็นสมาคมใหญ่.


               พระเจ้าพิมพิสารให้เตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าอีก
               
               ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารทรงตระเตรียมสักการะทวีคูณ จากสักการะอันพวกเจ้าลิจฉวีทำ ได้ทรงยืนแลดูการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ที่ฝั่งโน้น. พระศาสดาทอดพระเนตรการบริจาคใหญ่ของพระราชาทั้งหลายใน ๒ ฝั่งแห่งแม่น้ำคงคา และทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายมีนาคเป็นต้น แล้วทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตพระองค์หนึ่งๆ มีภิกษุองค์ละ ๕๐๐ เป็นบริวารไว้ที่เรือลำหนึ่งๆ. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันหมู่นาคแวดล้อมแล้ว ได้ประทับนั่ง ณ ภายใต้แห่งเศวตฉัตรคันหนึ่งๆ และต้นกัลปพฤกษ์และพวงระเบียบดอกไม้. ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตพระองค์หนึ่งๆ พร้อมทั้งบริวารในโอกาสแห่งหนึ่งๆ แม้ในเทวดาทั้งหลายมีเทวดาชั้นภุมมัฏฐกะเป็นต้น. เมื่อห้องจักรวาลทั้งสิ้นเกิดเป็นประหนึ่งว่ามีมหรสพอันเดียวและมีการเล่น อันเดียว ด้วยประการฉะนี้แล้ว,

               พระศาสดา เมื่อจะทรงทำการอนุเคราะห์แก่นาคทั้งหลาย ได้เสด็จขึ้นสู่เรือแก้วลำหนึ่ง. แม้บรรดาภิกษุทั้งหลายรูปหนึ่งๆ ก็ขึ้นสู่เรือลำหนึ่งๆ เหมือนกัน.

               พระยานาคทั้งหลายนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุขให้เข้าไปสู่นาคภพ ฟังธรรมกถาในสำนักของพระศาสดาตลอดคืนยังรุ่ง ในวันที่ ๒ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยของควรเคี้ยวด้วยของควรบริโภคอันเป็นทิพย์. พระศาสดาทรงทำอนุโมทนาแล้วออกจากนาคภพ อันเทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นบูชาอยู่ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาด้วยเรือ ๕๐๐ ลำแล้ว.

               พระราชาทรงต้อนรับ อัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จลงจากเรือ ทรงทำสักการะทวีคูณ จากสักการะอันเจ้าลิจฉวีทั้งหลายทำในเวลาเสด็จมา นำพระศาสดามาสู่กรุงราชคฤห์ โดย ๕ วัน โดยนัยก่อนนั่นแล.

               พวกภิกษุชม พุทธานุภาพ    
           
               ในวันที่ ๒ พวกภิกษุกลับจากบิณฑบาตแล้ว ในเวลาเย็นนั่งประชุมกันในโรงธรรม สนทนากันว่า "น่าชม! อานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าประหลาดใจ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสในพระศาสดา พระราชาทั้งหลายทรงทำพื้นที่ให้สม่ำเสมอในหนทาง ๘ โยชน์ ทั้งฝั่งนี้ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา เกลี่ยทรายลงลาดดอกไม้มีสีต่างๆ โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่า ด้วยความเลื่อมใสอันเป็นไปแล้วในพระพุทธเจ้า, น้ำในแม่น้ำคงคาก็ดาดาษด้วยดอกปทุม ๕ สี ด้วยอานุภาพนาค, เทวดาทั้งหลายก็ยกฉัตรซ้อนๆ กันขึ้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ, ห้องจักรวาลทั้งสิ้นเกิดเป็นเพียงดังว่ามีเครื่องประดับเป็นอันเดียว และมีมหรสพเป็นอันเดียว."

               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้"

               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เครื่องบูชาและสักการะนี้ มิได้บังเกิดขึ้นแก่เราด้วยพุทธานุภาพ มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพนาคและเทวดาและพรหม แต่ว่าเกิดด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อยในอดีต"


               อันภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว ใคร่จะประกาศเนื้อความนั้น
               จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า :-




               เรื่องสุสิมมาณพ
             
               ในอดีตกาล ในเมืองตักกสิลา ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อสังขะ. เขามีบุตร (คนหนึ่ง) เป็นมาณพชื่อสุสิมะ มีอายุย่างเข้า ๑๖ ปี.

               ในวันหนึ่ง สุสิมมาณพนั้นเข้าไปหาบิดาแล้ว กล่าวว่า "พ่อ ผมปรารถนาจะเข้าไปสู่เมืองพาราณสีท่องมนต์." ลำดับนั้น บิดากล่าวกะเขาว่า "พ่อ ถ้ากระนั้น พราหมณ์ชื่อโน้นเป็นสหายของพ่อ เจ้าจงไปสู่สำนักของสหายนั้น แล้วเรียนเถิด." เขารับคำว่า "ดีละ" แล้วถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ เข้าไปหาพราหมณ์นั้นแล้ว บอกความที่ตนอันบิดาส่งมาแล้ว.

               ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นรับเขาไว้ ด้วยคิดว่า "บุตรสหายของเรา" แล้วเริ่มบอกมนต์กะเขา ผู้มีความกระวนกระวายอันระงับแล้วโดยวันเจริญ๑-

____________________________
๑- คืนวันดี เป็นวันมงคล.

               สุสิมมาณพนั้น เรียนเร็วด้วย เรียนได้มากด้วย ทรงจำมนต์ที่เรียนแล้วๆ ไม่ให้เสื่อมไป ราวกะว่าน้ำมันสีหะอันเขาเทไว้ในภาชนะทองคำ ต่อกาลไม่นานนัก ได้เรียนมนต์ทั้งหมดอันตนพึงเรียนจากปากของอาจารย์ ทำการสาธยายอยู่ ย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางแห่งศิลปที่ตนเรียนแล้วเท่านั้น, (แต่) ไม่เห็นที่สุด. เขาเข้าไปหาอาจารย์แล้ว กล่าวว่า "ผมย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางแห่งศิลปนี้เท่านั้น ย่อมไม่เห็นที่สุด"

               เมื่ออาจารย์กล่าวว่า "พ่อ แม้ฉันก็ไม่เห็น" จึงถามว่า "ข้าแต่อาจารย์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครจะรู้ที่สุด" เมื่ออาจารย์กล่าวว่า "พ่อ ฤษีทั้งหลายเหล่านี้ย่อมอยู่ในป่าอิสิปตนะ ฤษีเหล่านั้นพึงรู้ เจ้าเข้าไปสู่สำนักของท่านแล้วจงถามเถิด"

               จึงเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ถามว่า "ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายย่อมรู้ที่สุดหรือ?"

               ปัจเจก. เออ เราทั้งหลายย่อมรู้
               สุสิมะ. ถ้ากระนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงบอกแก่ข้าพเจ้า.
               ปัจเจก. เราทั้งหลายย่อมไม่บอกแก่คนไม่ใช่บรรพชิต ถ้าท่านมีประสงค์ด้วยที่สุด จงบวชเถิด.

               สุสิมมาณพนั้นรับว่า "ดีละ" แล้วบวชในสำนักพระปัจเจกพุทธะเหล่านั้น.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้นกล่าวแก่ท่านว่า "เธอจงศึกษาข้อนี้ก่อน" แล้วบอกอภิสมาจาริกวัตร โดยนัยเป็นต้นว่า "ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้."

               ท่านศึกษาอยู่ในอภิสมาจาริกวัตรนั้น เพราะความที่ตนมีอุปนิสัยสมบูรณ์ ต่อกาลไม่นานนักก็ตรัสรู้ปัจเจกสัมโพธิ ปรากฏในเมืองพาราณสีทั้งสิ้น เป็นราวกะว่าพระจันทร์เต็มดวงปรากฏอยู่ ในท้องฟ้า ได้เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ.

               ท่านได้ปรินิพพานต่อกาลไม่นานเลย เพราะความที่แห่งกรรมซึ่งอำนวยผลให้เป็นผู้มีอายุน้อยอันตนทำแล้ว.

               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายและมหาชน (ช่วยกัน) ทำสรีรกิจของท่านแล้ว ถือเอาธาตุประดิษฐานพระสถูปไว้ใกล้ประตูพระนคร.

               ฝ่ายสังขพราหมณ์ คิดว่า "บุตรของเราไปนานแล้ว เราจักรู้ความเป็นไปของเขา" ปรารถนาจะเห็นบุตรนั้น จึงออกจากเมืองตักกสิลา ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ เห็นหมู่มหาชนประชุมกันแล้ว คิดว่า "ในชนเหล่านี้ แม้คนหนึ่งจักรู้ความเป็นไปแห่งบุตรของเราเป็นแน่."

               จึงเข้าไปหาแล้ว ถามว่า "มาณพชื่อสุสิมะมาในที่นี้ ท่านทั้งหลายทราบข่าวคราวของเขาบ้างหรือหนอ?"

               มหาชนตอบว่า "เออ พราหมณ์ เรารู้ สุสิมมาณพนั้นสาธยายไตรเพท ในสำนักของพราหมณ์ชื่อโน้น บวชแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิปัญญา ปรินิพพานแล้ว นี้สถูปของท่านอันเราทั้งหลายให้ตั้งเฉพาะแล้ว."

               สังขพราหมณ์นั้นประหารพื้นดินด้วยมือ ร้องไห้คร่ำครวญแล้ว ไปยังลานพระเจดีย์ ถอนหญ้าขึ้นแล้ว เอาผ้าห่มนำทรายมา เกลี่ยลงที่ลานพระเจดีย์ ประพรมด้วยน้ำในลักจั่น ทำบูชาด้วยดอกไม้ป่า ยกธงแผ่นผ้าด้วยผ้าสาฎก ผูกฉัตรของตนในเบื้องบนแห่งพระสถูป แล้วก็หลีกไป.

               อานิสงส์ แห่งการบริจาคสุขพอประมาณ               
               พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้วตรัสว่า
               "ภิกษุทั้งหลาย ในกาลนั้นเราได้เป็นสังขพราหมณ์ เราได้ถอนหญ้าในลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธะชื่อสุสิมะ ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงทำหนทาง ๘ โยชน์ให้ปราศจากตอและหนามทำให้สะอาด มีพื้นสม่ำเสมอ,

               เราได้เกลี่ยทรายลงในลานพระเจดีย์นั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงเกลี่ยทรายลงในหนทาง ๘ โยชน์แล้ว

               เราทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่าที่พระสถูปนั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงโปรยดอกไม้สีต่างๆ ลงในหนทาง ๘ โยชน์, น้ำในคงคาในที่ประมาณโยชน์หนึ่งจึงดาดาษไปด้วยดอกปทุม ๕ สี,

               เราได้ประพรมพื้นที่ในลานพระเจดีย์นั้น ด้วยน้ำในลักจั่น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงในเมืองไพศาลี

               เราได้ยกธงแผ่นผ้าขึ้นและผูกฉัตรไว้บนพระเจดีย์นั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ห้องจักรวาลทั้งสิ้น จึงเป็นราวกะว่ามีมหรสพเป็นอันเดียวกัน ด้วยธงชัย ธงแผ่นผ้า และฉัตรซ้อนๆ กัน เป็นต้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ.


               ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุดังนี้แล บูชาสักการะนั่นเกิดขึ้นแก่เรา ด้วยพุทธานุภาพก็หาไม่ เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งนาคเทวดาและพรหมก็หาไม่ แต่ว่า เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อย ในอดีตกาล" ดังนี้แล้ว

               เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

                ๑.    มตฺตาสุขปริจฺจาคา       ปสฺ เส เจ วิปุลํ สุขํ
                            จเช มตฺตาสุขํ ธีโร       สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ.
                            ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณเสีย,
                            ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ก็พึงสละสุขพอประมาณเสีย

                            (จึงจะได้พบสุขอันไพบูลย์).

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มตฺตาสุขปริจฺจาคา ความว่า เพราะสละสุขเล็กน้อยพอประมาณ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "มตฺ ตาสุขํ." สุขอันโอฬาร ได้แก่สุขคือพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุขอันไพบูลย์ ความว่า ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์นั้น.

               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               ก็ชื่อว่าสุขพอประมาณ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ให้จัดแจงถาดโภชนะถาดหนึ่ง แล้วบริโภคอยู่, ส่วนชื่อว่านิพพานสุข อันไพบูลย์ คืออันโอฬาร ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้สละสุขพอประมาณนั้นเสียแล้ว ทำอุโบสถอยู่บ้าง ให้ทานอยู่บ้าง เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณนั้นเสีย อย่างนั้น, เมื่อเช่นนั้น บัณฑิตเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์นั่นโดยชอบ ก็พึงสละสุขพอประมาณนั้นเสีย.

               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ จบ. 

             
อ้างอิง  อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑
ที่มา   http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=31&p=1


22227  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / ความลึกของฌาน เมื่อ: มีนาคม 19, 2010, 10:07:27 pm


ขอให้ทุกท่านเลือกหยั่งกันตามจริตนะครับ
22228  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / เมื่อสิ้น ๕,๐๐๐ ปี จะมี “พุทธันดร” ขึ้นมาแทรก เมื่อ: มีนาคม 18, 2010, 07:50:27 pm

เมื่อสิ้น ๕,๐๐๐ ปี จะมี “พุทธันดร” ขึ้นมาแทรก

คัดลอกจากหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม" ฉบับพิเศษเล่ม ๒
หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
จาก ป้าตุ๊กตา ๑๔ ก.ค. ๒๕๔๙


ผู้ถาม
"กระผมได้ยินมาว่าเมื่อครบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว ก็จะมีศาสนาของ พระศรีอาริยเมตไตรย สืบต่อจากศาสนานี้ใช่ไหมครับ"

หลวงพ่อ "หมายความว่า เมื่อสิ้นศาสนา ๕,๐๐๐ ปีแล้วใช่ไหม แล้วพระศรีอาริยเมตไตรยจึงมาตรัส

ผู้ถาม
"ใช่ครับ"

หลวงพ่อ "ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นนะคุณ ถ้าศาสนานี้ครบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว พระศรีอาริยเมตไตรยยังไม่มาตรัส จะต้องว่างจากพระพุทธศาสนาไปหนึ่งพุทธันดรก่อน แต่ว่าในช่วงที่ว่างพระพุทธเจ้านี่ก็จะมี พระปัจเจกพุทธเจ้า ขึ้นมาแทน

สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ต่ำกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้วก็ทรงสอนคนตั้งแต่อันดับต้นให้รู้จักการให้ทาน ให้รู้จักการรักศีล ให้รู้จักการเจริญภาวนาให้รู้จักการครองเรือนให้อยู่เป็นสุข และให้รู้จักการปฏิบัติตนให้เข้าถึงกามาวจรสวรรค์ ให้เข้าพรหมโลก ให้เข้าถึงพระนิพพาน

สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เช่นนั้น ท่านตรัสแล้วท่านก็เฉยๆ หากว่าจะสงเคราะห์กันก็สงเคราะห์ในขั้นต้น คือ ทานกับศีล ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า ทีนี้เมื่อเวลากาลล่วงไปหนึ่งพุทธันดร อาตมาตอบไม่ได้นะว่ากี่ปี ถ้าจะให้รู้กันจริงๆ คุณก็จงอย่าตายนะ อยู่ไปจนกว่าพระศรีอาริย์จะมา อยู่ไหวไหมล่ะ...?

 
ผู้ถาม : "ผมอยากจะถามว่า พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่าอะไรครับ...? "

หลวงพ่อ
"พระกกุสันโธ เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกสำหรับกัปนี้ แต่องค์แรกจริงๆ ไม่ใช่องค์นี้ ที่เราเรียกว่า องค์ปฐม องค์ปฐมน่ะท่านเป็นพระพุทธเจ้าองค์แรก เคยถามท่านว่าใช้เวลาถอยหลังไปเท่าไร ท่านบอกว่า ให้ตั้งเลข ๕ ขึ้นมา แล้วเอาศูนย์ใส่ไป ๕๐ ตัว ได้เท่าไรบอกฉันด้วย นับเป็นอสงไขยกัปนะ ไม่ใช่นับเป็นกัปเฉยๆ อสงไขยของกัป

ถ้าจะถามว่ามากเกินไปไหม ก็ต้องตอบว่าไม่มากหรอก เราต้องดูซิว่า พระพุทธเจ้าขั้นปัญญาธิกะ ต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป
ถ้าศรัทธาธิกะ ต้องใช้เวลา บำเพ็ญบารมีถึง ๘ อสงไขยแสนกัป
ถ้าวิริยาธิกะ ต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมี ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป ไม่เท่ากัน
ทีนี้กัปหนึ่งมีพระพุทธเจ้ากี่องค์

สำหรับสูญญากัป อันตรายกัปนี่ไม่มีพระพุทธเจ้า มีแต่พระปัจเจกพุทธเจ้า อันตรายกัปนี่เป็นกัปที่มีอันตรายมาก รบราฆ่าฟันกันเป็นประจำ มันมีแต่พวกมาจากอบายภูมิมาเกิด อันนี้เป็นเรื่องจริง บางกัปก็มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว บางกัปมี ๒ องค์ ๕ องค์ ยังไม่เคยเจอ แต่กัปนี้มีถึง ๑๐ องค์นะ ฉะนั้นคนที่เกิดในกัปนี้เฮงที่สุด แล้วก็ซวยที่สุด"

ผู้ถาม "เป็นยังไงครับ....?"

หลวงพ่อ..."เฮงที่สุดก็คือ เกิดมาแล้วตั้งใจทำความดี ตายไปเป็นเทวดาหรือพรหม เมื่อเป็นเทวดาหรือพรหมแล้วพระพุทธเจ้าไปเทศน์ครั้งเดียวก็เป็นพระโสดาบัน
ไอ้ซวยที่สุดก็คือ เกิดมาชาตินี้ไม่ทำความดี ตายไปก็ลงนรกลงนรกแล้วพระพุทธเจ้าอีก ๖ องค์มาตรัส นึกว่าจะเกิดมาได้พบ ไม่มีทาง อีก ๓๐ องค์ก็ยังไม่ได้พบ"


ผู้ถาม (หัวเราะ) "ไม่ไหวครับ"

หลวงพ่อ.. "เป็นอันว่าเมื่อครบหนึ่งพุทธันดรแล้ว พระศรีอาริยเมตตรัยมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ในกัปนี้ แต่ว่าสำหรับกัปนี้ไม่ได้มีพระพุทธเจ้าเพียง ๕ พระองค์ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า หลังจากพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าต่อไปอีก ๕ พระองค์ คือ ในกัปนี้ทรงพระพุทธเจ้าได้ ๑๐ พระองค์

ศาสนาพระศรีอาริย์ ท่านว่าศาสนาของท่านนั้นมีผลดังนี้

๑. คนสวยทุกคน มีผิวเหลือง เนื้อละเอียด คนแก่ที่สุดมีทรวดทรงเท่ากับคนอายุประมาณ ๒๐ ปีเศษ ของสมัยนี้เท่านั้นเอง อายุคนสมัยนั้นท่านว่า มีอายุถึง ๔ หมื่นปีเป็นอายุขัย

๒. สมัยของท่าน ไม่มีคนจน มีแต่คนรวย มีต้นไม้สารพัดนึกอยู่ในที่ทุกสถาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่มีจิตใจชั่วร้ายยังไม่มีโอกาสเกิดในสมัยของพระองค์ ท่านที่จะไปเกิดนั้น ต้องเป็นเทวดาหรือพรหมเท่านั้น โลกจึงมีแต่ความสุข ไม่มีตำรวจทหารมีแต่พ่อบ้านแม่เรือน

๓. การสัญจรไปมาก็สะดวกสบาย ไปทางไหนก็พายตามน้ำ

๔. คนเข้าถึงธรรมทุกคน ท่านว่าคนที่เจริญสมถะพอมีญาณ หรือมีวิปัสสนาญาณบ้าง พอสมควร จะเข้าถึงธรรมาพิสมัยได้โดยฉับพลัน คือเป็นพระอริยะเจ้า คนที่ได้อริยะต้นแล้ว จะเข้าถึงอรหัตผลได้โดยฉับพลัน คนที่ทำบุญไว้น้อย คือฟังคาถาพัน และปฏิบัติตามแต่ไม่สมบูรณ์ อย่างต่ำก็เข้าถึงไตรสรณคมน์ อย่างสูงก็ได้อริยะ ที่เป็นอย่างนี้ เป็นเพราะว่าท่านบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป ท่านบำเพ็ญบารมีมาก คนเลวจึงเข้าแทรกแซงในศาสนาของพระองค์ไม่ได้ น่าเกิดจริงนะ


ผู้ถาม "โอโฮ้....ทีนี้ผลต่างกันไหมครับ ที่ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีไม่เท่ากัน....?"

หลวงพ่อ... "ผลมันต่างกันแน่ อย่างพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้บำเพ็ญมีขั้น "ปัญญาธิกะ" จะเห็นว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ละ มีการรบราฆ่าฟันกัน มีคนจน มีคนรวย

ถ้า "ศรัทธาธิกะ" ละก็คนจนไม่มี มีแต่คนรวย เพราะพระพุทธเจ้าท่านมีบารมีมาก
ส่วน "วิริยาธิกะ" ละก็เพียบพร้อมไปทุกอย่าง สมัยโน้นจะหาคำว่าลำบากสักนิดไม่มี ความป่วยไข้ไม่สบายเกือบหาไม่ได้ ที่ท่านต้องบำเพ็ญบารมีมาก ก็เพื่อสั่งสมความดีให้มาก แล้วก็คนที่ไปเกิดในสมัยนั้นก็ต้องเป็นคนที่ต้องบำเพ็ญบารมีตามกันไป

พระพุทธเจ้าแต่ละองค์มิใช่จะโปรดคนได้หมด ต้องโปรดคนได้เฉพาะคนที่บำเพ็ญบารมีร่วมกันมาแต่ละชาติที่เกิดร่วมกันมา เป็นพวกเป็นพ้อง ทำอะไรก็ทำด้วยกัน เวลาทำบาปก็ทำด้วยกัน ไปสวรรค์ก็ไปด้วยกัน ไปนรกก็ไปด้วยกัน

หลวงพ่อลาพุทธภูมิแล้วจะไปนิพพาน ลูกหลานจะอยู่หรือจะไปด้วยล่ะ?

จาก ป้าตุ๊กตา [๑๔ ก.ค. ๒๕๔๙ 7:53:04]

--------------------------------------

หนูจะไปกับหลวงพ่อค่ะ

จาก ตั๊กแตน [๑๗ ก.ค. ๒๕๔๙ 9:53:50]


สาธุ สาธุ ขอบคุณป้าตุ๊กตาครับ ที่นำเรื่องนี้มาเล่าต่อ เป็นประโยชน์มาก
และอนุโมทนา กับคุณตั๊กแตน แต่ทว่า หลวงพ่อท่านล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
ไปพร้อมท่านคงไม่ได้ ตามท่านไปทีหลังคงจะได้นะ อวยพรให้ทำได้ครับ

จาก อธิสมัย [๑๘ ก.ค. ๒๕๔๙ 8:35:31]

-------------------------------------- 

พุทธันดร
คือ ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนา คือช่วงเวลาที่ศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสูญสิ้นแล้ว และพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ยังไม่อุบัติ

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ท่านผู้ตรัสรู้เองจำเพาะผู้เดียว

ปัจเจกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าประเภทหนึ่งซึ่งตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้สั่งสอนผู้อื่น


อ้างอิง    พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (ป.อ.ปยุตโต)
-------------------------------------- 
ที่มา  www.watthasung.com

22229  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / ฝึกพลังจิต "บังคับเคราะห์กรรม" เมื่อ: มีนาคม 18, 2010, 06:35:22 pm

ฝึกพลังจิตบังคับเคราะห์กรรม


จิตตานุภาพ
โดยท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส

จิตตานุภาพ คืออานุภาพของจิต แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

• จิตตานุภาพบังคับตนเอง
• จิตตานุภาพบังคับผู้อื่น
• จิตตานุภาพบังคับเคราะห์กรรม


จิตตานุภาพบังคับตนเอง

 
“ ตนของตนย่อมเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ” เหตุนี้จึงต้องหัดบังคับตนเอง ผู้อื่นถึงจะเป็นศัตรูก็ไม่เท่าตนเป็นศัตรูต่อตนของตนเอง ถ้ายังไม่สามารถบังคับตนของตนเองให้ดีได้แล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจะบังคับผู้อื่นให้ดีได้


จิตตานุภาพบังคับตนเองมี ๗ ประการ

• บังคับความหลับและความตื่น
การหัดนอนให้หลับสนิทเป็นกำลังสำคัญยิ่งนัก เหตุที่ทำให้นอนไม่หลับมี ๒ ประการ คือ

๑.๑ ร่างกายไม่สบายพอ
อาหารที่ย่อยยากก็เป็นเหตุให้ร่างกายไม่สบายพอ ควรนอนตะแคงข้างขวา ถ้านอนหงายก็ควรให้เอียงขวานิดหน่อย ถ้าต้องการพลิกก็ควรพลิกจากขวานิดหน่อย แล้วกลับตะแคงขวาตามเดิม นอนย่อมให้อวัยวะทุกส่วนพักผ่อน อย่าให้เกร็งตึงและไม่ควรตะแคงซ้าย

๑.๒ ความคิดฟุ้งซ่าน
เวลานอนถ้าจิตฟุ้งซ่าน ควรคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่อย่างเดียว ครั้นแล้วก็เลิกละไม่คิดสิ่งนั้น และไม่คิดอะไรอื่นต่อไปอีก กระทำใจให้หมดจดเหมือนน้ำที่ใสสะอาด ควรบังคับตัวให้ตื่นตรงตามเวลาที่ต้องการ ก่อนนอนต้องคิดให้แน่แน่ว สั่งตนเองให้ตื่นเวลาเท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็จะตื่นได้เองตามความประสงค์

• ทำความคิดให้ปลอดโปร่ง ว่องไว ในเวลาตื่นขึ้น อย่าให้เซื่องซึม
“ ต้องเอาความคิดในเวลาตื่นเช้า ไปประสานติดต่อกับความคิดที่เราทิ้งไว้เมื่อวันวานก่อนที่จะนอนหลับ ” ก่อนนอนควรจดบันทึกกิจการที่เราจะต้องทำในวันรุ่งขึ้นนั้นไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่งเสมอ พอตื่นขึ้นมาก็หยิบดูเพื่อปลุกความคิดให้ตื่น

• เปลี่ยนความคิดได้ตามต้องการ คือเมื่อต้องการคิดอย่างใดก็ให้คิดได้อย่างนั้น ทิ้งความคิดอื่น ๆ หมด และเมื่อไม่ต้องการคิดอีกต่อไป จะคิดเรื่องอื่นก็ให้เปลี่ยนได้ทันที และทิ้งเรื่องเก่าโดยไม่เอาเข้ามาพัวพัน คือทำใจให้เป็นสมาธิอยู่ที่กิจเฉพาะหน้า การเปลี่ยนความคิดเป็นเหตุให้ห้องสมองมีเวลาพักชั่วคราว ทำให้สมองมีกำลังแข็งแรงขึ้น

• สงบใจได้แม้เมื่อตกอยู่ในอันตราย หรือประสบทุกข์ อย่าให้เสียใจหมดสติสะดุ้ง ดิ้นรนจนสิ้นปัญญาแก้ไข เกิดความท้อถอยไม่ทำอะไรต่อไป ความสงบไม่ตื่นเต้นเป็นเหตุให้เกิดปัญญาประกอบกิจให้สำเร็จได้สมหวัง เราจะแก้ไขเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแก่เราได้นั้นก็มีทางจะทำอยู่ ๒ ขั้น
๔.๑ ต้องสงบใจมิให้ตื่นเต้น
๔.๒ ต้องมีความมานะพยายาม


วิธีสงบใจที่ดีที่สุด หายใจยาวและลึก

• เปลี่ยนนิสัยความเคยชินของตัวจากร้ายเข้ามาหาดี การขืนใจตัวเองชั่วขณะหนึ่งอาจเป็นผลดีแก่ตัวเองตลอดชีวิต แต่การทำตามใจตัวขณะเดียวก็อาจเป็นผลถึงการทำลายชีวิตของเราได้เหมือนกัน

• ตรวจตราตัวของตัวเป็นครั้งคราวโดยสม่ำเสมอ ให้ทราบว่ากำลังใจมั่นคงขึ้นหรือไม่ ฝ่ายกุศลเจริญขึ้นหรือไม่ ฝ่ายอกุศลลดน้อยเบาบางหมดสิ้นไปหรือไม่ ใจยังสะดุ้งดิ้นรนหวั่นไหวอยู่หรือไม่

• ป้องกันรักษาตัวด้วยจิตตานุภาพ การสะดุ้งตกใจหรือเสียใจ ความกลัว เป็นเหตุให้เกิดโรคและโรคกำเริบ และเป็นเหตุให้คนดี ๆ ตายได้ คนไข้ถ้าใจดีหายเร็ว ความไม่กลัวตายรอดอันตรายได้มากกว่ากลัวตาย ความพยายามและอดทนเป็นเหตุให้สำเร็จสมประสงค์



จิตตานุภาพบังคับผู้อื่น


จิตตานุภาพอย่างอ่อน สามารถใช้สายตา น้ำเสียงและด้วยกระแสจิตประกอบคำพูด ซึ่งจะเป็นเครื่องจูงใจคนให้เชื่อฟัง ลักษณะไม่หวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อใคร ๆ นั้นไม่ใช่ชีวิตหัวดื้อบึกบึนซึ่งไม่นับว่าเป็นจิตตานุภาพ ต้องเป็นคนสุภาพสงบเสงี่ยม เคารพนบนอบต่อบุคคลที่ควรเคารพ แต่ทว่าหัวใจของคนชนิดนั้นไม่หวาดหวั่นเกรงกลัวใคร และสามารถแสดงให้เห็นว่าตัวเป็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่ในโลก และเป็นมนุษย์ที่รู้จักคิด รู้จักพูด รู้จักทำ คนที่สามารถเป็นนายตนเอง ไม่ตกเป็นทาสของหัวใจคนอื่น และสามารถดึงดูดหัวใจคนเข้ามาเชื่อฟังเกรงกลัวนั้น ถ้าสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่ามีลักษณะ ๔ ประการ

• สายตาแข็ง มีอำนาจในตัว
• เสียงชัดแจ่มใส
• ท่าทางสงบเสงี่ยมและเป็นสง่า
• รู้จักวิธีชักจูงหัวใจคนให้หันมาเข้าในคลองความคิดของตัว


พยายามอ่านหนังสือหน้าหนึ่งโดยไม่กะพริบตาเลยทำให้สายตาแข็งได้ อ่านหนังสืออย่างช้า ๆ ให้ชัดถ้อยคำทุก ๆ ตัวและให้ได้ระยะเสมอกันทำให้เสียงชัดแจ่มใสเวลาพูด พยายามพูดให้เป็นจังหวะอย่าให้ช้าบ้างเร็วบ้างและให้ชัดถ้อยคำเสมอ ไม่ให้อ้อมแอ้มหรือกลืนคำเสียครึ่งหนึ่ง เป็นการฝึกหัดให้เสียงชัดเจนแจ่มใส

บุคคลที่มีสง่า คือคนที่บังคับร่างกายให้อยู่ในอำนาจหัวใจได้เสมอ มีท่าทางสงบเสงี่ยมเป็นสง่าไม่แสดงอาการโกรธ เกลียด กลัว รัก ขมขื่น ตกใจ สะดุ้ง เศร้าโศก ให้ปรากฏ ไม่ทำอิริยาบถเคลื่อนไหวอันใดโดยไม่จำเป็น และโดยบอกความกำกับของใจ มีหน้าตาแจ่มใส อิริยาบถสงบเสงี่ยมเป็นสง่าอยู่ทุกขณะ การเคลื่อนไหวทุกอย่างทำด้วยความหนักแน่นมั่นคง อย่าให้รวดเร็วจนเป็นการหลุกหลิก หรือผึ่งผายจนเป็นการเย่อหยิ่ง หรืออ่อนเปียกจนเป็นการเกียจคร้าน ในเวลายืนให้น้ำหนักตัวถ่วงอยู่ทั่วตัวเสมอ ไม่ให้ถ่วงแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง รู้จักใช้วิธีชักจูงหัวใจคนให้หันเข้ามาในคลองความคิดของเรา

• หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดมีสิ่งที่จะชักจูงให้เขาละทิ้งข้อแนะนำของเรา
• จูงใจเขาให้หันเข้ามาในทางที่เราต้องการทุกที


วิธีป้องกันตัวไม่ให้จิตตานุภาพของผู้อื่นบังคับเราได้

ให้ทำมโนคติให้เห็นประหนึ่งว่า กระแสดวงจิตของเราแผ่ซ่านป้องกันอยู่รอบตัวเรา จิตตานุภาพของผู้อื่นไม่สามารถจะเข้าถึงตัวเราได้ ให้ทำเวลาเข้านอนครั้งหนึ่ง และขณะที่อยู่ใกล้บุคคลที่เราระแวงว่าเขาจะใช้จิตตานุภาพบังคับเรา

จิตตานุภาพบังคับเคราะห์กรรม

เครื่องมือที่จะชักนำเอาเคราะห์ดีเข้ามา คือ ความพยายามเข้มแข็งไม่ท้อถอยหนักแน่นระมัดระวัง เชื่อแน่ในความพากเพียรบากบั่นของตัว มักจะเป็นคนเคราะห์ดีอยู่เสมอ และมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกคือ ความมุ่งหมายและอย่าให้นึกถึงเคราะห์ร้าย ตั้งความมุ่งหมายถึงผลอันใดในชีวิตไว้เท่านั้น เพื่อให้ก้าวหน้ามุ่งตรงไปจนบรรลุสมประสงค์

ความมุ่งหมายจำต้องให้สูงไว้เสมอ เพื่อจะได้มีความพยายามอย่างสูงด้วย แต่การก้าวไปสู่ที่มุ่งหมายนั้น ต้องก้าวอย่างระมัดระวังไม่ก้าวให้ผิด “ ควรมีความปรารถนาให้สูงอยู่เสมอ แต่จะต้องระมัดระวังมิให้เดินพลาด ”

การไม่ยอมแพ้เคราะห์ร้าย เป็นเหตุให้เคราะห์ร้ายพ่ายแพ้เองเมื่อประสบเคราะห์

• จะต้องไม่ให้ใจเสีย เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของตัว รวบรวมกำลังให้พรั่งพร้อม
• ตั้งความมุ่งหมายให้ดีและตกลงแน่ว่าจะมุ่งไปทางไหน
• ใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น กุมสติให้มั่น อย่างไรก็ดีจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ทำการต่อสู้ดังกล่าวแล้วนั้นไม่ได้เป็นอันขาด


การต่อสู้กับเคราะห์


• จะต้องสงบใจ ไม่ตื่นเต้น ไว้ใจตัวและเชื่อแน่ว่า เรามีจิตตานุภาพเป็นเครื่องมือรวมกำลังสติปัญญาของเราให้พรั่งพร้อม เช่นเดียวกับนายเรือที่ไม่รู้จักเสียใจ รวบรวมกำลังเรือและกำลังคนให้บริบูรณ์

• ต้องยึดที่หมายให้แน่น กล่าวคือระลึกถึงผลที่เราต้องการบรรลุนั้นให้แน่วแน่ยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนนายเรือที่ตั้งเข็มทิศให้ตรง และให้รู้แน่ว่าจะต้องการให้เรือบ่ายเบี่ยงไปทางไหน

• ใช้ความระมัดระวังให้มากยิ่งกว่าเมื่อก่อนจะเกิดเหตุร้ายอีกหลายเท่า และความวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทำทางปฏิบัติของเราเหมือนอย่างหางเสือเรือ ที่จะช่วยให้เรือบ่ายเบี่ยงไปทางทิศที่ต้องการจะไป

• ไม่สามารถจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็อย่าถอยหลัง ให้หยุดอยู่กับที่

• ให้รู้สึกว่าเคราะห์นั้นทำให้เราดีขึ้น เป็นครูของเรา เป็นผู้เตือนเรา เป็นผู้ลวงใจเรา อย่าเห็นว่าเคราะห์กรรมเป็นของเลว ไม่น่าปรารถนา ควรคิดว่าเป็นของดีที่ทำให้เราเข้มแข็งมั่นคงขึ้น ให้รู้สึกเสมอว่าเราเกิดมาเรียนทั้งเคราะห์ร้ายและเคราะห์ดี เคราะห์เป็นบทเรียนของเรา ที่จะทำให้เราแจ้งโลกแล้วจะได้พ้นโลก ดังนี้ จะไม่รู้จักเคราะห์ร้ายเลยในชีวิต



ที่มา http://www.kanlayanatam.com/sara/sara61.htm


22230  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / ความประมาท ของคนนั่งสมาธิ 11 ประการ เมื่อ: มีนาคม 18, 2010, 06:02:35 pm

ความประมาท ของคนนั่งสมาธิ 11 ประการ


หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ตลอด 45 พรรษาแล้ว
ทรงเปล่งปัจฉิมวาจาก่อนดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา ว่า "ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"
(มหาปรินิพพานสูตร ฑี.ม. 10/143/180) ความหมาย "ความไม่ประมาท"
คือการที่สติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใดๆ จะไม่ยอมถลำ
สู่ทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสในการสร้างความดี.

การเจริญภาวนา เป็นเหตุให้เกิดการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า หากไม่ประกอบเหตุ
คือการเจริญภาวนา ผลคือการตรัสรู้ธรรม ย่อมไม่มี ดังนั้นการเจริญภาวนา หรือพูดสั้นๆ
ว่าการนั่งสมาธิ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หวังความสุขความหลุดพ้นเป็นอย่างยิ่ง
ผู้ไม่นั่งสมาธิ ได้ชื่อว่าประมาทที่สุด เพราะหากไม่เข้าถึงกายธรรมอรหันต์
เป็นพระอรหันต์ ก็ตกเป็นบ่าวเป็นทาสกิเลสตลอดไป ผู้ไม่นั่งสมาธิได้ชื่อว่าประมาท
ขอยกไว้แม้ผู้นั่งสมาธิแล้วก็ยังได้ชื่อว่าประมาทอยู่หากมีลักษณะ 11 ประการ ดังนี้


 

1. ไม่ทำกิจโดยเคารพ คือนั่งสมาธิไปอย่างนั้นๆ ไม่ศึกษาว่าทำถูกต้อง ถูกวิธีหรือไม่
ทำผิดก็คิดว่าทำถูก ทำน้อยก็คิดว่าทำมาก จึงได้รับผลไม่เต็มที

2. ไม่ทำติดต่อกัน คือนั่งสมาธิแบบเดี๋ยวจริงเดี๋ยวหย่อน เหมือนธารน้ำที่ไม่เชื่อมต่อกัน
ก็กลายเป็นร่องน้ำเป็นหย่อมๆ ไป

3. ทำๆ หยุดๆ คือนั่งสมาธิไปช่วง เลิกนั่งไปอีกช่วงเหมือนกระแตที่วิ่งๆ หยุดๆ
แม้ช่วงที่ได้นั่งสมาธิจะได้ผลอย่างดี แต่หากทำๆ หยุดๆ แล้วก็ ยากที่จะเอาดีได้
เหมือนนักกีฬาที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูง หากซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้าง ก็ยากที่จะก้าว
ไปสู่ความเป็นเลิศได้

4. ทำอย่างท้อถอย คือนั่งสมาธิเหมือนคนซังกะตายเหมือนลูกจ้างที่ทำงานไม่เต็มแรง

5. ทอดฉันทะ คือทำแบบเลื่อนลอย ทำแบบหมดรัก
"ความรัก" จะก่อให้เกิดพลังอย่างน่าอัศจรรย์

6. ทอดธุระ อาการหนักกว่า ทอดฉันทะอีก คือไม่สนใจทำแล้ว

7. ไม่ติด คือทอดธุระแล้วก็ชะล่าใจ ชักนั่งสมาธิไม่ติดแล้ว ผุดลุกผุดนั่ง

8. ไม่คุ้น คือพอทิ้งไปมากเข้าบ่อยเข้า ครั้นมานั่งสมาธิอีก ก็เหมือนมาเริ่มต้นใหม่
เหมือนไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน รู้สึกอึดอัดขัดข้องไปหมดก็ต้อง อดทน...อดทน...
แล้วก็ อดทน ก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ เอง ไม่ควรท้อถอย หรือหมดกำลังใจ

9. ไม่ทำจริงๆ จังๆ คือทำแบบเช้าชาม เย็นชาม ทำพอได้ชื่อว่าทำ

10. ไม่ตั้งใจทำ คือทำแบบถูกบังคับให้นั่ง ทำแบบให้คิดจะเอาดี อันที่จริง
จะตั้งใจนั่งสมาธิกับไม่ตั้งใจช่วงเวลานั้นก็ใช้เวลาเท่ากัน ไหนๆ จะต้องเสียเวลาแล้ว
ก็น่าจะทำให้ดีที่สุด

11. ไม่หมั่นประกอบ คือนานๆ ทำที ทำที่ก็ทำแต่น้อย เช่นนั่งสมาธิปีละ3 ครั้ง
ครั้งละ 10 นาทีเป็นต้น พระพุทธองค์ท่านทรงสอนให้เราสันโดษในปัจจัย 4
แต่ไม่ใช่สันโดษในการสร้างความดี ความดีเป็นสิ่งที่ต้องสร้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เหมือนทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ บัณฑิตไม่อิ่มด้วยความดี โดยเฉพาะความดีที่เกิดจากการ
นั่งสมาธิเจริญภาวนา

ความประมาททั้ง 11 ประการนี้ จะค่อยๆ บั่นทอนความดี จากการนั่งสมาธิไปเรื่อยๆ
จนเราหมดกำลังใจที่จะทำต่อไป ดังนั้นจึงควรเร่งตรวจสอบตนเองและหมั่นฝึกใจ
ให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเรื่อยไป จนกว่าจะเข้าถึงพระนิพพาน

ความไม่ประมาทแบบย่อ ความไม่ประมาทคำเดียวแต่ได้ย่อพระไตรปิฏกทั้งหมดลง
คำๆ นี้อุปมาเหมือนรอยเท้าสัตว์ทุกรอย สามารถบรรจุในรอยเท้าช้างได้
พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้สรุปเรื่องความไม่ประมาทอย่างง่ายๆ ว่า
"ท่านทั้งหลายจงรีบฝึกฝนอบรมตนให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ อย่าประมาทในชีวิต
"ประมาท" หมายถึง เอาใจออกห่างศูนย์กลางกายใจออกจากศูนย์กลางกายได้ชื่อว่า
ประมาทแล้ว การเข้าถึงะรรมกายก็จะยืดออกไป ทำให้สิ่งที่เราจะเรียนรู้อะไรต่างๆ
อีกมากมายหมดสิ้นไป... ให้ตรึกระลึกถึงศูนย์กลางกายตั้งแต่ตื่นจนกระทั้งหลับ
วางใจให้ถูกส่วนให้ละเอียดอ่อน ให้จริงจังจริงใจ และสม่ำเสมอทุกวัน ความสม่ำเสมอ
เป็นหัวใจแห่งการปฎิบัติธรรม ไม่ว่าจะเซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้ม เจ็บไข้ อย่างไรก็ตาม
ทันทีที่เราปิดตาจรดศูนย์กลางกายก็เป็นการกำชัยชนะล้านเปอร์เซนต์แล้ว"
ชีวิตปลา รักน้ำ ขวนขวายที่จะอยู่กับน้ำ และขาดน้ำไม่ได้ฉันใด ชีวิตเราก็ต้องรัก
ศูนย์กลางกาย ขวนขวายที่จะอยู่กับศูนย์กลางกายและขาดศูนย์กลางกายไม่ได้ฉันนั้น

Ref: วารสารกัลฯ ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2540
จากยอดดอย โดยทันต์จิตต์
ที่มา  เว็บพลังจิต

22231  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / มงคลสูงสุด "มงคล ๓๘ ประการ" เมื่อ: มีนาคม 17, 2010, 01:22:29 pm
มงคลสูตรในขุททกปาฐะ


             [๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไป
เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น
แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

             [๖] เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากัน
คิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล


             พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า
                          การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควร
                          บูชา ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑

                          ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำแล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้
                          ชอบ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล พาหุสัจจะ ๑ ศิลป ๑ วินัยที่
                          ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาสิต ๑ นี้เป็นอุดมมงคล การบำรุง
                          มารดาบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่
                          อากูล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑

                          การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
                          การงดการเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑
                          ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
                          ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑

                          ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑  นี้เป็นอุดมมงคล
                          ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะ
                          ทั้งหลาย ๑ การสนทนาธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล
                          ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑

                          การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑ นี้เป็นอุดมมงคล จิตของผู้ใดอัน
                          โลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ๑ ไม่เศร้า-
                          โศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑

           
                          นี้เป็นอุดมมงคล เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว
                          เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
                          นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ
                          จบมงคลสูตร


อ้างอิง 
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  บรรทัดที่ ๔๑ - ๗๒.  หน้าที่  ๓ - ๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=41&Z=72&pagebreak=0

-------------------------------------------------------------- 

มงคลชีวิต 38 ประการ
โดย พระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ


มงคลที่ 1.ไม่คบคนพาล
อย่าคบมิตร ที่พาล สันดานชั่ว
จะพาตัว เน่าดิบ จนฉิบหาย
แม้ความคิด ชั่วช้า อย่ากล้ำกราย
เป็นมิตรร้าย ภายใน ทุกข์ใจครัน

มงคลที่ 2.การคบบัณฑิต
ควรคบหา บัณฑิต เป็นมิตรไว้
จะช่วยให้ พ้นทุกข์ สบสุขสันต์
ความคิดดี เลิศล้ำ ยิ่งสำคัญ
ควรคบกัน อย่าเขว ทุกเวลา

มงคลที่ 3.การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
ควรบูชา ไตรรัตน์ ขัตติเยศร์
ผู้วิเศษ ก่อเกื้อ เหนือเกศา
ครูอาจารย์ เจดีย์ ที่สักการ์
ด้วยบุปผา ปฏิบัติ สวัสดิ์การ

มงคลที่ 4.การอยู่ในถิ่นอันสมควร
เป็นเมืองกรุง ทุ่งนา หรือป่าใหญ่
ทางมา-ไป ครบครัน ธัญญาหาร
มีคนดี ที่ศึกษา พยาบาล
ปลอดภัยพาล ควรอยู่กิน ถิ่นนั้นแล

มงคลที่ 5.เคยทำบุญมาก่อน
กุศลบุญ คุณล้ำ เคยทำไว้
จะส่งให้ สวยเด่น เช่นดวงแข
ทั้งทรัพย์ยศ ไมตรี มีเย็นแด
เพราะกระแส บุญเลิศ ประเสริฐนัก

มงคลที่ 6 การตั้งตนชอบ
ต้องตั้งตน กายใจ ในทางถูก
เร่งฝังปลูก ตนไว้ ให้ถูกหลัก
เมื่อตัวตน ยังมี เป็นที่รัก
ควรพิทักษ์ ให้งาม ตามเวลา

มงคลที่ 7 ความเป็นพหูสูต

การสนใจ ใฝ่คว้า หาความรู้
ให้เป็นผู้ แก่เรียน เพียรศึกษา
มีศีลดี สติมั่น เกิดปัญญา
ย่อมนำพา ตัวรอด เป็นยอดดี

มงคลที่ 8 การรอบรู้ในศิลปะ
ศิลปะ ต่างอย่าง ทางอาชีพ
ควรเร่งรีบ เรียนรู้ ชูศักดิ์ศรี
มีบางคน จนอับ กลับมั่งมี
ฉลาดดี มีศิลป์ หากินพอ

มงคลที่ 9 มีวินัยที่ดี
อันวินัย นำระเบียบ สู่เรียบร้อย
คนใหญ่น้อย เปรมปรีดิ์ ดีนักหนา
วินัยสร้าง กระจ่างข้อ ก่อศรัทธา
เพราะรักษา กติกา พาร่วมมือ

ไม่พูดเท็จ พูดสอดเสียด และพูดมาก
ละความยาก สร้างวิบาก ฝากยึดถือ
คนหมู่มาก มักถางถาก ปากข่าวลือ
ต้องสัตย์ซื่อ ถือวินัย ใช้ร่วมกัน

มงคล ที่ 10 กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต

เปล่งวจี สัจจะ นวลละม่อม
กล่าวเลลี้ยกล่อม ไพเราะ กาลเหมาะสม
เจือประโยชน์ เมตตา ค่านิยม
รื่นอารมณ์ ผู้ฟัง ดังเสียงทอง

มงคลที่ 11 การบำรุงบิดามารดา

คนที่หา ได้ยาก มากไฉน
เพราะว่าใน โลกนี้ มีเพียงสอง
คือพ่อแม่ เกิดเกล้า เหล่าลูกต้อง
ตอบสนอง พระคุณ ได้บุญแรง

มงคลที่ 12 การสงเคราะห์บุตร

เป็นมารดา บิดา ทำหน้าที่
ให้บุตรมี พำนัก เป็นหลักแหล่ง
ส่งเสริมบุตร ธิดาตน กุศลแรง
ย่อมส่องแสง เพิ่มพูน ตระกูลวงศ์

มงคลที่ 13.การสงเคราะห์ภรรยา

มีคู่ครอง ต้องไม่ทำ ให้ช้ำจิต
จะพาผิด ไปข้าง ทงผุยผง
ต้องสงเคราะห์ แก่กัน ให้มั่นคง
รักยืนยง ด้วยกัน ถึงวันตาย

มงคลที่ 14.ทำงานไม่คั่งค้าง
จะทำงาน การใด ตั้งใจมั่น
อย่าผัดวัน ทำเล่น เช้า เย็น สาย
ไม่ทิ้งคา อากูล มากมูลมาย
เร่งคลี่คลาย ให้เสร็จ สำเร็จการ

มงคลที่ 15.การให้ทาน

ควร บำเพ็ญ ซึ่งทาน คือการให้
ท่านว่าไว้ สวยงาม สามสถาน
หนึ่งให้ของ สองธรรมะ ขนะมาร
อภัยทาน ที่สาม งามเหลือเกิน



มงคลที่ 16.การประพฤติธรรม
การ ประพฤติ ตามธรรม คำพระสอน
ไม่เดือดร้อน ถอนทุกข์ ยามฉุกเฉิน
คนรักธรรม ธรรมรักษ์คน ผลเจริญ
นั่ง,ยืน,เดิน นอน,สุข ทุกข์ไม่มี

มงคลที่ 17.การสงเคราะห์ญาติ
เมื่อ ยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้อง
ควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี
เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี
หากถึงที เราจน ญาติสนใจ

มงคลที่ 18 ทำงานไม่มีโทษ
งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิด
หากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใส
เมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไป
ได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน

มงคลที่ 19 ละเว้นจากบาป
กรรมชั่วช้า ลามก ต้องยกเว้น
หากขืนเล่น ด้วยกัน ถูกมันผลาญ
งดเว้นบาป กำราบให้ ไกลสันดาน
ในดวงมาลย์ ไม่ร้อน และอ่อนเพลีย

มงคลที่ 20 สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

ของมึนเมา ทุกชนิด พิษคล้ายเหล้า
ใครเสพเข้า น่าตำหนิ สติเสีย
เกิดโรคร้าย แรงร้อน กายอ่อนเพลีย
ใครงดเสีย เป็นสุข ไปทุกวัน
 
มงคลที่ 21 ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม
คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน
ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน
ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน

มงคลที่ 22 มีความเคารพ
ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์
ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน
ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร
ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง

มงคลที่ 23 มีความถ่อมตน
ไม่พองลม ก้มหัว เจียมตัวด้วย
มรรยาทสวย นิ่มนวล สิ้นส่วนแข็ง
เหมือนงูพิษ ถอดเขี้ยว หมดเรี่ยวแรง
ยามแถลง นอบน้อม พร้อมใจกาย

มงคลที่ 24 มีความสันโดษ
ความสันโดษ พอใจ ในสิ่งของ
เช่นเงินทอง ของตน แม้ล้นหลาย
เมื่อมีน้อย จ่ายน้อย ค่อยสบาย
ความจนหาย เลยลับ กลับมั่งมี

มงคลที่ 25 มีความกตัญญู
กตัญญู รู้บุญ คุณพ่อแม่
คนเฒ่าแก่ แลอาจารย์ ท่านทรงศีล
จอมมุนินทร์ ปิ่นเกล้า เจ้าธานี
หาวิธี แทนคุณ สมดุลกัน

มงคลที่ 26 การฟังธรรมตามกาล

การฟังธรรม ตามกาล ผ่านมาถึง
ควรคำนึง นิ่งนั่ง ฟังขยัน
ย่อมจะเกิด ปัญญา สารพัน
ตั้งใจมั่น ฟังดี นี่สมควร
 
มงคลที่ 27 มี ความอดทน
ความ อดทน ตรากตรำ ยามลำบาก
เจ็บไข้มาก ทนได้ ไม่โหยหวน
ถูกเขาด่า ให้ฟัง นั่งหน้านวล
ยิ้มเสสรวล ด้วยขันติ งามวิไล

มงคลที่ 28 เป็นผู้ว่าง่าย
ควร เป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน
ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน
ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด
เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา

มงคลที่ 29 การได้เห็นสมณะ
การ พบเห็น สมณะ ผู้สงบ
แล้วนอบนบ ถามไถ่ ไตรสิกขา
หมั่นฝึกหัด ทุกวัน ด้วยปัญญา
ย่อมชักพา จิตตรง มงคลมี

มงคลที่ 30 การสนทนาธรรมตามกาล
ยามหดหู่ ฟุ้งซ่าน กาลสงสัย
เป็นสมัย ไต่ถาม ตามเหตุผล
เพื่อบรรเทา คลี่คลาย หายกังวล
ควรจะสน- ทนาธรรม ตามที่ควร



มงคลที่ 31 การบำเพ็ญตบะ
พึงบำเพ็ญ ตบะ ละกิเลส
อันเป็นเหตุ หักห้าม กามฉันท์
มุ่งทำลาย ถ่ายบาป สาบสูญพันธุ์
เข้าสู่ขั้น สุโข ฌาณโกลีย์

มงคลที่ 32 การประพฤติพรหมจรรย์
เร่งประพฤติ พรหมจรรย์ อันประเสริฐ์
เพื่อให้เกิด สุขล้วน โดยถ้วนถี่
ตั้งแต่ทาน ถึงสิกขา บรรดามี
สมบูรณ์ดี พรหมจรรย์ ย่อมมั่นคล

มงคลที่ 33 การเห็นอริยสัจ
การรู้เห็น ความจริง สิ่งเที่ยงแท้
ไม่ผันแปร สี่ชนิด ไม่ผิดหลง
ตัดตัณหา มูลราก พรากทุกข์ลง
เป็นการส่ง ข้ามฟาก จากสาคร

มงคลที่ 34 การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์
ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน
เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน
ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก

มงคลที่ 35 การมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

ท่านผู้ใด ใจดำรง อยู่คงที่
ในเมื่อมี โลกธรรม ครอบงำหนัก
เช่น ลาภ ยศ สุข เศร้า เข้าง้างชัก
มิอาจยัก โยกท่าน ให้หวั่นใจ

มงคลที่ 36 การมีจิตไม่โศกเศร้า
คราวพลักพราก จากญาติ ขาดชีวิต
ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่
มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป
ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง

มงคลที่ 37 มีจิตปราศจากกิเลส
หมด ราคะ โทสะ โมหะแล้ว
จิตผ่องแผ้ว เลิศดี ไม่มีสอง
ย่อมมีค่า สูงจริง ยิ่งเงินทอง
เหมือนสูริย์ส่อง ท้องฟ้า สง่างาม

มงคลที่ 38 มีจิต เกษม
จิตเกษม เปรมปรีดิ์ ดีตลอด
เป็นจิตปลอด จากโอฆ ในโลกสาม
เครื่องผูกมัด สลัดหมด แสนงดงาม
เข้าถึงความ สุขสันต์ นิรันดร

ที่มา  http://www.fungdham.com/mongkhol38/mongkhol38.html
22232  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / หนังสืออินทร์ตก พุทธทำนายภัยพิบัติ เมื่อ: มีนาคม 17, 2010, 12:03:23 pm

หนังสืออินทร์ตก พุทธทำนายภัยพิบัติ



เกี่ยวกับคำทำนายด้านภัยพิบัติโลก มีบันทึกอยู่ในตำราและหนังสือของหลายชาติ หลายภาษา ทางนะกุศล.คอม จะทยอยนำมารวบรวมให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา ในบทความนี้จะเกี่ยวกับคำทำนายจากหนังสือประเทศลาว ซึ่งเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทยเรา

หนังสือใบลานสีได้เก็บรักษาสืบทอดมาจากวัดแห่งหนึ่ง ในแขวงอัตตะปือ(ประเทศลาว) ข้าพเจ้าได้รับรู้จากพระอาจารย์ผู้ทรงศีลองค์หนึ่งเผยแผ่ให้ เลยเกิดศรัทธาเสียสละทรัพย์ส่วนตัว พิมพ์แจกจ่ายมายังญาติพี่น้องชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อเป็นการกุศลและเพื่อพิจารณญาณด้วยตนเอง ถึงเหตุการณ์มหันตภัยของโลกาภิวัฒน์ ซึ่งจะบังเกิดขึ้นตามพุทธทำนายไว้ว่าดังนี้

โส ชัง ชน โทโพโส อินโตกรุณา

พระอินทร์ พรหม ยมราช ได้สั่งไว้ว่า ถ้าบุคคลใดได้รู้แล้วจงรีบร้อนบอกเล่าสู่กันฟัง หรือพิมพ์แจกจ่ายตามกำลังศรัทธา จะเกิดมหากุศลช่วยท่านให้หลุดพ้นจากภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวง ถ้าบุคคลใดไม่เชื่อมั่นตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเกิดเดือดร้อน ในปีจอ ขึ้น 4 ค่ำผู้มีบุญจะลงมาเกิด พร้อมหนังสือใบลานฉบับนี้ ถ้าไม่มีอยู่ในบ้าน เรือนบ้านช่องของผู้ใด จะมีพวกผีปีศาจร้ายเข้าทำลายอย่างแน่แท้ ในปีจอต่อปีกุลยามเดือนหงาย จะเกิดมีงูพิษอยู่บนหัวกัดฉกให้ตาย และฝูงชนทั้งหลายจะเกิดเดือดร้อนหลายประการเช่น

ทุกข์ยากร้อน เพราะศึกสงครามบ่แล้ว ทุกข์ยากร้อน เพราะมีคนตายตามทุ่งไร่ทุ่งนา
ทุกข์ยากร้อน เพราะน้ำและไฟ ทุกข์ยากร้อน เพราะไม่มีผู้เฒ่า
ทุกข์ยากร้อน เพราะไม่มีใครจะดูใคร ทุกข์ยากร้อน เพราะไปต่างประเทศไม่สะดวก
ทุกข์ยากร้อน เพราะอดข้าวปลาอาหาร ทุกข์ยากร้อน เพราะนอนไม่หลับ
ทุกข์ยากร้อน เพราะผัวเมียไม่เห็นหน้ากัน


ในปีจอนี้เมืองเวียงจันทน์ จะมีองค์ฤาษีทองคำสิกขาลาบวชออกมาเป็นพ่อค้า ในปีจอขึ้น 8 ค่ำ ห้ามไม่ให้ตักน้ำอาบน้ำกิน ตามห้วยหนองคลองบึงหลังพระอาทิตย์ตกดิน (ก่อนมืดค่ำ) พญายมราชจะนำเอายาพิษพ่นมาใส่โลกมนุษย์ ในปีจอเมืองกรุงเทพฯ จะ แตกพังทลายตอนเวลาไก่ขัน พระแก้วมรกตหัวเมืองเชียงใหม่เม็ดข้าวใหญ่ จะได้กลับคืนสู่เมืองเวียงจันทน์ นี้คือ พระคาถาขององค์อินทร์ พรหม ยมราช ได้เขียนลงในใบลาน จงรักษาเก็บไว้ให้ดีเพื่อช่วยให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ ในยามเกิดเหตุการณ์ มหันตภัย พระคาถาได้เขียนไว้

ปะโต เมตัง ปะระชิวินัง สุขะโต จุติ จิตตะ เมตตะ นิพพานัง สุขะโต จุติ


พระคาถาข้อนี้จะเขียนลง ใส่ใบลาน แผ่นทอง หรือแผ่นผ้าก็ดีให้ติดไว้บนประตู ห้องเรือน หรือรถราพาหนะ หรือพันหัวไว้ในยามเกิดเหตุการณ์จะช่วยให้รอดพ้นภัยอันตราย ใน กาละเวลานี้เทพเจ้าเหล่าเทวดา ผู้คุ้มครองรักษาเหล่ามนุษย์โลก ได้ไปกราบทูลต่อพระอินทร์ว่า มนุษย์โลกทำกุศลผลบุญ (ความดี) เพียง 3 ส่วน และทำบาปกรรม (ความชั่วร้าย) ถึง 10 ส่วน เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์อินทร์จะได้ลงโทษกับมนุษย์โลก ถึง 9 ข้อนับตั้งแต่ปีจอถึงปีกุล คือ

จะให้เกิดพายุลมแรง แผ่นดินไหวหวั่น จะให้เกิดสารพิษต่างๆ (อากาศ - อาหาร เป็นพิษ)
จะให้เกิดไฟไหม้ (อัคคีภัย) จะให้เกิดกาฬโรคต่าง ๆ (พยาธิร้าย)
จะให้เกิดน้ำท่วม (อุทกภัย) จะให้เกิดอด ข้าว ปลา อาหาร
จะให้เกิดฟ้าฝ่า จะให้เกิดอาฆาตฆ่าฟันกันเอง สำหรับคนใจบาป
จะให้เกิดร้อนมาก หนาวมาก


มหันตภัยทั้ง 9 อย่างนี้ จะรอดพ้นเฉพาะคนใจบุญ คนที่ปฎิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น รู้แล้วจงบอกต่อกันไป ให้รีบเร่งทำแต่ความดีมากกว่าทำบาปกรรมชั่วร้าย ถ้าผ่านปีจอ ปีกุล ไปแล้วทุกคนพร้อมทั้งลูก หลาน เหลน จะได้รับความสุขสบายกันทั่วหน้า (เวลาเหลือน้อย) ให้ทุกคนเคร่งครัดถือศีล 5 ข้อ ให้ขยันไหว้พระ ภาวนา ให้ทาน เพื่อการกุศล อย่างต่อเนื่อง ศีล 5 ข้อได้แก่

ห้ามเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต (ทุกชีวิตใครก็รัก)
ห้ามลักเอาสิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตน
ห้ามล่วงเกินเป็นชู้คนอื่น เมีย ผัว คนอื่น (ที่มีเจ้าของ)
ห้ามพูดปดหลอกลวงผู้อื่น ในทางที่ไม่ดีซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกสามัคคี หรือสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง
ห้ามดื่มหรือเสพของมึนเมาทั้งหลายทั้งปวง


นอกจากหนังสืออินทร์ตกที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีพระผู้ทรงศีลอีกองค์หนึ่ง ได้พบเห็นเนื้อในอักษรธรรมเขียนจารึกไว้ บนก้อนหินศิลาที่พึ่งพ้นจากพื้นดิน ในภูผาป่าดงแห่งหนึ่ง ที่พระรูปนี้ได้เดินธุดงค์ วิปัสสนากรรมฐานผ่านไป (ข้าพเจ้าไม่ขอบอกนามพระ และกำหนดสถานที่อย่างจะแจ้งได้) เพราะได้สอบหาข้อมูลละเอียดแล้วพระผู้ทรงศีล ได้กล่าวว่า

  โยมเอย ถ้าไม่เชื่อก็สุดแล้วแต่ดวงจิต เพราะถึงเวลาแล้วที่สวรรค์จะไม่มีความลับ ถ้าโยมเชื่อก็เป็นกุศล ถ้าไม่เชื่อก็เป็นอกุศลรู้เพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าจึงขอบอกเล่าสู่ท่านฟังตามคำกล่าวของพระผู้ทรงศีลรูปนี้ว่า ในปีระกา - ปีจอ และปีกุล เดือน 7 – 8 จะเกิดเหตุร้ายตามถนนหนทาง เดือน 9 -10 คนใจบาปหยาบช้าจะถูกล้างผลาญให้หมดไป มีบ้านก็ไม่มีคนอยู่ มีข้าวก็ไม่มีคนกิน มีทางก็ไม่มีคนเดิน สุดท้ายพระผู้ทรงศีลยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหนังสือ “อินทร์ตก” “อินทร์ตื่น” ถ้าท่านผู้ใดเชื่อ ศรัทธา บูชา เคารพกราบไหว้ หรือบนบาน ว่าจะบอกเล่าต่อผู้อื่นหรือลงพิมพ์แจกให้สาธุชน คนทั้งหลายรับรู้ด้วยแล้ว ท่านจะปรารถนาสิ่งใดจะได้ดั่งใจนึก พยาธิร้ายที่เบียดเบียนกายก็จะหายขาด

ท่านไม่เชื่อขออย่าลบหลู่เป็นอันขาด พระอาจารย์ผู้ทรงศีลองค์หนึ่งเผยแพร่บอกกล่าวมา


ศิลาจารึกภัยพิบัติ มหาวิหานชรเจตมหาเชตะวัน
 
ศิลาจารึกในมหาวิหานชรเจตมหาเชตะวัน ณ สวนมฤคทายวัน ประเทศอินเดีย โดยคณะทูตไทยที่ไปอันเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี พ.ศ.2485 ตามคำแปลเป็นภาษาไทย ว่าดังนี้

สาธุ อะระหังตา สัมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระเมตตากรุณาสรรพสัตว์ทั่วโลก ที่เกิดมาแล้วแต่ลำบากทั่วหน้า ทุกชาติ ทุกศาสนาตามธรรมชาติ
เมื่ออาตมาเข้านิพพานไปแล้วครบบห้าพันปีเป็นที่สุด โลกจะหมุนไปใกล้จะถึงจำนวนที่ตถาคตทำนายไว้สองพันห้าร้อยปี มนุษย์และสัตว์จะได้รับภัยพิบัติเสียครั้งหนึ่งในระยะเวลา 30 ปี สิ่งที่สาธุชนไม่เคยเจอะจะได้เห็น ไม่เคยพบจะได้พบ ยักษ์หินที่ถูกสาปให้หลับกลับตื่นขึ้นมาอาละวาดยิ่งนัก

ใกล้กับ พ.ศ. 2550 ยิ่งทวีกันใหญ่ขึ้นทุกทิว่าราตรี มนุษย์นอกพระศาสนาจะรบราฆ่าฟันกันจนถึงเลือดนองเต็มพื้นดิน พื้นน้ำ จะลุกลามเผามนุษย์ไม่ขาดระยะ ต่างฝ่ายต่าทำลายเหมือนยักษ์กระหายเลือด แผ่นดินจะเป็นเปลวไฟจะตายไปอย่างละครึ่งหนึ่งจึงจะเลิกล้ม ต่างฝ่ายต่างหมดกำลังด้วยกันตามวิสัยยักษ์ร้ายนอกศาสนาซึ่งถือกำเนิดจากป่า อำมหิต ส่วนพุทธศาสนิกชนผู้ทำแต่บุญเดินตามทางตถาคตสามารถระงับร้อนไม่รุนแรง


บ้านใดได้บูชาพระโพธิสัตว์ผ้ากาสาวพัตร์ ก็จะรับภัยพิบัติเบาบางแต่หนีภัยธรรมชาติไม่พ้น ไฟจะลุกลามมาทางทิศตะวันออก ไหว้วัดวาอารามสมณะชีพราหมณ์ จะอดอยากยากเข็น ลูกไฟจะตกจากฟ้า เหล็กกล้าจะผุดจากน้ำ สงครามจะเกิดทั่วทิศ พระยานาคจะพ่นพิษเป็นเพลิง ทหารจะเป็นเจ้า ข้าวสารจะขาดแคลน ทุกแคว้นจะอดอยาก พลูหมากจะหมดเปลือง สีเหลืองจะชนะ พระยังอยู่คู่เมืองอีกต่อไป สีขาวจะแพ้ภัยในที่สุด ครุฑจะบินกลับฐาน คนจะกลับบำรุงพระพุทธเจ้าว่าดังนี้
 
ชา ตะ มะ สะ ละ วา พระพุทธชินลิตนี้ท่านให้เขียนใส่กระดาษ หรือผ้าขาวติดไว้หน้าบ้าน หรือหัวนอน ดังนี้จะมีอายุยืนยาว จะทัน ผู้มีบุญชื่อ พระยาธรรมิกราชา เมื่อแรกสถิตอยู่เขตอยุธยา บัดนี้ท่านเสด็จอยู่ลานช้าง ( ภาคอีสานในปัจจุบัน ) พระยาธรรมิกราชา เข้ามาปีกุน เดือน 11 เป็นเที่ยงแท้หนักหนาท่านเสด็จมาในปีระกา แรม 5 ค่ำ มหากษัตริย์มาทางทิศตะวันตก สมณะชีพราหมณ์ตามมาพอประมาณได้ 76,400 รูป ทั่วอาณาจักรสมเด็จพระบรมนักปราชญ์ได้ประกาศคาถาว่า ดังนี้

นะสัจจัง ทะ คะยังมะสำคำปัง คอยดูในปีมะโรง คนจะเดินโก่งโค คลาน ผู้ใดอยากพบผู้มีบุญชื่อพระยาธรรมิกราชให้ภาวนา ให้หมั่นรักษาศีล สดับรับฟังพระธรรมเทศนา คอยดูปีมะเส็งตลิ่งจะพัง มหาสมุทรจะชอกช้ำ อย่าเที่ยวไปกลางแจ้ง ท่านเข้ามาปีกุน เดือน 8 เป็นเที่ยงแท้ ผู้ใดไม่เชื่อจะรับอันตราย คอยดูในปีจอ คนจะพ้นภัย

สะโรนะกา โททายะโม พุทธะตะยะ
ภาวนาทุกเช้าค่ำ ผู้นั้นจะมีอายุยืนนานจะได้เห็นพระธรรมมิกราช (พระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไนย) ในปีกุน ท่านจะเข้ามาอีก ถ้าไม่เห็น
หนังสือบ้านใดผู้นั้นจะได้รับอันตรายรู้แล้วให้บอกต่อกันด้วย

ที่มา 
http://www.nakusol.com/พลังจิต-หนังสืออินทร์ตก-พุทธทำนายภัยพิบัติ-144.html

22233  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / วิธีหนีกรรม “ผิวทราม” เมื่อ: มีนาคม 17, 2010, 10:36:28 am

วิธีหนีกรรม “ผิวทราม”


กรรมผิวทรามเป็นกฏแห่งกรรมสากล ที่เกิดได้กับคนทุกศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ค้นพบและบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก ว่า

“คนที่มักโกรธ จะมีผิวพรรณทราม”   “กรรมผิวพรรณ เกิดจากกรรมโทสะ”

ท่านได้แนะวิธีหนีกรรมไว้ ๓ วิธี ดังนี้

๑.แบบลงทุน คือ บริจาคเสื้อผ้าอาภรณ์ ถวายผ้าไตรจีวรให้พระ ถวายไม้กวาด ไม้ถูพื้น วัตถุสิ่งของที่ใช้ทำความสอาดวัด

๒.แบบลงแรง คือ ไปทำความสอาดในเขตวัด เขตที่บริสุทธิ์ ปัดกวาดเช็ดถู ซักล้าง ยิ่งทำส่วนที่สกปรกมากยิ่งเห็นผลมาก

๓.แบบไม่ต้องลงทุนลงแรง มีอานิสงส์สูงสุด เร็วที่สุด คือ อภัยทาน ละวางความโกรธ ถ้าทำสมาธิร่วมด้วย ผลยิ่งเร็วขึ้น



ปัญหาที่สะสมอยู่ในเซลล์มาจากผลกรรม คือ การกระทำของแต่ละคน มาจาก ๓ ทาง คือ

๑. กายกรรม (การกระทำทางกาย)
- การฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์ กลั่นแกล้งรังแก ทำร้ายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศาสตราวุธ
- การลักทรัพย์ ทำให้ผู้อืนเสียทรัพย์โดยที่เขาไม่เต็มใจ
- การประพฤติผิดในกาม คบชู้ มักมากในกาม ละเมิดบุตร คนรัก คู่ครองผู้อื่น

๒. วจีกรรม (คำพูด) พูดโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด  พูดเพ้อเจ้อ (ชอบนินทา ยุแหย่ ใส่ร้าย่ ป้ายสี โกรธ โมโห)

๓. มโนกรรม (ความคิด) คิดประทุษร้ายผู้อื่น ประสงค์ต่อทรัพย์ผู้อื่น เห็นผิดทำนองคลองธรรม คิดลบลู่ ดูหมิ่น ล่วงเกิน ผู้ทรงศีลธรรม พยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ในเรื่อง บาป บุญ นรก สวรรค์ และกฏแห่งกรรม เป็นต้น



ที่มา   คู่มือหนีกรรมผิวพรรณ (ฉบับปฐมฤกษ์) เรียบเรียงโดย อ.อุบล ศุภาเดชาภรณ์
ผู้ดำเนินรายการ “คุยไปแจกไป” ทาง MVTV ช่องบางกอกทูเดย์


22234  ธรรมะสาระ / สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน / การปฏิบัติพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เมื่อ: มีนาคม 16, 2010, 07:37:52 pm

การปฏิบัติพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา


พุทธศาสนพิธี
ความสำคัญของศาสนพิธี : การกระทำบุญกุศลในทางพระพุทธศาสนาของเรานั้นมีมากมายหลายอย่างต่างกันไป ตามแต่ละวิธีการที่จะเกิดขึ้นนั้น ๆ และแต่ละอย่างล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติ – ศาสนา – องค์พระมหากษัตริย์ และประจำจิตใจของพุทธศาสนิกชนคนไทยของเรามาเป็นเวลานับเป็นพัน ๆ ร้อย ๆ ปีผ่านมา และจะมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปตลอดกาลนาน

เมื่อกล่าวโดย จำเพาะเจาะจงแล้ว มูลเหตุแห่งการทำบุญมี ๓ ประการด้วยกัน คือ
     ๑. บุญในวันสำคัญของชาติ ศาสนา องค์พระมหากษัตริย์

     ๒. บุญประจำประเพณีในเทศกาลต่าง  ๆ เช่น ตรุษสงกรานต์ สารท เข้าพรรษา ออกพรรษาเป็นต้น
     ๓. บุญที่มีความเกี่ยวข้องเฉพาะตัวบุคคล

 
บุญ ตามข้อ ๑ – ๒ นั้น เป็นหน้าที่ของคนไทยชาวพุทธทั้งหลายจะพึงกระทำบำเพ็ญเป็นสามัคคีธรรมร่วมกัน ตามแต่ละสถานที่ และท้องถิ่นนั้น ๆ
 
ส่วนบุญตามข้อ ๓  นั้น  เป็นหน้าที่ของผู้เป็นเจ้าภาพ  และญาติมิตรจะพึงกระทำกันเป็นการเฉพาะ และยังแบ่งบุญนี้ออกเป็น  ๒  ประเภทด้วยกัน  ดังนี้  คือ

     ๑. บุญในพิธีกรรมมงคลต่างๆ  เช่น  ทำบุญอายุ  บวชนาค  โกนจุก  แต่งงาน  ขึ้นบ้านใหม่  เป็นต้น  หรือที่เรียกว่าบุญที่ปรารภเหตุที่เป็นมงคล  นั่นเอง
     ๒. บุญอวมงคล  ในพิธีทักษิณานุปทาน  อุทิศส่วนกุศลให่ท่านผู้ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว  นับตั้งแต่ทำบุญอุทิศหน้าศพ  ๗  วัน  ๕๐  วัน  ๑๐๐  วัน  และครบรอบปี  เป็นต้น  หรือที่เรียกว่า  บุญปรารภ -เหตุอวมงคล  นั่นเอง


งานบุญทั้ง หมดนี้  ล้วนมีศาสนพิธี  คือการกระทำตามหลักเกณฑ์ของศาสนาที่วางไว้นั้นเหมือนกันหมด ซึ่งนอกเหนือไปจากผู้เป็นเจ้าภาพ  จะดำเนินการกำหนดวัน – เวลา  ทำบุญนิมนต์พระ  เชิญญาติมิตร  หรือแขกเหรื่อ  จัดสถานที่  และการตระเตรียมสิ่งของ  และเครื่องใช้ต่างๆไว้ก่อนงานอย่างพร้อมเพรียงแล้ว  ศาสนพิธี  ได้แก่  การกล่าวคำบูชาพระและอาราธนาศีลเป็นต้น  จนกว่าพิธีการจะเสร็จเรียบร้อยนั้น  นับเป็นพิธีการระดับหัวใจของงานทีเดียวที่จะต้องทำให้ถูกต้อง  เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ต่างๆ  ดังนี้  คือ
     ๑. ได้บุญกุศลอย่างถูกต้อง  และครบถ้วนตามพิธีการที่ต้องการเจ้าภาพ
     ๒. ชื่อว่ายกย่องเชิดชูพิธีการทำบุญนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในทางที่ถูกต้อง ตามประเพณี วัฒนธรรมต่อไป
     ๓. เป็นเกียรติคุณแก่ผู้เป็นเจ้าภาพ  และผู้ร่วมกุศลทั้งหลายให้เกิดเพิ่มพูนกุศล  จิตศรัทธามากยิ่งๆ  ขึ้นไป


ดังนั้นจึงใคร่เชิญผู้เป็นเจ้าภาพดำเนินการตามหลักศาสนพิธีอย่างถูกต้องตามลำดับดังต่อไปนี้


เหตุเกิดศาสนพิธี

ระเบียบวิธีการปฏิบัติของชาวพุทธเพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยเรียกว่า  ศาสนพิธี  ซึ่งหมายถึง  แบบอย่างหรือแบบแผนต่างๆ  เป็นสื่อในการทำความดีในพระพุทธศาสนา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  การทำกิจกรรมเพื่อเข้าถึง   พระรัตนตรัยนั่นเอง  ดังนั้น  ศาสนพิธีจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนอื่นๆ  เลย

เหตุเกิดศาสนพิธี  จัดว่าเป็นสื่อกลางที่นำคนเข้าถึงสาระ  หรือแก่นพระศาสนาโดยการเข้าถึงสาระแก่นแท้ของพระพุทธศาสนานั้นสามารถเข้าถึง ทั้งด้วยการทำบุญให้ทาน  การรักษาศีล  และการเจริญ  ภาวนาตามลำดับ  และที่สำคัญคือ  การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อันเรียกว่า  “โอวาท ปาติโมกข์” พระโอวาทที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา

ในโอวาท ปาติโมกข์นั้นมีหลักการสำคัญที่ทรงวางไว้เป็นหลักทั่วๆไป  ๓  ประการ  คือ
     ๑. สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง  (ละเว้นชั่ว)
     ๒. สอนให้อบรมกุศลให้ถึงพร้อม  (ประกอบควมดี)
     ๓. สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส  (ทำจิตผ่องใส
)

การพยายามทำตามคำสอนใน หลักการนี้เป็นการพยายามทำความดีที่เรียกว่า  ทำบุญ  และการทำบุญนี้  พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุคือที่ตั้งแห่งการทำบุญไว้โดยย่อ  เรียกว่า  “บุญกิริยาวัตถุ”  มี  ๓  ประการ  คือ
     ๑. ทาน      การบริจาคสิ่งของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
     ๒. ศีล        การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อย  ไม่ล่วงบัญญัติที่ทรงห้าม
     ๓. ภาวนา   การอบรมจิต ใจให้ผ่องใสในการกุศล


บุญกิริยาวัตถุนี้  เป็นแนวทางให้พุทธบริษัทประพฤติตามหลักการที่กล่าวข้างต้นและเป็นเหตุให้ เกิด   ศาสนพิธีต่างๆขึ้น  โดยนิยม

ประโยชน์ของศาสนพิธี
     ๑. เป็นวิธีการดึงคนเข้าสู่หลักธรรมทางพระศาสนา
     ๒. เป็นรูปแบบวิธีการที่มีแบบแผน  งดงาม  สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย
     ๓. เป็นกระบวนการที่ทำให้คนในสังคมมีความรักสามัคคีปราถนาดีต่อกัน
     ๔. ผู้ที่ศึกษาศาสนพิธีดีแล้ว  ย่อมเป็นผู้ฉลาดในพีธีกรรมที่ต้องปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศล
     ๕. สามารถจรรโลงให้พระพุทธศาสนามีความเจริญยั่งยืนสืบไป



ที่มา  http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1312:2009-09-28-16-34-12&catid=99:2009-09-28-16-15-01&Itemid=333

22235  เรื่องทั่วไป / ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) / สากลสัญลักษณ์แห่ง...พุทธ เมื่อ: มีนาคม 16, 2010, 07:15:16 pm
สากลสัญลักษณ์แห่ง...พุทธ


คมชัดลึก :สัญลักษณ์ แห่งพระพุทธศาสนา มีหลายอย่าง ได้แก่ พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท ใบโพธิ์ ต้นโพธิ์ ธงธรรมจักร ธงฉัพพรรณรังสี และ รูปธรรมจักร สัญลักษณ์ที่ได้รับการรับรองให้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาระหว่างชาติ คือ รูปธรรมจักร

วงล้อแห่งชีวิต หรือ ธรรมจักร (Dharmachakra; Wheel of Dhamma) เป็นสัญลักษณ์แทนวัฐจักร เวียนว่ายตายเกิด ซึ่งหมายถึง วงล้อ คือ พระธรรม ที่หมุนไปยังที่ต่างๆ แล้วยังความสันติสุขให้เกิดขึ้นในที่นั้นๆ ซึ่งมีความหมายดังนี้
 
ธรรมจักร หรือ วงล้อแห่งชีวิต เป็นสัญลักษณ์แทนวัฐจักรเวียนว่ายตายเกิด

  ๑.รูปทรงวงกลม (จักร) แทนความสมบูรณ์ แบบของพระธรรม ๒.แกนกลาง แทนคำสอน ซึ่งเป็นแก่นของการฝึกเพื่อนิพพาน และ ๓.ขอบที่เชื่อมซี่ของธรรมจักรไว้ จะหมายถึงความสมถะ มั่นคงยึดถือทุกสิ่งไว้ด้วยกัน
 สำหรับลักษณะของธรรมจักรดั้งเดิม มี ๒ รูปแบบ คือ มี  ๖ ซี่ หรือบางครั้ง ๕ ซี่ และรูปแบบที่กำเนิดในพุทธศาสนา คือ ๘ ซี่

 ในธรรมจักรนั้น ประกอบด้วยซี่ล้อ ๘ ซี่ หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
 ๑.สัมมา ทิฐิ ความเห็นชอบ ๒.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ๓.สัมมาวาจา การเจรจาชอบ ๔.สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ ๕.สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ ๖.สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ๗.สัมมาสติ ความระลึกชอบ และ ๘.สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ


ธงธรรมจักร
ในประเทศไทย ใช้ธงธรรมจักร ธงธรรมจักรของไทยที่มีพื้นธงเป็นสีเหลือง และมีสัญลักษณ์เป็นรูปกงจักรสีแดง อยู่ตรงกลาง มีซี่ล้อกงจักรอยู่ ๑๒ ซี่ด้วยกัน เป็นธงที่ใช้ประดับในพิธี หรือวันสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตราสัญลักษณ์พระธรรมจักรนี้ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก หรือที่เรียกโดยย่อว่า พ.ส.ล. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศทางพุทธศาสนา ได้รับไว้เป็นตราประจำขององค์การแล้ว

 ธงธรรมจักรนี้ คณะสงฆ์ไทยได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ภายหลังงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งในขณะนั้นมีซี่ล้อกงจักรอยู่เพียง ๘ ซี่เท่านั้น รูปพระธรรมจักร ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาทั่วโลกในเวลาต่อมา และได้เพิ่มซี่ล้อกงจักรขึ้นอีก ๔ ซี่ ในปัจจุบันนี้ได้เพิ่มซี่ล้อกงจักรเข้าไปอีก ๔ ซี่

 อันหมายถึง ศาสนาที่สำคัญๆ ของโลกอีกสี่ศาสนา คือ ๑.ศาสนาพุทธ ๒.ศาสนาคริสต์ ๓.ศาสนาอิสลาม และ ๔.ศาสนาฮินดู

 ความหมายของธงธรรมจักรนี้ นอกจากจะใช้เป็นธงสำหรับประดับแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอันคอยเตือนใจพุทธศาสนิกชน และศาสนาต่างๆ ที่รวมเข้าไว้ด้วยนี้ เพื่อให้ประพฤติ ปฏิบัติ ในสิ่งที่ชอบที่ดีงามอีกด้วย


ธงฉัพพรรณรังสี
 ส่วน ธงฉัพพรรณรังสี เป็นธงแห่งพระพุทธศาสนาระหว่างชาติ
 คำว่า "ฉัพพรรณรังสี" แปลว่า รัศมี ๖ สี (พระรัศมี ๖   สี) ซึ่งแผ่ออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีแสด และสีเหลื่อมประภัสสร (คือ สีทั้ง ๕ รวมกัน เหลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก) แสดงถึงความที่พระพุทธศาสนิกชนยกย่อง

 ทั้งนี้ พ.ส.ล.ได้ประกาศใช้เป็นธงสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ในการประชุมเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ นั้น มี ๖ สี  เรียงตามแนวนอนดังนี้ คือ น้ำเงิน เหลือง แดง ขาว ส้ม   และสีซึ่งเรียกตามภาษาบาลีว่า "ประภัสสร"

 ธง ๖ สีนี้ เดิม พันเอกเฮนรี เอส ออลคอท พุทธศาสนิกชนชาวอเมริกัน เป็นผู้ออกแบบ และชาวพุทธศรีลังกาได้ใช้ต่อมา

 อย่างไรก็ตาม ธงนี้เริ่มมีผู้นิยมใช้มากขึ้น เมื่อได้ใช้เป็นธงทางการขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ใน พ.ศ.๒๔๙๓

 การออกแบบธงนี้ ได้อาศัยความเชื่อว่า ไม่ว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ ณ แห่งใด พระองค์จะเปล่งพระรัศมี ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น แสงแห่งปัญญา และ สันติสุข ไปสู่มวลมนุษย์ทั้ง ๖ ทิศ คือ ตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้ เบื้องบน และเบื้องล่าง

 อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงใช้ธงธรรมจักร ซึ่งมีรูปพระธรรมจักรบนพื้นสีเหลืองกันโดยทั่วไป  ซึ่งคณะสงฆ์ไทยเป็นผู้ประกาศใช้เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา

 อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาแรกเริ่มนั้น คือ ใบโพธิ์ ด้วยเหตุที่ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ที่ภายใต้ต้นไม้ชื่อว่า อัสสัตถะ ต่อมาก็เรียกว่า ต้นโพธิ์

 คำว่า โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ เพราะพระพุทธเจ้าไปประทับนั่งใต้ไม้นั้นตรัสรู้ จึงได้เรียกว่า ต้นไม้ตรัสรู้ เรียกเป็นศัพท์ว่า โพธิพฤกษ์

 แต่ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ว่า อัสสัตถะ ที่ตรัสรู้นั้น อยู่ใกล้ฝั่ง แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลา ในมคธรัฐ



รอยพระพุทธบาท

 ต่อมาก็มีการสร้าง รอยพระพุทธบาท สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเจริญรอยตามบาทของพระศาสดา สมัยโบราณ เป็นการสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า สำหรับไว้ให้คนได้บูชากัน

 เพราะสมัยนั้น ยังไม่มีคติการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา  รอยพระพุทธบาท จะหมายถึงตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช บางทีก็ทำเป็นรูปม้าผูกเครื่อง แต่ไม่มีผู้ขี่ ส่วนตอนตรัสรู้ก็ทำเป็นรูปแท่นที่ประทับ ตอนประทานปฐมเทศนาก็ทำเป็นธรรมจักร มีกวางหมอบอยู่ เพื่อสื่อถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

 รอยพระพุทธบาท นั้น เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันที่จริง มีมาก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปไว้แทนพระพุทธองค์มาตั้งแต่สมัยอินเดีย โบราณ และยังคงสืบเนื่องเรื่อยมาจนปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างพระพุทธรูปแล้วก็ตาม ทว่าความหมายแห่งการบูชา ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ ก่อนการสร้างพระพุทธรูป ในภายหลัง ที่ปรากฏพระพุทธรูปแล้วรอยพระพุทธบาทได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพื่อแสดงถึงว่า เป็นดินแดนที่พระพุทธองค์ได้ดำเนินไปถึง เป็นสิริมงคล

 ซึ่งตามตำนานอ้างไว้ว่า รอยพระพุทธบาท ซึ่งพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับไว้ ๕ แห่ง ได้แก่ เขาสุวรรณมาลิก, เขาสุวรรณบรรพต, เขาสุมนกูฏ, เมืองโยนกบุรี และ หาดทราย ในลำน้ำนัมมทานที


พระพุทธรูป

ในขณะที่การสร้าง พระพุทธรูป หมายถึง รูปที่สร้างขึ้นแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบไหว้บูชา อาจใช้การแกะสลักจากวัสดุต่างๆ เช่น ศิลา งา ไม้ หรือวัสดุอื่นๆ นอกจากนี้ ยังอาจใช้การปั้น หรือหล่อด้วยโลหะก็ได้

 โดยทั่วไป คำว่า พระพุทธรูป มักจะหมายถึง รูปขนาดใหญ่พอที่จะวางบูชาได้ สำหรับรูปขนาดเล็กมักจะเรียกว่า พระเครื่อง

 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแบบสามารถเรียกว่า พระพุทธรูป ได้เช่นกัน
 พระ พุทธรูปรูปแรก จึงเกิดขึ้นในสมัยของ พระเจ้ามิลินท์ หรือ เมนันเดอร์ ที่ ๑ ชาวกรีกที่มาครอบครองแคว้นคันธารราษฎร์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๕๐๐-๕๕๐ หรือ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว นั่นเอง

 พระพุทธรูปที่เกิดขึ้นครั้งแรก จึงเรียกรูปแบบของพระพุทธรูปนี้ว่า แบบคันธารราษฎร์ โดยถ่ายแบบอย่างเทวรูปที่พวกชาวกรีกนับถือกันในยุโรปมาสร้าง

 พระพุทธรูปแบบคันธารราษฎร์ จึงมีใบหน้าเหมือนฝรั่งชาวกรีก จีวรก็เป็นริ้วเหมือนเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก

 และต่อมาในภายหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ ๔-๑๒ มีคตินิยมสร้างพระพุทธรูปเป็นขนาดเล็กๆ (พระเครื่อง) บรรจุไว้ในพุทธเจดีย์


ที่มาเรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู""ภาพ... "ประเสริฐ เทพศรี"
http://www.komchadluek.net/detail/20090520/13434/สากลสัญลักษณ์แห่ง...พุทธ.html

22236  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / คนค้นกรรม 1 เมื่อ: มีนาคม 15, 2010, 05:37:31 pm
คนค้นกรรม

เช้าวันนั้นตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตีห้า ตื่นมายังรู้สึกง่วงอยู่เลยนอนต่อ หูได้ยินเสียงเพลงจากเครื่องขยาย เลยลุกขึ้นไปดูที่ถนนใหญ่ปากซอยหน้าบ้าน  เห็นรถจำนวนมากจอดอยู่หลายสิบคัน รถที่จอดเป็นของผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งใจก็คิดว่า จะไปดีไหมหนอ รถจะติดรึเปล่าหนอ นั่งกินกาแฟ โต๋เต๋ไปมาสักพัก ได้เวลาอาบน้ำ ออกจากห้องน้ำรู้สึกสดชื่น ได้กำลังใจ เอาล่ะว่ะไปก็ไป  ระหว่างทางรถไม่ติดแฮะ  เพลงในรถก็เพราะถูกใจ บรรยากาศสองข้างทางก็สดชื่น ขับรถเรื่อยมา ผ่านป้ายบอกทางมาสองป้าย พอถึงป้ายที่สาม ก็เลี้ยวรถเข้าไปจอด ถึงแล้วครับ  “บ้านสวนพีระมิด”

   พอลงจากรถมา ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้ามาทัก ผมถามว่า“อาจารย์อยู่ไหมครับ” คนที่มาทักตอบว่า “อยู่ค่ะ” จากนั้นก็พาไปลงทะเบียน กรอกประวัติต่างๆ พอกรอกเสร็จก็ไปยื่นให้อาจารย์ ได้ยินอาจารย์พูดว่า “คนนี้ต้องรอบ่าย” ตัวผมเองไม่ใส่นาฬิกามาร่วมสิบปีแล้ว  เลยรู้ว่านี้คงจะใกล้เที่ยงแล้ว

   ระหว่างที่รอไม่รู้จะทำอะไร เลยเดินเตร็ดเตร่ไปเรื่อย ที่นี่อากาศบริสุทธิ์ดี แม้วันนั้นค่อนข้างร้อน แต่พอมีลมพัดมาทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น เจ้าหน้าที่คนเดิมมาเตือนว่า ให้อยู่ใกล้ๆอาจารย์เผื่ออาจารย์จะเรียก  ผมโชดดีครับ
วันนี้มีคนมาหาอาจารย์แค่ ๔ คน และผมก็เป็นคนที่ ๔ นับว่าวันนี้เป็นวันของผม “ฟ้าเปิดครับ” 

ผมรออยู่สักครู่อาจารย์ก็เรียกชื่อผม ผมเข้าไปไหว้  หลังจากได้เห็นอาจารย์มาหลายครั้งทางทีวี วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอาจารย์ใกล้ๆ อาจารย์เป็นคนร่างค่อนข้างเล็ก ผิวขาว ไว้ผมม้า นัยน์ตาสีสนิมเหล็ก บุคคลิกดูเป็นคนคล่องแคล่ว  พูดจาชัดเจน ฉะฉาน ตรงไปตรงมา ดูเป็นคนมีวินัยสูง  ผู้หญิงอายุ ๕๐ ต้นๆคนนี้ ดูน่าจะอายุสัก ๔๐ ไม่รู้เธอทำบุญด้วยอะไร

ผมถามอาจารย์ว่า ระหว่างที่รอผมจะทำอะไรได้บ้าง อาจารย์แนะนำว่า ให้ไปช่วยเหลาไม้ไผ่ การเหลาไม้ไผ่นั้น ก็เพื่อนำไปทำพื้นสถานปฏิบัติธรรม  สถานที่นี้ถูกสร้างเป็นรูปพีระมิดมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม มุมหลังคาด้วยจาก พื้นขัดแตะด้วยไม้ไผ่ มีสองชั้น โครงสร้างเกือบทุกอย่างทำด้วยไม้ไผ่  ผมดูแล้วรู้สึกชอบ ดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดี  บริเวณรอบๆบ้านสวนพีระมิดนั้น ไม่ค่อยมีบ้านคน โดยส่วนตัวเห็นว่า น่าจะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่สัปปายะที่หนึ่ง


เวลาล่วงเลยมาบ่ายสองโมงกว่า จึงได้คุยกับอาจารย์อย่างเป็นทางการ  อาจารย์ถามว่า  ได้ข่าวจากที่ไหนและมาที่นี่ด้วยสาเหตุอะไร ผมเองได้ดูรายการ “คุยไปแจกไป”ทาง MVTV ช่องบางกอกทูเดย์ ได้ดูมาหลายครั้งแล้ว ตอนแรกที่ดูคิดว่า เป็นการขายเครื่องสำอางแบบขายตรง ดูๆไป เอ๊ะ....ผู้หญิงคนนี้พูดธรรมะได้ดี ตรงจริตผม สิ่งที่อาจารย์พูดออกมา เป็นเรื่องที่ผมเคยรับรู้ เคยอ่านมาบ้างแล้ว ต่อมาจึงรู้ว่าอาจารย์เป็นศิษย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ  ผมเองก็มีหนังสือของหลวงพ่อฤาษีลิงดำอยู่มาก  หนังสือธรรมะเล่มแรกที่ผมอ่านอย่างจริงจังก็เป็นหนังสือของหลวงพ่อเหมือนกัน  การได้พบอาจารย์ครั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเคยทำบุญร่วมกันมา

นอกจากเรื่องธรรมะแล้ว อาจารย์มักจะกล่าวถึง ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา  ศ.ดร.นพ.เทพพนม เมืองแมน อยู่บ่อยครั้ง บุคคลทั้งสองเป็นคนที่ผมชื่นชอบให้ความยอมรับ คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ผมชอบอ่านเรื่องอวกาศ ยานอวกาศ จักรวาลอื่นๆ และมนุษย์ต่างดาว นอกจากจะกล่าวถึงแล้ว ยังไปสัมภาษณ์บุคคลทั้งสองหลายครั้ง ทุกครั้งที่สัมภาษณ์ บุคคลทั้งสองจะกล่าวถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า อันหลังนี้เป็นสิ่งที่ผมชอบที่สุด
 
ยังครับยังมีอีก  ผมชอบอ่านเรื่องพีรามิดมาตั้งแต่เด็ก สนใจพลังพีระมิดเป็นอย่างมาก อาจารย์จะพูดถึงพลังของพีรามิดในรายการที่อาจารย์จัดอยู่เสมอๆ ทำให้ผมชอบ ติดตามรายการนี้อยู่บ่อยๆ

สิ่งที่ผมเล่ามานั้น เป็นเพียงเหตุผลสนับสนุนให้ผมมาพบอาจารย์ แต่ไม่ใช้จุดประสงค์ที่มาในครั้งนี้ รายการคุยไปแจกไปของอาจารย์ จะนำภาพและเสียงการสัมภาษณ์ของผู้เป็นโรคต่างๆมาออกอากาศเป็นประจำ  ผู้ป่วยหลายรายหายจากอาการป่วย บางรายก็อาการดีขึ้น สิ่งที่ทำให้หายป่วยหรือดีขึ้นไม่ได้เกิดจากการรักษา อาจารย์ไม่ใช่หมอ  แต่เกิดจากการทำบุญและปฏิบัติธรรม ตามที่เคยเล่ามาแล้วอาจารย์กำลังสร้างสถานปฏิบัติธรรม  อาจารย์จะให้ผู้ป่วยขนดินใส่รถเข็น ๙ เที่ยว เพื่อนำไปสร้างอาคารปฏิบัติธรรม และรับคำสัตย์ตามที่อาจารย์จะกำหนด เช่น ถือศีล ๕ อย่าทำหรือให้ทำบางเรื่อง ทุกเรื่องล้วนเป็นการปฏิบัติตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาทั้งสิ้น หรือถ้าใครต้องการโชดลาภต่างๆให้ไปเหลาไม้ไผ่ ๙ ลำ  ที่เล่ามานี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

การปฏิบัติธรรมแล้วหายจากโรคได้ เป็นสิ่งที่ผมสนใจ ตัวผมเองถือศีล เจริญกรรมฐานอยู่แล้ว ถึงแม้จะกระพร่องกระแพร่ง ลุ่มๆดอนๆไปบ้าง อย่างน้อยก็มีจิตฝักใฝ่ในธรรมอยู่ 

ผมเล่ามานานพอสมควร คราวนี้ถึงตอนสำคัญเสียที อาจารย์ดูประวัติของผมแล้ว พูดว่า โรคที่คุณเป็นอยู่นี้ เกิดเพราะมันมีเหตุ และถามว่า เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าไหม ที่ว่า “สิ่งใดล้วนเกิดแต่เหตุ ถ้าดับเหตุได้ ก็จะไม่เกิด” ผมตอบว่า เชื่อ อาจารย์พูดต่อว่า โรคที่คุณเป็นอยู่นี้ ที่มันเป็นเพราะมันมีเหตุ ถ้าเราดับเหตุได้แล้วโรคจะหายไป   ผมนิ่ง อึดอัด ลังเล ไม่รู้จะตอบอย่างไร อาจารย์เห็นผมไม่ตอบก็เลยพูดว่า “ งั้นคุณก็ไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าซิ” ผมเลยยืนยันไปอีกครั้ง  “เชื่อครับ” “ในหลักการผมเชื่อ แต่ยังสงสัยในรายละเอียด”

ความจริงแล้ว ก่อนที่จะมาหาอาจารย์ ผมมีความลังเลอยู่บ้าง เนื่องจากโรคที่ผมเป็นอยู่เป็นโรคที่รักษาไม่หาย เป็นมาหลายสิบปี จู่ๆจะหายไปเฉยๆได้อย่างไง  เลยทำให้ศรัทธาไม่เต็มร้อย  และอีกส่วนหนึ่งเป็นการอยากลองพิสูจน์  พื้นฐานนิสัยของผมชอบปรามาส สมณะ ชี พราหมณ์ ไม่เชื่อใครง่ายๆ เพราะอ่านหนังสือมาเยอะ มีทิฏฐิสูง และที่ผ่านมาแทบจะไม่เจอเรื่องอิทธิฤทธิ ปาฏิหารย์เลย  ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมลังเลที่จะตอบ

อาจารย์กล่าวต่อไปว่า คุณพลาดน่ะ ถ้าคุณมีศรัทธาเต็มร้อย คุณจะหายเลย นี่คุณมาลอง

เอาล่ะครับ ตอนนี้จะเป็นการบอกถึงสาเหตุของการเป็นโรคต่างๆที่ผมได้แจ้งให้อาจารย์ทราบก่อนหน้านี้แล้ว โรคที่ผมเป็นอยู่  คือ ภูมิแพ้,หัวใจ,กระเพาะ,ริดสีดวง,ปวดเข่า,ไขมันสูง  ผมจะไล่ไปทีละโรคนะครับ

โรคภูมิแพ้
อาจารย์ถามว่า รู้ไหมว่าไปทำอะไรมาถึงเป็น  ผมไม่ทราบและนึกไม่ออกว่า กรรมอะไรที่ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้ อาจารย์ถามว่าเคยฉีดยาฆ่าแมลงไหม  ผมนึกออกทันที ตอนเด็กๆเคยพ่นยาฆ่ายุง ฆ่ามด  ฆ่าแมลงตัวเล็กๆอีกหลายอย่าง  อาจารย์บอกว่าให้ผมบอกมาให้หมด เค้าจะได้อโหสิกรรมให้ อาจารย์เห็นเค้ามากับคุณหลายอย่าง    สุดท้ายก็สรุปว่า ยาที่คุณพ่นคุณฉีดใส่แมลงนั้น  ส่งผลให้คุณเป็นโรคภูมิแพ้

โรคที่สอง “หัวใจ”
อาจารย์ถามผมอีกด้วยคำถามเดิมว่า รู้ไหมว่าไปทำอะไรมาถึงเป็น  ผมก็ตอบเหมือนเดิมคือไม่ทราบ
“คุณไปทำร้ายผู้หญิงจนเค้าเกือบจะฆ่าตัวตาย” ผมยอมรับว่าผมหักอกผู้หญิงมาหลายคน ไม่ต่ำกว่า ๕ คน และอาจจะมีที่ไม่ได้ตั้งใจอีกจำนวนหนึ่ง  แต่เรื่องที่จะฆ่าตัวตายนั้น ผมไม่ทราบ   ความเจ้าชู้ของผมเป็นสิ่งที่ผมรู้ตัวมากที่สุด และจำได้ไม่ลืม  อาจารย์ยังบอกอีกว่า  “คนหลังๆเค้าเป็นฝ่ายทิ้งคุณเอง” ผมประหลาดใจมาก  อาจารย์รู้ได้อย่างไร มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

   โรคที่สาม “กระเพาะ”
   อาจารย์พยายามให้ผมนึกหาสาเหตุเอาเอง แต่ผลก็นึกไม่ออก อาจารย์เลยถามว่า เคยวางยาพิษคนไหม
ผมตอบว่าไม่เคย  แล้วถ้าเป็นสัตว์ล่ะ  อ้อ...ผมนึกออกแล้ว  ผมเคยวางยาเบื่อหนู  คุณรู้ไหมว่า มันกินเข้าไป มันจะรู้สึกอย่างไร  มันจะทรมานมาก มันทรมานอย่างไร คุณจะต้องทรมานอย่างนั้น

   โรคที่สี่ “ริดสีดวง”
   ตอนแรกก็นึกไม่ออกว่าไปทำอะไรมา แต่ก็แว๊บขึ้นมาว่า ตอนเป็นเด็ก เคยเอาไม้ไปแยงก้นแมว
อาจารย์บอกว่าใช่  อาจารย์เห็นภาพไม้อยู่ที่ก้นผม   ท่านใดที่เคยเป็นริดสีดวงทวาร คงรับรู้อาการถ่ายเป็นเลือด
ว่าเจ็บแสบแค่ไหน

   โรคที่ห้า “ปวดเข่า”
   โรคนี้ผมรู้สาเหตุมานานแล้ว ตอนเด็กๆผมซนมาก รู้ว่าแมวมีเก้าชีวิต  เลยทดสอบดู ผมจับแมวโยนลงหน้าต่างหลายครั้ง จนแมวขากระเพรก อาจารย์พยักหน้ายอมรับคำพูดของผม และพูดเสริมว่า คุณยังเอาไม้ไปตีขาหมาอีก ผมยอมรับว่าเคยทำ  อาการปวดเข่าของผมมีมาประมาณ ๓๐ ปีแล้ว กรรมมันตามผมเร็วมาก
   เรื่องทำกรรมกับแมวยังมีอีกเรื่อง ที่ยังไม่ได้บอกอาจารย์  คือ ตอนเป็นเด็ก ผมชอบดึงลิ้นแมวออกมาเล่น  กรรมที่ดึงลิ้นแมวนี้  ทำให้ผมต้องถูกหมอดึงลิ้นออกมา เพื่อตรวจลำคอ เนื่องจากผมเป็นภูมิแพ้ ทำให้เจ็บคอบ่อย จนต้องตัดต่อมทอนซิลทิ้ง  ปัจจุบันถ้าผมไปหาหมอเฉพาะโรค  ก็จะถูกดึงลิ้นออกมาตรวจเป็นประจำ ดูซิครับกรรมมันรุมเล่นงานผมอย่างเป็นทีม

   โรคที่หก “ไขมันในเส้นเลือดสูง”
   โรคนี้อาจารย์เฉลยให้ว่า เกิดจากผมเคยเอาอาหารบูดเน่าไปให้คนกิน ผมตอบว่า ถ้าเป็นหมาแมวผมเคย แต่ถ้าเป็นคนผมไม่แน่ใจ จำไม่ได้ นึกไม่ออก


   โดยปรกติแล้ว ผมเป็นโรคต่างๆมากกว่าที่แจ้งไป เรียกได้ว่า เป็นตั้งแต่หัวจรดเท้า จนผมก็ไม่รู้ว่าผมเป็นอะไร  เรื่องนี้อาจารย์เอ่ยปากขึ้นมาก่อนที่ผมจะบอก  แปลกใจเหมือนกันอาจารย์รู้ได้อย่างไง
   อาจารย์แถมให้ผมอีกอย่าง อาการปวดหลังที่เป็นอยู่ เกิดจากผมไปตีหลังงู และไปตีหลังหมา ผมยอมรับว่าเคยไปตีทั้งหลังงูและหลังหมา
   ยังมีอีกอย่างครับ เนื่องจากผมมีทิฏฐิสูงมาก  ผมถามอาจารย์ว่า  ทำไมผมจึงลดทิฏฐิไม่ได้(ชอบปรามาสพระรัตนตรัย)  “คุณเคยลบลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาใว้” ใช่ครับผมทำแบบนั้นอยู่เสมอ  ผมเป็นกังวลกับเรื่องนี้มาก การชอบลบลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะทำให้ผมไม่ประสบความสำเร็จในทางธรรม

   มาถึงไฮไลต์ครับ อาจารย์พูดสรุปว่า “คุณอยากหายภายในกี่วัน” ผมก็อ้ำอึ้ง ลังเล บอกไม่ถูก ตามฟอร์มเดิม ด้วยศรัทธาที่ไม่เต็มร้อย ทำให้ผมคิดในใจว่าจะหายจริงเหรอ  ความรู้สึกนี้ดูเหมือนว่าอาจารย์จะรับรู้ได้
สุดท้ายก็คิดถึงเลข ๑๕ เลยบอกอาจารย์ไปว่าอยากหายภายใน ๑๕ วัน “คุณได้สิทธิ์นั้น” อาจารย์กล่าวอย่างมั่นใจ
ผมได้ยินอาจารย์พูดอย่างนั้น ผมก็ งงๆ  คิดถึงรายการทีวีช่องหนึ่ง
   อาจารย์พูดต่อว่า สิ่งที่คุณต้องการคุณก็ได้ไปแล้ว ตอนนี้อาจารย์จะขออะไรจากคุณบ้าง รับปากได้ไหม

ข้อแรก    ถือศีลห้าอย่างเคร่งครัด อย่าส่งเสริมให้คนทำผิดศีล  ไม่ยินดีเมื่อเห็นคนทำผิดศีล
ข้อสอง   ทำทานให้มากขึ้น ไม่มีปัจจัยก็ให้อนุโมทนาเอา อนุโมทนาไม่ต้องออกเสียงก็ได้
“ที่ผ่านมา คุณทำทานก็จริง แต่ใจไม่มีศรัทธา ทำไปอย่างนั้นเอง ทำให้ได้บุญไม่มาก” อาจารย์พูดเปรยขึ้นมา
ผมก็ยอมรับว่าเป็นจริงตามที่พูด  ประหลาดใจครับ อาจารย์รู้ความในใจของผมได้อย่างไง อันนี้เป็นเรื่องลับของผมไม่มีใครรู้นอกจากผม
ข้อสาม   ทำสมาธิวิปัสสนาทุกวัน
ข้อสี่   ช่วยออกแรงสร้างสถานปฏิบัติธรรมที่นี่ แต่ต้องทำติดต่อกัน ๓ วัน อย่างน้อยเดือนละครั้ง
ข้อห้า   นำเรื่องที่คุยกันวันนี้โพสต์ขึ้นอินเตอร์เน็ต พร้อมแจ้งชื่อที่อยู่และเบอร์โทร


ผมพยักหน้าแทนการรับปาก  พยักหน้านี่ทำได้ใช่ไม๊  ทำได้ครับ ผมรับปากอย่างเต็มใจ  ในใจผมตอนนั้นคิดอย่างลำพองตนว่า ปฏิบัติธรรมง่ายๆอย่างงี้ ผมสบายอยู่แล้ว ปรกติก็ทำอยู่  อาการประมาทและชอบทนงตนของผมมันมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว  ไม่รู้จะละนิสัยแย่ๆอย่างนี้ได้เมื่อไหร่

วันที่ผมไปหาอาจารย์เป็นวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๓  อาจารย์รับปากผม ว่าภายใน ๑๕ วันผมต้องหายจากทุกโรคที่ผมเป็นอยู่ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนั้นวันที่ ๒๘ มีนาคมนี้ ผมต้องหายจากทุกโรค
หลังจากผ่านวันที่ ๒๘ มีนาคมไปแล้ว ผมต้องไปหาอาจารย์อีกครั้ง และผมจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง

   มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า อาจารย์มีอำนาจวิเศษอะไรถึงรู้เรื่องกรรมได้ ขอตอบว่า อาจารย์ขอบารมีพระพุทธเจ้า และบารมีของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ  รวมทั้งการรักษาโรคก็เช่นกัน อาจารย์ไม่ใช่หมอ อาจารย์ขอบารมีพระพุทธเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือมาช่วยรักษา อยากรู้เรื่องอาจารย์มากกว่านี้ ต้องไปพบท่านที่ บ้านสวนพีระมิด ผมจะแนบแผนที่ไว้ในท้ายบทความนี้

   ผมจั่วหัวเรื่องไว้ว่า “คนค้นกรรม” มันมีที่มาครับ ลีลาและท่วงทำนอง ที่อาจารย์จะบอกถึงสาเหตุหรือที่มาของกรรมต่างๆนั้น  อาจารย์จะไม่บอกตรงๆ จะถามก่อนว่า เคยทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม๊  หากไม่รู้ก็จะบอกใบ้ให้บางอย่าง จนคนนั้นถึงบางอ้อ  ความรู้สึกของผมมันเหมือน การสืบสวน สอบสวนของตำรวจ และอีกอย่างความอยากรู้อยากเห็นของผม มันเหมือนการค้นหาอะไรบางอย่าง   เมื่อคิดจนถึงที่สุดแล้ว มันเลยถูกสรุปออกมาเป็น
“คนค้นกรรม” แต่ขอออกตัวแทนอาจารย์ก่อนว่า  อาจารย์ไม่ใช่ตำรวจ  ปรกติอาจารย์จะเป็นคนน่ารัก เป็นกันเองกับทุกคน ถึงแม้บางครั้งอาจพูดดุไปบ้าง แต่ก็ดุเพราะประสงค์ดี ดุได้งามครับ


ข้อมูลของอาจารย์
อาจารย์อุบล  ศุภเดชาภรณ์  ปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ “คุยไปแจกไป” ออกอากาศทาง MVTV ช่องบางกอกทูเดย์ ทุกวันอาทิตย์ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ออกอากาศซ้ำวันจันทร์  เวลา ๐๐.๐๐ – ๐๒.๐๐ น.
สอบถามได้ที่  โทร. 081-820-8468, 081-919-6705, 084-346-2881, 089-962-3271

ข้อมูลผู้เขียน
นายณฐพลสรรค์  เผือกผาสุข
ปัจจุบันอยู่ บ้านเลขที่  69/2 หมู่ 10 ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา  30320
โทร. 089-823-6122
e-mail   nathaponson@gmail.com หรือ  nathaponson@yahoo.co.th


ข้อมูลในการเขียนครั้งนี้เป็นการกล่าวโดยสรุป มิได้ตรงกับที่คุยกันทีเดียว เนื่องจากระหว่างที่คุยกันผู้เขียนไม่ได้อัดเสียงเอาไว้ แต่ยังคงเนื้อหาที่ถูกต้องเอาใว้  หากผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว


แผนที่ไปบ้่านพีระมิดคลิกที่ลิงค์นี้ครับ

www.somtumluang.com
Aeva Debug: 0.001 seconds.
22237  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / เจ้ากรรม นายเวร เมื่อ: มีนาคม 12, 2010, 03:57:56 pm


เจ้ากรรม นายเวร
โดย..หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

"..เจ้า กรรมนายเวร หมายถึงบาปที่เป็นอกุศลที่เราได้ทำไว้กับคนและสัตว์ใน อดีตชาติก็ดี ในชาติปัจจุบันก็ดี อย่างบางคนที่เราฆ่าเขาบ้าง เราทำร้ายเขาบ้าง เขาอาจจะไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมแล้ว ถ้าเป็นเทวดาเขาไม่สนใจแล้ว แต่ไอ้ตัวบาปที่เราทำไว้ อย่างคนที่ไปขโมยของเขา เจ้าของเขาไม่ติดใจแต่ตำรวจมีหน้าที่ตามไม่ใช่อยากตาม แต่กฎหมายให้ตาม

ฉะนั้น กรรมหรือเวรตัวนี้คือกฎหมาย ถ้าหากปฏิบัติในขั้นสุกขวิปัสสโก ก็จะบอกว่าไม่มีตัวตนเพราะไม่เคยเห็น แต่ว่าตั้งแต่ เตวิชโชขึ้นไปเขาเห็น ดังเรื่องที่อาตมาเล่าให้ฟังประกอบเรื่องนี้

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ คืนหนึ่งอาตมาเจริญพระกรรมฐานเสร็จ ก็อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ขณะที่อุทิศส่วนกุศลก็มายืนกันมากแต่ไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวร เป็นคนมาโมทนาบุญ พอเขาโมทนากันเสร็จ ก็มีชายคนหนึ่งคลานเข้ามา ถือขวานเล่มใหญ่

พอ เข้ามาใกล้ก็บอกว่า "ผมกับท่านหมดเรื่องกัน"
อาตมา ก็ถามว่า "หมดเรื่องอะไร"
เขา ก็บอกว่า "หมดเรื่องที่จะต้องติดตามจองล้างจองผลาญกัน"
ก็ ถามอีกว่า "จองล้างจองผลาญฉันทำไม"
เขา ก็บอกว่า "เปล่าครับ ผมไม่ได้จองล้างจองผลาญ"
ก็ ถามว่า "แล้วเข้ามาทำไม"

เขา ก็เลยเล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า "ในอดีตนับเป็นสิบๆ ชาติ ท่านกับผมรบกันมาเรื่อย" เป็นคู่สงครามกัน ตัวเขาเก่งขวานทุกชาติ ส่วนอาตมาเก่งดาบสองมือทุกชาติ ถ้าเวลาให้รบตัวต่อตัว ต้องเอาคู่นี้มารบกัน ถ้าคนอื่นหัวขาด พอถึงเวลากินข้าวก็บอกว่า "พักรบก่อน กินข้าวเสร็จมารบกันใหม่" วันนั้นทั้งวันไม่มีใครเสียท่ากัน

อาตมา ถามว่า "มันมีเวรกรรมอะไรกันล่ะ"
เขา บอกว่า "กฎของกรรมเขาถือว่ามี แต่เวลานี้กฎของกรรมสลายตัวแล้ว"
ก็ เลยถามว่า "เวลานี้ไปเกิดที่ไหน"
เขา ก็บอกว่า "ผมเป็นพรหมครับ"
ถาม ว่า "พรหมยังจองกรรมหรือ"
เขา ตอบว่า "ผมไม่ได้จองแต่กฎของกรรมมันจอง เรื่องของกรรมหนักๆ ระหว่างสงครามหมดกันแค่นี้"



เราอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร เขาจะได้รับหรือไม่ได้รับก็ตาม บุญที่เราทำเป็นผลให้เกิดความสุข ไอ้กรรมต่างๆ ที่เป็นอกุศลที่เราได้ทำไปแล้ว เราไปยับยั้งมันไม่ได้ แต่ทว่าถ้าเราทำกรรมดีให้มีกำลังเหนือบาป บาปต่างๆ ก็จะตามเราไม่ทันเหมือนกัน เรียกได้ว่า เป็นการทำบุญหนีบาป ไม่ใช่ทำบุญล้างบาปทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ที่ไม่ทำความชั่วเลยน่ะไม่มี ดังนั้นถ้าเราจะชดใช้บาปก็คงจะชดใช้กันไม่ไหวมีทางเดียวในกิจของพระพุทธ ศาสนาคือ หนีบาปด้วยการปฏิบัติดังนี้


๑) การคิดถึงคุณพระรัตนตรัยคือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระอริยสงฆคุณ
๒) ทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
๓) มีพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน
๔) มีอิทธิบาท ๔ ทรงตัว
๕) มีการภาวนาให้จิตทรงตัว
๖) พยายามรวบรวมบารมี ๑๐ ประการให้มีในจิตให้ครบถ้วน
๗) พยายามตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการให้หมด
๘) จรณะ ๑๕ ปฏิบัติให้ครบถ้วน

เมื่อมีการทรงตัวดังกล่าวมาแล้วนี้ได้ทั้งหมด ก็เป็นอันว่าไม่ต้องเกิดกันอีกต่อไป นั่นคือตายเมื่อใดก็ไปพระนิพพานอันเป็นแดนที่มีความสุขที่สุด.."


ที่มา  http://www.pranippan.com/
22238  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / ทำบุญแล้วได้บาปเป็นอย่างไร เมื่อ: มีนาคม 12, 2010, 03:52:26 pm

ทำบุญแล้วได้บาปเป็นอย่างไร

โดย..หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง


"..ชาวบ้านเขาทำบุญกันแล้วมีการบวงสรวงอันเชิญเทวดา อันนี้ฉันไม่รู้เขาเชิญให้มาหรือไม่ให้มากันแน่ เราต้องดูส่วนประกอบหลายอย่าง จิตเขาสะอาดแค่ไหน ถ้าสะอาดไม่พอ ท่านได้ยินแต่ว่าท่านไม่มาซะอย่างก็หมดเรื่อง

อย่างทำบุญตามบ้าน ที่เขาทำพิธีอัญเชิญแล้วว่า “สัคเค กาเม จะรูเป ..." บางทีคนเชิญยังเมาแอ่น กลิ่นเหล้าฟุ้ง อย่างนี้เทวดาที่ไหนเขาจะมาล่ะ มีแต่ เปรตกับอสูรกาย มากันเป็นตับ มากันจริง ถ้าเมาแล้วไปว่า “สัคเค.." เข้าแบบนี้พัง

จะเล่าเรื่องให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง คือเรื่องมันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ ตอนนั้นฉันมาช่วยเขาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า 2 ปี มันมีอยู่คืนหนึ่งคนใกล้วัดบ้านเขาห่างจากวัดไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร เขาตาย ญาติพี่น้องเขาก็มานิมนต์พระเณรที่วัดนั้นไปสวดอภิธรรมกันทั้งหมด วันนั้นการเจริญกรรมฐานก็เลยต้องพัก พระเณรไปหมดนี่ เหลือฉันอยู่คนเดียว ฉันไม่ได้ไปกับเขา เรื่องกินผีนี่เลิกกินมานานแล้ว

คืนนั้นฉันอยู่คนเดียว ประมาณสัก 2 ทุ่มหรือ 3 ทุ่ม กำลังนอนอยู่ก็เลยนึกขึ้นมาว่า เอ..เราไปเที่ยวนรก สวรรค์ พรหม นิพพาน ไปเที่ยวมาหมดแล้ว แต่ว่าข้างวัดนี่มันมีอะไรบ้าง เราไม่ได้มองเลย ก็เลยคิดว่าออกไปเดินดูข้างวัดดีกว่า ตัวก็นอนอยู่แต่ใจมันก็เดินออกไปรอบๆ วัด

พอไปถึงหลังวัด ตรงนั้นเขามีกองฟืนสำหรับไว้เผาศพอยู่ ก็ไปเจอะวิมานอยู่หลังหนึ่งใกล้ๆ กับกองฟอน ศาลพระภูมินี่ตามบ้านห้ามตั้งทางด้าน ทิศตะวันตก ถ้าดันไปตั้งทางด้านทิศตะวันตกก็มีหวังฉิบหายและตายโหง

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า อากาศเทวดา เขามาอารักขาอยู่ เราไม่มีสิทธิที่จะใช้อากาศเทวดาเขาได้ เขาไม่ใช่ภุมิเทวดา

เมื่อไปเจอะวิมานหลังนั้นเห็นว่าใหญ่โตพอสมควร เขาก็ไปยืนดู เอ..วิมานของใครวะ บริษัทบริวารข้างล่างมีอยู่ประมาณ 40 เศษ พอเราไปถึงเขาก็ถามพวกนั้นว่า “เฮ้ย..พวกนี้บ้านข้างวัดเขาตาย..ใครไปบ้านหว่า ?”

ที่เขาถามอย่างนี้ เพราะเขาต้องการให้เรารู้ พวกบริษัทก็บอกว่า “ผมไม่ครับ ๆ ๆ” เสียงตอบมาประมาณ 20 เศษ แล้วเขาก็ถามว่า “เป็นอย่างไรบ้างวะ ใครมาบ้าง ไปแล้วได้อะไรมาบ้างล่ะ”
พวกนั้นก็บอกว่า “มันจะไปได้อะไรครับ มันเมากันทั้งบ้าน แม้แต่คนอาราธนาธรรมก็เมาอีเหละเขะขะ"
“ เฮ้ย..มันจะไม่ได้อะไรบ้างเลยหรือ”

“มันไม่ได้อะไรเลยครับ มันมีแต่บาป..บุญไม่มีให้โมทนาเลย”
เราได้ยินแล้วก็จำไว้ พอตอนเช้าพระท่านก็ต้องไปฉันใช่ไหม ฉันเสร็จก็เลยเรียกพระที่เขาปฏิบัติกรรมฐานและมีอารมณ์รู้ได้ให้เข้ามาหา ถามว่า


“นี่..เมื่อคืนนี้ไปสวดที่บ้านนั้น มันเมากันบ้างหรือเปล่า “ เขาบอกว่า
“แหม..หลวงอาครับ มันเมากันหมดทั้งบ้านเลย บารมีเลวครบถ้วนหมด” ก็เลยถามว่า “เวลาแกสวดน่ะ แกสวดให้ผีฟังใช่ไหม”

ที่ว่า "สวดให้ผีฟัง" ก็หมายความว่า สวดตามประเพณีมีฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง ก็เลยถามว่า “เวลาแกสวดน่ะแกเอาจิตดูใครเขาบ้างหรือเปล่า” เขาบอกว่า “ดูครับ” เพราะเคยสอนเขาไว้ว่า เวลาไปสวดอย่าไปเฉยๆ เวลาเขาทำบุญบ้านไหนอย่าไปเฉย ๆ ให้รู้เรื่องด้วย

ก็เลยถามว่า “มีใครมาบ้าง” “มีเปรตกับพวกอสุรกายเป็นตับหมด เปรตมันมาแย่งอาหารกินและพวกอสุรกายมันก็มาแย่งอาหารที่เขาทิ้งแล้วกิน” เลยถามว่า “เทวดาไม่มีเลยหรือ” “ ไม่มีเลยครับ หาไม่ได้เลย”


นี่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ เทวดาองค์นั้นท่านต้องการให้เรารู้เรื่องนี้ จึงถามลูกน้อง ความจริงท่านต้องไปถามทำไม เพราะท่านต้องรู้อยู่แล้ว ที่ท่านทำแบบนี้ก็เพื่อต้องการให้เรารู้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยัน
ฉะนั้นวันทำบุญอย่างให้มีบาปและวันทำบุญจริงๆ เวลาเริ่มอย่าให้มันมีบาปเข้ามาปะทะหน้า ถ้าหากมีบาปเข้ามาปะทะหน้าแล้ว บุญมันเข้าไม่ได้หรอก เพราะบาปกับบุญมันไม่ถูกกัน เริ่มต้นงานก็เชือดไก่ เชือดปลา เลี้ยงเหล้า ฯลฯ อารมณ์มันเป็นอกุศลแล้ว อารมณ์กุศลมันก็เข้าไม่ได้

ถ้าจะทำแบบโลกไม่ช้ำธรรมไม่เสีย วันต้นงานให้มันเรียบร้อยทุกอย่าง อย่าให้มันมีบาปเข้ามาปะทะ ถ้าทำบุญเสร็จกิจที่เป็นเรื่องของพระเสร็จแล้ว จะเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้งกันว่ากันไป ให้มันไปอยู่เสียคนละวัน

แหม..บางบ้านบอกทำบุญเยอะ ทำบุญหมดไปตั้งหลายหมื่น พระฉันไปสักกี่ช้อน และอีตอนพระฉันน่ะเป็นบุญหรือเปล่ายังไม่แน่เลย จิตของเจ้าภาพรับบุญหรือเปล่า บางทีรักษาประเพณีกันเกินพอดีไป พอพระจะให้ศีลเจ้าภาพบอกไม่ว่าง อย่างเขาจะถวายทานก็ไม่ว่าง พระจะเทศน์ไม่ว่างอีก บุญมันมีตรงนี้ ถ้าไม่ว่างตรงนี้ แล้วจะเอาอะไ


ฉะนั้นการทำงานใหญ่ ๆ สู้อานิสงส์ของการถวายสังฆทานไม่ได้แบบนี้ลงทุนเท่าไหร่ ถ้าหากว่ากำลังทรัพย์เรามีไม่มากนัก จะถวายของอย่างละนิดอย่างละหน่อยก็ได้ เขาไม่ได้จำกัดและความกังวลแบบนั้นไม่มี สิ่งที่เป็นบาปแบบนั้นไม่มี ผลที่ได้รับต่างกันกับทำแบบนั้นหลายร้อยเท่า ยิ่งทำงานมากเท่าไร ความกังวลก็มากเท่านั้น กังวลดีก็มี กังวลเลวก็มี บางทีก็โมโหโทโสใช่ไหม “แหม..หมดนี่เสือกมาเมาเกะกะซะอีกแล้ว” เรื่องจริง ๆ เป็นอย่างนี้

อย่างการ ถวายสังฆทาน แบบนี้จิตมันบริสุทธิ์ งานก็ไม่มีกังวลมากไม่ต้องไปเลี้ยงเหล้าใคร เวลาจะรับศีลก็ไม่มีใครมาสะกิดข้าง ๆ ว่าแขกมาเวลาจะถวายทานก็ไม่มีใครมากวนใจ ทำอย่างนี้ได้บุญเยอะ บางบ้านเราขึ้นไป โอโฮ้ลงทุนตั้งเยอะ สมัยก่อนตอนที่เทศน์อยู่ ถ้าลงทุนเป็นพันเป็นหมื่นก็แย่แล้วนะ ค่าของเงินมันสูง บางทีตั้งแต่เริ่มต้นงานจนกระทั่งถึงงานเลิก ทำบุญไม่ได้บุญเลยก็มี

แบบนี้บ่อยๆ ก็เลยเบื่อ ไม่ไปดีกว่า จะไปทำไมถ้าไปแล้วเขาไม่ได้บุญ ไม่ใช่ไม่ได้บุญอย่างเดียวนะ มันได้บาปด้วย บางครั้งเอาพระเป็นลูกจ้างเสียอีก ก็ว่าไปตามเรื่องของเขา จะว่าอะไรก็ว่าตามเรื่อง ต้องการอะไรก็พูดส่งเดช มันก็เป็นการปรามาสไปในตัวเสร็จ สบาย..แบบนี้ลงหลายชั้น ไม่ใช่ชั้นเดียวนะ แบบนี้เขาเรียกว่า "ทำบุญแล้วลงนรก..!
"

จาก - หนังสือ "พ่อรักลูก" โดย..พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
(โพสในเว็บ www.kusolsuksa.com)
(koonkru Jr. Member สมาชิก เป็นผู้โพส)
22239  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / กรรมพาให้เกิด เมื่อ: มีนาคม 12, 2010, 03:44:27 pm

กรรมพาให้เกิด

   คนเราที่มาเกิดก็เนื่องจากกรรมที่ตนเองได้เคยสร้างไว้ในอดีตชาติ บันดาลให้มาเกิด
ตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมไว้ อันเป็นพลังอำนาจของกรรมที่เรียกว่า”ชนกกรรม” หรือกรรมที่พา
ให้เกิด เมื่อกรรมบันดาลให้ไปเกิดในครรภ์ที่ออกลูกเป็นตัว ถ้ากรรมฝ่ายดีมีมากก็จะเกิดเป็น
คน ถ้ากรรมฝ่ายชั่วมากก็จะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่น หมู หมา ช้าง ม้า วัว ควาย

   และถ้ากรรมบันดาลให้เกิดในไข่ คือออกไข่เป็นฟอง แล้วจึงฟักตัว ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดี
ก็เกิดเป็นครุฑ ถ้ากรรมฝ่ายชั่ว ก็จะเกิดเป็น แร้ง กา นก เป็ด ไก่ เป็นต้น

   ในสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีผู้หนึ่งมีชื่อว่า “อานันทเศรษฐี” ถึงแม้ว่าจะเป็นเศรษฐี แต่ก็
เป็นคนตระหนี่ ขี้เหนียวและชอบเอาเปรียบผู้อื่น ทานไม่ให้ ศีลไม่รักษา หาทรัพย์มาได้
เท่าใด ก็เก็บรักษาเอาไว้ โดยไม่ยอมจ่ายอะไรเกินจำเป็น


   แม้จะกินก็อดๆ อยากๆ จิตเต็มไปด้วยความโลภ อยากได้ และก็ยิ่งโลภจัดขึ้นทุกวัน
ที่เกิดเป็นเศรษฐีในชาตินี้ได้ ก็เพราะเคยใส่บาตรพระอรหันต์ ที่มาบิณฑบาตหน้าบ้านใน
อดีตชาติโน้น ต่อมาเมื่อเศรษฐีเฒ่าจะถึงแก่กรรม แต่จิตก็เต็มไปด้วย ความหวงและห่วง
ใยในทรัพย์สมบัติ หน้าดำคร่ำเครียด เพราะฉะนั้นกรรมก็พาให้เกิด จึงชักนำไปเกิดในครรภ์
หญิงจัณฑาลยากจนคนหนึ่ง จากนั้นพลังอำนาจของกรรมอุปถัมภ์ฝ่ายชั่วก็สนับสนุน โดย
ดลบันดาลให้คนจัณฑาลในหมู่บ้านนั้น ซึ่งอดอยากอยู่แล้ว อดอยากหนักเข้าไปอีก ในที่
สุดคนจัณฑาลทั้งหลายก็ได้ประชุมหารือ หาคนที่เป็นกาลกิณีโดยแบ่งเป็น 2 พวก ถ้าพวก
ไหนขัดสนลาภก็แสดงว่าคนกาลกิณีอยู่ในพวกนั้น

   ในที่สุดก็หาพบ หญิงจัณฑาลมีครรภ์ จึงถูกขับไล่ออกไปจากหมู่บ้าน ไปอยู่โดดเดี่ยว
 เที่ยวซัดเซพเนจรไปเรื่อยๆ ได้รับความลำบากเป็นหนักหนาต่อมาได้คลอดลูกหน้าตาน่า
เกลียด น่าชัง ยังกับผีเปรตแสนทุเรศไม่เหมือนคน ซึ่งทารกน้อยโตขึ้นจนรู้เดียงสา ก็ได้
กะลาเป็นสมบัติ แล้วอำลาแม่ เที่ยวขอทานเขาเลี้ยงชีวิต ไปทั่วทุกทิศ วันหนึ่งก็ได้เดินทาง
มาถึงปราสาทอันมโหฬาร ก็คลับคลาว่าคุ้นๆ จึงเดินดุ่มๆเข้าไป จึงถูกไล่ทุบตี

   แต่ด้วยความรู้สึกจิตใต้สำนึกว่า ปราสาทนี้ตนเป็นเจ้าของ จึงจะเข้าไปให้ได้ ในที่สุดก็
ถูกทุบตีจนบอบซ้ำหยุดนิ่ง พอดีขณะนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านมา ด้วยญาณรู้ พระองค์
จึงบอกแก่คนทั้งหลายให้ทราบว่า “ขอทานหน้าเปรตนี้ คือเศรษฐีเจ้าของปราสาทกลับชาติ
มาเกิด” เศรษฐีลูกชายไม่เชื่อ พระพุทธองค์จึงให้เศรษฐีในคราบของขอทานเล่าประวัติของ
ตนในชาติก่อนพร้อมทั้งให้ให้ชี้ขุมทรัพย์อีก 5 แห่ง ที่แอบฝังไว้ไม่ให้ผู้อื่นรู้ก็พิสูจน์ได้ ลูก
เศรษฐีจึงเชื่อเรื่องอำนาจกรรม


   ในเรื่องนี้ แม่ชีก็บรรยายเสมอในเรื่องของอำนาจกรรม ถ้าเกิดมาแล้ว เขาให้เราจำ
ทุกอย่างได้หมดคงวุ่นวายแน่ๆ แต่เมื่อตายแล้ว ธรรมชาติของชีวิตก็ต้องเวียนว่ายตามกรรมที่
ทำมา จึงลบความจำในอดีตหมด แต่ถ้าได้ปฏิบัติกรรมฐานก็อาจล่วงรู้อดีตที่กรรมพาให้เกิด
ก็ได้

ที่มา   http://www.thossaporn.com/article_detail.php?id_edit=9


22240  เรื่องทั่วไป / เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม / เปิดรหัสกรรมด้วยตนเอง เมื่อ: มีนาคม 12, 2010, 03:40:09 pm

เปิดรหัสกรรมด้วยตนเอง

        แม่ชีทศพร กล่าวว่า คนเราพอเกิดมาก็มีรหัสกรรมเป็นของตนเอง เช่นคนนี้มีรหัสเลข 5
   คนนี้มีรหัสเลข 3 คนนี้มีรหัสเลข 9  ซึ่งรหัสดังกล่าวมันมีตัวบอกว่าคนเราจะมีมรณะอย่างไร
   ที่ยกตัวอย่างเป็นการอธิบายเปรียบเปรยให้ฟังเข้าใจได้ง่าย รหัสกรรมไม่ใช่ตัวเลข แต่มัน
   คือตัวบอกว่าคนๆนี้จะเป็นอย่างไร จะเจอเจ้ากรรมนายเวรแบบไหน และจะต้องผ่าน
   บทเรียนอะไรบ้างในชีวิต เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้น
 
   รหัสกรรมจึงเป็นเครื่องชี้จุดดีจุดด้อยบางอย่างของคนเราที่คล้ายจะสั่งสอนไปในตัว
   ว่าเราเคยผิดพลาดกับสิ่งใดมา ในกรณีที่รหัสกรรมบางอย่างเป็นรหัสบอกข้อเสีย เช่นการ
   แพ้อาหารบางอย่าง การกลัวบางสิ่ง ความเกียจคร้านเป็นนิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการ
   แก้ไขโดยวิธีใด วิธีหนึ่ง เพื่อไม่ให้รหัสดังกล่าวติดตัวไปจนตัวตาย รหัสกรรมที่ไม่ดีเหมือน
   การตีตราบบาปลงไปในดวงใจของคนผู้นั้น ความกลัวบางอย่างที่ไม่มีเหตุผล และมีความ
   รุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คือภาวะของกรรมเก่าที่ติดตัวมา ให้เราต้องชดใช้
   เราต้องรู้เท่าทันและหาทางแก้ไข ทั้งทางโลกและทางธรรม

   
        มีตัวอย่างมากมายของคนที่ป่วยด้วยรหัสกรรมประเภทนี้ที่สามารถหายด้วยการปฏิบัติ
   ธรรม เช่น บางคนปวดศีรษะแบบไมเกรนอย่างรุนแรง แม้จะตระเวนรักษาไปหลาย
   โรงพยาบาลก็ยังไม่หาย บางคนพอใช้การนั่งสมาธิเจริญอานาปานัสสติก็สามารถหายขาด
   ได้อย่างอัศจรรย์ สำหรับบางคนอาจจะใช้การรักษาโดยใช้ “อาโปกสิณ” คือการจินตนา
   การถึงความเย็นของน้ำในธรรมชาติมาช่วยดับอาการปวดศีรษะ

        แต่ในกรณีที่เป็นรหัสกรรมที่แสดงถึงข้อดี หรือจุดเด่นในชีวิตของคนๆนั้นก็เป็นการ
   เน้นย้ำว่าเราควรที่พัฒนาความสามารถดังกล่าวเพื่อเป็นการเสริมต่อความสามารถจาก
   อดีตชาติที่ผ่านมา เช่น ให้ลองสังเกตเด็กบางคนจะมีสัมผัสพิเศษชาติที่ผ่านมา เช่น ให้ลอง
   สังเกตเด็กบางคนจะมีสัมผัสพิเศษนั่นเป็นเพราะถ้าตายแบบมีสติ หรือภาวนาก่อนตาย เกิด
   มาก็จะมีสัมผัสที่หกติดมาด้วย สัมผัสที่หกจะมีญาณแรงกล้าแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพลังฌาณ
   สมาบัติก่อนตายและที่สำคัญที่สุดคือการที่จะต่อยอดทางธรรมให้เกิดขึ้นในภพชาติปัจจุบัน
   แต่ส่วนใหญ่ความสามารถพิเศษดังกล่าวมักจะถูกมองว่าเป็นของแปลกและคนที่มีความ
   สามารถดังกล่าวก็จะเกิดความกลัวจนต้องถูกละทิ้งให้เสื่อมไป ยิ่งการละทิ้งความสามารถดัง
   กล่าวหายไปในที่สุด หรือเหลือเพียงความทรงจำลางๆ เท่านั้น

        รหัสกรรม ในส่วนที่เป็นข้อด้อยแก้ไขได้ยาก ลบเลือนได้ยากกว่ารหัสกรรมที่เป็นข้อดี
   ทั้งนี้เพราะรหัสกรรมที่เป็นข้อด้อยนั้นมักเกิดจากอารมณ์ที่รุนแรงในอดีต บางกรณีอย่าง
   การแพ้อาหารชนิดรุนแรงก็ยากที่จะกำจัดทิ้งได้ ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่า ในชาติที่แล้วผู้ที่
   แพ้อาหารชนิดรุนแรงนั้น อาจเคยทำยาเบื่อยาสั่งใส่คนที่เราไม่ชอบด้วยอาหารชนิดนั้นมา
   ก่อน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก แต่นี่ก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น

        ส่วนผู้ที่กลัวของบางอย่าง หรือกลัวภาวะบางอย่างแน่นอนว่าในอดีตย่อมเคยถูกกดดัน
   จากสถานการณ์บางอย่างเช่นถูกขังในที่มืด ตกน้ำตายชาตินี้จึงไม่กล้าเข้าใกล้น้ำ บางกรณี
   รหัสกรรมอาจซ่อนตัวอยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจจนไม่สามารถเห็นทางบุคลิกได้เด่นชัด
   จนกระทั่งมีการประทุออกมา จากความกลัวสุดขีด ความดีใจสุดขีด หรือ อารมณ์ที่ถูก
   ปลดปล่อยออกมาอย่างรุนแรงเมื่อได้รับการกระตุ้น


        รหัสกรรมทุกอย่าง หากถูกไขความลับด้วยปัญญาทางธรรมก็จะทำให้เราสามารถ
   เข้าใจถึงพื้นฐานของคนแต่ละคนได้อย่างลึกซึ้ง และขณะเดียวกันรหัสกรรมก็เป็นสิ่ง
   บ่งชี้ว่า มนุษย์เรานั้นมีการสั่งสมอุปนิสัยใจคอทับถมกันมาแต่อดีตชาติในแต่ละชาตินั้น
   จะมีการสร้างรหัสกรรมของชาตินั้นๆ ขึ้นโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็พาเอารหัสจาก
   อดีตชาติติดตามมาด้วย เมื่อแต่ละชาติผ่านไป ก็จะมีการผสมผสานนิสัยเก่า และนิสัยใหม่
   ผันแปรเป็นรหัสที่ซับซ้อนขึ้นทุกที อย่างไรก็ตามทุกรหัสนั้นสามารถแก้ได้ เพื่อแปลออก
   มาเป็นคำตอบของชีวิตผู้นั้นว่าเราเคยทำกรรมอันใดมา และวันนี้ควรหลีกเลี่ยงกรรมอะไร
   ควรหลีกเลี่ยงวัตถุ อาหาร หรือใครหรือสถานที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ยังเป็นตัวบอกถึงสิ่ง
   ที่เราควรแก้ไขตัวเองเพื่อไม่ให้แพ้สิ่งที่ติดตัวเรามาแต่อดีตชาติ รวมทั้งทำการเพิ่มพูน
   ศักยภาพบางอย่างที่เคยมีมาแต่อดีต

ที่มา  http://www.thossaporn.com/article_detail.php?id_edit=20

หน้า: 1 ... 554 555 [556] 557