ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 4  (อ่าน 2310 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


แม้จะมีเนื้อที่เพียง 2 ไร่เศษ บริเวณด้านทิศเหนือของสวนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ แต่ “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ก็มีองค์ประกอบแห่งพระอารามครบถ้วน และสำคัญเหนืออื่นใดคือ พุทธสถานแห่งนี้เป็นพระอารามประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
       
       ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อสวนกาแฟหลวงที่รกร้าง แล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณี และเพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต เพราะวัดธรรมยุตก่อนๆนั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิม
       
       ในการสร้างพระอารามแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางแผนการก่อสร้างและกำหนดแบบศิลปกรรมในวัดด้วยพระองค์เอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ “ทรงกะไว้” เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างในวัดราชประดิษฐ ว่า
       
       “การที่ปลูกสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงกะเองหมดทั้งนั้น เสด็จทอดพระเนตรการเสมอทุกวันไม่ได้ขาด จนการก่อสร้างล่วงไปได้เปนอันมาก ยังอยู่แต่การช่าง ถึงดังนั้น ก็ได้ทรงกะแล้วทุกอย่าง”

       

       สิ่งที่ทรงกะไว้มีดังต่อไปนี้ “บานหน้าต่างข้างนอกโปรดลายสลักบานประตูวัดสุทัศน์ หลังบานโปรดลายญี่ปุ่นวัดนางชี ท่านก็ทรงสั่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี(จ๋อง)ให้ทำมา ลายเพดานโปรดอย่างวัดราชประดิษฐโบราณและวัดสุวรรณดาราราม แต่ดาวอย่างวัดสุวรรณฯรับสั่งว่าเปนเกือกพวงไป ทรงแก้ไขใหม่ให้เปนอย่างเช่นติดอยู่วัดราชประดิษฐเดี๋ยวนี้ ลายเขียนผนังทรงพระราชดำริเอง เปนเทพชุมนุม ซึ่งเทวดามีรัศมีเปนพวกๆครั้งแรก ซึ่งวัดอื่นเอาอย่าง...”
       
       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้ถมลานรอบพระวิหารหลวงและพระเจดีย์ให้สูงขึ้น เรียกว่า “พื้นไพที” หมายถึงพื้นอันเป็นที่รองรับพระวิหารและพระเจดีย์ของวัด เพื่อให้วัดมีความสง่างามยามน้ำท่วมขัง เนื่องเพราะบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่ม และโปรดให้นำไหกระเทียมมาถมพื้นแทนการตอกเสาเข็ม ทรงให้เหตุผลว่า ดินไหกระเทียมแข็ง ไม่ผุเปื่อยเหมือนดินตุ่ม

       
ไหกระเทียมและตุ่มสามโคก ใต้ฐานพระวิหารหลวง

       ดังนั้น จึงได้มี “ประกาศแผ่พระราชกุศลบอกข้าวบิณฑ์ไหกระเทียมถมพื้นวัดราชประดิษฐ์” ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ประกาศบอกบุญไปยังราษฎรว่า ต้องพระราชประสงค์ไหกระเทียมทำจากดินเมืองจีนมาถมพื้นวัด โดยเปิดรับทั้งไหกระเทียมดีและแตกร้าว หรือนำมาขายให้ก็จะทรงคิดราคาใบละ 1-2 อัฐ
       
       นอกจากนี้ ยังทรงจัด “ละครรับข้าวบิณฑ์ไหกระเทียม” เป็นเวลา 3 วัน เก็บค่าเข้าชมเป็นไหกระเทียม หรือขวด ถ้ำชา โอ่ง อ่าง กระถางจากเมืองจีน นับเป็นพระราชกุศโลบายอันชาญฉลาด ที่เปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ชมละครหลวง และภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์
       
       เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "วัดราชประดิษฐสถิตธรรมยุตติการาม" ครั้นเมื่อสร้างแล้วเสร็จได้เปลี่ยนเป็น "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลารอบวัด รวม 10 หลัก ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ เพื่อให้สามารถทำสังฆกรรมได้ทุกที่ภายในวัด

       

       จากนั้นได้ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว ต่อมาคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช) หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญ 9 ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร เป็นรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เมื่อ พ.ศ. 2408 ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา 3 วัน และทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนปัจจุบัน
       
       ปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานที่สำคัญ ภายในพระอารามแห่งนี้ ได้แก่ พระวิหารหลวง ปาสาณเจดีย์ ปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฎก เป็นต้น

       พระวิหารหลวง ก่ออิฐถือปูนแบบทรงไทย มีมุขหน้า และหลัง ตั้งอยู่บนพื้นไพที ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด ซุ้มประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวงเป็น “ซุ้มมงกุฎจอมแห” ประกอบลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี
       
       ภายในพระวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน คือ พระพุทธสิหังคปฏิมากร ส่วนจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม ภาพพระราชพิธีสิบสองเดือน ภาพการทอดพระเนตรสุริยุปราคาในพระบรมมหาราชวัง

       


       ปาสาณเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ทรงลังกา ประดับด้วยหินอ่อนทั้งองค์ ยกเว้นช่วงปลียอดที่เป็นกะไหล่ทอง องค์พระเจดีย์สร้างเป็นซุ้ม ซุ้มด้านทิศเหนือประดิษฐานพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ปิดทองของสมเด็จพระสังฆราช(สา ปุสฺสเทโว) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. 2410
       
       ปราสาทพระจอมหรือปราสาทพระบรมรูป อยู่ด้านข้างพระวิหารหลวงทางทิศตะวันตก เป็นปราสาทยอดปรางค์ตามแบบศิลปะเขมร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดเท่าพระองค์จริง
       
       ปราสาทพระไตรปิฎก อยู่ด้านข้างพระวิหารหลวงทางทิศตะวันออก เป็นปราสาทยอดปรางค์ศิลปะเขมรเช่นเดียวกัน เป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ

       


       ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ทำการปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั้งวัด และเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระราชพิธีสิบสองเดือนภายในพระวิหาร จากนั้นได้แบ่งพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประดิษฐานไว้ในพระพุทธอาสน์ของพระประธานภายในพระวิหารหลวง
       
       ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่งโดยโปรดเกล้าฯให้สร้างปราสาทใหม่ 2 หลัง คือ ปราสาทพระจอมและปราสาทพระไตรปิฎก แทนปราสาทน้อยที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างไว้ และชำรุดทรุดโทรม จนไม่สามารถซ่อมแซมได้
       
       ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐฯ เมื่อปี 2553 โดยเริ่มจากพระวิหารหลวง ปราสาทพระบรมรูป และปราสาทพระไตรปิฎก ปาสาณเจดีย์ พื้นไพที และอาคารประกอบ ศาลาอเนกประสงค์ 2 หลัง คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2556

       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000110336
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ