สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 29, 2022, 07:15:18 am



หัวข้อ: ปุราณอักษรา - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 29, 2022, 07:15:18 am

(https://obs.line-scdn.net/0hXWrxoT-qB3hPAROpn7d4LxlXBBd8bRR7KzdWexNvDEhnMhR8dmZUHz0EWFRnYxd7b28YG2kdXUFrZUYrcTVOGzgCWUAwZUgue2YNHz1WW0lnZEA/w1200)


ปุราณอักษรา - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)

ร่องรอยการเดินทางของ ก.ไก่ ถึง ฮ. นกฮูก จากอารยธรรมอินเดียโบราณมาสู่ตัวเขียนในปัจจุบัน

เส้นจารเนื้อความพระไตรปิฎกบนแผ่นลานนอกจากจะเป็นหลักฐานแสดงการสืบทอดพุทธธรรมแล้วยังเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงวิวัฒนาการอักษรโบราณบนแผ่นดินไทยอีกด้วย แม้คัมภีร์ใบลานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันจะมีอายุไม่กี่ร้อยปี

แต่อักษรขอม อักษรธรรมล้านนา และอักษรธรรมอีสาน ที่ใช้จารคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานก็เป็นหลักฐานสำคัญที่หลงเหลือมาสู่คนรุ่นปัจจุบันที่สามารถนำไปศึกษาร่องรอยการสืบทอดอักขรวิธีและวิวัฒนาการอักษรโบราณ ซึ่งมีต้นกำเนิดย้อนไปได้ไกลถึงอักษรปัลลวะแห่งอารยธรรมอินเดียในยุคพุทธศตวรรษที่ 11-12


(https://obs.line-scdn.net/0hMz04G_KnElUNTQaE3i5tAlsbETo-IQFWaXtDVlEjSjEnLlcFOSlBMCEYRHklKV0GLXhfMyFRTjUkLlYBZCxaOnpETG1yLVACMyIYMn8aTmQkflA/w1200)

ณ ช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนของประเทศไทยเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณมากมาย อาทิอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรเจนละ อาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น แต่ละอาณาจักรต่างรับอิทธิพลด้านตัวอักษรจากดินแดนภารตะฝ่ายใต้ผ่านการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา

ดั่งปรากฏหลักฐานจารึกอักษรปัลลวะหลายหลักกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย อาทิจารึกเขารัง จังหวัดสระแก้ว นับเป็นศิลาจารึกอักษรปัลลวะที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด จารด้วยภาษาสันสกฤตและภาษาเขมรโบราณบนหินทรายเนื้อหยาบ กำหนดอายุตามปีมหาศักราชที่ระบุในจารึกตรงกับ พ.ศ. 1182


(https://obs.line-scdn.net/0hzAcc616pJW5eGjG_jXFaOQhMJgFtdjZtOix0bQJ0ew51L2U7ZCh2W3gbekJ2KDVofixtW30Gcld6fmI9MHxjXHlIe1Yhfmo9Z3gvCSxNeV93KTA/w1200)

หรือ จารึกเยธมฺมาฯ ซึ่งเป็นคาถาภาษาบาลีคัดจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา ปรากฏบนระเบียงด้านขวาองค์พระปฐมเจดีย์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12

(https://obs.line-scdn.net/0hbrb19zrQPV1fSCmMjEdCCgkePjJsJC5eO35sXgMmYzl6KHkJMyxuOilNMHF3KnoLf30mMy9UZm10eS5bayZ6MnNIY2UgKngKZy03Oi0fYWx2fXM/w1200)

จารึกทั้ง 2 หลักนี้แสดงให้เห็นว่าอักษรปัลลวะในอาณาจักรยุคแรกยังคงรูปแบบสัณฐานต้นฉบับเดิมของอินเดียฝ่ายใต้ไม่เปลี่ยนแปลง

จากนั้น ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 รูปแบบอักษรที่ใช้อยู่ในอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรเจนละ และอาณาจักรศรีวิชัยมีความคลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ยังคงรักษาอักขรวิธีเหมือนอักษรปัลลวะอยู่ เรียกอักษรในยุคนี้ว่า “อักษรหลังปัลลวะ”

และต่อมาช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-19 พัฒนาการของอักษรในแต่ละท้องถิ่นก็ยังดำเนินไปอย่างตลอดต่อเนื่อง แม้อาณาจักรเดิมจะล่มสลายไปและมีอาณาจักรใหม่เข้ามาแทนที่ แต่รูปแบบของตัวอักษรก็ยังได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนและผสมผสานเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นจนเกิดเป็นอักษรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว


(https://obs.line-scdn.net/0hnKInuKrjMWR0FyW1pyROMyJBMgtHeyJnECFgZyh5ZlBfJnQ1SyViCgFAa0hcISY1VHl6BFULO1IMIHRhT3B7BlMXb1wMJHE2TXI7AwZAbVVdI3M/w1200)

อักษรหลังปัลลวะที่ใช้ในอาณาจักรขอมสมัยพระนครซึ่งต่อเนื่องมาจากอาณาจักรเจินละมีพัฒนาการจนกลายเป็น “อักษรขอมโบราณ” อักษรหลังปัลลวะที่ใช้ในอาณาจักรหริภุญชัยซึ่งต่อเนื่องมาจากอาณาจักรทวารวดีก็กลายเป็น “อักษรมอญโบราณ” และอักษรหลังปัลลวะที่ใช้ในอาณาจักรศรีวิชัยก็พัฒนาเป็น “อักษรกวิ”

จึงเห็นได้ว่าอักษรโบราณในแต่ละท้องถิ่นที่มีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณบางส่วนของประเทศไทยในปัจจุบันต่างสืบทอดมาจากอักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะด้วยกันทั้งสิ้น


(https://obs.line-scdn.net/0h8cB79KXgZ0x_TnOdrGkYGykYZCNMInRPG3g2TyMgbi4GenIcSyE0f1odPmBXfiUeX3sufVNSPigCKSMYEC0oelwdOXQALCIaQS5tKw0ZO31WeSE/w1200)

ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรขอมพระนครเสื่อมอำนาจลงและได้มีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ถึงกระนั้นผู้คนในอาณาจักรสุโขทัยก็ยังนิยมใช้อักษรขอมโบราณเพื่อเขียนภาษาบาลี ในภายหลังจึงมีการปรับใช้อักษรขอมโบราณให้เอื้อต่อการเขียนภาษาไทยด้วย จึงเกิดเป็น “อักษรขอมไทยสมัยสุโขทัย”

และเมื่ออาณาจักรอยุธยาได้สถาปนาขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็ได้รับเอาอิทธิพลอักษรขอมจากสุโขทัยไปปรับใช้จนกลายเป็น “อักษรขอมไทยสมัยอยุธยา” แล้วใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ อักษรขอมจึงมีรูปแบบที่เรียกว่า “อักษรขอมไทยสมัยรัตนโกสินทร์”

นอกจากมีการใช้อักษรขอมสุโขทัยแล้ว อาณาจักรสุโขทัยยังมีการใช้อีกอักษรหนึ่งควบคู่กัน คืออักษรไทยสุโขทัยหรือลายสือไทยที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปีมหาศักราช 1205 ซึ่งตรงกับพ.ศ. 1826 ตามที่ระบุไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1


(https://obs.line-scdn.net/0hOc1cRXXaEEwMGgSd3zFvG1pMEyM_dgNPaCxBT1B0GS8gelNINH1DI3ofHGAkeAcbLCwMeXkGHCgmfl8fOC9Zen0bTnRzfVcZNHgaK35NTH0lLQU/w1200)

ทั้งนี้นักวิชาการได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงน่าจะอาศัยอักษรขอมโบราณ และอักษรมอญโบราณซึ่งเป็นอักษรดั้งเดิมที่ใช้อยู่ในท้องถิ่นตั้งแต่ก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นแบบ แล้วพัฒนาจนกลายเป็นอักษรไทย ที่สำคัญคืออักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงนี้เป็นต้นแบบของอักษรไทยทุกยุคทุกสมัยจนมาถึงอักษรไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

(https://obs.line-scdn.net/0h9vy4o-Q0ZllETXKIl5gZDhIbZTZ3IXVaIHs3WhgjOjw6dHILKCs1bDMaanVsf3ZaZCIsOGZRbGtseyAIfikrbGJLOGE7LiMGcS1sPjYaOmhteyI/w1200)

ในขณะที่อาณาจักรสุโขทัยมีการใช้อักษรขอมไทยและอักษรไทย อาณาจักรล้านนาในภาคเหนือก็มีการใช้อักษรธรรมล้านนา ซึ่งเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากอักษรมอญโบราณที่ใช้ในอาณาจักรหริภุญชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 เนื่องจากอักษรธรรมล้านนามีรูปแบบอักษรและอักขรวิธีคล้ายคลึงกับอักษรมอญโบราณมาก

ประกอบกับข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนว่าอาณาจักรล้านนามีการติดต่อกับอาณาจักรหริภุญชัยมาก่อนที่พญามังรายจะผนวกอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับอาณาจักรล้านนา จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าชาวล้านนาในอดีตจะรับวัฒนธรรมหลายด้านโดยเฉพาะด้านตัวอักษรจากอาณาจักรหริภุญชัย


(https://obs.line-scdn.net/0hzzMlGdZbJVVwFTGEo8laAiZDJjpDeTZWFCN0Vix7LmJZcGRUGXN2NAIXfnlYJTdRUHtjMFYJKG1UImJXHCdjZgAUe20PdmALTXcvMgJCeWRZIzE/w1200)

ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าอักษรธรรมนั้น ก็เนื่องด้วยเป็นตัวอักษรที่ใช้บันทึกพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง อิทธิพลอักษรธรรมล้านนาสืบทอดไปยังอาณาจักรล้านช้างซึ่งอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของ 2 อาณาจักรทำให้อาณาจักรล้านช้างรับเอาอิทธิพลด้านพระพุทธศาสนาและรับตัวอักษรธรรมล้านนาไปพัฒนาปรับใช้ในท้องถิ่นจนกลายเป็น “อักษรธรรมอีสาน” ในที่สุด

(https://obs.line-scdn.net/0hApIW1G6tHl90LgqOp-5hCCJ4HTBHQg1cEBhPXChAQT1eSVsATExNbgR7FHNcTVtaVEEGaQIyEjgKFl0NGktXOwMrQGcLSVkLTEsUOAZ5Qm5dF18/w1200)

จากจุดเริ่มต้นแห่งดินแดนภารตะตอนใต้ อักษรปัลลวะได้เป็นแม่แบบของวิวัฒนาการอักษรโบราณในผืนแผ่นดินไทย ผ่านห้วงกาลเวลาเนิ่นนานพันกว่าปี จากอักษรหนึ่งพัฒนาจนกลายเป็นอีกอักษรหนึ่งผ่านการติดต่อปฏิสัมพันธ์ ก่อเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างอาณาจักร ผสมผสานจนมีเอกลักษณ์ของตนเอง

แม้อักขรวิธีและรูปแบบอักษรจะเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม แต่อักษรเหล่านั้นต่างมีกำเนิดจากที่เดียวกัน และบูรพชนชาวไทยก็ได้ใช้อักษรโบราณเหล่านี้จารึกเรื่องราวคดีโลกและคดี
ธรรมผ่านรุ่นสู่รุ่นไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบมา


(https://obs.line-scdn.net/0hHOlWTH4sF2BRLgOxgudoNwd4FA9iQgRjNRhGYw1AGVkoSVQ0Px1EUXYrHUx5GVkycUBaAXEyQFgsHlZmbxgLVicrSVgpHVcxa0odByN5S1F4FwQ/w1200)

(https://obs.line-scdn.net/0hdLTL_32JO2NpNS-yusdEND9jOAxaWShgDQNqYDVbYFRGA3o1UQFoUkU8ZU9BUSlmSVtxBEgpZlcWVStnUgYnB0phZVsWUnw3XVIxBBtiZ1JADXg/w1200)





อ้างอิง :-
- กรรณิการ์ วิมลเกษม. ตำราเรียนอักษรไทยโบราณ อักษรขอมไทย อักษรธรรมล้านนา อักษรธรรม
อีสาน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.
- บุญเตือน ศรีวรพจน์, ประสิทธิ์ แสงทับ. สมุดข่อย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2542.
- สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. พัฒนาการของอักษรไทย. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์พระพุทธศาสนา, 2556.
- กลุ่มอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC) โครงการพระไตรปิฎกวิชาการ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสถาบันธรรมชัย www.mps-center.in.th (http://www.mps-center.in.th)

Thank to : https://today.line.me/th/v2/article/Qwv5PDj (https://today.line.me/th/v2/article/Qwv5PDj)
เผยแพร่ 17 ชั่วโมงที่ผ่านมา • อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน(MPSC)