ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สุวรรณโคมคำ คืออะไร.?  (อ่าน 6 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28559
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
สุวรรณโคมคำ คืออะไร.?
« เมื่อ: วันนี้ เวลา 05:33:38 am »
0




สุวรรณโคมคำ คืออะไร.?

“สุวรรณโคมคำ” เป็นเมืองในตำนานของพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขง ในประเทศลาว ใกล้กันกับเขตพื้นที่เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย ของไทย โดยปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโบราณชิ้นสำคัญอย่างน้อย 2 ฉบับ ได้แก่ ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ (พงศาวดารภาคที่ 72) และตำนานสิงหนวัติกุมาร

สังเกตดูจากชื่อก็คงจะเดาได้ไม่ยากนะครับว่า เอกสารชิ้นที่เล่าเรื่องของเมืองสุวรรณโคมคำ ไว้อย่างละเอียดและพิสดารมากกว่าย่อมเป็นตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ เพราะชื่อก็บอกอยู่ทนโท่แล้วว่า เนื้อหาจะกล่าวถึงเรื่องราวของเมืองดังกล่าวเป็นการเฉพาะ

ในขณะที่ตำนานสิงหนวัติกุมาร ซึ่งเป็นพงศาวดารกษัตริย์สาย “ไทเมือง” ที่เข้าครอบครองดินแดนล้านนามาก่อนราชวงศ์สาย “ไท-ลาว” ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดของเมืองในตำนานเมืองนี้เท่าที่ควรนัก

ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ดูจะเป็นผู้ศักษาเรื่องเมืองสุวรรณโคมคำไว้อย่างละเอียด มีแบบแผนทางวิชาการมากที่สุด โดยจิตรเคยจำกัดความ “ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ” เอาไว้ในหนังสือที่ชื่อ “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” (พิมพ์ครั้งแรกจากเอกสารต้นฉบับของจิตร เมื่อ พ.ศ.2525 หลังจากที่จิตรเสียชีวิตไปสิบกว่าปีแล้ว) เอาไว้ว่า

“ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ…เป็นบันทึกความทรงจำว่าด้วยประวัติความเป็นมาของดินแดนล้านนาก่อนยุคไทยเข้ามาตั้งบ้านเมือง ยุคนั้นเป็นยุคของพวก ‘กรอม’ ตำนานเรื่องนี้จึงเป็นตำนานที่ว่าด้วยเรื่องของกรอมโดยเฉพาะ ไม่มีเรื่องอื่นปน”


@@@@@@@

“กรอม” ที่จิตรว่าก็คือคำเดียวกับคำว่า “ขอม” แต่ในเอกสารโบราณหลายฉบับเขียนด้วยอักขรวิธี จากการถ่ายถอดของสำเนียงเสียงเรียกในแต่ละท้องที่ และยุคสมัยที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น กรอม, กล๋อม, กะหลอม, กำหลอม หรือขอม (ในตำนานของไต, ในภาษาไตลื้อ, ภาษาไทใหญ่, ภาษามูเซอ และหลักฐานของไทย ตามลำดับ) ซึ่งจิตรอธิบายว่าล้วนแล้วแต่หมายถึง “คนที่อยู่ทางใต้”

ส่วนทางด้านทิศใต้ของคนที่เรียกคนอื่นด้วยคำเดียวกันนี้ ในสารพัดสำเนียง จะเป็นชนชาติไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่เฉพาะคำว่า “กรอม” ที่เกี่ยวข้องกับ “สุวรรณโคมคำ” นั้น จิตรว่าหมายถึง “ขอม” คือ “เขมร” จากเมืองอินทปัตถ์ ซึ่งก็หมายถึง เมืองพระนคร ที่ตั้งของนครวัด นครธม หรือเขตเมืองโบราณใน จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาปัจจุบันนั่นเอง

ที่จิตรระบุว่า เมืองสุวรรณโคมคำ เป็นเมืองของพวกขอมโบราณ เป็นเพราะในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำนั้นมีข้อความระบุว่า มีเชื้อสายกษัตริย์ปาฏลีบุตร ในอินเดีย ที่ชื่อ “กุรุวงศา” ได้เดินทางมาเขตเมืองโพธิสารหลวงแล้ว “ขนเอาศิลามา ‘ก่อล้อม’ เป็น ‘กรอม’ รั้วปราการอันเป็นที่อยู่” พระยาเมืองโพธิสารหลวงจึงยกทัพไปปราบแต่พ่ายแพ้ “จึงยกเมืองโพธิสารหลวงให้แก่กุรุวงศากุมารปกครองต่อไป ตั้งแต่นั้นมาจึงได้ชื่อว่าชาวกรอม โดยเหตุที่กุรุวงศากุมารได้ขนเอาศิลามาลิอมเป็นกรอมปราการที่อยู่”

จิตรอธิบายว่า “กรอมปราการ” ที่ “ก่อล้อม” จากศิลา ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำนั้นก็คือ “ปราสาทหิน” คำอธิบายถึงที่มาของคำว่า “กรอม” ในหนังสือโบราณเล่มนี้ จึงเป็นความพยายามอธิบายที่มาที่เรียกชื่อชนชาวเขมรว่า กรอม ซึ่งก็คือ “ขอม” ของผู้แต่งตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ (ซึ่งต่างจากที่จิตรเสนอว่า คำนี้หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ทางใต้)

@@@@@@@

ดังนั้น เมื่อตำนานเมืองสุวรรณโคมคำระบุว่า กษัตริย์ผู้สถาปนาเมืองสุวรรณโคมคำที่ชื่อ “เจ้าสุวรรณทวารมุขราช” นั้น สืบเชื้อสายมาจากเมืองโพธิสารหลวง ซึ่งต่อมาเมืองนี้จะกลายเป็นนครอินทปัตถ์ และตำนานยังอ้างต่อไปด้วยว่า เมื่อพระองค์ก่อร่างสร้างเมืองได้มั่นคงดีแล้ว ประชาชนจากเมืองโพธิสารหลวง ก็พากันอพยพไปอยู่ที่เมืองสุวรรณโคมคำกันวันละนับพันครอบครัวอย่างไม่ขาดสาย แถมกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเมืองแห่งนี้จะล่มสลายยังถูกเรียกว่า พระยากรอมดำ อีกต่างหาก เมืองสุวรรณโคมคำจึงต้องเป็นเมืองของพวกขอม คือเขมรนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ครั้งที่จิตรยังมีชีวิตอยู่ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เคยปรากฏหลักฐานของปราสาทหิน หรือร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรโบราณอื่นๆ ในเขตพื้นที่ใกล้เมืองเชียงแสน และที่อีกฟากของน้ำโขงในฝั่งลาวเลยแม้แต่น้อย แต่กลับมีชนพื้นเมืองที่เรียกว่า “ลัวะ” ที่มีการ “ก่อล้อม” หิน ในทำนองที่ฝรั่งเรียกว่า “standing stone” หรือ “หินตั้ง” อย่างที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่เรียกกันว่า “วงตีไก่” อยู่ให้เพียบ

“กรอม” ในตำนานเมืองสุวรรณภูมิ จึงไม่น่าจะหมายถึงพวกเขมร อย่างที่จิตรเสนอไว้หรอกนะครับ เพราะถ้าจะมีใครที่อยู่ในพื้นที่แถบนั้นมาก่อนพวกไต ก็น่าจะเป็นพวก “ลัวะ” มากกว่า

ที่มาของชื่อเมือง “สุวรรณโคมคำ” นั้น ก็ถูกระบุไว้ในตำนานเรื่องเดียวันนี้ด้วยเช่นกัน ดังที่มีข้อความอ้างไว้ว่า เมื่อคราวที่ เจ้าสุวรรณทวารมุขราช เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อย ถูกใส่ร้ายว่าจะเป็นกาลีบ้าน กาลีเมือง จนถูกพระราชบิดานำไปปล่อยลอยแพบนแม่น้ำขลนที (แม่น้ำโขง) เพื่อให้ลอยออกสู่ทะเลนั้น อยะมหาเสนาบดี ผู้มีศักดิ์เป็นพระอัยกา คือตาของเจ้าชายน้อยองค์นี้ เกิดความสงสารในชะตากรรมของหลานชาย จึงได้ตั้ง “เสาโคมทอง” ที่ริมฝั่งโขงเพื่อขอพรพระพุทธเจ้าให้ได้พบหน้าหลาน

ด้วยบุญบารมีของเจ้าทวารมุขราช บรรดาเทวดาและหมู่พญานาคจึงช่วยกันผลักแพของพระองค์ให้ลอยสวนน้ำกลับเข้าทางปากน้ำโขง แล้วกำบังไม่ให้ใครเห็นเจ้าชายเมื่อแพลอยผ่านเมืองโพธิสารหลวง ในที่สุดแพก็ลอยไปจนถึงเสาโคมทอง ที่อยะมหาเสนาบดี และพระราชมารดาของเจ้าชายที่ชื่อ อุรสาเทวี ประทับอยู่ที่นั่น ทั้งสามคนจึงช่วยกันสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมา แล้วตั้งชื่อเมืองว่า “สุวรรณโคมคำ” แปลว่า “เมืองที่ตั้งของเสาโคมทอง”


@@@@@@@

เกี่ยวกับเรื่องการตั้งเสาโคมทองนี้ ในมหากาพย์สองฝั่งโขงอย่าง “ท้าวฮุ่งขุนเจือง” นั้นก็ได้ระบุว่า มีเมืองอื่นด้วยเช่นกันที่ตั้งเสาแขวนโคมทอง ดังโคลงที่ว่า

    “ทะล่วนล้ำทันที่ เชียงเครือ
     ไสวเรืองเรื่อคำ โคมย้อย
     พรายพรายเหลื้อมวันเจือ จูมเมฆ
     เนืองนาคเกี้ยวทุงสร้อย ใส่ยนต์”


โคลงบทข้างต้นเล่าถึงตอนที่ คนสนิทของขุนเจืองเดินทางไปถึงเมืองเชียงเครือ ของนางง้อม ผู้เป็นชายาของขุนเจือง แล้วพบว่ามีการประดับ “โคมคำ” สูงเทียมเมฆ อยู่คู่กับ “ธง” (ทุง) รูปพญานาค เฉพาะการประดับเสาโคมทองนี้ ดูจะเกี่ยวข้องอยู่กับธรรมเนียมการตั้งเสาเป็นพุทธบูชา ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ โดยจิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตทำนองอย่างนี้ไว้ใน ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม เล่มเดิมเช่นกัน

มหากาพย์เรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจืองนี้ เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ยังไม่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า การตั้งเสาโคมทองอย่างนี้ น่าจะเป็นธรรมเนียมของกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่นับถือศาสนาผี (ซึ่งมีพวกลัวะเป็นหนึ่งในนั้น) มาก่อน ต่อมาเมื่อได้รับเอาศาสนาพุทธเข้ามาแล้ว จึงได้จับบวชให้เป็นการตั้งเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อย่างที่อ้างอยู่ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ

พวก “กรอม” ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำจึงไม่ควรจะเป็นชนชาวเขมรหรอกนะครับ เพราะในช่วงเวลานั้น อาณาจักรเมืองพระนครของเขมร สร้างปราสาทต่างๆ ตามคติในลัทธิเทวราช ที่ถูกฉาบหน้าด้วยศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธแบบมหายาน ไม่ใช่การชักโคมทองขึ้นมาด้วยธรรมเนียมผี ที่ถูกจับบวชให้เป็นพิธีการในพุทธศาสนาแบบเถรวาท

@@@@@@@

ตํานานเมืองสุวรรณโคมคำได้เล่าถึงอวสานของเมืองดังกล่าวเอาไว้อย่างละเอียดลออ แต่อาจจะสรุปโดยย่อได้ว่า เมื่อสมัยพระยากรอมดำครองเมือง ได้ใช้กลโกงริบเอาสินค้าในเรือของมานพหนุ่มนายหนึ่ง แล้วขับไล่จนเขาต้องไปทำไร่อยู่บนเกาะกลางน้ำโขง ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองสุวรรณโคมคำราว 4,000 วา (ประมาณ 8 กิโลเมตร)

ภรรยาของมานพหนุ่มนายนี้ซึ่งเป็นนางนาค รู้เรื่องเข้าก็นำเรือสินค้าไปซ้อนแผนกลโกงของพระยากรอมดำ แล้วพาสามีกลับไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเขาเอง จากนั้นก็นำเรื่องไปบอกพญานาคผู้เป็นพ่อของตนเอง พญานาคทราบความก็โกรธแค้นจึงนำบริวารจำนวนหนึ่งแสนโกฏิตนขึ้นมาขุดควักแม่น้ำโขงจนเมืองสุวรรณโคคำล่มจมน้ำลงไปในที่สุด

แน่นอนว่า เนื้อหาการล่มสลายของเมืองสุวรรณโคมคำมีลักษณะเป็นนิทาน ที่จะถือเอาเป็นจริง เป็นจัง ไม่ได้ทั้งหมด แต่นิทานเรื่องนี้ก็มีร่องรอยให้ทราบได้ว่า สำหรับคนในยุคสมัยที่แต่งตำนานเมืองสุวรรณโคมคำแล้ว เมืองดังกล่าวถึงกาลอวสานเพราะจมลงใต้แม่น้ำโขง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการกัดเซาะจากกระแสน้ำ กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน และอีกให้เพียบสาเหตุที่จะเป็นไปได้

จิตร ภูมิศักดิ์ คนดีคนเดิม ได้สืบสาวร่องรอยจากตำนานเมืองสุวรรณโคมคำแล้วสรุปถึงทำเลที่ตั้งของเมืองสุวรรณโคมคำเอาไว้ว่า

    “เมืองสุวรรณโคมคำตั้งอยู่บน ‘เกาะใหญ่’ ริมแม่น้ำโขงฝั่งลาว ตรงดอนมูล เยื้องปากแม่น้ำกกลงไปทางใต้เล็กน้อย ตรงข้ามบ้านสวนดอก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย”


@@@@@@@

ข้อสันนิษฐานข้างต้นของจิตร สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่าง และดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับของอีกหลายความคิดเห็น โดยเฉพาะจากฟากฝั่งลาว ที่ก็เชื่อว่าเมืองสุวรรณโคมคำนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งโขงฟากลาว บริเวณเดียวกันนั้นเอง

พื้นที่ริมน้ำโขงฟากฝั่งไทยยังมีร่องรอยของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพื้นเมือง ที่ถูกจับบวชเข้าในพุทธศาสนา คือหินใหญ่ในศาสนาผี ที่ถูกสร้างเจดีย์คร่อมไว้อยู่บนหิน ที่รู้จักกันใน “พระธาตุผาเงา” ไม่ต่างอะไรกับการจับบวชเอาเสาโคมทองในศาสนาผี เป็นเครื่องถวายพุทธบูชาในศาสนาพุทธ

ดังที่ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองสุวรรณโคมคำนั่นแหละ

เอาเข้าจริงแล้ว แม้ว่าตำนานเมืองสุวรรณโคมคำจะพูดถึงพวก “กรอม” หรือ “ขอม” ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมือง แต่ก็เป็นชนพื้นเมืองที่เปลี่ยนมาสมาทานความเป็นพุทธเรียบร้อยแล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มเมืองต่างๆ ในวัฒนธรรมล้านนา และล้านช้าง จะเริ่มยอมรับนับถือในพุทธศาสนาในช่วงหลัง พ.ศ.1800 ลงมา ดังนั้น เมืองสุวรรณโคมคำ จึงอาจจะไม่เก่าแก่ไปถึงช่วงก่อน พ.ศ.1800 ตามอย่างเรื่องที่เล่าอยู่ในตำนานเรื่องดังกล่าว

ส่วนอีกฟากของน้ำโขงทางฝั่งลาวนั้น ปัจจุบันคือบริเวณบ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งก็คือ บริเวณพื้นที่ที่เมื่อเร็วๆ นี้พบพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งจมอยู่ใต้น้ำโขง และผมคงไม่ต้องบอกนะครับว่า ทำไมพระพุทธรูปเหล่านี้จึงได้พบจมอยู่ใต้ลำน้ำโขงบริเวณนั้น •


 



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2567
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_769962
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ