ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์คำถวายข้าวพระพุทธในสังคมไทย  (อ่าน 623 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



วิเคราะห์คำถวายข้าวพระพุทธในสังคมไทย
ดร.ชำนาญ เกิดช่อ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน เฉลิมพระเกียรติฯ

บทนำ

สังคมไทยเป็นสังคมแบบพุทธ มีประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับศาสนาพุทธอยู่ในวิถีชีวิตตั้งแต่ ลืมตาดูโลกกระทั่งวายชนม์ เช่น วันสงกรานต์ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และการทำบุญในโอกาส ต่าง ๆ(*1) เป็นเพราะคนไทยส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ ดังผลการสำรวจสถิติประชากรเมื่อปี ๒๕๖๑  จากครัวเรือนตัวอย่าง ๒๗,๙๖๐ ครัวเรือน พบว่า ประชากรไทยร้อยละ ๙๓.๓ นับถือศาสนาพุทธ  รองลงมานับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ ๕.๔) และศาสนาคริสต์ (ร้อยละ ๑.๑) ที่เหลือเป็นผู้ที่นับถือ ศาสนาอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีศาสนา (น้อยกว่าร้อยละ ๐.๑)(*2)

ในประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธนี้ บุคคลสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นผู้ดำเนินพิธีกรรมให้สำเร็จลุล่วงที่ขาดไม่ได้เลยก็คือภิกษุสงฆ์ เพราะท่านทำหน้าที่เจริญพระพุทธมนต์และสวดมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่งาน อันเป็นประเด็นสำคัญ ที่สุดของพิธีกรรม และในพิธีกรรมเหล่านี้จะมีพิธีกรรมเสริมที่สำคัญยิ่งคือการถวายข้าวพระพุทธเสมอ ผู้เขียนมีความสงสัยในประเด็นคำถวายข้าวพระพุทธในสังคมไทยว่า คำถวายนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง.? จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาโดยศึกษาความเป็นมาของการถวายข้าวพระพุทธ คำถวายข้าวพระพุทธใน สังคมไทย แล้วทำการวิเคราะห์และสรุปผล 

@@@@@@@

ความเป็นมาของการถวายข้าวพระพุทธ

พระมหาเถระและนักปราชญ์ทั้งหลายได้ให้มุมมองเรื่องความเป็นมาของการถวายข้าวพระพุทธ ไว้ดังนี้

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ความหมายของคำว่า “ข้าวพระ” ไว้ว่า
    เป็นคำนาม หมายถึง อาหารคาวหวานที่จัดใส่สำรับสำหรับถวายพระพุทธ(*3)

พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ให้ความหมายของคำว่า “ข้าวพระ” ไว้ว่า
    คือ ข้าวที่จัดถวายพระพุทธ เรียกเต็มว่า ข้าวพระพุทธ การถวายข้าวพระเลียนแบบมาแต่สมัย พุทธกาล คือในสมัยนั้นชาวพุทธนิยมเลี้ยงพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อพระพุทธเจ้า ปรินิพพานแล้วและมีประเพณีสร้างพระพุทธรูปกันแล้วเวลาทำบุญเลี้ยงพระจึงจัดที่ตั้งพระพุทธรูป ไว้ด้วย เพื่อแสดงว่ายังมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนิยมจัดอาหารถวายพระพุทธรูปด้วย การถวาย ข้าวพระพุทธเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยอาหาร เหมือนบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน มิใช่ถวายเพื่อให้ พระพุทธเจ้าเสวย และมิใช่เป็นการเซ่นไหว้พระพุทธเจ้า ข้าวพระ ในเวลาถวายมีคำถวายและคำลา เป็นแบบโดยเฉพาะ(*4)

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) กล่าวไว้สรุปความได้ว่า
    “การถวายข้าวพระมีที่มาจาก พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก โดยท่านพระอานนท์ปฏิบัติเป็นประจำด้วยการถวายภัตตาหาร ถวายน้ำฉัน ปูอาสนะนั่งนอน ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ท่านก็ยังปฏิบัติอยู่เช่นเดิม เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าเสมือนว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และเป็นเครื่องแสดงกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระองค์ ต่อมาพระมหากัสสปเถระผู้เป็นใหญ่ได้กล่าวรับรองการกระทำของท่านว่า พระอานนท์เป็นผู้ที่มีกตัญญูกตเวทิตาคุณแก่พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระคุณ”(*5)

พร้อมกันนี้ สมเด็จฯ ท่านได้กล่าวถึงอานิสงส์การถวายข้าวพระพุทธรูป สรุปความได้ว่า
     “การถวายข้าวพระ เป็นการ บูชาความดีของพระพุทธเจ้า เป็นกรรมฐานเรียกว่า “พุทธานุสสติกรรมฐาน” สูงมาก ไม่ใช่ต่ำ ถ้าเวลาเราถวายบางทีเราควบทั้งสามอย่างเลย ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เขาว่า
    “อิมัง สูปะพยัญชนะ สัมปันนัง” แล้วลงท้ายด้วย “พุทธัสสะ ธัมมัสสะ สังฆัสสะ”
     นี่เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ถือว่าเป็นกรรมฐาน และถือว่าเป็นฌานด้วย เพราะจิตเราห่วงอยู่เสมอว่า วันพรุ่งนี้เราจะเอาอะไรถวาย ตัวคิดตัวนี้เป็นฌาน…การถวายข้าวพระพุทธรูป ถ้าเป็นเจตนาเพื่อเป็นพุทธบูชาจริง ก็เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ตั้งใจถวายพระสงฆ์และตั้งใจถวายจริงๆ เป็นวัตถุทานด้วย เป็นสังฆานุสสติกรรมฐานด้วย ถวายแก่พระพุทธเจ้ามีอานิสงส์มากกว่าถวายพระสงฆ์”(*6)

แก้ว ชิดตะขบ กล่าวไว้สรุปความได้ว่า
     ในพิธีทำบุญเลี้ยงพระ มีธรรมเนียมนิยมจัดภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่า การจัดข้าวบูชาพระพุทธ โดยถือสืบกันมาว่า สมัยพุทธกาล พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายนิยมนิมนต์พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปฉันภัตตาหารที่เคหสถานของตน ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระบาลีว่า “พุทฺธปฺปมุโข ภิกฺขุสงฺโฆ: พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” เมื่อถึงเวลาถวายภัตตาหาร ก็นิยมจัดภัตตาหารถวายแด่พระพุทธเจ้าเป็นพิเศษส่วนหนึ่ง...
     อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่า การจัดภัตตาหารถวายพระพุทธรูปนี้มิใช่จัดไปถวายพระพุทธรูปฉันเหมือนอย่างจัดอาหาร ถวายให้พระภิกษุสงฆ์ฉัน หรือไม่ใช่จัดไปเซ่นสังเวยพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างที่จัดอาหารเซ่นภูตผีปีศาจ การจัดภัตตาหารไปถวายพระพุทธรูปนั้น เป็นการจัดไปถวายเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับการจัด เครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย มีดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น...เพื่อบูชาพระคุณอันมีอยู่จริงของพระรัตนตรัย
     เวลาที่เหมาะสำหรับการจัดภัตตาหารไปถวายพระพุทธรูปนั้น เมื่อพระสงฆ์เจริญ พระพุทธมนต์จวบจะจบหรือจบแล้ว ศาสนพิธีกรนิยมยกสำรับคาวหวานไปตั้งที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาโดยตั้ง บนโต๊ะที่ผ้าขาวปูรอง หรือตั้งที่พื้นมีผ้าขาวปูรองแล้วเชิญเจ้าภาพหรือประธานพิธีมาทำพิธีบูชา(*7)


@@@@@@@

บางท่านกล่าวถึงตำนานการถวายข้าวพระพุทธว่า
     “การถวายข้าวพระพุทธเป็นการถือคติในสมัย พุทธกาลที่ว่า “พุทฺธปฺปมุโข ภิกฺขุสงฺโฆ : พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน” จะนิมนต์พระเจริญ พระพุทธมนต์ก็ต้องตั้งพระพุทธรูปเป็นประธาน นิมนต์พระฉันภัตตาหารก็ตั้งพระพุทธรูปเป็นประธาน จึงต้องจัดสำรับภัตตาหารถวายพระพุทธด้วย เปรียบเสมือนถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้า เป็นประธานนั่นเอง”
      และว่า “พระอานนท์มีความเคารพในพระพุทธเจ้ามาก แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานแล้ว ก็ยังปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้เช่นเดิม ทำทุกวัน ไม่ได้ตั้งเพื่อให้พระพุทธเจ้าเสวย แต่ทำเป็นพุทธบูชา เป็นพุทธานุสสติ แสดงความกตัญญูกตเวที พุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลัง เห็นตัวอย่างนี้ จึงได้ใช้แนวการปฏิบัติของพระอานนทเถระเป็นแบบอย่างถึงทุกวันนี้”(*8)

พร้อมกล่าวถึงอานิสงส์ถวาย ข้าวพระพุทธรูปว่า
    “อานิสงส์การถวายข้าวพระพุทธนี้ อาจจะไม่ได้ตรงๆ เหมือนถวายให้พระพุทธเจ้าเสวยหรือถวายให้พระสงฆ์ฉัน แต่เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านกล่าวว่า
     พุทธบูชา มหาเตชะวันโต การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชมีอำนาจมาก หากบูชาพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยก็จะได้อานิสงส์เพิ่ม
     ธัมมบูชา มหาปัญโญ การบูชาพระธรรม มีปัญญามาก คือใคร่ครวญในพระธรรมจนเกิดปัญญา จิตเป็น สมาธิ
     สังฆบูชา มหาโภคะวะโห บูชาพระสงฆ์ นำมาซึ่งโภคะ เพราะเราใช้วัตถุเป็นเครื่องหมาย
     การถวายข้าวพระพุทธเป็นพุทธานุสสติ ช่วงที่ยกข้าวถวาย ช่วงที่กล่าวคำถวาย เป็นพุทธานุสสติทั้งนั้น เพราะจิต เจาะจงไปที่พระพุทธเจ้า
     อานิสงส์แห่งพุทธานุสสติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์นั้นมีอานิสงส์มาก จิตใจ เบิกบาน ผิวพรรณผ่องใส ได้ไปสู่สุคติ”(*9)

บางท่านกล่าวถึงความเป็นมาของการถวายข้าวพระพุทธว่า
     “ในสมัยพุทธกาล เมื่อชาวบ้าน มีศรัทธานิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ตามปกติก็จะมีพระพุทธเจ้าเสด็จไปด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จ ดับขันธปรินิพพานใหม่ ๆ ชาวพุทธยังชินอยู่กับการจัดพุทธอาสน์และภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้า เมื่อนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ก็จัดที่ประทับของพระพุทธเจ้า และจัดภัตตาหารตั้งไว้ เสมือนหนึ่ง ว่า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ด้วย และกลายเป็นธรรมเนียมจัดข้าวพระพุทธ และประกอบ บุญกริยาที่เรียกกันว่า บูชาข้าวพระ หรือถวายข้าวพระ มาจนถึงทุกวันนี้”(*10)

บางท่านกล่าวถึงความเป็นมาของการถวายข้าวพระพุทธว่า
    “ที่มาที่ไปของการถวายข้าวพระพุทธรูป คือ ในสมัยพุทธกาล พระนางมหาปชาบดีโคตมี ต้องการถวายผ้ากับพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสบอกกับพระนางว่าขอให้นางถวายแด่สงฆ์เถิด เมื่อนางถวายแด่สงฆ์ก็ชื่อว่าถวายกับพระพุทธองค์ด้วย โดยพระองค์ทรงแสดงเรื่องสังฆทานว่ามีผลมาก ทรงยกตัวอย่างการถวายสังฆทานกับสงฆ์สองฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข คือเป็นประธานสงฆ์สองฝ่าย (ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
     แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว จะถวายสังฆทานกับสงฆ์สองฝ่ายอันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข  ก็สามารถทำได้ด้วยการตั้งพระพุทธรูปไว้ แล้วถวายกับพระพุทธรูปและสงฆ์สองฝ่าย”(*11)




คำถวายข้าวพระพุทธในสังคมไทย

เมื่อทราบถึงความเป็นมาของพิธีกรรมการถวายข้าวพระพุทธแล้ว ต่อไปนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง คำถวายข้าวพระพุทธในแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มานำเสนอดังนี้

วรุตม์ ทองเชื้อ กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยมิได้แปลความหมายไว้ว่า อิมัง สูปะพ๎ยัญชะนะ สัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ(*12)

ท.ธีรานันท์ กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยแปลความหมายไว้ด้วยว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะ สัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมฯ ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวที่หุงจากเมล็ดข้าว  พร้อมทั้งแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า(*13)

พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยมิได้แปลความหมายไว้ ว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชม ฯ(*14)

ปองไชย ไชยสุทธิเมธีกุล กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยแปลความหมายไว้ด้วยว่า อิมัง ภัตตัง  สะสูปะพะยัญชะนัง สุปะฏิยัตตัง พุทธัสสะ ปูเชมิ อะยัง เม พุทธะปูชา อาสะวักขะยาวะหา โหตุ ฯ  ข้าวพร้อมด้วยแกงและกับอันนี้ อันข้าพเจ้าตกแต่งดีแล้ว ข้าพเจ้าขอบูชาแก่พระพุทธ ขอพุทธบูชาแห่ง ข้าพเจ้านี้ จงนำไปให้ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ เทอญ.(*15)

สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธ โดยแปลความหมายไว้ด้วยว่า อิมัง, สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง, สาลีนัง, โภชะนัง, อุทะกัง, วะรัง,  พุทธัสสะ ปูเชมิฯ ข้าพเจ้าขอบูชาโภชนาหารพร้อมด้วยแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า(*16)

โครงการบรรพชาและอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยแปลความหมายไว้ด้วยว่า อิมัง, สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง, สาลีนัง,  โภชะนัง, อุทะกัง, วะรัง, พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ ข้าพเจ้าขอบูชาโภชนาหารพร้อมด้วยแกงกับ และน้ำ อันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า(*17)

แก้ว ชิดตะขบ กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยแปลความหมายไว้ด้วยว่า อิมํ สูปพฺยญฺชน สมฺปนฺนํ สาลีนํ โภชนํ (โอทนํ) สอุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ. ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี อันสมบูรณ์ด้วยแกงและ กับข้าว พร้อมกับน้ำอันประเสริฐนี้ ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า และบอกวิธีการกล่าวคำบูชาด้วยว่า จะว่าโดยออกเสียงดัง หรือว่าในใจโดยไม่ต้องออกเสียงก็ได้(*18)

พระศักดิ์ดา ฉนฺทโก, ดร. กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยมิได้แปลความหมายไว้ด้วยว่า อิมัง,  สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง, สาลีนัง, โภชะนัง, อุทะกัง, วะรัง, พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ(*19)
 

@@@@@@@

ทองย้อย แสงสินชัย กล่าวถึงคำบูชาข้าวพระพุทธโดยวิเคราะห์ความหมายไว้ด้วย สรุปความ ได้ว่า คำบูชาข้าวพระนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลีว่า

(เขียนแบบบาลี) อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ. 
(เขียนแบบคำอ่าน) อิมัง สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ  ปูเชมิ. 

(แปลยกศัพท์) อหํ อันว่าข้าพเจ้า ปูเชมิ ขอบูชา โอทนํ ซึ่งข้าวสุก สาลีนํ อันบริสุทธิ์ (คืออันดี, อันประณีต) สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ อุทกํ (และ) น้ำ วรํ อันประเสริฐ อิมํ นี้ พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า

(แปลโดยใจความ) ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า

(อภิปราย) ดูคำแปลย่อมชวนให้สงสัยว่า คำบูชานี้กลายเป็น “บูชาข้าวสุก” ไม่ใช่ “บูชา พระพุทธเจ้า” 
(หลักในการใช้คำพูดในภาษาบาลี) ถ้าใช้คำว่า “บูชา” รูปประโยคจะต้องเป็น อิมินา สกฺกาเรน  พุทฺธํ ปูเชมิ. ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้ = ขอบูชา ซึ่ง (ผู้รับ) ด้วย (ของกิน/ ของใช้) ถ้าใช้คำว่า “ถวาย” รูปประโยคจะต้องเป็น อิมานิ ภตฺตานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม. ข้าพเจ้า ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร แก่พระภิกษุสงฆ์ = ขอถวาย ซึ่ง (ของกิน/ของใช้) แก่ (ผู้รับ)

เฉพาะการบูชา ข้าวพระ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยของกิน หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการถวายของกินแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งขัดกับหลักที่ว่า “ของกิน บูชาหรือถวายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น” พูดว่า “ขอบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้า ด้วยของกิน” ก็ขัด พูดว่า “ขอถวาย ซึ่งของกิน แก่พระพุทธเจ้า” ก็ขัด
 
ดังนั้น ในคำบูชาข้าวพระ ผู้รู้ท่านจึงเลี่ยงไปพูดว่า – “อิมํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ” = ขอบูชา ซึ่งของกิน  แก่พระพุทธเจ้า คือพูดว่า “บูชาข้าวพระ” = “บูชาซึ่งข้าวแก่พระ” เพราะพระพุทธเจ้าเป็นเป้าหมาย แห่งการบูชาเท่านั้น ผู้บูชาไม่ได้มีเจตนาจะให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยอาหารนั้นจริง ๆ อาหารจึงอยู่ ในฐานะเป็นเครื่องบูชา ไม่ใช่ “ถวายข้าวพระ” = “ถวายซึ่งข้าวแก่พระ” เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จ มารับข้าวที่เราถวายไม่ได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง “บูชา” แม้ไม่มีผู้มารับของที่บูชานั้น ก็สำเร็จเป็นการบูชา แต่ “ถวาย” ต้องมีผู้มารับของที่ถวายนั้น ถ้าไม่มีผู้มารับ ก็ไม่สำเร็จเป็นการถวาย คงสำเร็จเป็นการบูชา เท่านั้น(*20)
 
บางท่านกล่าวไว้ว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ  ปูเชมิ ฯ ข้าพเจ้าขอบูชาด้วยโภชนะข้าวสาลี พร้อมด้วยแกงกับและน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า(*21)

บางท่านกล่าวไว้ว่า อิมัง สูปะพะยัญชนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ  ปูเชมิ ฯ ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกแห่งข้าวสาลีทั้งหลาย พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้  แด่พระพุทธเจ้า(*22)

บางท่านกล่าวไว้ว่า อิมัง สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ  ปูเชมิ ฯ (ถ้าหลายคนเปลี่ยน ปูเชมิ เป็น ปูเชมะ) แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาโภชนาหาร พร้อมด้วยแกง และกับ อีกทั้งน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า(*23)

@@@@@@@

ว่าโดยสรุปแล้ว คำกล่าวถวายข้าวพระพุทธในสังคมไทย มี ๔ สำนวน คือ 

     ๑) อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ
         ข้าพเจ้า ขอบูชาข้าวที่หุงจากเมล็ดข้าว พร้อมทั้งแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า(*24)

     ๒) อิมัง ภัตตัง สะสูปะพะยัญชะนัง สุปะฏิยัตตัง พุทธัสสะ ปูเชมิ อะยัง เม พุทธะปูชา อาสะวักขะยาวะหา โหตุฯ
         ข้าวพร้อมด้วยแกงและกับอันนี้ อันข้าพเจ้าตกแต่งดีแล้ว ข้าพเจ้าขอบูชา แก่พระพุทธ ขอพุทธบูชาแห่งข้าพเจ้านี้ จงนำไปให้ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะเทอญ(*25)

     ๓) อิมัง, สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง, สาลีนัง, โภชะนัง, อุทะกัง, วะรัง, พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ 
         ข้าพเจ้าขอบูชาโภชนาหารพร้อมด้วยแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า(*26)

     ๔) อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โภชนํ (โอทนํ) สอุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ ฯ
         ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี อันสมบูรณ์ด้วยแกงและกับข้าว พร้อมกับน้ำอันประเสริฐนี้ ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า(*27)


(ยังมีต่อ)




อ้างถึง :-
(*1) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://sites.google.com/site/thophanjuly/prapheni/prapheni-kei yw-kab-sasna [15 พฤศจิกายน 2563].
(*2) สำนักงานสถิติแห่งชาติ, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/News/2561/  N21-09-61-1.aspx [15 พฤศจิกายน 2563].
(*3) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://dictionary.orst. go.th/ [15 พฤศจิกายน 2563].
(*4) พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต), พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ อธิบายศัพท์ และแปลความหมายคำวัด ที่ชาวพุทธควรรู้, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร: สถาบันบันลือธรรม, ๒๕๕๑), หน้า ๑๐๓.
(*5) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=661.0;wap2 [15  พฤศจิกายน 2563].
(*6) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=661.0;wap2 [15  พฤศจิกายน 2563].
(*7) แก้ว ชิดตะขบ, คู่มือพุทธศาสนิกชน, พิมพ์ครั้งที่ ๖, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนา แห่งชาติ, ๒๕๕๖), หน้า ๑๘๐-๑๘๒.
(*8) พระคุ้มครอง, ทำไมต้องถวายข้าวพระพุทธ วิธีถวายข้าวพระพุทธ, [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://pra kum krong. com/6674/[15 พฤศจิกายน 2563].
(*9) พระคุ้มครอง, ทำไมต้องถวายข้าวพระพุทธ วิธีถวายข้าวพระพุทธ, [ออนไลน์], [15 พฤศจิกายน 2563].
(*10) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://lawyer-thai.blogspot.com/2016/08/blog-post_25.html [15  พฤศจิกายน 2563].
(*11) ดูรายละเอียดใน ม.อุ.(ไทย) ๑๔/๓๗๖-๓๘๒/๔๒๔-๔๓๒, (ทักขิณาวิภังคสูตร ว่าด้วยการจำแนก ทักษิณาทาน), [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.dhammahome.com/webboard/ topic/18299 [15  พฤศจิกายน 2563].
(*12) วรุตม์ ทองเชื้อ, บรรณาธิการ, ทำวัตรสวดมนต์แปล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร: สุขภาพใจ, ๒๕๔๒),  หน้า ๑๕๔.
(*13) ท.ธีรานันท์, สวดมนต์ เจ็ดตำนานแปล (ฉบับสหธรรมิก), (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดวงแก้ว, ม.ป.ป.),  หน้า ๓๔๙.
(*14) พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ), มนต์พิธีแปล, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อักษรสมัย, ม.ป.ป.),  หน้า ๒๖๐.
(*15) ปองไชย ไชยสุทธิเมธีกุล, ผู้เรียบเรียง, หนังสือคำถวายทานแบบพิสดาร, (ยโสธร: ร้านไชยเจริญสังฆภัณฑ์,  ๒๕๓๙), หน้า ๓๓.
(*16) สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, คู่มือสวดมนต์แปลและการเจริญวิปัสสนา กรรมฐาน, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (นนทบุรี: นิติธรรมการพิมพ์, ๒๕๕๙), หน้า ๑๕๐.
(*17) โครงการบรรพชาและอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, คู่มือสวดมนต์  ทำวัตรเช้า-เย็น แปล, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ม.ป.ป.), หน้า ๗๒.
(*18) แก้ว ชิดตะขบ, คู่มือพุทธศาสนิกชน, พิมพ์ครั้งที่ ๖, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนา แห่งชาติ, ๒๕๕๖), หน้า ๑๘๒.
(*19) พระศักดิ์ดา ฉนฺทโก,ดร., ผู้เรียบเรียง, วิถีธรรม วิถีล้านนา คู่มือทำวัตร เช้า-เย็น ฉบับแปล และ ศาสนพิธี, (แพร่: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เมืองแพร่การพิมพ์, ๒๕๕๙), หน้า ๕๘.
(*20) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://dhamma.serichon.us/2017/12/05/คำบูชาข้าวพระ-1/(15 พฤศจิกายน  2563).
(*21) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://dhamma.mthai.com/pray/818.html(15 พฤศจิกายน 2563).
(*22) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: http://www.watthasai.net/kamvaipra.html[15 พฤศจิกายน 2563].
(*23) [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.watpitch.com/prayer/2832/[15 พฤศจิกายน 2563].
(*24) ท.ธีรานันท์, สวดมนต์ เจ็ดตำนานแปล (ฉบับสหธรรมิก), หน้า ๓๔๙.
(*25) ปองไชย ไชยสุทธิเมธีกุล, ผู้เรียบเรียง, หนังสือคำถวายทานแบบพิสดาร, หน้า ๓๓.
(*26) สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, คู่มือสวดมนต์แปลและการเจริญวิปัสสนา กรรมฐาน, พิมพ์ครั้งที่ ๕, หน้า ๑๕๐.
(*27) แก้ว ชิดตะขบ, คู่มือพุทธศาสนิกชน, พิมพ์ครั้งที่ ๖, หน้า ๑๘๒.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 02, 2023, 08:36:25 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: วิเคราะห์คำถวายข้าวพระพุทธในสังคมไทย
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2023, 11:55:01 am »
0



วิเคราะห์

ผู้เขียนขอยกคำถวายข้าวพระพุทธทั้ง ๔ แบบมาวางตรงนี้เพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไปดังนี้

แบบที่ ๑. ว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โอทะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ  แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวที่หุงจากเมล็ดข้าว พร้อมทั้งแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้ แด่ พระพุทธเจ้า (สำนวนทองย้อย แสงสินชัย แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและ กับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า) 

แบบที่ ๒. ว่า อิมัง ภัตตัง สะสูปะพะยัญชะนัง สุปะฏิยัตตัง พุทธัสสะ ปูเชมิ อะยัง เม พุทธะปูชา อาสะวักขะยาวะหา โหตุ ฯ แปลว่า ข้าวพร้อมด้วยแกงและกับอันนี้ อันข้าพเจ้าตกแต่งดีแล้ว ข้าพเจ้าขอบูชาแก่พระพุทธ  ขอพุทธบูชาแห่งข้าพเจ้านี้ จงนำไปให้ถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะเทอญ 

แบบที่ ๓. ว่า อิมัง สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง สาลีนัง โภชะนัง อุทะกัง วะรัง พุทธัสสะ ปูเชมิ ฯ  แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาโภชนาหารพร้อมด้วยแกงกับ และน้ำอันประเสริฐนี้แด่พระพุทธเจ้า

แบบที่ ๔. ว่า อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โภชนํ (โอทนํ) สอุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ ฯ 
แปลว่า ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี อันสมบูรณ์ด้วยแกงและกับข้าว พร้อมกับน้ำอันประเสริฐนี้ ข้าพเจ้า ขอบูชาพระพุทธเจ้า

คำถวายข้าวพระพุทธที่นิยมกล่าวคือ แบบที่ ๑ ว่า อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ ฯ แต่บางครั้งใช้ว่า อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โภชนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ ฯ  ต่างกัน ๑ คำ คือ โอทนํ กับ โภชนํ นอกนั้นเหมือนกัน 

เมื่อมาดูหลักภาษาบาลีแล้ว ลักษณะการใช้คำดูแปลกๆ เหมือนที่ทองย้อย แสงสินชัย กล่าวไว้ว่า
     คำบูชานี้กลายเป็น “บูชาข้าวสุก” ไม่ใช่ “บูชาพระพุทธเจ้า”
     ถ้าใช้คำว่า “บูชา” รูปประโยคจะต้องเป็น  อิมินา สกฺกาเรน พุทฺธ ปูเชมิ ฯ ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้
     ถ้าใช้คำว่า “ถวาย”  รูปประโยคจะต้องเป็น อิมานิ ภตฺตานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม ฯ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายซึ่งภัตตาหาร แก่พระภิกษุสงฆ์

แต่ทองย้อย แสงสินชัย ก็หาเหตุผลมาสนับสนุนว่า คำกล่าวดังกล่าวถูกต้อง โดยกล่าวว่า เฉพาะการบูชาข้าวพระ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยของกิน หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการถวายของกินแก่พระพุทธเจ้า
     ซึ่งขัดกับหลักที่ว่า “ของกิน บูชาหรือถวายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น”
     พูดว่า “ขอบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้าด้วยของกิน” ก็ขัด
     พูดว่า “ขอถวาย ซึ่งของกินแก่พระพุทธเจ้า” ก็ขัด

ดังนั้น ในคำบูชาข้าวพระ ผู้รู้ท่านจึงเลี่ยงไปพูดว่า “อิมํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ” ขอบูชา ซึ่งของกินแก่พระพุทธเจ้า คือพูดว่า “บูชาข้าวพระ” “บูชาซึ่งข้าวแก่พระ” เพราะพระพุทธเจ้าเป็นเป้าหมายแห่งการบูชาเท่านั้น 

@@@@@@@

แต่อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า คำถวายข้าวพระพุทธที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่ถูกต้อง ตามหลักภาษา เพราะสำนวนบาลีที่ว่า
    “อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วร ํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ ฯ  แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เพียบพร้อมด้วยแกงและกับ และน้ำอันประเสริฐนี้  แก่พระพุทธเจ้า”
     แปลมุมไหนก็หมายถึง “การบูชาข้าวสุก” อยู่นั่นเอง ไม่ใช่บูชาพระพุทธเจ้า เรียกได้ว่า การแต่งบาลีเช่นนี้ เป็นบาลีแบบไทย ๆ ไม่ถูกต้องตามบาลีแท้

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอคำกล่าวถวาย ข้าวพระพุทธในมุมมองใหม่ไว้ ๓ แบบ คือ

๑. อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ สอุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ททามิ ฯ 
(แบบใหม่ที่ใกล้เคียงของเดิมที่สุด) แปลว่า ข้าพเจ้าขอถวายข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เพียบพร้อมด้วย แกงและกับนี้ พร้อมทั้งน้ำอันประเสริฐ แก่พระพุทธเจ้า

๒. อิมินา สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺเนน สาลีโนทเนน สอุทเกน วเรน พุทฺธํ ปูเชมิ ฯ 
(แบบใหม่ที่คำบาลีห่างจากของเดิมแต่ความหมายเหมือนของเดิมแถมถูกหลักภาษาด้วย)  แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เพียบพร้อมด้วยแกงและกับนี้ พร้อมทั้ง น้ำอันประเสริฐ

๓. อิมินา สกฺกาเรน สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺเนน สาลีโนทเนน สอุทเกน วเรน พุทฺธํ ปูเชมิ ฯ 
(แบบใหม่ที่คำบาลีห่างจากของเดิมแต่ความหมายเหมือนของเดิมแถมถูกหลักภาษาด้วยถูกหลัก ที่ว่าของกินถวายเฉพาะผู้มีชีวิตอยู่ด้วยเพราะใช้เป็นเครื่องสักการะแทน) แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชา พระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้ คือข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เพียบพร้อมด้วยแกงและกับพร้อมทั้งน้ำอันประเสริฐ


@@@@@@@

สรุป

คำถวายข้าวพระพุทธที่ใช้ในปัจจุบัน มี ๔ สำนวน สำนวนที่นิยมมากที่สุด คือ
    อิมํ สูปพฺยญฺชน สมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ ฯ
    แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ที่เพียบพร้อมด้วยแกงและกับนี้ พร้อมทั้งน้ำอันประเสริฐ แก่พระพุทธเจ้า
    แต่สำนวนนี้ไม่ถูกต้องตามหลักภาษา และเมื่อแปลออกมาแล้ว มีความหมายไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้บูชาที่ต้องการจะบูชาพระพุทธเจ้า มิใช่บูชาข้าวสุก

ดังนั้น ผู้เขียนจึงนำเสนอคำถวายข้าวพระพุทธแบบใหม่ให้ถูกต้องทั้งหลักภาษาและเจตนารมณ์ ของผู้บูชา ๓ แบบ คือ
 
     ๑) อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ สาลีนํ โอทนํ สอุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ททามิ ฯ
         แปลว่า ข้าพเจ้า ขอถวายข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เพียบพร้อมด้วยแกงและกับนี้ พร้อมทั้งน้ำอันประเสริฐ แก่พระพุทธเจ้า

     ๒) อิมินา สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺเนน สาลีโนทเนน สอุทเกน วเรน พุทฺธํ ปูเชมิ ฯ
         แปลว่า ข้าพเจ้า ขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เพียบพร้อมด้วยแกงและกับนี้ พร้อมทั้งน้ำอันประเสริฐ 

     ๓) อิมินา สกฺกาเรน สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺเนน สาลีโนทเนน สอุทเกน วเรน พุทฺธํ ปูเชมิ ฯ 
         แปลว่า ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้ คือข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เพียบพร้อมด้วยแกง และกับพร้อมทั้งน้ำอันประเสริฐ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของผู้เขียนเอง ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า ถูกต้องสมบูรณ์ เพราะยังขาด หลักฐานสำคัญบางประการอยู่ เช่น ผู้แต่งคำถวายข้าวพระพุทธเดิม ธรรมเนียมการถวายและการบูชา แบบอินเดียโบราณ แต่หากท่านผู้อ่านเห็นด้วย ก็ฝากพิจารณานำไปเผยแพร่และนำไปปรับใช้ให้ถูกต้อง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป









บรรณานุกรม :-
- แก้ว ชิดตะขบ. คู่มือพุทธศาสนิกชน. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนา แห่งชาติ, ๒๕๕๖.
- โครงการบรรพชาและอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. คู่มือ สวดมนต์ ทำวัตรเช้า-เย็น แปล. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ม.ป.ป.
- ท.ธีรานันท์. สวดมนต์ เจ็ดตำนานแปล (ฉบับสหธรรมิก). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ดวงแก้ว, ม.ป.ป. 
- ปองไชย ไชยสุทธิเมธีกุล, ผู้เรียบเรียง. หนังสือคำถวายทานแบบพิสดาร. ยโสธร : ร้านไชยเจริญ สังฆภัณฑ์, ๒๕๓๙. 
- พระครูอรุณธรรมรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ). มนต์พิธีแปล. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษรสมัย, ม.ป.ป.
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต). พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ อธิบาย ศัพท์และแปลความหมายคำวัด ที่ชาวพุทธควรรู้. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร :  สถาบันบันลือธรรม,๒๕๕๑.
- พระศักดิ์ดา ฉนฺทโก, ผู้เรียบเรียง. วิถีธรรม วิถีล้านนา คู่มือทำวัตร เช้า-เย็น ฉบับแปล และศาสนพิธี. แพร่ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด เมืองแพร่การพิมพ์, ๒๕๕๙.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพ มหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- วรุตม์ ทองเชื้อ, บรรณาธิการ. ทำวัตรสวดมนต์แปล. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร : สุขภาพใจ, ๒๕๔๒.
- สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. คู่มือสวดมนต์แปลและการเจริญ วิปัสสนากรรมฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๕. นนทบุรี : นิติธรรมการพิมพ์, ๒๕๕๙.
- [ออนไลน์], แหล่งที่มา : https://www.dhammahome.com/webboard/topic/18299 (๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓).
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=661.0;wap2 (๑๕  พฤศจิกายน ๒๕๖๓).
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=661.0;wap2 (๑๕  พฤศจิกายน ๒๕๖๓).
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.watthasai.net/kamvaipra.html[๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓].
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://dhamma.mthai.com/pray/818.html[๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓].
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/thophanjuly/prapheni/prapheni-kei yw-kabsasna [๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓].
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.watpitch.com/prayer/2832/[๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓].
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://lawyer-thai.blogspot.com/2016/08/blog-post_25.html  [๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓].
- [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://dhamma.serichon.us/2017/12/05/คำบูชาข้าวพระ-1/ [๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓].
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : https://dictionary.orst. go.th/ [๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓]
- พระคุ้มครอง. ทำไมต้องถวายข้าวพระพุทธ วิธีถวายข้าวพระพุทธ. [ออนไลน์], แหล่งที่มา :https:// prakum krong. com/6674/[๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓].
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ. [ออนไลน์], แหล่งที่มา : http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/News/  2561/ N21-09-61-1.aspx [๑๕พฤศจิกายน ๒๕๖๓]. 

ขอบคุณภาพจาก :-
- https://static.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5Fa4Mu5W8CBZNwnvMOsbSKujomxHIr83w20QlD1H0jlfRYdQN6KOrP.webp
- https://mpics.mgronline.com/pics/Images/557000001361401.JPEG
- https://image.makewebeasy.net/makeweb/m_1920x0/C8aLWvG5A/DefaultData/306005392_520765363387913_6389565461786062267_n.jpg?v=202305101549
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 02, 2023, 12:05:43 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ