ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ได้ชื่อว่า “อวินิปาตบุคคล” เหตุจากบูชารอยพระพุทธบาท  (อ่าน 573 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ขอบคุณภาพจาก : shutterstock.com / pungpuiwa


อานิสงส์ของการบูชารอยพระพุทธบาท

เรื่องของอานิสงส์นั้นเป็นความเชื่อของผลที่เกิดจากการกระทำความดี เช่นเชื่อว่าเมื่อกระทำความดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะได้รับผลจากการกระทำนั้นอย่างไร ดังนั้นอานิสงส์ของการบูชารอยพระพุทธบาท ก็น่าจะหมายถึง เมื่อบุคคลใดได้บูชารอยพระพุทธบาทแล้วจะได้รับผลดีอย่างไรบ้าง.? หรือได้รับผลตอบแทนในทางที่ดีอย่างไรบ้าง.?

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ฉบับปรับปรุงจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ หน้า ๙๑๗ ได้กล่าวถึงความหมายของอานิสงส์ว่า(-1) หมายถึง ผลแห่งกุศลกรรม, ผลบุญ, ประโยชน์

@@@@@@@

เว็บแดนนิพพาน(-2)  ได้กล่าวถึง อานิสงส์ของการบูชารอยพระพุทธบาท ว่า...
 
   - บุคคลใด คือ คฤหัสถ์ หรือนักบวชทั้งหลายทั้งหญิงชาย ได้สักการบูชารอยพระพุทธบาทด้วยปรมามิสบูชาทั้งหลาย เป็นต้นว่า ข้าวตอก ดอกไม้ ข้าวน้ำโภชนาหาร ข้าวเปลือก ข้าวสาร สิ่งของ เงินทอง แก้ว แหวนมุกดาหาร วัตถาภรณ์ประทีป ธูป เทียน ฉัตร ธง ร่ม น้ำร้อน น้ำเย็น ไม้สีฟัน ด้วยอันเคารพอย่างยิ่งก็ดี
   - ได้จดจำเรื่องราวของตำนานไว้ก็ดี
   - ได้แสดงบอกกล่าวเล่าให้ท่านผู้อื่นฟังก็ดี
   - ได้แสดงความเคารพด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ดี
   - ได้เทศน์ให้คนและเทวดาทั้งหลายได้ฟังก็ดี
   - เมื่อเทศน์หรือเมื่อฟัง ก็ฟังด้วยเคารพเกิดความเลื่อมใสยินดีในพระพุทธบาทและพระบรมธาตุ ที่พระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จไปเผยแพร่พระศาสนา ทรงเหยียบรอยพระบาทและประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี
   - และเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้เพื่อให้เป็นที่สักการบูชากราบไหว้ของคนและเทวดาทั้งหลายก็ดี


@@@@@@@

ทั้งหญิงชายคฤหัสถ์นักบวชทั้งหลายนั้น ก็จะได้ผลานิสงส์เป็นอันมาก จนไม่อาจที่จะกำหนดนับได้ ท่านทั้งหลายที่กระทำดังกล่าวมา ได้ชื่อว่าเป็น “อวินิปาตบุคคล” คือ บุคคลที่ไม่มีโอกาสไปเกิดในอบายทั้งสี่ มีแต่จะพุ่งดิ่งตรงต่อพระนิพพาน เพราะบุคคลนั้น...

   • เสมอดังได้รู้ได้เห็นและได้ปฏิบัติอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ประการหนึ่ง
   • เสมอดังได้อภิวาทกราบไหว้บูชา และเสมอดังได้ถวายจตุปัจจัยทุกวัน ประการหนึ่ง
   • เสมอดั่งได้พูดได้คุยได้ถามปัญหาซึ่งพระพุทธเจ้าทุกวันทุกเวลา ประการหนึ่ง
   • เสมอดังได้เดินตามหลังพระพุทธเจ้าทุกบาททุกก้าว ประการหนึ่ง
   • เสมอดังได้สดับตรับฟังพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาคำสอนทุกเวลา ประการหนึ่ง
   • เสมอดังได้ปลูกสร้างพระเจดีย์ พระวิหารอันเป็นที่สำราญของพระบาทพระธาตุเจ้าทั้งหลายที่ได้กล่าวมาทุกแห่ง ประการหนึ่ง
   • เสมอดังได้น้อมตนเข้าไปสักการบูชากราบนบอุปัฏฐาก พระพุทธบาทและบรมธาตุทุกเวลา ประการหนึ่ง
   • เสมอดังได้บำเพ็ญกุศลส่วนบุญด้วยปาก ด้วยกายและด้วยใจทุกเวลา (อีกประการหนึ่ง/ผู้คัดลอก)

@@@@@@@

ด้วยเดชแห่งผลานิสงส์ดังนี้
 
    1. จะอุปถัมภ์ค้ำชู อุดหนุนให้ตั้งอยู่ในทางที่ชอบ
    2. ประกอบด้วยยศศักดิ์ชื่อเสียงที่เลื่องลือ
    3. เป็นผู้ฉลาดมีญาณปัญญายิ่งกว่าคนทั้งหลาย
    4. ภัยอันตรายต่างๆ ก็ดี โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ดี อุบาทว์และศัตรูต่างๆ ก็ย่อมจะระงับดับหายไป
    5. จะสัมฤทธิ์สมบูรณ์ด้วยสิ่งของเงินทอง ข้าวเปลือกข้าวสาร ทั้งปศุสัตว์จักอุดมด้วยฤทธิ์เดชยิ่งนัก
    6. จะประสบสุขในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ยิ่งกว่าคนและเทวดาทั้งหลาย
    7. หากว่ามีบุญสมภารมาก ก็จะได้ถึงพระนิพพานในศาสนาของพระพุทธเจ้าโคตมะนั้นแน่นอน
    8. แม้นว่าบุญสมภารยังไม่บริบูรณ์เต็มที่ ยังจะต้องท่องเที่ยวเวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร จะไม่ได้ไปเกิดในอบายทั้งสี่แม้แต่ครั้งเดียว
    9. จะได้เห็นพระศรีอริยเมตไตรย และจะได้ถึงมรรคผลธรรมในศาสนาแห่งพระศรีอริยเมตไตรยนั้น โดยไม่ต้องสงสัยแล







ขอบคุณที่มา : (ส่วนหนึ่ง)ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง การวิเคราะห์ความเชื่อและการบูชาเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทของชาวพุทธล้านนา โดย นายโสภณ จาเลิศ , ดุษฎีนิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๙ , ลิขสิทธิ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่

อ้างอิง :-
(-1)  ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ฉบับปรับปรุงจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร: สํานักพิมพ์ อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๓๐), หน้า ๙๑๗.
(-2)  เว็บแดนนิพพาน, ตามรอยพระพุทธบาทจังหวัดแม่ฮ่องสอน, [ออนไลน์] ,
แหล่งที่มา : http://www.dannipparn.com/thread-1183-1-1.html ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๙ .
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ