ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ  (อ่าน 324 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



อักขรวิธี (บาลีวันละคำ 3,911)

อักขรวิธี รู้วิชานี้ก็พออ่านออกเขียนได้ อ่านว่า อัก-ขะ-หฺระ-วิ-ที ประกอบด้วยคำว่า อักขร + วิธี

@@@@@@@

(๑) “อักขร”

เขียนแบบบาลีเป็น “อกฺขร” อ่านว่า อัก-ขะ-ระ รากศัพท์มาจาก

(1) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขร (ของแข็ง), แปลง น เป็น อ, ซ้อน กฺ : น + กฺ + ขร = นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่เป็นของแข็ง”

(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขรฺ (ธาตุ = พินาศ) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง น เป็น อ, ซ้อน กฺ : น + กฺ + ขรฺ = นกฺขรฺ + อ = นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่พินาศไป” (คือไม่ถึงความเสื่อมสิ้นไป)

(3) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + อร ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อี ที่ ขี (ขี > ข), แปลง น เป็น อ, ซ้อน กฺ : น + กฺ + ขี = นกฺขี > นกฺข + อร = นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่สิ้นไป” (คือใช้ไม่มีวันหมด)

“อกฺขร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้
   - เป็นคำนาม หมายถึง เสียงที่เปล่งออก, เสียงสูงต่ำ, คำ, ถ้อยคำ (sounds, tones, words)
   - เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มั่นคง, คงเส้นคงวา, ทนทาน, ยั่งยืน (constant, durable, lasting)

“อกฺขร” ในภาษาไทยใช้ตามรูปบาลีเป็น “อักขร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อักขระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
    “อักขร-, อักขระ : (คำนาม) ตัวหนังสือ. (ป.; ส. อกฺษร).”

และใช้ตามสันสกฤตเป็น “อักษร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
    “อักษร, อักษร- : (คำนาม) ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ เช่น ฉลาดรอบรู้ในอักษรสยาม. (ส.; ป. อกฺขร).”

     ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “อักขร-”

@@@@@@@

(๒) “วิธี”

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต -ธิ สระ อิ ไม่ใช่ -ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) : วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิธิ” เป็นอังกฤษ ดังนี้
    (1) form, way ; rule, direction, disposition, method, motto (แบบ, ทาง, กฎ, ทิศทาง, การจัดแจง, วิธี, คำขวัญ)
    (2) luck, destiny (โชค, เคราะห์)

“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า
    (1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.
    (2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.
    (3) กฎ, เกณฑ์.
    (4) คติ, ธรรมเนียม.

@@@@@@@

อักขร + วิธี = อักขรวิธี แปลตามศัพท์ว่า “แบบแผนแห่งอักษร”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“อักขรวิธี : (คำนาม) วิธีเขียนและอ่านหนังสือให้ถูกต้อง, ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยตัวอักษร การอ่าน การเขียน และการใช้ตัวอักษร. (ป.).”




ขยายความ

“อักขรวิธี” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ

หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า

บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑

[๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑, สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑
[๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑
[๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วย **การก และประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน
[๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์

*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์
**การก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกไว้ว่า
   การก : (กา-รก) น. ผู้ทำ.
   การก : (กา-รก) ก. กริยาที่ทำหน้าที่ประธาน กรรม หรือส่วนขยายของประโยคที่คล้ายกับนาม มี ๕ ชนิด คือ กรรตุการก กรรมการก การิตการก วิกัติการก และวิเศษณการก.

@@@@@@@

ชวนสังเกต

ข้อความที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าเต็มไปด้วยศัพท์วิชาการเกี่ยวกับไวยากรณ์ แต่ละศัพท์ต้องมีคำอธิบายขยายความต่อไปอีกมากจึงจะเข้าใจได้ว่าคืออะไรหรือหมายถึงอะไร บาลีวันละคำทำหน้าที่เพียงเสนอเป็นข้อมูลเบื้องต้น ผู้สนใจพึงขวนขวายศึกษาหาความรู้ต่อไป

“อักขรวิธี” ของบาลีมีข้อควรรู้ที่เป็นพื้นฐานง่ายๆ เช่น

1. สระในบาลีมี 8 ตัว คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
2. พยัญชนะในบาลีมี 33 ตัว แบ่งเป็นพยัญชนะวรรค และอวรรค (อะ-วัก)
    พยัญชนะวรรคมี 25 ตัว แบ่งเป็น 5 วรรค คือ
       (1) ก วรรค : ก ข ค ฆ ง
       (2) จ วรรค : จ ฉ ช ฌ ญ
       (3) ฏ วรรค : ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
       (4) ต วรรค : ต ถ ท ธ น
       (5) ป วรรค : ป ผ พ ภ ม
     พยัญชนะอวรรค (อวรรค = ไม่จัดเข้าวรรค) มี 8 ตัว คือ ย ร ล ว ส ห ฬ อํ

3. โปรดสังเกตว่า ในบาลีไม่มีพยัญชนะที่ใช้ในภาษาไทยหลายตัว เช่น ด เด็ก ฎ ชฎา บ ใบไม้ ฟ พัน
4. พยัญชนะในบาลีที่ไม่มีสระกำกับ อ่านออกเสียงเท่ากับมีสระ อะ กำกับ เช่น ก ข ค ฆ ง อ่านว่า กะ ขะ คะ ฆะ งะ ไม่ใช่ กอ ขอ คอ ฆอ งอ เหมือนที่เราอ่านภาษาไทย
5. สระตัวแรกในบาลี คือ อ ออกเสียงว่า อะ ไม่ใช่ ออ คำว่า “ก วรรค” (ข้างต้น) อ่านว่า กะ-วัก ไม่ใช่ กอ-วัก


@@@@@@@

นี่เป็น “อักขรวิธี” แบบง่ายๆ ส่วนรายละเอียดยังมีอีกมาก ผู้สนใจพึงขวนขวายศึกษาหาความรู้ต่อไป

ดูก่อนภราดา.! เรียนคำ..จบ เรียนคน..ไม่จบ

#บาลีวันละคำ (3,911) | 26-02-66
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย


   


Thank to : https://dhamtara.com/?p=26711
posted by : suriyan bunthae , 27 กุมภาพันธ์ 2023
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 19, 2023, 11:00:48 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2023, 08:23:17 am »
0
.



วจีวิภาค (บาลีวันละคำ 3,912)

วจีวิภาค ไม่ยากที่จะแบ่งคำ อ่านว่า วะ-จี-วิ-พาก ประกอบด้วยคำว่า วจี + วิภาค

@@@@@@@

(๑) “วจี”

บาลีอ่านว่า วะ-จี รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + อ (อะ) ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ : วจฺ + อ = วจ + อี = วจี แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด, ถ้อยคำ (speech, words)

อีกคำหนึ่งที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “วจี” คือ “วาจา” รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์ : วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)

ในที่นี้ใช้เป็น “วจี”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“วจี : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา. (ป.; ส. วจิ, วาจฺ).”

@@@@@@@

(๒) “วิภาค”

บาลีอ่านว่า วิ-พา-คะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค : วิ + ภาชฺ = วิภาชฺ + ณ = วิภาชณ > วิภาช > วิภาค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออกเป็นต่างๆ” หมายถึง การจำแนก, การแบ่ง ; การจำแนกรายละเอียด, การจัดชั้น (distribution, division ; detailing, classification)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“วิภาค : (คำนาม) การแบ่ง, การจําแนก ; ส่วน, ตอน. (ป., ส.).”

@@@@@@@

วจี + วิภาค = วจีวิภาค แปลตามศัพท์ว่า “การจำแนกถ้อยคำ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“วจีวิภาค : (คำนาม) ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยคำและหน้าที่ของคำ.”




ขยายความ

“วจีวิภาค” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ

หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า

บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑

[๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑, สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑
[๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑
[๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วย **การก และประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน
[๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์

*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์
**การก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกไว้ว่า
   การก : (กา-รก) น. ผู้ทำ.
   การก : (กา-รก) ก. กริยาที่ทำหน้าที่ประธาน กรรม หรือส่วนขยายของประโยคที่คล้ายกับนาม มี ๕ ชนิด คือ กรรตุการก กรรมการก การิตการก วิกัติการก และวิเศษณการก.

@@@@@@@

ส่วนแรก คือ “อักขรวิธี” เป็นการแนะนำให้รู้จักหน้าตาและชื่อเสียงเรียงนามของตัวหนังสือหรือถ้อยคำ
ส่วนที่ 2 “วจีวิภาค” เป็นการเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดของถ้อยคำ
หลักกว้างๆ ของ “วจีวิภาค” ในภาษาบาลีก็คือ แบ่งคำออกเป็น 2 ประเภท คือ คำนาม และ คำกิริยา

   คำนาม มีรายละเอียดแยกย่อยออกไปอีก แต่โดยสรุปก็มี 2 ประเภท คือ คำนามที่ประกอบวิภัตติเปลี่ยนรูปได้ตามหน้าที่ของคำ และคำนามที่ไม่เปลี่ยนรูปคือไม่ประกอบวิภัตติ คำนามทั้ง 2 ประเภทมีชื่อต่างๆ และมีรายละเอียดอีกมาก
   คำกิริยา คือคําที่แสดงอาการของคำนาม ในภาษาบาลีมี 2 ประเภท คือ กิริยาอาขยาต และ กิริยากิตก์ เรียกสั้นๆ ว่า อาขยาต-กิตก์

อนึ่ง โปรดทราบว่า ในการเรียนบาลีของไทยนั้น คำว่า “คำกิริยา” ใช้ว่า “กิริยา” แต่ในภาษาไทยใช้ว่า “กริยา” ถ้าพูดว่า “กริยา” นักเรียนบาลีจะงง ต้องพูดว่า “กิริยา” จึงจะเข้าใจ เพราะฉะนั้น ต้องแยกขอบเขตให้ถูกว่า กำลังพูดถึงไวยากรณ์บาลีหรือไวยากรณ์ไทย

เทียบคำอังกฤษเพื่อให้เห็นชัด (เพราะคนรุ่นใหม่คุ้นกับภาษาอังกฤษ)
    “กริยา” คือ verb
    “กิริยา” คือ doing หรือ action
     แต่ในไวยากรณ์บาลี verb ต้องใช้เป็น “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา”


@@@@@@@

นี่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของ “วจีวิภาค” ส่วนรายละเอียดยังมีอีกมาก โดยเฉพาะ “กิริยาอาขยาต” มีกฎเกณฑ์และวิธีการที่สลับซับซ้อนและยุ่งยากมากที่สุด จนกระทั่งนักเรียนบาลีพูดล้อกันเล่นว่า เรียนไวยากรณ์บาลี ที่น่าขยาดที่สุดก็คือ “กิริยาอาขยาต”

ผู้สนใจ “วจีวิภาค” พึงขวนขวายศึกษาหาความรู้ต่อไปเทอญ

ดูก่อนภราดา.! ระหว่างคำกับคน – ไม่ยากเหลือล้นที่จะแบ่งคำ แต่ยากเหลือล้ำที่จะแบ่งคน

#บาลีวันละคำ (3,912) | 27-02-66
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย





Thank to : https://dhamtara.com/?p=26718
posted by suriyan bunthae | 28 กุมภาพันธ์ 2023
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 19, 2023, 09:16:21 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2023, 09:03:43 am »
0
.



วากยสัมพันธ์ [2] (บาลีวันละคำ 3,914)

วากยสัมพันธ์ วิชาสร้างสรรค์ความงามของภาษา อ่านว่า วาก-กะ-ยะ-สำ-พัน ประกอบด้วยคำว่า วากย + สัมพันธ์

@@@@@@@

(๑) “วากย”

บาลีเป็น “วากฺย” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านตามตาเห็นว่า วาก-กฺยะ หรือตามที่พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านในภาษาไทยว่า วาก-กะ-ยะ อ่านตามเสียงบาลีว่า วาก-เกี๊ยะ รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา แล้วแปลง จฺ เป็น กฺ (วจฺ > วาจฺ > วากฺ) : วจฺ + ณฺย = วจณฺย > วจฺย> วาจฺย > วากฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อความอันเขากล่าว” หมายถึง การพูด, คำพูด, พากย์ (saying, speech, sentence)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“วากย-, วากยะ : (คำนาม) คําพูด, คํากล่าว, ถ้อยคํา, ประโยค. (ป., ส.).”

@@@@@@@

(๒) “สัมพันธ์”

บาลีเป็น “สมฺพนฺธ” อ่านว่า สำ-พัน-ทะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ) : สํ > สมฺ + พนฺธฺ = สมฺพนฺธฺ + อ = สมฺพนฺธฺ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การผูกรวมกันไว้”

“สมฺพนฺธฺ” ในบาลีใช้ในความดังนี้
    (1) การผูกชนิดหนึ่ง (a sort of binding)
    (2) เชือกผูก, โซ่ (a halter, tether)
    (3) ห่วง, ตรวน (bond, fetter)
    (4) ผู้มัดหรือผูกรวมกันไว้ (one who binds or ties together)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“สัมพันธ-, สัมพันธ์, สัมพันธน์ : (คำกริยา) ผูกพัน, เกี่ยวข้อง, เช่น เขากับฉันสัมพันธ์กันฉันญาติ ข้อความข้างหลังไม่สัมพันธ์กับข้อความข้างหน้า.(คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) การแยกความออกเป็นประโยค ๆ หรือส่วนต่าง ๆ ของประโยค แล้วบอกการเกี่ยวข้องของประโยคและคำต่าง ๆ ในประโยคนั้น ๆ. (ป., ส.).”

@@@@@@@

วากฺย + สมฺพนฺธ = วากฺยสมฺพนฺธ > วากยสัมพันธ์ แปลตามศัพท์ว่า “การเกี่ยวข้องแห่งคำพูด”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“วากยสัมพันธ์ : (คำนาม) ชื่อตําราไวยากรณ์ตอนที่แยกความออกเป็นประโยค ๆ และบอกความเกี่ยวข้องของคําในประโยค.”




ขยายความ

“วากยสัมพันธ์” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ

หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า

บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑

[๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑ สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑
[๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑
[๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วย **การก และประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน
[๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์

*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์
**การก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกไว้ว่า
   การก : (กา-รก) น. ผู้ทำ.
   การก : (กา-รก) ก. กริยาที่ทำหน้าที่ประธาน กรรม หรือส่วนขยายของประโยคที่คล้ายกับนาม มี ๕ ชนิด คือ กรรตุการก กรรมการก การิตการก วิกัติการก และวิเศษณการก.


@@@@@@@

หลักของวิชา “วากยสัมพันธ์” ก็คือ

    (1) ศึกษาให้รู้ว่าคำที่เอามาเรียงกันเข้าเป็นประโยคนั้น แต่ละคำทำหน้าที่อะไร คือมีคำนั้นอยู่ตรงนั้นเพื่อจะให้ทำหน้าที่อะไรในประโยค เช่นทำหน้าที่เป็นประธาน เป็นกริยา เป็นกรรมเป็นต้น
    (2) ศึกษาให้รู้ว่าคำนั้นๆ นอกจากทำหน้าที่ของตัวเองแล้วยังต้องเกี่ยวข้อง คือ “สัมพันธ์” กับคำไหนอีกบ้าง และเกี่ยวข้องในฐานะอะไร

มีคำกล่าวว่า ประโยคภาษาไทยที่ดีนั้น “ตัดออกสักคำหนึ่ง ก็ขาด เติมเข้าสักคำหนึ่ง ก็เกิน” ซึ่งจะเขียนให้มีคุณลักษณะเช่นนี้ได้ ผู้เขียนจะต้องรู้หลักวิชา “วากยสัมพันธ์” เป็นอย่างดี จะเห็นความต่อเนื่องกันของหลักภาษา คือ
     “อักขรวิธี” เรียนให้รู้จักตัวอักษร
     “วจีวิภาค” เรียนวิธีเอาตัวอักษรมาประสมกันเป็นคำ
     “วากยสัมพันธ์” เรียนวิธีเอาคำมาเรียงกันเข้าเป็นประโยค

การเอาคำมาเรียงกันเข้าเป็นประโยค อุปมาเหมือนบรรจุคนเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ จะทำได้ดีต้องใช้หลักวิชา เริ่มตั้งแต่พิจารณาว่าหน่วยงานนั้นมีภารกิจต้องทำอะไรบ้าง ควรมีตำแหน่งงานอะไรบ้าง ตำแหน่งอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นต้องมี ควรใช้คนมากน้อยแค่ไหน ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนั้นๆ ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

การเอาคำมาเรียงกันเข้าเป็นประโยค เป็นข้อความ ก็ใช้หลักวิชาทำนองเดียวกัน โดยสรุปคือ “ใช้คำเหมาะในที่เหมาะ” หลักสำคัญอยู่ที่ต้องรู้ว่า ในที่เช่นไรใช้คำเช่นไรจึงจะเหมาะ คำเช่นไรจำเป็นต้องใช้ และคำเช่นไรไม่จำเป็นต้องใช้ การใช้คำบางคำในที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ก็เหมือนกับบรรจุคนลงไปในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีงานที่จำเป็นต้องทำ

@@@@@@@

วิชา “วากยสัมพันธ์” เป็นวิชาที่จะช่วยบอกว่า คำนั้นมาอยู่ตรงนั้นเพื่อทำหน้าที่อะไร ตรงนั้นไม่จำเป็นต้องมีคำนั้นเพราะอะไร อันจะช่วยให้การใช้ภาษามีความถูกต้อง เหมาะสม และงดงาม

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ได้ศึกษาภาษาไทยตามตำราภาษาไทยสมัยเก่าอีกแล้ว ผลก็คือเด็กรุ่นใหม่โดยมากเขียนภาษาไทยไม่เป็นภาษา เพราะไม่มีความรู้ว่าข้อความในประโยคที่เขียนนั้นจำเป็นจะต้องมีคำอะไร หรือไม่จำเป็นจะต้องมีคำอะไร

ข้อความที่เขียนออกมาแล้วถ้าถามว่า คำนี้ทำหน้าที่อะไร ทำไมต้องใช้คำนี้ ทำไมต้องมีคำนี้ ไม่มีได้หรือไม่ ใช้คำอื่นแทนจะดีขึ้นหรือไม่ เด็กไทยสมัยใหม่ตอบคำถามพวกนี้ไม่ได้ เราจึงหาภาษาไทยที่ดีๆ ที่งามๆ ที่เขียนกันขึ้นใหม่ๆ ในสมัยนี้อ่านแทบจะไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราไม่ได้เรียนวิชา “วากยสัมพันธ์” กันนั่นเอง

คนรุ่นใหม่ไม่เรียนวิชา “วากยสัมพันธ์” โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่จำเป็น กล่าวคือ เขาไม่จำเป็นต้องเขียนภาษาเพราะๆ งามๆ ก็สามารถมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขได้ เพราะฉะนั้น จะต้องเรียนวิชา “วากยสัมพันธ์” ให้หนักสมองหรือให้รกสมองทำไมกันเล่า

ถ้าคนไทยคิดอย่างนี้ อนาคตของภาษาไทยอันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นชาติไทย จะเป็นอย่างไรหนอ.?


@@@@@@@

แต่ในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย วิชา “วากยสัมพันธ์” เป็นวิชาบังคับ ต้องเรียนในระดับชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค นักเรียนต้องสอบผ่านจึงจะถือว่าสอบได้ในชั้นนี้ อันเป็นชั้นตัดสินว่า พระภิกษุมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” และสามเณรมีสิทธิ์ใช้คำว่า “เปรียญ” ต่อท้ายชื่อ

ดูก่อนภราดา.! คำเหมาะอยู่ในที่เหมาะ ภาษาจึงไพเราะ คนเหมาะควรอยู่ในที่เหมาะ งานจึงจะงาม

#บาลีวันละคำ (3,914) | 01-03-66
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย




Thank to : https://dhamtara.com/?p=26731
posted by suriyan bunthae | 2 มีนาคม 2023
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 19, 2023, 11:02:32 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2023, 10:59:47 am »
0
.



ฉันทลักษณ์ [2] (บาลีวันละคำ 3,915)

ฉันทลักษณ์ หลักการเรียงร้อยถ้อยคำที่งดงาม อ่านว่า ฉัน-ทะ-ลัก ประกอบด้วยคำว่า ฉันท + ลักษณ์

@@@@@@@

(๑) “ฉันท”

บาลีเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ รากศัพท์มาจาก

(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย : ฉนฺทฺ + อ = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา”

(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท) : ฉทฺ + อ = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ”

“ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ

(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement ; intention, resolution, will ; desire for, wish for, delight in)

(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ”

(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺท-ฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา”

ในภาษาไทย ใช้เป็น “ฉันท-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “ฉันท์” และ “ฉันทะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้

(1) ฉันท- ๑, ฉันท์ ๑ : (คำนาม) ชื่อคําประพันธ์ประเภทหนึ่งที่วางคํา ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ. (ป.).
(2) ฉันท- ๒, ฉันท์ ๒, ฉันทะ : (คำนาม) ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี; ความร่วมความคิดความเห็นกัน เช่น ลงมติเป็นเอกฉันท์, ความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น มอบฉันทะ. (ป.).

@@@@@@@

(๒) “ลักษณ์”

บาลีเป็น “ลกฺขณ” อ่านว่า ลัก-ขะ-นะ รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ : ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ แปลตามศัพท์ว่า
    (1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง”
    (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”

“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)

“ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”

@@@@@@@

ฉันท + ลักษณ์ = ฉันทลักษณ์ แปลตามความว่า “ข้อกำหนดของการแต่งบทร้อยกรอง”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า
“ฉันทลักษณ์ : (คำนาม) ลักษณะแบบแผนคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง, ชื่อตำราไวยากรณ์ตอนที่ว่าด้วยลักษณะของคำประพันธ์.”




ขยายความ

“ฉันทลักษณ์” เป็น 1 ใน 4 ส่วนของหลักภาษาบาลีและหลักภาษาไทย ซึ่งท่านผูกเป็นคำคล้องจองกันว่า อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ

หนังสือ “สมัญญาภิธานและสนธิ” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ของคณะสงฆ์ไทย กล่าวไว้ในหัวข้อ “บาลีไวยากรณ์” ตอนหนึ่งว่า

บาลีไวยากรณ์นี้แบ่งเป็น ๔ ภาคก่อน คือ อักขรวิธี ๑ วจีวิภาค ๑ วากยสัมพันธ์ ๑ ฉันทลักษณะ ๑

[๑] อักขรวิธี ว่าด้วยอักษร จัดเป็น ๒ คือ สมัญญาภิธาน แสดงชื่ออักษรที่เป็นสระและพยัญชนะ พร้อมทั้งฐานกรณ์ ๑ สนธิ ต่ออักษรที่อยู่ในคำอื่นให้เนื่องเป็นอันเดียวกัน ๑
[๒] วจีวิภาค แบ่งคำพูดออกเป็น ๖ ส่วน คือ นาม ๑ อัพยยศัพท์ ๑ สมาส ๑ ตัทธิต ๑ อาขยาต ๑ *กฤต ๑
[๓] วากยสัมพันธ์ ว่าด้วย **การก และประพันธ์ผูกคำพูดที่แบ่งไว้ในวจีวิภาคให้เข้าเป็นประโยคอันเดียวกัน
[๔] ฉันทลักษณะ แสดงวิธีแต่งฉันท์ คือคาถาที่เป็นวรรณพฤทธิ์และมาตราพฤทธิ์

*กฤต ในที่อื่นๆ สะกดเป็น กิตก์
**การก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกไว้ว่า
   การก : (กา-รก) น. ผู้ทำ.
   การก : (กา-รก) ก. กริยาที่ทำหน้าที่ประธาน กรรม หรือส่วนขยายของประโยคที่คล้ายกับนาม มี ๕ ชนิด คือ กรรตุการก กรรมการก การิตการก วิกัติการก และวิเศษณการก.

@@@@@@@

ข้อควรรู้คือ “ฉันทลักษณ์”

ในภาษาบาลีกำหนดด้วยคำหนักคำเบาที่เรียกว่า “ครุ-ลหุ” แต่ “ฉันทลักษณ์” ในภาษาไทยกำหนดด้วยเสียงสูง-ต่ำ และคำที่ “สัมผัส” กัน มีเฉพาะบทร้อยกรองประเภท “ฉันท์” ซึ่งเอารูปแบบมาจากบาลีสันสกฤตเท่านั้นที่เพิ่มข้อกำหนดว่าด้วยครุ-ลหุเข้าไปอีกส่วนหนึ่งแบบเดียวกับฉันทลักษณ์ของบาลี

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่ได้ศึกษาภาษาไทยตามตำราภาษาไทยสมัยเก่าอีกแล้ว ผลก็คือเด็กรุ่นใหม่แต่งบทร้อยกรองไม่เป็นไปตามฉันทลักษณ์เพราะไม่ได้เรียนมา

ผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิดมีแนวคิดที่จะแต่งบทร้อยกรองโดยไม่ต้องมีฉันทลักษณ์ มีผู้เรียกแนวคิดชนิดนี้ว่า “ปลดแอกฉันทลักษณ์” และเรียกบทร้อยกรองแบบนี้ว่า “กลอนเปล่า” อันเป็นการเรียกตามคำฝรั่ง (blank verse)

แนวคิดปลดแอกฉันทลักษณ์ซึ่งก็คือ ไม่ต้องเคารพกฎกติกาของบทร้อยกรองนี้เป็นที่นิยมชมชอบของคนรุ่นใหม่อยู่พักหนึ่ง ทุกวันนี้ก็ยังมีร่องรอยเหลืออยู่ดังจะสังเกตได้ว่า ในบทร้อยกรองของคนรุ่นใหม่ เสียงสูง-ต่ำ และคำสัมผัสจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็คือ มีไม่มี “ฉันทลักษณ์” หลงเหลืออยู่อีกแล้วนั่นเอง

แต่ในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ยังมีวิชาที่ต้องใช้ “ฉันทลักษณ์” เรียกว่า “วิชาแต่งฉันท์มคธ” เป็นวิชาบังคับในระดับชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค นักเรียนต้องสอบผ่านวิชานี้ จึงจะถือว่าสอบได้ในชั้นนี้

“วิชาแต่งฉันท์มคธ” ข้อสอบจะบรรยายความเป็นเรื่องราวมาให้ นักเรียนต้องแต่งเรื่องราวที่บรรยายนั้นเป็นฉันท์ภาษามคธ 3 ฉันท์ ในจำนวน 6 ฉันท์ คือ :-
    (1) ปัฐยาวัตร
    (2) อินทรวิเชียร
    (3) อุเปนทรวิเชียร
    (4) อินทรวงศ์
    (5) วังสัฏฐะ
    (6) วสันตดิลก

เปรียญธรรม 8 ประโยค เป็นชั้นเปรียญเอก นักเรียนที่ผ่านชั้นนี้ต้องมีความสามารถในการเรียงร้อยถ้อยคำภาษาบาลีออกมาเป็นกาพย์กลอนที่เรียกว่า “ฉันท์” หรือ “คาถา” ได้เป็นอย่างดี และจะมีความรู้ความสามารถเช่นนี้ได้ ก็ต้องเรียนวิชา “ฉันทลักษณ์”

@@@@@@@

แถม

พระปริยัติธรรมสายบาลีของคณะสงฆ์ไทยแบ่งระดับชั้นหรือ “ประโยค” เป็น 9 ประโยค แต่เดิมแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือ
    ประโยค 1 ถึง 3 เรียกว่า “เปรียญตรี”
    ประโยค 4 ถึง 6 เรียกว่า “เปรียญโท”
    ประโยค 7 ถึง 9 เรียกว่า “เปรียญเอก”

เฉพาะเปรียญเอกยังแยกย่อยออกไปเป็น 3 ระดับ คือ
   - ประโยค 7 เรียก “เอก ส.” พจนานุกรมฯ เขียน “เอกส” (เอก-สอ) มาจากคำว่า “เอกสามัญ” หมายความว่า แม้จะเป็นเปรียญเอก แต่ก็เป็นเปรียญเอกระดับต้น ระดับธรรมดา จึงเรียกว่าเอกสามัญ
   - ประโยค 8 เรียก “เอก ม.” พจนานุกรมฯ เขียน “เอกม” (เอก-มอ) มาจากคำว่า “เอกมัชฌิมะ” หรือ “เอกมัธยม” หมายความว่าเป็นเปรียญเอกระดับกลาง สูงขึ้นมาจากสามัญ แต่ยังไม่สูงสุด
   - ประโยค 9 เรียก “เอก อุ.” พจนานุกรมฯ เขียน “เอกอุ” (เอก-อุ) มาจากคำว่า “เอกอุดม” หมายความว่าเป็นเปรียญเอกระดับสูงสุด

การแบ่งเปรียญออกเป็น 3 กลุ่มนี้ เข้าใจว่านักเรียนบาลีรุ่นใหม่ส่วนมากน่าจะไม่รู้จักแล้ว

ดูก่อนภราดา.! เคารพกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์ได้ เคารพกฎเกณฑ์ของสังคมได้

#บาลีวันละคำ (3,915) | 02-03-66
ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย




Thank to : https://dhamtara.com/?p=26734
posted by suriyan bunthae | 3 มีนาคม 2023
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ