ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เขมรอยุธยา ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน  (อ่าน 167 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.
 :49: :49:
.
เขมรอยุธยา ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน


ขบวนแห่ของชาวสยามหรือ “เสียมก๊ก” สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยกล่าวว่า คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่อยู่รัฐและบ้านเมืองบริเวณสองฝั่งโขงที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดสนิทสนมของกษัตริย์กัมพูชาในยุคนั้น ไม่ใช่ “กองทัพเมืองขึ้นของขอม” ตามคำอธิบายของนักวิชาการเจ้าอาณานิคมตะวันตก



“เขมร” ใน “อยุธยา” ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน!?

กลุ่มคนในวัฒนธรรมเขมรนับว่ามีบทบาทต่อสังคมอยุธยามาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เพราะอาณาจักรเขมรโดยเฉพาะในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้แผ่อิทธิพลเข้ามายังบริเวณภาคกลางของสยาม และ “ชาวเสียม” ก็มีส่วนร่วมในสงครามที่เขมรทำกับจาม ปรากฏเป็นภาพสลักที่ปราสาทนครวัดที่มีชื่อเรียกว่า “เสียมกุก” แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหาที่สิ้นสุดได้ยากว่า “เสียมกุก” ที่ปราสาทนครวัดหมายถึงชาวสยามที่บริเวณใดกันแน่

@@@@@@@

เขมรพระนครสมัยรุ่งเรือง ต้นแบบราชสำนักสยาม

นอกจากนี้ เขมร ยังเป็นวัฒนธรรมที่แข่งขันกับวัฒนธรรมทวารวดีในย่านนี้ตลอดตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสิ้นอำนาจไปแล้วได้ทิ้งร่องรอยทางศิลปกรรมเอาไว้ในรูปที่เรียกว่า “ศิลปะบายน” (Bayon Art) เช่น ปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ปราสาทสระมรกตที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ปราสาทวัดกำแพงแลงเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ

จารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งทําขึ้นโดยพระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้กล่าวถึงนามเมืองสำคัญในเขตภาคกลางของสยาม 6 เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงส่งพระพุทธรูปจำหลักแทนพระองค์ที่เรียกว่า “พระชัยพุทธมหานาถ” ไปประดิษฐานไว้ เมืองทั้งหกมีรายนามและข้อสันนิษฐานถึงอาณาเขตที่ตั้งกันดังต่อไปนี้

(1) “ลโวทยปุระ” (ละโว้ ลวปุระ หรือลพบุรี จังหวัดลพบุรี)

(2) “สุวรรณปุระ” (อาจเป็นที่เนินทางพระ สามชุก หรือไม่ก็ตัวเมืองสุพรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี)

(3) “ศัมพูกปัฏฏะนะ” (เมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี)

(4) “ชัยราชปุระ” (มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีร่องรอยการเป็นปราสาทเขมรเก่า)

(5) “ศรีชัยสิงหปุระ” (บางท่านว่าเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ขณะที่บางท่านเห็นต่างว่าเป็นเมืองสิงห์บุรีเก่าที่ตําบลจักรสีห์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี แต่โดยทั่วไปยอมรับว่าคือเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี)

(6) “ศรีชัยวัชรปุระ” (ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี)

ปราสาทเขมรได้พัฒนาคลี่คลายรูปแบบต่อมากลายเป็นมหาธาตุทรงปรางค์ บางครั้งเรียกว่า “ทรงฝักข้าวโพด” เพราะเป็นเจดีย์ที่มีรูปทรงคล้ายข้าวโพด [1] มหาธาตุทรงปรางค์ถือเป็นประธานหลักของเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุวรวิหาร เมืองราชบุรี ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี ปรางค์ประธานวัดจุฬามณีและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก ปรางค์ประธานวัดหน้าพระธาตุ เมืองสิงห์บุรี ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุพรรณบุรี และวัดมหาธาตุ กรุงศรีอยุธยา ก็เป็นมหาธาตุทรงปรางค์ เช่นกัน มหาธาตุทรงปรางค์นี้เป็นที่นิยมทำมาจนถึงวัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้งที่กรุงเทพฯ

จาก คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึง “พระมหาธาตุที่เป็นหลักกรุงศรีอยุธยา” มีอยู่ 5 องค์ คือ พระมหาธาตุวัดพระราม พระมหาธาตุวัดมหาธาตุ พระมหาธาตุวัดราชบุรณ (วัดราชบูรณะ) พระมหาธาตุวัดสมรโกฏ (วัดสมณโกศฐาราม) และพระมหาธาตุวัดพุทไธสวริย (วัดพุทไธสวรรย์) [2] นอกจากนี้ ในพื้นที่ย่านตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา ยังพบเจดีย์ทรงปรางค์อีกหลายแห่ง ได้แก่ วัดส้มหรือวัดกุฎีฉลัก วัดเจ้าพราหมณ์ (วัดขุนพราหมณ์) วัดไตรตรึงษ์ วัดลังกา วัดถนนจีน วัดเชิงท่า วัดกษัตราธิราช วัดไชยวัฒนาราม วัดโลกยสุทธาราม วัดวรเชษฐ์เทพบำรุง

จากการที่เขมรเป็นศูนย์กลางการแพร่วัฒนธรรมอินเดียโบราณ ทำให้วัฒนธรรมเขมรที่ผสมผสานระหว่างอินเดียกับพื้นเมืองกลายเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมจารีตในรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารุ่นหลัง ที่ยังคงอ้างอิงและสร้างสิทธิธรรมจากการสืบทอดวัฒนธรรมเขมรยุครุ่งเรืองหรือเขมรพระนคร ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีหลวงหรือขนบธรรมเนียมของราชสำนักหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นภาษาราชสำนักหรือราชาศัพท์ก็พัฒนามาจากภาษาเขมรโบราณ ภาษานี้ใช้สื่อสารแพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากจารึกและใบลานสมัยอยุธยา ที่นิยมจดจารด้วยภาษาเขมรโบราณ [3] การพระราชพิธี 12 เดือน (ทวาทศมาส) พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไปจนถึงการแต่งกายของชนชั้นนำอยุธยาในยุคต้นและศิลปะการฟ้อนรำต่างๆ รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่พราหมณ์เขมรมีบทบาทต่อราชสำนักอยุธยา [4]

@@@@@@@

ญาติชิดสนิทใกล้ ชนชั้นนำอยุธยากับเขมรพระนคร

ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างอยุธยากับเขมรยังมีสาเหตุปัจจัยมาจากความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์ระหว่างชนชั้นนำทั้งสองบ้านเมือง โดยเฉพาะราชวงศ์อู่ทองที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับเขมรพระนคร เพราะเมืองลพบุรีเคยเป็นเมืองลูกหลวงของเขมรพระนครในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาก่อน ในเวลาต่อมา เมืองลพบุรียังคงมีความสำคัญในฐานะเมืองลูกหลวงของราชอาณาจักร เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจากเมืองลูกหลวงของเขมรพระนคร มาเป็นเมืองลูกหลวงของอยุธยา ดังจะเห็นได้จากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) หลังสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสองค์โตขึ้นไปครองเมืองลพบุรี

อนึ่ง เมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องเครือญาติแล้ว อันที่จริงชื่อ “ราชวงศ์อู่ทอง” นี้ควรปรับแก้เสียใหม่เป็น “ราชวงศ์ละโว้” หรือ “ราชวงศ์ลพบุรี” เพราะคำว่า “ราชวงศ์อู่ทอง” มาจากความเชื่อว่ากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ทรงอพยพมาจากเมืองอู่ทอง แต่ที่จริงราชวงศ์นี้สืบสายมาจากวงศ์กษัตริย์ผู้ครองเมืองลพบุรี ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน

จากที่ชนชั้นนำอยุธยามีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเขมรพระนครจึงเป็นเหตุให้เอกสารล้านนาเรียกกรุงอโยธยาว่า “กรุงกัมโพช” ไปด้วย [5] อโยธยาในช่วงก่อนสถาปนากรุง พ.ศ. 1893 ก็คือเมืองท่าหน้าด่านทางตอนใต้ของแคว้นลพบุรีหรือรัฐละโว้ ต่อมาพัฒนากลายเป็นเมืองหลวงของรัฐละโว้แทนที่เมืองลพบุรี ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสัมพันธ์กับการเปลี่ยนราชวงศ์ที่นับถือพุทธมหายานแบบเขมร มาเป็นกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์ แต่ยังคงอ้างสิทธิสืบสายพระโลหิตมาจากกษัตริย์ราชวงศ์ก่อนหน้า [6]

แม้เมื่อหลังสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว กษัตริย์ผู้ครองเมืองจะหันไปมีสายสัมพันธ์กับแคว้นสุพรรณภูมิและนครศรีธรรมราช แต่ก็มิได้ละทิ้งขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเดิมของตนที่เป็นฝ่ายนิยมเขมร การทวีความสำคัญของพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาวงศ์ ยังทำให้กษัตริย์อโยธยาสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแคว้นสุโขทัยอีกด้วย เนื่องจากอโยธยาเป็นรัฐที่มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐข้างเคียงกรอบทิศเช่นนี้ คือ ทิศตะวันออกสัมพันธ์กับเขมรพระนคร ทิศใต้สัมพันธ์กับนครศรีธรรมราช ทิศตะวันตกสัมพันธ์กับสุพรรณภูมิ ทิศเหนือสัมพันธ์กับสุโขทัย จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์หนึ่งไปสู่อีกราชวงศ์หนึ่ง และที่สำคัญคือเปิดต่อการเข้ามาของคนภายนอกรอบทิศตลอดเวลา

ความนิยมในศิลปวัฒนธรรมเขมรพระนครยังมีอยู่ในหมู่ชนชั้นนำอยุธยา ล่วงมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ทรงให้ช่างไปศึกษาและถ่ายแบบปราสาทสำคัญๆ ที่เมืองพระนครมาจำลองเป็นพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งรูปแบบจะคล้ายคลึงกับปราสาทที่ลานหน้าจักรวรรดิที่เมืองนครธม นอกจากนี้ ยังจำลองรูปแบบและผังมาสร้างปราสาทนครหลวงและวัดไชยวัฒนารามขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย [7]


@@@@@@@

เขมรอยุธยา มายังไง?

การเข้ามาของชาวเขมรในอยุธยามีทั้งเข้ามาโดยสงครามกวาดต้อนเข้ามาค้าขาย และการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร การเข้ามาโดยวิธีสงครามกวาดต้อนนั้นครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เมื่อทรงนำทัพไปตีเมืองนครธมของเขมรพระนคร ส่วนฝ่ายเขมรเองก็เข้ามากวาดต้อนผู้คนโดยพระเจ้าละแวก (เอกสารไทยมักเรียก “พระยาละแวก” ซึ่งไม่เหมาะสม เป็นการลดพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินเพื่อนบ้าน) ยกทัพมากวาดต้อนชาวเมืองแถบหัวเมืองตะวันออกและเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา

สำหรับการเข้ามาด้วยสาเหตุทางการค้าขายโดยตรงนั้น จากเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง ได้ระบุว่า ทุกปีจะมีพ่อค้าชาวเมืองพระตะบองเดินทางมาโดยคาราวานวัวต่าง มาตั้งร้านค้าอยู่ที่ตลาดบ้านศาลาเกวียน ตรงบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ถัดจากหัวรอขึ้นไปราว 4-5 กิโลเมตร สินค้าต่างๆ ที่พ่อค้าชาวเขมรนำเข้ามาค้าขายยังตลาดบ้านศาลาเกวียนนั้น ได้แก่ เร่ว กระวาน ไหม กำยาน ครั่ง ดีบุก หน่องา ผ้าปูม แพรญวน ทอง พราย พลอย แดง และบรรดา “สินค้าต่างๆ ตามอย่างเมืองเขมร” [8]

ส่วนการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ปรากฏในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทำให้เกิดชุมชนใหญ่ของชาวเขมรขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาและเมืองบางกอก โดยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีชาวเขมรที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก อพยพลี้ภัยจากการเบียดเบียนทางศาสนาเข้ามา สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณโบสถ์คอนเซปต์ชัญ เมืองท่าบางกอก (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่วัดคอนเซ็ปชัญ ย่านสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ) และให้อยู่ภายใต้ความดูแลของคณะมิสซังฝรั่งเศส เรียกว่า “บ้านเขมร” นอกจากมีประชากรเขมรแล้วยังมีชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส และเวียดนาม ที่เป็นชาวคริสต์เข้ามาอยู่ปะปนด้วย

@@@@@@@

ชุมชนบ้านเขมร มีอยู่ทั่วอยุธยา

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้มีชาวเขมรอพยพเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณวัดค้างคาว ในพื้นที่เกาะเมืองมีวัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ “วัดสวนหลวงค้างคาว” ปัจจุบันคือด้านหลังติดสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จากที่มีชื่อพ้องกัน จึงทำให้เกิดความเชื่อว่าวัดสวนหลวงค้างคาวนี้ คือที่ตั้งของชุมชนเขมรที่เข้ามาในรุ่นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

แต่สภาพที่ตั้งและโบราณสถานของวัดสวนหลวงค้างคาวก็ชวนให้สงสัยว่า วัดสวนหลวงค้างคาวคงไม่ใช่วัดค้างคาวที่กล่าวถึงในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เพราะวัดสวนหลวงค้างคาวมีโบสถ์ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านเหนือเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกิดจากการถมพูนดินสูงขึ้น ทั้งโบสถ์มีลักษณะเดียวกับวิหารหลวงวัดธรรมิกราชที่ติดกับพระบรมมหาราชวังทางทิศตะวันออก อีกทั้งวัดธรรมิกราชยังมีฉนวนทางเดินตัดตรงจากพระที่นั่งวิหารสมเด็จในพระบรมมหาราชวังมายังวิหารหลวงของวัด นี่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของวัดธรรมิกราชและวิหารหลวงไม่น้อยเลย

ทั้งโบสถ์วัดสวนหลวงค้างคาวและวิหารหลวงวัดธรรมิกราชยังมีขนาดใกล้เคียงกับพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท อาคารแบบนี้คือสถานที่ที่สามารถใช้เป็นที่ประชุมว่าราชกิจของกษัตริย์ได้ในกรณีฉุกเฉินหรือ ณ ขณะเสด็จมาประทับอยู่ อีกทั้งวัดสวนหลวงค้างคาวยังตั้งอยู่ริมคลองฉะไกรน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรลัดตรงระหว่างพระบรมมหาราชวังไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ เป็นที่สะดวกแก่เจ้านายในการเสด็จมายังสถานที่แห่งนี้อีกด้วย

วัดสวนหลวงค้างคาวมีลักษณะเป็นราชอุทยาน มีความสำคัญเกินกว่าจะพระราชทานให้แก่ชาวเขมรหรือชนชาติใด และเป็นสถานที่ที่พบร่องรอยการใช้งานอยู่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะมีใบสีมาหินทรายและสถูปเจดีย์รุ่นปลายอยุธยาล้อมรอบโบสถ์ สถานที่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระราชทานให้แก่ชาวเขมร ตามพระราชพงศาวดารก็ไม่มีคำว่า “สวนหลวง” ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า หากพระราชทานที่ดินสวนหลวงแห่งที่ 2 ของพระนคร (ต่อจากสวนหลวงแห่งที่ 1 คือสวนหลวงสบสวรรย์ ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงให้สร้างเป็นวังหลังที่ประทับแก่พระเอกาทศรถไปแล้วนั้น) เหตุใดพระราชพงศาวดารจึงไม่ใช้คำว่า “สวนหลวงค้างคาว” มีแค่คำว่า “วัดค้างคาว”

บริเวณนอกเกาะเมืองทางทิศตะวันตก ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องหัวแหลม จุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองเมือง (แม่น้ำลพบุรี) ยังมีวัดอีกแห่งชื่อตรงกับพระราชพงศาวดารว่า “วัดค้างคาว” ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เหลือเพียงซากเจดีย์ขนาดย่อม พื้นที่ถูกปรับปรุงเป็นลานจอดรถของวัดท่าการ้อง ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจะพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้แก่ชาวเขมรอพยพก็ไม่แปลกเพราะเป็นที่นอกเกาะเมือง มีเส้นทางสัญจรต่อไปยังชุมชนเขมรเก่าแก่ที่ย่านเกาะมหาพราหมณ์อีกด้วย

อนึ่ง ชาวเขมรในอยุธยาสามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม “เขมรเก่า” หรือที่อยุธยาเรียกว่า “ขอม” มีวัดขอม เกาะขอม บ้านขอม ตัวบทกฎหมายก็มีกล่าวถึง “ขอม” (คำว่า “ขอม” เป็นคำที่อยุธยาเรียกเขมร) ขอมกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในอยุธยามาแต่เดิม ชุมชนใหญ่อยู่ที่ย่านบางปะอิน และอีกกลุ่มคือ “เขมรใหม่” ที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ การแบ่งลักษณะนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีชาวมอญ ที่แบ่งเป็น “มอญเก่า” กับ “มอญใหม่” “มอญเก่า” นั้นได้แก่มอญที่เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร ชุมชนใหญ่อยู่ที่โพธิ์สามต้น คลองสระบัว คลองบางลี่ “มอญใหม่” เป็นกลุ่มที่เข้ามาภายหลังตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จนถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ชุมชนใหญ่อยู่ที่สามโคก ปากเกร็ด ตลาดขวัญ (นนทบุรี) และหัวเมืองฝั่งตะวันตกในลุ่มแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง

เนื่องจากกลุ่มเขมรใหม่รุ่นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อพยพเข้ามาพร้อมเจ้านายชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ของเขมรขณะนั้น จึงมีสมัครพรรคพวกบริวารเข้ามาอยู่ด้วยกันมาก ราชสำนักให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยอนุญาตให้ชาวเขมรเหล่านี้อยู่ใต้สังกัดเจ้านายเดิมของตน ต่อมาเมื่อเจ้านายเดิมนั้นสิ้นพระชนม์ ราชสำนักจึงแต่งตั้งผู้นำชุมชนคนใหม่ให้ทำหน้าที่แทน ซึ่งนั่นมาพร้อมกับการที่ชาวเขมรถูกสักเลกสังกัดในระบบไพร่ของอยุธยา เช่นเดียวกับชาวมอญและลาว

กลุ่มตระกูลไท-ลาวนิยมเรียกเขมรโบราณว่า “ขอม” เช่นมีค่าเรียก ว่า “ขอมอุโมงคเสลา” ในเอกสารตำนานพื้นเมืองของล้านนา หรืออย่างคำว่า “ขอมสบาดโขญลำพง” ในศิลาจารึกสุโขทัย อยุธยาก็เรียกเขมรโบราณว่า “ขอม” เช่นกัน จึงมีวัดชื่อ “วัดขอม” อยู่บริเวณพื้นที่ที่เป็นสุสานจีนวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน แต่ตัววัดได้ร้างและถูกผนวกรวมเข้ากับวัดพนัญเชิงไปนานแล้ว อีกทั้งยังมีร่องรอยชุมชนเขมรอยู่ที่บริเวณวัดขนอน อำเภอบางบาล และวัดโปรดสัตว์ วัดทำเลย์ไท ที่อำเภอบางปะอิน ก่อนที่ชาวเขมรจะผสมกับชาวมอญที่เข้ามาอยู่ภายหลัง โดยมีร่องรอยใบสีมาที่ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ) กำหนดนิยามเรียกว่า “ใบสีมาแบบขอมผสมทวารวดี” [9]

นอกจากนี้ ยังมีชุมชนเขมรตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านขอม (ปัจจุบันชื่อตำบลวัดยม) ท่าเกาะพระก็เคยมีชื่อเรียกว่า “เกาะขอม” และมีชุมชนขอมอยู่ที่ริมคลองบ้านโพธิ์ ปากคลองทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของอยุธยาชื่อ “บ้านขอม” (ปัจจุบันคือตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน) และคลองบ้านเลนในเขตอำเภอบางปะอิน ก็เป็นเครือญาติกับเขมรที่บ้านขอม บ้านเลนมีอาณาเขตครอบรวมถึงบริเวณวัดชุมพลนิกายาราม ซึ่งเป็นนิวาสถานเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฟอร์เรสต์ แมคกิลล์ (Forrest McGill) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในอยุธยา จะได้ข้อสรุปถึงแรงจูงใจสำคัญต่อความนิยมในศิลปกรรมรูปแบบเขมรของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ว่าส่วนหนึ่งก็เพราะทรงมีเชื้อสายชาวเขมรในอยุธยา [10] และอีกกรณีคือในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มีหลักฐานเป็นหนังสือคู่มือทูตสยามที่ไปฝรั่งเศส มีเนื้อความระบุว่าถ้าฝรั่งถามเกี่ยวกับพระองค์ว่า “กษัตริย์องค์ปัจจุบันสืบตระกูลมาแต่ใด” ให้ทูตสยามตอบไปว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจาก “สมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร” กษัตริย์ต้นวงศ์ผู้สร้างเมืองเขมรพระนคร [11]

สมัยอยุธยามีชาวเขมรอพยพเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก็มีเจ้านายเขมรลี้ภัยจากปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติเข้ามา คือกรณีนักองค์ราม หรือนักองค์โนน เมื่อเวลาใกล้จะเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310 นักองค์รามได้ร่วมเดินทัพไปหัวเมืองตะวันออกกับกลุ่มพระยาตาก (สิน) ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงและทำศึกได้รับชัยชนะในกัมพูชา สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็ทรงแต่งตั้งนักองค์รามขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงกัมพูชา และในกรุงธนบุรีก็มีชุมชนเขมรตั้งอยู่ที่ย่านคลองสำเหร่ คลองสามเสน คลองสำโรง คลองทับนาง วัดบางยี่เรือ [12]


อ่านเพิ่มเติม :-

    • ขอมอยู่ไหน? ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน
    • “เขมร” ไม่เรียกตัวเองว่า “ขอม” ไม่มีคำว่าขอมในภาษาเขมร คำว่า “ขอม” มาจากไหน?
    • “เมืองพระนคร” บ้านเมืองล่มสลาย ผู้คนถูกกวาดต้อน เหตุสงคราม “อยุธยา” บุก “เขมร”
    • เขมร ใน อยุธยา กองกำลังพระองค์เจ้าดำ ก่อกบฏพระเจ้าท้ายสระ?






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา
ผู้เขียน : กำพล จำปาพันธ์, โมโมทาโร่
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 มกราคม 2566
URL : https://www.silpa-mag.com/history/article_100399

เชิงอรรถ :-
[1] สันติ เล็กสุขุม, เจดีย์: ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ใน ประเทศไทย (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552), น.34.
[2] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิาช, 2555), น. 40.
[3] ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ, ประวัติศาสตร์อยุธยาจากจารึก (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์, 2561); ก่องแก้ว วีระประจักษ์, บรรณาธิการ, สารนิเทศจากคัมภีร์ ใบลานสมัยอยุธยา (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2545), น. 113-121.
[4] ประกอบ ผลงาม, สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์: เขมรถิ่นไทย (นครปฐม: สถาบันวิจัย ภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2538)
[5] กำพล จำปาพันธ์, “กัมโพช: ละโว้-อโยธยาในเอกสารล้านนา,” วารสารมนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 15, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557): 74-82.
[6] ศรีศักร วัลลิโภดม, กรุงศรีอยุธยาของเรา (กรุงเทพฯ: มติชน, 2546), น. 29.
[7] Forrest McGill, “The Art and Architecture of the reign of King Prasatthong of Ayutthaya (1629-1656)” (PhD.Thesis in The History of Art at University of Michigan,1977), pp. 264-265.
[8] คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง, น. 7.
[9] น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ), ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่ อยุธยา (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2558), น.90.
[10] Forrest McGill, “The Art and Architecture of the reign of King Prasatthong of Ayutthaya (1629-1656)”, pp. 263-264.
[11] ไมเคิล ไรท์, ภูมิศาสตร์ – ประวัติศาสตร์สยาม: เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่, เข้าถึงเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2562, เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_7424
[12] กำพล จำปาพันธ์, พระเจ้าตาก กษัตริย์นักการค้า และธนบุรีศรีมหาสมุทร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2561), น. 26-28, 216-217.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษาและโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาเคย์, เขียนโดย กำพล จำาปาพันธ์, โมโมทาโร่ (สำนักพิมพ์มติชน, 2566)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: เขมรอยุธยา ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 01, 2024, 01:01:32 pm »
0
 st11 st12 st12
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ