ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไม การได้รับคำชม ถึงเป็นเรื่องยาก สำหรับบางคน  (อ่าน 28 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28503
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



ทำไม การได้รับคำชม ถึงเป็นเรื่องยาก สำหรับบางคน

คุณทราบหรือไม่ว่า สำหรับบางคน การได้รับคำชมนั้นอาจกลายเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจได้ จนถึงขั้นนำไปสู่สภาวะความกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง และความเหนื่อยล้าทางความคิด

วลีที่ถูกพิมพ์บนแผ่นป้ายทางการศึกษาเป็นภาษาดัตช์ที่ว่า "101 manieren om een kind te prijzen" ที่แปลว่า "101 วิธีชมเชยเด็ก" ในคำชมที่แนะนำ ได้แก่ "หนูทำได้ดีมาก..." และ "เก่งมาก"

รองศาสตราจารย์ เอ็ดดี้ บรัมเมลแมน อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ในเนเธอร์แลนด์ บอกว่า วลีดังกล่าวดูเหมือนจะเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ แต่เขากลับมองว่า แนวความคิดนี้ไม่ส่งผลด้านบวกต่อเด็กเลย

แนวคิดเหล่านั้นที่ปรากฎอยู่บนป้ายโปสเตอร์อาจจะดูเป็นเรื่องราวไร้พิษภัยใด ๆ และดูเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่สำหรับบรัมเมลแมน เขาคิดว่าคำพูดนี้เป็นการชมเชยเกินจริง และงานวิจัยของเขาชี้ให้เห็นว่า การชมเชยแบบนี้ทำให้เด็ก ๆ ดำดิ่งเข้าสู่วัฏจักรที่ทำให้เด็กประเมินคุณค่าในตัวเองต่ำ (low self-esteem) แม้การชมเหล่านี้จะถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ก็ตาม

นี่ ไม่ใช่เพียงแค่การชมเชยที่เกินจริงเท่านั้นที่อาจทำให้ผู้คนรู้สึกอึดอัด ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงชาวเยอรมันคนหนึ่งที่ปฏิเสธคำชมจากเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของเธอ หรือเด็กชายญี่ปุ่นที่ตอบว่า "ไม่ ไม่" เมื่อญาติเรียกเขาว่า เป็นคนที่มีความสามารถ ซึ่งอาจจะถูกมองว่า เขาเป็นคนไม่สำนึกบุญคุณในบางสถานการณ์

จริงอยู่ที่อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีตอบรับคำชมอย่างเหมาะสม แต่จากงานวิจัยทางจิตวิทยา ชี้ให้เห็นว่า การไม่สนใจคำชม ไม่ได้เป็นข้อเสียเสมอไป

และนี่เป็นข่าวดีสำหรับหลาย ๆ คนที่รู้สึกเหมือนน้ำท่วมปากเมื่อได้รับคำชม และตำหนิตัวเองที่ดูเหมือนจะตอบกลับไปแบบไม่ดีพอ

@@@@@@@

คำชมแบบเหมารวม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องฝึกเป็นผู้รับคำชมเสมอไปก็คือ บางคำชมนั้นเป็นการดูถูกโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น การชมคนผิวดำชาวอเมริกันว่า "พูดจาคล่องแคล่ว" หรือการชมชาวเอเชียที่เกิดในสหรัฐ ฯ ว่า "เก่งภาษาอังกฤษ" คำชมเหล่านี้เผยให้เห็นอคติของผู้พูด นั่นคือ ความประหลาดใจที่คนกลุ่มน้อยสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว การชมเชยโดยแฝงไปด้วยความรู้สึกว่า ตัวเองเหนือกว่า (patronizing compliment) ที่อิงกับกลุ่มชาติพันธุ์ (เช่น "คุณเป็นผู้นำที่ดีนะ สำหรับผู้หญิงคนนึง") อาจนำไปสู่ความโกรธและความต้องการเผชิญหน้าได้

เมื่อคำชมยึดตามบรรทัดฐานทางเพศ ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่คำชมที่ไม่เหมาะสมก็สามารถฝังรากลึกให้กับภาพลักษณ์เดิม ๆ การล่วงละเมิดทางเพศอาจถูกแฝงเร้นในคราบการเยินยอ สิ่งนี้มักถูกโยนให้กลายเป็นภาระของผู้หญิงที่ต้องหาทางรับมืออย่างสุภาพ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของผู้ชายที่จะไม่ล่วงละเมิดและมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ

โดยทั่วไป ผู้หญิงได้รับคำชมมากกว่าผู้ชาย เมื่อผู้ชายได้รับคำชม มักจะเน้นที่ความสามารถของพวกเขา ในขณะที่ผู้หญิงมักได้รับคำชมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ คำชมเหล่านี้มีผลกระทบที่แตกต่างกัน "คำชมด้านรูปลักษณ์นำไปสู่การโฟกัสที่รูปลักษณ์และการหมกมุ่นกับรูปร่างกาย" โรเทม คาฮาลอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยบาร์ อิลาน ในเมืองรามัต-กัน ประเทศอิสราเอล กล่าว งานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า คำที่สื่อถึงร่างกาย รวมถึงคำชมที่เน้นรูปร่าง จะถูกประมวลผลในสมองได้เร็วและแม่นยำกว่าคำที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น "ความเป็นมิตร"

ผลที่อาจตามมาอย่างหนึ่งคือ การชะลอความคิดของผู้รับคำชม จริง ๆ ผศ.คาฮาลอน ร่วมเขียนบทความวิจัยนักศึกษามหาวิทยาลัยในอิสราเอล พบว่า ทั้งชายและหญิงที่ได้รับคำชมด้านรูปลักษณ์ ล้วนมีผลการทดสอบคณิตศาสตร์แย่ลงในภายหลัง ถึงแม้ว่าคำชมเหล่านี้อาจฟังดูดี แต่ ผศ.คาฮาลอน ตีความว่า คำชมเหล่านี้อาจสร้างความกังวลเกี่ยวกับตัวเองที่รบกวนสมาธิ ส่งผลต่อประสิทธิภาพทางปัญญา "การหมกมุ่นอยู่กับร่างกายเป็นสภาวะทางจิตที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิด" ผศ.คาฮาลอน กล่าว



ที่มาของภาพ, Getty Images , คำบรรยายภาพ, ในงานศึกษาหนึ่งพบว่า การชมเชยอย่างไม่เหมาะสมเพิ่มความกังวลให้กับผู้หญิงแต่ไม่เพิ่มความกังวลสำหรับผู้ชาย

หลักฐานทางจิตวิทยาอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า คำชมต่อรูปลักษณ์อาจส่งผลกระทบต่อผู้หญิงเป็นพิเศษ ในงานวิจัยที่ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิตาลีจำลองการสัมภาษณ์งาน คำชมที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อระดับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อผู้ชาย ขณะเดียวกัน ผู้หญิงในหลายวัฒนธรรมถูกคาดหวังให้เป็นคนสุภาพเรียบร้อยควบคู่ไปกับการมีรูปลักษณ์ที่ดึงดูด สิ่งนี้สร้างความตึงเครียดเกี่ยวกับวิธีตอบสนองต่อคำชม

โดยรวมแล้ว "คำชมต่อรูปลักษณ์นั้นตอกย้ำบทบาทดั้งเดิมของผู้หญิงอย่างแยบยลในฐานะวัตถุทางเพศที่ต้องมีการดูแลภาพลักษณ์ตลอดเวลา" ผศ.คาฮาลอน กล่าว

ถึงแม้ว่าการชมรูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงอาจดูเหมือนเจตนาบริสุทธิ์และยังดูเป็นเรื่องที่ดี "แต่มันก็ยังเป็นรักษาสถานภาพทางเพศเอาไว้ ว่าผู้หญิงต้องถูกประเมินโดยอิงจากรูปลักษณ์" เธอกล่าว

@@@@@@@

การตอบรับกับคำชม

ขณะที่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อคำชมมักศึกษากลุ่มประชากรที่เรียกว่า "Weird" ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก กลุ่มชาวตะวันตกที่มีการศึกษาสูงอยู่ในสังคมอุตสาหกรรม มีความร่ำรวย และเป็นประชาธิปไตย เป็นหลัก และยังมักศึกษากลุ่มนักเรียนนักศึกษามากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่งานวิจัยในวัฒนธรรมอื่น ๆ แสดงให้เห็นเช่นกันว่าไม่มีวิธีสากลสำหรับการรับมือกับคำชม

ประการแรก ในบางสังคม คำชมไม่ได้ถูกมองในแง่บวก ตัวอย่างเช่น คำชมอาจถูกมองว่าเป็นการข่มขู่ ในชุมชนที่มีความเชื่ออย่างรุ่นแรงทั้งในเรื่องของการอิจฉาและเวทมนตร์

แม้กระทั่งในสังคม ที่คำชมส่วนใหญ่มักถูกมองในแง่บวก นักวิจัยได้บันทึกระดับการยอมรับคำชมที่แตกต่างกัน (ซึ่งมักแสดงออกโดยการพูดแค่ว่า "ขอบคุณ") ตัวอย่างการศึกษาหนึ่งกับผู้พูดภาษาอังกฤษในไนจีเรีย พบว่า 94% ของคำชมที่เก็บรวบรวมนั้นได้รับการยอมรับ เทียบกับตัวเลข 88% ในการศึกษาของชาวแอฟริกาใต้ และ 66% ในการศึกษาของชาวอเมริกัน และเพียง 61% ในการศึกษาของชาวนิวซีแลนด์

อย่างไรก็ตาม มีวิธีตอบสนองต่อคำชมที่หลากหลายนอกเหนือจากการยอมรับหรือปฏิเสธอย่างง่าย ๆ การวิเคราะห์บทสนทนาภาษาเยอรมันพบว่า ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการศึกษายอมรับคำชมอย่างท่วมท้น แต่พวกเขามักจะไม่ตอบว่า "ขอบคุณ" ตรงกันข้าม บางครั้งพวกเขาอาจแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำชมนั้นเอง เช่น ตอบว่า "ดีจัง" เมื่อได้รับคำชมว่า "อยู่บ้านคุณในเย็นวันนี้เป็นเรื่องที่ดีจัง" (สิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความสุภาพของชาวเยอรมัน ที่คำชมมีน้อยกว่าแต่จริงใจกว่า เมื่อเทียบกับในสหรัฐฯ)

นักวิจัยหลายคนได้บันทึกความขัดแย้งภายในจิตใจที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งได้รับคำชม พวกเขาต้องเลือกระหว่างความต้องการให้บทสนทนาราบรื่นโดยการเห็นด้วย แต่ก็รู้สึกว่าจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเยินยอตัวเอง ความขัดแย้งนี้อาจรุนแรงเป็นพิเศษในบางสถานการณ์ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมักจะมีแรงกดดันให้ปฏิเสธคำชม 45% ของคำชมที่ระบุไว้ในการศึกษาครั้งหนึ่ง นำไปสู่การตอบสนองเชิงลบ แต่ผู้พูดภาษาญี่ปุ่นมีกลยุทธ์หลากหลายในการตอบรับคำชมโดยไม่ยอมรับหรือปฏิเสธโดยตรง เช่น การพยักหน้าหลายครั้ง หรือพูดติดตลกแซวว่า พฤติกรรมที่ได้รับคำชมนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ดี

สำหรับคนที่เติบโตในวัฒนธรรมที่คำติชมมักเน้นไปที่วิธีปรับปรุง แทนที่จะเป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี อาจรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้รับคำชม อย่างเช่น เด็กชาวจีน "ได้รับการสอนให้มุ่งเน้นไปที่ข้อบกพร่องของตัวเอง และไม่โอ้อวดความสำเร็จ"

ฟลอร์รี่ เฟย-หยิน อึง ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง กล่าว "จากมุมมองนี้ ไม่น่าแปลกใจที่เด็กจีนอาจรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้รับคำชม"



ที่มาของภาพ, Getty Images , คำบรรยายภาพ, การชื่นชมที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อการเห็นคุณค่าของตัวเองของแต่ละบุคคลได้

ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน ส่งผลให้การยอมรับคำชมในจีน (และในประเทศอื่น ๆ รวมถึงอิหร่าน) เพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน

ศ.อึง กล่าวว่า เด็กชาวจีนยังคงสังเกตวิธีที่ผู้ใหญ่ตอบสนองต่อคำชม และปรับใช้พฤติกรรมของเขาตามแบบอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น เธออาจสังเกตว่า เมื่อญาติชมพวกเขาต่อหน้าพ่อแม่ พ่อแม่ของพวกเขาเปลี่ยนประเด็นไปเรื่องอื่น ๆ จากคำชมดังกล่าว

แน่นอนว่า การเลี้ยงดูแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้ดีกว่าอีกแบบหนึ่งทั้งหมด การชมเชยเด็กอย่างต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงผลงานที่พวกเขาทำไปจริง ๆ อาจกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์และไร้ประสิทธิภาพ แต่การไม่ชมเลยก็อาจส่งผลเสียต่อการปรับตัวทางอารมณ์ "พฤติกรรมแบบใดที่น่าจะส่งผลต่อผลลัพธ์เชิงบวกของเด็ก ขึ้นอยู่กับขอบเขตที่พฤติกรรมนั้นเป็นที่ยอมรับทางสังคมในโลกสังคมของเด็ก" ศ.อึง กล่าว

สำหรับผู้ใหญ่บางคน คำวิจารณ์อาจเป็นแรงผลักดันมากกว่าคำชม ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญมักได้รับแรงกระตุ้นจากคำวิจารณ์เชิงลบมากกว่ามือใหม่

@@@@@@@

เมื่อใดที่คำชมไม่เป็นประโยชน์

แน่นอนว่า ยังมีปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อวิธีที่ใครสักคนตอบสนองต่อคำชม คำชมสามารถกระตุ้นความวิตกกังวลในผู้ที่มีความนับถือตนเองต่ำ เนื่องจากคำชมท้าทายมุมมองที่พวกเขามีต่อตัวเอง และทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกเข้าใจผิด นอกจากนี้ ความกลัวการถูกประเมินในแง่ลบยังเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีอาการวิตกกังวลทางสังคม

แต่แม้สำหรับคนอื่น ๆ คำชมที่ไม่คาดคิดก็อาจทำให้สับสนได้ "โดยพื้นฐานแล้ว คำชมคือการประเมิน" รศ.บรัมเมลแมนกล่าว แม้จะเป็นการประเมินในแง่บวก "ผู้คนไม่ชอบถูกประเมินเสมอไป ... มันดึงคุณออกจากโฟกัสในปัจจุบัน มันทำให้คุณกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับคุณ"

นอกเหนือจากการกระตุ้นความรู้สึกไม่พึงประสงค์อย่างกะทันหันว่าคุณกำลังถูกตัดสิน คำชมยังสามารถทำให้คุณรับรู้ถึงความแตกต่างของอำนาจได้อย่างฉับพลัน ท้ายที่สุด รศ.บรัมเมลแมนกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องปกติที่ครูจะชมนักเรียน แต่ในทางกลับกัน ก็ใช่เป็นเรื่องที่ทั่วไปที่นักเรียนกล่าวคำชมครู ผมคิดว่า คุณก็เห็นสิ่งนี้ในที่ทำงานเช่นกัน"

งานวิจัยเกี่ยวกับเด็กของ รศ.บรัมเมลแมนยังชี้ให้เห็นว่า เด็ก ๆ อาจจะอ่อนไหวต่อวิธีการได้รับคำชมมาก ตัวอย่างเช่น คำชมที่เกินจริงจากครูอาจส่งสัญญาณว่า พวกเขาคาดหวังไม่สูงมากต่อนักเรียนบางคน เช่น เด็กที่มาจากฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ไม่ดีนัก และได้รับการยกยออย่างมากเกินไปเพื่อชดเชยกับความขาดแคลนดังกล่าว

"จากนั้น นักเรียนจึงตีความคำชมที่เกินจริงว่า เป็นหลักฐานว่าพวกเขาไม่ฉลาดเท่าไหร่" รศ. บรัมเมลแมนกล่าว

ในการศึกษากับกลุ่มเด็กที่ร้องเพลงในเนเธอร์แลนด์ รศ.บรัมเมลแมนและเพื่อนร่วมงานยังพบว่า การยกยอที่ไม่สมเหตุสมผลทำให้เด็กที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคมเกิดความเขินอายได้

"การเขินอายเป็นสัญญาณจริง ๆ ว่า คนอื่นอาจประเมินคุณในแง่ลบ" รศ.บรัมเมลแมนกล่าวและว่า

"มันมักเกิดขึ้นเมื่อเราเป็นจุดสนใจ" ในกรณีนี้ แม้ว่าความวิตกกังวลทางสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกไม่สบายใจ แต่ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือ ระดับของคำชม การบอกให้เด็กยอมรับคำชมที่มากเกินไปโดยไม่หน้าแดงนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไร



ที่มาของภาพ, Getty Images

เด็ก ๆ แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ถึงความแตกต่างของคำชมตั้งแต่วัยเยาว์มาก "เด็กก่อนวัยเรียน เมื่อพวกเขาเห็นว่าครูชมอย่างฟุ่มเฟือย... โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของงาน พวกเขาเริ่มไว้ใจคำชมของครูเหลือน้อยลง" รศ.บรัมเมลแมนกล่าว ซึ่งอีกนัยหนึ่ง คุณค่าของคำชมจะลดลงหากชมแบบขอไปที

อันที่จริง การให้คำชมที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าผลดี

รศ.บรัมเมลแมนสังเกตว่า "พ่อแม่มักจะให้คำชมกับเด็กที่มีความนับถือตนเองต่ำ เนื่องจากพวกเขาคิดว่าเด็กเหล่านี้ต้องการคำชมเพื่อรู้สึกดีขึ้นเกี่ยวกับตัวเอง แต่นั่นไม่เป็นความจริง" งานวิจัยของเขากับเพื่อนร่วมงานแสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กที่มีความนับถือตนเองต่ำได้รับคำชมที่เกินจริงมากขึ้น ความนับถือตนเองของพวกเขาจะเลวร้ายลงตามกาลเวลา คำชมที่เกินจริงสร้างความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ที่ทำให้ดีพอ ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณไปยังเด็ก ๆ ว่า คุณค่าของตัวเองควรเชื่อมโยงกับคำชมจากภายนอก

รศ.บรัมเมลแมนสนับสนุนให้ทำลายวงจรที่ชั่วร้ายนี้ด้วยการใช้คำชมอย่างรอบคอบและเหมาะสมยิ่งขึ้น ในขณะที่พ่อแม่บางครั้งมักให้คำชมเพื่อแสดงความสนใจ แต่ก็มีวิธีอื่นที่จะทำได้ เช่น แทนที่จะชมภาพวาดของลูกโดยอัตโนมัติและพรั่งพรูออกมา พ่อแม่สามารถนั่งลงและพูดคุยเกี่ยวกับภาพวาด แสดงความกระตือรือร้น

"เด็ก ๆ ใฝ่ฝันถึงความอบอุ่นและความรักมากกว่าที่พวกเขาใฝ่ฝันถึงการประเมินในแง่บวกของคุณ" รศ.บรัมเมลแมนเชื่ออย่างนั้น

โดยรวมแล้ว "ผมคิดว่าพวกเราประเมินว่าผู้คนชื่นชอบการได้รับคำชมสูงเกินไป" เขากล่าว

@@@@@@@

บรรเทาความกดดันลง

ดังนั้น แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรกล่าวโทษผู้กล่าวคำชม ซึ่งโดยปกติแล้วจะชมบุคคลอื่นด้วยความตั้งใจให้รู้สึกดี คำชมเหล่านั้นก็ควรได้รับการจัดการอย่างดี

ในขณะเดียวกัน ผู้รับคำชมสามารถปล่อยวางตัวเองจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด หากพวกเขาไม่มีกำลังเพียงพอที่จะยอมรับคำชมอย่างสุภาพ สิ่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัยหรือปัจจัยทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก (หรือที่จำเป็น) หรือคำชมบางอย่างอาจเผยให้เห็นถึงเป้าหมายของผู้ให้คำชมมากกว่าความต้องการของผู้ถูกชม

"มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คำชมคุณรู้สึกแย่" บรัมเมลแมนสรุป "ผมเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า นี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของใคร ๆ ที่จะเรียนรู้วิธีรับคำชม แต่สิ่งที่อาจเป็นประโยชน์คือ เพียงแค่ฝึกฝนการตอบสนองขั้นมาตรฐานที่คุณจะตอบกลับ และไม่ต้องกังวลมากนัก หากมันทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจ" เขากล่าว






Thank to : https://www.bbc.com/thai/articles/c9707g250g0o
ที่มาของภาพ, Getty Images | คริสติน โร, ผู้สื่อข่าวสารคดีพิเศษ , 9 เมษายน 2024
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ