ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา สำนวนไทยนี้มาจากไหน เกี่ยวอะไรกับ “จั่ว” และ “เสา”  (อ่าน 4 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28492
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่


รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา สำนวนไทยนี้มาจากไหน เกี่ยวอะไรกับ “จั่ว” และ “เสา”


“รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” เป็น สำนวนไทย ที่ใช้กันมาเนิ่นนาน ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 แปลความว่า “ใฝ่ดีจะมีความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลำบาก.”

แล้ว “จั่ว” กับ “เสา” เกี่ยวอะไร และสำนวนไทยนี้ต้องการสอนอะไรกันแน่.?

ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม บทความ “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” ของ ศาสตราจารย์ ดร. อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ อดีตคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับสำนวนนี้ไว้อย่างละเอียดยิบ ซึ่งขอยกมาให้อ่าน ดังนี้

@@@@@@@

ศ. ดร. อุดม คาดว่า ความหมายที่ถูกบัญญัติไว้น่าจะเกิดจากการตีความของท่านผู้รู้ เพราะไม่มีคำไหนเลยที่เกี่ยวข้องกับความเจริญและความลำบาก และอาจจะเกิดจากการตีความว่า การหามจั่วนั้นน่าจะดีกว่าหามเสา เพราะจั่วเป็นเครื่องไว้ประกอบด้านบน ต่างจากเสาที่สามารถเลอะโคลนดินได้เพราะเป็นเครื่องล่างของบ้าน

หรืออาจจะคิดไปได้ว่า จั่วนั้นเบากว่าเสา ดังนั้น คนที่รักดีก็หวังจะหามจั่วเพื่อให้ตนเองสบาย ดีกว่าหามเสาหนัก ๆ

อย่างไรก็ตาม อดีตคหบดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เห็นต่างจากข้อสันนิษฐานดังกล่าว เพราะแท้จริงแล้ว จั่วมีรูปลักษณ์เป็นสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ ถือและขนย้ายลำบากกว่าเสานัก และยังให้เหตุผลอีกว่า…

    “บางท่านมองว่าจั่วนั้นเบากว่าเสา คนรักดีก็เลือกหามสิ่งที่เบา คนรักชั่วเท่านั้นที่เลือกหามสิ่งที่หนัก ใครก็ตามที่มีความคิดเช่นนั้นสังคมควรจะรวมกันตำหนิว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว และไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง
     ถ้าเป็นไปได้ควรจะขจัดออกไปเสียจากสังคม เพราะเป็นคนเอาเปรียบเพื่อนฝูง คอยฉกฉวยโอกาสเลือกแต่สิ่งที่ง่าย ที่สบาย สังคมควรยกย่องบุคคลที่เสียสละ ไม่ใช่ยกย่องคนที่เห็นแก่ตัว การที่กล่าวเสาสกปรกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนโคลนนั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรด้วยกับการใฝ่ชั่ว เสาใหม่ ๆ ก็ไม่มีโคลนเปรอะเปื้อนเหมือนจั่วเช่นกัน…”


@@@@@@@

แล้ว รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา สำนวนไทยนี้ เกี่ยวข้องอะไรกับ “จั่ว” และ “เสา” รวมถึง ต้องการสอนอะไรเรากันแน่.? นักวิชาการคนเดิมให้คำตอบไว้ดังนี้…

    “ความจริงแล้วคนโบราณท่านคิดลึกกว่านั้นมากนัก ท่านให้สำนวน รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา โดยมุ่งเน้นไปที่สัญลักษณ์มากกว่าความหมายตื้นอย่างที่ท่านผู้รู้บางท่านมอง เรารู้จักกันดีว่าคนโบราณใช้ งู เป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย

     นอกจากนั้นแล้วในคำสุภาพที่พูดถึงเพศชายก็มี ม้า ปลาช่อน หอก ถ่อ เห็ดโคน ฯลฯ อันรวมถึง เสา ด้วย

     ฉะนั้นคำพังเพยนี้จัดว่าเป็นสุภาษิตสอนหญิงที่ดีเยี่ยม เพราะท่านหมายว่า จั่ว ซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง และ เสา เป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย ในความที่ว่า รักดี ก็ให้รักนวลสงวนตัวดูแลจั่วไว้ให้ดี ถ้ารักชั่วก็ให้ริอ่านเอาเสาไปหามหรือคบชู้สู่ชาย ด้วยประการฉะนี้แล”


อ่านเพิ่มเติม :-

    • สำนวนไทย “สะโพกสุดเสียงสังข์” ชมความงามสตรี มีที่มาจากไหน?
    • ทำไมสำนวนไทยถึงใช้ “เกลือ” แทนความอึด ความทน? ทำไมต้องเป็นเกลือเค็มๆ?
    • สำนวนไทยใช้ “ปลากัด” ตำหนิผู้หญิงมารยา-จัดจ้าน แล้ว “กระต่ายแก่แม่ปลาช่อน” สื่ออะไร?





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : ปดิวลดา บวรศักดิ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 10 พฤษภาคม 2567
URL : https://www.silpa-mag.com/culture/article_132343
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ