ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อยากให้อธิบายความหมาย ของ คำว่า พยาบาท กับ อุปนาหะ ด้วยคะ  (อ่าน 3079 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

นัยนา

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 191
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
พยาบาท คือ ความอาฆาต

อุปนาหะ คือ การผูกโกรธ

  ทั้งสองอย่าง นี้ดูจากความหมายแล้ว น่าจะเหมือนกันนะคะ แต่ทำไมจึงใช้คำแตกต่างกัน

  และ สภาวะของกิเลสทั้งสองประการนี้ จะรับมืออย่างไร ? ดีคะ เมื่อ เกิดขึ้นมาแล้ว คะ

  :s_hi: :s_hi: :s_hi:
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส ๑๖ (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งทีทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี )

     ๑. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร )
     ๒. พยาบาท (คิดร้ายเขา)
     ๓. โกธะ (ความโกรธ)
     ๔. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ)

     ๕. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น)
     ๖. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน)
     ๗. อิสสา (ความริษยา)
     ๘. มัจฉริยะ (ความตระหนี่)

     ๙. มายา (มารยา)
     ๑๐. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด)
     ๑๑. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง)
     ๑๒. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน)

     ๑๓. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน)
     ๑๔. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา)
     ๑๕. มทะ (ความมัวเมา)
     ๑๖. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ)


ข้อ ๒ มีต่างออกไป คือ ใน "ธรรมทายาทสูตร" เป็น โทสะ (ความคิดประทุษร้ายเขา) (ม.มู.๑๒/๒๖/๒๖)


อ้างอิง ม.มู.๑๒/๙๓/๖๕.
ที่มา  พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ขอบคุณภาพจาก http://www.all-magazine.com/,http://1.bp.blogspot.com/



    เรื่องอุปเลส ๑๖ นี้อยู่ใน"วัตถูปมสูตร"
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

    เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  บรรทัดที่ ๑๑๓๖ - ๑๒๓๖.  หน้าที่  ๔๘ - ๕๑.
    http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=1136&Z=1236&pagebreak=0
    ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=91

    เรื่องอุปเลส ๑๖ นี้อยู่ใน"ธรรมทายาทสูตร" (อีกสูตรหนึ่ง)
   พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

   เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒  บรรทัดที่ ๓๘๕ - ๕๑๖.  หน้าที่  ๑๗ - ๒๒.
    http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=385&Z=516&pagebreak=0
   ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=20




    คุณนัยนาครับ เรื่องอุปเลสนี้ ผมได้โพสต์โดยละเอียดไว้แล้ว ในกระทู้นี้ครับ
    "อะไรเป็นเหตุให้ "รับคุณธรรมไ้ด้ยาก"
    http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5877.msg22015#msg22015
    และอีกกระทู้หนึ่งคือ
    เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้...อุปกิเลส ๑๖
    http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=4845.0
    ผมขอนำข้อธรรม พยาบาทและอุปนาหะ ในกระทู้ "อะไรเป็นเหตุให้ "รับคุณธรรมไ้ด้ยาก"มาแสดงอีกครั้ง




O โทสะ อุปกิเลสข้อ ๒ ท่านแปลว่า “ความร้ายกาจ” (หรือพยาบาท)

โทสะนั้นแรงกว่าโกธะความโกรธ โทสะเกิดได้จากความคิดปรุงแต่งเช่นเดียวกับอุปกิเลสทุกข้อ ผู้ไม่พิจารณาจึงไม่เห็นว่า โทสะนั้นไม่เกิดขึ้นเอง


จะเกิดก็ต่อเมื่อมีการคิดปรุงแต่งและต้องเป็นการคิดปรุงแต่งเพื่อให้เกิดโทสะด้วย โทสะจึงจะเกิด ถ้าเป็นการคิดปรุงแต่งไปในทางอื่น เช่นคิดปรุงแต่งให้โลภ โทสะก็จะไม่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนั้นโดยตรง

โทสะเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ถ้าไม่คิดปรุงแต่งเมื่อได้ยินเสียงหรือได้เห็นรูปเป็นต้นว่า เป็นเสียงนินทาว่าร้ายเรารุนแรงหรือเป็นการแสดงการดูถูกก้าวร้าวเรา โทสะจักไม่เกิด ผู้มีปัญญาเห็นโทษของโทสะ จึงทำสติเมื่อได้ยินเสียงหรือได้เห็นรูปเป็นต้น ไม่คิดปรุงแต่งเกี่ยวกับเสียงกับรูปนั้นให้วุ่นวาย จนก่อให้เกิดโทสะ

อันรูปอันเสียงที่ได้เห็นได้ยินนั้น แม้บางทีจะเกิดจากเจตนามุ่งร้ายจริง แต่ถ้าไม่คิดปรุงแต่งให้เห็นเจตนามุ่งร้ายนั้น เจตนาจะเป็นเช่นไรไม่นำไปคิดปรุงแต่ง โทสะจักไม่เกิด
ความคิดปรุงแต่งจึงสำคัญนัก ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ เป็นทั้งความโลภอย่างไม่มีขอบเขต ความมีโทสะร้ายกาจ และอุปกิเลสทุกประการ

เมื่อโทสะเกิด ความมืดมิดต้องเกิด ที่ท่านกล่าวว่าโกรธจนหน้ามืดก็คือโทสะนี้เองเกิด หน้ามืดก็คือตาใจมืด ทำให้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น ไม่เห็นผิดชอบชั่วดี ไม่เห็นความควรไม่ควรทั้งหลาย เรียกว่าเป็นความเศร้าหมองอย่างยิ่ง

บดบังความบริสุทธิ์ประภัสสรได้อย่างยิ่ง สามารถทำจิตใจที่ประภัสสรดูราวกับไม่มีความประภัสสรอยู่ในตัวเลย กลายเป็นจิตที่มืดมัวเพราะความประภัสสรไม่อาจปรากฏให้เห็นได้

ผู้มีปัญญาปรารถนาจะนำความประภัสสรแห่งจิตให้ปรากฏเจิดจ้า จึงพยายามทำสติอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อจะดูหรือจะฟังสิ่งใดเรื่องใด เพื่อว่าสติจะได้ควบคุมความคิดปรุงแต่งไม่ให้เกิดอุปกิเลสข้อโทสะนี้เป็นสำคัญ

จะพยายามให้สติควบคุมความคิดปรุงแต่งที่อาจยังต้องมีอยู่ตามวิสัยของบุถุชน ให้เป็นการคิดปรุงแต่งอย่างเป็นคุณแก่ตนเอง เช่นคิดปรุงแต่งไปในทางที่ดี ให้เกิดเมตตาเป็นต้น เพื่อให้เมตตาเป็นเครื่องดับโทสะ เท่ากับให้เมตตาเป็นเครื่องกำจัดความมืดมิด มิให้มาบดบังความประภัสสรของจิต

เมตตาดับความคิดปรุงแต่งให้เกิดโทสะได้ เมตตาจึงเป็นเครื่องช่วยขจัดหมอกมัวบางส่วน มิให้บดบังความประภัสสรสวยงามอันเป็นที่พึงปรารถนาแห่งจิต


แม้ปรารถนาได้พบเห็นความบริสุทธิ์ประภัสสรแห่งจิตตน ทุกคนต้องเจริญเมตตาให้อย่างยิ่งด้วยปัญญาด้วย




O อุปนาหะ อุปกิเลสข้อ ๔ ท่านแปลว่า “ผูกโกรธไว้”

มีความหมายตรงไปตรงมาว่า ไม่ยอมเลิกโกรธ เก็บความโกรธฝังไว้ในใจนานๆ กาลเวลาผ่านไปแล้วเหตุที่ทำให้คิดปรุงแต่งจนเกิดความโกรธก็ล่วงเลยไปแล้ว แต่ยังจดจำนำไปคิดปรุงแต่งให้กลับเกิดความโกรธในเรื่องเดิมสิ่งเดิมได้อีก ไม่รู้แล้ว

ให้ความร้อนแก่ตนเองไม่รู้สิ้นสุด ยังหมอกควันให้ปกปิดความประภัสสรแห่งจิตตนไว้ด้วยความเบาปัญญา จึงไม่รู้ว่าจิตอันประภัสสรของตนนั้นมีค่านัก หาควรสร้างความคิดปรุงแต่งใดๆ ให้เป็นหมอกมัวมาปกปิดเสียไม่

ไฟสุมขอนมีความร้อนกรุ่นอยู่ตลอดเวลาเป็นเช่นไร ความผูกโกรธไว้ก็เป็นเช่นนั้น เผารุมร้อนกรุ่นอยู่เช่นนั้น แตกต่างกันเพียงที่ไฟสุมขอนร้อนอยู่ที่ขอนไม้ แต่ความผูกโกรธร้อนอยู่ในหัวอก

การดับไฟสุมขอนต้องใช้น้ำราดรด ไฟดับสนิทแล้วขอนก็มอดไหม้ทิ้งความสกปรกเลอะเทอะหลงเหลืออยู่ แต่การดับความผูกโกรธใช้สติปัญญาดับความคิดปรุงแต่ง เพียงเท่านั้นความผูกโกรธก็จะดับ นอกจากจะไม่หลงเหลือความสกปรกอยู่หลังการดับความผูกโกรธ ยังจะมีความผ่องใสเยือกเย็นอีกด้วย

เพราะไม่ใช่ปัญญาคิด จึงไม่ได้ความรู้สึกถูกต้องว่า ความโกรธก็ตามความผูกโกรธก็ตามทำให้เร่าร้อน ปราศจากความสุขความเย็นไม่มีประโยชน์อะไรเลยในความโกรธหรือความผูกโกรธ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เพราะปัญญาคือแสงสว่าง


ความโกรธและความผูกโกรธคือความมืด ความมืดมากเพียงไรแสงสว่างก็จะถูกกีดกั้นมากเพียงนั้น และแม้ว่าปัญญาน้อยเสียเท่านั้น ย่อมไม่เห็นว่าตนเป็นเจ้าของสมบติที่มีค่าพ้นพรรณา หาได้ใส่ใจที่จะทะนุถนอมสักน้อยหนึ่งไม่ สมบัตินั้นอันเป็นของเราทุกคน คือจิตที่บริสุทธิ์ประภัสสร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 18, 2011, 01:12:55 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พยาบาท คือ ความอาฆาต

อุปนาหะ คือ การผูกโกรธ

  ทั้งสองอย่าง นี้ดูจากความหมายแล้ว น่าจะเหมือนกันนะคะ แต่ทำไมจึงใช้คำแตกต่างกัน

  และ สภาวะของกิเลสทั้งสองประการนี้ จะรับมืออย่างไร ? ดีคะ เมื่อ เกิดขึ้นมาแล้ว คะ

  :s_hi: :s_hi: :s_hi:

   อุปกิเลสข้อสอง คือ พยาบาท(พฺยาปาโท) อยู่ใน"วัตถูปมสูตร"
   แต่ใน"ธรรมทายาทสูตร" อุปกิเลสข้อสอง ใช้คำว่า โทสะ(โทโส)
   ความต่างของสองสูตรนี้อีกอย่างก็คือ สูตรแรกพระพุทธเจ้าเป็นคนแสดง สูตรที่สองพระสารีบุตรเป็นคนแสดง
หลายคนอาจคิดว่า "ให้เอาของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก" แต่อย่าลืมว่า พระพุทธเจ้ากล่าวยกย่องพระสารีบุตรว่า
"สารีบุตรอยู่ทิศใดเหมือนพระองค์อยู่ทิศนั้น"


   ข้อน่าสังเกตอีกอย่าง อุปกิเลสข้อแรก ใน"วัตถูปมสูตร" คือ อภิชฌาวิสมโลภ(อภิชฺฌาวิสมโลโภ)
   แต่ใน"ธรรมทายาทสูตร" ใช้คำว่า โลภะ(โลโภ)
   เรื่องความต่างและความหมายโดยละเอียดของข้อธรรมทั้งสองตามที่คุณนัยนาสงสัยนั้น
   ผมเองก็ไม่อาจให้ความกระจ่างได้ เกินปัญญาครับ




   อย่างไรก็ตาม ผมจะนำข้อความในพระสูตรและอรรถกถามาเปรียบเทียบให้ดู
   เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน"ธรรมทายาทสูตร"  แบ่งอุปเลสเป็นคู่ๆ เช่น โลภะ-โทสะ,โกธะ-อุปนาหะ และในอรรถกถาของสูตรนี้ได้อธิบายโลภะและโทสะไว้ว่า

อรรถกถา"ธรรมทายาทสูตร"

   ด้วยคำว่า โลภะเป็นบาปธรรมและโทสะก็เป็นบาปธรรม พระเถระย่อมแสดงว่า ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้เป็นบาป คือตํ่าช้า ฉะนั้น ธรรมเหล่านี้จึงต้องละเสีย.
               ในบรรดาโลภะและโทสะทั้ง ๒ นั้น โลภะมีลักษณะอยากได้ โทสะมีลักษณะประทุษร้ายใจ.
               ในจํานวนโลภะและโทสะนั้น โลภะมีแก่ภิกษุผู้เป็นอามิสทายาท ในเพราะการได้ปัจจัยทั้งหลาย.
ส่วนโทสะมีเพราะอลาภะ คือต้องการสิ่งที่ยังไม่ได้ (ไม่ต้องการสิ่งที่ได้อยู่แล้ว) หรือมีเพราะโทสะ (โดยตรง) คือเมื่อไม่ได้ก็นำความคับแค้นใจมาให้.


              โลภะมีในเพราะไทยธรรม (ของทำบุญ). ส่วนโทสะมีในเพราะบุคคลที่ไม่ถวายหรือในบุคคลที่ถวายของที่ไม่ถูกใจ. เพราะโลภะจึงทำให้ (อกุศล) ธรรมซึ่งมีตัณหา ๙ อย่างเป็นมูลบริบูรณ์ เพราะโทสะจึงทำให้มัจฉริยะ ๕ อย่างบริบูรณ์.
               บัดนี้ เมื่อจะแสดงอุบายเป็นเครื่องละโลภะและโทสะเหล่านั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า โลภสฺส จ โทสสฺส จ ปหานาย ดังนี้เป็นต้น.


              คำของพระเถระนั้นมีอธิบายความว่า ก็ข้อปฏิบัติสายกลางเพื่อละโลภะและโทสะอันเป็นบาปนั้นมีอยู่. คำนี้พระเถระกล่าวหมายถึงมรรค.
               เพราะว่ามรรคจะไม่เข้าใกล้ คือไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒ นี้ คือโลภะก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง โทสะก็เป็นที่สุดอันหนึ่ง พ้นแล้วอย่างสิ้นเชิงจากที่สุดทั้ง ๒ นี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติสายกลาง). ที่ชื่อว่ามัชฌิมา เพราะอยู่ในระหว่างกลางที่สุดทั้ง ๒ นั้น ที่ชื่อว่าปฏิปทา เพราะอันบุคคลผู้ต้องการนิพพานพึงปฏิบัติ. ฯลฯ




ส่วนอรรถกถาของ"วัตถูปมสูตร" ได้อธิบายไปอีกทางหนึ่งดังนี้

อรรถกถา"วัตถูปมสูตร"

               บรรดาอุปกิเลสเหล่านั้น ความรักความพอใจในภัณฑะของตน ชื่อว่าอภิชฌา. ความรักความพอใจในภัณฑะของคนอื่น ชื่อว่าวิสมโลภะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ความรักความพอใจในภัณฑะของตนหรือของคนอื่น จงยกไว้ ความรักความพอใจในฐานะที่ถูกที่ควร ชื่อว่าอภิชฌา. ความรักความพอใจในฐานะที่ไม่ถูกไม่ควร ชื่อว่าวิสมโลภะ.

               ส่วนพระเถระกล่าวไว้ว่า โลภะทุกอย่างจะไม่ชื่อว่าวิสมะก็หามิได้ เพราะพระบาลีว่า พวกเธอทำการแบ่งแยกไปทำไม? จะเป็นในอารมณ์ที่เหมาะหรือไม่เหมาะก็ตาม ราคะก็เป็นวิสมะ โทสะก็เป็นวิสมะ โมหะก็เป็นวิสมะ (เหมือนกัน) เพราะฉะนั้น โลภะนี้นั่นเองชื่อว่าอภิชฌา เพราะอรรถว่าเพ่งเล็ง ชื่อว่าวิสมะ เพราะอรรถว่าไม่เหมาะ (ไม่ชอบธรรม). คำว่า อภิชฌาและวิสมะ นี้มีความหมายอันเดียวกัน ต่างกันแต่เพียงพยัญชนะเท่านั้น.

               ก็อภิชฌาวิสมโลภะนี้นั้น เกิดขึ้นแล้วย่อมทำร้ายจิต คือไม่ให้จิตผ่องใส เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ดังนี้. เหมือนอย่างว่า อภิชฌาวิสมโภะนี้เป็นฉันใด พยาบาทอันเกิดมาจากอาฆาตวัตถุ (เหตุที่ตั้งแห่งความอาฆาต) ๙ อย่าง ความโกรธอันเกิดมาจากอาฆาตวัตถุ ๑๐ อย่าง ความผูกโกรธ อันครอบคลุมจิตบ่อยๆ ก็ฉันนั้น ความลบหลู่ อันกระทำสิ่งที่เขาทำดีแล้วให้พินาศไป ไม่ว่าของคฤหัสถ์หรือของบรรพชิต (มีลักษณะเหมือนกัน). ฯลฯ

---------------------
 
บทว่า ปชหติ ความว่า ละ (อุปกิเลสแห่งจิต) ด้วยอริยมรรคด้วยอำนาจแห่งสมุจเฉทปหาน.
               ในบทว่า ปชหติ นั้น พึงทราบการละมีอยู่ ๒ อย่าง คือ (ละ) ตามลำดับกิเลส และตามลำดับมรรค. (จะอธิบายการละ) ตามลำดับกิเลสก่อน.

              กิเลส ๖ เหล่านี้คือ อภิชฌาวิสมโลภะ (ความโลภโดยไม่ชอบธรรมคือความเพ่งเล็ง) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) มทะ (มัวเมา) ย่อมละได้ด้วยอรหัตตมรรค.

               กิเลส ๔ เหล่านี้คือ พยาปาทะ (ความพยาบาท) โกธะ (ความโกรธ) อุปนาหะ (ความผูกโกรธไว้) ปมาทะ (เลินเล่อ) ย่อมละด้วยอนาคามิมรรค.

               กิเลส ๖ เหล่านี้คือ มักขะ (ลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ตระหนี่) มายา (มารยา, เจ้าเล่ห์) สาเถยยะ (โอ้อวด) ย่อมละด้วยโสดาปัตติมรรค. ฯลฯ




       ลองค่อยๆอ่านดู การแ้ก้อุปกิเลส พยาบาทและอุปนาหะ ต้องเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘(มัชฌิมาปฏิปทา)
อริยบุคคลที่ละพยาบาทและอุปนาหะได้ ต้องเป็นอนาคามีผล(หรือตัดด้วยอนาคามีมรรค)
       ส่วนปุถุชน ต้องรับมือด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๕ หรือที่เรียกกันง่ายๆก็คือ"การแผ่เมตตา"นั่นเอง
       ขอคุยเท่านี้ครับ
:25:
       
       ลิงค์แนะนำ
       เมตตาพรหมวิหาร กับ เมตตาอัปปมัญญา นั้นต่างกันอย่างไรในกรรมฐาน
       http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=871.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 18, 2011, 01:13:57 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ