ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เสพติดออนไลน์ ส่งผลเด็กไทย..สมองพร่องปัญญา  (อ่าน 1508 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เสพติดออนไลน์ ส่งผลเด็กไทย..สมองพร่องปัญญา

รายงานของกรมสุขภาพจิต ในปีงบประมาณ 2559 ที่เปิดเผยระหว่างการประชุมวิชาการจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ครั้งที่ 21 เรื่อง “ประเด็นร้อนในจิตเวชเด็กและวัยรุ่น” (Hot Issue in Child and Adolescent Psychiatry) ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆนี้ มีข้อมูลน่าตกใจ ว่า เด็กและวัยรุ่นที่มารับบริการในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต มี ความบกพร่องเกี่ยวกับการเรียนรู้ มากที่สุด รองลงมา คือ บกพร่องทางสติปัญญา และ ออทิสติก ตามลำดับ โดยความผิดปกติของเด็กเหล่านี้มีสาเหตุหลักจากความผิดปกติทางสมอง

เรื่องนี้ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า กลุ่มเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้มากที่สุดวัยหนึ่ง โดยความผิดปกตินี้จะแสดงออกทางพฤติกรรมได้หลายอย่างและจำเป็นต้องใช้วิธีการบำบัดที่หลากหลายเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการบำบัดสูงสุด

“เด็กในยุคเจนเนอเรชั่น Z ที่เกิดมาพร้อมกับดิจิทัล เทคโนโลยี และโซเชียลมีเดีย ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะมีปัญหาทางด้านจิตเวชและพฤติกรรม ข้อมูลจากวารสารการแพทย์กุมารเวชศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า คนที่ถูกเพื่อนๆ ปฏิเสธหรือเป็นที่รังเกียจในโลกโซเชียลมีเดียจะเป็นอันตรายมากกว่าถูกปฏิเสธในโลกแห่งความจริง และพบว่าหลายรายเมื่อประสบปัญหาเช่นนี้มักจะมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือ โรคโนโมโฟเบีย ตามมา”

อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า การที่เด็กและวัยรุ่นเติบโตมากับโลกโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้แยกแยะไม่
ออกระหว่างความจริงกับความจริงเทียมหรือเสมือนจริง ที่เรียกว่า artificial reality ซึ่งมาจากการโพสต์ การแชร์ ที่มักจะแต่งแต้มด้วยสิ่งที่ทำให้ดูสวยงาม ที่บางครั้งก็ตรงข้ามกับความเป็นจริง ซึ่งถ้าเด็กไม่สามารถแยกแยะได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาในระบบของการคิด วิเคราะห์ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตตามมา

“เด็กและวัยรุ่นที่มารับบริการในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตประมาณ 15% ยอมรับว่าตัวเองติดเกมออนไลน์ และใช้วิธีการพูดคุยสื่อสารผ่านไลน์ และ เฟซบุ๊กมากกว่าการพูดคุยจริงๆ โดยเฉลี่ยน้อยที่สุด ขณะนี้พบว่าวัยรุ่นไทยเล่นเกมประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน ในรายที่ติดเกมอย่างรุนแรงอาจเล่นต่อเนื่องยาวนานถึง 10 ชั่วโมง ซึ่งนั่นถือว่าอาจต้องได้รับการบำบัดแล้ว”



อาการของกลุ่มของคนที่เกิดและเติบโตมาในยุคสื่อสารออนไลน์ ซึ่งกำลังถูกเสนอจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งในกลุ่มวิตกกังวล คือ อาการที่เรียกว่า โนโมโฟเบีย (Nomophobia) ซึ่งย่อมาจากคำว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ ที่ชื่อว่า YouGov บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือในการติดต่อสื่อสาร

มีการงานวิจัยผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 2,163 คนในประเทศอังกฤษ และพบว่า 53% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในสหราชอาณาจักรจะเกิดอาการวิตกกังวลเมื่อพบว่าโทรศัพท์หาย แบตเตอรี่หมด หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อีกทั้งยังพบว่า 58% ของผู้ชาย และ 47% ของผู้หญิงที่ใช้โทรศัพท์มือถือมีอาการของโนโมโฟเบียและในจำนวนนี้มีถึง 9% ของกลุ่มที่ศึกษา ระบุว่ารู้สึกเครียดมากถ้าโทรศัพท์ของตนเองใช้การไม่ได้

และเมื่อให้ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ระบุถึงระดับของความเครียดจากการขาดโทรศัพท์มือถือนั้น ความเครียดที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับความเครียดที่เกิดขึ้นก่อนวันแต่งงานหรือความเครียดระดับเดียวกับการไปพบทันตแพทย์เลยทีเดียว

อีกการศึกษาหนึ่งที่ทำในนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพเพศชาย 547 คน พบว่า 23% มีพฤติกรรมอยู่ในเกณฑ์ที่จะถูกวินิจฉัยได้ว่าเป็นโนโมโฟเบียและมีอีก 64% ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการนี้ ที่น่าสนใจก็คือ 77% ของเด็กในกลุ่มที่ถูกทำการวิจัยเช็กโทรศัพท์มือถือของตนเองบ่อยมากโดยเฉลี่ย 35 ครั้งต่อวัน

เมื่อประมวลงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว พอสรุปได้ว่า อาการโนโมโฟเบียที่พบในคนซึ่งเสพติดสังคมออนไลน์ มากที่สุดถึง 77% จะอยู่ในกลุ่มช่วงอายุ 18-24 ปี รองลงมา คือ 25-34 ปี และมากกว่า 55 ปีตามลำดับ



คุณหมอบุญเรือง บอกว่า ล่าสุดได้ร่วมกับชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศ ไทย และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ แพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะ ในการดูแลเด็กและวัยรุ่นยุคดิจิทัล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการพัฒนาเด็กและวัยรุ่นทั้งการส่งเสริมป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กและวัยรุ่น

ในยุคปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารในระบบ Digital หรือแอพพลิเคชั่น (Application) ที่ช่วยทำให้มีการติดตามการเคลื่อนไหวของข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว และทันเหตุการณ์

ทั้งนี้ ลองสำรวจตัวเองดูว่า คุณเป็นพวกเสพติดออนไลน์ขนาดไหน เช่น พกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลาต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลใจมากเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัว, หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นต่างๆ อัพเดตข้อมูลจากโทรศัพท์อยู่ตลอดหรือไม่, เช็กโทรศัพท์เป็นอันดับแรกเมื่อตื่นนอน และก่อนนอนก็ยังคงเล่นโทรศัพท์ เล่นเกม หรือ เล่นโทรศัพท์เป็นประจำในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ระหว่างรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถ หรือระหว่างนั่งรอรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า และ ในแต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับผู้คนจริงๆ รอบข้าง ฯลฯ

ถ้ามีอาการใกล้เคียงเช่นนี้ คุณอาจจะกลายเป็นโนโมโฟเบีย..โดยไม่รู้ตัวก็ได้.



ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/855837#cxrecs_s
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ