ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง  (อ่าน 3881 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

TC9

  • ศิษย์ตรง
  • กำลังแหวกกระแส
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 137
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง

          เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นนักเรียนชั้นประถมคือ เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว ได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นคุณตาคุณยายกล่าวถึงสิ่งที่หมดจดงดงาม มักจะเปรียบเทียบว่า “ จะแม่นงามปานพระบท ” ต่อมาเมื่อโตขึ้นก็ได้ยินคำกล่าวว่า สิ่งดีงามมีความสำคัญของเมืองอุบลฯ ได้แก่ “ พระบทวัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง ” คำกล่าวนี้มิได้เป็นคำพูดของคนอุบลฯ เท่านั้น แต่เป็นผู้มาไกลจากภาคใต้ที่ใจรักเมืองอุบลฯ แสดงให้เห็นว่าคำพังเพยนี้มีแพร่หลายมานานแล้ว เป็นเหตุให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาว่า “ แม้แต่คนใต้ยังเข้าใจสิ่งดีงามของเมืองอุบลฯ ” เราเป็นคนอุบลฯ แท้ๆ แต่ไม่ทราบความสำคัญของโบราณวัตถุโบราณสถานในวัดทั้ง 3 แห่งนี้ ทำให้ฉุกใจในการศึกษาค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง เผยแพร่ให้เป็นที่ทราบกันทั่วไป ดังต่อไปนี้

          คำว่า “ พระบท ” อ่านออกเสียงว่า “ พระบด ” สะกดตัวอักษรเขียนได้หลายอย่าง ความหมายแตกต่างกันไป ในหนังสือ “ เล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานี ” ที่พี่บำเพ็ญ ณ อุบล เขียนไว้ มีทั้งสะกดด้วย “ ฎ ” และ “ ท ” อ่านว่า “ พระบฎ ” กับ “ พระบท ” ทั้ง 2 คำ

          คำว่า “ พระบฎ ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานอธิบายความหมายว่า “ ผืนที่มีรูปพระพุทธเจ้าแขวนไว้เพื่อบูชา ” ซึ่งตรงกับความหมายใน “ สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน ” ส่วนคำว่า “ พระบท ” ปรากฏในหนังสือ, บทความ, แผ่นพับ และข้อเขียนต่างๆ โดยทั่วไปที่เขียนถึงพระบทที่ประดิษฐาน ณ วิหารวัดกลาง แต่ที่วัดกลางเขียนว่า “ พระบทม์ ” เพราะมีความหมายเป็นการเฉพาะ ดังจะกล่าวต่อไป

พระบทม์วัดกลาง

          เจ้าราชวงศ์ (ก่ำ) เป็นผู้สร้างวัดกลางในราวปีขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ พ.ศ. 2325 ณ ที่ดินริมฝั่งแม่น้ำมูลใกล้กับโฮงหรือคุ้มราชวงศ์ (ถนนราชวงศ์ปัจจุบัน) ตามคตินิยมแต่โบราณ ที่หาทำเลใกล้แม่น้ำสร้างเมืองแล้วสร้างวัดควบคุมกัน ชื่อวัดเรียกตามทางน้ำไหล วัดที่เจ้าราชวงศ์สร้างอยู่ระหว่าง “ วัดเหนือท่า ” (บริเวณ สนง.สาธารณสุข จังหวัดฯ ปัจจุบัน) กับ “ วัดใต้ท่า ” (สนง.การไฟฟ้าปัจจุบัน) จึงได้ชื่อว่า “ วัดกลาง ” เพราะอยู่ย่านกลางของเมืองอุบลฯ

          ประวัติพระเจ้าใหญ่วัดกลาง พระเจ้าใหญ่พระประธานเก่าแก่ประจำพระวิหารเก่าตั้งแต่สร้างวัดชาวเมืองอุบลฯ รุ่นเก่าเรียกว่า “ พระบทม์ ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่งดงามองค์หนึ่ง เท่าที่ทราบจากคนรุ่นเก่าเล่าสืบทอดกันมาว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยอิฐดินเหนียวผสมเกสรดอกบัว และว่านจำป่าศักดิ์ป่นละเอียด อธิษฐานก่อปั้นเป็นองค์พระบทม์ ไม่มีเหล็กเสริมภายในและใช้เกสรดอกบัวป่นละเอียดคลุกเคล้ากับยางบง น้ำแช่หนังวัวเผา น้ำแช่เปลือกเม็ก น้ำข้าวจ้าวต้ม หินเผาไฟป่นให้ละเอียด น้ำอ้อยเคี่ยวให้เหนียวผสมเป็นเนื้ อเดียวกันดีแล้วใช้ฉาบทาให้ผิวขององค์พระบทม์ ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่เรียกขานกันว่า “ ปูนน้ำอ้อย ”

          พระครูวิสิฐพัฒนาภรณ์ (ทองหล่อ สํวโร) ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้กรุณาอธิบายเพิ่มเติมว่า พระบทม์ ขนาดหน้าตักกว้าง 78 นิ้ว สูง 108 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเก่าแก่ของเมืองอุบลฯ องค์หนึ่ง คำว่า “ พระบทม์ ” มาจากคำว่า (ปทุมํ-ปทม-บทม์) หมายถึง “ ดอกบัว ” ได้แก่ บัวหลวง มีสีแดง กลิ่นหอม เป็นพระพุทธรูปที่ประสาทพรเกื้อกูลให้เกิดความสำเร็จตามแรงแห่งสัจจาธิษฐาน ปรารถนา คนรุ่นเก่าเมื่อจะกล่าวถึงของสำคัญและเก่าแก่ของเมืองอุบลฯ แล้วชอบกล่าวคำว่า “ พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง ” จนติดปาก

          พระบทม์วัดกลางงดงามมาก มีพุทธลักษณะอย่างเดียวกับ “ พระเหลาเทพนิมิต ” บ้านพนา เป็นฝีมือช่างรุ่นแรกของเมืองอุบลราชธานี

พระบางวัดใต้

          ตามประวัติ “ วัดใต้ท่า ” สร้างแต่ครั้งเริ่มตั้งเมืองอุบลฯ ประมาณ พ.ศ. 2322 ตามคตินิยมโบราณดังกล่าวแล้ว อยู่ริมแม่น้ำมูลใกล้กับ “ หาดวัดใต้ ” ต่อมาปี พ.ศ. 2441 ได้สร้างวัดใต้เทิง (อยู่ด้านทิศเหนือวัดใต้ท่า มีถนนพรหมราชคั่นกลาง) แล้วยุบวัดใต้ท่านารามกับวัดใต้เทิง เรียกว่า “ วัดใต้ ” จนถึงปี 2544 เปลี่ยนแปลงชื่อวัดเป็น “ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ” จนปัจจุบัน

          พระบางวัดใต้ มี 2 องค์ ประดิษฐานด้านซ้าย ขวาของพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปทองสำริด พุทธลักษณะประทับยืน สูง ประมาณ 2 ศอก ยกพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างเรียนว่า “ ปางห้ามสมุทร ” หรือ “ บางห้ามญาติ ”

          จาการสัมภาษณ์พ่อใหญ่บำเพ็ญ ณ อุบล เกี่ยวกับประวัติ “ พระบาง ” ได้ความกระจ่างโดยย่อว่าตามตำนานเมื่อประมาณ พ.ศ. 436 พระจุลนาคเถระได้สร้างพระบางที่กรุงลังกา เมื่อหล่อเสร็จแล้วได้อันเชิญพระบรมสารีริกธาตุ แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปในพระบาง 5 แห่ง ต่อมาประมาณ พ.ศ. 1901 ได้อัญเชิญพระบางมาสถิตที่นครเชียงทองพร้อมกับการขอน้อมนำพระพุทธศาสนา มาเป็นศาสนาประจำชาติลาว ในครั้งนั้นได้อัญเชิญพระไตรปิฎก และหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาพร้อมกับพระบางด้วย นครเชียงทองจึงได้การขนานนามว่า “ พระนครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มยาว หลวงพระบาง ” แต่คนทั่วไปเรียนเพียง “ นครหลวงพระบาง ” ตั้งแต่ครั้งนั้นเพราะเหตุว่าพระบางเจ้า ได้ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญแห่งพระนครนี้ตลอดมาแต่โบราณกาล จนตราบเท่าทุกวันนี้

          พระบางเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง แต่ชาวอีสานมีความเลื่อมใสมาก มักจะจำลองพระบางมาประดิษฐานไว้ที่วัดสำคัญๆ ของท้องถิ่น เช่น พระบางวัดไตรภูมิ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พระบางวัดพระเหลาเทพนิมิตร อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ (ตั้งแต่สมัยอยู่ในเขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี) รวมทั้งพระบางวัดใต้ ดังกล่าวนี้ ด้วยชาวบ้านชาวเมืองถือว่า “ พระบางวัดใต้ ” เป็นองค์แทนของพระบางเจ้า ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของนครหลวงพระบาง

หอไตรวัดทุ่ง

          วัดทุ่งศรีเมือง สร้างในสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลคณาภิบาล สังฆปาโมก (สุ้ย) เจ้าคุณเมืองอุบลฯ สมัยนั้นเป็นผู้สร้าง

          หอไตร หรือหอพระไตรปิฎก หอไตรวัดทุ่งศรีเมืองสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2385 โดยท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลคณาภิบาล สังฆปาโมก (สุ้ย) เป็นผู้อำนวยการสร้างและญาคูช่าง (พระช่างชาวเวียงจันทร์) เป็นช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างหอไตรวัดทุ่งฯ ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลังตั้งอยู่กลางสระน้ำ แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีสะพานไม้ทอดสู่ฝัง ตัวอาคารเป็นเรือนเครื่องสับขนาดสี่ห้อง ตกแต่งด้วยฝาไม้ประกนบานหน้าต่างและประตูเขียนลายรดน้ำเทวดา โครงสร้างอาคารยึดต่อกันด้วยการเข้าเดือย ลักษณะเด่นของหอไตรหลังนี้คือ เป็นการผสมกันระหว่างศิลปะสามสกุลช่างอย่างลงตัว คือ ไทย พม่า และลาว ได้แก่ช่อฟ้าใบระกาทำตามแบบศิลปะไทยภาคกลาง หลังคาเป็นชั้นลด มีไขราปีกและไขราจั่ว ส่วนอิทธิพลศิลปกรรมพม่า ซึ่งส่งผ่านมาทางลาวล้านช้าง ปรากฏที่ชั้นหลังคาทางจั่วซ้อนกัน หน้าบันแกะสลักลวดลายเป็นรูปพันธุ์ไม้ มีรูปลิงและนกแทรกอยู่ทางด้านตะวันออก ระหว่างชั้นลดของหน้าบันสลัดลายไทย ลายกระจังรวน และลายประจำยามก้ามปู คันถวายด้านซ้ายและวานเป็นของประตูทางเข้า สลักเป็นเทพพนม คันทวยอื่นๆ รอบอาคารสลักเป็นรูปพญานาค บริเวณกรอบล่างของฝาปะกนมีลวดลายสลักโดยรอบ เป็นรูปสัตว์ใน 12 ราศี สัตว์ในป่าหิมพานต์ และคติธรรมพื้นบ้านอีสาน เช่น “ หาบช้างซาแมว ” “ กาคาบเต่า ” เป็นต้น ภายในหอไตรตรงกลางเป็นห้องเก็บพระไตรปิฎกยกฐานสูงขึ้นอีกชั้นหนึ่ง มีบันไดประตูขึ้นทางทิศตะวันออกผนังห้องด้านนอกตกแต่งลวดลายไทย ลงรักปิดทองหอไตรได้มีการบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่สมัยพระครูวิโรจน์รัตโนบล โดยการเปลี่ยนหลังคากระเบื้องไม้เกล็ด เป็นสังกะสี

          พ.ศ. 2523 สมัยพระราชรัตโนบล (พิมพ์) เป็นเจ้าอาวาส กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมใหม่คือ เปลี่ยนหลังคา จากสังกะสีมาเป็นกระเบื้องเสาตอนล่างจากพื้นลงไปในสรพได้โบกซีเมนต์เสริมต้น เสา และปี พ.ศ. 2545 สำนักงานโบราณคดีที่ 8 กรมศิลปากรได้ดำเนินการซ่อมหอไตร และปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าของหอไตร โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,710,000 บาท และหอไตรแห่งนี้เคยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 3 ของดีเมืองอุบลฯ เมื่อสมัยก่อนจนมีคำกล่าวจนติดป่าว่า “ พระบทวัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง ” เสมือนว่าเป็นคำขวัญประจำเมืองอุบลฯ ในสมัยนั้น เช่นเดียวกับคำขวัญของจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนี้ และยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับรางวัลผลงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นเมื่อ พ.ศ. 2527 อีกด้วย หอไตรวัดทุ่งศรีเมือง กรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 104 วันที่ 30 มิถุนายน 2524

ภูมิปัญญาคนโบราณ

    * ระหว่างตัวอาคารและบันได จะไม่มีรอยต่อทั้งนี้เพื่อป้องกันมด ปลวกจะเข้าตัวอาคาร ทำลายใบลานให้เสียหาย บันไดเดินเข้าหอไตร
    * พื้นอาคารจะเป็นร่อง เพื่อระบายความชื่น ทำให้ใบลานไม่กรอบและเสียหายง่าย
    * ตัวอาคารจะใช้การเข้าลิ่มแทนตะปู ตัวอาคารทั้งหลัง จะใช้ลิ่ม รอบอาคารจะแกะสลัก คติธรรมสอนใจไว้รอบอาคารอย่างสวยงามและลงตัว

          ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้อุบลราชธานี จะมีศิลปวัตถุ โบราณสถานจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่า “ อุบลบานหมากมูนมัง ” แม้กระนั้น “ พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง ” ก็ยังมีคุณค่าล้ำ เป็นปูชนียศิลปโบราณคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานีตลอดไป


ให้เครดิตที่นี่นะครับ
http://guideubon.com/news/view.php?t=34&s_id=57&d_id=57
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 10, 2011, 03:58:15 pm โดย TC9 »
บันทึกการเข้า

TC9

  • ศิษย์ตรง
  • กำลังแหวกกระแส
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 137
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 10, 2011, 03:57:00 pm »
0
บันทึกการเข้า

Jojo

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 237
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: พระบทม์วัดกลาง พระบางวัดใต้ หอไตรวัดทุ่ง
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2012, 05:07:57 pm »
0
กำลังหาอ่านพอดี เลยคะ ค้นเจอง่าย ๆ ที่เว็บนี้

   :c017:
บันทึกการเข้า
ฉันมาเพราะเธอนะ ยายกบ มาศึกษาธรรมะบ้าง ยินดีที่รู้จักทุกท่านคะ
ช่วยเมตตา แนะนำด้วยมิตรภาพ นะคะ