ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เสียงจากผู้ปราชัย เรื่องราวของ “เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว  (อ่าน 22 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28487
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว


เสียงจากผู้ปราชัย เรื่องราวของ “เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว

“เจ้าอนุวงศ์” กษัตริย์ลาว ผู้ถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏในมุมมองไทย จากการกระทำอันมีลักษณะกระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม แต่ในมุมมอง “คนลาว” นั้น เป็นธรรมดาที่พวกเขาจะมองบรรพชนของตนว่ามีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง การเคลื่อนไหวของเจ้าอนุวงศ์ที่พยายามนำอาณาจักรล้านช้างให้ “แข็งเมือง” ต่อกรุงเทพฯ จึงถูกยกย่องเชิดชูอยู่ใน “ตำราเรียน” ลาว

อาณาจักรล้านช้างในช่วง พ.ศ. 2322 ถึง พ.ศ. 2371 เป็นช่วงที่ตกเป็นประเทศราชของสยาม โดยช่วง พ.ศ. 2322-2421 คนลาวถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานและได้รับความทุกข์ยาก เป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์นำกำลังรวบรวมครัวลาวกลับคืนนครเวียงจันทน์ เหตุการณ์นี้นำไปสู่การนองเลือดและการทำลายเวียงจันทน์โดยทหารไทยอย่างราบคาบ ใน พ.ศ. 2370

ทั้งนี้ ที่ สปป. ลาว เคยมีงานเสวนาทางวิชาการ “วีระกำพะเจ้าอนุวง” (15-16 สิงหาคม 2543) ของสถาบันค้นคว้าวัฒนธรรม กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมแห่ง สปป. ลาว ซึ่งร่วมกับนักวิชาการ นักเขียน นักวิจัยอิสระ  ประเด็นหลักคือการพูดคุยถึงความความเห็นมาและความกล้าหาญของเจ้าอนุวงศ์ แต่ไม่ใช่การโจมตีหรือประณามไทย หากเป็นการปลูกจิตสำนึกความสามัคคีของคนในชาติ เชิดชูความเสียสละของเจ้าอนุวงศ์ในฐานะวีรชนลาว

ผศ. ดร. วริษา กมลนาวิน ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียบเรียงประเด็นสำคัญ ๆ จากงานเสวนาข้างต้นมานำเสนอในบทความ “เจ้าอนุวงศ์ในมุมมองของลาว บทสะท้อนจากหนังสือและตำราเรียนลาว” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2544 ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ (ลาว-ผู้เขียน) ย้ำเป็นพิเศษคือ เจ้าอนุฯ ของพวกเขามิได้มีเจตนาจะเดินทัพมายังไทยเพื่อรุกรานและเบียดแย่งเอาดินแดนไทย (ทั้ง ๆ ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็เคยเป็นที่อยู่ของ “คนลาว” มาก่อน) แต่เพื่อมากวาดต้อนเอาครอบครัวลาวซึ่งถูกใช้ให้ไปขุดลอกคูคลองอย่างหนัก และโดนกระทำทารุณกรรมต่าง ๆ นานากลับไปยังดินแดนของพวกเขา





อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว


เจ้าอนุฯ จึงเป็นกษัตริย์ที่กล้าหาญและยอมสละชีพเพื่อชาติ

ที่จริงแล้วเหตุการณ์สมัยเจ้าอนุวงศ์ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องในฐานะเป็นวีรกษัตริย์ของลาวเป็นเรื่องที่รัฐบาลลาวให้ความสำคัญมาตลอด จะเห็นได้จากแบบเรียนสายวิชาสังคมศาสตร์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา นักเรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่พลีชีพเพื่อชาติตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ได้แก่ เจ้าฟ้างุ่ม สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระยาสามแสนไท เจ้าอนุวงศ์

เรื่อยมาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ลาวตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ซึ่งมีวีรบุรุษหลายคน ได้แก่ ท่านไกสอน พมวิหาน เสด็จสุพานุวงศ์ หรือ “ลุงสุพานุวง” ผู้ยึดถือความเสมอภาคของประชาชนอย่างไม่แบ่งชั้นวรรณะทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นต้น

@@@@@@@

“เจ้าอนุวงศ์” ในตำราเรียนลาว

เด็กลาวจะซึมซับค่านิยมในเรื่องความรักชาติ และความรู้ทางการเมืองผ่านแบบเรียนวิชาภาษาลาวตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นเลยทีเดียว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงปีที่ 4 จะได้อ่านบทความสั้น ๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่นเรื่อง “อนุสาวะลีนักรบนิละนาม” เพื่อนึกถึงทหารผู้เสียสละเพื่อชาติ เรื่อง “วีระชนสีทอง” ผู้ไม่ยอมจำนนต่อศัตรูในสมัยที่ “จักกะพัดต่างด้าว” (พวกล่าเมืองขึ้น) เข้ามารุกราน จนได้รับนามยศเป็นวีรชนแห่งชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นักเรียนลาวจะได้เริ่มเรียนประวัติศาสตร์ลาวอย่างละเอียดเป็นครั้งแรกจากตำรา “แบบเรียนโลกอ้อมตัวเรา” ชั้นประถมปีที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงกษัตริย์ในฐานะวีรบุรุษของลาว ตั้งแต่กษัตริย์พระองค์แรกคือเจ้าฟ้างุ่มซึ่งเป็นผู้รวบรวมอาณาจักรลาวให้เป็นปึกแผ่น เรื่อยมาจนกระทั่งลาวตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม เนื่องจากการขัดแย้งกันเองของกลุ่ม “สักดินาลาว” ตำราได้กล่าวถึงการกระทำของพวกสยามไว้ ดังนี้

“…ในตะหลอดเวลาที่ตกเป็นเมืองขึ้นของสะหยาม ปะชาชนลาวได้ถืกกดขี่อย่างหนักหน่วง พวกเขาเจ้าได้ถืกเก็บเกนไปออกแรงงานเฮ็ดเวียกสับพะทุกในทุก ๆ อย่าง เพื่อรับใช้แก่สักดินาสะหยาม เช่น : ไปขุดคองน้ำป้องกันตัวเมืองหลวงเชิ่งเอิ้นว่า ‘คองแสนแสบ’ และอื่น ๆ ด้านการปกคอง เจ้าชีวิดสะหยามได้เป็นผู้กำหนดแต่งตั้งเจ้าชีวิดลาวโดยตงเพื่อปกคอง พ้อมทั้งบังคับสักดินาลาวต้องร่วมมือกับสักดินาสะหยามดำเนินการปาบปามพวกที่ลุกขึ้นต่อสู้กับสะหยาม…”

แบบเรียนโลกอ้อมตัวเรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (1997), หน้า 114


@@@@@@@

ในช่วงที่เจ้าอนุวงฯ “ก่อการกบฏ” ในสายตาของคนไทยนี้เอง ตำราเรียนโลกอ้อมตัวเราได้สอนนักเรียนลาวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ดังความต่อไปนี้

“…นับแต่เวลาที่อานาจักลาวล้านช้างได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสักดินาสะหยาม ได้เกิดมาขะบวนการต่อสู้กู้ชาดของปะชาชนลาวต้านพวกสักดินาสะหยามมาโดยตะหลอด ในนั้นอันเด่นกว่าหมู่ แม่นการลุกขึ้นต่อสู้ในทั่วปะเทด โดยแม่นเจ้าอะนุวงวิละชนแห่งชาดเป็นผู้นำพา ในปี ค.ส. 1827 เถิง 1828

เพื่อต้านคืนกับ นะโยบายของบางกอกที่อยากหันเอาพนละเมืองลาวเป็นพนละเมืองสะหยาม ส่งคอบคัวคนลาวที่ถืกบังคับให้อบพะยบไปอยู่สะหยามแต่คาวก่อน กับคืนมาอยู่ในอานาจักล้านช้างคือเก่า แต่ก็ถืกเจ้าชีวิดสะหยามปะติเสด เจ้าอานุจึ่งได้จัดกองทับแบ่งออกไปเป็น 3 ปีก เดินทางม้งหน้าสู่บางกอก ดำเนินกานบุก ตียึดเอาโคลาด แล้วมาบขู่ว่าจะตีเข้าเมืองหลวงบางกอก แต่ถืกกองทับสะหยามที่นำพาโดยพะยาบอดินตีให้กองทับลาวแตกอยู่บั้นรบทุ่งสำริด

หลังจากนั้นกงทับลาวก็ถอยมาตั้งอยู่เมืองอุบน แต่ถืกเจ้าเมืองอุบนทำการกะบด เจ้าอนุ  พ้อมด้วยแม่ทับในกอง และทะหานได้ถอยทับมาตั้งอยู่หนองบัวลำพู อยู่ที่นี้ กองทับลาวได้ปะทะกับกองทัพสะหยาม และได้ทำกานสู้รบอย่างดุเดือด กองทับสะหยามก็เลยข้ามแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง-ผู้เขียน) มายึดเอาพะนะคอนเวียงจันได้

…เพื่อปะติบัดตามบางกอก พะยาสุพาวดีแม่ทัพบสะหยาม ได้นำเอากำลังมาม้างเพทำลายเมืองเวียงจันอย่างราบเกี้ยงจนกายเป็นเมืองร้างในปี ค.ส. 1828

เถิงว่าจะปะลาไช เจ้าอานุก็ยังเป็นกะสัดลาวที่มีน้ำใจรักชาดอันสูงสุด ก้าเสียสะหละทุกอย่างเพื่อกอบกู้ปะเทดชาด นำพาปะชาชนลาวสร้างวีละกำอันล้ำเลิด ทั้งหมดได้สะแดงเถิงมูนเชื้อต่อสู้อันพิละอาดหาน บ่ยอมจำนนต่อสัดตู อันได้กายเป็นมูนเชื้อแบบอย่างแก่เยาวะชนลาวในต่อมา…”

@@@@@@@

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เน้นการสดุดีวีรกรรมของกษัตริย์และผู้นำลาวในช่วงสมัยต่าง ๆ ที่นำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากการคุกคามของ “สักดินาสะหยาม” และพม่า

ที่เน้นพิเศษก็คือ การต่อสู้ของคนลาวทุก ๆ ครั้ง เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินของตนเอาไว้ มิใช่การรุกรานหรือการใช้อำนาจแสดงความป่าเถื่อนต่อชาติอื่น ๆ …

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียน (อ.วริษา) เชื่อว่า คณะผู้แต่งแบบเรียนคงไม่มีเจตนาที่จะปลูกฝังให้เยาวชนลาวเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อไทย เพราะหนังสือยังเขียนประณามกษัตริย์หลวงพระบางในบางสมัยที่ถูกไทยหลอกใช้ให้มาช่วยตีเอาเวียงจัน จุดประสงค์ในการบรรยายเหตุการณ์ดังกล่าวคงจะเขียนเพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนลาวเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่คนในชาติขาดความสามัคคีกันแล้ว ประเทศชาติจะอ่อนแอ เป็นเหตุให้ชาติอื่นที่มีความเข้มแข็งกว่ามารุกรานเอาได้ง่าย ๆ

แบบเรียนภาษาลาวและวรรณคดี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันค้นคว้าวิทยาศาสตร์และศึกษาแห่งชาติ กล่าวถึงวรรณกรรมในรูปแบบของกาพย์ชิ้นหนึ่ง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและสมัยที่แต่ง

@@@@@@@

แต่คาดว่า ผู้แต่งเป็นเจ้าอนุฯ เพราะมีการบรรยายถึงการรุกรานของพวกศักดินาสยาม

วรรณกรรมเรื่องนี้มีชื่อว่า “สานลึบพะสูน” หรือสานลึบบ่สูน แปลว่า บังดวงตะวัน ดร.สุสด โพทิสาน และท่านหนูไซ พูมมะจัน (วิทยากร/นักวิชาการลาว) กล่าวว่าวรรณกรรมเรื่องนี้ แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนบังละหัด ตอนสมที่คิด และตอนสุดที่อ่าว

เนื้อหาของกาพย์สะท้อนให้เห็นภาพของดวงจันทร์ซึ่งถูกราหูบดบัง เหมือนดั่งเมืองเวียงจันถูกต่างชาติเข้ายึดครอง นาคถูกครุฑเปล่งรัศมีเข้าครอบ นาคหมายถึงประชาชนลาว ถูกครุฑซึ่งหมายถึงพวกศักดินาสยามเข้ามารุกรานและยึดครองลาว โดยรวมหมายถึงประชาชนสูญเสียเอกราช หนทางเดียวที่จะได้เอกราชกลับคืนคือพร้อมใจกันต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราช เช่น :

“…ปีกซ้ายปีกขวา   โยทาไหลออก
หอกง้าวทั้งปืน   ลูกแม้งดำโดน
เขาโตนออกค่าย   คนร้ายไล่ฟัน
ไทขับไล่ต้อน   เลือดข้อนไหลนอง
ตายกองต้นไม้   พ่องล้มคานไป
เป็นหมู่เป็นกอง   ละวองละวู่…”

กาพย์ในตอนนี้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งคนลาวถูกกวาดต้อนไปสยาม และได้ถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมาก ส่วนกาพย์ต่อไปนี้ก็บรรยายถึงภาพที่น่าสลดหดหู่ เมื่อถูกคนไทยกวาดต้อนเอาครอบครัวลาวไป

“…พวกเขาตีเขาฟาด   โอกาดเนืองนอง
ร้องคางหิวไห้   เสิกไล่คัวลง
เขาปงคำฆ่า   กินหย้าคังโทม
เสิกโจมแผ่นผ่าน   ไทม่านไทยวน
ทั้งพวนทั้งลาว   หญิงสาวร้องไห้
เสิกได้ปันกับ   น้ำเนตรนองตา
เชียงเดดเชียงงา วัดวาสูนเส้า…”

อ.นู ไซยะสิดทิวง ใน สำมะนาประหวัดสาดลาว : ตามหารอยเจ้าอะนุวง 1997, หน้า 53-54.

@@@@@@@

ถึงตรงนี้ต้องบอกว่า เป็นธรรมดาที่ชนชาติหนึ่งจะเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ของอีกชนชาติ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนยุคปัจจุบันจะต้องเป็นคู่อาฆาตกัน ในยุคที่การกวาดต้อนผู้คน เข่นฆ่า ช่วงชิงทรัพยากร ตลอดจนทำลายเมืองทั้งเมือง เป็น “เทรนด์” ของโลกยุคจารีต คนรุ่นหลังหรือผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ต้องเปิดใจกว้างทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์เหล่านี้ รวมถึงชุดความคิดอันนำมาสู่การถ่ายทอดหรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะในสื่อฯ หรือ “ตำราเรียน” ที่สร้างโดยรัฐ

ก็ในเมื่อพม่ายังเป็น “ตัวร้าย” ในประวัติศาสตร์ไทย โทษฐานทำลายกรุงศรีอยุธยา สยามจะเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์ลาวบ้างก็คงไม่ใช่หนักหนาจนเกินจะยอมรับ…


อ่านเพิ่มเติม :-

   • “ศึกเจ้าอนุวงศ์” สงครามปลดแอกชาติลาว
   • ความปราชัยของ “เจ้าอนุวงศ์” วิเคราะห์เหตุความพ่ายแพ้ของมหาราชชาติลาว
   • พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามในสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 26 เมษายน 2567
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_131562
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 27, 2024, 08:10:13 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ