ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดที่อยู่นานที่สุดในประเทศไทย  (อ่าน 8633 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28500
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดที่อยู่นานที่สุดในประเทศไทย

โดย...สมาน สุดโต
พระเถระในวัย 78 ปี เปล่งปลั่งด้วยเมตตาธรรม รอบรู้สาระธรรมและการปกครองคณะสงฆ์ที่หาผู้ใดเทียบได้ยาก ดำรงตำแหน่งทางปกครองโดยเป็นเจ้าคณะจังหวัดนานที่สุดในประเทศไทย ท่านคือ พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา


ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา อายุ 42 ปี เมื่อ พ.ศ. 2519 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 35 ปี ขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระครู เจ้าอาวาสวัดพรหมราช ต.ตูม อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนารายณ์มหาราช พระอารามหลวง แทนพระพรหมคุณาภรณ์ (พุ่ม กิตติสาโร ป.ธ.7)

หลวงปู่พระธรรมวรนายก บอกว่า เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนารายณ์มหาราชว่างลง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) เรียกไปพบและบอกให้มาครองวัดนี้ ครั้งนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชสีมาภรณ์



วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. 2535 นั่นเอง ท่านก็ได้รับพระกรุณาโปรดฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพสีมาภรณ์ และวันที่ 5 ธ.ค. 2545 เลื่อนเป็นชั้นธรรมที่พระธรรมวรนายก


ก่อนที่จะมีวันนี้ ท่านเล่าประวัติเบื้องต้นให้ฟังว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2477 บรรพชาเป็นสามเณร พ.ศ. 2489 เมื่ออายุ 12 ปี ที่วัดตะกรุด ต.งิ้ว อ.ปักธงชัย ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิด

อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2497 ที่พระอุโบสถวัดทองนพคุณ คลองสาน โดยมีพระสังวรวิมล วัดทองนพคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทั้งนี้ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรเล่าเรียนปริยัติธรรมที่ จ.นครราชสีมาจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค มีพระเถระที่อยู่วัดทองนพคุณ ซึ่งเป็นคนโคราชเหมือนกันแนะนำว่า หากต้องการศึกษาต่อต้องมาอยู่วัดทองนพคุณ เพราะเป็นสำนักเรียนดี มีมาตรฐาน จึงย้ายมาสังกัดวัดทองนพคุณเมื่อ พ.ศ. 2495 และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

เมื่อ พ.ศ. 2498 ขอย้ายกลับไปช่วยงานอาจารย์และคณะสงฆ์ที่โคราชเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพรหมราชใน พ.ศ.นั้น แต่เพิ่งมารับตราตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2517 เคยดำรงตำแหน่งองค์การศึกษา (ตามพระสงฆ์ 2484) และเมื่อ พ.ศ. 2503-2505 เมื่ออายุ 35 ปี (พรรษา 15) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอปักธงชัย

ตลอดเวลาที่เป็นองค์การศึกษาอำเภอ (ตาม พ.ร.บ. 2484) และเจ้าคณะอำเภอปักธงชัยช่วยพัฒนาอบรมวงการคณะสงฆ์ในท้องถิ่นทุกด้าน รวมทั้งการศึกษาด้วย ในส่วนตัวก็เข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้เสริมประสบการณ์ไม่เคยขาด ตั้งแต่งานพัฒนาท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจัดขึ้น โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอเชียเป็นเวลา 6-7 เดือน



ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดที่ยืนยงทุกวันนี้ ท่านกล่าวว่า เพราะท่านดำรงตำแหน่งตั้งแต่อายุ 42 ปี นับถึงปัจจุบันนับว่าเป็นเจ้าคณะจังหวัดที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประเทศไทย คือ 35 ปี


ถ้านับถึง พ.ศ. 2557 ซึ่งจะมีอายุครบ 80 ปี อันเป็นปีที่เกษียณอายุ ท่านจะเป็นเจ้าคณะจังหวัดนานถึง 38 ปี

การที่ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดตั้งแต่ยังหนุ่มถึงปัจจุบัน ทำให้เห็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอื่นๆ เปลี่ยนหน้าเสมอ เพราะที่ขึ้นมาทีหลังท่านส่วนมากเป็นพระเถระที่มีอายุพรรษามากใกล้เกษียณอายุ (ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) ผู้ดำรงตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์ต้องเกษียณเมื่ออายุ 80 ปี นอกจากต่อให้เป็นกรณีๆ ไป การดำรงตำแหน่งยาวนานจึงเป็นความภาคภูมิใจของท่าน ซึ่งคงไม่มีใครลบสถิติได้แน่นอน

ในด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดียนั้น ต้องบอกว่าท่านมีบทบาทสูงมากในการส่งเสริมนำพระพุทธศาสนากลับไปสู่แดนพุทธภูมิ โดยช่วยสร้างวัดและอุปสมบทกุลบุตรไทยจำนวนมากในแดนพุทธภูมิ

กล่าวเฉพาะวัด ก็ได้แก่การก่อให้เกิดวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย เคยทำผ้ากฐินไปทอดวัดไทยนาลันทา เมื่อ พ.ศ. 2520 ส่งเสริมสนับสนุนสร้างวัดไทยสิริราชคฤห์ อินเดีย ช่วยสร้างวัดเชตวันมหาวิหารที่เมืองสาวัตถี แทนวัดเชตวันที่สร้างสำเร็จด้วยชาวพุทธไทยร้อยละ 99.99


แต่ถูกพระมหาประเสริฐ ซึ่งเป็นชาวเขมร แต่อุปสมบทและคุ้นอยู่กับไทยตลอดยกให้กัมพูชาไป จึงเกิดความรู้สึกว่าเมื่อเขายึดไปได้ก็สร้างใหม่ได้ แต่ต้องใหญ่และดีกว่าสำคัญกว่า ความข้อนี้ได้ปรึกษาหารือกับพระราชรัตนรังษีตลอดเวลา จึงเกิดวัดไทยเชตวันมหาวิหาร ที่ใหญ่โตดังที่ตั้งปณิธานไว้

ปัจจุบันวัดไทยเชตวันมหาวิหารแห่งนี้มีที่ดิน 2 แปลง ใหญ่กับเล็ก แต่ไม่สามารถทำให้เชื่อมโยงกันได้ จึงใช้แปลงใหญ่ ซึ่งมีเนื้อที่มากเป็นวัด ส่วนแปลงเล็กใช้เป็นสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ ปลูกต้นไม้ที่มีชื่อตามพุทธประวัติให้มากเท่าที่จะทำได้

ส่วนประสบการณ์ในประเทศอินเดียนั้นมากขนาดไหน บัญญัติ เจริญทรัพย์ นายช่างรับเหมาก่อสร้าง แต่เป็นศิษย์คอยติดตามหลวงปู่ตลอดเวลาเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ บอกว่า หลวงปู่มีความรู้และประสบการณ์ในประเทศอินเดียมาก ราวกับวิทยุทรานซิสเตอร์ เปิดคลื่นไหน เวลาอะไร อยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับอินเดีย ถามได้ทุกคลื่น ทุกเวลา


หลวงปู่ในวัย 78 ปี เล่าว่า ท่านเริ่มรู้จักและสนใจแดนพุทธภูมิเมื่อได้ชมภาพยนตร์เรื่องสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ที่พระครูศรีวรคุณ วัดเวฬุราชิณ ตลาดพลู นำมาเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2495 ขณะที่ตัวหลวงปู่ยังเป็นสามเณร เมื่อมีความสามารถมาอินเดียได้ก็มาจนไม่สามารถนับจำนวนครั้งได้และไม่เคยเบื่อ เพราะมีความปีติและภูมิใจที่ได้มาสวดมนต์และบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสถานที่จริง

ท่านกล่าวว่า มีพลังเสมอเมื่อได้มาแดนพุทธภูมิ ส่วนการที่ท่านเป็นประธานโครงการอบรมพระธรรมทูตไทยเชิงลึกในแดนพุทธภูมิมา 3 รุ่นติดต่อกัน ก็เพราะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ สุภชัย วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครไทยพัฒนา เข้ามาอุปสมบทในโครงการนี้

ต่อมาได้ตั้งสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 พ.ศ. 2550 เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมอบรมพระธรรมทูตไทยในแดนพุทธภูมิให้ได้รู้ได้เห็นของจริง ก่อนกลับไปอบรมสั่งสอนประชาชนชาวพุทธในประเทศไทยต่อไป

ในการอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติครั้งนั้น ซึ่งทำที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา และวัดไทยพุทธคยา ตัวท่านทำหน้าที่อุปัชฌาย์เป็นพระอาจารย์แสดงพระธรรมเทศนาสอนนาคและเป็นอาจารย์อบรมพระนวกะตระกูลโพธิทั้งหลาย

ท่านพูดด้วยความภาคภูมิใจในการริเริ่มให้มีการสร้างวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงด้านความสวยงามในอินเดียในปัจจุบัน ว่า เริ่มแรกทีเดียวพระและญาติโยมชาวไทยมานมัสการสังเวชนียสถานแห่งสาลวโนทยาน แล้วต้องเดินทางกลับไปหาที่พักที่นอนในเมืองโครักขมูร์ เพราะบริเวณรอบสาลวโนทยานไม่มีวัดไทย ถึงวัดก็พูดขึ้นว่า หากสร้างถวายในหลวงก็น่าจะดี แม้ว่าจะยุ่งยากแต่ท้าทายดี

ขณะพระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์) ยังมีสมณศักดิ์เพียงพระครูเท่านั้น เมื่อปรึกษากันแล้วก็คิดว่าเป็นไปได้ จึงหาที่ดินแล้วสร้างอาคารชั่วคราวเป็นที่อยู่ของพระมดงาน โดยมีพระจาก จ.นครราชสีมา 8-9 รูปมาร่วมกันทำงาน ทั้งนี้พระที่มาทำงานระยะแรกควรจารึกชื่อไว้คือ พระครูสุวัฒนายาทร วัดบุไผ่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พระมหาโกวิท อภิปุญโญ ปัจจุบันเป็นพระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ ให้มาทำงานและเรียนจนจบปริญญาเอกทั้งหมดใช้เวลา 11 ปี

ส่วนพระที่ทำงานไม้งานปูนก็สลับสับเปลี่ยนจากโคราชและที่อื่นๆ ทุก 2-3 ปี ได้แรงศรัทธาจากคุณชุมพล โกสีย์ และเพื่อน คุณอำนวย สุวรรณคีรี ช่วยเขียนแบบทุกอย่างในวัดทั่วโบสถ์เจดีย์และกุฏิที่พักสงฆ์ส่วนตัวหลวงพ่อมาดูแล และเยี่ยมเยียนทุกครั้งที่มีโอกาส เป็นกรรมการที่ปรึกษาและอุปถัมภ์ พร้อมกับนำคณะศรัทธามาทอดกฐินผ้าป่าเป็นประจำ

เมื่องานก่อสร้างรุดหน้าเรียบร้อยจึงขอพระราชทานนามวัด ซึ่งพระราชทานว่า วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ทำให้ทีมงานมีกำลังใจฮึกเหิมจึงก้าวเดินไม่หยุดยั้ง ทำให้เห็นอาคารที่พักสำเร็จ อาคารอู่ข้าวอู่น้ำสำเร็จ รวมทั้งอู่ยา (คลินิก) พระอุโบสถสำเร็จตามโครงการ

ปัจจุบันวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ดำรงคงอยู่ในฐานะตัวแทนศิลปวัฒนธรรมและการสร้างที่อยู่อาศัยแบบไทยในต่างแดน เป็นแบบอย่างของไทยที่ชาวต่างชาติและท้องถิ่น (อินเดีย) มาดูชมไม่ขาดสาย


นอกจากนั้น ทางวัดยังเปิดคลินิก ซึ่งปัจจุบันคือ โรงพยาบาล มีแพทย์พยาบาลมาดูแลรักษาคนไข้ชาวท้องถิ่นเป็นประจำทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ โดยทางวัดจัดบริการให้ฟรีทุกรายการ วัดนี้จึงเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวไทยในต่างแดนตราบเท่าทุกวันนี้ โดยมีพระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตไทยอินเดีย เนปาล เป็นเจ้าอาวาส



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.posttoday.com/ธรรมะ-จิตใจ/128702/พระธรรมวรนายก-เจ้าคณะจังหวัดที่อยู่นานที่สุดในประเทศไทย
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ