ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: [1] 2 3 ... 10
 1 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 09:58:37 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 2 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 08:17:40 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 3 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:10:39 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



พระพุธ : เทพเจ้าแห่งความเฉลียวฉลาดในอินเดีย แต่เป็นเทพเจ้าแห่งวาจาและการพาณิชย์ในไทย

“พระพุธ” ไม่เพียงเป็นเทพเจ้าประจำดาวพุธ และเทพผู้ครองวันพุธแต่เพียงเท่านั้น แต่ตามความเชื่อของพ่อพราหมณ์ในอินเดียนั้น ท่านยังเป็นเทพเจ้าแห่งความเฉลียวฉลาดอีกด้วย

ตามปรัมปราคติของพวกพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่า “พระพุธ” ทรงเป็นผู้บุตรของพระโสมะ ซึ่งก็คือ “พระจันทร์” (แน่นอนว่า พระจันทร์ของพวกพราหมณ์เป็นผู้ชาย) กับนางตารา แต่บางตำราก็ว่า พระพุธเป็นบุตรของนางโรหิณี ซึ่งเป็นพระชายาองค์โปรด ในบรรดาชายาทั้ง 27 องค์ของพระจันทร์ต่างหาก

แต่ตำนานที่ว่าเป็นบุตรของนางตารานั้น มีเนื้อหาที่น่าจับใจกว่ามาก เพราะมีรายละเอียดในท้องเรื่องว่า นางตารานั้นไม่ใช่ชายาของพระจันทร์มาแต่เดิม มเหสีของพระพฤหัสบดี เป็นพระจันทร์ท่านไปฉุดคร่าเอาเมียของดาวครูอย่าง พระพฤหัสบดีมาเฉยๆ เสียอย่างนั้น และเมื่อเกิดเรื่องดังนั้นแล้ว พระพฤหัสบดีก็ไปขอเมียคืนจากพระจันทร์อย่างสุภาพชน

แต่พระจันทร์ได้ประกอบพิธีราชสูยะ (คืองานเถลิงราชย์พระราชา ให้เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งปวง) ไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงมีฤทธิ์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

แน่นอนว่า พระจันทร์ย่อมไม่ยอมคืนให้ เรื่องราวจึงกลายเป็นมหากาพย์ที่ใหญ่โตขึ้นกว่าจะเป็นแค่เรื่องในมุ้งของเทวดาเพียงสองสามองค์ จนถึงขนาดเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่อย่างพระพรหมต้องออกหน้ามาไกล่เกลี่ยให้ พระจันทร์ก็ยังดื้อ ไม่ยอมคืนนางตาราให้กับพระพฤหัสบดี คราวนี้จึงได้เกิดสงครามของเหล่าเทพเจ้าขึ้นในระดับมหากาพย์

“พระศุกร์” ซึ่งทรงหมั่นหนังหน้ากับพระพฤหัสบดี ด้วยท่านเป็นพระครูของเจ้าแห่งอสูร อย่างท้าวพลีสูร (ในขณะที่พระพฤหัสบดีเปรียบได้กับปุโรหิตของเหล่าเทวดา) ตามปรัมปราคติพราหมณ์ ก็ย่อมเข้าข้างพระจันทร์ เช่นเดียวกับบรรดาสานุศิษย์ของพระศุกร์ ไม่ว่าจะเป็น อสูร แทตย์ และทานพ (สองชนิดหลังนี่ที่จริงแล้วทั้งคู่ต่างก็เป็นอสูรประเภทหนึ่งนั่นเอง)


@@@@@@@

ในขณะเดียวกันบรรดาเทวดา ที่นำโดยราชาแห่งเทพอย่าง “พระอินทร์” ก็ย่อมต้องเข้าข้างพระพฤหัสบดี ดังนั้น จึงเกิดเป็นสงครามสวรรค์ครั้งยิ่งใหญ่ รบกันไปรบกันมา โดยไม่ทราบความเสียหาย เพราะไม่มีนักข่าวสำนักไหนรายงาน พระพรหมท่านก็ทรงห้ามทัพได้สำเร็จ สุดท้ายพระจันทร์ก็ทรงต้องจำยอมคืนนางตารา กลับสู่อ้อมอกของพระพฤหัสบดีท่านแต่โดยดี

แต่ปรากฏว่าคืนไม่คืนเปล่า พระจันทร์ยังได้ทรงมอบของแถมให้กับพระพฤหัสบดี คือลูกน้อยๆ ในท้องของนางตาราด้วย แน่นอนว่า เจ้าหนูน้อยคนนั้นชื่อว่า “พระพุธ” ไม่อย่างนั้นผมคงไม่บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า พระพุธเป็นผู้บุตรของพระจันทร์

แต่ก็ไม่มีตำนานฉบับไหนระบุไว้ว่า ระหว่างพระพฤหัสบดี นางตารา และพระพุธ จะมีปัญหาภายในครอบครัวใดๆ อันเกิดแต่สงครามชิงนางครั้งนั้นหรอกนะครับ แถมพระพฤหัสบดีท่านยังใจดีกับเด็กน้อยพระพุธ เพราะนอกจากจะยอมเลี้ยงดูแล้ว ยังสั่งสอนศิลปวิทยาการต่างๆ ให้จนหมดไส้หมดพุง (ย้ำอีกทีว่า พระพฤสบดีนั้นเป็นดาวครู) จนเมื่ออายุครบ 30 ปีพระพุธก็จดจำศาสตร์ได้ทุกแขนง แล้วกลายเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดปราดเปรื่องไปนั่นเอง

ปรัมปราคติเกี่ยวกับพระพุธ (ที่หาอ่านได้ยากเย็น) ยังมีที่สำคัญอยู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของนางอิลา ซึ่งอันที่จริงแล้วนางงามนางนี้ เดิมทีนั้นเป็นผู้ชาย เรื่องของเรื่องก็คือ มีกษัตริย์อยู่องค์หนึ่งชื่อ “ท้าวอิลราช” ได้เสด็จประพาสป่า แล้วหลงเข้าไปในดินแดนลับแลของพระอิศวร ซึ่งขณะนั้นกำลังหยอกเย้ากับพระแม่อุมา ด้วยการจำแลงพระวรกายเป็นหญิงอยู่ แต่ด้วยพลังเวทย์อันรุนแรงของพระองค์ ทำให้อะไรต่อมิอะไรในดินแดนนั้นก็กลายเป็นหญิงไปทั้งหมดด้วย แน่นอนว่า ท้าวอิลราช และคณะผู้ติดตามก็ไม่รอด

เมื่อคณะของท้าวอิลราชกลายเป็นผู้หญิงกันยกชุดก็ตกใจเป็นอย่างมาก จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระอิศวร แต่พระอิศวรกริ้วหนัก (คงเพราะพวกท้าวอิลราชไปขัดพระเกษมสำราญ) จึงไม่แก้คำสาปให้ แต่ยังดีที่พระแม่อุมามีจิตเมตตา จึงผ่อนผันโทษให้ โดยให้เป็นชาย 1 เดือน หญิง 1 เดือนสลับกันไป ขณะที่เป็นชายก็ให้ลืมเรื่องราวตอนเป็นหญิง ส่วนในขณะที่เป็นหญิงก็ลืมเรื่องขณะที่เป็นชายเสียให้สิ้น ที่สำคัญคือเมื่อเป็นหญิงจะมีความงามเป็นเลิศ และมีชื่อว่า “นางอิลา”




พระพุธจะเข้ามามีบทบาทในท้องเรื่องก็ตอนต่อจากนี้แหละครับ เพราะต่อมาพวกนางอิลาได้หลงทาง (อีกแล้ว) ไปยังบริเวณที่พระพุธบำเพ็ญตบะอยู่ เมื่อพระพุธได้พบนางอิลาก็ตะลึงในความงามจนถึงขึ้นตบะแตก และสุดท้ายก็ได้นางอิลาเป็นเมีย จนที่สุดนางอิลาก็มีโอรสพระองค์น้อยๆ ให้กับพระพุธ

แน่นอนที่พระพุธย่อมทรงทราบดีว่า นางอิลา เป็นผู้ชายคือ ท้าวอิลราช มาก่อน ต่อมาพระพุธจึงทรงรวบรวมสมัครพรรคพวกไม่ว่าฤๅษีชีพราหมณ์ มาร่วมกันประกอบพิธีอัศวเมธ เพื่อล้างบาปให้กับนางอิลา

“พิธีอัศวเมธ” คือการปล่อยม้าสำคัญ โดยมีกองทัพเดินทางตามไปหนึ่งปี ถ้าม้าตัวนั้นเข้าไปในอาณาเขตของดินแดนใด ผู้ครองแคว้นต้องแสดงความเคารพ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเปิดศึกสงครามกับกองทัพที่ตามหลังม้ามา เมื่อครบหนึ่งปีก็ต้อนม้ากลับเมือง แล้วฆ่าเจ้าม้าตัวนั้นเพื่อบูชายัญ (ดังนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่านี่เป็นการล้างบาป หรือทำบาปเพิ่ม?)

แปลกดีที่พระอิศวรกลับปลื้มปีติกับการที่พระพุธประกอบพิธีนี้เสียอย่างจงหนัก จนถึงขนาดถอนคำสาปให้นางอิลา กลับเป็นท้าวอิลราชตามเดิมมันเสียอย่างนั้น เอาเป็นว่าอย่าไปเดาพระทัยของเทพเจ้ากันเลยครับ ก็แค่ใจมนุษย์ก็เดากันไม่ค่อยจะออกแล้ว

แต่เรื่องของพระพุธที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุดคงไม่ใช่ทั้งสองเรื่องที่ผมเล่ามาข้างต้น เพราะส่วนใหญ่แล้วจะรู้จักกันในฐานะเทพนพเคราะห์ (คือเทพเจ้าประจำดวงดาวสำคัญทั้งเก้า) ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับเรื่องโหราศาสตร์มากกว่า


@@@@@@@

ตำราโหราศาสตร์ทั้งหลาย ที่ก็แต่งกันขึ้นมาในอุษาคเนย์ แถมเผลอๆ ก็มีที่มาจากในประเทศไทยเองนี่แหละ ระบุว่า พระอิศวรสร้าง ‘พระพุธ’ ขึ้นมาจากช้าง 17 ตัว (ไม่รู้ว่าเป็นตัว หรือเป็นเชือก เพราะตำราไม่ได้ระบุว่าเป็นช้างที่ผ่านการฝึกมาหรือยัง? เพราะช้างป่านับเป็นตัว ส่วนช้างฝึกนับเป็นเชือก) เอามาป่น แล้วปะพรมน้ำมนต์จนเกิดเป็นเทพบุตรคือ “พระพุธ” ที่มีพระวรกายสีเขียวมรกตขึ้นมา

ความตรงนี้ต่างจากปรัมปราคติของพราหมณ์อินเดียที่ว่า พระพุธ ทรงได้ชื่อว่า “ศยามานฺคะ” เพราะมีพระวรกายสีดำ แถมนี่ยังไม่ใช่ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวของพระพุธในไทย กับอินเดียอีกด้วยนะครับ

เพราะตามคติไทยจะเชื่อว่าพระพุธนั้นทรง “ช้าง” เป็นพาหนะ แถมยังทรง “ขอสับช้าง” เอาไว้ในพระหัตถ์ข้างหนึ่งเสมอด้วย (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรนัก เมื่อคำนึงถึงการที่ถูกพระอิศวรปลุกเสกขึ้นมาจากช้างแทบจะยกโขลง) แต่พระพุธในอินเดียจะทรงกริช, คทา และดาบ โดยมีราชสีห์เป็นพาหนะ

ในตำราโหราศาสตร์ของไทยยังถือด้วยว่า พระพุธเป็นเทพเจ้าแห่งวาจา และการพาณิชย์ นี่ก็ต่างไปจากอินเดียที่ถือว่าพระองค์เป็นเทพแห่งความเฉลียวฉลาดอย่างที่ผมบอกไว้ตั้งแต่ในย่อหน้าแรกของข้อเขียนชิ้นนี้ต่างหาก

เอาเข้าจริงแล้ว ถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ และไทยเราจะอิมพอร์ตเทพเจ้าและปรัมปราคติต่างๆ จากอินเดียเข้ามามาก แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนตามความเชื่อ หรือคตินิยมของเราเองอยู่บ่อยครั้ง จนแตกต่างไปจากความเชื่อดั้งเดิมของชมพูทวีป

เรื่องราวของอะไรที่เรียกว่า “พระพุธ” ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในนั้น •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2567
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_763791

 4 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:01:28 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



ผู้วิเศษเด็ก : เรื่องที่สังคมต้องระวังและไตร่ตรอง

ช่วงนี้มีประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องเด็กที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนา คือกรณี “น้องไนซ์ นิรมิตเทวาจุติ” อายุแปดขวบ ซึ่งมีกลุ่มคนเชื่อว่าน้องไนซ์เป็น “องค์เพชรภัทรนาคานาคราช” ผู้บรรลุธรรมในชั้นอนาคามีลงมาเกิด โดยได้รับพุทธบัญชา และมีเทคนิคพิเศษที่เรียกว่าการ “เชื่อมจิต” จากอาจารย์น้องไนซ์ไปยังสาวกโดยตรง มีผู้ติดตามและไปเข้าร่วมเวิร์กช็อปเป็นอันมาก

พอเกิดเหตุเช่นนี้จึงมีผู้วิจารณ์ ไม่ว่าจากฝั่งพระและฆราวาสทั้งในแง่ตัวคำสอน เช่นที่บอกว่าเป็นอนาคามีแล้วนั้น ตามหลักพุทธศาสนาจะไม่กลับลงมาเกิดอีกแล้ว หรือการเชื่อมจิตว่า ไม่มีในหลักคำสอนของพุทธศาสนา เป็นต้น

อันที่จริงที่เป็นเหตุดราม่าก็เพราะน้องไนซ์มิได้ถูกพูดถึงในแง่อาจารย์สอนธรรมธรรมดาๆ แต่ยังมีมิติของความเป็น “ผู้วิเศษ” เช่น เรื่องการเชื่อมจิต ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ทางธรรมเพียงแค่เอานิ้วมือไปแตะที่หน้าผากเท่านั้น รวมทั้งเรื่องเล่าที่ฝั่งคุณแม่ของน้องเล่าถึงนิมิตต่างๆ ที่น้องจะเกิดมา

ทั้งยังมีภาพที่ดูขัดกับขนบวัฒนธรรมไทยๆ เช่น ภาพผู้ใหญ่ก้มกราบเด็ก ภาพน้องไนซ์เอาน้ำราดหัวผู้มาขอพร หรือเล่นสนุกโดยใช้เท้าเหยียบลงบนตัวผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น รวมถึงลักษณะวิธีพูดที่ชวนให้สงสัยว่ากำลังถูกผู้ปกครองชี้นำอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าน้องไนซ์อาจแสดงท่าทีที่ไม่เหมาะสมเองไปบ้าง

ผู้ที่เข้ามาโต้แย้งอย่างเผ็ดร้อนก็มีคุณแพรรี่หรืออดีตพระมหาไพรวัลย์ ซึ่งวางตนเองในฐานะผู้พิทักษ์คำสอนที่ถูกต้องของพุทธศาสนา และทำให้เรื่องนี้ยิ่งขยายวงไปสู่สื่อที่กว้างขึ้น

พอเกิดมีกรณีน้องไนซ์ อีกฝั่งพากันยกเด็กอีกคนที่มีบุคลิกท่าทีตรงกันข้าม คือ “น้องใบบุญ” อายุหกขวบ มาเป็นตัวอย่างแย้ง น้องใบบุญมีชื่อเสียงจากติ๊กต็อกด้วยความเป็นเด็กที่พูดถึงธรรมมะ แสดงความอยากบวชเพื่อเข้าถึงนิพพาน มีบุคลิกนิ่งสงบ อ่อนน้อม

ยิ่งเมื่อพาน้องไปสัมภาษณ์ในรายการดังถึงประเด็นผู้วิเศษและการให้ผู้ใหญ่กราบไหว้ น้องใบบุญก็ปฏิเสธทั้งหมด ยิ่งขับเน้นความตรงกันข้ามกันกับเด็กอีกคนมากขึ้น

@@@@@@@

เรื่องความถูกต้องของคำสอนทางศาสนาและความเชื่อนั้น ผมแสดงจุดยืนไว้หลายครั้งแล้วว่าเป็นสิทธิที่จะเชื่อ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และก็เป็นสิทธิที่จะโต้แย้งเช่นเดียวกันโดยไม่มีอำนาจเหนือกว่าไม่ว่าจากรัฐหรือองค์กรใดเข้าไปจัดการ กระนั้นเรื่องนี้ก็ซับซ้อนกว่านั้น เพราะมีประเด็นเรื่อง “เด็ก” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

กรณีข้างต้น ถ้าพูดตรงๆ ผมเห็นว่าเป็นความ “ประสาทแดก” (ขออนุญาตใช้คำนี้นะครับ เพราะไม่เห็นว่าคำไหนจะตรงกว่านี้แล้ว) ของผู้ใหญ่ ที่ไปจับเอาเด็กสองคนมาให้เป็นคู่เทียบคู่ขัดแย้งกันภายใต้ของความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่ควรทำโดยแท้ และยังมีบางประเด็นที่ผมเห็นว่าสังคมควรเอาใจใส่และไตร่ตรองยิ่งกว่านี้อีก ซึ่งจะได้อภิปรายต่อไป

กรณี “ผู้วิเศษเด็ก” นี้ไม่ใช่กรณีแรกนะครับ ถ้าเอากรณีในเมืองไทยที่ดังหน่อย ย้อนไปในอดีตครูบาบุญชุ่มเองก็เคยเป็นผู้วิเศษเด็กเช่นกัน จนได้รับฉายา “เณรน้อยต๋นบุญ” หรือ “เณรน้อยหมอยาคน” ที่เชื่อว่ามีอิทธิปาฏิหาริย์สามารถรักษาโรคภัยให้ผู้คนได้ แม้เหรียญรูปสามเณรของท่านเป็นที่นิยมมากในวงการพระเครื่อง

ยังมีกรณีสองฝาแฝดก๊อดอาร์มี่ ผู้นำกะเหรี่ยงคริสต์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้วิเศษเช่นกันจนสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงเมื่อมีอายุเพียงสิบปี และเป็นทีรู้จักจากกรณีพากำลังเข้าบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี ยังไม่นับกรณีย่อยๆ อีกมากมาย

หากมองไปนอกเมืองไทย ผู้วิเศษเด็กที่โด่งดังและยังดำรงอยู่ คือกุมารีแห่งเนปาลที่ถือว่าเป็นเทพกันยาผู้มอบพรแด่ราชสำนัก แม้เมื่อไม่มีราชวงศ์เนปาลแล้ว ทางการยังคงต้องการกุมารี ทั้งในแง่พรแห่งรัฐบาลและในแง่สิ่งสำคัญทางวัฒนธรรม และกรณี “ตุลกุ” (Tulku) หรือการกลับชาติมาเกิดใหม่ของคุรุทางจิตวิญญาณในทิเบต หรือพระอาจารย์ระดับสูง

กรณีแรกนั้น เขาจะใช้เด็กหญิงจากบางตระกูลที่ถูกเลือก เชื่อกันว่าเธอเป็นกุมารีหรือเทพกันยาในร่างมนุษย์ และจะถูกเคารพกราบไหว้ไปจนกว่าจะมีประจำเดือนจึงจะหมดจากภาวะกุมารี จากนั้นเธอจะไม่ได้รับการกราบไหว้อีกต่อไป




กุมารีหลายคนมีชีวิตที่ยากลำบากเพราะไม่ได้รับการศึกษาตั้งแต่เยาว์วัย หรือเมื่อพ้นสภาพก็ไม่มีคนกล้าที่จะแต่งงานด้วย เป็นกรณีศึกษาที่นักสิทธิเด็กวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แต่ที่ยังดำรงอยู่นอกเหนือจากเรื่องความเชื่อของคนท้องถิ่น ก็เป็นเรื่องสินค้าทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวนั่นแหละครับ ยูทูบเบอร์และสื่อไทยยังนิยมตามรอยกุมารี เพราะว่ามันไม่เพียงเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่มัน “แปลก” ด้วยนี่แหละ

การที่ผู้ใหญ่กราบไหว้เด็กนี่ราวกับเป็นอะไรที่ขัดกับค่านิยมของเราสุดสุดไปเลย ดูเหมือนเราจะสอนให้คนไหว้กันด้วย วัยวุฒิเป็นหลัก รองมาคือคุณวุฒิ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็นสังคมที่กราบไหว้อะไรก็ได้ง่ายมาก ขอให้มีคุณวิเศษไว้ก่อน

ความย้อนแยงกลายเป็นลักษณะเด่นของสังคมไทยที่ไม่อาจก้าวไปสู่สังคมที่คิดแบบวิทยาศาสตร์/สมัยใหม่ หรือติดจมอยู่กับอนุรักษนิยม/ความเชื่อไปทั้งหมด เพราะเรานั้น “ก้ำกึ่ง” เสียทุกเรื่องครับ เป็นช่วงเวลาที่คนสองช่วงวัยที่ถือค่านิยม ความคิด ความเชื่อต่างกันดำรงอยู่ไปพร้อมๆ กัน มองในแง่ดีคือเป็นช่วงเวลาใกล้เปลี่ยนผ่าน แต่เราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไรและโดยปราศจากความรุนแรงหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ

กรณีของตุลกุ ซึ่งหมายถึง “นิรมาณกาย” อันเป็นวัฒนธรรมพุทธศาสนา “ของทิเบต” โดยเฉพาะ แม้ว่าพุทธศาสนาจะเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แต่ในอินเดียและในที่อื่นๆ ไม่เคยมีธรรมเนียมหรือความเชื่อว่าครูบาอาจารย์ที่บรรลุธรรมในระดับสูงจะสามารถกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งเพื่อทำภารกิจต่อไป

คุรุท่านนั้นจะถูกสรรหาตั้งแต่ยังเป็นเด็กด้วยวิธีการเฉพาะ และเมื่อค้นพบแล้ว จะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างสูง มีสถานภาพเหนือเด็กทั่วๆ ไป และมักถูกพรากจากพ่อแม่เพื่อนำไปศึกษาเล่าเรียนในอาราม บางท่านเป็นเพียงเจ้าอาวาสในวัดเล็กๆ บางท่านเป็นถึงประมุขนิกายซึ่งมีอำนาจมากทั้งทางโลกทางธรรม จึงกลายเป็นประเด็นทางการเมือง-ศาสนาที่ร้อนแรงอย่างยิ่ง

เรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะและในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมนี้ไปสู่โลกตะวันตก ไว้ผมจะเล่าให้ฟังยาวๆ ครับ

@@@@@@@

กลับมาที่เรื่องน้องสองคนในบ้านเรา แม้ว่าน้องใบบุญจะมิได้อ้างตนเองว่าเป็นผู้วิเศษทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือโดยคนใกล้ชิด แต่การเป็นผู้วิเศษนั้นไม่จำเป็นต้องอ้างก่อนถึงจะเป็นได้ หากมีคุณลักษณะบางอย่างโดยเฉพาะคุณลักษณะที่ขัดแย้งกันเอง ย่อมจะถูกมองว่าเป็นผู้วิเศษโดยสังคมได้ไม่ยาก เช่น เป็นเด็กแต่สนใจธรรม เป็นเด็กแต่รู้ธรรมระดับสูงโดยไม่มีคนสอน อันนี้ก็พอจะเริ่มมีความ “วิเศษ” ขึ้นมาแม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม

ผมเจออีกเคสที่น่าเป็นห่วง คือเด็กที่เป็น “คนทรง” อย่างจีนครับ ทราบกันว่าคนทรงอย่างจีนนั้นจะต้องแสดงอิทธิฤทธิ์โดยการทำสิ่งหวาดเสียวต่างๆ เช่น ลุยไฟ ปีนบันไดมีด ใช้เหล็กแหลมแทงร่างกายหรือลุยกระเบื้อง อันนี้ไม่เพียงเป็นเรื่องผลทางจิตวิทยาแต่ยังเป็นเรื่องสวัสดิภาพและอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย

กระนั้น ไม่ว่าจะแบบไหน จะโลดโพนโจนทะยานแบบน้องไนซ์หรือจะเรียบๆ เย็นๆ อย่างน้องใบบุญ เด็กต้องได้รับการปกป้อง มีสิทธิที่จะเติบโตโดยไม่ถูกรบกวน มีชีวิตอย่างเด็ก ซึ่งเรียกร้องการมี “ความเป็นส่วนตัว” ตามสมควร

ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่หรือครูบาอาจารย์จะต้องไม่เอาเด็กไปสร้าง “คอนเทนต์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงกว้าง แม้ว่าคอนเทนต์นั้นจะเป็นเรื่องธรรมะธัมโมหรือดีงาม เพราะเราต้องไม่ลืมว่าเด็กยังปราศจากวิจารณญาณ ถึงพ่อแม่จะอ้างว่าได้ขออนุญาตเขาแล้วก็ตาม

เมื่อเราจับเด็กโยนลงไปในโลกออนไลน์กับผู้คนมากมายที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตา โลกออนไลน์นั้นเร็วและไร้ความปรานี เด็กอาจกลายเป็นประเด็นขัดแย้ง มีผู้แสดงความเห็นที่หลากหลายทั้งดีและไม่ดีหรือถึงขั้นเลวร้าย เราจึงควรปกป้องเขาจากการเผชิญสิ่งเหล่านั้น ยิ่งหากเอาไปเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างกันบนสื่อก็ยิ่งเลวร้ายเข้าไปอีก

อีกประการหนึ่ง เราไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อเขาโตขึ้น สิ่งที่ทิ้งไว้เป็น “ดิจิทัลฟรุตปรินต์” จะทำให้เขารู้สึกอย่างไร กระทบต่อตัวตนของเขาที่เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ เพราะเมื่อโตเขาก็อาจไม่อยากเป็นสิ่งที่เคยเป็นตอนเด็กก็ได้ หรือถึงขั้นอับอาย

ดังนั้น เรื่องนี้จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องและสังคมระวังไหว คือรวดเร็วในการตอบสนอง และไตร่ตรองให้ดีครับ •





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2567
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_763679

 5 
 เมื่อ: เมษายน 29, 2024, 09:50:56 pm 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 6 
 เมื่อ: เมษายน 29, 2024, 10:49:09 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 7 
 เมื่อ: เมษายน 29, 2024, 10:18:54 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 8 
 เมื่อ: เมษายน 29, 2024, 09:51:52 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.
 :25: :25: :25:

บัญชีลำดับเล่มพระไตรปิฎกจับคู่อรรถกถาและฏีกา (9-)



















(9-)หมายเหตุ ข้อมูลพระไตรปิฎกจับคู่อรรถกถา โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ. ๙)
เพิ่มเติมข้อมูลฎีกา โดย สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙ และ ไพบูลย์ สีสรรพ กันยายน ๒๕๔๓


 st12 st12 st12


คําปรารภ

“รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้” เป็นหนังสือที่รวบรวมคำบรรยายและข้อเขียนเกี่ยวกับพระไตรปิฎก ๓ ตอน คือ

    ๑) บทปาฐกถาธรรม โดยวีดิทัศน์ ฉายในวันสมโภชพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทย ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
    ๒) คำตอบอธิบายว่าพระไตรปิฎกสําคัญอย่างไร เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๒ และ
    ๓) “โครงสร้างและสาระสําคัญของพระไตรปิฎก” ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในหนังสือ พระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์ พร้อมด้วยโปรแกรมเรียกค้นข้อมูลจากคัมภีร์ (BUDSIR) ที่สำนักคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๕

หนังสือเล่มนี้ได้มีผู้ขอพิมพ์เผยแพร่แล้วในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง บัดนี้ มีท่านผู้ศรัทธาประสงค์จะพิมพ์หนังสือนี้เผยแพร่ครั้งใหม่ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจใฝ่ธรรมกว้างขวางออกไปอีก จึงได้แจ้งขออนุญาตพิมพ์เป็นธรรมทาน

พร้อมนี้เห็นว่า ควรมีหนังสือนี้ไว้แจกเป็นธรรมทานที่วัดญาณเวศกวัน อีกส่วนหนึ่งด้วย จึงตกลงนำทุนพิมพ์หนังสือเป็นธรรมทานที่มีอยู่มาใช้ พิมพ์ขึ้นจำนวนหนึ่ง เป็นที่มาของหนังสือเล่มที่ท่านผู้อ่านถืออยู่ขณะนี้

                                                           พระธรรมปิฎก
                                                       ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๕




ดาวน์โหลด pdf file ได้ที่ด้านล่าง




ขอบคุณที่มา : หนังสือ รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ โดย พระธรรมปิฎก
website : https://www.watnyanaves.net/en/book_detail/371

 9 
 เมื่อ: เมษายน 29, 2024, 09:33:32 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.
 :25: :25: :25:

ค. พระอภิธรรมปิฎก

ประมวลพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นเนื้อหาวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) ๑๒ เล่ม

เล่ม ๓๔ (ธัมม)สังคณี ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ และชุด ๒ เช่นจัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่ง เป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา

ตอนต่อจากนั้น ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญของคัมภีร์นี้ เป็นคำวิสัชชนา ขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ที่กระจายออกไปในแง่ของจิต เจตสิก รูป และนิพพาน
ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แต่ละบทแสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท ต่างแนวกันเป็น ๒ แบบ (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)

เล่ม ๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่ และวินิจฉัยจนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณประเภทต่างๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่า “วิภังค์” ของเรื่องนั้น เช่น อธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์

เล่ม ๓๖ มี ๒ คัมภีร์ คือ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลาย และข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดจัดเข้าได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น

เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้นเพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่น ความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา

เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่) เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่า ยมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก

เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล - อกุศล - อัพยากตธรรม) อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก

เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน แห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกา คือ แม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในต้นคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกา

แรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกาปัฏฐานเล่มแรกนี้ อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่า กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัยอย่างไร กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอารัมมณปัจจัยอย่างไร ฯลฯ ฯลฯ (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลม คือตามนัยปกติ ไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธ จึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน)

 st12 st12 st12

เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (พิจารณารูป เสียง เป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้ว ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น

เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย ในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดย อารัมมณปัจจัย (รูปายตนะเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น

เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ

เล่ม ๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงกับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) เช่นอธิบาย “กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติปัจจัย” เป็นอย่างไร เป็นต้น

อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงกับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นอธิบายว่า “กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรม เป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม” เป็นอย่างไร เป็นต้น

อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่น ชุดโลกียะโลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น

เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็น ปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบาย ความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น
     ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ + ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
     อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม + ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรม เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
     ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ + อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร
     และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓ ชุด ๓ กับชุด ๒ ชุด ๓ กับชุด ๓ ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน

ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)

คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้น เล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนว และทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้ว เอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุด แม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมด จะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า “มหาปกรณ์” แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์




- ๔ - อรรถกถา และคัมภีร์รุ่นต่อมา

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงคำสอนคือพระธรรมวินัยแล้ว สาวกทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ก็นำหลักธรรมวินัยนั้นไปเล่าเรียน ศึกษา คำสอนหรือพุทธพจน์ส่วนใดที่ยากต้องการคำอธิบาย นอกจากทูลถามจากพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว ก็มีพระสาวกผู้ใหญ่ที่เป็นอุปัชฌาย์หรืออาจารย์คอยแนะนำชี้แจงช่วยตอบข้อสงสัย

คำอธิบายและคำตอบที่สำคัญก็ได้รับการทรงจำถ่ายทอดต่อกันมา ควบคู่กับหลักธรรมวินัยที่เป็นแม่บทนั้นๆ จากสาวกรุ่นก่อนสู่สาวกรุ่นหลัง ต่อมาเมื่อมีการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยเป็นพระไตรปิฎกแล้ว คำชี้แจงอธิบาย เหล่านั้นก็เป็นระบบและมีลำดับไปตามพระไตรปิฎกด้วย

คำอธิบายพุทธพจน์หรือหลักธรรมวินัย หรือคำอธิบายความในพระไตรปิฎกนั้น เรียกว่า อรรถกถา เมื่อมีการทรงจำถ่ายทอดพระไตรปิฎก ก็มีการทรงจำถ่ายทอดอรรถกถาประกอบควบคู่มาด้วย

จนกระทั่งเมื่อมีการจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน เป็นลายลักษณ์อักษร ณ ประเทศลังกา เกาะสิงหล ใน พ.ศ. ๔๕๐ ตำนานก็กล่าวว่าได้มีการจารึกอรรถกถาพร้อมไปด้วย เช่นเดียวกัน

อนึ่ง พึงสังเกตว่า พุทธพจน์หรือข้อความในพระไตรปิฎกนั้น ในภาษาวิชาการท่านนิยมเรียกว่า บาลี หรือ พระบาลี หมายถึง พุทธพจน์ที่รักษาไว้ในพระไตรปิฎก (ไม่พึงสับสนกับคำว่าภาษาบาลี)

สำหรับ บาลี หรือ พระไตรปิฎก นั้น ท่านทรงจำถ่ายทอดกันมา และจารึกเป็นภาษาบาลีมคธ แต่ อรรถกถา สืบมาเป็นภาษาสิงหล

ทั้งนี้สำหรับพระไตรปิฎกนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ในฐานะเป็นตำราแม่บท อยู่ข้างผู้สอน จึงจะต้องรักษาให้คงอยู่อย่างเดิมโดยแม่นยำที่สุดตามพระดำรัสของพระผู้สอนนั้น

ส่วนอรรถกถาเป็นคำอธิบายสำหรับผู้เรียน จึงจะต้องช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดีที่สุด เมื่ออรรถกถาสืบมาในลังกา ก็จึงถ่ายทอดกันเป็นภาษาสิงหล จนกระทั่งถึงช่วง พ.ศ. ๙๕๐ - ๑,๐๐๐ จึงมีพระอาจารย์ผู้ใหญ่ เช่น พระพุทธโฆสาจารย์ และพระธรรมบาล เดินทางจากชมพูทวีป มายังลังกา และแปลเรียบเรียงอรรถกถา กลับเป็นภาษาบาลีมคธ อย่างที่มีอยู่และใช้ศึกษากันในปัจจุบัน

ลักษณะสำคัญของอรรถกถา คือ เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความในพระไตรปิฎกโดยตรง หมายความว่า พระไตรปิฎกแต่ละสูตรแต่ละส่วนแต่ละตอนแต่ละเรื่อง ก็มีอรรถกถาที่อธิบายจำเพาะสูตรจำเพาะส่วนตอนหรือเรื่องนั้นๆ และอธิบายตามลำดับไป โดยอธิบายทั้งคำศัพท์หรือถ้อยคำอธิบายข้อความ ชี้แจงความหมาย ขยายความหลักธรรมหลักวินัย เล่าเรื่องประกอบ ตลอดจนแสดงเหตุปัจจัยแวดล้อมหรือความเป็นมาของการที่พระพุทธเจ้าจะตรัสพุทธพจน์นั้นๆ หรือเกิดเรื่องราวนั้นๆ ขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมโยงประมวลความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจพุทธพจน์หรือเรื่องราวในพระไตรปิฎกชัดเจนขึ้น

พระไตรปิฎกมีอรรถกถาที่อธิบายตามลำดับคัมภีร์ ดังนี้

@@@@@@@

พระไตรปิฎก - อรรถกถา - พระอาจารย์ผู้เรียบเรียง

ก. พระวินัยปิฎก
    ๑. พระวินัยปิฎก(ทั้งหมด) - สมันตปาสาทิกา - พระพุทธโฆส

ข. พระสุตตันตปิฎก
    ๒. ทีฆนิกาย - สุมังคลวิลาสินี  - พระพุทธโฆส
    ๓. มัชฌิมนิกาย - ปปัญจสูทนี - พระพุทธโฆส
    ๔. สังยุตตนิกาย - สารัตถปกาสินี - พระพุทธโฆส
    ๕. อังคุตตรนิกาย - มโนรถปูรณี - พระพุทธโฆส
    ๖. ขุททกปาฐะ(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถโชติกา - พระพุทธโฆส
    ๗. ธรรมบท(ขุททกนิกาย) - ธัมมปทัฏฐกถา(6-) - พระพุทธโฆส

    ๘. อุทาน(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถทีปนี - พระธรรมปาละ
    ๙. อิติวุตตกะ(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถทีปนี - พระธรรมปาละ
  ๑๐. สุตตนิบาต(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถโชติกา - พระพุทธโฆส
  ๑๑. วิมานวัตถุ(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถทีปนี - พระธรรมปาละ
  ๑๒. เปตวัตถุ(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถทีปนี - พระธรรมปาละ
  ๑๓. เถรคาถา(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถทีปนี - พระธรรมปาละ
  ๑๔. เถรีคาถา(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถทีปนี - พระธรรมปาละ
  ๑๕. ชาตก(ขุททกนิกาย) - ชาตกัฏฐกถา* - พระพุทธโฆส
  ๑๖. นิทเทส(ขุททกนิกาย) - สัทธัมมปัชโชติกา - พระอุปเสนะ
  ๑๗. ปฏิสัมภิทามัคค์(ขุททกนิกาย) - สัทธัมมปกาสินี - พระมหานาม
  ๑๘. อปทาน(ขุททกนิกาย) - วิสุทธชนวิลาสินี - (นามไม่แจ้ง)(7-)
  ๑๙. พุทธวงส์(ขุททกนิกาย) - มธุรัตถวิลาสินี - พระพุทธทัตตะ
  ๒๐. จริยาปิฏก(ขุททกนิกาย) - ปรมัตถทีปนี - พระธรรมปาละ

ค. พระอภิธรรมปิฎก
  ๒๑. ธัมมสังคณี - อัฏฐสาลินี - พระพุทธโฆส
  ๒๒. วิภังค์ - สัมโมหวิโนทนี - พระพุทธโฆส
  ๒๓. ทั้ง ๕ คัมภีร์ที่เหลือ - ปัญจปกรณัฏฐกถา - พระพุทธโฆส


@@@@@@@

นอกจากอรรถกถาซึ่งเป็นที่ปรึกษาหลักในการเล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว คัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาบาลีที่ เกิดขึ้นในยุคต่างๆ หลังพุทธกาล ยังมีอีกมากมาย ทั้งก่อนยุคอรรถกถา หลังยุคอรรถกถา และแม้ในยุคอรรถกถาเอง แต่ไม่ได้เรียบเรียงในรูปลักษณะที่จะเป็นอรรถกถา

คัมภีร์สำคัญบางคัมภีร์ เป็นผลงานอิสระของพระเถระ ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านจัดวางเอง หรือเกิดจากเหตุการณ์พิเศษ เช่น การตอบ คำถามชี้แจงข้อสงสัยของผู้อื่นเป็นต้น ปกรณ์หรือคัมภีร์พิเศษเช่นนี้ บางคัมภีร์ได้รับความเคารพนับถือและอ้างอิงมาก โดยเฉพาะคัมภีร์เนตติ เปฏโกปเทส และมิลินทปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนยุคอรรถกถา ในพม่าจัดเข้าเป็นคัมภีร์ในพระไตรปิฎกด้วย (อยู่ในหมวดขุททกนิกาย)

ในยุคอรรถกถา คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ของพระพุทธโฆส ผู้เป็นพระอรรถกถาจารย์องค์สำคัญ แม้จะถือกันว่าเป็นปกรณ์พิเศษ ไม่ใช่เป็นอรรถกถา เพราะท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านตั้งเอง ไม่ใช่อธิบายพระไตรปิฎกตอนใดตอนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็ได้รับความนับถือมากเหมือนเป็นอรรถกถา เรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์ระดับอรรถกถา ประเทศพุทธศาสนาเถรวาทต่างให้ความสำคัญ ถือเป็นแบบแผนในการศึกษาหลักพระพุทธศาสนา

คัมภีร์ที่เกิดหลังยุคอรรถกถา ก็มีทั้งคัมภีร์ที่อยู่ในสายเดียวกับอรรถกถา คือเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก และอธิบายอรรถกถา และอธิบายกันเอง เป็นชั้นๆ ต่อกันไป กับทั้งคัมภีร์นอกสายพระไตรปิฎก เช่น ตำนานหรือประวัติ และไวยากรณ์ เป็นต้น คัมภีร์เหล่านี้ มีชื่อเรียกแยกประเภทต่างกันออกไปหลายอย่าง จะกล่าวเฉพาะในสายของอรรถกถา คือที่อธิบายต่อออกไปจากอรรถกถา และเฉพาะที่ควรรู้ในที่นี้ ก็คือ ฎีกา และอนุฎีกา

@@@@@@@

เมื่อเรียงลำดับคัมภีร์ในสายพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็จะเป็นดังนี้
    - บาลี คือ พระไตรปิฎก
    - อรรถกถา คือ คัมภีร์ที่อธิบายบาลีหรืออธิบายความในพระไตรปิฎก
    - ฎีกา คือ คัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา หรือขยายความต่อจากอรรถกถา
    - อนุฎีกา คือ คัมภีร์ที่อธิบายขยายความของฎีกาอีกทอดหนึ่ง

ส่วนคัมภีร์ชื่ออย่างอื่นต่อจากนี้ไปที่มีอีกหลายประเภทนั้น บางทีท่านใช้คำเรียกรวมๆ กันไปว่า ตัพพินิมุต (แปลว่า คัมภีร์ที่พ้นหรือนอกเหนือจากนั้น)(8-)

คัมภีร์พระพุทธศาสนาที่มีอยู่มากมาย ทั้งในสายและนอกสายพระไตรปิฎกนี้ ในประเทศไทยเท่าที่ผ่านมา ได้ตีพิมพ์ เป็นเล่มหนังสือออกมาแล้วเพียงจำนวนน้อย ส่วนมากยังคง ค้างอยู่ในใบลาน เพิ่งจะมีการตื่นตัวที่จะตรวจชำระและตีพิมพ์กันมากขึ้นในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ จึงจะต้องรออีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งคงไม่นานนัก ที่ชาวพุทธและผู้สนใจจะได้มีคัมภีร์พุทธศาสนาไว้ศึกษาค้นคว้า อย่างค่อนข้างบริบูรณ์

สำหรับคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถานั้น ได้มีการตีพิมพ์เป็นเล่มพรั่งพร้อมแล้วในช่วงปีปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้เอง ส่วนคัมภีร์อื่นๆ รุ่นหลังต่อๆ มา ที่มีค่อนข้างบริบูรณ์ พอจะหาได้ไม่ยากก็คือคัมภีร์ที่ใช้เรียนในหลักสูตรเปรียญธรรม

เนื่องจากคัมภีร์เหล่านี้ มีความสัมพันธ์อธิบายความต่อกัน กล่าวคือ อรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎก และฎีกาขยายความต่อจากอรรถกถา หรือต่อจากคัมภีร์ระดับอรรถกถา จึงจะได้ทำบัญชีลำดับเล่ม จับคู่คัมภีร์ที่อธิบายกันไว้ เพื่อเป็นพื้นฐานความเข้าใจในการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป และเพื่ออำนวยความสะดวกในการโยงข้อมูลระหว่างคัมภีร์

(ยังมีต่อ..)



(6-)ที่จริงมีชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา ด้วยเหมือนกัน และที่ว่าพระพุทธโฆสเป็นผู้เรียบเรียงคัมภีร์ทั้งสองนี้นั้น คงจะเป็นหัวหน้าคณะ โดยมีผู้อื่นร่วมงานด้วย

(7-)คัมภีร์จูฬคันถวงส์ (แต่งในพม่า) ว่าเป็นผลงานของพระพุทธโฆส

(8-)ท่านถือกันมาให้แยกเพียงแค่ บาลี อรรถกถา และฏีกา ต่อจากนั้นรวมอยู่ในคำว่า ตัพพินิมุต ทั้งหมด

 10 
 เมื่อ: เมษายน 29, 2024, 08:11:42 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
 :25: :25: :25:

โครงสร้างและสาระสำคัญของพระไตรปิฏก (4-)



 st12 st12 st12

-๑- ทบทวนความหมายและความสำคัญของพระไตรปิฎก

พระพุทธศาสนานั้น ว่าตามความหมายทั่วไป ได้แก่ศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นและทรงประทานคำสั่งสอนไว้เป็นหลัก แต่ถ้าว่าโดยสาระและตามตัวอักษรแท้ๆ พระพุทธศาสนา ก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าเรียกตามภาษาบาลี คำสอนก็คือพระธรรม คำสั่งก็คือพระวินัย รวมกันเรียกว่า พระธรรมวินัย พระธรรมวินัยนี้แหละคือเนื้อแท้หรือสาระของพระพุทธศาสนา

ในวาระที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไปแล้ว ธรรมและวินัยที่พระองค์ได้ทรงแสดงและบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาของชาวพุทธทั้งปวง

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอรหันตเถระที่เป็นสาวกผู้ใหญ่ได้ประชุมกันทำสังคายนา คือดำเนินการรวบรวม พุทธพจน์หรือพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่แสดงธรรมวินัยนั้น จัดเป็นหมวดหมู่ แล้วทรงจำและต่อมาก็จารึกไว้เป็นคัมภีร์ นำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

คัมภีร์ที่รวบรวมพุทธพจน์บรรจุพระธรรมวินัย (รวมทั้งข้อความและเรื่องราวร่วมสมัยที่เกี่ยวข้อง) นั้นไว้ เรียกว่า พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกจึงเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมวินัย ที่เป็นสาระหรือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา และจึงเป็นคัมภีร์สูงสุดของพระพุทธศาสนา กล่าวโดยย่อ พระไตรปิฎกมีความสำคัญ ดังนี้

     ๑. พระไตรปิฎกเป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งพุทธพจน์คือพระดำรัสของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ ได้ตรัสไว้เอง เท่าที่ตกทอดมาถึงเรา มีมาในพระไตรปิฎก เรารู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก

     ๒. พระไตรปิฎกเป็นที่สถิตของพระศาสดาของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นที่บรรจุพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เราจะเฝ้าหรือรู้จักพระพุทธเจ้าได้จากพระดำรัสของพระองค์ที่ท่านรักษากันไว้ในพระไตรปิฎก

     ๓. พระไตรปิฎกเป็นแหล่งต้นเดิมของคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอน คำอธิบาย คัมภีร์ หนังสือ ตำรา ที่อาจารย์และ นักปราชญ์ทั้งหลายพูด กล่าวหรือเรียบเรียงไว้ ที่จัดว่าเป็นของในพระพุทธศาสนา จะต้องสืบขยายออกมา และเป็นไปตามคำสอนแม่บทในพระไตรปิฎก ที่เป็นฐานหรือเป็นแหล่งต้นเดิม

     ๔. พระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงหรือยืนยันหลักการ ที่กล่าวว่าเป็นพระพุทธศาสนา การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่า เป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสุดท้ายสูงสุด

     ๕. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบคำสอนในพระพุทธศาสนา คำสอนหรือคำกล่าวใดๆ ที่จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก (แม้แต่คำหรือข้อความในพระไตรปิฎกเอง ถ้าส่วนใดถูกสงสัยว่าจะแปลกปลอม ก็ตรวจสอบด้วยคำสอนทั่วไปในพระไตรปิฎก)

     ๖. พระไตรปิฎกเป็นมาตรฐานตรวจสอบความเชื่อถือและข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ความเชื่อถือหรือข้อปฏิบัติ ตลอดจนพฤติกรรมใดๆ จะวินิจฉัยว่าถูกต้องหรือผิดพลาด เป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็โดยอาศัยพระธรรมวินัยที่มีมาในพระไตรปิฎกเป็นเครื่องตัดสิน

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงเป็นกิจสำคัญยิ่งของชาวพุทธ ถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา หรือเป็นความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ถ้ายังมีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติ พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ แต่ถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก แม้จะมีการปฏิบัติ ก็จะไม่เป็นไปตามหลักการของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็จะไม่ดำรงอยู่ คือจะเสื่อมสูญไป

นอกจากความสำคัญในทางพระศาสนาโดยตรงแล้ว พระไตรปิฎกยังมีคุณค่าที่สำคัญในด้านอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะ

     ๑) เป็นที่บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับลัทธิ ความเชื่อถือ ศาสนา ปรัชญา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม เรื่องราว เหตุการณ์ และถิ่นฐาน เช่น แว่นแคว้นต่างๆ ในยุคอดีตไว้เป็นอันมาก

     ๒) เป็นแหล่งที่จะสืบค้นแนวความคิดที่สัมพันธ์กับวิชาการต่างๆ เนื่องจากคำสอนในพระธรรมวินัยมีเนื้อหาสาระเกี่ยวโยง หรือครอบคลุมถึงวิชาการหลายอย่าง เช่น จิตวิทยา กฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ เป็นต้น

     ๓) เป็นแหล่งเดิมของคำศัพท์บาลีที่นำมาใช้ในภาษาไทย เนื่องจากภาษาบาลีเป็นรากฐานสำคัญส่วนหนึ่งของภาษาไทย การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจึงมีอุปการะพิเศษแก่การศึกษาภาษาไทย

รวมความว่า การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมีคุณค่าสำคัญ ไม่เฉพาะแต่ในการศึกษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อำนวยประโยชน์ทางวิชาการในด้านต่างๆ มากมาย เช่น ภาษาไทย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดี รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้นด้วย


@@@@@@@

- ๒ -การจัดหมวดหมู่คัมภีร์ในพระไตรปิฎก


พระธรรมวินัย หรือธรรมและวินัยที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นแหละ เป็นหลักในการจัดหมวดหมู่ของพระไตรปิฎก

“ไตรปิฎก” มาจาก ไตร (๓) + ปิฎก (ตำรา คัมภีร์ หรือ กระจาด คือภาชนะที่เก็บรวมสิ่งของ) จึงแปลว่า ตำราหรือคัมภีร์ทั้งสาม หรือคัมภีร์ที่เป็นเหมือนกระจาดรวมคำสอนไว้เป็นพวกๆ ๓ คัมภีร์

ธรรมและวินัย ๒ อย่าง ท่านนำมาเก็บรวมจัดใหม่แยกเป็น ๓ ปิฎก คือ

  • วินัย ได้แก่ ระเบียบข้อบังคับสำหรับชีวิตและชุมชนของภิกษุและภิกษุณี จัดไว้เป็นคัมภีร์หนึ่ง เรียกว่า (๑) วินัยปิฎก

  • ธรรม จัดแยกเป็น ๒ คัมภีร์ คือ
     ๑) ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยักเยื้องไปต่างๆ ให้เหมาะกับบุคคลสถานที่เหตุการณ์มีเรื่องราวประกอบ จัดรวมไว้ เรียกว่า (๒) สุตตันตปิฎก
     ๒) ธรรมที่แสดงเป็นเนื้อหาหรือหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่มีเรื่องราวประกอบ จัดไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า (๓) อภิธรรมปิฎก

 


พระไตรปิฎก หรือปิฎก ๓ นี้ เป็นคัมภีร์ที่มีขนาดใหญ่โตมาก มีเนื้อหามากมาย ดังที่ท่านระบุไว้ว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉบับพิมพ์อักษรไทยจัดแยกเป็น ๔๕ เล่ม นับรวมได้ถึง ๒๒,๓๗๙ หน้า หรือเป็นตัวอักษรประมาณ ๒๔,๓๐๐,๐๐๐ ตัว

แต่ละปิฎกมีการจัดแบ่งหมวดหมู่บทตอน ซอยออกไปมากมายซับซ้อน (ดูการจัดแบ่งเฉพาะหมวดใหญ่ๆ ในแผนภูมิหน้า ๗๓)

ในประเทศไทย พระไตรปิฎกได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ การตีพิมพ์เสร็จเรียบร้อยและมีการฉลองใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พร้อมกับงานรัชดาภิเษก พระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์ครั้งนั้นจัดเป็นจบละ ๓๙ เล่ม

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์ใหม่เป็นพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ ๖ เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ มีจำนวนจบละ ๔๕ เล่ม ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการจัดแบ่งเล่มพระไตรปิฎกในประเทศไทยสืบมาจนปัจจุบัน

@@@@@@@@

- ๓ - สาระสำคัญของพระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม (เรียงตามลำดับเล่ม)

ก. พระวินัยปิฎก

ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับ ความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป)(5-) ๘ เล่ม

เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (กฎหรือข้อบังคับที่เป็นหลักใหญ่สำหรับพระภิกษุ) ๑๙ ข้อแรก ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติหนักหรือความผิดสถานหนัก คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยต

เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ข้อที่เหลือ ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติเบาหรือความผิดสถานเบา คือ ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จนครบสิกขาบท ๒๒๗ หรือ ศีล ๒๒๗

เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑๑ ของภิกษุณี

เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ (ระเบียบข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นอยู่และการดำเนินกิจการของภิกษุสงฆ์) ตอนต้น มี ๔ ขันธกะ (หมวด) คือ เรื่องกำเนิดภิกษุสงฆ์และการอุปสมบท อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา

เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ ตอนต้น (ต่อ) มี ๖ ขันธกะ (หมวด) คือ เรื่องเครื่องหนัง เภสัช กฐิน จีวร นิคคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี

เล่ม ๖ จุลลวรรค ภาค ๑ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ ตอนปลาย มี ๔ ขันธกะ คือ เรื่องนิคคหกรรม วุฏฐานวิธี และการระงับอธิกรณ์

เล่ม ๗ จุลลวรรค ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ ตอนปลาย (ต่อ) มี ๘ ขันธกะ คือ เรื่องข้อบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาติโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนา ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒

เล่ม ๘ ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย


@@@@@@@

ข. พระสุตตันตปิฎก

ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายหรืออธิบายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) ๒๕ เล่ม

๑. ทีฆนิกาย ๓ เล่ม (ชุมนุมพระสูตรขนาดยาว)

เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร เริ่มด้วย พรหมชาลสูตร (หลายสูตรกล่าวถึงความถึงพร้อมด้วยสีลขันธ์ ซึ่งบางทีก็จำแนกเป็นจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล จึงเรียกว่า สีลขันธวรรค)

เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๐ สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย “มหา” เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสมยสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น

เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๑ สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียง เช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร

๒. มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม (ชุมนุมพระสูตรขนาดกลาง)

เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ (บั้นต้น) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร บางสูตรอาจจะคุ้นชื่อ เช่น ธรรมทายาทสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สติปัฏฐานสูตร รถวินีตสูตร วีมังสกสูตร

เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ (บั้นกลาง) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร ที่อาจจะคุ้นชื่อ เช่น เสขปฏิปทาสูตร ชีวกสูตร อุปาลิวาทสูตร อภยราชกุมารสูตร มาคัณฑิยสูตร รัฏฐปาลสูตร โพธิราชกุมารสูตร องคุลิมาลสูตร ธรรมเจดียสูตร วาเสฏฐสูตร

เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ (บั้นปลาย) มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒ สูตร มีเนื้อหาแตกต่างกันหลากหลาย เช่น เทวทหสูตร โคปกโมคคัลลานสูตร สัปปุริสสูตร มหาจัตตารีสกสูตร อานาปานสติสูตร กายคตาสติสูตร ภัทเทกรัตตสูตร จูฬกรรมวิภังคสูตร สัจจวิภังคสูตร ปุณโณวาทสูตร สฬายตนวิภังคสูตร อินทรียภาวนาสูตร

๓. สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม (ชุมนุมพระสูตรที่เกี่ยวกับหัวเรื่องเดียวกันๆ คือ ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒ สูตร)

เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุตต์

เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุและปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์

เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่อง สมาธิ และทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุตต์

เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึง อสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์

เล่ม ๑๙ มหาวารวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค (พร้อมทั้งองค์ธรรมก่อนมรรค) โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์

๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม (ชุมนุมพระสูตรที่เพิ่มจำนวนขึ้นทีละหน่วย คือชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่า นิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรมมี ๙,๕๕๗ สูตร)

เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ (เช่น ธรรมเอกที่ฝึกอบรมแล้ว เหมาะแก่การใช้งาน ได้แก่ จิต, องค์คุณภายในอันเอกที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ ได้แก่ความไม่ประมาท ฯลฯ รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ) หมวด ๒ (เช่น สุข ๒ สิบสามชุด, คนพาล ๒, บัณฑิต ๒, ปฏิสันถาร ๒, ฤทธิ์ ๒ ฯลฯ) หมวด ๓ (เช่น มารดาบิดามีฐานะต่อบุตร ๓ อย่าง, ความเมา ๓, อธิปไตย ๓, สิกขา ๓, ฯลฯ)

เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๔ (เช่น อริยธัมม์ หรืออารยธรรม ๔, พุทธบริษัท ๔, ปธาน ๔, อคติ ๔, จักร ๔, สังคหวัตถุ ๔, ฯลฯ)

เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๕ (เช่น พละ ๕, นิวรณ์ ๕, อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕, นักรบ ๕ ฯลฯ) และ หมวด ๖ (เช่น สาราณียธรรม ๖, อนุตตริยะ ๖, คารวตา ๖, อภัพพฐาน ๖, ฯลฯ)

เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๗ (เช่น อริยทรัพย์ ๗, อนุสัย ๗, อปริหานิยธรรม ๗, สัปปุริสธรรม ๗, กัลยาณมิตรธรรม ๗, ภรรยา ๗, ฯลฯ) หมวด ๘ (เช่น โลกธรรม ๘, คุณสมบัติของภิกษุที่จะไปเป็นทูต ๘, ทาน ๘, ทานวัตถุ ๘, การบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ ในระดับต่างๆ ๘, สัปปุริสทาน ๘, ทิฏฐธัมมิก-สัมปรายิกัตถิกธรรม ๘, ฯลฯ) และ หมวด ๙ (เช่น อาฆาตวัตถุ ๙, อนุปุพพนิโรธ ๙, อนุปุพพวิหาร ๙, นิพพานทันตา ๙, ฯลฯ)

เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑๐ (เช่น สังโยชน์ ๑๐, สัญญา ๑๐, นาถกรณธรรม ๑๐, วัฑฒิธรรม ๑๐, ฯลฯ) และ หมวด ๑๑ (เช่น ธรรมที่เกิดต่อจากกันตามธรรมดา ไม่ต้องเจตนา ๑๑, อานิสงส์เมตตา ๑๑, ฯลฯ)

ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิตและสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน

๕. ขุททกนิกาย ๙ เล่ม (ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้ ๑๕ คัมภีร์)

เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ ขุททกปาฐะ รวมบทสวดย่อยๆ เช่น
- มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร ธรรมบท บทแห่งธรรม หรือบทร้อยกรองเอ่ยเอื้อนธรรม มี ๔๒๓ คาถา
- อุทาน พระสูตรแสดงคาถาพุทธอุทาน มีความนำเป็นร้อยแก้ว ๘๐ เรื่อง
- อิติวุตตกะ พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย “เอวมฺเม สุตํ” แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า “อิติ วุจฺจติ” รวม ๑๑๒ สูตร
- สุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีร้อยแก้วเฉพาะส่วนที่เป็นความนำ รวม ๗๑ สูตร

เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อย ๔ ซึ่งเป็นบทประพันธ์ร้อยกรองคือคาถาล้วน ได้แก่
- วิมานวัตถุ เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง
- เปตวัตถุ เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง
- เถรคาถา คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น
- เถรีคาถา คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูปที่กล่าวแสดง ความรู้สึกเช่นนั้น

เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมบทร้อยกรองคือคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง

เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้น เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา ภาคนี้มี ๒๒ เรื่อง บรรจบทั้งสองภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก

เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต

เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตรในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตรในอุรควรรคแห่งสุตตนิบาต

เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่น เรื่องญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน

เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ บทประพันธ์ร้อยกรอง (คาถา) แสดงประวัติพระอรหันต์ โดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เริ่มแต่พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ ฯลฯ พระอานนท์ ต่อเรื่อยไปจนจบภาค ๑ รวม ๔๑๐ รูป

เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐ ต่อนั้นเป็นเถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญ คือ พระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา ฯลฯ พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ

ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์ จนถึงประวัติของพระองค์เอง รวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์

จบแล้วมีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ

ขุททกนิกาย นี้ เมื่อมองโดยภาพรวม ก็จะเห็นลักษณะที่กล่าวว่าเป็นที่ชุมนุมของคัมภีร์ปลีกย่อยเบ็ดเตล็ด คือ แม้จะมีถึง ๑๕ คัมภีร์ รวมได้ถึง ๙ เล่ม แต่

  • มีเพียงเล่มแรกเล่มเดียว ( ๒๕ ) ที่หนักในด้านเนื้อหา หลักธรรม แต่ก็เป็นคัมภีร์เล็กๆ ในเล่มเดียวมีถึง ๕ คัมภีร์ ทุกคัมภีร์มีความสำคัญและลึกซึ้งมาก

  • อีก ๓ เล่ม (๒๘-๒๙-๓๐) คือ นิทเทส และ ปฏิสัมภิทามรรค แม้จะแสดงเนื้อหาธรรมโดยตรง แต่ก็เป็นคำอธิบายของพระสาวก (พระสารีบุตร) ที่ไขความพุทธพจน์ ที่มีอยู่แล้วในคัมภีร์ข้างต้น (ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของอรรถกถา)

  • ที่เหลือจากนั้นอีก ๘ คัมภีร์ ล้วนเป็นบทประพันธ์ร้อยกรอง ที่มุ่งความไพเราะงดงามให้เร้าความรู้สึก เช่น เสริมศรัทธาเป็นต้น คือ
     - เล่ม ๒๖ วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา เล่าประสบการณ์ ความรู้สึก และคติของคนดี คนชั่ว ตลอดจนพระอรหันตสาวกที่จะเป็นตัวอย่าง/แบบอย่าง สำหรับเร้าให้เกิดความรู้สึกสังเวช เตือนใจ และเร้ากำลังใจ ให้ละความชั่ว ทำความดี และเพียรบำเพ็ญอริยมรรค
     - เล่ม ๒๗-๒๘ ชาดก แสดงคติธรรมที่สั่งสอนและเร้าเตือนให้กำลังใจจากการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าเอง
     - เล่ม ๓๒-๓๓ อปทาน พุทธวงส์ จริยาปิฎก เป็นบทร้อยกรอง บรรยายประวัติ ปฏิปทา และจริยา ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวก ในแนวของวรรณศิลป์ที่จะเสริมปสาทะและจรรโลงศรัทธา

(ยังมีต่อ..)



(4-)พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ครั้งเป็นพระเทพเวที ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนขึ้นไว้ และนำลงพิมพ์ในหนังสือ พระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์ พร้อมด้วยโปรแกรมเรียกค้นข้อมูลจากคัมภีร์ (BUDSIR) ซึ่งสำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ (ตัดตอนมาเฉพาะ ตอน ๑ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา และแก้ไขปรับปรุงเล็กน้อย)

(5-) ที่ย่อเป็น อา กับ ปา นั้น เนื่องมาจากวิธีจัดแบ่งอีกแบบหนึ่ง คือ เรียก เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่า อาทิกัมมิกะ (ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของภิกษุ) และเรียก เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ กับ เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่า ปาจิตตีย์ (ว่าด้วย สิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุเป็นต้นไปจนจบสิกขาบทในปาฏิโมกข์ของภิกษุณี)

อนึ่ง วินัยปิฎกทั้ง ๘ เล่ม หรือ ๕ คัมภีร์นี้ บางทีเรียกรวมกันให้สั้นกว่านี้อีกเป็น ๓ คัมภีร์ คือ วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (=มหาวิภังค์ และ ภิกขุนีวิภังค์ ได้แก่ เล่ม ๑-๓) ขันธกะ (=มหาวรรค และจุลลวรรค ได้แก่ เล่ม ๔-๗) และปริวาร (เล่ม ๘)

หน้า: [1] 2 3 ... 10