ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'จะทราบได้อย่างไรว่า จิตเป็นสมาธิแล้ว' | วิสัชนาธรรมโดย "หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต"  (อ่าน 379 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




'จะทราบได้อย่างไรว่า จิตเป็นสมาธิแล้ว' | วิสัชนาธรรมโดย "หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต"

"จะทราบได้อย่างไรว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว" วิสัชนาธรรมโดย "หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต" วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร คัดมาจากหนังสือ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐, เดือนกันยายน ๒๕๕๓

@@@@@@@

ปุจฉา : การปฏิบัติกรรมฐานแบบฝึกหัดเริ่มต้น หากเรานั่งกำหนดจิตอยู่ที่ “พุทโธ” และลมหายใจเข้าออกแล้ว แต่หูก็ยังคงได้ยินสิ่งที่มากระทบจากภายนอกอยู่บ้าง อันนี้ถือว่าจิตลงถึงความสงบเป็นสมาธิหรือยังครับ และตอนช่วงระยะที่นั่งฝึกไปนั้น ลมหายใจที่เรากำหนดอยู่ได้เริ่มเบาลงทุกทีๆ กระทั่งแทบจะไม่มีนั้น ถึงจุดนี้ถือว่าจิตสงบเป็นสมาธิหรือยังครับ และหากถึงตรงจุดนี้เราควรทำอย่างไรต่อไปครับ

วิสัชนา : การที่เราภาวนาลมละเอียดเข้าไป แต่ได้ยินเสียงอยู่ แต่ไม่ได้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมหายใจเข้าออก ก็รู้ชัดพร้อมกันกับเสียงที่มากระทบ อันนั้นเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อละเอียดเข้าไป เบาเข้าไป อันนั้นละเอียดกว่าอุปจารสมาธิลงไปอีก จิตในชั้นนี้ก็เป็นสมาธิแล้ว แต่ไม่ให้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมออกเข้า ละเอียดลงไปขนาดไหนก็ไม่ให้ทิ้ง จนวูบลงหรือวับลงไปไม่ปรากฏลมเสียเลย แล้วก็มีแต่ผู้รู้เบาหวิวอยู่ อันนั้นเรียกว่า “ปฐมฌาน” อัปปนาสมาธิก็ว่า แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา

เมื่อถอนออกมาก็เห็นลมออกเข้าเบาๆ อยู่ ถ้าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปทางอื่นก็เป็นเรื่องกรรมฐานแตกไป แต่ถ้าทวนดูว่า เอ๊ะ...จิตขนาดนี้ก็ยังถอนออกมาอยู่ แล้วพิจารณาลงสู่อนิจจังให้เห็นพร้อมกับลมออกเข้าต่อไป ก็แปลว่ามีวิปัสสนาควบกับสมถะด้วย วิปัสสนาก็คือปัญญานั่นเอง เพราะเห็นอนิจจังควบกับลมหายใจเข้าออก

@@@@@@@

เมื่อเห็นอนิจจังชัดแล้วจะเห็นทุกข์สัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียด จะเห็นสิ่งที่ไม่ใช่เราไม่ใช่เขาสัมปยุตกันอยู่อย่างละเอียดอีก คล้ายๆ กับเชือก ๓ เกลียวซึ่งกลมกลืนกันอยู่ ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง พร้อมกับลมออกเข้าด้วย อันนี้เรียกว่าสติสัมปชัญญะแก่กล้าในไตรลักษณญาณ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตากลมกลืนกันอยู่นั่นเอง ก็ต้องพิจารณาอยู่อย่างนั้นติดต่ออยู่เสมอ เมื่อถอนออกมาก็จับเข้าไปในที่นั้นให้จนได้ เพราะรู้รสรู้ชาติมันแล้ว รู้ลูกไม้ของมันอีกด้วย รู้วิธีจะเข้าไปจับมันอีกด้วย

ยกอุทาหรณ์เช่น ลมหายใจเข้าครั้งหนึ่งก็เห็นทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตากลมกลืนกันอยู่ด้วย ไม่ใช่อยู่คนละเป้า ไม่ใช่อยู่คนละขณะอีกด้วย เมื่อเห็นชัดอยู่อย่างนั้นแล้วกิเลสทั้งปวงที่เคยยึดมั่น ว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนก็สลายไปในตัวอยู่ ณ ที่นั้นเอง ทางนี้เป็นทางพ้นทุกข์ ง่ายดีกว่าจะเอานิมิตต่างๆ ไปอวดกัน

คำว่า นิมิต ก็แปลว่า “เครื่องหมาย” หมายในรูปก็เรียกรูปนิมิต หมายไว้ในนามก็เรียกว่านามนิมิต รูปก็ดี นามก็ดี เป็นเมืองขึ้นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ในปัจจุบันนั้นแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่มีท่านผู้ใดจะพ้นความสงสัยของตนไปได้ และก็ไม่มีท่านผู้ใดจะข้ามความหลงตนไปได้อีก ซ้ำเข้าไปอีกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นคืออะไร ก็คือโลกทั้งปวง ก็คือสังขารทั้งปวง ก็คือกองทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง


@@@@@@@

เมื่อเวลาเห็นอยู่อย่างนั้นก็คือไตรสิกขานั่นเอง ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา กลมกลืนกันในขณะเดียวนั่นเอง ก็คือผู้รู้ปัจจุบันนั่นเอง เป็นผู้รู้ตามเป็นจริงของปัจจุบัน และก็ตามเป็นจริงของอดีตของอนาคตด้วย เพราะเอาปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมเป็นพยานเอกอยู่ในตัวแล้ว ก็ข้ามพ้นความสงสัยในโลกทั้งปวงไปแล้ว ปัญหาอะไรจะเกิดมาก็ต้องเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์ทั้งนั้น

อนึ่ง ผู้จะมาอวดสวรรค์ นรก หรือวัตถุนิยมอะไรๆ ก็ตาม มันเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์อยู่แล้ว เพราะเราเห็นเองรู้เอง รู้ชัดในกรรมฐานที่ตั้งไว้ด้วย จึงยืนยันว่าสันทิฎฐิโกเห็นเองได้ไม่ต้องตื่นข่าวเชื่อคนอื่น เพราะได้จิบเกลือ ไม่ต้องสงสัยว่ารสเค็มมันเป็นยังไง จะมีผู้อื่นบอกว่ารสเกลือหวานทั้งหมดโลกเราก็ไม่เชื่ออีกดังนี้ ในข้อนี้คงพอเข้าใจแล้วนะ



ขอบคุณ เว็บลานธรรมจักร
ขอบคุณ : https://www.naewna.com/likesara/580775
วันพุธ ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 19.29 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ