ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'ดร.มานะ' ชำแหละ '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา  (อ่าน 182 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



'ดร.มานะ' ชำแหละ '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา

21 ก.พ. 2567 - ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง '10 วัฒนธรรมเป็นพิษ' (Toxic Culture) ที่ซ้ำเติมให้คอร์รัปชันลุกลามเกินเยียวยา มีเนื้อหาดังนี้

@@@@@@@

1. ‘ยกย่องคนรวย’ คนมีอำนาจ อิทธิพล กราบไหว้ยกย่องแม้รู้ว่าเขามีชื่อเสียง ร่ำรวย มีตำแหน่งใหญ่โตได้เพราะคดโกง เอารัดเอาเปรียบสังคม เช่น ส.ว. รายหนึ่งอุปถัมภ์กิ๊ก อีกรายหนึ่งพัวพันเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ

2. ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ คนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน ผู้ใหญ่ฝากมา คนสีเดียวกัน เมื่อมีปัญหาถูกผิดต้องดูแลกัน ทำให้คนโกงมากมายหลุดคดีหรือคดีล่าช้า เช่น กรณีบอสกระทิงแดง ทั้งที่ต่างรู้ดีว่าการใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือเอาของหลวงมาช่วยเหลือกันเป็นเรื่องผิด แล้วสักวันจะพากันติดคุก

3. ‘เกรงใจ’ แม้รู้ว่าผิดก็หยวนยอมกัน ปล่อยให้ทำหรืออนุมัติเรื่องให้ กลัวเขาหาว่าไร้น้ำใจ แทนที่จะตรงไปตรงมากับเรื่องของส่วนรวม สุดท้ายคือผิดทั้งคนขอและคนชอบเกรงใจ เช่น อนุมัติให้เบิกเงินเกินจริง เอารถหลวงไปใช้ที่บ้าน

4. ‘อ้างความลับราชการ’ ความมั่นคงของชาติ แม้กระทั่งเรื่องที่แอบไปเซ็นต์สัญญากับเอกชนทั้งที่ใช้เงินภาษีประชาชนไปจ้างไปซื้อของเขา เช่น สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า บ้างก็อ้างว่าต้องเป็นหน่วยงานรัฐเท่านั้นจึงขอข้อมูลได้ มายุคนี้ง่ายขึ้นอีกคืออ้างเป็นข้อมูลผู้ป่วยหรือข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การเปิดเผยข้อมูลคดีของ ป.ป.ช.

5. ‘งานใครงานมัน’ แต่ละหน่วยงานมีกฎหมาย อำนาจ บทบาท เป้าหมายและผลงานที่ต้องทำ มีสายบังคับบัญชาที่แยกจากกัน ทำให้ต่างคนต่างอยู่ รับรู้ต่างกัน เมื่อมีปัญหาจึงโยนเรื่องกันไปมา สุดท้ายอำนาจและผลประโยชน์แอบแฝงของใครบางคนจึงอยู่เหนือเป้าหมายเพื่อส่วนรวม เช่น กรณีแอชตันคอนโดย่านอโศก คดีหมูแช่แข็งเถื่อน ที่พัวพันทั้งคนในกรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมศุลกากร




6. ‘สักแต่ว่าทำ’ ใครให้ทำอะไรก็ทำ รางวัลก็ได้ มีครบหมดตามนโยบายและ KPI ฟังดูน่าจะดี แต่ไม่รู้ว่าทำต่อเนื่อง ทำทั่วถึงไหม ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ชวนให้คิดไปว่าหลายหน่วยงานแค่ทำเอาหน้าเอาผลงาน ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองคงเจริญไปไกลกว่านี้ เช่น กรณีส่วยสินบนกรมอุทยานฯ การประเมิน ITA การทำ e-Service

7. ‘แถ’ ด้วยคำพูดดูเท่ห์เพราะไม่มีเหตุผลดีพออธิบายได้ โดยไม่ยี่หระว่าใครจะเชื่อหรือไม่ เช่น น้ำรอระบาย มันคือแป้ง นาฬิกายืมเพื่อน บ่อยครั้งสังคมก็จำยอมหรืองุนงงแล้วหยุดวิจารณ์ คนพวกนี้ไม่รู้จักละอายยังคงทำเลียนแบบกันหัวยันหาง ทุกองค์กร จนสังคมเอือมระอา

8. ‘ถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน’ เพียงอ้างแค่นี้แล้วเชิดหน้าสบายใจ ทั้งที่รู้ว่าเบื้องหลังวางแผนชั่วกันมา เหมือนบอกชาวบ้านว่า ‘จับไม่ได้ แปลว่าไม่โกง’ อย่างนี้เสาไฟกินรี ศูนย์โอท็อปร้าง โครงการประเภท ‘คิด - ทำ – ทิ้ง’ จึงผลาญเงินภาษีเต็มทั่วแผ่นดิน

9. ‘ใช้ดุลยพินิจพร่ำเพรื่อ’ ของเจ้าหน้าที่เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้มากมาย โดยไม่มีกฎกติกากำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจนว่า อะไรทำได้แค่ไหน เงื่อนไขอย่างไร อะไรต้องห้าม คนมีอำนาจจึงฉวยโอกาส เช่น สินบนแลกใบอนุญาตสร้างบ้าน สร้างโรงงาน

10. ‘คนผิดลอยนวล’ แม้ใช้เงินใช้อำนาจผิดๆ จนบ้านเมืองเสียหายก็ไม่มีใครต้องรับผิด ทั้งโกงกิน ซื้อของแพง ใช้งานไม่ได้ ใช้ไม่คุ้มค่า อย่างการจัดซื้อเรือเหาะ เครื่องตรวจจับระเบิด GT 200 การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์หอยสังข์ที่สงขลา นักการเมืองรุกที่ดินการรถไฟที่บุรีรัมย์ เป็นต้น

@@@@@@@

ตัวอย่างวัฒนธรรมเป็นพิษเหล่านี้ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอเต็มไปด้วยคอร์รัปชัน หากไม่แก้ ไม่ก้าวข้าม อนาคตคนไทยก็ติดอยู่ในกับดักเช่นทุกวันนี้ สังคมไทยต้องการผู้นำประเทศที่เป็นแบบอย่างสร้างการเปลี่ยนแปลง (Leader Lead Culture) แต่ไม่รู้ว่าชาตินี้จะมีอัศวินขี่ม้าขาวไหม ทางเดียวมั่นใจได้ คือคนไทยต้องใช้กระแสสังคมกดดันให้เกิดบันทัดฐานใหม่ ให้รู้ว่าเราต้องการอย่างไร รังเกียจคนและพฤติกรรมเช่นไร

             ดร. มานะ นิมิตรมงคล
    เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
              20 กุมภาพันธ์ 2567





Thank to : https://www.thaipost.net/x-cite-news/538278/
21 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 6:40 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ