ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: DNA ของผีบรรพชน จากโลงผีแมน ที่ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน  (อ่าน 166 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28448
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



DNA ของผีบรรพชน จากโลงผีแมน ที่ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

วัฒนธรรม “โลงผีแมน” คือลักษณะเฉพาะของการปลงศพ ซึ่งมีการค้นพบอยู่มากในเขต อ.ปางมะผ้า จ. แม่ฮ่องสอน (หมายความว่ายังมีการพบในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ในข้อเขียนชิ้นนี้จะพูดถึงกลุ่มวัฒนธรรมนี้ในเขตปางมะผ้าเป็นพิเศษ) มีลักษณะที่โดดเด่นจากการใช้ “โลงไม้” ซึ่งมักจะทำจากไม้สักผ่าครึ่ง แล้วขุดเนื้อไม้ตรงกลางออกให้เป็นเหมือนโลง ส่วนปลายทั้งสองด้านจะมีการแกะสลักเป็นรูปต่างๆ โดยไม้ที่ถูกผ่าครึ่งแล้ว จะถูกนำมามาประกบกันเป็นคู่ จากนั้นจึงนำมาตั้งไว้อยู่บนเสาไม้จำนวน 4-6 เสา หรือวางไว้บนคานภายในถ้ำอีกทีหนึ่ง

และก็เป็นที่น่าสนใจอีกด้วยว่า “ถ้ำ” อันเป็นสถานที่เก็บโลงผีแมนเหล่านี้ มักจะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เกือบจะเป็นยอดของเทือกเขาหินปูน โดยบริเวณที่เป็นยอดเขาเหล่านี้ มักจะถูกนับว่าเป็นสถานที่สำคัญ หรือศักดิ์สิทธิ์ จึงมักมีสิ่งก่อสร้างในศาสนาต่างๆ รวมถึงศาสนาผีพื้นเมืองของอุษาคเนย์ด้วย

แน่นอนว่า “โลงผีแมน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพิธีปลงศพย่อมเกี่ยวข้องกับศาสนา และความเชื่อ และเป็นไปได้ด้วยว่า ตัวของโลงผีแมนเองก็คือ ส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะของ “ผีบรรพชน” นั่นเอง มีผู้อธิบายว่า “ผีแมน” นั้น เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า “ผีที่โผล่ขึ้นมา”

อย่างไรก็ตาม คำว่า “แมน” นั้น หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมักจะปรากฏในเอกสารโบราณของล้านช้างคู่กับคนอีกกลุ่ม ที่เรียกตัวเองว่า พวกแถน ด้วยเช่นกัน


@@@@@@@

โดยปราชญ์ทางด้านประวัติศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ล่วงลับ ได้เคยอธิบายเกี่ยวกับ “พวกแมน” เอาไว้ในหนังสือ “โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ว่า

“พวกแมน พวกเจ้าบ้านผ่านเมืองล้วนต้องใช้คำว่าแมน นำหน้าทั้งสิ้น, พวกแมนนี้ บางทีก็เรียกว่าพวกผี หรือผีฟ้า ซึ่งต่ำลงมากว่าแถน. ร่องรอยอันนี้ เราได้พบในวรรณคดีไทยอย่างเลือนรางมาก คือใน ลิลิตพระลอ ซึ่งออกชื่อพ่อของพระลอว่า ท้าวแมนสรวง ผู้ครองเมืองสรวง นี่เป็นทำนองเดียวกันกับพวกแมนในวรรณคดีเรื่องขุนเจือง ของล้านช้าง เช่น แมนฟอง ครองเมืองคาเขียว ดังนี้ เป็นต้น”

ถ้าจะเชื่อตามที่จิตรอธิบายแล้ว คำว่า “แมน” ก็หมายถึง “ผี” คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผี และย่อมเป็น “ผีบรรพชน” โดยเฉพาะบรรพชนของพวกแมน เพราะจิตรอธิบายว่า พวกแมน บางทีก็เรียกว่า “ผีฟ้า” ซึ่งเป็นเทวดาที่มีนิวาสสถานบนพื้นโลก

คำว่า “โลงผีแมน” ที่นักโบราณคดีนำมาใช้นั้น เป็นคำที่ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้เรียกกลุ่มโลงไม้พวกนี้มาก่อน ชื่อโลงผีแมนนี้จึงแสดงให้เห็นถึงร่องรอยที่สืบเนื่องของความเชื่อในศาสนาผี ของพวกแมนด้วย

น่าสนใจว่าเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดให้มีการแถลงข่าว “โลงผีแมน ข้อมูลใหม่สู่การถอดรหัสสืบรากมนุษย์ยุคโบราณ 1,700 ปี กับการบูรณาการศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์” ขึ้นที่ท้องพระโรง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

ส่วนผู้ที่เป็นคนให้ข้อมูล และร่วมพูดคุยในการแถลงข่าวเกี่ยวกับหัวข้อข้างต้นนั้น ก็มีอยู่ 2 คนสำคัญ

หนึ่งก็คือนักโบราณคดี ผู้ทำงานวิจัยเรื่องวัฒนธรรมโลงผีแมน มาอย่างยาวนานตั้งแต่เรือน พ.ศ.2544 ซึ่งก็นับเป็นเวลา 20 กว่าปีมาแล้วเลยทีเดียวอย่าง ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ส่วนอีกหนึ่งก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ ที่สนใจในการนำงานทางด้านนี้มาเชื่อมโยงกับงานทางด้านมานุษยวิทยา และพันธุศาสตร์โบราณ อย่าง รศ.ดร.วิภู กุตะนันนท์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดังนั้น ถ้าจะมีใครที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องของ “พันธุศาสตร์” ของผู้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม “โลงผีแมน” (และได้ใช้โลงผีแมนเป็นที่บรรจุชิ้นส่วนสังขารของตนเองด้วย) แล้วน่าเชื่อถือที่สุด ก็คงจะไม่พ้นทั้ง 2 คนนี้ไปได้หรอกนะครับ การแถลงข่าวในครั้งนี้จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง



ศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช นักวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูงและริเริ่มการขุดค้นแหล่งโบราณคดีใน จังหวัดแม่ฮ่องสอนมากกว่า 20 ปี (ภาพจาก ข่าวสด)


ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดของการแถลงข่าวในครั้งนี้ก็คงจะหนีไม่พ้น การที่ค่าอายุ 1,700 ปี (อันเป็นค่าอายุที่เก่าที่สุดที่พบในที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างที่นำไปตรวจสอบ DNA จากโลงผีแมน ซึ่งมีการใช้งานต่อเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมาอีกนับพันปี) นั้น มีการผสมผสานของ DNA จากกลุ่มคน 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มหัวบินเนียน (Hoabinhian, คนพื้นเมืองอุษาคเนย์ในยุคก่อนจะมีโลหะใช้) ซึ่งมีชุด DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร ในปัจจุบัน

กลุ่มคนยุคเหล็กจากลุ่มน้ำฉางเจียน (หรือที่มักเรียกกันในโลกภาษาไทยว่า แม่น้ำแยงซีเกียง) ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมี DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท

และกลุ่มคนยุคเหล็กจากแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำพวงเหอ หรือในโลกภาษาไทยมักเรียกว่า แม่น้ำฮวงโห) ทางตอนเหนือของจีน

ลักษณะดังกล่าวแตกต่างไปจากชุด DNA ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างในวัฒนธรรมบ้านเชียง และกลุ่มตัวอย่าง DNA ของผู้คนยุคเหล็กในบริเวณนี้ ที่มีอายุเก่าแก่ขึ้นไปถึงช่วง 1,800 ปี

ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่างหลังนั้น มีชุดของ DNA ของกลุ่มหัวบินเนียน และลุ่มน้ำฉางเจียน แต่ไม่พบร่องรอยของ DNA ของกลุ่มคนจากลุ่มน้ำเหลือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนจากลุ่มน้ำเหลืองเข้ามาในพื้นที่แถบทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งคงจะเริ่มเมื่อช่วง 1,700 ปีที่แล้ว

ถึงแม้ว่า DNA ของกลุ่มตัวอย่างจากวัฒนธรรมโลงผีแมน แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับพวกลัวะ, กะเหรี่ยงปาดอง และมอญ ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่พวกเดียวกันเสียทีเดียว

ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนที่หลากหลายที่เข้ามาผสมผสานกับผู้คนในวัฒนธรรมโลงผีแมนอย่างเข้มข้น ตลอดในช่วง 1,700 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นชุดของ DNA ของทั้ง 3 กลุ่มชนดังกล่าวในปัจจุบัน

(และก็น่าสังเกตด้วยนะครับว่าช่วง 1,700 ปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับช่วงที่เริ่มมีการรับเอาเทคโนโลยีการทำนาทดน้ำจากจีนเข้ามาในอุษาคเนย์ โดยกลุ่มคนในปัจจุบันที่มี DNA เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนในวัฒนธรรมโลงผีแมน และพูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต คือพวกปาดอง หรือกะเหรี่ยงคอยาว)


@@@@@@@

เป็นอันสรุปได้ว่า ชิ้นส่วนกระดูกของ “ผีแมน” ที่เก็บอยู่ในโลงไม้เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ผีของกลุ่มชนที่คนในพื้นที่เรียกว่า “แมน” (ไม่ว่าชนกลุ่มนั้น จะถือว่าพวกตนเองเป็นพวกแมนหรือเปล่าก็ตาม) เป็นบรรพชนของคนถึง 3 กลุ่มเป็นอย่างน้อย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การวิจัย DNA โบราณในครั้งนี้ เน้นการศึกษา “ออโตโซม” (autosome คือ โครโมโซมร่างกายส่วนที่กำหนดลักษณะทางพันธุกรรมและลักษณะทางกายภาพต่างๆ) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลำดับเครือญาติ ของเจ้าของกระดูกในโลกผีแมนต่างๆ ที่ถูกนำใช้เป็นตัวอย่างในการศึกษาว่ามีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด

ลักษณะอย่างนี้ชวนให้นึกถึงความเชื่อเรื่องผีบรรพชน และพิธีศพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ปัจจุบันนี้ ที่มีการฝังศพครั้งที่สอง (Secondary burial) ด้วยการนำเอากระดูกไปบรรจุรวมกันในกลุ่มเครือญาติ โดยถือเป็นผีประจำตระกูลตนหนึ่งตนเดียวกัน

โดยในที่นี้ผมอยากจะเชิญชวนให้ลองเปรียบเทียบกับพิธีศพของพวกจาม

ชาวจามเชื่อว่า มนุษย์เราเมื่อ “เกิด” ขึ้นมานั้น ก็คือได้ “ตาย” ไปจากท้องของแม่ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่มนุษย์ได้ตายลง เขาก็แค่กลับเข้าไปเกิดอยู่ในท้องแม่อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น ในการฝังศพครั้งแรกพวกจามจะตั้งปะรำพิธี ในงานศพ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่กำลังตั้งท้อง (ดังนั้น จะเรียก “ปะรำ” ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะปะรำที่พวกจามสร้างในงานศพมีหลังคาโค้งเหมือนกระดองเต่า หรือท้องของแม่ ไม่ได้เป็นหลังคาเรียบเหมือนปะรำพิธีบ้านเรา) “ศพ” ของผู้ตายก็คือ “เด็ก” ที่อยู่ในท้องของแม่

ส่วนเสาเอกปะรำพิธีจะมี “ลึงค์” (จามเรียกว่า “ลิงคัม”) ที่ทำจากไม้ ตั้งเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายของอวัยวะเพศชาย และเชื่อว่าเป็นการสร้างร่างกายในโลกใหม่ให้กับผู้ตาย

แต่งานศพของพวกจามยังไม่ได้จบง่ายๆ เท่านี้ เพราะหลังจากที่ฝังไปครบปีแล้ว ก็จะมีการนำศพขึ้นมาเผา แต่ก่อนหน้าที่จะมีการเผา 2 วัน จะต้องมีการนำเอา “หิน” ที่มีลักษณะกลมเกลี้ยงจากแม่น้ำลำธาร หรืออาจจะจากครัว จำนวน 9 ก้อน มาวางเรียงตั้งสูงขึ้นไปบนฟ้าในที่แจ้งในลักษณะของ “ก้อนหิน 3 เส้า” ที่รองรับเตา หรือภาชนะในครัว

โดยมีการอ้างว่า หินแต่ละก้อนเป็นสัญลักษณะของเดือนแต่ละเดือน หิน 9 ก้อนหมายถึง 9 เดือนที่ผู้ตายอยู่ในท้องของแม่ จากนั้นวันที่ 3 จึงค่อยทำลายหินสามเส้าที่ก่อมามาจากหิน 9 ก้อนนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการคลอด แล้วจึงขุดเอาศพผู้ตายขึ้นมาเผาได้

จากนั้นชาวจามจะเก็บกระดูกหน้าผากของผู้ตายที่เหลือจากการเผา นำมากะเทาะออกเป็น 9 ชิ้น แล้วเก็บรวมกันไว้ในกล่องที่ใช้เฉพาะในพิธีที่ชื่อว่า “กุต” (Kut) ซึ่งเรียกด้วยภาษาจามว่า “klaong” โดยเชื่อกันว่าการเก็บกระดูกเอาไว้ในกล่องที่ว่านี้ จะช่วยให้ผู้ตายได้เข้าไปอยู่ร่วมกับบรรพชนของพวกเขาในโลกนิรันดร์

ครอบครัวของฝ่ายภรรยาจะเป็นฝ่ายนำกล่องที่ว่านี้ ไปเก็บไว้กับครอบครัวของฝ่ายสามี จนครอบครัวนั้นสามารถรวบรวมกล่องได้มากพอสมควรแล้ว จึงนำไปประกอบพิธีกุต ซึ่งโดยปกติมักอยู่ที่ราว 15-30 กล่อง โดยมักกินระยะเวลานานราว 5-10 ปี

แต่ตัวอย่างหลายกรณีในปัจจุบันนั้นก็แสดงให้เห็นว่า หลายตระกูลไม่ได้มีการทำพิธีกุตกันมาหลายสิบปีเลยทีเดียว

@@@@@@@

อย่างไรก็ตาม พวกจามยังมีความเชื่อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกตระกูลต้องมีสุสานที่ใช้ประกอบพิธีกุต และใช้สำหรับเป็น ที่จะนำร่างทิพย์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากพิธีศพไปรวมเข้ากับบรรพชน ในดินแดนอันเป็นนิรันดร์ที่พวกจามเรียกว่า “muk akei” ไม่อย่างนั้นแล้วจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างรุนแรงว่า ไม่มีบรรพชนคุ้มหัว

ในพิธีที่สุสานกุต ครอบครัวจะนำเอากล่องเหล่านี้วางเรียงตามลำดับอาวุโสในตระกูล เมื่อเสร็จพิธีกรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระอิศวร พระนารายณ์ และผีบรรพชนทั้งหลายแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีศักดิ์สูงที่สุดในชุมชน จะเป็นผู้ประกอบพิธีในตอนเที่ยงคืน ซึ่งที่ว่าเป็นเวลาที่ชาวจามกลุ่มใหญ่ที่เมืองนิงถ่วง เชื่อว่าเป็นเวลาที่พระอิศวรลงมาจุติ

พิธีจะใช้เวลา 3 วัน 3 คืน ในช่วงเวลานี้ผู้คนในครอบครัวห้ามเข้าร่วมในพิธี ส่วนในพิธีจะมี “หิน” 6 ก้อน ก้อนแรกเป็นตัวแทนของ “Po Dhi” ซึ่งชาวจามถือว่าเป็นผู้คอยควบคุมดูแลกุต

อีกสองก้อนสำหรับชายหญิงที่ตายดีวางเรียงไว้ในแถวเดียวกัน และอีกสองก้อนสำหรับชายหญิงที่ตายไม่ดี วางเรียงกันเป็นแถวอยู่ที่อีกด้าน

ส่วนก้อนสุดท้ายมีไว้สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษากุต

ท่ามกลางพิธีการต่างๆ ที่ดำเนินไปตลอด 3 วัน 3 คืน จนในท้ายที่สุด ผู้ตายทั้งหลายจะไปรวมเข้ากับบรรพชนของพวกเขาในดินแดนอันเป็นนิรันดร์ โดยผ่าน “ก้อนหิน” ที่เรียกว่า “กุต” พวกนี้นั่นเอง

ภายในอะไรที่เรียกว่า “โลงผีแมน” นั้น ก็บรรจุไว้ด้วยกระดูกของสายตระกูลเดียวกัน ไว้ภายในโลงไม้เดียวกัน ดังปรากฏหลักฐานจากการศึกษาออโตโซม ในงานวิจัย DNA ที่เพิ่งแถลงข่าวไปนั้น ก็ชวนให้นึกถึงการที่พวกจามนำเอาปู่ย่าตายายของเขาไปรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับบรรพชนในหิน ผ่านพิธีกุตอย่างจับจิตจับใจ

เอาเข้าจริงแล้ว “โลงผีแมน” จึงอาจจะทำหน้าที่อย่างเดียวกับ “หินกุต” ของพวกจาม คือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการหลอมรวมผู้ตายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ ของผีบรรพชนก็เป็นได้ •





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 กุมภาพันธ์ 2567
คอลัมน์ : On History
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_747153
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ