ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “เราอาจผิดเองก็ได้” ทำไมบางคนถึงมักโทษตัวเอง แม้กำลังถูกเอาเปรียบ  (อ่าน 161 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28448
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



“เราอาจผิดเองก็ได้” ทำไมบางคนถึงมักโทษตัวเอง แม้กำลังถูกเอาเปรียบ

ทำไมเราต้องทำงานอยู่คนเดียวล่ะ? ค่าตอบแทนเท่านี้เหมาะสมแล้วหรอ? ให้เรามาเอาโต๊ะก่อน ทำไมถึงไม่รีบตามมากันนะ? หลายครั้งที่เราเกิดคำถามกับตัวเอง ว่าสถานการณ์ที่เราเจออยู่นั้น เรากำลังถูกเอาเปรียบหรือเปล่า จริงๆ เราก็มีคำตอบในใจตั้งแต่เราเริ่มเอะใจกับตัวเองแล้วล่ะ แต่พออะไรเหล่านั้นมันเกิดขึ้นกับตัวเอง แทนที่เราจะอยากลุกขึ้นสู้ กลับรู้สึกโทษตัวเองแทน ทำไมในเรื่องที่เราถูกเอาเปรียบ ถึงทำให้เราโทษตัวเองได้นะ

ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ เมื่อเราถูกเอาเปรียบจนเกิดคำถามในใจ นั่นแปลว่าเรากำลังรู้ตัวแล้วล่ะ ว่าสิ่งนี้มันไม่แฟร์กับเรา หลายครั้งเราอาจปล่อยผ่านไปเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย เกินกว่าจะมีปัญหากับใครเพราะเรื่องนี้ แต่พอถึงคราวเจอปัญหาใหญ่ เราก็ไม่กล้าลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเองอยู่ดี “เขาคงไม่ได้ตั้งใจหรอกมั้ง” “เราอาจไม่ดีเอง คิดมากไปเองก็ได้” มีสารพัดเหตุผลให้กับทั้งฝ่ายที่เอาเปรียบเรา และสารพัดเหตุผลที่ย้อนกลับมาโทษตัวเราเองเสียได้

ทั้งที่เหตุการณ์ตรงหน้า เอื้ออำนวยให้เราเห็นทุกอย่างว่านี่ไม่ใช่ความผิดของเรา ทำไมเราถึงคิดว่าเราเองก็มีส่วนผิดกันนะ




ลองมาฟังเรื่องนี้จาก โชบา ซรีนิวาซา (Shoba Sreenivasa) และ ลินดา ไวน์เบอร์เกอร์ (Linda E. Weinberger) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จาก Keck School of Medicine ได้อธิบายไว้ว่า สิ่งนี้เนี่ย เรียกว่า ‘Self-Blame’ ความรู้สึกผิดที่จะโทษคนอื่นเมื่อเจอกับปัญหา ทั้งที่สิ่งนั้นไม่ใช่ความผิดของเราเองก็ตาม ส่วนมากมักเกิดจากประสบการณ์ร้ายๆ ทางจิตใจในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ขาดความสนใจ ถูกกดดันมากเกินไป ถูกทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ และอื่นๆ

เหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ถูกกระทำไม่ได้รับอนุญาตให้รู้สึกว่าตนรู้สึกอย่างไร เช่น เจ็บปวด โกรธ โกรธเคือง ถูกทอดทิ้ง ถูกปฏิเสธ รู้สึก หรือต่อให้แสดงความรู้สึกออกมาได้ แต่ก็มักไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้รับการแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่รู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาควรตอบสนองไปแบบไหน นอกจากย้อนกลับมาโทษตัวเอง




ในวัยเด็ก เรามีผู้ปกครองเป็นคนที่คอยปกป้อง คอยบอก คอยสอนเรา แต่เมื่อวันหนึ่ง เขากลับหันมาทำร้ายความรู้สึกของเราเอง เราตั้งคำถามไปแล้วก็ไม่ได้คำตอบกลับมา ว่าทำไมเราถึงเจ็บปวดแบบนี้ ทำไมเราถึงถูกปฏิบัติแบบนี้ นั่นทำให้เราไม่อาจจับต้นสายปลายเหตุอะไรได้ นอกจากโทษตัวเอง เก็บกดความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง แล้วรู้สึกว่าต่อจากนี้ หากเกิดเรื่องผิดพลาดอะไร มันจะเกี่ยวข้องกับเราเองเสมอ

แต่เราอาจเคยเห็นการโทษตัวเองในรูปแบบอื่น อย่างการโทษตัวเองเพื่อโน้มน้าวให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดแทน เช่น “เรื่องนี้ฉันผิดเองทั้งหมดแหละ โทษเธอไม่ได้หรอก” “ฉันผิดเองที่ไว้ใจให้เธอทำ ไม่คิดว่าเธอจะทำออกมาเป็นแบบนี้” แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้แตกต่างจากการโทษตัวที่กล่าวไปข้างต้น เพราะขาดถึงความรู้สึกผิดที่แท้จริง และยังรู้อีกว่าสิ่งนี้จะสามารถเป็นเครื่องมือให้พลิกสถานการณ์เป็นอีกด้านได้ ความรู้สึกเบื้องหลังการโทษตัวเองสองแบบนี้จึงต่างกัน

@@@@@@@

แล้วสิ่งเหล่านี้ส่งผลกับเรายังไงบ้าง

     • ตำหนิตัวเองมากเกินไป จากประสบการณ์ที่เคยถูกตำหนิ ว่ากล่าว วิจารณ์อย่างไม่มีเหตุผล ไม่เป็นธรรม เราจึงนำการตัดสินและมาตรฐานเหล่านั้นที่เคยเจอ มาเก็บไว้เป็นไม้บรรทัดในใจ และคอยตัดสินตัวเอง มองตัวเอง จากไม้บรรทัดบิดเบี้ยวเหล่านั้น

     • มองโลกแค่ขาวกับดำ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จากประสบการณ์ที่ถูกตำหนิ ทำร้ายจิตใจอยู่เสมอ ทำให้เรามักมองหาคนผิดให้กับเรื่องนี้ และมองว่ามีแค่ถูกกับผิดเท่านั้น (เพื่อให้มีคนมารับผิดชอบว่าเป็นต้นเหตุของปัญหานี้) และคนผิดก็มักเป็นเราเองเสมอ

     • ไม่ถนอมความรู้สึกของตัวเอง นอกจากจะโทษตัวเองอยู่เสมอแล้ว ความรู้สึกที่ตามมาคือ เรารู้สึกว่าเราสมควรได้รับความเจ็บปวด สมควรถูกตำหนิ ทำให้เมื่อเราเกิดความเสียใจขึ้นมา เราจะไม่ดูแลความรู้สึกของตัวเองเท่าที่ควร เพราะรู้สึกว่า การไม่ได้รับความรัก การถูกตำหนิ การเป็นคนผิด นั้นเป็นเรื่องปกติ ที่เราไม่ต้องจัดการอะไร




พฤติกรรมที่กล่าวมานั้น อาจนำเราไปสู่ความสัมพันธ์เป็นพิษได้ ไม่ว่าจะกับเพื่อน ที่ทำงาน หรือคนรักก็ตาม เพราะเรามีแนวโน้มที่จะเคยชินกับการถูกทำร้ายจิตใจ มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ หรือรู้สึกว่าเรานี่แหละสมควรได้รับความเจ็บปวดนี้แล้ว เราเลยอาจถูกเอาเปรียบจากเพื่อนร่วมงาน หรือตกอยู่ในวังวนทำร้ายใจกับคนรัก จนไม่กล้าลุกขึ้นสู้ ไม่กล้าเดินออกมาจากจุดนั้น

ถ้าใครที่ตกอยู่ในความรู้สึกนี้มากเกินไป เราแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะดีที่สุด แต่ถ้าใครยังอยู่ในระดับที่คิดว่าพอประคับประคองความรู้สึกได้ สิ่งแรกที่เริ่มทำได้คือ อะไรที่เราไม่ผิดก็ไม่จำเป็นต้องรับไว้ทั้งหมด จากนั้นรวบรวมความกล้า แสดงความรู้สึกในใจของเราออกไป เราเองมีสิทธิ์ที่จะทักท้วงเมื่อถูกเอาเปรียบ โต้แย้งเมื่อเห็นว่าเรื่องนี้เราไม่ได้รับความเป็นธรรม

แผลในใจที่เกาะกินความรู้สึกของเราอยู่กับเรามาเท่าอายุ ไม่ต้องรีบร้อนเป็นคนใหม่ในชั่วข้ามคืน ค่อยๆ ให้ตัวเองได้เดินไปทีละก้าว ได้ลองวิธีที่เหมาะกับตัวเองไปเรื่อยๆ คิดไว้เสมอว่า แม้ใครจะละเลยความรู้สึกเราแค่ไหน แต่ตัวเราเอง อย่าละทิ้งความรู้สึกตัวเองเด็ดขาด


 




Thank to :-
URL : https://thematter.co/lifestyle/mental-health/self-blame/222987
Posted On 24 February 2024 Worakan J.
Graphic Designer : Kotchamon Anupoolmanee
Editorial Staff : Paranee Srikham

อ้างอิงจาก :-
Psychology Today
Psychcentral
ScienceDirect
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ