ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุใดเทวดาตายแล้วจึงอยากเกิดเป็นมนุษย์ ???  (อ่าน 2060 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 

เหตุใดเทวดาตายแล้วจึงอยากเกิดเป็นมนุษย์
          ถาม  เคยได้ยินว่า เทวดาเมื่อตายแล้วก็ปรารถนาเกิดเป็นมนุษย์จริงหรือไม่
          เพราะมนุษย์เราตายแล้วก็ปรารถนาจะเป็นเทวดากันทั้งนั้น
          เหตุใดเทวดาจึงปรารถนาเกิดเป็นมนุษย์


          ตอบ  ปัญหาที่คุณถามมานี้เป็นความจริง
          พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ไว้ใน จวมานสูตร ขุ.อิติวุตตกะ ข้อ ๒๖๑-๒๖๒ ว่า
          “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเทวดาผู้จะจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้นนิมิต ๕ ประการย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ
                    ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑
                    ผ้าทรงย่อมเศร้าหมอง ๑
                    เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑
                    ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑
                    ย่อมไม่ยินดีในทิพยะอาสน์ของตน ๑


          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า

                    แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑
                    ครั้นได้ไปสู่สุคติแล้ว ขอท่านจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
                    ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้วขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑”


          เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย อะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว และอะไรเป็นส่วนการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย พระเจ้าข้า”

          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์แล เป็นส่วนแห่งการไปสุคติของเทวดาทั้งหลาย
เทวดาครั้นเกิดเป็นมนุษย์แล้วย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วนี้แล
เป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว

ก็ศรัทธาของเทวดาทั้งหลายเป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลรากเกิดแล้ว ประดิษฐานมั่นคง
อันสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือใครๆ ในโลกพึงนำไปไม่ได้


          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย”
          ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสสรุปเป็นคาถาว่า

          “เมื่อใดเทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งออกไปว่า

แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด
ท่านเป็นมนุษย์แล้วจงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม ศรัทธาของท่านนั้นพึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น
มีมูลเกิดแล้ว มั่นคงในพระสัทธรรมที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว


อันใครๆ พึงนำไปไม่ได้ตลอดชีวิต ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ กระทำกุศลด้วยกายด้วยวาจาให้มาก
กระทำกุศลด้วยใจหาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้

แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดอุปธิสมบัตินั้นให้มากด้วยทาย
แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรมในพรหมจรรย์


เมื่อใดเทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีความอนุเคราะห์ว่า แน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อยๆ”

ทั้งหมดนี้คือข้อความในพระสูตรนี้ และจากข้อความในจวมานสูตรนี้ ท่านผู้ถามก็จะเห็นว่า
เมื่อเทวดาทั้งหลายเกิดนิมิต ๕ ประการอันแสดงว่าจะต้องจุติจากเทวโลกดังนี้แล้ว
เทวดาทั้งหลายอื่นๆ ย่อมอวยพรให้เขาได้เกิดในมนุษย์ ซึ่งเขาถือว่ามนุษย์ภูมิเป็นสุคติภูมิของเทวดา

เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วขอให้ได้ศรัทธาในพระสัทธรรม คือขอให้ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า
ฟังแล้วมีศรัทธาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้น เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้นแล้ว
ขอให้ดำรงมั่นคงในพระธรรมนั้น นั่นคือขอให้ได้บรรลุมรรคผล คือโสดาปัตติผล


เทวดาทั้งหลายหวังจะให้เทวดาผู้จะจุตินั้นสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
แล้วกลับไปเสวยสุขอยู่ในเทวโลกอีก จึงกล่าวว่า
ดูก่อนเทวดา ขอท่านจงกลับมาสู่เทพนิกายนี้บ่อยๆ คือ ขอให้สำเร็จเป็นโสดาบันแล้วกลับมาในหมู่เทพอีกนั่นเอง

ความจริงการเกิดเป็นมนุษย์นั้นมีโอกาสทำบุญทำกุศลได้ทุกอย่าง
แม้การที่จะบรรลุเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าก็ต้องเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้

 

ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :-
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ จวมานสูตร     
http://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=25&A=6074&Z=6109
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 09, 2011, 09:43:57 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ