ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อำนาจผี บารมีแถน ′บวชควาย′ ต้านภัยแล้ง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด  (อ่าน 1964 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
     ลายเส้นจากภาพเขียนสีที่ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี เป็นภาพคนสวมเครื่องประดับศีรษะและเครื่องแต่งกายคล้ายอยู่ในพิธีกรรม จูงวัวหรือควายที่ตกแต่งร่างกายด้วยเช่นกัน แสดงถึงความสำคัญของสัตว์ชนิดดังกล่าวซึ่งมีบทบาทต่อการทำไร่ไถนา โดยยังมีภาพลักษณะนี้ ในอีกหลายแห่ง เช่น ประตูผา จ.ลำปาง ภูพระบาท และผาหมอนน้อย จ.อุดรธานี เป็นต้น
    คนสองฝั่งโขงเชื่อว่าควายให้กำเนิดคน โดยคนออกมาจากน้ำเต้าปุงที่งอกจากซากจมูกควายที่ตายแล้ว หลังจากพญาแถนส่งควายลงมาบนโลก อีกทั้งมีนิทานเล่ากันในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่าควายสอนมนุษย์ให้ปลูกข้าว
    นอกจากนี้ คนเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้วยังฝังโครงกระดูกควายหรือควายดินเผาร่วมกับศพ เช่น ที่บ้านเชียง และบ้านนาดี จ.อุดรธานี แสดงถึงความสัมพันธ์ของควายต่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันชาวจ้วงทางตอนใต้ของจีนยังมีประเพณีที่ยกย่องวัวควาย ในฐานะผู้ทำให้การเพาะปลูกเจริญงอกงามอีกด้วย


อำนาจผี บารมีแถน ′บวชควาย′ ต้านภัยแล้ง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด

ภัยแล้งมาถึงแล้ว ซ้ำยังสาหัสที่สุดในรอบ 30 ปี นอกจากแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานยังประกาศ "บวงสรวง" เขื่อนแห่งต่างๆ จนเป็นที่ฮือฮา บ้างก็ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ บ้างก็ว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่

แท้จริงแล้ว ทั้งความแห้งแล้ง (และน้ำท่วม) ล้วนเป็นปรากฏการณ์ปกติในดินแดนอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่ครั้งโบราณกาล เพราะตั้งอยู่ในเขตมรสุม ผู้คนจึงคุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับแดดลมและฝน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นปัจจัยที่สัมพันธ์กับ "พิธีกรรม" มานานนับพันปี

เช่นเดียวกับประเพณีบวชควายจ่า หรือบวชควายหลวง อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด ในราวปลายพฤษภาคมหรือมิถุนายนของทุกปี พร้อมๆ กับประเพณีจุดบั้งไฟเพื่อขอฝน โดยมีเพียงไม่กี่หมู่บ้าน หนึ่งในนั้นคือ "บ้านหวายหลึม" ชุมชนเล็กๆ ในตำบลพระเจ้า ที่ว่ากันว่าได้เก็บรักษาประเพณีแบบดั้งเดิมไว้มากที่สุด



(ซ้ายบน) ทองมี อาจสัมพันธ์ "ควายจ่า" บ้านหวายหลึม เขียนตาด้วยสีแดงคล้ายหน้ากาก เขาควายประดิษฐ์ถูกติดด้วยแป้งขนมจีนให้เป็นเส้นขน
(ขวาบน) ขบวนควายหลวงหรือควายจ่า ฟ้อนเซิ้งครึกครื้นไปกับเสียงดนตรีที่มี "พังฮาด" (ฆ้องไม่มีปุ่ม) เคียงข้างด้วย "นางว่า" ชายแต่งกายเป็นหญิง บ้างก็ว่าเป็นเมียควายจ่า บ้างก็ว่าเพื่อความขบขันเท่านั้น
(ซ้ายล่าง) การจุดบั้งไฟขอฝนที่ "บ้านแมด" มีขบวนควายจ่าร่วมเชียร์บั้งไฟให้ส่งข้อความถึงพญาแถนบันดาลฝนตกลงสู่ท้องทุ่งนา
(ขวาล่าง) ชกมวยถวาย "ปู่เผ้า เจ้าโฮงแดง" ซึ่งชาวเชียงขวัญเชื่อว่าเป็นบรรพชน


จุดบั้งไฟขอฝนบวช ′คน′ ให้เป็น ′ควาย′

เช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา "วัดบังบดบ้านหวายหลึม" คึกคักกว่าทุกวัน เพราะพ่อเฒ่าแม่เฒ่าแต่งตัวสวย ออกมารวมตัวเพื่อทำบุญ ครั้นเวลาสายจึงมีพิธีบวชควายที่ "ดอนตาปู่" พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน

เริ่มจากแต่งองค์ทรงเครื่องคนในหมู่บ้านเพียง 1 คนที่จะถูกบวชเป็นควายจ่า โดยการนำเครื่องประดับศีรษะแทนเขาควาย 4 เขา มีด้ายแดงผูกร้อยไว้ด้วยกัน คาดหน้าผากด้วยผ้าแดง ทาร่างกายด้วยสีดำ บรรจงวาดดวงตาด้วยสีแดงฉาน แล้วสวมอวัยวะเพศชายสลักเสลาจากไม้ จากนั้น "อุปัชฌาย์บวชควายหลวง" ทำพิธีอ่านคาถาเป็นคำคล้องจองภาษาอีสานเสนาะหู

ช่วงบ่าย รอแสงแดดอ่อนรำไร แล้วจึงแห่ขบวนควายจ่าพร้อมวงดนตรีไปสักการะศาลผีที่วัด ระหว่างทางชาวบ้านจะนำธนบัตรใส่ปากควายแทนฟ่อนหญ้า ควายทำท่าหยอกเย้าสนุกสนาน ตลอดทั้งวันคนจากหมู่บ้านข้างเคียงร่วมร่าย "กาพย์บั้งไฟ" อันไพเราะอ่อนหวาน


 :29: :29: :29: :29:

แสวง อารีย์เอื้อ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.พระเจ้า เล่าว่า บวชควายเป็นประเพณีที่ชาวเชียงขวัญปฏิบัติสืบต่อกันมานาน เพื่อขอให้ทำนาไร่ได้ผลผลิตดี เพราะควายเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการทำนา จึงเชื่อว่าเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์

การจัดพิธีมี 3 วัน วันแรก บวชควายที่ "ดอนตาปู่" ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ

วันที่สอง เป็น "วันโฮม" ซึ่งรวมพิธีต่างๆ ไว้ด้วยกัน ทั้งบวชควายและแห่บั้งไฟเพื่อส่งสารถึง "พญาแถน" ผีใหญ่ ให้ปล่อยน้ำบนฟ้า ตกลงมาเป็นฝน นับเป็นวันอัน "ม่วนซื่น" ที่สุด

วันสุดท้าย เป็น "วันจูด" ซึ่งชาวบ้านร่วมกันจุดบั้งไฟ

"พิธีบวชควายมีอยู่ไม่กี่หมู่บ้านในอำเภอเชียงขวัญ คือ บ้านหวายหลึม บ้านเขือง บ้านดอนแดง และบ้านแมด ปกติจัดช่วงใกล้เคียงกัน แต่อาจจะไม่ได้จัดวันเดียวกัน แต่ปีนี้ คสช.สั่งให้จัดพิธีบุญบั้งไฟให้เสร็จก่อนวันที่ 10 มิ.ย. เลยจัดวันเดียวกันหลายหมู่บ้าน" ผู้ใหญ่เล่าเสร็จก็ชี้เป้าให้ลองไปเยี่ยมหมู่บ้านข้างๆ ที่จัดพิธีบวชควายพร้อมๆ กัน


 :32: :32: :32: :32:

ปู่เผ้า เจ้าโฮงแดงและเรื่องเล่าชาวเชียงขวัญ

ห่างออกไปเพียง 10 นาที ก็ถึง "บ้านดอนแดง" ซึ่งชาวบ้านกำลังง่วนกับการแต่งองค์ทรงเครื่องสาวๆ ในขบวนแห่บั้งไฟ

เอกชัย เจริญศิริธนากูล ชาวบ้านดอนแดง บอกว่า พวกเธอสวมชุดแบบ "ลาวเวียง" เพราะบรรพบุรุษอพยพมาจากเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2369 สมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งยังเล่าเรื่องราวของชาวเชียงขวัญให้ฟังอย่างออกรส โดยผูกโยงกับสัญลักษณ์บางอย่างในพิธีบวชควาย

"ควายจ่าตัวผู้มี 4 เขา เพื่อเน้นว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก เครื่องเพศชายก็ต้องใหญ่ แขวนด้ายแดงแทนขนอวัยวะเพศ เรียกว่าขนทอง ชาวบ้านจะดึงไปใส่ในที่เลี้ยงหม่อนไหมให้ได้ผลผลิตมากๆ และผูกแขนให้เด็ก เพื่อความเป็นสิริมงคล"

นอกจากนี้ ควาย 4 เขายังถูกโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่องการปกครองในอีสานสมัยโบราณ ซึ่งใช้ระบบ "อาญาสี่" มี เจ้าเมือง อุปฮาด (อุปราช) ราชวงศ์ ราชบุตร โดยสายตระกูลชั้นสูงในครั้งนั้น ยังมีลูกหลานสืบเชื้อสายต่อมา มีนามสกุลว่า "จันทะคัด" เพราะเป็นสายตระกูลอุปฮาดจากเวียงจันทน์

ที่สำคัญ ยังมีเรื่องเล่าสืบมาว่าบรรพชนของคนที่นี่คือ "ปู่เผ้า เจ้าโฮงแดง" ซึ่งมีศาลใหญ่ให้สักการะ โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อพิธีกรรมต่างๆอีกด้วย

ไม่จำเป็นต้องตรงกับประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่นี่คือเรื่องเล่า เป็นประวัติศาสตร์ชาวบ้านที่มีค่าในความรู้สึกของชาวเชียงขวัญ เช่นเดียวกับความภาคภูมิใจในพิธีบวชควาย ซึ่งลำใย ฤทธิแสง ผู้ใหญ่บ้านดอนแดง บอกว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ประเพณีบวชควายก็ยังไม่จางหายไปจากความทรงจำของชาวบ้าน ลูกหลานที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ จะกลับมาเยี่ยมบ้านเพื่อร่วมพิธี



(ซ้าย) ลายเส้นขบวนแห่จากภาพเขียนสีที่ถ้ำตาด้วง จ.กาญจนบุรี เปรียบเทียบกับขบวนแห่ในพิธีบวชควายที่ อ.เชียงขวัญ
(ขวา) แม่เฒ่าหาบอวัยวะเพศหญิง-ชายสลักจากไม้ ร่วมขบวนบวชควายและแห่บั้งไฟที่บ้านแมด


ไม่ใช่ใครก็บวชได้ต้องสืบสายจาก ′เวียงจันทน์′
เรื่องบรรพชนที่มาจากเวียงจันทน์ ยังส่งผลต่อคนที่จะบวชเป็นควายจ่าด้วย
พ่อหนูดี ขาวศรี วัย 64 ปี อุปัชฌาย์บวชควายจ่าบอกว่า ตาแท้ๆ เป็นผู้สอนเคล็ดวิชาและมอบภารกิจที่ต้องสืบทอดต่อกันมาในสายตระกูล โดยเฉพาะผู้ที่จะบวชเป็นควายจ่าต้องสืบเชื้อสายมาจากเวียงจันทน์ และเป็นผู้ที่ปู่เจ้าฯเลือกแล้ว เช่น ในบ้านหวายหลึม ต้องนามสกุล "อาจสัมพันธ์" ใครฝ่าฝืน จะถูกผีเข้า


บวชควาย ′บ้านแมด′ต้นตำรับที่คลี่คลาย
จากบ้านดอนแดง เขยิบไปที่ "บ้านแมด" ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "ศาลปู่เผ้า เจ้าโฮงแดง" และเชื่อว่าเป็นต้นตำรับพิธีบวชควาย แต่ในปัจจุบันได้คลี่คลาย ปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง กลายเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของพิธีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายของควายจ่าที่แตกต่างออกไป คือ ใช้ฝากระติ๊บทำเป็นหมวกที่มีเขาควาย ในขณะที่บ้านหวายหลึมมีลักษณะดั้งเดิมมากที่สุด คือใช้แป้งข้าวปุ้น (ขนมจีน) ผูกเขาควายกับเส้นผมตามแบบเก่า

นอกจากนี้ ที่บ้านแมดยังมีการชกมวยถวายปู่เผ้า เจ้าโฮงแดง เพราะเชื่อว่าปู่ชอบดูมวย และมีกลุ่มวัยรุ่นแต่งกายเลียนแบบควายจ่าเพื่อสร้างสีสันอีกด้วย


 :25: :25: :25: :25:

′พุทธ′ พบ ′ผี′ บารมีพญาแถน
แม้พิธีบวชควายและจุดบั้งไฟจะแสดงถึงการนับถือผีเป็นหลัก โดยเฉพาะพญาแถน ซึ่งบางครั้งเรียกว่าผีฟ้า เพราะเชื่อตามนิทานพญาคันคาก (คางคก) ว่าเป็นผู้ควบคุมน้ำบนฟ้า แต่ก็มีการผสมผสานความเชื่อในพุทธศาสนาด้วย เห็นได้จากขบวนแห่ที่นำหน้าด้วย "พระอุปคุต" เถระในพุทธศาสนา ตามด้วยขบวนควายจ่า ตัวแทนความเชื่อเรื่องผี ที่ร่ายรำแอ่นระแน้มาตามจังหวะเพลงครึกครื้น แล้วปิดท้ายด้วยขบวนบั้งไฟที่ถูกจุดขึ้นไป "แจ้งเตือน" พญาแถน โดยแห่จากหมู่บ้านเข้าไปในวัด ตบท้ายด้วยการไหว้ศาลผี ทั้งหมดนี้คือการหลอมรวมทางวัฒนธรรมความเชื่อที่แนบเนียน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

′ขอฝน′ พิธีร่วมของคนอุษาคเนย์
การขอฝนเป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวอุษาคเนย์ก่อนรับศาสนา โดยมีการติดต่อกับอำนาจเหนือธรรมชาติให้บันดาลน้ำฝน ไม่ว่าจะเป็นการ "จุดบั้งไฟ" ถึงพญาแถนและ "ปั้นเมฆ" พิธีเก่าแก่หลายพันปี รวมถึง "ผีตาโขน" ซึ่ง ผศ.สมชาย นิลอาธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอีสาน เชื่อว่าพิธีบวชควายมีความเชื่อมโยงกับประเพณีดังกล่าว เนื่องจากมีการเขียนหน้าตาที่เทียบเคียงได้กับ "หน้ากาก" ผีตาโขน

 :25: :25: :25: :25:

ปริศนาพิธีกรรมในภาพเขียนสี
ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำราว 2,500 ปีมาแล้วที่ไม่อาจตีความในบ้านเรา ล้วนไม่ได้ถูกวาดเพื่อความสวยงาม หากแต่ทำขึ้นเนื่องในพิธีกรรมบางอย่าง อาทิ ภูปลาร้า จ.อุทัยธานี มีภาพวัวหรือควาย ภาพคนสวมเครื่องประดับศีรษะทำท่าร่ายรำ นอกจากนี้ ที่ถ้ำตาด้วง จ.กาญจนบุรี มีภาพคนหามเครื่องดนตรี ซึ่งอาจเป็นกลองมโหระทึก มีรูป "กบ" สัญลักษณ์ของฝนที่ใช้มานานถึง 2,500 ปี และยังมีใช้อยู่ในพิธีขอฝนที่กวางสี มาจนถึงปัจจุบัน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า พิธีกรรมในภาพเหล่านั้นยังมีผู้คนที่กระทำสืบต่อไม่ขาดสาย ปรับเปลี่ยน คลี่คลาย จนเกิดพัฒนาการ สืบทอดมาเป็นพิธีขอฝนในทุกวันนี้


อวัยวะเพศ สัญลักษณ์ความงอกงาม
อวัยวะเพศชาย-หญิงที่มักแกะสลักด้วยไม้ ทาสีสด แขวนไว้กับตัว หรือหาบ-ถือหยอกเย้าผู้คนในพิธีขอฝน มักถูกมองว่าเป็นของลามก แต่แท้จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในวัฒนธรรมอุษาคเนย์และวัฒนธรรมดั้งเดิมทั่วโลกมาแต่โบราณ (เช่น ศิวลึงค์ตั้งบนฐานโยนีในศาสนาพราหมณ์)

พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร - เรื่อง
ภิญโญ ปานมีศรี - ภาพ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1435542881
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 30, 2015, 08:50:35 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

nirvanar55

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 305
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
เวลาที่คนตกทุกข์ได้ยาก สิ่งที่เขามองเฉพาะหน้า ขณะนั้น ก็คือกิ่งหมาย เส้นฟาง ใบไม้ ที่กำลังลอยอยู่บนผืนน้ำแล้วเขาก็คว้า สิ่งเหล่านั้นด้วยสำคัญว่า เป็นที่พึ่งพาแก่เขาได้

  ธรรมะจะช่วยอะไรในกรณี อย่างนี้ ......
 
  :smiley_confused1: :34:
บันทึกการเข้า