ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อะไร.? เป็น "พรหมจรรย์" ของท่าน | พรหมจรรย์นี้ ไม่ได้หมายถึง "การอยู่เป็นโสด"  (อ่าน 786 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28506
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


อะไร.? เป็น "พรหมจรรย์" ของท่าน | พรหมจรรย์นี้ ไม่ได้หมายถึง "การอยู่เป็นโสด"

สวัสดีครับ เพื่อนสมาชิก วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๔ คราวที่แล้ว สนทนากันเรื่องพรหมจรรย์ ทีแรกคิดว่าจะจบ เพราะตั้งใจจะโฟกัสความหมายลำดับที่ ๑๐ คือ ศาสนพรหมจรรย์ เพราะถือเป็นคำศัพท์ที่ถูกใช้ในฐานะเป็นหลักศาสนา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งการประพฤติปฏิบัติอันเป็นหนทางนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนา อันเป็นแนวทางเฉพาะของพระพุทธองค์เท่านั้น

ดังนั้น ที่เหลืออีก ๙ จึงจำต้องงดไป เพราะจะเป็นการคุยที่ยาวมาก กลายเป็นการบรรยายไปซะงั้น. แต่ก็อีกนั่นแหละครับ แม้ความหมายอื่นๆ ที่ท่านหยิบยกมาเสนออีก ๙ ประการ ก็ชื่อว่า พรหมจรรย์ เหมือนกัน แต่ข้อธรรมที่ถูกสื่อโดยคำๆนี้ กลับมีคนละอย่าง ซึ่งก็แล้วแต่ว่า ผู้ที่กล่าวถึงจะหมายเอาธรรมข้อใด การใช้คำที่มีรูปเหมือนกัน พ้องกันแบบนี้ เรียกว่า อัตถุทธาระ หมายถึง การนำความหมายขึ้นกล่าวด้วยคำศัพท์ที่เหมือนกับศัพท์อื่นๆ

เอาละ ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ก็ควรจะคุยกันต่อซะเลย ก่อนอื่นจะขอทบทวนอีกเล็กน้อย โดยคำนี้มาจาก พรหม ที่หมายถึง ผู้ประเสริฐ, ความประเสริฐ คำๆนี้ ไม่ใช่หมายถึง ท้าวมหาพรหมองค์เป็น ตัวจริงๆ นะครับ แต่เป็นคำศัพท์บัญญัติที่สื่อถึงความประเสริฐ และผู้ที่มีความประเสริฐ นั้นครับ. และ จรรย์ (ภาษาบาลีใช้ จริย) ก็คือ ความประพฤติ นั่นเอง

รวมความแล้วก็ได้บทนิยามความหมายให้จดจำว่า เป็นการประพฤติที่ประเสริฐ หรือ เป็นความประพฤติของท่านผู้ประเสริฐ. ขอให้เพื่อนๆยึดหลักที่ว่า “เป็นคำเดียวกัน แต่หมายถึงธรรมที่ต่างกัน แต่อยู่บนพื้นฐานของนิยามที่ว่า เป็นความประพฤติที่ประเสริฐ หรือ ของผู้ประเสริฐ” ก็จะกำหนดคำนี้ได้ในทุกแห่งที่พบคำนี้ ครับ.

เพื่อนๆครับ วันนี้ คงจะยาวอีกนิดนึง แต่จะสรุปในวันนี้ว่า คำว่า "พรหมจรรย์" นี่ให้เพื่อนๆทำไว้ในใจซะก่อนว่า เป็นคำพูดที่ในบริบทนั้นกล่าวขึ้นมาโดยสื่อถึงธรรมบางอย่าง ด้วยคำว่า "พรหมจรรย์" นี่เองครับ เพราะฉะนั้น การที่พระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์ผู้แต่งคำอธิบายพระพุทธพจน์เป็นคนแรก) ได้พบเห็นคำนี้ ในพระไตรปิฎกที่มีความหมายแปลกไปจากแห่งอื่นจึงนำมารวบรวมไว้ พูดง่ายๆว่า ในที่นั้น ก็ใช้คำว่า "พรหมจรรย์" เหมือนกัน แต่หมายถึง ธรรมข้อโน่นนี่นั่น ครับ.

การจะให้กระจ่างว่า ทำไมท่านถึงเรียกธรรมข้อนี้ว่า พรหมจรรย์ ต้องกลับไปอ่านต้นทางว่า ก่อนจะกล่าวถึงคำนี้ ท่านผู้เป็นเจ้าของถ้อยคำนี้ อาศัยเหตุอะไร พูดง่ายๆว่า ต้องดูที่มาที่ไปซะก่อน ภาษาตำราเราเรียกว่า นิทาน(เหตุที่ให้เกิดเรื่องนี้) บ้าง อัตถุปปัตติ (เหตุเกิดขึ้น) บ้าง


@@@@@@@

เอาละครับ มาเข้าเรื่องกัน สมมุติว่า เราอ่านไปเจอข้อความนี้ในพระไตรปิฎกว่า...

   "อะไรเป็นพรต อะไรเป็นพรหมจรรย์ของท่าน นี้เป็นวิบากของกรรมอะไรที่สั่งสมดีแล้ว ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง กำลัง การเข้าถึงความเพียร และวิมานใหญ่ของท่านนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร."
   "ท่านผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าและภริยาทั้ง ๒ เมื่ออยู่ในมนุษยโลก ได้เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี เรื่องของเรา ในกาลนั้นได้เป็นโรงดื่ม และสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ก็อิ่มหนำ ก็ทานนั้นเป็นพรต เป็นพรหมจรรย์ของเรา นี้เป็นวิบากแห่งทานที่สั่งสมดีแล้ว ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง กำลัง การเข้าถึงความเพียรและวิมาน ใหญ่ของเรา นี้เป็นผลแห่งทานที่สั่งสมดีแล้ว ท่านผู้แกล้วกล้า."

คำว่า พรหมจรรย์ ในที่นี้ จะหมายถึง ทาน คือ การให้นั่นเอง. เพราะพระนางวิมลาเทวี ผู้เป็นนาคกัญญา (คือ ภริยาของพญานาคราช เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กัญญา) ถือเอาว่า ทานนั่นแหละ คือ พรหมจรรย์ เป็นข้อประพฤติที่ประเสริฐ. จึงกล่าวคำนี้ต่อพระโพธิสัตว์วิธุระ ที่ถามพระนางวิมลาเทวีว่า เพราะเหตุไร จึงมีนาคสมบัติมากมายเห็นปานฉะนี้. เรื่องนี้มาในคัมภีร์ชาดก เป็นชาดกเรื่อง วิธุรชาดก (ขุ.ชา.(๒) เล่มที่ ๒๘ ข้อที่ ๑๐๒๕.

แต่ถ้าเจออย่างนี้ว่า ฝ่ามือของท่านให้สิ่งที่น่าใคร่ด้วยพรหมจรรย์อะไร ฝ่ามือของท่านหลั่งมธุรสด้วยพรหมจรรย์อะไร บุญสำเร็จในฝ่ามือของท่านด้วยพรหมจรรย์อะไร ฝ่ามือของข้าพเจ้าให้สิ่งที่น่าใคร่ด้วยพรหมจรรย์นั้น ฝ่ามือของข้าพเจ้าหลั่งมธุรสด้วยพรหมจรรย์นั้น บุญสำเร็จในฝ่ามือของข้าพเจ้าด้วยพรหมจรรย์นั้น. พรหมจรรย์ ก็คือ เวยยาวัจจะ ที่นับว่าเป็นการขวนขวายช่วยเหลือกัน.

เรื่องนี้มาในอังกุรเปตวัตถุคัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๑๐๖ ครับ เรื่องมีอยู่ว่า มีเทพบุตรองค์หนึ่งเป็นรุกขเทวดา ซึ่งมีฝ่ามือที่บันดาลสิ่งข้าวน้ำ ในอดีตชาติ มีอาชีพทอผ้า และเพื่อนบ้านกับเศรษฐีท่านหนึ่ง ที่ใจบุญ ให้ทานอยู่เสมอๆ. สมณพราหมณ์ ยาจก วณิพก ได้ยินข่าวของท่านเศรษฐี จึงเดินทางมา แต่ยังไม่รู้จัก จึงเข้าไปยังบ้านของคนทอผ้านี้เพื่อถามทางไปบ้านเศรษฐี. ฝ่ายนายช่างทอผู้นี้ แม้ตนเองจะไม่ได้เป็นผู้ให้ทานเสียเอง แต่ก็ชื่นชมอนุโมทนาบุญของเศรษฐี จึงช่วยเหลือด้านอื่นคือ อนุโมทนาทานและ ช่วยชี้ทางไปบ้านของเศรษฐี พลางบอกว่า “ขอคนทั้งหลายจงไปในที่นั่นและจะได้สิ่งที่ควรได้”

ก็การขวนขวายช่วยเหลือบอกทางนี่เอง จัดเป็นบุญชนิดเวยยาวัจจกุศล รุกขเทวดานี้ ใช้คำว่า พรหมจรรย์ สื่อบุญนี้ว่า เป็นพรหมจรรย์ของตัวเอง แต่ความหมายคือ ผลบุญนี้ได้มาเพราะได้ช่วยชี้ทางไปบ้านของทายก นั่นเอง

ผมยกตัวอย่างมาสองเรื่องเท่านั้นพอนะครับ ที่เหลืออีก ๗ นั้นมีที่มาในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ถ้าจะยกมาแสดงทั้งสิ้นคงกินเวลาอีกหลายวันแน่

@@@@@@@

ถ้าเจอในข้อความนี้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศีล ๕ นั้นแล ชื่อว่าติตติริยพรหมจรรย์." (ติตติชาดก) คำว่า ติตตริยพรหมจรรย์ ที่กล่าวในที่นี้ ก็คือ ศีล ๕ นั่นเอง

ถ้าอ่านในมหาโควินทสูตร จะพบคำนี้อีกเช่นกัน "ดูก่อนปัญจสิขเทพบุตร ก็พรหมจรรย์นั้นแล ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ ไม่ เป็นไปเพื่อนิโรธ เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงพรหมโลกเท่านั้น." คำนี้พระองค์จะทรงหมายถึงอัปปมัญญาฌาน ที่จะเป็นเหตุให้เกิดในพรหมโลกภายหลังจากตายไป.

ถ้าอ่านในสัลเลขสูตร ก็จะพบคำนี้เช่นกันว่า "คนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เราทั้งหลายในที่นี้จักเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์." แต่พรหมจรรย์นี้หมายถึง เมถุนวิรัติ

หากอ่านในมหาธรรมปาลชาดก จะมีคำนี้ว่า “เราทั้งหลายไม่นอกใจภริยาทั้งหลาย และภริยาทั้งหลาย ก็ไม่นอกใจพวกเรา เว้นภริยาเหล่านั้น พวกเรา ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะเหตุนั้นแหละ พวกเรา จึงไม่ตายแต่หนุ่มๆ”. คำนี้ก็จะหมายถึง สทารสันโดษ

ในโลมหังสชาดก ก็มีคำนี้ “ดูก่อนสารีบุตร เรานี่แหละรู้ชัดซึ่งความประพฤติพรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๔ เรานี่แหละเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส." คำนี้หมายถึง ความเพียรเผากิเลส

ในนิมิชาดกใช้คำว่า พรหมจรรย์เหมือนกัน แต่จะใช้ในความหมายว่า อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ “บุคคลเกิดเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์อย่างต่ำ เกิดเป็นเทวดาด้วยพรหมจรรย์อย่างกลาง และย่อมบริสุทธิ์ด้วยพรหมจรรย์อย่างสูงสุด”. พรหมจรรย์ นี้ หมายถึง อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ทำด้วยอำนาจการฝึกตน.

แม้ในมหาโควินทสูตรเช่นกัน แต่คราวนี้พระพุทธองค์ทรงกลับหมายถึง อริยมรรค “ดูก่อนปัญจสิขเทพบุตร ก็พรหมจรรย์นี้แล เป็นไปเพื่อนิพพิทาโดยส่วนเดียว เป็นไปเพื่อวิราคะ เป็นไปเพื่อนิโรธ….. พรหมจรรย์นี้คือมรรคมีองค์ ๘ ที่ห่างไกลจากข้าศึก คือกิเลสนี้แหละ”.

เพื่อนๆครับ อันนี้ท่านหมายถึง อริยมรรค อีก เพราะตรัสเพื่อให้เห็นความต่างกันระหว่างพรหมจรรย์ของพระองค์กับของปัญจสิขเทพบุตร อันนี้เป็นพุทธลีลาในการแสดงธรรมครับ

คำว่า พรหมจรรย์ ในที่นี้ บางครั้งท่านก็จะเรียกว่า มรรคพรหมจรรย์ โดยกำกับความลงไปให้ชัดครับ.

ส่วนข้อความที่ว่า “พรหมจรรย์นี้นั้นสมบูรณ์ มั่งคั่ง แพร่หลาย คนโดยมากเข้าใจ มั่นคง เพียงที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศดีแล้ว เท่านั้น”. คำว่า พรหมจรรย์ในข้อความนี้แหละ คือ ศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง บางครั้งที่จะเจอคำนี้เลยว่า “ศาสนพรหมจรรย์” ให้แปลว่า พรหมจรรย์อันเป็นคำสอน. และจะเห็นในที่ต่างๆ มากที่สุด และพระพุทธองค์ทรงนำมาเป็นคำที่ใช้เรียกศาสนาของพระองค์เลย.

วันนี้ใช้เวลามาพอสมควรละครับ ขออนุโมทนา

@@@@@@@

ปัจฉิมลิขิต

คำว่า พรหมจรรย์ นี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านก็ให้คำจำกัดความว่า การศึกษาปรมัตถ์, ประพฤติธรรมอันประเสริฐ, การถือพรตบางอย่าง เช่น เว้นเมถุน, การศึกษาพระเวท, การบวชซึ่งเว้นเมถุน, การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน.

อีกเล่มหนึ่ง ฉบับของ อ.เปลื้อง ณ นคร ก็อธิบายไว้คล้ายกันว่า (น.) การ ประพฤติดังพรหม หลักสำคัญในการประพฤติพรหมจรรย์ คือการเว้นจากการเสพเมถุน เพราะ พวกพรหมจริงๆ ไม่มีการเสพเมถุน, ฐานะของผู้ยังไม่ได้แต่งงาน คือการเล่าเรียน, การบวช คือละเว้นเมถุน.

พจนานุกรมฝ่ายพระพุทธศาสนาโดยตรง เล่มที่มีชื่อเสียง คือ พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปอ.ปยุตฺโต) ท่านเก็บความจากคัมภีร์พุทธศาสนามาสรุปไว้ย่อๆว่า ได้แก่ พรหมจรรย์ การศึกษาพระเวท, การบวชซึ่งละเว้นเมถุน, การครองชีวิตที่ปราศจากเมถุน, การประพฤติธรรมอันประเสริฐ, การครองชีวิตประเสริฐ, มรรค, พระศาสนา

ส่วนศาสนาอื่นๆ เขาก็บรรยายไว้พอสรุปได้ว่า พรหมจรรย์ เป็นแนวคิดที่พบในศาสนาแบบอินเดีย อันแปลตรงตัวว่า “การกระทำตนให้เป็นประหนึ่งพรหม”. แนวคิดพรหมจรรย์นั้นไม่ได้หมายถึง “การอยู่เป็นโสด" (celibacy) พรหมจรรย์ในศาสนาแบบอินเดียไม่ได้หมายถึงการถือสภาพพรหมจารีและการเว้นจากกิจกรรมทางเพศเสมอไป แต่มุ่งเน้นไปที่การควบคุมจิตตะ ไม่ให้มีอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึง “พรหมญาณ”

ในแนวคิดอาศรมสี่ของศาสนาฮินดู “พรหมจรรย์” เป็นหนึ่งในสี่ขั้นของชีวิตซึ่งตามด้วย คฤหัสถ์, วานปรัสถ์ และ สัญญาสี “พรหมจรรย์” ในอาศรมสี่ หมายถึงวัยเด็กไปจนถึงอายุราว 25 ปี ให้หมั่นเพียรศึกษาเล่าเรียนและให้ประพฤติตนอยู่ในการไม่มีคู่ครอง

คำว่า "พรหมจรรย์" ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าทรงแสดงถึง ๑๐ ความหมาย คือ
     ๑. ทาน
     ๒. เวยยาวัจจะ (ความขวนขวายช่วยเหลือ)
     ๓. ศีลสิกขาบท ๕ (ศีล ๕ มีปาณาติบาตเป็นต้น)
     ๔. อัปปมัญญา (อันนี้ คือ อรูปฌาน ชนิดที่ทำให้ถึงพรหมโลกที่ไม่มีรูป ได้แก่ เมตตาฌาน มุทิตาฌาน กรุณาฌาน และอุเบกขาฌาน)
     ๕. เมถุนวิรัติ (การงดเว้นจากเสพเมถุน คือ การงดเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะกับคู่สามีภรรยาของตนเองก็ตาม)
     ๖. สทารสันโดษ (การพอใจอยู่กับภรรยาของตนเอง ไม่มีคนใหม่ แม้แต่จะคิดก็ตาม)
     ๗. วิริยะ ความเพียรพยายามโดยเฉพาะเกี่ยวกับการทำความเพียรเพื่อละกิเลสระดับสัมมัปธาน.
     ๘. อุโบสถที่มีองค์ ๘
     ๙. อริยมรรค
    ๑๐. ศาสนา กล่าวคือคำสอน





ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2021/04/25/ปกิณณกสาระธรรม-พรหมจรร/
ปกิณณกสาระธรรม #ธรรมสากัจฉา #พรหมจรรย์ ภาค ๒
บทความของ : Sompob Sanguanpanich
25 เมษายน 2021 ,posted by admin.   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 26, 2021, 09:16:13 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ