ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การเจริญโพชฌงค์ตามกาล | สัมโพชฌงค์ เป็น ปัญญาของโพชฌงค์  (อ่าน 1041 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดไม้รวก อำเภอท่าเรือ แสดงมารวิชัย ฝีมือนายคำ พ.ศ.2370 สติสัมโพชฌงค์เท่าทันกายและจิต อุเบกขาสัมโพชฌงค์ตัดภพตัดชาติ


การเจริญโพชฌงค์ตามกาล | สัมโพชฌงค์ เป็น ปัญญาของโพชฌงค์

โพชฌงค์เป็นคำที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นใหม่ ไม่มีคำที่ใกล้เคียงในสมัยก่อนพุทธกาล พุทธศาสนิกชนจำนวนมากคุ้นเคยกับคำนี้ว่า เป็นบทสวดที่ทำให้หายจากความเจ็บป่วย ความคุ้นเคยในฐานะที่เป็นข้อปฏิบัติมีน้อย ส่วนหนึ่งคงเพราะรู้สึกว่าไกลเกินตัว

โพชฌงค์แปลตามพยัญชนะคือองค์ประกอบของการตรัสรู้ซึ่งมี 7 ประการได้แก่สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา

มหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวถึงการเจริญโพชฌงค์ไว้ในหมวดธัมมานุปัสสนา ส่วนในอานาปานสติสูตรซึ่งอาศัยเฉพาะลมหายใจก็มีกล่าวไว้ทั้งในกายานุปัสสนาและหลังสติปัฏฐาน 4 การกล่าวถึงนั้นเป็นไปโดยย่นย่อ

สำหรับการปฏิบัติในขั้นของโพชฌงค์ จิตจะน้อมไปสู่แต่ละองค์ประกอบที่เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตด้วยปัญญา เมื่อปัญญาขั้นสูงเข้าร่วมด้วย ปรากฏการณ์นั้นก็จะมีอาการที่เรียกว่า “สัมโพชฌงค์” โพชฌงค์ 7 จึงเป็นจิตที่มีปัญญาสังเกตพิจารณาอาการของสติและสมาธิที่สูงแล้ว สติสัมปชัญญะในสติปัฏฐานจะเป็นสติสัมโพชฌงค์ ถ้าองค์ประกอบอื่นๆ เกิดขึ้นก็จะพัฒนาเป็นสัมโพชฌงค์ในทำนองที่คล้ายคลึงกัน


จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดเจตวงศ์ (ร้าง) ปทุมธานี พระเจ้าสุทโธทนะประกอบพิธีแรกนาขวัญ เจ้าชายสิทธัตถะทรงสำเร็จปฐมฌานใต้ต้นหว้า พระฉายส่องสว่างเที่ยงตรง'

เราอาจสังเกตได้ว่า องค์ประกอบของโพชฌงค์มีการเรียงตามลำดับของสมาธิจิต โดยที่สตินั้นเป็นองค์ประกอบที่ต้องมีอยู่เสมอ

    - สติมาจากการรับรู้กายและความรู้ตัวทั่วร่างกาย ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้ทางอายตนะ

    - ธรรมวิจยะมาจากการสังเกตสิ่งที่อยู่ในจิต สามารถแยกแยะกุศลธรรมและอกุศลธรรมและพิจารณาเลือกข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง คำนี้มักแปลไว้ว่าการเลือกเฟ้นธรรม

    - วิริยะเป็นความเพียรหรือการประคองการปฏิบัติ จิตเห็นภาวนามยปัญญา

    - ปีติ ปัสสัทธิและสมาธิเป็นอาการที่เกิดขึ้นมากขึ้นเมื่อผ่านปฐมฌาน เป็นองค์ประกอบที่เข้าใจยากและมักตีความไม่ตรงกัน
         ปีติในปฐมฌานเป็นปีติที่อ่อน เกิดขึ้นในฌานที่ยังมีวิตกและวิจาร เกิดจากความสงบสงัดที่เรียกว่าวิเวก เป็นความสดชื่นซึ่งอาจทำให้ติดใจ บางทีเรียกว่าปราโมทย์
         ปีติในทุติยฌานมีความชัดเจนมาก มีความซาบซ่านเมื่อจิตแผ่ไป เป็นความสั่นเสทือนทั่วร่างกายซึ่งตรงกับคำว่าผรณาปีติ ปีตินี้มีกำลังและเป็นความสุขที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเพลิดเพลิน สำหรับปีติและปราโมทย์ผู้ปฏิบัติที่ชำนาญอาจกำหนดหรือเพ่งให้เกิดได้

    - ปัสสัทธิเป็นความสงบระงับที่เย็นกายและเย็นใจ กายปัสสัทธิเป็นความสงบระงับทางกายที่เกิดกับอาการของจิตคือเวทนา สัญญาและสังขาร เกิดขึ้นระหว่างทุติยฌานและตติยฌานเมื่อปีติระงับไป อาจนับเป็นปีติชนิดหนึ่งที่ละเอียดอย่างยิ่งแต่ผู้ปฏิบัติสร้างไม่ได้ ส่วนจิตปัสสัทธิเป็นความสงบเย็นทางใจซึ่งเกิดตามมา

    - สมาธิเป็นความสงบที่ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์เดียวหรือเอกัคคตา เจือสุขในตติยฌาน

    - อุเบกขาเป็นความสงบที่วางเฉยหรือเป็นกลาง มีความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ จิตที่เป็นอุเบกขาเกิดชัดในจตุตถฌาน สติมีความบริสุทธิ์ ส่วนในสติปัฏฐาน อุเบกขาเป็นอุบายปัญญา

@@@@@@@

การเจริญโพชฌงค์เป็นขั้นตอนของวิปัสสนาก่อนเข้าถึงอริยมรรคในจิต สมาธิต้องจดจ่อเป็นอัปปนาสมาธิซึ่งเทียบได้กับปฐมฌาน และดังนั้นจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในขั้นปฐมฌานจิตจะมีวิตก วิจาร ปีติ สุขและเอกัคคตาผสมกันไป จากนั้นจึงเหลือปีติ สุขและเอกัคคตาในทุติยฌาน เอกัคคตาเป็นสมาธิที่มีเพียงอารมณ์เดียว ไม่มีอารมณ์อื่นแทรก

อัปปนาสมาธิไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาครอบงำ และทำให้จิตเห็นสภาวะที่สำคัญเกิดขึ้นตามมา โพชฌงค์ 7 ก็คือสภาวะนั้น ถ้าปัญญาเจริญขึ้นร่วมกับสภาวะใดก็จะสร้างสัมโพชฌงค์ในสภาวะนั้น


จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง สมณะบรมโพธิสัตว์ทรงสดับเสียงพิณ วิริยสัมโพชฌงค์เปรียบเข้ากับพิณสามสาย (เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน)

องค์ประกอบของโพชฌงค์ข้างต้นจึงมี 2 ด้านได้แก่ ด้านที่เป็นโพชฌงค์ซึ่งสะท้อนว่า การปฏิบัติน่าจะถูกทางแล้วและอีกด้านที่เป็นกิเลสอันละเอียด ปัญญาจะช่วยให้รู้จักกิเลสเหล่านี้และเลือกเดินทางได้ถูกต้อง

1. สติสัมโพชฌงค์
สติตั้งมั่นและทำให้จิตรับรู้ถึงความเป็นอนิจจัง สติสัมปชัญญะที่มากขึ้นเป็นสติสัมโพชฌงค์ ปัญญาจะทำให้เห็นอนิจจังทั้งทางกายและจิต หลวงพ่อพุธ ฐานิโยบอกว่าจิตจะมีสติเป็นผู้นำ

2. ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
กุศลธรรมและอกุศลกรรมมีปรากฏตั้งแต่ในสติปัฏฐานและสัมมัปปธาน ผู้ปฏิบัติสังเกตว่าข้อธรรมใดใช้งานได้ดีและจะเพิ่มส่วนที่ขาดได้อย่างไร สามารถเห็นกุศลธรรมเกิดขึ้นและดับไป ไม่ติดกุศลธรรมที่ผุดขึ้น ปัญญาจะเฟ้นหาสภาวะของอนิจจัง ทุกขังและอนััตตา

3. วิริยสัมโพชฌงค์
เป็นการประคองการปฏิบัติในทางสายกลาง สัมมัปปธาน 4 มีข้อหนึ่งที่อาศัยความเพียรในการภาวนาซึ่งต้องสังเกตพิจารณาให้พอเหมาะแก่การปฏิบัติ ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป มิให้ขาดความสม่ำเสมอหรือฝืนทรมานกายสังขาร ปัญญาจะทำให้ความเพียรเป็นวิริยสัมโพชฌงค์

4. ปีติสัมโพชฌงค์
การให้ความสนใจกับปีติซึ่งน่ายินดีทำให้รับรู้ถึงสภาวะอนิจจังไม่ง่าย ปัญญาจะใช้ปีติสอนจิตให้เห็นสภาวะอนิจจังอยู่เสมอแต่ไม่ติดใจในปีตินั้นๆ

5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
เมื่อเกิดปัสสัทธิ กายมีความสงบระงับ จิตก็จะสงบระงับตามมา ในระดับของอัปปนาสมาธิ ปัสสัทธิเป็นกายปัสสัทธิหรือความสงบระงับของเวทนา สัญญาและสังขาร การเจริญโพชฌงค์ปกติอยู่ในชั้นนี้ ปัญญาจะสอนให้เห็นว่าปัสสัทธิอันน่ายินดีก็ไม่เที่ยง

6. สมาธิสัมโพชฌงค์
จิตตั้งมั่นไม่ซัดส่าย สมาธิให้ความสงบนิ่ง จะมีมากถ้าไม่มีวิตก วิจารและปีติแทรก สำหรับในระดับของอัปปนาสมาธิ จิตมีความสงบตั้งมั่นระดับหนึ่ง ในระดับตติยฌานขึ้นไป จิตมีความตั้งมั่นโดยไม่มีปีติปรากฏ ปัญญาจะสอนว่าความตั้งมั่นเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง

ในอรรถกถาจะอธิบายในแง่ของความฉลาดในการประคองสมาธิเพื่อให้เกิดสมาธิสัมโพชฌงค์ โดยอาศัยนิมิตที่ให้ความสงบและที่ให้อารมณ์ที่ไม่ฟุ้งซ่านออกไป

7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์
เมื่อจิตตั้งมั่นในปฐมฌานหรืออัปปนาสมาธิ อุเบกขาเกิดขึ้นจากความสงบวิเวกแต่เจือด้วยสุขและองค์ฌานอื่นๆ ปัญญาจะสอนให้สังเกตหรือวางเฉยอย่างเป็นกลาง ส่วนในจตุตถฌาน อุเบกขาจิตเกิดขึ้นจากวิราคะซึ่งไม่เกาะสิ่งใด ปัญญาจะสอนว่าอุเบกขาที่เป็นการเพ่งเฉยก็ไม่เที่ยง


จิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เก่าวัดม่วง อินทร์บุรี พระเจ้าอโศกมหาราชนมัสการพระอุปคุต การเข้าหาสัตบุรุษและการคบกัลยาณชนเป็นงานภายนอกของโพชฌงค์

อัคคิสูตรมีการกล่าวถึง “การเจริญโพชฌงค์ตามกาล” ซึ่งแนะให้ปฏิบัติเหมาะสมกับสภาพของจิตด้วย สภาพของสมาธิจิตมี 2 ลักษณะหลักได้แก่ จิตหดหู่และจิตฟุ้งซ่าน สัมโพชฌงค์ที่ใช้ควรให้เหมาะสมแก่สภาพในขณะนั้น

     - จิตหดหู่เป็นอาการของจิตที่ท้อถอยและ “ส่งใน” ควรใช้องค์ประกอบที่ช่วยให้จิตขยันยินดี ได้แก่ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์
     - จิตฟุ้งซ่านเป็นอาการของจิตที่ซัดส่ายและ “ส่งนอก” ควรใช้องค์ประกอบที่ช่วยให้จิตสงบระงับได้แก่ ปัทสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

     ผู้ที่ไม่มีฌานอาจเห็นโพชฌงค์บางส่วนไม่ชัดบ้าง แต่ก็เห็นทั้งหมดได้ในอัปปนาสมาธิ ส่วนผู้ที่มีฌานจะเจริญปัญญาโดยอาศัยโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นชัดมากน้อยในฌานนั้นๆ แต่ต้องเจริญโพชฌงค์ให้ครบถ้วน

     ผู้ที่มีฌานอาจเห็นโพชฌงค์ตามกำลังของฌาน ซึ่งอาจไม่เหมือนกับผู้ที่มีสมาธิในขั้นอัปปนาสมาธิหรือปฐมฌาน เช่นเมื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์และสมาธิสัมโพชฌงค์อาจไม่มีวิตก-วิจาร ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์อาจอาศัยจิตปัสสัทธิ ไม่ใช่กายปัสสัทธิเป็นต้น


@@@@@@@

การเจริญโพชฌงค์อาจมีลักษณะย่อยที่พิเศษตามบทบาทของกายและจิตได้อีก งานของโพชฌงค์ก็มีทั้งที่เป็นการปฏิบัติทางจิต และที่มิใช่การปฏิบัติทางจิต สำหรับการปฏิบัติทางจิต การเจริญโพชฌงค์เป็นการใช้ปัญญากับองค์ประกอบของโพชฌงค์ให้เป็นสัมโพชฌงค์ จึงเป็นวิปัสสนาที่ใช้ในสติและสมาธิ ส่วนในชีวิตประจำวัน การดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญาจัดเป็นงานภายนอกของโพชฌงค์

เมื่อประเมินได้ว่า ตนมีจิตที่วุ่นวายก็พยายามเลี่ยงความวุ่นวายและเข้าหาผู้ที่มีจิตสงบ ถ้าติดความสงบและมีปัญญาน้อยก็พยายามสดับธรรมและเข้าหาผู้ที่มีปัญญา มีการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับหลักศีลธรรม

สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นในจิตบวกกับการดำเนินชีวิตอย่างมีปัญญา จะทำให้เข้าใกล้มรรคสัมมาทิฏฐิ สมาธิก็จะกลายเป็นสัมมาสมาธิ สติจะเป็นสัมมาสติ วิริยะจะเป็นสัมมาวายามะ วิตก-วิจารหรือความคิดก็จะเป็นสัมมาสังกัปปะ ทั้งงานภายในและงานภายนอกของโพชฌงค์จะอำนวยให้จิตเข้าถึงอริยมรรคและอริยผล






ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_2155054
ผู้เขียน : ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
วันที่ 24 เมษายน 2563 - 13:40 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
     

โพชฌงค์ 7
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ 7 คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มีเจ็ดอย่างคือ

    1. สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
    2. ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม
    3. วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร
    4. ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ
    5. ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ
    6. สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์
    7. อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง

โพชฌงค์ 7 เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม 37 โพธิปักขิยธรรมนี้ คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค อันได้แก่

    สติปัฏฐาน 4
    สัมมัปปธาน 4
    อิทธิบาท 4
    อินทรีย์ 5
    พละ 5
    โพชฌงค์ 7 และ
    มรรคมีองค์ 8

ทั้งนี้ พระสูตรและปาฐะที่เกี่ยวข้องกับโพชฌงค์ 7 โดยตรง ได้แก่
    มหากัสสปโพชฌังคสุตตปาฐะ
    มหาโมคคัลลานโพชฌังคสุตตปาฐะ
    มหาจุนทโพชฌังคสุตตปาฐะ

@@@@@@@

โพชฌงค์คู่ปรับกับอนุสัย (1)

    1. สติเป็นคู่ปรับกับอวิชชา
    2. ธัมมวิจยะเป็นคู่ปรับกับทิฏฐิ(สักกายทิฏฐิและสีลัพพัตปรามาส)
    3. วิริยะเป็นคู่ปรับกับวิจิกิจฉา
    4. ปีติเป็นคู่ปรับกับปฏิฆะ
    5. ปัสสัทธิเป็นคู่ปรับกับกามราคะ
    6. สมาธิเป็นคู่ปรับกับภวราคะ(รูปราคะ อรูปราคะ (ภพที่สงบ)กับ อุทธัจจะกุกกุจจะ(ภพที่ไม่สงบ))
    7. อุเบกขาเป็นคู่ปรับกับมานะ

   - ธัมมวิจยะและวิริยะทำลายทิฏฐิและวิจิกิจฉาอนุสัย บรรลุเป็นพระโสดาบันและหรือพระสกทาคามี
   - ปีติและปัสสัทธิทำลายปฏิฆะและกามราคะอนุสัย บรรลุเป็นพระอนาคามี
   - สมาธิ อุเบกขาและสติทำลายรูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจกุกกุจจะ มานะ อวิชชาอนุสัย บรรลุเป็นพระอรหันต์

สติ : ความระลึกได้ ธรรมดาสตินั้นเป็นธรรมชาติทำลายโมหะคือความหลง ท่านกล่าวว่าโมหะทำให้เกิดอวิชชา และอวิชชาทำให้เกิดโมหะเช่นกัน ดังนั้นผู้เจริญสติจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายอวิชชาลงเสียได้

ธัมมวิจยะ : ความพิจารณาในธรรมจนเห็นชัดตามความเป็นจริงย่อมทำลายสักกายทิฏฐิในตัวตนว่าขันธ์5เป็นตัวกู(อหังการ)ของกู(มมังการ)ลงเสียได้และย่อมทำลายสีลัพพัตตปรามาส การถือมั่นในศีลพรตอย่างผิดๆ ด้วยการเห็นตามความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกฎแห่งกรรม

วิริยะ : ความแกล้วกล้าของจิต ที่เพียรพยายามด้วยศรัทธาที่มั่นคง จนประสบผลจากการปฏิบัติจนสิ้นความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือเป็นความศรัทธาในระดับวิริยะ คือ มีความแกล้วกล้า (วิร ศัพท์ แปลว่า กล้า) อันหมายถึงความเพียรอันเกิดจากความแกล้วกล้าเพราะศรัทธา

ปีติ : ความสุขจากความแช่มชื่นใจของปีติ ย่อมดับสิ้นซึ่งพยาบาทและปฏิฆะความไม่พอใจใดๆลงเสียได้

ปัสสัทธิ : ความสงบกายสงบใจ ย่อมทำให้กามราคะที่เกิดเมื่อเกิดย่อมต้องอาศัยการนึกคิดตรึกตรองในกาม เมื่อสำรวมกายคืออินทรีย์5ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และสำรวมใจไม่ให้คิดตรึกตรองในกาม ย่อมยังกามราคะที่จะเกิดไม่ให้เกิดเสียได้

สมาธิ : ความตั้งใจมั่น สมาธิระดับอัปปนาสมาธิย่อมกำจัดความฟุ่งซ่านรำคาญใจลงเสียได้ และสมาธิระดับอรูปราคะย่อมทำลายความยินดีพอใจในรูปราคะเสียเพราะความยินดีในอรูปราคะ และสมาธิระดับนิโรธสมาบัติย่อมต้องทำลายความยินดีพอใจในอรูปราคะเสียเพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ (ในชั้นนี้ ผู้ปฏิบัติที่สามารถละปฏิฆะและกามราคะได้เด็ดขาด ย่อมบรรลุเป็นพระอนาคามีที่มีปกติเข้าถึงนิโรธสมาบัติได้แล้ว)

อุเบกขา : ความวางเฉย คือวางเฉยในสมมุติบัญญัติและผัสสะเวทนาทั้งหลาย ทั้งหยาบ เสมอกัน และปราณีต จนข้ามพ้นในความเลวกว่า เสมอกัน ดีกว่ากัน จนละมานะทั้งหลายลงเสียได้

@@@@@@@

ธรรมะที่เกี่ยวข้อง

    "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุที่เจริญอานาปานสติแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญสติปัฏฐาน 4 แล้ว ทำให้มากแล้วย่อมบำเพ็ญโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ได้ ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ 7 แล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้."

        — อานาปานสติสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔






อ้างอิง :-
(1)พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 241
    - พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม"
    - พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์"
    - อานาปานสติสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔

ขอบคุณ : https://th.wikipedia.org/wiki/โพชฌงค์_7
ขอบคุณภาพจาก : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 03, 2021, 11:22:13 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


นานาสาระพระคัมภีร์ : ๕. ความหมายของคำว่า “โพชฌงค์” (๑/๔)

คำว่า โพชฌงค์ ประกอบด้วยคำสองคำ คือ โพธิ + องฺค แปลง ธิ จาก โพธิ เป็น ชฺฌ ผสมกับ องฺค สำเร็จรูปคำเป็น โพชฺฌงฺค. (1 ดูคำอธิบายด้านล่าง)

คัมภีร์อรรถกถาอาทิปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถาและธัมมสังคณีอรรถกถาให้อรรถาธิบาย ๔ นัย คือ
     ๑) องค์แห่งธรรมสามัคคีเป็นเหตุตรัสรู้
     ๒) องค์แห่งพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้.
     ๓) ธรรมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ หรือเป็นเหตุแห่งการตรัสรู้
     ๔) ธรรมผู้ตรัสรู้

๑) องค์แห่งธรรมสามัคคีเป็นเหตุตรัสรู้ (2 ดูคำอธิบายด้านล่าง) มาจาก โพธิ ธรรมเป็นเหตุให้พระอริยสาวกได้ตรัสรู้ + องฺค ส่วนประกอบ.

คัมภีร์อรรถกถาทั้งหลาย อรรถาธิบายว่า...

โพธิ : ธรรมเป็นเหตุให้พระอริยสาวกได้ตรัสรู้ (3 ดูคำอธิบายด้านล่าง) ได้แก่ ธรรมสามัคคี การรวมตัวแห่งธรรม ๗ คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ซึ่งเกิดขึ้นในขณะแห่ง โลกุตรมรรค สามารถกำจัดอุปัททวะต่างๆ คือ ความหดหู่ ฟุ้งซ่าน การเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ การทำกรรมเพื่อการเป็นไปในสังสารวัฏฏ์ ความหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ ความทรมานตนให้ลำบาก ความเห็นผิดคืออุจเฉททิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ.

องฺค : มีความหมายว่า ส่วนประกอบ

ดังนั้น คำว่า โพชฌงค์ จึงมีความหมายว่า ส่วนประกอบหนึ่งๆของโพธิที่เรียกว่า ธรรมสามัคคี ๗ ประการนั้น ขอให้เทียบกับคำว่า ฌานงฺค ส่วนหนึ่งแห่งฌาน, มคฺคงฺค ส่วนหนึ่งแห่งมรรค.

ในความหมายนี้ สติสัมโพชฌงค์เป็นต้น จึงได้แก่ สติอันเป็นส่วนประกอบหนึ่งของธรรมสามัคคีเป็นเหตุตรัสรู้เป็นต้น.


_________________________________

(1) นำมาจากหนังสือ “อานุภาพพระปริตต์พร้อมด้วยตำนานและคำแปล” โดย ธนิต อยู่โพธิ์.

(2) แปลและเรียบเรียงจากภาษาบาฬีว่า
ยา หิ อยํ ธมฺมสามคฺคี, ยาย โลกุตฺตรมคฺคกฺขเณ อุปฺปชฺชมานาย ลีนุทฺธจฺจปติฏฺฐานายูหนกามสุขตฺตกิลมถานุโยค- อุจฺเฉทสสฺสตาภินิเวสาทีนํ อเนเกสํ อุปทฺทวานํ ปฏิปกฺขภูตาย สติธมฺมวิจยวีริยปีติปสฺสทฺธิสมาธิอุเปกฺขาสงฺขาตาย ธมฺมสามคฺคิยา อริยสาวโก พุชฺฌตีติ กตฺวา โพธีติ วุจฺจติ, พุชฺฌตีติ กิเลสสนฺตานนิทฺทาย วุฏฺฐหติ, จตฺตาริ วา อริย – สจฺจานิ ปฏิวิชฺฌติ, นิพฺพานเมว วา สจฺฉิกโรตีติ วุตฺตํ โหติฯ ยถาห – ‘‘สตฺต โพชฺฌงฺเค ภาเวตฺวา อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ’’ติ (สํ. นิ. ๕.๓๗๘; ที. นิ. ๓.๑๔๓)ฯ ตสฺสา ธมฺมสามคฺคีสงฺขาตาย โพธิยา องฺคาติ โพชฺฌงฺคา ฌานงฺค-มคฺคงฺคาทโย วิยฯ

(3) คำว่า ตรัสรู้ (พุชฺฌติ) ในที่นี้หมายถึง การตื่นจากความหลับจากกิเลสและสันดาน, แทงตลอดอริยสัจจ์หรือทำนิพพานให้แจ้ง. ดังพระบาฬีสาธกว่า “สตฺต โพชฺฌงฺเค ภาเวตฺวา อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโธ เพราะเหตุที่ได้อบรมโพชฌงค์ ๗ ตถาคตจึงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม”

(ยังมีต่อ)




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สมภพ สงวนพานิช , ๑๒ มีนาคม ๒๕๖, ๑๓.๔๙ น.
web : dhamma.serichon.us/2020/05/22/นานาสาระพระคัมภีร์-๕-คว/
posted date : 22 พฤษภาคม 2020 ,By admin.





นานาสาระพระคัมภีร์ : ๕. ความหมายของคำว่า “โพชฌงค์”  (๒/๔)

๒) องค์แห่งพระอริยสาวกผู้ตรัสรู้ มาจาก โพธิ บุคคลผู้ตรัสรู้ + องฺค ส่วนประกอบ. มีคำอธิบายว่า (1 ดูคำอธิบายข้างล่างของบทความ)

"โพธิ" นอกจากจะมีความหมายว่า ธรรมสามัคคี แล้วยังมีความหมายอีกหนึ่งว่า บุคคลผู้ตรัสรู้ ด้วยธรรมสามัคคีนั้นอีกด้วย, โดยความหมายนี้ โพชฌงค์ จึงหมายถึง องค์ประกอบหนึ่งๆ ของภิกษุที่ตรัสรู้อริยสัจจ์ด้วยธรรมสามัคคีคือโพธิ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น. ความหมายของคำนี้ให้เทียบกับคำว่า เสนงฺค หน่วยหนึ่งของกองทัพ รถงฺค ส่วนประกอบชิ้นหนึ่งของรถ.

ในความหมายนี้ สติสัมโพชฌงค์เป็นต้น จึงได้แก่ องค์ประกอบอย่างหนึ่งของภิกษุผู้จะตรัสรู้. กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พระอริยสาวกผู้ตรัสรู้ ย่อมประกอบด้วยโพชฌงค์ ๗ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น.


___________________________

(1) แปลและเรียบเรียงจากภาษาบาฬีว่า
โยเปส ยถาวุตฺตปฺปการาย เอตาย ธมฺมสามคฺคิยา พุชฺฌตีติ กตฺวา อริยสาวโก โพธีติ วุจฺจติ, ตสฺส โพธิสฺส องฺคาติปิ โพชฺฌงฺคา เสนงฺครถงฺคาทโย วิยฯ. (ปฏิ.ม.อ. เป็นต้น)

(ยังมีอีก)




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สมภพ สงวนพานิช ,๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓ ,๑๔.๑๓ น.
web : dhamma.serichon.us/2020/05/22/๕-ความหมายของคำว่า-โพช/
Posted date : 22 พฤษภาคม 2020 ,By admin.





นานาสาระพระคัมภีร์ : ๕. ความหมายของคำว่า “โพชฌงค์” (๓/๔)

๓) ธรรมที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ คือเป็นเหตุแห่งการตรัสรู้. มาจากคำว่า โพธิ การตรัสรู้ + องฺค เหตุ(1 ดูคำอธิบายข้างล่าง)

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค (ขุ.ปฏิ.โพชฌังคกถา ๑๗) ให้วิเคราะห์คำว่า โพชฺฌงฺค ว่า โพธาย สํวตฺตนฺตีติ โพชฺฌงฺคา ธรรมอันเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ชื่อว่า โพชฌงค์.

อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค (2 ดูคำอธิบายข้างล่าง) อธิบายว่า เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ได้แก่ เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้. ตรัสรู้อะไร? ตรัสรู้นิพพาน ด้วยมรรคและผล, ตรัสรู้กิจที่แต่ละมรรคทำแล้ว ด้วยปัจจเวกขณญาณ. อีกนัยหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อการตื่นจากความหลับคือกิเลสด้วยมรรค, แม้เพื่อประโยชน์แก่ภาวะแห่งบุคคลผู้ตื่นแล้ว ด้วยผล. โพชฌงค์เหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ แม้ด้วยวิปัสสนาขั้นมีกำลังกล้า.

(คือ แม้วิปัสสนาโพชฌงค์ ยังสามารถเป็นไปเพื่อตรัสรู้นิพพาน. จริงอยู่ โพชฌงค์ ๗ เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้นิพพานนั้น เนื่องจากตกไปในอัธยาศัยที่น้อมไปในนิพพานนั้น)

ดังนั้น ความหมายว่า โพชฌงค์คือธรรมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้นี้ จึงเป็นความหมายที่ทั่วไปแก่โพชฌงค์ คือ วิปัสสนา มรรคและผล. จริงอยู่ โพชฌงค์ ๗ เหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ คือ การแทงตลอดนิพพาน ในฐานะทั้งสามแม้เหล่านี้. ด้วยวิเคราะห์นี้ เป็นอันกล่าวความหมายว่า “องค์คือเหตุแห่งการตรัสรู้ชื่อว่า โพชฌงค์.

(หมายความว่า ธรรม ๗ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้นเหล่านั้น ที่นับว่าเป็นวิปัสสนา มรรค และผล เป็นทั้งส่วนหนึ่งแห่งการตรัสรู้, และเป็นทั้งเหตุแห่งการตรัสรู้)

คำว่า โพธิ ในที่นี้ จึงได้แก่ การตรัสรู้นิพพาน ตามนัยดังกล่าวในปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถา.

คำว่า องฺค มีอรรถว่า การณ คือ เป็นเหตุ พ้องกับข้อความที่มาในธัมมสังคณีมูลฏีกาและอนุฏีกาว่า องฺค ศัพท์ที่มีอรรถว่า เหตุ ก็มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โพชฌงค์นั้น เป็นไปเพื่อการตรัสรู้สัจจธรรม ๔. ดังพระบาฬีว่า

จตูหิ, ภิกฺขเว, องฺเคหิ สมนฺนาคโต ปุคฺคโล
ภิกษุทั้งหลาย! บุคคลผู้ประกอบด้วยเหตุ ๔ นี้…(7)


________________________________

(1) องฺค มีอรรถ ๓ คือ การณ เหตุ, อวยวะ ส่วนประกอบ, วปุ ร่างกาย (ธาน.๙๕๖). ในที่นี้มี นัยที่ ๑ และ ๒ มีอรรถว่า อวยว ส่วนประกอบ ส่วนนัยที่ ๓ มีอรรถว่า เหตุ ดังที่มาในอรรถกถาธัมมสังคณีและมูลฏีกา ข้อ ๔๘๕. ส่วน โพธิ (ที่แปลงเป็น พุชฺฌ) มีอรรถว่า โพธิ ปัญญาการตรัสรู้ และ โพธิ พระอริยบุคคลผู้ตรัสรู้. นัยที่ ๔ มีอรรถว่า ตรัสรู้ หรือจะกล่าวว่า มีอรรถตัพภาวะ ก็ควร (มธุฏีกา)

(2) แปลจากบาฬีว่า
โพธาย สํวตฺตนฺตีติ พุชฺฌนตฺถาย สํวตฺตนฺติฯ กสฺส พุชฺฌนตฺถาย? มคฺคผเลหิ นิพฺพานสฺส ปจฺจเวกฺขณาย กตกิจฺจสฺส พุชฺฌนตฺถาย, มคฺเคน วา กิเลสนิทฺทาโต ปพุชฺฌนตฺถาย ผเลน ปพุทฺธภาวตฺถายาปีติ วุตฺตํ โหติฯ พลววิปสฺสนายปิ โพชฺฌงฺคา โพธาย สํวตฺตนฺติฯ ตสฺมา อยํ วิปสฺสนามคฺคผลโพชฺฌงฺคานํ สาธารณตฺโถฯ ตีสุปิ หิ ฐาเนสุ โพธาย นิพฺพาน-ปฏิเวธาย สํวตฺตนฺติฯ เอเตน โพธิยา องฺคาติ โพชฺฌงฺคาติ วุตฺตํ โหติฯ ส่วนข้อความในวงเล็บเป็นคำอธิบายจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถาคัณฐิปาฐะ

(ยังมีต่อ)




ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สมภพ สงวนพานิช ,๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓ ,๑๔.๒๓
web : dhamma.serichon.us/2020/05/22/๕-ความหมายของคำว่า-โพช-2/
Posted date : 22 พฤษภาคม 2020 ,By admin.




นานาสาระพระคัมภีร์ : ๕. ความหมายของคำว่า “โพชฌงค์” (๔/๔ จบ)

๔) สภาวธรรมที่ตรัสรู้ มาจาก โพธิ สภาวะธรรมที่ตรัสรู้ + องฺค มีความหมายตามศัพท์ที่ตนประกอบ (ตัพภาวัตถะ) กล่าวคือ มีอรรถพุชฌนะ ตรัสรู้.

ด้วยความหมายนี้ โพชฌงค์ ก็มีอรรถวิเคราะห์ว่า
พุชฺฌนฺตีติ โพชฺฌงฺคาฯ สภาวะธรรมที่ตรัสรู้ เรียกว่า โพชฌงค์.

ซึ่งมีคำอธิบายจากคัมภีร์ธัมมสังคณีมูลฏีกาและมธุฏีกาว่า
พุชฺฌนฺตีติ โพธิโย, โพธิโย เอว องฺคา สภาวะที่ตรัสรู้เรียกว่า โพธิ, องค์คือโพธิ เรียกว่า โพชฌงค์.

อนึ่ง ในคัมภีร์ธัมมสังคณีอรรถกถาอรรถาธิบายบทว่า โพชฌงค์ ตามนัยที่มาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคเพิ่มเติมอีกว่า
อนุพุชฺฌนฺตีติ โพชฺฌงฺคาฯ สภาวะที่ตรัสรู้โดยสมควร เรียกว่า โพชฌงค์
ปฏิพุชฺฌนฺตีติ โพชฺฌงฺคาฯ สภาวะที่ตรัสรู้โดยภาวะที่ประจักษ์ เรียกว่า โพชฌงค์
สมฺพุชฺฌนฺตีติ โพชฺฌงฺคาฯ สภาวะที่ตรัสรู้โดยไม่ผิดเพี้ยน เรียกว่า โพชฌงค์

เกี่ยวกับอรรถทั้งสี่นี้ หมายความว่า โพชฌงค์ ได้แก่ สภาวะที่ตรัสรู้เหมือนกันทั้ง ๔ แต่สามบทหลัง ท่านอธิบายบทว่า โพชฌงค์ ให้พิเศษด้วยอุปสัคบท ๓ บทคือ อนุ ปฏิ และ สํ ดังนี้

สภาวะที่ตรัสรู้ เรียกว่า โพธิ, คำว่า โพธิ ก็คือ องค์
ดังนั้น พระธัมมเสนาบดีสารีบุตรเถระท่าน จึงอรรถาธิบายว่า
“อนุพุชฺฌนฺตีติ โพชฺฌงฺคา สภาวะที่ตรัสรู้โดยสมควร เรียกว่า โพชฌงค์”.

การที่ท่านอธิบายว่า อนุพุชฺฌนฺติ เป็นต้นนั้น ก็โดยอุปสัคบทที่แสดงความหมายที่ชัดเจนขึ้นอย่างนี้ว่า
“สภาวะที่ตรัสรู้อย่างเหมาะสมต่อเหตุมีวิปัสสนาเป็นต้น และต่อสัจจะทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้, อย่างตรงโดยภาวะที่เห็นประจักษ์, และโดยชอบโดยความไม่ผิดเพี้ยน.

จริงอย่างนั้น ท่านกล่าวการตรัสรู้ที่มีความหมายพิเศษทั้งหมด เช่น โดยเหมาะสมเป็นต้น ไว้ด้วยคำว่า โพธิ เหมือนกัน.(1 ดูคำอธิบายข้างล่าง)

__________________________

(1) พุชฺฌนฺตีติ โพธิโย, โพธิโย เอว องฺคาติ ‘‘อนุพุชฺฌนฺตีติ โพชฺฌงฺคา’’ติ วุตฺตํฯ วิปสฺสนาทีนํ การณานํ พุชฺฌิตพฺพานญฺจ สจฺจานํ อนุรูปํ ปจฺจกฺขภาเวน ปฏิมุขํ อวิปรีตตาย สมฺมา จ พุชฺฌนฺตีติ เอวมตฺถวิเสสทีปเกหิ อุปสคฺเคหิ ‘‘อนุพุชฺฌนฺตี’’ติอาทิ วุตฺตํฯ โพธิ-สทฺโท หิ สพฺพวิเสสยุตฺตํ พุชฺฌนํ สามญฺเญน สงฺคณฺหาตีติฯ

      จบความหมายของโพชฌงค์





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สมภพ สงวนพานิช ,๑๒ มีนาคม ๒๕๖๓ ,๑๔.๓๐
web : dhamma.serichon.us/2020/05/22/๕-ความหมายของคำว่า-โพช-3
posted date : 22 พฤษภาคม 2020 ,By admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 04, 2021, 10:22:19 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ