สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 26, 2022, 06:07:21 am



หัวข้อ: ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว มากเกินไป สำหรับคนส่วนใหญ่
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 26, 2022, 06:07:21 am

(https://ichef.bbci.co.uk/news/616/cpsprodpb/8c01/live/7de74250-6c98-11ed-94b2-efbc7109d3dd.png.webp)
ที่มาของภาพ, Getty Images


ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว มากเกินไป สำหรับคนส่วนใหญ่

คำแนะนำเพื่อสุขภาพที่ยอมรับนับถือกันมานาน อย่างเช่นการดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์เสมอไป โดยงานวิจัยล่าสุดพบว่าร่างกายและสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ทำให้ไม่ต้องดื่มน้ำมากถึง 2 ลิตรต่อวัน

คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติตีพิมพ์ผลการศึกษาข้างต้นลงในวารสาร Science หลังทำการทดลองขนาดใหญ่กับกลุ่มตัวอย่าง 5,604 คน ใน 23 ประเทศ โดยกลุ่มตัวอย่างนี้ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ทารกอายุ 9 วัน ไปจนถึงคนชราอายุกว่า 90 ปี

ผลปรากฏว่าคนเรามีความต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป โดยคนส่วนใหญ่ต้องการน้ำดื่มเพียงวันละ 1.5 - 1.8 ลิตรเท่านั้น เนื่องจากได้รับน้ำในอาหารที่รับประทานเข้าไปก่อนแล้วถึง 50% ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน

ศาสตราจารย์ โยสุเกะ ยามาดะ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากสถาบันนวัตกรรมชีวการแพทย์แห่งชาติญี่ปุ่น กล่าวอธิบายว่า “ที่มาของคำแนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร ไม่มีความชัดเจน ทั้งยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดที่รับรองความถูกต้อง เป็นไปได้ว่าผู้ให้คำแนะนำดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงปริมาณน้ำจำนวนมากที่ร่างกายได้รับจากอาหารอยู่ก่อนแล้ว”


(https://ichef.bbci.co.uk/news/652/cpsprodpb/eea9/live/a2f5a5f0-6c98-11ed-94b2-efbc7109d3dd.png.webp)
ที่มาของภาพ, Getty Images

มีการทดลองให้กลุ่มตัวอย่างดื่มน้ำชนิดพิเศษ โดยโมเลกุลของไฮโดรเจนในน้ำถูกแทนที่ด้วยดิวเทอเรียม (deuterium) ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่มีความเสถียร เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำที่หมุนเวียนเข้าออกจากร่างกายในแต่ละวัน โดยอัตราการขจัดดิวเทอเรียมส่วนเกินออกจากร่างกาย จะบ่งบอกถึงอัตราการสูญเสียน้ำของแต่ละคนได้

ผลการทดลองพบว่าความต้องการน้ำของคนเราแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเพศ, วัย, กิจกรรมที่ทำประจำ, และสภาพสิ่งแวดล้อม โดยคนที่อยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น, คนที่อยู่อาศัยบนภูเขาสูง, นักกีฬา, หญิงมีครรภ์, และแม่ที่กำลังให้นมบุตร เป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูญเสียน้ำสูงกว่าผู้อื่นและจำเป็นจะต้องดื่มน้ำมากกว่า

ปริมาณน้ำดื่มที่ร่างกายต้องการยังลดลงตามวัย โดยทารกแรกเกิดมีอัตราการสูญเสียน้ำมากที่สุดถึง 28% ของร่างกายในแต่ละวัน ทำให้จำเป็นต้องดื่มน้ำนมให้เพียงพอ ส่วนคนชราวัย 90 ปีขึ้นไปนั้น มีอัตราการหมุนเวียนของน้ำในร่างกายเพียง 2.5 ลิตรต่อวัน ทำให้ไม่ต้องดื่มน้ำมากถึง 8 แก้ว ตามคำแนะนำดั้งเดิม

ศ. ยามาดะกล่าวเสริมว่า “อันที่จริงแล้ว ปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่คุณกินเข้าไป หากคุณกินขนมปัง, ไข่, เบคอน เป็นอาหารหลัก ร่างกายจะต้องการน้ำมากกว่าคนที่กินผักสด, เนื้อสด, ปลา, พาสตา, และข้าว”

ศ. จอห์น สปีกแมน หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์เบอร์ดีนของสหราชอาณาจักร บอกว่า “แม้การดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว จะไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่การผลิตน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง การบริโภคน้ำดื่มเกินความจำเป็นยังเท่ากับสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ เช่นในสหราชอาณาจักรเราอาจสูญเสียน้ำไปในการผลิตน้ำดื่มถึงวันละ 20 ล้านลิตรเลยทีเดียว”





Thank to : https://www.bbc.com/thai/articles/cv2d95p1eydo (https://www.bbc.com/thai/articles/cv2d95p1eydo)
25 พฤศจิกายน 2022