ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การชี้นิ้วของ “นัตโบโบยี” กับพระเจ้าชี้นิ้วที่เชียงตุง  (อ่าน 90 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



การชี้นิ้วของ “นัตโบโบยี” กับพระเจ้าชี้นิ้วที่เชียงตุง

การที่ดิฉันนำเรื่องราวของสองสิ่งนี้ (นัตโบโบยียืนชี้นิ้ว กับพระชี้นิ้วที่เชียงตุง) มาเปรียบเทียบกันนั้น ก็เนื่องมาจากในช่วงไม่เกิน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการทัวร์พม่า ด้วยการอุปโลกน์เอาเรื่องผีเรื่องพระที่ทำสัญลักษณ์ชี้นิ้วคล้ายกัน (แต่มีที่มาต่างกัน) มาสร้างเป็น “จุดขาย” ให้คนแห่แหนเดินทางไปกราบไหว้ขอพรได้ ไม่แตกต่างกันเลย

เทรนด์ของการแห่ไปสักการะ “เทพทันใจ” หรือการไปยืนใต้เงาพระพุทธรูปสูงตระหง่านให้ศีรษะของเราตรงกับจุด “ปลายนิ้วชี้” นี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

@@@@@@@

จากนัตโบโบยี กลายเป็นเทพทันใจ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในฉบับก่อนว่า “นัต” (วิญญาณที่ตายเฮี้ยน) แต่ละตนนั้นต้องมีการสร้างรูปลักษณ์หรือสัญลักษณ์ให้แตกต่างเพื่อง่ายต่อการจดจำ นัตโบโบยีก็เช่นกัน มีสัญลักษณ์พิเศษด้วยการถือไม้เท้าและ “ยืนชี้นิ้ว”

ไม้เท้า (ธารพระกร) เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สัญลักษณ์ของพระจักรพรรดิราช ซึ่งในทางธรรมก็คือ พระพุทธเจ้า นัตโบโบยีถือเป็นผู้อาวุโสที่ได้รับมอบหมายให้เฝ้าดูแล

ส่วนการชี้นิ้วก็มิใช่เพื่อประทานพรผู้คนให้ร่ำให้รวย หากแต่เป็นการชี้บอกทางไปยัง “ดอยสิงกุตตระ” สถานที่ที่จะสร้างพระมหาธาตุชเวดากองนั่นเอง เพราะพระมหาธาตุชเวดากอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 ในภัทรกัป โดยที่นัตโบโบยี ต้องช่วยทำหน้าที่คอยบอกทางไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาทั้ง 5 ครั้ง

ดังนั้น ชาวมอญ-พม่าจึงสร้างรูปนัตตนนี้ไว้ก่อนถึงพระมหาธาตุชเวดากอง จุดนี้เองกระมังที่เมื่อนักท่องเที่ยวชาวไทยไหลหลั่งไปกราบนมัสการพระมหาธาตุชเวดากองเสร็จแล้ว ก็ต้องผ่านพบนัตโบโบยีด้วย

แทนที่จะมองนัตโบโบยีเป็นวิญญาณของ “พ่อปู่” หรือ “เสื้อวัด” กลับไปให้คำนิยามการชี้นิ้วนั้นใหม่ จากนิ้วชี้สถานที่สร้างพระมหาธาตุ กลายเป็น “นิ้วประทานพร” ให้โชคให้ลาภ ให้ร่ำให้รวยไปเสียนี่

ซ้ำยังไม่ยอมให้เรียก “นัต” ซึ่งหมายถึงวิญญาณหรือ “ผีอารักษ์” อีกด้วย แต่ใช้วิธีเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “เทพทันใจ” โดยไปหยิบเอาคำว่า “ทันใจ” มาจาก “พระเจ้าทันใจ” ของวงการพุทธศิลป์ล้านนามาผสมกันด้วยอีกชั้นหนึ่ง


ซึ่งคำว่า “พระเจ้าทันใจ” เอง ผู้คนก็ไขว้เขวกันมาเปลาะหนึ่งแล้ว คือคิดว่าสร้างขึ้นเพื่อให้คนขอพรมุ่งหวังความสำเร็จแบบปุบปับฉับพลัน ทันตาทันใจ

@@@@@@@

ทั้งๆ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้อธิบายไว้แก่ศิษยานุศิษย์อย่างละเอียดแล้วว่า การสร้างพระเจ้าทันใจก็เพื่อใช้เป็นกุศโลบาย “ทดสอบความสามัคคี” ของคนในชุมชนว่าจะสามารถทำสิ่งเล็กๆ ร่วมกันสำเร็จหรือไม่ ก่อนที่จะคิดทำการใหญ่

ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงกำหนดให้ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หากหล่อสำเร็จก็สะท้อนว่า อุปสรรคแม้จักหนักหนาเพียงไรก็ไม่พ้นความพยายามของคนในชุมชนที่จะช่วยกันฟันฝ่า

ไม่ว่าใครจะนิมนต์ให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยไปช่วยเป็นประธาน “นั่งหนัก” สร้างวัดในที่ใดก็แล้วแต่ ก่อนที่ท่านจะลงมือสร้าง ท่านมักใช้กุศโลบายทดสอบความสามัคคีของหมู่คณะด้วยการขอให้ช่วยกันทดลองสร้างพระเจ้าทันใจสัก 1-3 องค์ขึ้นก่อนเสมอ จนกระทั่งตัวท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเองก็ได้รับฉายาว่า “ครูบาทันใจ” ด้วยอีกนามหนึ่ง

ในเมื่อ “พระเจ้าทันใจ” ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบัญญัติขึ้น มีความหมายว่า “คนขยัน รู้รักสามัคคีเท่านั้น จึงจะทำการใหญ่ได้สำเร็จ” ฉะนี้แล้ว จู่ๆ จะให้ “เทพทันใจ” ที่เพิ่งถูกอุปโลกน์กันขึ้นมาไม่เกิน 20 ปี มีความหมายว่าอย่างไรล่ะหรือ

รู้ทั้งรู้ว่า “นิ้วที่ชี้” นั้น คือสัญลักษณ์แห่งการเชื่อมโยง “พุทธันดร” ระหว่างพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ในภัทรกัปเข้าไว้ด้วยกัน แต่ก็ไม่วายไปตีความว่า นิ้วของเทพทันใจนั้นหมายถึง การดลบันดาลโชคลาภ และการประทานความสำเร็จให้ผู้กราบไหว้

@@@@@@@

ปางชี้อสุภ หรือการสาปแช่ง.?

ในเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า มีหนองน้ำขนาดใหญ่กลางเมืองเรียกว่า “หนองตุง” ใกล้กับหนองตุงมีวัดแห่งหนึ่งชื่อจอมสัก ถือเป็น 1 ใน 3 จอม ที่นักท่องเที่ยวต้องไปนมัสการให้ครบ ประกอบด้วย วัดจอมมน บ้างเรียกจอมมอญ วัดนี้มีต้นไม้หมายเมืองคือต้นยางใหญ่, วัดจอมคำ และวัดจอมสัก

วัดจอมสักเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องไปชมด้วยความตื่นตะลึงเพราะมี “พระเจ้าชี้นิ้ว” ดูแปลกตา ด้วยขนาดของพระพุทธรูปที่สูงใหญ่ มองเห็นโดดเด่นแต่ไกล นักท่องเที่ยวมักไปยืนอยู่ให้ศีรษะของตนอยู่ในตำแหน่งพอดีกับนิ้วมือที่ชี้ตกลงมา โดยได้ข้อมูลจากไกด์ชาวไทยมาว่า การทำเช่นนี้จะได้รับพรจากองค์พระแบบเต็มๆ

ทำให้ต่างคนต่างมะรุมมะตุ้มยืนต่อคิวกันแน่น ต่างคนต่างพยายามขยับตัวไปมาเพื่อหาจุดที่จะให้นิ้วของพระพุทธรูปชี้ลงบนหัวของตนพอดิบพอดี จากนั้นก็จะได้ยินเสียงกดชัตเตอร์จากมือถือ

ในขณะที่ไกด์พม่าไม่ค่อยชอบใจนัก อธิบายว่าแท้ที่จริงแล้วนิ้วมือที่ชี้นั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งการสาปส่งชาวเชียงตุง (ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทขึน คนละชาติพันธุ์กับพม่า) ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพม่านิรันดร์ไป

ไกด์พม่ากระซิบบอกว่า พระชี้นิ้วเป็นพระพุทธรูปที่ทหารพม่าเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ได้ไม่กี่ปีนี้เอง นิ้วที่ชี้นั้นพุ่งเล็งเป้าไปยังโรงแรมกลางเมือง ซึ่งครั้งหนึ่ง 100 ปีก่อนเคยเป็น “หอคำ” ของเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์สุดท้าย คือเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง หอคำหลังนี้สร้างในยุค Colonial หรือยุคล่าอาณานิคม แต่ต่อมาได้ถูกทหารพม่าเผาทำลาย แล้วสร้างเป็นโรงแรมครอบทับสถานที่เดิม เสมือนทำลายความศักดิ์สิทธิ์และย่ำยีจิตวิญญาณของชาวเชียงตุง

เมื่อเราได้พูดคุยกับชาวเชียงตุงในพื้นที่แล้ว ทุกคนบอกว่า ไม่ชอบพระเจ้าชี้นิ้วองค์นี้เลย คงหลอกขายได้เฉพาะแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น


@@@@@@@

แล้วไฉนดิฉันจึงโปรยหัวเรื่องตอนนี้ว่าเป็น “ปางชี้อสุภ” (อ่านว่า อะ-สุ-ภะ) แปลว่า สิ่งไม่งาม สิ่งที่มองแล้วชวนให้สังเวชใจ

เนื่องจากดิฉันเห็นว่าท่ายืนชี้นิ้วดังกล่าว พ้องกับพระพุทธรูปปางหนึ่ง ที่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงบัญญัติ “มุทรา” หรือปางของพระพุทธรูปไว้ว่ามีทั้งสิ้น 66 ปาง นั่นคือ “ปางชี้อสุภ” โดยอธิบายว่า

เป็นพระอิริยาบถยืน พระกรซ้ายห้อยข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอบั้นพระองค์ ชี้ดัชนี (นิ้วชี้) เป็นกิริยา “ชี้อสุภ” โดยมีการยกเอาพุทธประวัติตอนหนึ่งขึ้นมาประกอบว่า

    “ในกรุงราชคฤห์มีหญิงนครโสเภณีรูปงามชื่อ สิริมา เป็นน้องสาวของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นนางได้เฝ้าพระพุทธองค์จึงเลิกอาชีพโสเภณี ฝักใฝ่ในบุญกุศล ต่อมานางเจ็บป่วยเป็นโรคปัจจุบันตอนเช้า ตายในตอนค่ำ พระพุทธองค์โปรดให้ปล่อยศพนั้นไว้ 3 วันก่อนเผา เพื่อให้ผู้คนเห็นว่า เมื่อตายเป็นศพขึ้นอืด น้ำเหลืองไหลจากทวารทั้งเก้า กลิ่นศพเหม็นคลุ้งตลบสุสาน แสดงให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนแห่งสังขารของสรรพสัตว์ทั้งปวง”

กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นปางที่พระพุทธเจ้ายืนชี้ไปที่ซากศพของหญิงงาม เพื่อให้เกิดการปลงอสุภกรรมฐาน

@@@@@@@

แล้วในเมืองไทยมีการทำพระพุทธปฏิมาปางชี้อสุภกันมากน้อยเพียงใด เท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีน้อยมาก ไม่ใช่ปางที่นิยม ผิดกับการแสดงเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง พบเห็นบ่อยครั้งกว่า

แล้วพระชี้นิ้วที่วัดจอมสัก เชียงตุง จะเรียกว่า ปางชี้อสุภ ได้หรือไม่ ในเมื่อเจตนาของผู้สร้าง (ทหารพม่า) ตั้งใจจะย่ำยีคนไทขึนเมืองเชียงตุงให้โงหัวไม่ขึ้นมิใช่หรือ?

อีกทั้งการที่เราไปยืนอยู่ใต้นิ้วชี้นั้นจะเป็นมงคลหรือไม่ ไม่ว่าจะตีความว่านี่คือปางชี้อสุภ หรือตีความว่าเป็นปางสาปแช่งชาวเชียงตุง ก็ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายไปในทางไม่ค่อยดี

ในความเป็นจริงนั้น เราต่างก็ไม่มีใครทราบถึงเจตนาของผู้สร้างพระชี้นิ้วองค์ดังกล่าว ว่าตั้งใจจะให้เป็นปางอะไรแน่ หากต้องการให้เป็นปางชี้อสุภจริง ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า “อสุภ” ที่ว่านั้นคือสิ่งไร อยู่ที่ไหน ในเมื่อนิ้วชี้ไปยังทิศที่เคยเป็นหอคำ ย่อมอดไม่ได้ที่จะให้ชาวไทขึนเมืองเชียงตุงหวาดระแวงเรื่องการสาปแช่งพวกเขา

เห็นได้ว่ารูปเคารพเพียงองค์เดียว สามารถให้นิยามได้หลายความหมาย ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้คนแต่ละกลุ่ม แล้วนำมาสร้างคำอธิบายหาเหตุผลประกอบให้ผู้ฟังเกิดอาการคล้อยตาม


@@@@@@@

มุมหนึ่งก็เห็นใจคนทำงานในสายท่องเที่ยว ท่ามกลางยุคสมัยที่เศรษฐกิจตกต่ำย่ำแย่ขั้นขีดสุด จนบริษัททัวร์แทบจะปิดกิจการไปตามๆ กัน คงจำเป็นต้องหาเกร็ดแปลกๆ หามุขพิสดารใหม่ๆ ที่พอจะเห็นแววว่าขายได้แน่ๆ สำหรับคนไทย

ทั้งๆ ที่ในสายตาของชาวพม่าเจ้าของประเทศ มองนัตโบโบยีเป็นผีอารักษ์ตนหนึ่งที่มีคุณูปการในด้านการทำหน้าที่บอกทางไปพระมหาธาตุชเวดากอง พวกเขาไม่เคยรู้จักคำว่า “เทพทันใจ” ตามที่คนไทยตั้งชื่อให้มาก่อนเลย

ไม่ต่างไปจากชาวไทขึนที่มิอาจไว้วางใจในนิ้วชี้อสุภของพระปฏิมาที่หนองตุงนั่น เหตุที่สร้างโดยทหารสลอร์กของพม่า

คงมีแต่พี่ไทย (บางท่าน) ชาติเดียวกระมัง ที่ยินดีกราบไหว้ได้ทุกอย่าง โดยที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามต่อสิ่งนั้นๆ






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 ตุลาคม 2562
คอลัมน์: ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_240637
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ