ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองสุโขทัย ยุคพ่อขุนรามคำแหง ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ จริงหรือ.?  (อ่าน 252 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



เมืองสุโขทัย ยุคพ่อขุนรามคำแหง ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ จริงหรือ.?

อ้างกันว่า เมืองสุโขทัยในยุคของผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยอย่าง “พ่อขุนรามคำแหง” นั้น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

แถมนี่ก็ไม่ใช่เรื่องเล่าโคมลอย ไม่มีที่มา และรวมถึงที่ไป เพราะข้อความที่เราได้ยินจนคุ้นหูกันดีประโยคนี้ ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ดังความที่ว่า “เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” โดยข้อความตอนอื่นในจารึกหลักนี้ก็บอกอยู่ด้วยว่า “เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี” พ่อขุนรามคำแหงจึงทรง “หาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้ จึงมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้”

สรุปง่ายๆ ว่า พ่อขุนรามคำแหงไม่เพียงแค่มีราชโองการให้สร้างจารึกหลักนี้ แต่ยังทรงประดิษฐ์ “ลายสือ” คือตัว “อักษร” ไทย อีกด้วย

แต่นักประวัติศาสตร์หลายท่านไม่เห็นเป็นอย่างนั้น ท่านว่าศิลาจารึกหลักนี้ ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้มีราชโองการให้สร้างขึ้น ดังนั้น พระองค์ยิ่งไม่ควรเป็นผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย

(อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการกล่าวถึงเฉพาะเพียงข้อความในจารึกหลักนี้ แค่เพียงบางประโยค ซึ่งก็คือข้อความท่อนที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เท่านั้น จึงขออนุญาตไม่กล่าวถึงประเด็นที่เรื่องพ่อขุนรามคำแหงเป็นผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยจริงหรือไม่.? และจารึกหลักนี้ถูกสร้างขึ้นโดยโองการของพ่อขุนรามคำแหงจริงหรือเปล่า.?)

และถ้าอย่างนั้นแล้วในสมัยพ่อขุนรามคำแหง “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริงหรือครับ.?


@@@@@@@

ศ.พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักนี้คนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สำนวน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ไม่เคยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักอื่นๆ ในวัฒนธรรมสุโขทัย (ซึ่งไม่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นจารึกทำขึ้นในยุคหลังสุโขทัย เหมือนอย่างที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยกับจารึกพ่อขุนรามคำแหง) เลยแม้แต่หลักเดียว จึงน่าสงสัยใจเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นสำนวนยุคสุโขทัยจริงหรือ.?

โดย อ.พิริยะได้เสนอต่อไปอีกด้วยว่า สำนวนดังกล่าวคงจะดัดแปลงมาจากสำนวนว่า “คุณในปลา ยาในข้าว” ที่มีอยู่ในจารึกสุโขทัยหลักอื่นๆ มากกว่า

สำนวน “คุณในปลา ยาในข้าว” นั้น ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของวัฒนธรรมสุโขทัยอย่างน้อย 2 หลัก ได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 5 วัดป่ามะม่วง จ.สุโขทัย และศิลาจารึกหลักที่ 64 วัดช้างค้ำ จ.น่าน

ในจารึกวัดป่ามะม่วง ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า พระยาลิไท (พ.ศ.1890-1919) โปรดให้สร้างขึ้นนั้น มีข้อความปรากฏว่า “ได้ฝูงใส่ …(ข้อความขาดหาย) นในปลา ยาในข้าวให้กิน แล้วจักให้เถิงที่ล้มที่ตายดังอั้น”

แปลเป็นภาษาไทยปัจจุบันง่ายๆ ว่า “ใส่คุณในปลา และยาในข้าวให้กิน เพื่อจะให้ถึงที่ล้มตายดังนั้น”

ที่ความในจารึกกล่าวอย่างนี้ก็เพราะข้อความก่อนหน้านั้นกล่าวถึง การเอาเชลยศึกมาชุบเลี้ยง แล้วไม่จงรักภักดี จึงต้อง “เอาคุณในยา เอายาในข้าว” เพื่อจะให้ถึงที่ล้มตาย โดยคำว่า “คุณ” ในที่นี้ ก็คือ “คุณไสย” นั่นเอง

ส่วนจารึกจากวัดช้างค้ำ จังหวัดน่าน ที่มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จารึกคำปู่สบถ” เพราะเป็นคำที่ปู่พระยาเป็นเจ้าได้ “สบถ” คือเปล่งถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ หรือสาปแช่งเอาไว้ มีข้อความกล่าวว่า “(คุ)ณในปลายาในข้าว และอุบายกระทำสรรพ(โทษ)”

@@@@@@@

ข้อความตอนนี้ อ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ (ล่วงลับ) นักอ่านจารึกระดับเซียนเหยียบเมฆของสยามประเทศ ได้อธิบายความหมายในจารึกไว้ว่า

    “คำว่า ‘คุณในปลา’ หมายเอาการเสกปลาให้เป็นสื่อใช้ในการทำให้คนรัก เจริญ หรือฉิบหาย ตามลักษณะของมนต์นั้นๆ”

อ.ฉ่ำท่านอธิบายความไว้เท่านี้ แต่ข้อความต่อท้ายที่ว่า “และอุบายกระทำสรรพโทษ” นั้นย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า “คุณในปลายาในข้าว” ในจารึกหลักนี้น่าจะมุ่งหมายให้ “ฉิบหาย” มากกว่าที่จะให้มีใครมารัก.?

ก็อย่างที่บอกไว้นะครับว่า อ.พิริยะ ท่านว่าจารึกหลักอื่นของสุโขทัย ไม่มีสำนวน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งนับจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีพบสำนวนดังกล่าวในจารึกหลักไหนเลยจริงๆ

อย่างไรก็ตาม การที่ไม่พบสำนวนที่ว่าในจารึกหลักอื่นก็ไม่ได้จำเป็นต้องหมายความว่า ไม่มีสำนวนนี้ในสมัยสุโขทัยหรือเปล่า.? และในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในน้ำไม่มีปลา ในนาไม่มีข้าวจริงหรือ.?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ สุโขทัยนั้น เป็นเมืองที่แล้งน้ำ เพราะเมืองสุโขทัยตั้งอยู่บนที่สูงเชิงเขา ห่างจากลำน้ำสายใหญ่คือ แม่น้ำยมถึง 12 กิโลเมตร ผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองสุโขทัยเมื่อครั้งกระโน้นจึงอาศัยน้ำจากลำน้ำยมเป็นหลักไม่ได้ ฤดูฝนก็มีน้ำป่าไหลหลากมาจากเทือกเขามากเกินต้องการ และรุนแรงเสียจนมักจะทำลายเหย้าเรือนหรือเรือกสวนไร่นา ฤดูร้อนก็ร้อนจนระงม แถมยังแล้งน้ำ

ซ้ำร้ายยังไม่มีแหล่งน้ำซึมน้ำซับ เพราะเมื่อคราวกรมศิลปากรเริ่มปรับปรุงพื้นที่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ได้มีการนำวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยา มาขุดเจาะหาน้ำบาดาล ผลปรากฏว่า แหล่งน้ำใต้ดินอยู่ลึกเกินกว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้


@@@@@@@

ยิ่งในสมัยสุโขทัยยิ่งนำมาใช้ไม่ได้ยิ่งกว่าในยุคปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีไม่ถึง ในสมัยนั้นจึงต้องมีการขุดสระน้ำ ที่เรียกว่า “ตระพัง” (มาจากภาษาเขมรว่า ตระเปรียง) เพื่อกว้านเอาน้ำจากฟ้าคือ “น้ำฝน” มากักเก็บไว้ใช้ และมีการพูนคันดินขึ้นมาเป็นแนวเพื่อไว้ใช้ชักน้ำระบายเก็บไว้ในตระพังนั่นเอง

พูนคันดินที่เกิดจากการขุดขึ้นมาก็ทำให้เกิดร่องของดินที่ขุด กลายเป็นคูน้ำ ขนานกันไป แต่แรกเริ่มก็ขุดรอบสถานที่สำคัญ เช่น วัด พอเมืองใหญ่โตซับซ้อนขึ้นก็ขุดรอบเมือง เฉพาะที่เมืองสุโขทัยมีคันดิน และคูน้ำรอบเมืองสามชั้น ที่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “ตรีบูร” ซึ่งสะท้อนถึงเทคโนโลยี ความก้าวหน้าในการจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี

(ผลการขุดค้น และขุดแต่งทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า คูน้ำ คันดิน รอบเมืองสุโขทัยทั้ง 3 ชั้นนั้น สร้างคนละคราวกัน ดังนั้น การที่จารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกคูน้ำคันดินรวมกันทั้ง 3 ชั้นว่า ตรีบูรนั้น จึงออกจะเป็นเรื่องชวนพิศวง)

เมื่อจัดการน้ำได้ มีน้ำกินน้ำใช้ คนสุโขทัยก็จึงทำไร่ทำนาได้นะครับ ข้อมูลจากความก้าวหน้าทางโบราณคดีก็ทำให้เรารู้ว่า สุโขทัยมีที่นาอยู่ตรงบริเวณไหนบ้างด้วยเหมือนกัน

ที่นาสำคัญในของสุโขทัย อยู่ทางตะวันออกนอกคูน้ำคันดินเมืองสุโขทัย บริเวณวัดพระพายหลวง เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินล้อมรอบขนาด 1,200 x 800 เมตร ติดกับลำน้ำแม่ลำพันที่ไหลเลียบผ่านลงทิศใต้ แล้วมีร่องน้ำลำเหมืองสำหรับชักน้ำและระบายน้ำผ่านบริเวณนี้

@@@@@@@

พื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีคันดินล้อมรอบนี้คือ “นาหลวง” หมายถึงที่นาของหลวง ของเจ้าเมือง หรือกษัตริย์ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐ เพื่อสะสมเสบียงไว้กินในยามแล้ง หรือยามศึกสงคราม ส่วนในยามปกติก็ใช้เป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดีสำหรับหลวงเป็นการเฉพาะ

ดังนั้น จึงเป็นบริเวณที่ต้องกำหนดไว้เป็นพิเศษ มีผู้ดูแลระบบทดน้ำ ระบายน้ำ เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เพาะปลูกในพื้นที่นาหลวงมีผลผลิตดีเลิศนั่นเอง รอบพื้นที่นาหลวง นอกคูน้ำคันดินเมืองสุโขทัยแต่ยุคแรกเริ่ม กระจายไปทางด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำธรรมชาติคือลำน้ำแม่ลำพันเป็นสายหลัก และมีลำน้ำสายเล็กไหลจากที่สูงลงมาหล่อเลี้ยง

ผลจากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคสนามของนักโบราณคดี ยังพบร่องรอยของการทำฝาย และขุดลำเหมืองเพื่อระบายน้ำ หมายความว่าพื้นที่บริเวณนี้ควรเป็นพื้นที่เพาะปลูกทำไร่นานั่นแหละ

แต่สุโขทัยในยุคนู้นจะอุดมสมบูรณ์เสียจน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” จริงอย่างสำนวนในจารึกพ่อขุนรามคำแหงหรือเปล่า ผมเองก็ไม่รู้หรอกนะครับ รู้ก็แต่ว่า ที่เมืองสุโขทัยมีน้ำกินน้ำใช้ สามารถนำน้ำมาทำเรือกสวนไร่นาได้ ก็เพราะผู้คนในสมัยในนั้นทำความเข้าใจกับธรรมชาติรอบตัวเอง จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี และจัดการกับน้ำได้ต่างหาก •


 




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_740729
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 24, 2024, 08:55:23 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ