ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” ประธานอัญเชิญพระพุทธปฏิมาทองสำริด ประดิษฐานหน้า มจร  (อ่าน 130 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




“สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” ประธานอัญเชิญพระพุทธปฏิมาทองสำริด ประดิษฐานหน้า มจร

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน เป็นประธานพิธีอัญเชิญพระพุทธปฏิมา “พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา” ประดิษฐานบนฐานชุกชี หน้า มจร

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ “รมณียพุทธอุทยาน” บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)​ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีพิธีอัญเชิญพระพุทธปฏิมา “พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา” ประดิษฐานบนฐานชุกชี

โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย พระพรหมวชิราธิบดี นายกสภามหาวิทยาลัย พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี พระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ร่วมพิธี






ทั้งนี้ น.ส.เพ็ญศรี ชั้นบุญ ประธานคณะทำงานสร้าง “พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา” และสร้างฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ​กล่าวว่า ตามที่ มจร ได้จัดงานวันจำนงค์ ทองประเสริฐ ในวันที่ 2 พ.ค. ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันอายุวัฒนมงคลของ ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต คณะศิษยานุศิษย์ได้ปรารภในการสร้างพระพุทธปฏิมา เป็นอนุสรณ์ในมงคลสมัยคล้ายวันเกิดของ ศ.พิเศษ จำนงค์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลของ มจร โดยความเห็นชอบของพระพรหมบัณฑิต อุปนายสภามหาวิทยาลัย ประธานมูลนิธิจำนงค์ ทองประเสริฐ พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี และคณะผู้บริหาร มจร เพื่อประดิษฐานไว้ ณ รมณียพุทธอุทยาน มจร ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

สำหรับมงคลนาม “พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินฺธรบวรศาสดา” ได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ในการตั้งชื่อพระพุทธปฏิมาองค์นี้ ซึ่งมีขนาดหน้าตักความกว้าง 5 เมตร ความสูง 6 เมตร 30 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 4.5 ตัน เป็นพระพุทธปฏิมาปางปฐมเทศนาที่หล่อด้วยทองสำริดทั้งองค์ นอกจากนี้ ยังได้รับอนุมัติงบประมาณรายได้ของ มจร เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้า มจร และพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “รมณียพุทธอุทยาน” ด้วย






สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวสัมโมทนียกถาตอนหนึ่ง ว่า เราทั้งหลายที่มาร่วมกันในการอัญเชิญ “พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา” ครั้งนี้ ต่างเป็นพุทธมามกะ ซึ่งหากกล่าวถึงความหมายง่ายๆ หมายถึง ผู้ที่รับพระพุทธเจ้ามาเป็นของเรา หรือหากกล่าวถึงความหมายของพุทธมามกะในอีกความหมาย คือการที่พระพุทธเจ้ายอมรับเป็นสาวกของพระองค์ ซึ่งต้องประพฤติดีปฏิบัติชอบ ต้องศึกษาหลักตามไตรสิกขา จึงจะถึงความสมบูรณ์ในการเป็นพุทธมามกะ

การได้มาร่วมอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวประดิษฐานแล้ว ถือว่าเป็นพระประธานของ มจร เราทั้งหลายก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของ มจร ทั้งหมด และต้องช่วยกันบริหาร มจร ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยดี เพราะ มจร ถือได้ว่าเป็นฐานสำคัญในการทำให้พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้า และยังเป็นการประกาศถึงความเจริญมั่นคงของ มจร โดยมีพระพุทธรูปนี้เป็นสิ่งยืนยันด้วย






ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3277707/
21 มีนาคม 2567 | 16:53 น. | การศึกษา-ศาสนา
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



ปลื้มปีติ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” ประธานอัญเชิญพระพุทธปฎิมา “พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรฯ” ประดิษฐาน ณ. “รมณียพุทธอุทยาน” มจร

วันที่ 21 มีนาคม 2567  เวลา 09.00 น.ณ มณฑลพิธีหน้ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร  อำเภอวังน้อย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน องค์ประธานในพิธีประดิษฐานพระพุทธปฏิมาพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา

โดยมี พระพรหมวชิราธิบดี นายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม และพระเทพปวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองเจ้าคณะภาค 15 ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานสร้างพระพุทธปฏิมาพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา ปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “รมณียพุทธอุทยาน”

พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต นางสาวเพ็ญศรี ชั้นบุญ  ประธานคณะทำงานสร้าง พระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา คณบดี คณาจารย์ ผู้บริหาร  ผู้อบรมพระธรรมทูต นิสิต และประชาชน ถวายการต้อนรับ






สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถา ตอนหนึ่งว่าศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต เป็นปูชนียบุคคลของมหาจุฬา ฯ เป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เฉพาะให้กับชาวมหาจุฬาฯ ลูกศิษย์เท่านั้น เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาวพุทธทั่วไปด้วย

อาจารย์จำนงค์ เป็นผู้ทำให้มหาจุฬาฯ มีชีวิต หากนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนามหาจุฬา ฯ เมื่อวันที่  13 กันยายน 2439 ตอนนั้นมหาจุฬาฯ มีแต่ชื่อและสถานที่ ยังไม่มีชีวิต 50 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2490 พระพิมลธรรม ช้อย ทานทตฺโต อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สังฆมนตรีฝ่ายปกครอง ประชุมร่วมกับพระสงฆ์จำนวน 37 รูป ต้องการฟื้นฟูมหาจุฬาฯ เปิดการศึกษา อาจารย์จำนงค์ จึงสมัครเป็นพระนิสิตรุ่นแรก พร้อมกับพระนิสิตอีก 7  รูป ความเป็นมหาจุฬาฯ จึงเกิดขึ้น มีชีวิต

ผู้พูด (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เข้าเรียนปี พ.ศ.2499 ยุคนั้นฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่เอา ฝ่ายบ้านเมืองบางคนพูดจนกระทั้งว่า อย่าว่าแต่ฝ่ายบ้านเมืองไม่เอามหาจุฬาฯ เลย แม้แต่คณะสงฆ์ก็ไม่เอา ซึ่งก็เป็นจริง เพราะเจ้าอาวาสบางวัดมีกฎเกณฑ์ว่าใครเรียนมหาจุฬาฯ ต้องไล่ออกหรือห้ามอยู่วัดนี้ ชาวมหาจุฬาฯ ก็ดิ้นรน

จนปี พ.ศ. 2512 มหาเถรสมาคม จึงมีมติยอมรับว่า มหาจุฬาฯ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของคณะสงฆ์ และก็มีพยายามเรื่อยมาอยากให้ฝ่ายบ้านเมืองรับรอง จนถึงปี 2540 รัฐบาลจึงรับรองให้มหาจุฬาฯ เป็น มหาจุฬาฯ โดยสมบูรณ์ ซึ่งก็มีอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ นี่แหละเป็นส่วนสำคัญผลักดันจนสำเร็จ




“เมื่อเราเอาปี 50 ปีเป็นตัวกำหนด ปี 2439 เป็นปีสถาปนา ปี 2590 มหาจุฬา ฯ เปิดเรียน ทำให้มีชีวิต นับต่ออีกมา 50 ปี คือ พ.ศ. 2540 มหาจุฬา ฯ ฝ่ายบ้านเมืองรับรองมีพระราชบัญญัติ หลังจากมีชีวิตแล้ว ก็ฝั่งรากฐาน และพัฒนาจนมั่นคงเจริญก้าวหน้า อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ จึงมีปณิธาน มีดำริคิดจะสร้างพระพุทธปฎิมา ประกาศให้ชาวโลกรู้ถึงความเจริญก้าวหน้าของมหาจุฬา ฯ จึงสร้างพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา พร้อมกับปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “รมณียพุทธอุทยาน”



ส่วนนางสาวเพ็ญศรี ชั้นบุญ  ประธานคณะทำงานสร้างพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินธรบวรศาสดา และสร้างฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมา กล่าวว่า “เจ้าประคุณประสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประทานนามพระพุทธปฏิมาองค์นี้ว่าพระพุทธมหาจุฬาลงกรณชุตินฺธรบวรศาสดา เป็นพระพุทธรูปมีขนาดหน้าตักความกว้าง 5 เมตร  ความสูง 6 เมตร 30 เซนติเมตร  มีน้ำหนัก 4.5 ตัน เป็นพระพุทธปฏิมาปางปฐมเทศนาที่หล่อด้วยทองสำริดทั้งองค์ฯ

ดำเนินการในนามคณะศิษยานศิษย์ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต รับเป็นเจ้าภาพเงินจำนวนเงิน 40 ล้านบาท และอีกส่วนเป็นงบประมาณของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นรมณียพุทธอุทยานอีกจำนวนเงิน 30  ล้านบาท สิ้นงบประมาณในการสร้างทั้งหมด  รวมเป็นจำนวน 70 ล้านบาท”

















ขอบคุณที่มา : https://thebuddh.com/?p=78395
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ