ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 100 ปี สมเด็จพระสังฆราช "พระองค์แรก" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  (อ่าน 1679 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

100 ปี สมเด็จพระสังฆราช "พระองค์แรก" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

   วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เด็กชายผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นในตระกูล "คชวัตร" ณ ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำแคว ในหมู่บ้านรุ่งสว่าง บนถนนปากแพรก ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นบุตรชายคนโตของ นายน้อย คชวัตร ปลัดอำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม และนางกิมน้อย ทำอาชีพตัดเสื้อ นามว่า "เจริญ" มีน้องชายคลานตามกันออกมาอีก 2 คน

   ขณะที่มีอายุได้ 9 ปี เด็กชายเจริญต้องสูญเสียบิดา ทำให้ครอบครัวลำบากมาก จึงย้ายไปอยู่ในอุปการะของ "ป้ากิมเฮง" ผู้เป็นพี่สาวแม่

   เด็กชายเจริญสุขภาพไม่สู้ดีนัก เจ็บป่วยออดแอดเป็นประจำ จนมีการไปบนบาน หากหายจากความเจ็บป่วยจะบวชเป็นสามเณร หลังศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 5 จากโรงเรียนประชาบาลวัดเทวสังฆาราม ไม่รู้ว่าจะไปศึกษาต่อที่ไหน จึงหันหน้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ มุ่งศึกษาพระธรรม และบวชเณรแก้บนที่ติดค้างไว้

   เมื่ออายุ 14 ปี บุตรชายคนโตของตระกูลคชวัตร ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม โดยมี พระครูอดุลยสมณกิจ (พุทฺธโชติ ดี เอกฉันท์) เจ้าอาวาส ซึ่งเรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดเหนือ" เป็นพระอุปัชฌาย์

นับแต่นั้นเป็นต้นมา สามเณรก็เดินบนเส้นทางแห่งธรรม โดยไม่หันกลับมาสู่ทางโลกอีกเลย

   เด็กชายที่ถือกำเนิดจากบ้านคชวัตร เป็นครอบครัวที่ใจบุญสุนทาน มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา มักจะชอบเล่นเป็นพระ หรือเล่นเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เล่นสร้างถ้ำ ก่อเจดีย์ เล่นทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เล่นทิ้งกระจาด แม้ของเล่นก็ชอบทำของเล่นที่เกี่ยวกับพระ เช่น ทำคัมภีร์เทศน์เล็ก ๆ ตาลปัตรเล็ก ๆ

  นิสัยที่แปลกอีกอย่าง คือชอบเล่นเทียน จนป้าต้องหาเทียนมาให้จุดเล่น บางครั้งนั่งเล่นเทียนส่องดูเปลวเทียวจนสว่าง ทำแบบนี้เรื่อยมา จนกระทั่งได้ครองเพศบรรพชิต

    70 กว่าปีต่อมา ใครเลยจะคาดคิดว่าเณรน้อยจากลุ่มแม่น้ำแควจะได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2532 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

    เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาในราชทินนามพิเศษ คือ "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็นพระองค์ที่ 2 เช่นเดียวกับ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นระยะเวลาห่างกันถึง 152 ปี



   60 ปี บนเส้นทางธรรม จนก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำศาสนากว่า 20 ปี ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจได้สมบูรณ์ครบถ้วนในฐานะประมุขฝ่ายสงฆ์ ผู้นำทางจิตใจเป็นศูนย์กลางแห่งบวรพระพุทธศาสนา

  แม้การบรรพชาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จะเริ่มต้นจากการบวชแก้บน แต่ก็ทรงอยู่ในความปกครองของหลวงพ่อวัดเหนือ ทรงปฏิบัติรับใช้หลวงพ่อ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เรียนรู้การต่อเทศน์ จนขึ้นเทศน์ปากเปล่าให้ญาติโยมฟังในโบสถ์คืนวันพระ ขณะที่ยังเป็นสามเณร

   จากนั้นได้เริ่มเรียนบาลี ไวยากรณ์ ที่วัดเสน่หา กระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2472 หลวงพ่อวัดเหนือได้พาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เดินทางมากรุงเทพฯ พาไปเข้าเฝ้าถวายตัวต่อ

   สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯทรงพระเมตตารับไว้ ประทานนาม ว่า เจริญ สุวฑฺฒโน ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้เจริญดี"

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงบันทึกเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ของพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจ

   มีตอนหนึ่งบันทึกว่า "สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ นั้น ทรงมีพระเมตตาต่อภิกษุสามเณรทั่วไป โดยเฉพาะสามเณรที่มาจากบ้านนอก ดูจะมีพระเมตตาเป็นพิเศษ ทรงฝึกให้สามเณรอ่านหนังสือพิมพ์ หากสามเณรรูปใดอ่านไม่คล่อง หรือไม่ถูก ก็จะทรงอ่านให้ฟังเสียเอง

   ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ รับสั่งให้เอากระดาษรองข้างในขวด แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่เข้าพระทัย เอากระดาษไปรองก้นขวด พอทอดพระเนตรเห็นเข้าก็รับสั่งว่า "เณรนี่ก็โง่เหมือนกัน" แล้วก็ทรงทำให้ดู

   ส่วนความดีพระทัย ที่ปรากฎในบันทึกระบุว่า "ไม่มีปีใดที่ให้ความสุขกาย สุขใจมากเท่ากับคราวที่สอบ ป.ธ.3 ได้" จากนั้นทรงมุ่งมั่นศึกษาเรียนประโยค 4 แต่กลับสอบตก ด้วยเหตุที่ว่า ทรงละเลยเรื่องง่าย ๆ ทรงรู้สึกเสียใจและท้อแท้ใจมาก พอคิดทบทวนและไตร่ตรองดู ได้พบความจริงด้วยพระองค์เองว่า

   "การสอบตกนั้นเป็นผลของความประมาท ความหยิ่งทนงในความรู้ของตนเองมากเกินไป คิดว่าสอบได้แน่ ไม่พิจารณาให้รอบคอบ ด้วยสำคัญผิดว่าตนรู้ดีแล้ว จึงทำข้อสอบผิดพลาดมาก มุ่งแต่คาดคะเนหรือเก็งข้อสอบเท่านั้น"

  นับแต่นั้นมาทรงตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค เรียนภาษาสันสกฤตและภาษาอังกฤษ พอเป็นพื้นฐานให้พระองค์ทรงศึกษาต่อ จนฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี แต่ไม่เคยละเลยเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติในคณะธรรมยุตที่ว่า

   "ภิกษุสามเณรพึงปฏิบัติสมาธิ"


   ขณะเดียวกัน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก็ทรงพระเมตตา ทรงมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในโอกาสสำคัญ ๆ

    ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 15 วัน ทรงปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาล

   เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงสร้างผลงานในด้านต่าง ๆ มากมาย ทั้งการศึกษา การปกครอง การสั่งสอน เผยแผ่ การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ และการสาธารณสงเคราะห์

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงประกาศเมตตาจิตของผู้จัดตั้งหรือจัดทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนทั้งหลายว่า

  "กรุณา คือความคิดปรารถนาให้ผู้อื่นปราศจากทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์เกิดแก่ผู้อื่น ก็พลอยหวั่นใจสงสาร เป็นเหตุให้คิดช่วยทุกข์ภัยของกันและกัน สิ่งที่เป็นเครื่องเปลื้องช่วยบำบัดทุกข์ภัยทั้งหลาย เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น ล้วนประกาศกรุณาของท่านผู้สร้าง"



ถวายสักการบูชา
   ในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จะทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในเดือนตุลาคม 2556 นับเป็นอุดมมงคลที่คณะสงฆ์ทั่วประเทศและประชาชนทั้งหลายได้ร่วมกันถวายเป็นสักการบูชา เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดในรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

    นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นประธานจัดหาทุนทรัพย์จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี เพื่อถวายเป็นสักการบูชาแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระราชปรารภพระราชทานแนวทางการจัดหาทุน ให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม โดยไม่มีการบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น

    เนื่องจากโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ตั้งอยู่ จ.กาญจนบุรี อันเป็นพระชาติภูมิของสมเด็จพระสังฆราช ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อก่อสร้าง "ตึก 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" เป็นอาคารคนไข้ ขนาด 298 เตียง สูง 8 ชั้น

    กำหนดแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2555 แต่ยังขาดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ต้องใช้งบประมาณถึง 250 ล้านบาท มูลนิธิมหามกุฏฯ ได้จัดจำหน่ายหนังสือคำสอนสมเด็จพระสังฆราช ราคาเล่มละ 100 บาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่ง และเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งกองผ้าป่าสามัคคี

   เปิดรับบริจาคเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่ง ชื่อบัญชี "100 ปี สังฆราชเพื่อ ร.พ.พหลฯ" หรือการบริจาคเงินผ่านเว็บไซต์ของโครงการ www.sangharajacentennial.org


อ้างอิง
100 ปี สมเด็จพระสังฆราช "พระองค์แรก" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.sanghathan.com/index.php?option=com_content&view=article&id=786%3A100-qq-&catid=19%3A2009-08-27-18-01-06&Itemid=1
ขอบคุณภาพจาก www.prachachat.net
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ