ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระอรหันต์ มั่น ภูริทัตโต : ‘ถวายความรู้พระอาจารย์เสาร์ฯ’(10)  (อ่าน 416 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28454
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




พระอรหันต์ มั่น ภูริทัตโต : ‘ถวายความรู้พระอาจารย์เสาร์ฯ’(10) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตอนที่ 21. : ไปจำพรรษากับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ ถ้ำภูผากูด จ.นครพนม พ.ศ.2459 : เมื่อออกพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กฺนตสีลเถร ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด เมื่อทราบแน่แล้วท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้เดินโดยเท้าเช่นพระธุดงค์ทั้งหลาย ท่านเล่าว่า ทางรถยนต์ไม่มีรถยนต์วิ่ง นับเป็นเวลาเดือนๆ ก็ไม่เห็นใครสักคน ตามทางที่ท่านไปก็เป็นดงดิบ ล้วนแต่ต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง ต้นประดู่ ต้นตะแบก และสารพัดไม้นั้นเป็นไม้ใหญ่บางต้น 9 อ้อม 10 อ้อม และดูไม่เห็นพระอาทิตย์ทีเดียว เป็นป่าเปลี่ยวจริงฯ

ขณะที่เดินธุดงค์ เห็นว่าที่ไหนเหมาะ ก็แวะพักทำความเพียรกันเป็นเวลา 5 วัน หรือ 7 วัน ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินธุดงค์ระหว่างทางยังไม่ถึงถ้ำภูผากูดนั้น ท่านได้คิดถึงท่านอาจารย์ของท่านมาก และก็วันหนึ่งหลังจากการพักผ่อนๆ การเดินทาง ซึ่งเร่งเดินเป็นวันๆ มาแล้วอย่างเหน็ดเหนื่อย ท่านได้พิจารณาถึงท่านอาจารย์เสาร์ฯ ที่เป็นอาจารย์ของท่าน และได้ระลึกถึงท่านได้ทราบภายในญาณเมื่อคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกาว่า ท่านอาจารย์ของท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกโพธิ ถ้าหากว่าท่านยังมีจิตกังวลในการปรารถนา เช่นนั้น การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ก็สำเร็จไปไม่ได้

เช่นเดียวกับเราเหมือนกัน เมื่อความปรารถนาพระโพธิญาณยังฝังอยู่ในจิต เราก็ไม่สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจ เพื่อความหมดจดจากกิเลสได้ ถ้าเราไปพบท่านอาจารย์ของเราๆ ก็ต้องแนะนำให้ท่านเลิกจากการปรารถนาเช่นนั้นเสีย จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่หนอ นี้เป็นการรำพึงภายในการเป็นสมาธิอันละเอียดของท่านอาจารย์มั่นฯ แม้เมื่อท่านได้สละความคิดนั้นเพื่อมิให้กังวลใจแล้ว และท่านก็ได้ธุดงค์เรื่อยๆ ไป จนใกล้จะถึงถ้ำภูผากูด โดยรอบบริเวณเขาอันเป็นถ้ำแห่งนี้นั้นเป็นภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้มะค่า แต่ไม่เป็นดงทึบเหมือนกับดงอื่นๆ จึงทำให้บริเวณนั้นมีอากาศปลอดโปร่งดี ถ้ำแห่งภูเขาแถวนั้นก็ไม่อับชื้น ทั่วบริเวณจึงเป็นสถานที่ที่จะพึงอาศัยเป็นเวลาแรมปีได้

ถ้าเป็นดงดิบมองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้ว จะอยู่กันนานไม่ได้ เพราะจะทำให้สุขภาพเสีย โดยที่ท่านอาจารย์เสาร์ฯ ท่านได้เลือกเอาสถานที่แห่งนี้อยู่ถึง 5 ปี และท่านก็ยังมีสุขภาพดีเป็นปกติเหมือนกับอยู่ในวัดธรรมดา นับว่าท่านอาจารย์เสาร์ฯ มีความรู้ความชำนาญในการอยู่ป่าอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านว่าเราได้เดินมองพิเคราะห์ดูแล้ว เป็นที่เหมาะสมจริงๆ เพราะมีธารน้ำเล็กๆ ไหลไม่ขาดอยู่ที่ตรงกลางทางที่จะขึ้นถ้ำพอดี คำว่าภูผากูด คือ มีผักกูดขึ้นอยู่ตามตลิ่งธารน้ำนั้นมาก เมื่อผักกูดขึ้นผักที่จะขึ้นตามผักกูดก็เช่น ผักหนาม ผักเต่าเกียด ในคราวนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติดๆ กับท่านอาจารย์มั่นฯ

แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้ จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ เมื่อท่านหายป่วยแล้วก็ได้ติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไป เพื่อหวังในการศึกษาธรรมปฏิบัติ โดยมิได้มีการย่นย่อท้อถอยแต่ประการใด

@@@@@@

ตอนที่ 22. : พระอาจารย์มั่นฯ ถวายความรู้พระอาจารย์เสาร์ฯ : ครั้นเมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เดินกระทั่งถึงและขึ้นไปบนถ้ำภูผากูด เมื่อวางบริขารไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ท่านก็เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ฯ ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ฯ ได้รู้ล่วงหน้าและเตรียมสถานที่ไว้คอยรับศิษย์รักอันจากกันไปนานอยู่แล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เข้าไปกราบนมัสการ สนทนาปราศรัยตามสมควรแล้วก็ไปพัก ณ บริเวณแห่งหนึ่งตามอัธยาศัย และท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ตั้งใจจะจำพรรษา ณ ถ้ำนี้กับท่านอาจารย์เสาร์ฯ

ในระหว่างพรรษา ทั้งศิษย์และอาจารย์ก็ได้ปรึกษาสนทนาในเรื่องธรรมปฏิบัติแทบทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พูดขึ้นมาว่า
“ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่?”
ท่านอาจารย์เสาร์ฯ ได้ตอบว่า “เราก็ได้พิจารณาเหมือนกัน” “ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง?”
ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม “ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน”
ท่านอาจารย์เสาร์ฯ ตอบ “เพราะเหตุไรบ้างครับ?”

ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม “เราได้พยายามอยู่ คือ พยายามคิดถึงความแก่ ความตาย แต่ว่าบางคราวมันก็ไม่แจ่มแจ้ง”
ท่านอาจารย์เสาร์ฯ ตอบ “ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง?”
ท่านอาจารย์มั่นฯ ถาม “เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้”
ท่านอาจารย์เสาร์ฯ ตอบและกล่าวต่อไปว่า “ความจริงความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้างไม่ดีบ้าง มันก็เรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไร รู้สึกว่าไม่ก้าวไป”

ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงกล่าวว่า“กระผมคิดว่าคงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง?”
ท่านอาจารย์มั่นฯ เห็นเป็นโอกาสที่จะได้ถวายความรู้ในครั้งอยู่ถ้ำสาริกาโน้น จึงได้ตอบทันทีว่า “ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเป็นพระปัจเจกโพธิ์กระมังครับ”
ท่านอาจารย์เสาร์ฯ ตอบว่า
“แน่ทีเดียว ในจิตใจเราตั้งอยู่ว่าจะขอให้รู้ธรรมเอง โดยมิต้องให้ใครมาแนะนำหรือบอกให้ และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด”
ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงขอความกรุณาแล้วบอกท่านอาจารย์เสาร์ฯ ว่า
“ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณและกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์นี้มันนานเหลือเกิน”

ในวันนั้นท่านอาจารย์เสาร์ฯ ต้องประหลาดใจที่ศิษย์ของท่านได้ล่วงรู้ถึงความจริงอันปรากฏอยู่ในใจของท่าน ซึ่งท่านไม่เคยปริปากบอกใครเลย ฉะนั้นจึงทำให้ท่านรู้สึกว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ นี้ต้องมีความดี ความจริง ความชัดเจนในใจอย่างแน่นอน ในวันนั้นก็ได้คุยกันเพียงเท่านี้ แล้วก็เลิกกันไป

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์เสาร์ฯ ได้ไปนั่งอยู่ที่สงัดเฉพาะองค์เดียว เริ่มด้วยการพิจารณาถึงอริยสัจโดยอุบายอย่างหนึ่ง คือ การพิจารณากายจนชัดแจ้งประจักษ์ เกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายขึ้น และท่านก็เริ่มดำเนินจิต เจริญให้มาก กระทำให้มากจะเป็นญาณ สามารถทวนกระแสมาถึงที่ตั้งของจิตได้และวันนั้นท่านก็ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด เมื่อได้รับการอธิบายจากท่านอาจารย์มั่นฯ ซ้ำอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรจะเจริญให้มาก จนกว่าจะพอแก่ความต้องการ เมื่อจวนถึงกาลปวารณาออกพรรษา ท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการและท่านก็บอกแก่อาจารย์มั่นฯ ว่า เราได้เลิกการปรารถนาพระปัจเจกโพธิ์แล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมจริงแล้ว

เมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ฟัง ก็ได้พูดให้ความแน่ใจว่า เป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ต่างก็มีความอิ่มเอิบในธรรม ระยะเวลานั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านมีพรรษา 26 พรรษา ท่านได้ปฏิบัติกับท่านอาจารย์เสาร์ฯเหมือนกับท่านเป็นพระใหม่ คือ ปฏิบัติตั้งแต่การล้างบาตร ซักจีวร ปูที่นอน ตักน้ำถวายสรง ถูหลังทุกประการ ซึ่งแม้อาจารย์เสาร์ฯ จะห้ามไม่ให้ทำแต่ท่านก็ปฏิบัติให้โดยมิได้มีการแข็งกระด้างแต่ประการใด ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโย หลังจากหายป่วยแล้ว ก็ติดตามไปปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นฯ ต่อไปทุกหนทุกแห่ง ซึ่งเริ่มติดตามพบที่ถ้ำในปีนี้เอง

@@@@@@

ตอนที่ 23. : จำพรรษาอยู่บ้านดงปอ ห้วยหลวง อำเภอเพ็ญ จ.อุดรธานี พ.ศ.2460 : ในพรรษานี้ท่านอาจารย์มั่นฯ จำพรรษาที่ป่าแห่งนี้ ที่บ้านดงปอ ต.ห้วยหลวง อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี หลังจากที่ท่านได้เปิดศักราชแห่งการปฏิบัติธรรมอย่างได้ผลแล้วท่านก็เริ่มอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง เพื่อผลงานในด้านนี้ของพระพุทธศาสนาจะได้เกิดขึ้น อันจักเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในปีนี้บรรดาพระภิกษุทั้งหลายผู้เคยได้รับรสพระธรรมจากท่าน และผู้ที่เคยสดับแต่กิตติศัพท์ก็ได้ติดตามมาปฏิบัติกับท่าน การจำพรรษาของท่านๆ ไม่ต้องการอยู่รวมกันหลายองค์ เพราะจะทำให้ไม่วิเวก ดังนั้นท่านจึงตรวจดูเฉพาะองค์ที่กำลังที่ได้รับผลที่แน่นอนให้จำพรรษาอยู่กับท่าน เพื่อที่จะได้แนะนำตลอดระยะเวลา เพื่อความก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของศิษย์

ส่วนผู้ที่กำลังจะทำการอบรมเพื่อรอความแก่กล้าของสมาธิ ท่านก็แนะนำให้ไปอยู่แห่งละองค์สององค์ท่านเหล่านั้นก็จะมาหาให้ท่านอาจารย์ช่วยแก้ความสงสัยเป็นรายๆ ไป การที่บรรดาศิษย์ไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ มิใช่ว่าท่านจะทอดธุระเสียแต่อย่างใด ท่านต้องใช้ญาณภายในตรวจตรา พร้อมทั้งคอยสดับรับฟังข่าวอยู่ตลอดเวลา ท่านพิจารณาเห็นเหตุการณ์ของศิษย์แล้ว ถ้าเป็นเหตุสำคัญท่านจะใช้ให้พระหรือโยมตามพระองค์นั้นมาหาท่านทันที เพื่อจะได้แก้ไขเหตุการณ์ให้ดำเนินไปเพื่อความถูกต้องและได้ผลเป็นประมาณ

เช่น คราวหนึ่ง ท่านจำพรรษาอยู่ที่บ้านโคก ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร มีอาจารย์องค์หนึ่งพักอยู่บนเขา เรียกกันว่า ภูค้อ อาจารย์องค์นั้นไม่ฉันอาหารตลอด3 เดือน ผู้คนได้แตกตื่นกันไปหาท่านอย่างล้นหลาม แต่อาจารย์องค์นั้นไม่ได้เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นฯ แต่อย่างใด ท่านจึงเพียงแต่แนะนำศิษย์ของท่านว่า การไปอยู่ป่าเขา ทำอย่างนั้นไม่ถูกต้องเพราะไปทำอภินิหาร อดอาหารอยู่ถ้ำเพื่อที่จะให้คนไปหา เป็นการผิดวิสัย พวกเราอย่าได้พากันทำเช่นนั้น เพราะตามความจริงแล้ว การอยู่ป่าต้องทำตัวเก็บตัวแสวงหาความสงบด้วยใจจริง

โดยความบริสุทธิ์ในการแสวงหาธรรมปฏิบัติ การอยู่ป่าอยู่เขา โดยการเพื่อแสวงหาลาภหาปัจจัยนั้นไม่ถูกต้อง พวกเธอถ้าหากว่าจะพึงแสวงหาความสงบแล้ว ต้องอย่าไปทำอะไรที่ชวนให้คนหลงตามไปหา ซึ่งมันจะไม่เป็นการบริสุทธิ์ใจของนักปฏิบัติ

@@@@@@

ตอนที่ 24. : กำหนดรู้วาระจิตพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล : การควบคุมการปฏิบัติของศิษย์นั้นท่านพิถีพิถันมาก พยายามติดตามดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านได้พิจารณาเห็นว่า ศิษย์รูปนั้นจะเป็นผู้มีนิสัยวาสนาเป็นผู้ที่ปฏิบัติเข้มแข็งและจะพึงเห็นอรรถเห็นธรรมในเบื้องหน้าแล้ว ท่านยิ่งจะติดตามคอยแนะนำการปฏิบัติให้ทุกระยะ ตัวอย่างเช่น ท่านอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่านอาจารย์สิงห์ ขนตฺยาคโม ได้เข้ามามอบตัวเป็นศิษย์ของท่าน

หลังจากนั้นท่านก็ได้พิจารณาเห็นว่า ท่านมหาปิ่นฯ นี้มีบุญวาสนาได้บำเพ็ญพอสมควรที่จะเห็นอรรถธรรมได้ ท่านจึงพยายามแนะนำธรรมปฏิบัติให้อย่างละเอียดและลึกซึ้ง อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์มหาปิ่นฯ ท่านนั่งพักอยู่ในกุฏิหลังเล็ก มุงหลังคาแฝกในเสนาสนะป่า ซึ่งท่านก็ได้ผ่านการนั่งสมาธิมาแล้ว 2 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 23.00 น. เศษ ท่านก็ได้นึกพลางไปถึงท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า

“ท่านอาจารย์มั่นฯ มิได้ร่ำเรียนพระปริยัติธรรมมากเหมือนเรา ท่านจะมีความรู้กว้างขวางได้อย่างไร และที่ท่านสอนเราอยู่เดี๋ยวนี้จะถูกหรือมิถูกประการใดหนอ?”

ขณะนั้นเองท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านนั่งอยู่กุฏิของท่านห่างกันคนละมุมวัด ท่านก็ทราบวาระจิตของท่านมหาปิ่นทันทีว่า กำลังจะคิดดูถูกท่านอยู่ และการคิดเช่นนี้ ย่อมเป็นภัยแก่การบำเพ็ญสมณธรรมอย่างยิ่ง ท่านจึงลุกขึ้นถือไม้เท้าเดินไปที่กุฏิมหาปิ่นฯ ทันที และเอาไม้เท้าเคาะข้างฝาที่ทำด้วยใบไม้ดังปั๊บๆ แล้วก็ส่งเสียงขึ้นมาว่า

“ท่านมหาปิ่นฯ นี่เธอจะมานั่งดูถูกเราด้วยเหตุไร? การคิดเช่นนี้เป็นภัยต่อการบำเพ็ญสมณธรรมจริงหนา มหา” มหาปิ่นฯ ได้ฟังตกใจสุดขีด เพราะมิได้นึกฝันเลยว่า เรานั่งคิดอยู่คนเดียวในเวลาที่ดึกสงัดเช่นนี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ จะมาล่วงรู้วาระจิตของเราได้ จึงรีบลุกขึ้นจากกุฏิตรงเข้าไปกราบเท้าท่านอาจารย์มั่นฯ รีบกราบเรียนว่า

“กระผมกำลังนึกถึงท่านอาจารย์ในด้านอกุศลจิต กระผมขอกราบเท้าจงอโหสิกรรมให้แก่กระผมเถิดตั้งแต่วันนี้ต่อไป กระผมจะบังคับจิต มิให้นึกคิดสิ่งที่เป็นอกุศลจิตอย่างนี้ต่อไปอีก”

(ตรงนี้ผู้เขียนขอแทรกข้อความ ตอนเชียงใหม่ ให้ผู้อ่านได้ทราบตอนสำคัญไว้ เพราะจะรอเขียน ตอนท่านอยู่เชียงใหม่ ก็จะไม่ทันใจผู้เขียนและผู้อ่าน) (ติดตามตอนที่ 25 ตอนกำหนดรู้วาระจิตหลวงตา 3 รูป…ฉบับหน้า)




ขอบคุณ ; https://www.matichon.co.th/columnists/news_1700920
วันที่ 6 ตุลาคม 2562 - 13:09 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ