สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 04, 2010, 12:17:15 pm



หัวข้อ: "ตะเคียน" ที่สิงสถิตของ "นางไม้"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 04, 2010, 12:17:15 pm
"ตะเคียน" ที่สิงสถิตของ "นางไม้"

(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/%B5%E9%B9%B5%D0%E0%A4%D5%C2%B9.jpg)

เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องราวของต้นตะเคียนในที่ใด ก็มักจะมีเรื่องผีสางนางไม้ประกอบมาด้วยเสมอ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่า ต้นไม้ขนาดใหญ่ๆ นั้น มักจะมีเทพเทวดาอารักขา หากใครคิดไปตัดหรือทำลายก็ย่อมประสบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังเช่นต้นตะเคียนที่มีการเล่าขานกันว่า มีนางตะเคียนสิงสถิตอยู่และมีฤทธิ์มาก ดังนั้น การจะตัดต้นตะเคียนมาทำสิ่งใดก็จะต้องทำพิธีขอเสียก่อน หากไม่ทำพิธีขอจากนางตะเคียนแล้ว ก็มักจะถูกลงโทษให้เจ็บไข้ หรือมีอาการคลุ้มคลั่ง เป็นต้น

ส่วนในทางพฤกษศาสตร์นั้น ตะเคียน เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของเอเชียเขตร้อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hopea odorata Roxb. อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า ตะเคียนทอง, ตะเคียนใหญ่, แคน, โกกี้ เป็นต้น

เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงราว 20-40 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีน้ำตาลดำและจะแตกเป็นสะเก็ด เมื่อต้นมีขนาดใหญ่ มีชันสีเหลืองตามรอยแตกของเปลือก เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่แกมรูปหอก เรียงสลับ ปลายใบแหลม โคน ใบมน เนื้อใบค่อนข้างหนาเป็นมัน ท้องใบมีตุ่มอยู่ตามง่ามเส้นใบ

(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/%B5%E9%B9%B5%D0%E0%A4%D5%C2%B9%203.jpg)

ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวแกมเหลือง ออกรวมกันเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ผลเป็นรูปทรงกลม หรือรูปไข่ มีปีกยาวรูปใบพาย 2 ปีก และยังมีปีกสั้นอีก 3 ปีก ซึ่งปีกเหล่านี้มีหน้าที่ห่อหุ้มผล และนำพาผลปลิวไปตกได้ในที่ไกลๆ

ประโยชน์ของตะเคียนมีมากมาย ทั้งในด้านการทำเครื่องเรือนและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน สมัยโบราณนิยมนำต้นตะเคียนมาทำเป็นเสาเอก ขุดเป็นเรือ ทำสะพาน ทำวงกบ ประตูหน้าต่าง หูกทอผ้า กังหันน้ำ กระโดงเรือ เพราะเนื้อไม้แข็ง เหนียว มีความสวยงาม ทนทาน ทนปลวกได้ดี ส่วนชันหรือยางไม้ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ทำน้ำมันชักเงา ใช้ยาแนวเรือ

สำหรับประโยชน์ในด้านสรรพคุณพืชสมุนไพรก็มีมากมาย ได้แก่ เปลือกใช้แก้ปวดฟัน, แก่นใช้แก้โลหิตและกำเดา รักษาคุดทะราด ขับเสมหะ, เนื้อไม้ใช้แก้ท้องร่วง สมานแผล และยางใช้รักษาแผล แก้ท้องเสีย

(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/%B5%E9%B9%B5%D0%E0%A4%D5%C2%B9%202.jpg)

ในอรรถกถาคาถาธรรมบท เรื่องครหทินน์ ได้กล่าวถึงไม้ตะเคียนไว้ว่า สิริคุตต์ซึ่งเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา และเป็นเพื่อนกับครหทินน์ ซึ่งเป็นสาวกของพวกนิครนถ์ เคยหลอกให้พวกนิครนห์ตกลงในหลุมคูถ (อุจจาระ) ทำให้ครหทินน์เจ็บใจมาก จึงคิดแก้แค้นพระพุทธเจ้าบ้าง โดยวางแผนนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุมาฉันภัตตาหารที่บ้านตน

ในขณะเดียวกันก็ให้คนในบ้านขุดหลุมใหญ่ไว้ในระหว่างเรือน 2 หลัง แล้วนำไม้ตะเคียนมาประมาณ 80 เล่มเกวียน ให้จุดไฟสุมตลอดคืนยันรุ่ง แล้วให้ทำกองถ่านเพลิงไม้ตะเคียนไว้ วางไม้เรียบบนปากหลุม ให้ปิดด้วยเสื่อ ลำแพน ลาดท่อนไม้ผุไว้ข้างหนึ่ง แล้วให้ทำทางเป็นที่เดินไป เพื่อที่ว่าในเวลาที่พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุเหยียบท่อนไม้หักแล้ว ก็จะกลิ้งตกลงไปในหลุมถ่านเพลิง แต่พระพุทธเจ้าทรงล่วงรู้ถึงแผนการนี้

แต่ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณว่าหากพระองค์เสด็จไปก็จะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะในที่นั้นจะมีผู้คนมาฟังธรรม และจะมีผู้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสิริคุตต์และครหทินน์ ก็จะบรรลุโสดาบันด้วย จึงได้เสด็จไป เมื่อไปถึงพระศาสดาทรงเหยียดพระบาทลงเหนือหลุมถ่านเพลิง เสื่อลำแพนหายไปแล้ว ดอกบัวประมาณเท่าล้อผุดขึ้นทำลายหลุมถ่านเพลิง พระศาสดาทรงเหยียบกลีบบัว และเสด็จไปประทับนั่งลงบนอาสน์ที่ปูลาดไว้ รวมทั้งภิกษุทั้งหลายก็กระทำเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน ต้นตะเคียนทองเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานประจำจังหวัดปัตตานี

(http://www.dhammajak.net/board/files/_1_177.jpg)

จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 77 เม.ย. 50 โดย เรณุกา
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 เมษายน 2550 14:13 น.
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12461 (http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12461)