ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
 11 
 เมื่อ: พฤษภาคม 10, 2024, 06:57:46 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



เข้าใจปรากฏการณ์ “มูเตลู” อะไรที่ทำให้บูม หลายคนหันไปพึ่งพิงไสยศาสตร์

ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ “มูเตลู” ในสังคมเมืองที่มีให้เห็นเพิ่มขึ้น ไขข้อสงสัยอะไรที่ทำให้ผู้คนหันไปพึ่งพิงไสยศาสตร์

ไสยศาสตร์แม้จะถูกมองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง แต่ไฉนในช่วงสิบปีให้หลังมานี้ โลกของเรากลับเห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวัตถุมงคลเพิ่มขึ้น รวมถึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หน้าใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นมา เช่น ไอ้ไข่ ท้าวเวสสุวรรณ หรือครูกายแก้ว ที่เป็นประเด็กถกเถียงในสังคมตอนนี้

จนในโลกออนไลน์ในปัจจุบัน ก็มีให้เห็นหลายเพจ หลายแชแนล “สายมู” ผุดขึ้นมามากมาย รวมถึงมีคอนเทนต์พาผู้สนใจเดินทางไปในโลกออนไลน์เพื่อสักการะสิ่งเคารพที่กำลังอินเทรนด์ต่างๆ ด้วย



ประชาชนแห่ทำพิธีหน้าลานเซ็นทรัลเวิล์ด

หรือแม้แต่กระทั่งในทีมฟุตบอลระดับโลกก็ยังมีผ้ายันต์ อีกทั้งการนำเสนอข่าว อาทิ เลขทะเบียนรถของนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องราวแปลกๆ เช่น ปลาช่อนทอง จอมปลวก หรือรูปเหมือนพญานาค ก็มีให้เห็นในช่วงใกล้วันออกผลสลากกินแบ่งรัฐบาล

ดังนั้นการที่ไสยศาสตร์งอกงามขึ้นในสังคมเมือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ทำให้ผู้คนเข้าหาและหันไปพึ่งพิงไสยศาสตร์ และผู้คนกำลังแสวงหาอะไรในสังคมนี้!?

วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจร่วมกันกับปรากฏการณ์นี้ใน “งานเสวนา เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง” ในงานอักษรศาสตร์สู่สังคม ที่มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยคลายคำตอบให้หายข้องใจ

@@@@@@@

ไสยศาสตร์ตอบโจทย์ทางใจมนุษย์ทุกสมัย

ไสยศาสตร์อาจดูเป็นเรื่องลี้ลับ งมงาย หรือเรื่องโบราณล้าสมัย แต่ที่จริงแล้วหากมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่า กลับกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มนุษย์ทุกสมัยนับแต่โบราณมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปั่นป่วนโกลาหล

เดิมทีคนโบราณสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 ไม่ได้มองไสยศาสตร์จำกัดอย่างปัจจุบัน พวกเขาไม่ได้มองว่าไสยศาสตร์เป็นเรื่องลี้ลับหรือมนต์ดำใดๆ เพียงแต่เป็นศาสนาและความเชื่อที่มีองค์ประกอบเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาร์ย ความวิเศษ

เพราะคำว่า “ไสยศาสตร์” หมายถึงการท่องมนต์และพิธีกรรม นอกจากนี้ยังรวมถึงการผสมผสานความเชื่อในท้องถิ่นเข้าไปด้วย

ส่วนหากจะพูดถึงความแตกต่างระหว่างไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ ก็ในแง่ระบบความคิดของมนุษย์ ก็ไม่ต่างกัน เพราะไสยศาสตร์เป็นภูมิปัญญา เป็นระบบความคิด ความเชื่อของมนุษย์ที่พยายามสร้างคำอธิบายให้กับสิ่งที่มนุษย์ไม่เข้าใจ เช่น ฝนตกฟ้าร้อง ทำให้เราเข้าใจโลกเข้าใจตัวเอง ตอบโจทย์อนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และบางสิ่งที่เราอาจจะเข้าไปแก้ไขไม่ได้ ชุดความเชื่อทางไสยศาสตร์ทำให้เราคิดกับสิ่งเหล่านี้ได้

ดังนั้นแล้วไม่ว่าโลกสมัยใหม่จะผลักไสยศาสตร์ให้เป็นคู่ตรงข้ามกับพุทธศาสน์และวิทยาศาสตร์ แต่หน้าที่และความหมายของไสยศาสตร์ในพื้นที่ชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ก็ยังคงซ้ำเดิม ซ้ำในบริบทโลกยุคนี้ กลับทวีความสำคัญขึ้นอีก

     "แม้มนุษย์ในปัจจุบันจะมีความรู้และความเข้าใจเชิงเหตุผล มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจความเป็นจริง แต่บางครั้งความจริงก็ไม่ตอบโจทย์ทางอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความหวัง — ไสยศาสตร์ แม้จะไม่เมคเซ้นส์ แต่ก็ทำให้อุ่นใจ"



พระสทาศิวะ


ไสยศาสตร์ตัวช่วยรับมือโลกป่วน

สิ่งที่น่าทึ่งคือไสยศาสตร์เกิดขึ้นมากมายในยุคที่ปั่นป่วนมากที่สุด โดยมียุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางปรัชญา คือยุคหลังเมืองเอเธนส์ล่มสลายและก่อนโรมเอมไพร์จะก่อตั้งขึ้น ยุคนั้นทางปรัชญามองว่าเป็นยุคที่ยุ่งเหยิงและโกลาหลที่สุด แต่ในยุคนี้นี่เองกลับเกิดระบบความเชื่อเหนือธรรมชาติ (mysticism) มากมาย

นั่นหมายความว่าในยามที่บ้านเมืองปั่นป่วน ชีวิตไม่นิ่ง ผันผวนและมีความไม่มั่นคง มนุษย์จะเข้าหาสิ่งที่คิดว่านิ่งที่สุด เป็นหลักพึ่งพิงเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงของชีวิต และพื้นที่ที่เผชิญกับความโกลาหลและปั่นป่วนที่สุดก็คือพื้นที่เมือง!

จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่เมืองในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี วิชาการความรู้และความหลากหลายทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเชื่อและวิถีปฏิบัติเชิงไสยศาสตร์ที่หลากหลายด้วย

@@@@@@@

ไสยศาสตร์เครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตคนเมือง

“ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตสังคมเมือง” จะพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิด ในสภาพสังคมที่โกลาหล ดูมีความไม่มั่นคง และแน่นอน กลับทำให้คนหันไปหาที่พึ่งทางใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

    "แต่ก่อนไม่คิดว่า หมอ วิศวกร กลุ่มคนที่อาชีพดูมั่นคง จะให้ความสำคัญกับการดูดวงหรือเรื่องอะไรแบบนี้ แต่กลายเป็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ เหมือนกับว่ามันมีสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจตอบได้ แม้คนที่ดูว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจมั่นคงแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต มีสิ่งที่ไม่รู้ และไสยศาสตร์ก็อาจจะช่วยให้พวกเขาอยู่กับความไม่รู้และความไม่แน่นอนได้"

@@@@@@@

ไสยศาสตร์ผนึกความรู้สึกร่วมของชุมชน

มากกว่านั้น ไสยศาสตร์ยังมีบทบาทค่อนข้างมากและสำคัญกับสังคมชนบท เพราะกิจกรรมของไสยศาสตร์อยู่ในโลกพิธีกรรมและประเพณี ซึ่งโยงกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกัน ตอบโจทย์การดำรงอยู่ของชุมชม

อย่างไรก็ตามด้วยความที่ไสยศาสตร์เป็นเรื่องของพิธีกรรม ซึ่งสำคัญกว่าความเชื่อ บางความเชื่อ คนอาจไม่เชื่อเรื่องนั้นแล้ว แต่พิธีกรรมยังดำรงอยู่เป็นเครื่องมือยึดโยงคนในชุมชน

เช่น “พิธีกรรมแห่นางแมว” แม้จะยังมีพิธีกรรมนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนและผู้ที่ที่ทำพิธีกรรมนี้จะเชื่อว่าแห่นางแมวแล้ว ฝนจะตก แต่พิธีกรรมช่วยตอบโจทย์สภาพจิตใจและความหวังร่วมของชุมชน

@@@@@@@

“มูเตลู” คำเรียกใหม่ ทำให้ไสยศาสตร์โมเดิร์น-ลดความน่ากลัว

ความที่เมืองเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรม จึงเกิดชุดความเชื่อ วิถีปฏิบัติย่อย ๆ และวัตถุทางความเชื่อมากมายและหลากหลาย เทพเจ้าและผีตนใหม่ ๆ ปรากฎขึ้นเรื่อย ๆ ให้คนเมืองได้ชอปปิ้งตามสะดวกและตามใจปรารถนา มีทั้งเทพดั้งเดิมที่เป็นเทพเจ้าฮินดู จีน และพุทธ ผีโบราณและผีใหม่ ๆ ที่หลุดมาจากโลกการ์ตูนและวรรณคดี อย่างเช่นที่มีร่างทรงโดเรมอน ร่างทรงพ่อปู่ไจแอ้นท์ และร่างทรงผีเสื้อสมุทร

“การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและภูมิหลังอันหลากหลาย ซึ่งก็มีความเชื่อมีวิธีปฏิบัติบางอย่าง จิตวิญญาณติดมากับตัวเอง พอมาเจอกันในบริบทเมือง ย่อมนำไปสู่ผสมผสานก่อให้เกิดเป็นความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ ขึ้นมา นำไปสู่การเติบโตของความเชื่อหรือวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณรูปแบบใหม่ ๆ”

นอกจากนี้ คนเมืองสมัยใหม่นิยมเรียกชุดความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ว่า “สายมู” หรือ “มูเตลู” ทำให้เรื่องนี้ดูทันสมัยขึ้น ลดความลี้ลับหรือความมืดดำ (ดาร์ค)   

@@@@@@@

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เปิดพื้นที่ให้คนเข้าวงการมูเตลู

ไสยศาสตร์ มีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ แต่แม้จะไม่เชื่อ คำพูดที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ช่วยเปิดพื้นที่ให้ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติ อยู่ได้และขยายตัวในสังคม

    “คำพูดนี้ทำให้ความเชื่อใหม่ ๆ เข้าไปอยู่ในการรับรู้ของคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นกระแสของสังคมไปโดยปริยาย”

ในกรณีที่มีประเด็นถกเถียงทางความเชื่อในสังคม เช่น เกิดเทพหรือผีตนใหม่ ๆ หรือวิถีปฏิบัติใหม่ ๆ คำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ก็ดูเหมือนจะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนได้ทดลอง “ถ้าไม่เสียหาย ไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรม ก็น่าจะลองดู” และทำให้คนที่เชื่อและไม่เชื่อ อยู่ร่วมกันได้บนพื้นที่ของความเชื่อที่ต่างกัน





Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/223437
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 9 พ.ค. 2567 ,16:24น.

 12 
 เมื่อ: พฤษภาคม 10, 2024, 06:47:39 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



วันพืชมงคล 2567 เปิดความหมายเสี่ยงทาย ผ้านุ่งพระยาแรกนา-ของกินพระโค

พืชมงคล 2567 วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกรไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชวนค้นหาความหมายของอาหารพระโคทั้ง 7 สิ่งและผ้านุ่งพระยาแรกนาจะมีความหมาย คำทำนายเสี่ยงทายพยากรณ์อย่างไรไปดูกัน

วันพืชมงคล 2567 ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 6) งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย

กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีการกำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ จะเป็นวันใดในเดือนหก หรือ เดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณีจึงให้จัดขึ้นในวันนั้น

สำหรับปีนี้ได้กำหนดให้ วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง




พระราชพิธีพืชมงคล 2567

เป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทั้งข้าว และพืชจำพวกงา มีพระสงฆ์มากระทำพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์พืช ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2567

เป็นพระราชประเพณีที่องค์พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้นำพิธี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่หวั่นภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเพาะปลูกให้มีศรัทธาและมั่นใจ ด้วยการบวงสรวงเทวดา ด้วยพิธีเสี่ยงทายทำนายความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำ สภาพดินฟ้าอากาศ เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงถือเอาวันพืชมงคล คือ วันเริ่มต้นฤกษ์หว่านไถ

สัตยาธิษฐาน

การเสี่ยงทาย ทำนายความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำฝน และการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ จากผ้านุ่งของพระยาแรกนา และอาหารของพระโค ดังนี้





คำเสี่ยงทายวันพืชมงคล 2567

ผ้านุ่งซึ่งพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามกันคือ

ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ
    • พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่

ถ้าหยิบได้ผ้า 5 คืบ
    • พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ
    • พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่





การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ในวันพืชมงคล

ของกิน 7 สิ่งเลี้ยงพระโค มี ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ

ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด
    • พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา
    • พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า
    • พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควรธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์

ถ้าพระโคกินเหล้า
    • พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับ ต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง






ขอขอบคุณ :-
ข้อมูล/ภาพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ฐานเศรษฐกิจ | 10 พ.ค. 2567 | 05:00 น.
URL : https://www.thansettakij.com/news/general-news/595609

 13 
 เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2024, 10:28:37 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 14 
 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2024, 09:56:04 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 15 
 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2024, 08:09:57 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



การตั้งสตรีหรือบุรุษมีศีล ให้เป็นใหญ่ในเรือน

พระพุทธเจ้าตรัสถึงแนวคิดเกี่ยวกับผู้บริหารหรือผู้นำที่ดีมีคุณธรรมศีลธรรม มีผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตระกูลหรือองค์กรหรือองค์การไว้ว่า

    “เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้น ก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข”

การแต่งตั้งหรือมอบหมายบุคคลให้รับผิดชอบงาน จึงต้องมีการกำหนดคุณสมบัติให้เหมาะสม

@@@@@@@

๑. แนวคิดการกำหนดคุณสมบัติผู้รับผิดชอบงาน

พระพุทธองค์ตรัสถึง ผลกระทบด้านบวกของความมีศีล ที่มีต่อเสถียรภาพของตระกูลหรือองค์การว่า บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขาก็ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ตรัสว่า บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้น ฉะนั้น...

คนชอบนอนหลับในกลางวัน ไม่ลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลงขี้เมาประจำ ไม่สามารถครองเรือนได้ ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลยหนุ่มสาวที่ละทิ้งการงานโดยอ้างว่า เวลานี้หนาวเกินไป เวลานี้ร้อนเกินไป เวลานี้เย็นเกินไป เป็นต้น ส่วนผู้ใดทำหน้าที่ของบุรุษ ไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข

ในสาธุสีลชาดก พราหมณ์ถาม พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ว่า บรรดาคน ๔ คน คือ
    (๑) คนมีรูปงาม
    (๒) คนมีอายุ
    (๓) คนมีชาติสูง
    (๔) คนมีศีลธรรม
ท่านจะเลือกใครหนอ.? อาจารย์ฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว กล่าวว่า ร่างกายก็มีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมต่อท่านผู้เจริญวัย ชาติสูงก็มีประโยชน์ แต่ข้าพเจ้าชอบใจศีล


@@@@@@@

๒. แนวคิดการแต่งตั้งและมอบหมายงาน

แนวคิดในการแต่งตั้งหรือมอบหมายงานนี้ มีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น การแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ การแต่งตั้งเจ้าอธิการต่าง ๆ และมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายให้รับผิดชอบงานไว้อย่างชัดเจน

    ๒.๑ การแต่งตั้งอุปัชฌาย์ อาจารย์ และคุณสมบัติผู้ควรเป็นอุปัชฌา อาจารย์
    พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตอุปัชฌาย์ คือ ทรงแต่งตั้งมอบหมายพระอรหันตสาวกให้ดำรงตำแหน่งเป็พระอุปัชฌาย์ เพื่อช่วยให้อุปสมบทคอยตักเตือนพร่ำสอนภิกษุเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ทรงตั้งอาจารย์ เพื่อให้นิสสัยแก่อันเตวาสิกผู้อยู่อาศัยด้วย

ทรงกำหนดคุณสมบัติของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ไว้ว่า ภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌาย์ให้อุปสมบท ควรเป็นอาจารย์ให้นิสสัย ควรใช้สามเณรให้อุปัฏฐาก ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๖ ประการ คือ
    (๑) รู้จักอาบัติ
    (๒) รู้จักอนาบัติ
    (๓) รู้จักอาบัติเบา
    (๔) รู้จักอาบัติหนัก
    (๕) จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
    (๖) มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ และคุณธรรม ๑๐ ประการ

    ๒.๒ การตั้งเจ้าอธิการ และคุณสมบัติผู้ควรเป็นเจ้าอธิการ
    พระพุทธเจ้าได้ตั้งพระภิกษุให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการต่างๆ เพื่อช่วยรับภาระในกิจการงาน คณะสงฆ์ที่มีเพิ่มขึ้นตามการเจริญรุ่งเรืองและการขยายตัวขององค์กรสงฆ์ พร้อมทรงกำหนดคุณสมบัติสำหรับภิกษุผู้ควรดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการต่าง ๆ ไว้ด้วย เช่น พระภัตตุทเทสก์ มีหน้าที่แจกภัตพระเสนาสน ปัญญาปกะ มีหน้าที่จัดเสนาสะที่พักอาศัย พระเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง ภิกษุผู้รับจีวร ภิกษุผู้แจกจีวร ภิกษุผู้ใช้คนวัด ภิกษุผู้ใช้สามเณร พร้อมกำหนดคุณสมบัติไว้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น

         ๒.๒.๑ ทรงอนุญาตให้แต่งตั้งพระภัตตุเทเทสก์มีหน้าที่ในการแจกภัตหรือจัดกิจนิมนต์ กำหนดคุณสมบัติไว้ว่าต้องมีคุณสมบัติ ๕ อย่าง คือ
         (๑) ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
         (๒) ไม่ลำเอียงเพราะชัง
         (๓) ไม่ลำเอียงเพราะหลง
         (๔) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
         (๕) รู้จักอาหารที่แจกและอาหารที่ยังไม่ได้แจก

         ๒.๒.๒ ทรงอนุญาตให้แต่งตั้งพระผู้ใช้สามเณร กำหนดคุณสมบัติไว้ว่าต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ
         (๑) ไม่ลำเอียงเพราะชอบ
         (๒) ไม่ลำเอียงเพราะชัง
         (๓) ไม่ลำเอียงเพราะหลง
         (๔) ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
         (๕) รู้จักงานที่ควรใช้และงานที่ยังไม่ได้ใช้

    ๒.๓ การตั้งบุคคล คณะบุคคล หรือคณะกรรมการรับผิดชอบงาน
    ทรงตั้งพระสารีบุตรให้เป็นทูตประสานภิกษุชาววัชชีผู้บวชใหม่ประมาณ ๕๐๐ รูป นำกลับคืนสู่คณะสงฆ์ คราวพระเทวทัตชักชวนเข้าพวกทำลายสงฆ์ ทรงกำหนดคุณสมบัติของภิกษุ ผู้ควรทำหน้าที่ทูต ไว้ว่า ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง คือ
         (๑) รู้จักฟัง
         (๒) สามารถพูดให้ผู้อื่นฟังได้
         (๓) ใฝ่ศึกษา
         (๔) ทรงจำได้ดี
         (๕) เป็นรู้ได้เข้าใจชัด
         (๖) สามารถพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
         (๗) ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
         (๘) ไม่ก่อความทะเลาะวิวาท

ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ อย่าง(นี้) ควรทำหน้าที่ทูตได้

หลังพุทธปรินิพพานแล้ว สงฆ์ได้แต่งตั้งภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้จำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและวินัย ด้วยวิธียัติทุติยกรรมวาจาที่พระมหากัสสปะประกาศให้สงฆ์ทราบ

และคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๒ สงฆ์ประสงค์จะระงับอธิกรณ์เรื่องวัตถุ ๑๐ ประการของภิกษุชาวเมืองวัชชี จึงประชุมกัน และได้คัดเลือกภิกษุชาวปราจีน ๔ รูป คือ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระอุชชโสภิตะ และพระวาสภคามิกะ และภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะอีก ๔ รูป คือ พระเรวตะ พระสัมภูตสาณวาสี พระยสกากัณฑกบุตร และพระสุมนะ แล้วแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานเพื่อระงับอธิกรณ์





ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความ : แนวคิดพระพุทธศาสนา เพื่อการบริหารจัดการองค์การที่ดี อย่างมีเสถียรภาพ , โดย พระมหาวิศิต ธีรวํโส ผศ., ป.ธ.๙ , วารสาร พุทธจักร : ปีที่ ๗๗ ฉบับที่ ๖ [พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๖๖] , หน้า ๙๗-๙๙

 16 
 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2024, 07:08:38 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



การรู้จักประมาณในการบริโภค - ฉลาด เหมาะสม พอเพียง มีคุณค่า

๑. แนวคิดการวางแผนใช้สอยโภคทรัพย์

พระพุทธเจ้าตรัสหลักการแบ่งโภคทรัพย์เพื่อการใช้จ่ายเรียกว่า โภควิภาค ทรงจัดสรรออกเป็น ๔ ส่วน คือ
    (๑) เอเกน โภเค ภุญฺยเชยฺย ส่วนหนึ่งใช้ ได้แก่ ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงและทำประโยชน์
    (๒-๓) ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย สองส่วนใช้ประกอบการงาน ได้แก่ ใช้ลงทุนประกอบการงาน
    (๔) จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย ส่วนที่สี่เก็บไว้ใช้ยามมีอันตราย ได้แก่ เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

ทรงวางแผนใช้โภคทรัพย์ที่หามาได้กำหนดเป็นแผนรายจ่ายได้ ๔ หมวดอย่างเหมาะสม คือ
    (๑) ใช้จ่ายเพื่อการบำรุงตนเอง มารดาบิดา บุตรภรรยา ทาสกรรมกร คนรับใช้ มิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุขโดยชอบ
    (๒) ใช้จ่ายเพื่อการป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร คนที่ไม่ชอบกัน หรือจากทายาท
    (๓) ใช้จ่ายเพื่อการทำพลี ๕ อย่าง ได้แก่ การสงเคราะห์ บวงสรวง น้อมให้ หรือส่วย ประกอบด้วยญาติพลี สงเคราะห์ญาติ อติพลี ต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ราชพลี ถวายเป็นของหลวงมีเสียภาษีอากร เป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา
    (๔) ใช้จ่ายเพื่อการบริจาคทำบุญกุศลในพระพุทธศาสนา ในสมณพราหมณ์ ผู้ทรงศีล

และทรงรับรองว่า บุคคลผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ตามแผนการที่กำหนดไว้นี้แล้ว พึงหวังได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย คือ
    (๑) เจริญด้วยนาและสวน
    (๒) เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก
    (๓) บุตรและภรรยา
    (๔) เจริญด้วยทาส กรรมกรและคนใช้
    (๕) เจริญด้วยสัตว์สี่เท้า
    (๖) เจริญด้วยศรัทธา
    (๗) เจริญด้วยศีล
    (๘) เจริญด้วยสุตะ
    (๙) เจริญด้วยจาคะ
   (๑๐) เจริญด้วยปัญญา

ทรงสรรเสริญกามโภคีบุคคลคือ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงเลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่ว่า เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นหัวหน้าสูงส่ง ล้ำเลิศ

๒. แนวคิดการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมพอเพียง

พระองค์ตรัสถึงคุณสมบัติของผู้ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมพอเพียง เพื่อสร้างความมั่งคั่งหรือรักษาความมั่งคั่งให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้นว่า จะต้องรู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ การรู้จักประมาณในการบริโภคนี้ แม้ในการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคล พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นเหตุให้มีอายุยืน ดำรงชีวิตอยู่ได้นาน

๓. แนวคิดการบริโภคคุณค่าแท้

พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของการรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอยว่า ต้องพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงบริโภคใช้สอย ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์

และตรัสว่า ผู้ประกอบด้วยคุณธรรม คือ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคนี้ไม่อาจเสื่อม คือ ไม่อาจเสื่อมจากสมถะและวิปัสสนา หรือมรรคและผล กล่าวคือ ไม่เสื่อมจากสมถะและวิปัสสนาที่ได้บรรลุแล้ว และจะได้บรรลุมรรคและผลที่ยังไม่ได้บรรลุ ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน

เมื่อถือเอาความตามแนวคิดนี้ ก็จะเห็นได้ว่า การใช้สอยอย่างรู้คุณค่าเน้นประหยัดที่สุดประโยชน์สูงสุด สามารถดำรงองค์การให้คงอยู่ได้ต่อไป ไม่มีล่มสลาย






ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความ : แนวคิดพระพุทธศาสนา เพื่อการบริหารจัดการองค์การที่ดี อย่างมีเสถียรภาพ , โดย พระมหาวิศิต ธีรวํโส ผศ., ป.ธ.๙ , วารสาร พุทธจักร : ปีที่ ๗๗ ฉบับที่ ๖ [พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๖๖] , หน้า ๙๕-๙๖

 17 
 เมื่อ: พฤษภาคม 08, 2024, 06:17:26 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



เคล็ดลับจับโกหก
22 Feb 2022 | ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา



 :96: :96: :96:

คุณคิดว่าการโกหกเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนคะ

นักจิตวิทยาชาวต่างประเทศกลุ่มหนึ่งที่อยากทราบคำตอบนี้ ได้ให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยจดบันทึกประจำวันอย่างละเอียดแล้วนำมาวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า คนทั่วไปมักพูดโกหกโดยเฉลี่ยวันละ 1-2 ครั้ง นั่นแปลว่าในแต่ละวัน เรามีโอกาสไม่น้อยเลยนะคะที่จะต้องเจอกับคำโกหก และบางครั้ง เราเองก็พูดโกหกบ้างเหมือนกันใช่ไหมคะ แล้วเรื่องอะไรบ้างที่คนเรามักพูดโกหก นักจิตวิทยากลุ่มดังกล่าวพบว่า เรื่องที่คนเราพูดโกหกบ่อยที่สุด คือ เรื่องความรู้สึก ความชอบ เจตคติ ความคิดเห็น รองลงมาคือเรื่องการกระทำที่ได้ทำไปแล้ว หรือแผนการว่าจะทำอะไร รวมไปถึงความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง

ทำไมคนเราต้องพูดโกหกเรื่องเหล่านี้ด้วย

เหตุผลของการโกหกมีตั้งแต่เพื่อผลประโยชน์ เพื่อความสะดวกสบายของตัวเอง หรืออาจปกปิดการกระทำที่ผิดศีลธรรม จริยธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ บ่อยครั้งการโกหกก็มีเป้าหมายเพื่อปกป้องจิตใจตนเองและผู้อื่นจากความเจ็บปวด ความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน เช่น บางคนอาจเล่าเรื่องโกหกที่ทำให้ตนเองดูดีในสายตาคนอื่น เพื่อให้ดูโก้หรู ดูเก่งกว่าความจริงที่ตนเองเป็น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกดีกับตัวเองได้ชั่วคราว หรือบางครั้งก็ต้องพูดโกหกเพื่อถนอมน้ำใจ รักษาหน้า รักษาความรู้สึกของคู่สนทนา

คงเห็นแล้วว่าการโกหกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ทำความผิดร้ายแรงซึ่งโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากการสืบสวนสอบสวน ชนิดที่ต้องทดสอบกันด้วยเครื่องจับเท็จเท่านั้น การโกหกเกิดขึ้นรอบตัวเรา ในชีวิตประจำวันของเรา จากปากคนรอบข้างที่เราสนทนาด้วย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไราคู่สนทนาของเรากำลังโกหก มีสัญญาณหรือเบาะแสอะไรบ้างไหมที่จะช่วยบอกเราได้ นักจิตวิทยามีคำตอบเหล่านี้ค่ะ

นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการทดลองความสามารถในการจับโกหกของคนทั่วไป โดยให้นักศึกษาจำนวนมากมาพูดโกหกบ้างจริงบ้างเกี่ยวกับเจตคติเรื่องต่าง ๆ ของตนให้แนบเนียนที่สุด ให้ผู้ร่วมการทดลองนับหมื่นคน จากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักจิตบำบัด นักศึกษาสาขาวิชานิติศาสตร์ ศิลปินดารา มาจับโกหก พบว่าความพยายามของคนส่วนใหญ่ในการจับโกหก ไม่ได้ทำให้เขาจับโกหกได้ดีไปกว่าการเดาสุ่มเลย คือ มีอัตราการตอบถูกว่าผู้พูดกำลังโกหกหรือพูดจริงเพียงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

เมื่อผู้วิจัยถามผู้ร่วมการทดลองจำนวนหนึ่งที่สามารถบอกได้ถูกต้อง 90 เปอร์เซ็นต์ ว่าผู้พูดกำลังพูดจริงหรือโกหก ในการทดลองทุก ๆ รอบ ซึ่งมีอยู่เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมการทดลองทั้งหมด คนที่เก่งกาจในการจับโกหกเหล่านี้ตอบตรงกันว่า เขาสังเกตจากอวัจนภาษา และวิธีการใช้คำพูดของผู้พูดแต่ละคน ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงได้เสนอแนะวิธีสังเกตเบาะแสของการพูดโกหกที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิสัมพันธ์กันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจับเท็จ โดยเราสามารถสังเกตสัญญาณของการโกหกได้จากสีหน้าท่าทาง วิธีการพูด การใช้ภาษา




สัญญาณจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการจับโกหก

1. สัญญาณด้านอารมณ์ความรู้สึก

นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องอารมณ์ความรู้สึกให้เหตุผลว่า การพูดโกหก คือการพูดเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้เชื่อ ไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนั้นจริง ดังนั้น ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่ากำลังโกหก หรือความรู้สึกละอายใจที่พูดโกหก หรือกรณีการแสร้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกอื่นที่ไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกจริง ๆ ย่อมมีร่องรอยของอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่รั่วไหลออกมาทางสีหน้า ท่าทาง หรือแม้แต่น้ำเสียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติที่ยากจะควบคุมไว้ให้แนบเนียนได้ตลอดเวลา เมื่อผู้พูดเกิดความรู้สึกกลัวว่าจะถูกจับได้ว่าโกหก เราอาจสังเกตเห็นสัญญาณของความกลัว

ซึ่งแสดงออกมาได้หลายอย่าง เช่น พูดด้วยน้ำเสียงที่สูงกว่าปกติ พูดเร็ว และดังกว่าปกติ พูดติดขัด พูดผิดบ่อย ๆ สัญญาณดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้นหากผู้พูดคาดว่าและกลัวว่าจะถูกจับได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องเสี่ยง และผู้พูดรู้สึกว่ากำลังถูกจับตามองอยู่ แต่เมื่อใดที่คู่สนทนาเป็นคนที่ไว้วางใจในตัวผู้พูดมาก หรือรู้สึกว่าเป็นการพูดโกหกเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ควรทำ แต่ตนเองก็กำลังพูดโกหก ผู้พูดอาจเกิดความรู้สึกผิด หรือละอายที่พูดโกหก สัญญาณต่าง ๆ ที่แสดงถึงความรู้สึกละอายใจหรือรู้สึกผิดก็จะรั่วไหลออกมาให้เราสังเกตได้ เช่น การพูดด้วยน้ำเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า สีหน้าเศร้า และมักเหลือบตามองลงต่ำบ่อย ๆ

ส่วนกรณีที่เป็นการพยายามซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง โดยโกหกว่ากำลังรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อนของคุณอาจไม่ชอบหนังที่คุณชวนไปดูเลย แต่เขาก็พยายามแสดงออกว่าชอบมากเพื่อไม่ให้คุณเสียใจ เขาจึงต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างการแสดงอารมณ์ความรู้สึก 2 อย่าง แต่อย่างที่กล่าวไปเมื่อสักครู่นี้ว่า ปฏิกิริยาทางอารมณ์มักเป็นไปโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น ความรู้สึกแรกที่แท้จริงอาจปรากฏขึ้นบนสีหน้าทันทีในแวบแรกที่พูดกันถึงหนังเรื่องดังกล่าว แต่เพื่อไม่ให้คู่สนทนาเสียใจ ผู้พูดก็จะพยายามยิ้มแย้มเพื่อกลบเกลื่อนและบอกกับคุณว่า เขาชอบ หนังเรื่องนี้สนุกดี หากเราสังเกตพบว่าคู่สนทนามีสีหน้าแวบแรกที่ขัดแย้งกับสีหน้าและคำพูดที่เขาแสดงต่อมา นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของเขาไม่ให้คุณรู้

2. สัญญาณที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางปัญญา

พูดง่าย ๆ ก็คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้พูดจะต้องใช้ความคิดมากกว่าปกติ หรือมากกว่าที่จำเป็นต้องใช้เวลาพูดความจริง ทำไมการพูดเรื่องโกหกใช้ความพยายามทางปัญญามากกว่าการพูดความจริง นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะการพูดโกหกคือการพูดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ผู้พูดจะต้องใช้สมอง ใช้ความคิดเพื่อสร้างเรื่องราวขึ้นมา ในขณะที่การพูดความจริง ผู้พูดไม่ต้องใช้ความพยายามในการแต่งเรื่องมากนัก เพียงแค่เล่าไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น นอกจากความพยายามที่ใช้ไปในการสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงแล้ว คนที่กำลังพูดโกหกยังต้องพยายามควบคุมสีหน้าท่าทางของตัวเองให้ดูสมจริงสมจัง ดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีพิรุธ ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดจดจ่ออยู่พอสมควร

ดังนั้น คนที่กำลังพูดโกหกจึงอาจมีกิริยาท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงการที่ต้องใช้ความพยายามทางความคิดมากกว่าปกติ เช่น การตอบสนองกลับ เช่น การตอบคำถามจะช้ากว่า มีท่าทีลังเลในการพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้มือไม้ประกอบจะน้อยลงกว่าปกติ เพราะเกิดอาการเกร็ง จดจ่ออยู่กับการตั้งใจแต่งเรื่องให้สมเหตุสมผลให้มากที่สุด และควบคุมกิริยาอาการไม่ให้มีพิรุธนั่นเอง และหากต้องทำอะไรที่ใช้ความคิดไปด้วย

 คนที่กำลังโกหกมักทำงานนั้นได้ไม่ดี เช่น จำข้อมูลอื่น ๆ ที่เข้ามาในขณะนั้นไม่ค่อยได้ เพราะสมองกำลังยุ่งอยู่ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ข้อสังเกตนี้จะใช้ได้ดีก็เมื่อคนที่พูดกับคุณคือคนที่คุณรู้จักหรือเคยคุยด้วยแล้ว เพราะการตอบช้า พูดช้า ไม่มีเกณฑ์สากลตายตัว แต่เป็นการเปรียบเทียบกับเวลาปกติที่คนคนนั้นพูดความจริงมากกว่าค่ะ บางคนอาจเป็นคนคิดช้าตอบสนองช้าโดยธรรมชาติอยู่แล้วนะคะ นอกจากนั้น ท่าทีลังเลก็อาจเป็นเพราะเรื่องที่กำลังพูดเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนก็ได้

3. ลักษณะของเรื่องราวและคำพูด

เรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวซักซ้อมการเล่าเรื่องมาก่อน เรื่องราวที่เล่าก็จะไม่ค่อยราบรื่น เนื้อเรื่องมักมีแต่ข้อมูลพื้น ๆ ไม่มีรายละเอียด คลุมเครือ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น ไม่บอกเวลาหรือสถานที่ที่แน่ชัด นักจิตวิทยาให้เหตุผลว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องโกหกเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เวลาแต่งเรื่องภายในเวลาที่จำกัด คนเราก็มักสร้างเรื่องราวที่น่าจะเป็นไปได้เท่าที่นึกออกในขณะนั้น ซึ่งเมื่อไม่ได้เกิดจากประสบการณ์จริง ก็ย่อมไม่สามารถนึกถึงรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงอะไรได้มากไปกว่าข้อมูลคร่าว ๆ

แต่บางที ถ้าผู้พูดเตรียมตัวมาดีเกินไปก็จะดูเหมือนซ้อมมา ท่องบทมา และราบรื่นเกินไปจนไม่น่าเชื่อ นักจิตวิทยาพบว่า เวลาคนเราเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้น เราไม่ได้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับคำพูดของเรามากนัก เราอาจพูดผิดออกเสียงผิดบ้าง และกรณีที่เป็นเรื่องจริงที่ผ่านมานานพอสมควร เราอาจหลงลืมจำไม่ได้ เล่าไปแล้วอาจย้อนกลับมาแก้ กลับมาเติมรายละเอียด แต่ผู้พูดโกหกที่มีเวลาเตรียมตัวซักซ้อมมาดีมักไม่ค่อยมีการพูดผิดพลาด และเล่าเรื่องยาว ๆ ได้ราบรื่นดี ไม่มีอาการหลงลืม ไม่มีการย้อนกลับมาเติมข้อมูลอะไรในภายหลัง

ด้านการใช้คำพูด นักจิตวิทยาในต่างประเทศวิเคราะห์คำพูดที่โกหก พบว่า จะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกทางลบมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังใช้สรรพนามเรียกตัวเองน้อยกว่าเวลาพูดเรื่องจริง และมักพูดไม่เต็มเสียง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการโกหกที่ทำให้ผู้พูดรู้สึกผิดหรือละอายใจ เช่น โกหกคนที่รักและไว้วางใจตนเอง คาดว่าเป็นเพราะความรู้สึกผิดที่โกหก

@@@@@@@

สุดท้ายนี้ อยากฝากไว้ว่า การที่เราสังเกตเห็นสัญญาณต่าง ๆ ที่กล่าวมา ไม่ได้ทำให้เราสามารถสรุปได้ทันทีว่าผู้พูดกำลังโกหก สัญญาณเหล่านี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นที่ต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เช่น แรงจูงใจของผู้พูด บุคลิกลักษณะโดยธรรมชาติของผู้พูดด้วยนะคะ


 

 
Thnak to : https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/catch-out
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 18 
 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2024, 08:44:10 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 19 
 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2024, 08:05:51 pm 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 20 
 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2024, 05:48:24 pm 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10