ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: [1] 2 3 ... 10
 1 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 07:00:57 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.

ที่มาของภาพ, Getty Images


เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ 5 ข้อ ที่ทำให้คนเห็นผี

คนส่วนมากชอบฟังเรื่องผี และหลายคนก็บอกว่ามีประสบการณ์ได้เห็นภูตผีปีศาจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าในเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ กลับบอกว่ายังไม่พบหลักฐานที่ชี้ชัดว่าผีมีจริง แต่มีคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์สยองขวัญที่มีผู้พบเห็นกันมานักต่อนักว่า แท้ที่จริงอาจเกิดขึ้นเพราะสาเหตุทางวิทยาศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. ความผิดปกติในการนอน

ประสบการณ์เผชิญหน้ากับวิญญาณที่บอกเล่ากันมาบ่อยครั้งก็คือการถูก "ผีอำ" มองเห็นร่างคนหรือถูกเงาดำกดทับจนขยับไม่ได้ รวมทั้งหูก็ได้ยินเสียงประหลาดต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ความฝันขณะตื่น" (Waking dream ) ซึ่งเป็นภาวะเคลิ้มที่สมองตื่นอยู่แต่ร่างกายยังหลับไม่ตอบสนอง มีความเกี่ยวข้องกับอาการตัวแข็งเป็นอัมพาตขณะหลับอีกด้วย

ดร.โจ นิกเคล นักวิจัยอาวุโสของ "คณะกรรมการซีเอสไอ" (Committee for Skeptical Inquiry - CSI ) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่ส่งเสริมการตรวจสอบปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ บอกว่าภาวะความฝันขณะตื่นทำให้คนมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับความกลัวในจิตใจได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ตายไปแล้วหรือมนุษย์ต่างดาว ส่วนมากจะเห็นว่ามีภูตผีมายืนข้างเตียง บ้างอาจรู้สึกว่าถูกกดทับหรือถูกบีบคอจนร้องไม่ออก

"นั่นคือการที่จิตใจเล่นกลกับตัวคุณเอง โดยทำให้เห็นภาพหลอนที่เหมือนจริง ในชีวิตการทำงาน 50 ปีของผม ไม่เคยพบหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวที่ยืนยันว่าผีมีจริง แต่ตรงกันข้าม ผมกลับพบคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์สำหรับเรื่องผีมากมาย ทั้งสาเหตุที่มาจากการได้ยินเสียงในย่านคลื่นความถี่ต่ำ (อินฟราซาวด์) ความผิดปกติทางอารมณ์หรือสมอง รวมทั้งการอดนอนก็มีส่วนสร้างภาพหลอนได้อย่างมาก" ดร.นิกเคลกล่าว

"เวลาที่คุณอดนอนและเหนื่อยล้า ทั้งยังอยู่ในสถานที่ที่บรรยากาศวังเวงน่ากลัว นั่นคือสูตรสำเร็จของการเห็นผีส่วนใหญ่เท่าที่ผมได้เคยตรวจสอบมาเลยทีเดียว"



ที่มาของภาพ, Getty Images , คำบรรยายภาพ, ความกลัวที่ฝังลึกในจิตใจและส่งผลให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงทางกาย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มองเห็นภูตผีได้

2. ภาวะกลัวผีและสิ่งลึกลับอย่างรุนแรง (Phasmophobia)

ความกลัวที่ฝังลึกในจิตใจและส่งผลให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงทางกาย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มองเห็นภูตผีได้ โดยนายแบรนดอน อัลวิส ผู้ก่อตั้งสมาคมวิจัยปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอเมริกัน (APRA) บอกว่าภาวะดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการแพนิก (Panic Attack) หรือการตื่นตระหนกหวาดกลัวอย่างรุนแรงควบคุมไม่ได้ จนมองเห็นภาพหลอนขึ้นมา

"คนที่มีภาวะนี้จะมีอาการหายใจขัด หรือหายใจหอบถี่เร็ว จังหวะการเต้นของหัวใจไม่แน่นอน เหงื่อตก คลื่นไส้อาเจียน อันเนื่องมาจากความกลัวที่ฝังลึกในจิตใจ คนที่เชื่อเรื่องผีอยู่แล้ว เมื่อไปอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่น่าหวาดกลัว ก็มักจะมองเห็นสิ่งเคลื่อนไหวแปลก ๆ แวบไปมาที่หางตาอยู่เสมอ" นายอัลวิสกล่าว

3. การขาดออกซิเจน

การขาดออกซิเจนในสมอง (Cerebral anoxia) สามารถทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้บิดเบี้ยวผิดจากความเป็นจริงออกไปได้ รวมทั้งยังทำให้มองเห็นภาพหลอนได้ง่ายอีกด้วย โดยนายอัลวิสบอกว่าการขาดออกซิเจนในสมองทำให้ผู้ป่วยหนักรู้สึกถึงประสบการณ์แปลก ๆ ขณะใกล้ตาย และมีความรู้สึกว่าวิญญาณล่องลอยออกจากร่างในหลายกรณีด้วย

"คนที่เข้าไปในอาคารเก่า ๆ หรือสถานที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งมีเชื้อราและสารพิษอื่น ๆ อยู่มาก อาจเกิดการขาดออกซิเจนในสมองขึ้นชั่วขณะได้ แต่ละคนอาจมีอาการมากน้อยต่างกันไป แต่ก็สามารถทำให้คนเหล่านั้นเชื่อได้ว่าตนเองมองเห็นภูตผีปีศาจเข้าจริง ๆ"



ที่มาของภาพ, Getty Images

4. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มีความเกี่ยวข้องกับกรณีบ้านผีสิงหลายแห่งมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1920 แล้ว โดยมีหลักฐานการวิจัยที่ชี้ว่า เมื่อสมองได้รับก๊าซดังกล่าวเข้าไปมากจะทำให้ร่างกายเกิดอาการวิงเวียนคลื่นเหียน หายใจขัด รู้สึกเหนื่อยล้าสับสน รวมทั้งเห็นภาพหลอนหรือหูแว่วได้ยินเสียงหลอนประสาทได้

คาร์บอนมอนอกไซด์ไม่มีสีและกลิ่น ทำให้ยากที่จะตรวจพบได้ หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต โดยในแต่ละปีมีชาวอเมริกันกว่า 500 คนต้องเสียชีวิตด้วยเหตุนี้

ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ ยังอาจมีอาการป่วยต่อไปหลังจากนั้นนานหลายปีได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ทั้งด้านความจำ ความคิด และพฤติกรรม บ่อยครั้งที่มีรายงานว่าผู้ป่วยเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงแว่วต่าง ๆ ทั้งเสียงกระดิ่งและเสียงคนวิ่งไล่กัน รวมทั้งรู้สึกถึงสัมผัสประหลาดคล้ายผีมาแตะต้องตัวอีกด้วย

5. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิจัยปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอเมริกัน (APRA) ยังบอกว่า การที่เกิดจุดอากาศเย็นผิดปกติ หรือมีผู้สัมผัสถึงพลังงานเคลื่อนไหวประหลาดในบางสถานที่นั้น ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากการเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าชั่วคราว ซึ่งหลายครั้งก็เป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์นั่นเอง

"ภาพหลอนหรือความรู้สึกประหลาดเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในอีกมิติหนึ่งหรืออีกยุคหนึ่ง เกิดขึ้นได้จากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าพลังสูง ที่อาจบังเอิญเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองชั่วขณะ" นายอัลวิสกล่าว





Thank to : https://www.bbc.com/thai/international-41819139
31 ตุลาคม 2017

 2 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:35:09 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



ทำไม การได้รับคำชม ถึงเป็นเรื่องยาก สำหรับบางคน

คุณทราบหรือไม่ว่า สำหรับบางคน การได้รับคำชมนั้นอาจกลายเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจได้ จนถึงขั้นนำไปสู่สภาวะความกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง และความเหนื่อยล้าทางความคิด

วลีที่ถูกพิมพ์บนแผ่นป้ายทางการศึกษาเป็นภาษาดัตช์ที่ว่า "101 manieren om een kind te prijzen" ที่แปลว่า "101 วิธีชมเชยเด็ก" ในคำชมที่แนะนำ ได้แก่ "หนูทำได้ดีมาก..." และ "เก่งมาก"

รองศาสตราจารย์ เอ็ดดี้ บรัมเมลแมน อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ในเนเธอร์แลนด์ บอกว่า วลีดังกล่าวดูเหมือนจะเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ แต่เขากลับมองว่า แนวความคิดนี้ไม่ส่งผลด้านบวกต่อเด็กเลย

แนวคิดเหล่านั้นที่ปรากฎอยู่บนป้ายโปสเตอร์อาจจะดูเป็นเรื่องราวไร้พิษภัยใด ๆ และดูเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่สำหรับบรัมเมลแมน เขาคิดว่าคำพูดนี้เป็นการชมเชยเกินจริง และงานวิจัยของเขาชี้ให้เห็นว่า การชมเชยแบบนี้ทำให้เด็ก ๆ ดำดิ่งเข้าสู่วัฏจักรที่ทำให้เด็กประเมินคุณค่าในตัวเองต่ำ (low self-esteem) แม้การชมเหล่านี้จะถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ก็ตาม

นี่ ไม่ใช่เพียงแค่การชมเชยที่เกินจริงเท่านั้นที่อาจทำให้ผู้คนรู้สึกอึดอัด ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงชาวเยอรมันคนหนึ่งที่ปฏิเสธคำชมจากเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของเธอ หรือเด็กชายญี่ปุ่นที่ตอบว่า "ไม่ ไม่" เมื่อญาติเรียกเขาว่า เป็นคนที่มีความสามารถ ซึ่งอาจจะถูกมองว่า เขาเป็นคนไม่สำนึกบุญคุณในบางสถานการณ์

จริงอยู่ที่อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีตอบรับคำชมอย่างเหมาะสม แต่จากงานวิจัยทางจิตวิทยา ชี้ให้เห็นว่า การไม่สนใจคำชม ไม่ได้เป็นข้อเสียเสมอไป

และนี่เป็นข่าวดีสำหรับหลาย ๆ คนที่รู้สึกเหมือนน้ำท่วมปากเมื่อได้รับคำชม และตำหนิตัวเองที่ดูเหมือนจะตอบกลับไปแบบไม่ดีพอ

@@@@@@@

คำชมแบบเหมารวม

อีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องฝึกเป็นผู้รับคำชมเสมอไปก็คือ บางคำชมนั้นเป็นการดูถูกโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น การชมคนผิวดำชาวอเมริกันว่า "พูดจาคล่องแคล่ว" หรือการชมชาวเอเชียที่เกิดในสหรัฐ ฯ ว่า "เก่งภาษาอังกฤษ" คำชมเหล่านี้เผยให้เห็นอคติของผู้พูด นั่นคือ ความประหลาดใจที่คนกลุ่มน้อยสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว การชมเชยโดยแฝงไปด้วยความรู้สึกว่า ตัวเองเหนือกว่า (patronizing compliment) ที่อิงกับกลุ่มชาติพันธุ์ (เช่น "คุณเป็นผู้นำที่ดีนะ สำหรับผู้หญิงคนนึง") อาจนำไปสู่ความโกรธและความต้องการเผชิญหน้าได้

เมื่อคำชมยึดตามบรรทัดฐานทางเพศ ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่คำชมที่ไม่เหมาะสมก็สามารถฝังรากลึกให้กับภาพลักษณ์เดิม ๆ การล่วงละเมิดทางเพศอาจถูกแฝงเร้นในคราบการเยินยอ สิ่งนี้มักถูกโยนให้กลายเป็นภาระของผู้หญิงที่ต้องหาทางรับมืออย่างสุภาพ แทนที่จะเป็นหน้าที่ของผู้ชายที่จะไม่ล่วงละเมิดและมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ

โดยทั่วไป ผู้หญิงได้รับคำชมมากกว่าผู้ชาย เมื่อผู้ชายได้รับคำชม มักจะเน้นที่ความสามารถของพวกเขา ในขณะที่ผู้หญิงมักได้รับคำชมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ คำชมเหล่านี้มีผลกระทบที่แตกต่างกัน "คำชมด้านรูปลักษณ์นำไปสู่การโฟกัสที่รูปลักษณ์และการหมกมุ่นกับรูปร่างกาย" โรเทม คาฮาลอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยบาร์ อิลาน ในเมืองรามัต-กัน ประเทศอิสราเอล กล่าว งานวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า คำที่สื่อถึงร่างกาย รวมถึงคำชมที่เน้นรูปร่าง จะถูกประมวลผลในสมองได้เร็วและแม่นยำกว่าคำที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น "ความเป็นมิตร"

ผลที่อาจตามมาอย่างหนึ่งคือ การชะลอความคิดของผู้รับคำชม จริง ๆ ผศ.คาฮาลอน ร่วมเขียนบทความวิจัยนักศึกษามหาวิทยาลัยในอิสราเอล พบว่า ทั้งชายและหญิงที่ได้รับคำชมด้านรูปลักษณ์ ล้วนมีผลการทดสอบคณิตศาสตร์แย่ลงในภายหลัง ถึงแม้ว่าคำชมเหล่านี้อาจฟังดูดี แต่ ผศ.คาฮาลอน ตีความว่า คำชมเหล่านี้อาจสร้างความกังวลเกี่ยวกับตัวเองที่รบกวนสมาธิ ส่งผลต่อประสิทธิภาพทางปัญญา "การหมกมุ่นอยู่กับร่างกายเป็นสภาวะทางจิตที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิด" ผศ.คาฮาลอน กล่าว



ที่มาของภาพ, Getty Images , คำบรรยายภาพ, ในงานศึกษาหนึ่งพบว่า การชมเชยอย่างไม่เหมาะสมเพิ่มความกังวลให้กับผู้หญิงแต่ไม่เพิ่มความกังวลสำหรับผู้ชาย

หลักฐานทางจิตวิทยาอื่น ๆ ชี้ให้เห็นว่า คำชมต่อรูปลักษณ์อาจส่งผลกระทบต่อผู้หญิงเป็นพิเศษ ในงานวิจัยที่ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิตาลีจำลองการสัมภาษณ์งาน คำชมที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อระดับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อผู้ชาย ขณะเดียวกัน ผู้หญิงในหลายวัฒนธรรมถูกคาดหวังให้เป็นคนสุภาพเรียบร้อยควบคู่ไปกับการมีรูปลักษณ์ที่ดึงดูด สิ่งนี้สร้างความตึงเครียดเกี่ยวกับวิธีตอบสนองต่อคำชม

โดยรวมแล้ว "คำชมต่อรูปลักษณ์นั้นตอกย้ำบทบาทดั้งเดิมของผู้หญิงอย่างแยบยลในฐานะวัตถุทางเพศที่ต้องมีการดูแลภาพลักษณ์ตลอดเวลา" ผศ.คาฮาลอน กล่าว

ถึงแม้ว่าการชมรูปลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงอาจดูเหมือนเจตนาบริสุทธิ์และยังดูเป็นเรื่องที่ดี "แต่มันก็ยังเป็นรักษาสถานภาพทางเพศเอาไว้ ว่าผู้หญิงต้องถูกประเมินโดยอิงจากรูปลักษณ์" เธอกล่าว

@@@@@@@

การตอบรับกับคำชม

ขณะที่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อคำชมมักศึกษากลุ่มประชากรที่เรียกว่า "Weird" ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก กลุ่มชาวตะวันตกที่มีการศึกษาสูงอยู่ในสังคมอุตสาหกรรม มีความร่ำรวย และเป็นประชาธิปไตย เป็นหลัก และยังมักศึกษากลุ่มนักเรียนนักศึกษามากกว่ากลุ่มอื่น ๆ แต่งานวิจัยในวัฒนธรรมอื่น ๆ แสดงให้เห็นเช่นกันว่าไม่มีวิธีสากลสำหรับการรับมือกับคำชม

ประการแรก ในบางสังคม คำชมไม่ได้ถูกมองในแง่บวก ตัวอย่างเช่น คำชมอาจถูกมองว่าเป็นการข่มขู่ ในชุมชนที่มีความเชื่ออย่างรุ่นแรงทั้งในเรื่องของการอิจฉาและเวทมนตร์

แม้กระทั่งในสังคม ที่คำชมส่วนใหญ่มักถูกมองในแง่บวก นักวิจัยได้บันทึกระดับการยอมรับคำชมที่แตกต่างกัน (ซึ่งมักแสดงออกโดยการพูดแค่ว่า "ขอบคุณ") ตัวอย่างการศึกษาหนึ่งกับผู้พูดภาษาอังกฤษในไนจีเรีย พบว่า 94% ของคำชมที่เก็บรวบรวมนั้นได้รับการยอมรับ เทียบกับตัวเลข 88% ในการศึกษาของชาวแอฟริกาใต้ และ 66% ในการศึกษาของชาวอเมริกัน และเพียง 61% ในการศึกษาของชาวนิวซีแลนด์

อย่างไรก็ตาม มีวิธีตอบสนองต่อคำชมที่หลากหลายนอกเหนือจากการยอมรับหรือปฏิเสธอย่างง่าย ๆ การวิเคราะห์บทสนทนาภาษาเยอรมันพบว่า ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการศึกษายอมรับคำชมอย่างท่วมท้น แต่พวกเขามักจะไม่ตอบว่า "ขอบคุณ" ตรงกันข้าม บางครั้งพวกเขาอาจแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำชมนั้นเอง เช่น ตอบว่า "ดีจัง" เมื่อได้รับคำชมว่า "อยู่บ้านคุณในเย็นวันนี้เป็นเรื่องที่ดีจัง" (สิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความสุภาพของชาวเยอรมัน ที่คำชมมีน้อยกว่าแต่จริงใจกว่า เมื่อเทียบกับในสหรัฐฯ)

นักวิจัยหลายคนได้บันทึกความขัดแย้งภายในจิตใจที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหนึ่งได้รับคำชม พวกเขาต้องเลือกระหว่างความต้องการให้บทสนทนาราบรื่นโดยการเห็นด้วย แต่ก็รู้สึกว่าจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเยินยอตัวเอง ความขัดแย้งนี้อาจรุนแรงเป็นพิเศษในบางสถานการณ์ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมักจะมีแรงกดดันให้ปฏิเสธคำชม 45% ของคำชมที่ระบุไว้ในการศึกษาครั้งหนึ่ง นำไปสู่การตอบสนองเชิงลบ แต่ผู้พูดภาษาญี่ปุ่นมีกลยุทธ์หลากหลายในการตอบรับคำชมโดยไม่ยอมรับหรือปฏิเสธโดยตรง เช่น การพยักหน้าหลายครั้ง หรือพูดติดตลกแซวว่า พฤติกรรมที่ได้รับคำชมนั้นจริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ดี

สำหรับคนที่เติบโตในวัฒนธรรมที่คำติชมมักเน้นไปที่วิธีปรับปรุง แทนที่จะเป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี อาจรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้รับคำชม อย่างเช่น เด็กชาวจีน "ได้รับการสอนให้มุ่งเน้นไปที่ข้อบกพร่องของตัวเอง และไม่โอ้อวดความสำเร็จ"

ฟลอร์รี่ เฟย-หยิน อึง ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง กล่าว "จากมุมมองนี้ ไม่น่าแปลกใจที่เด็กจีนอาจรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้รับคำชม"



ที่มาของภาพ, Getty Images , คำบรรยายภาพ, การชื่นชมที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อการเห็นคุณค่าของตัวเองของแต่ละบุคคลได้

ในขณะที่วัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมจีน ส่งผลให้การยอมรับคำชมในจีน (และในประเทศอื่น ๆ รวมถึงอิหร่าน) เพิ่มมากขึ้นในประเทศจีน

ศ.อึง กล่าวว่า เด็กชาวจีนยังคงสังเกตวิธีที่ผู้ใหญ่ตอบสนองต่อคำชม และปรับใช้พฤติกรรมของเขาตามแบบอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น เธออาจสังเกตว่า เมื่อญาติชมพวกเขาต่อหน้าพ่อแม่ พ่อแม่ของพวกเขาเปลี่ยนประเด็นไปเรื่องอื่น ๆ จากคำชมดังกล่าว

แน่นอนว่า การเลี้ยงดูแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้ดีกว่าอีกแบบหนึ่งทั้งหมด การชมเชยเด็กอย่างต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงผลงานที่พวกเขาทำไปจริง ๆ อาจกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์และไร้ประสิทธิภาพ แต่การไม่ชมเลยก็อาจส่งผลเสียต่อการปรับตัวทางอารมณ์ "พฤติกรรมแบบใดที่น่าจะส่งผลต่อผลลัพธ์เชิงบวกของเด็ก ขึ้นอยู่กับขอบเขตที่พฤติกรรมนั้นเป็นที่ยอมรับทางสังคมในโลกสังคมของเด็ก" ศ.อึง กล่าว

สำหรับผู้ใหญ่บางคน คำวิจารณ์อาจเป็นแรงผลักดันมากกว่าคำชม ตัวอย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญมักได้รับแรงกระตุ้นจากคำวิจารณ์เชิงลบมากกว่ามือใหม่

@@@@@@@

เมื่อใดที่คำชมไม่เป็นประโยชน์

แน่นอนว่า ยังมีปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อวิธีที่ใครสักคนตอบสนองต่อคำชม คำชมสามารถกระตุ้นความวิตกกังวลในผู้ที่มีความนับถือตนเองต่ำ เนื่องจากคำชมท้าทายมุมมองที่พวกเขามีต่อตัวเอง และทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกเข้าใจผิด นอกจากนี้ ความกลัวการถูกประเมินในแง่ลบยังเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีอาการวิตกกังวลทางสังคม

แต่แม้สำหรับคนอื่น ๆ คำชมที่ไม่คาดคิดก็อาจทำให้สับสนได้ "โดยพื้นฐานแล้ว คำชมคือการประเมิน" รศ.บรัมเมลแมนกล่าว แม้จะเป็นการประเมินในแง่บวก "ผู้คนไม่ชอบถูกประเมินเสมอไป ... มันดึงคุณออกจากโฟกัสในปัจจุบัน มันทำให้คุณกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับคุณ"

นอกเหนือจากการกระตุ้นความรู้สึกไม่พึงประสงค์อย่างกะทันหันว่าคุณกำลังถูกตัดสิน คำชมยังสามารถทำให้คุณรับรู้ถึงความแตกต่างของอำนาจได้อย่างฉับพลัน ท้ายที่สุด รศ.บรัมเมลแมนกล่าวว่า "มันเป็นเรื่องปกติที่ครูจะชมนักเรียน แต่ในทางกลับกัน ก็ใช่เป็นเรื่องที่ทั่วไปที่นักเรียนกล่าวคำชมครู ผมคิดว่า คุณก็เห็นสิ่งนี้ในที่ทำงานเช่นกัน"

งานวิจัยเกี่ยวกับเด็กของ รศ.บรัมเมลแมนยังชี้ให้เห็นว่า เด็ก ๆ อาจจะอ่อนไหวต่อวิธีการได้รับคำชมมาก ตัวอย่างเช่น คำชมที่เกินจริงจากครูอาจส่งสัญญาณว่า พวกเขาคาดหวังไม่สูงมากต่อนักเรียนบางคน เช่น เด็กที่มาจากฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ไม่ดีนัก และได้รับการยกยออย่างมากเกินไปเพื่อชดเชยกับความขาดแคลนดังกล่าว

"จากนั้น นักเรียนจึงตีความคำชมที่เกินจริงว่า เป็นหลักฐานว่าพวกเขาไม่ฉลาดเท่าไหร่" รศ. บรัมเมลแมนกล่าว

ในการศึกษากับกลุ่มเด็กที่ร้องเพลงในเนเธอร์แลนด์ รศ.บรัมเมลแมนและเพื่อนร่วมงานยังพบว่า การยกยอที่ไม่สมเหตุสมผลทำให้เด็กที่มีภาวะวิตกกังวลทางสังคมเกิดความเขินอายได้

"การเขินอายเป็นสัญญาณจริง ๆ ว่า คนอื่นอาจประเมินคุณในแง่ลบ" รศ.บรัมเมลแมนกล่าวและว่า

"มันมักเกิดขึ้นเมื่อเราเป็นจุดสนใจ" ในกรณีนี้ แม้ว่าความวิตกกังวลทางสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกไม่สบายใจ แต่ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือ ระดับของคำชม การบอกให้เด็กยอมรับคำชมที่มากเกินไปโดยไม่หน้าแดงนั้นไม่เป็นประโยชน์อะไร



ที่มาของภาพ, Getty Images

เด็ก ๆ แสดงให้เห็นถึงการรับรู้ถึงความแตกต่างของคำชมตั้งแต่วัยเยาว์มาก "เด็กก่อนวัยเรียน เมื่อพวกเขาเห็นว่าครูชมอย่างฟุ่มเฟือย... โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของงาน พวกเขาเริ่มไว้ใจคำชมของครูเหลือน้อยลง" รศ.บรัมเมลแมนกล่าว ซึ่งอีกนัยหนึ่ง คุณค่าของคำชมจะลดลงหากชมแบบขอไปที

อันที่จริง การให้คำชมที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าผลดี

รศ.บรัมเมลแมนสังเกตว่า "พ่อแม่มักจะให้คำชมกับเด็กที่มีความนับถือตนเองต่ำ เนื่องจากพวกเขาคิดว่าเด็กเหล่านี้ต้องการคำชมเพื่อรู้สึกดีขึ้นเกี่ยวกับตัวเอง แต่นั่นไม่เป็นความจริง" งานวิจัยของเขากับเพื่อนร่วมงานแสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กที่มีความนับถือตนเองต่ำได้รับคำชมที่เกินจริงมากขึ้น ความนับถือตนเองของพวกเขาจะเลวร้ายลงตามกาลเวลา คำชมที่เกินจริงสร้างความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ที่ทำให้ดีพอ ในขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณไปยังเด็ก ๆ ว่า คุณค่าของตัวเองควรเชื่อมโยงกับคำชมจากภายนอก

รศ.บรัมเมลแมนสนับสนุนให้ทำลายวงจรที่ชั่วร้ายนี้ด้วยการใช้คำชมอย่างรอบคอบและเหมาะสมยิ่งขึ้น ในขณะที่พ่อแม่บางครั้งมักให้คำชมเพื่อแสดงความสนใจ แต่ก็มีวิธีอื่นที่จะทำได้ เช่น แทนที่จะชมภาพวาดของลูกโดยอัตโนมัติและพรั่งพรูออกมา พ่อแม่สามารถนั่งลงและพูดคุยเกี่ยวกับภาพวาด แสดงความกระตือรือร้น

"เด็ก ๆ ใฝ่ฝันถึงความอบอุ่นและความรักมากกว่าที่พวกเขาใฝ่ฝันถึงการประเมินในแง่บวกของคุณ" รศ.บรัมเมลแมนเชื่ออย่างนั้น

โดยรวมแล้ว "ผมคิดว่าพวกเราประเมินว่าผู้คนชื่นชอบการได้รับคำชมสูงเกินไป" เขากล่าว

@@@@@@@

บรรเทาความกดดันลง

ดังนั้น แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรกล่าวโทษผู้กล่าวคำชม ซึ่งโดยปกติแล้วจะชมบุคคลอื่นด้วยความตั้งใจให้รู้สึกดี คำชมเหล่านั้นก็ควรได้รับการจัดการอย่างดี

ในขณะเดียวกัน ผู้รับคำชมสามารถปล่อยวางตัวเองจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด หากพวกเขาไม่มีกำลังเพียงพอที่จะยอมรับคำชมอย่างสุภาพ สิ่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะนิสัยหรือปัจจัยทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก (หรือที่จำเป็น) หรือคำชมบางอย่างอาจเผยให้เห็นถึงเป้าหมายของผู้ให้คำชมมากกว่าความต้องการของผู้ถูกชม

"มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คำชมคุณรู้สึกแย่" บรัมเมลแมนสรุป "ผมเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า นี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของใคร ๆ ที่จะเรียนรู้วิธีรับคำชม แต่สิ่งที่อาจเป็นประโยชน์คือ เพียงแค่ฝึกฝนการตอบสนองขั้นมาตรฐานที่คุณจะตอบกลับ และไม่ต้องกังวลมากนัก หากมันทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจ" เขากล่าว






Thank to : https://www.bbc.com/thai/articles/c9707g250g0o
ที่มาของภาพ, Getty Images | คริสติน โร, ผู้สื่อข่าวสารคดีพิเศษ , 9 เมษายน 2024

 3 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:25:53 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



“สมเด็จธงชัย” ชื่นชม “สามเณรทรงพระปาติโมกข์” ผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ “สมเด็จธงชัย” กล่าวสัมโมทนียกถาในพิธีปิดโครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตร และเครื่องไทยธรรม ภัตตาหารเพลพระราชทานถวายพระสงฆ์ และเครื่องเขียนพระราชทานแด่สามเณรในโครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีปิดโครงการฯ โดยมี พลอากาศตรี สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง เป็นผู้เชิญมาถวาย สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ “สมเด็จธงชัย” กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ที่อาคารโพธิญาณมหาวิชชาลัย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กล่าวสัมโมทนียกถา ว่า โครงการสามเณรทรงพระปาติโมกข์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ ได้แสดงความงาม 3 ประการให้ปรากฏในสังฆมณฑลนี้ คือ




1.ความงามในเบื้องต้น เพราะการธำรงพระธรรมวินัยให้มั่นคงเป็นหลักฐานในประเทศไทยจะต้องปฏิบัติด้วยบุพเจตนาที่ตั้งไว้ดี มุ่งความดำรงถาวรแห่งพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ โดยไม่ทิ้งหลักการที่ว่า พระธรรมวินัยเป็นพระศาสดา เป็นพระบรมครูผู้แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตราบใดที่ยังมีพระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่อย่างมั่นคง พระพุทธศาสนาก็ยังดำรงอยู่ตราบนั้น วัดตะโก ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีประธานดำเนินงาน อาจารย์ผู้ทรงปาติโมกข์ อาจารย์พี่เลี้ยง รวมถึงภาคราชการผู้สนับสนุน จึงมีสามัคคีธรรม หวังการธำรงอยู่แห่งพระศาสนา ปรารภมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา มาเป็นปฐมเหตุดำริโครงการนี้ นับเป็นกุศลเจตนาที่งดงามในเบื้องต้น

2. ความงามในท่ามกลาง ได้แก่เจตนาและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้ทำงานทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้อยู่ประจำยังสถานที่อบรมนี้ตลอดเดือน เม.ย. ที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน มุ่งมั่น ตั้งใจ ใช้สติปัญญาแก้ปัญหาและอุปสรรคข้อขัดข้อง สามารถประคองความเพียรของสามเณรในการท่องเพื่อทรงจำ การทำกิจกรรม กิจวัตรที่กำหนดเป็นหลักสูตรอบรม จนเป็นผู้มีวินัยในตน สามารถท่องปาติโมกข์จบได้รับอนุมัติให้ผ่าน จำนวนตามเป้าหมายที่คาดไว้ การรักษาน้ำใจของหมู่คณะที่ร่วมกันทำงานประสานความร่วมมือโดยถือความสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ทั้งการอุปถัมภ์ของท่านพุทธศาสนิกชน ผู้บำรุงด้วยปัจจัย 4 ทำให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น น่าชื่นชมยิ่ง

3. ความงามในที่สุด ได้แก่ความสำเร็จระยะแรกของโครงการที่สามารถนำสามเณรจากทั่วประเทศรวม 17 จังหวัด มาฝึกหัดอบรมตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมอันเป็นฐานการพัฒนาชีวิตมนุษย์นำไปสู่ความบริสุทธิ์ของจิตต่อไป นับว่าได้ทำให้สามเณรเป็นเยาวชนที่ดีของชาติ เป็นศาสนทายาทที่ดีของพระศาสนา เป็นผู้รักษาสืบทอดพระธรรมวินัย ผ่านวิธีการทรงจำพระปาติโมกข์ ที่มีผู้สอบได้จำนวนมาก เป็นความยากที่สามเณรสามารถทำได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงจัดเป็น “สังฆโสภณ” ผู้ยังหมู่คณะให้งดงาม เป็นผู้แกล้วกล้าในท่ามกลางสงฆ์ เป็นผู้องอาจ จักประกาศพระวินัยให้ปรากฏสืบไป





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3390586/
1 พฤษภาคม 2567 ,8:30 น. | การศึกษา-ศาสนา

 4 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:22:06 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



เปิดแนวทางจัดการศึกษาระดับประถมฯให้ “สามเณร” เรียนร่วมเด็กทั่วไปได้

เปิดแนวทางจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาร่วมกับคฤหัสถ์ได้ โดยพิจารณาจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ผู้ที่บรรพชาเป็นสามเณรมีช่วงอายุระหว่าง 7-20 ปี ต้องได้รับการศึกษาตามกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ แต่เนื่องจากการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาในปัจจุบัน ยังเป็นการจัดการศึกษาเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถรับสามเณรเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาได้ ดังนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมวางแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมศึกษาของสามเณร

โดยสามเณรสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับของทางราชการร่วมกับคฤหัสถ์ได้ โดยให้สถานศึกษาพิจารณาจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม และเอื้อเฟื้อต่อสถานภาพของสามเณร พร้อมกันนี้กรมส่งเสริมการเรียนรู้สามารถดำเนินการจัดการศึกษาให้กับสามเณรตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2560 ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคณะสงฆ์ในแต่ละพื้นที่ และเป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้จะได้พิจารณาเป็นรายกรณีไป

นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 ได้มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า คำสั่ง มส. เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาหรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. 2564 มีเจตนารมณ์ให้เป็นข้อห้ามพระภิกษุ สามเณร เข้าเรียนวิชาหรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น จึงมิได้กระทบต่อการเข้ารับการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับแต่ประการใด





ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/news/3392485/
1 พฤษภาคม 2567 , 15:36 น. | การศึกษา-ศาสนา

 5 
 เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2024, 08:22:32 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 6 
 เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2024, 05:23:50 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 7 
 เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2024, 02:21:23 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 8 
 เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2024, 01:46:09 pm 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 9 
 เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2024, 11:07:06 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 10 
 เมื่อ: พฤษภาคม 01, 2024, 10:34:38 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

หน้า: [1] 2 3 ... 10