ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อาฏานาฏิยสูตร โดย สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)  (อ่าน 1584 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๓๒-ปัจจุบัน
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

อาฏานาฏิยสูตรบรรยาย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๑

    จะแสดงตำนานที่ ๖ อาฎานาฏิยสูตร หรือ อาฎานาฎิยปริตร พระปริตรว่าด้วยพระสูตร ชื่อว่า อาฏานาฏิย มีตำนานแสดงว่า

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาชื่อว่าคิชฌกูฏ ที่แปลว่ามียอดคล้ายศีรษะของแร้ง ในกรุงราชคฤห์ ในครั้งนั้นท้าวมหาราชทั้งสี่อันหมายถึงเทพผู้เป็นโลกบาล ๔ ทิศ ได้เข้าไปเฝ้าในเวลากลางวันเมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พร้อมกับพวกเสนาทั้งหลาย ท้าวเวสวัณมหาราชได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ามีความว่า

    บรรดายักษ์ทั้งหลายที่เป็นพวกมีอำนาจมากก็มี มีอำนาจปานกลางก็มี มีอำนาจน้อยก็มี ไม่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มีอยู่ ที่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มีอยู่ ที่ไม่เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เพราะ โดยมากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากปาณาติบาต ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากอทินนาทาน ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากกามมิจฉาจาร ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากมุสาวาท ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานแห่งความประมาท

    แต่ว่าพวกยักษ์โดยมากไม่เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านั้น ข้อนั้นคือข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมให้เว้นนั้น จึงไม่เป็นที่ชอบใจ ไม่เป็นที่พอใจของพวกยักษ์เหล่านั้น

    สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอยู่ที่เข้าไปอยู่ในป่า และบรรดายักษ์ทั้งหลายที่มีปกติอยู่ในป่านั้น พวกที่ไม่เลื่อมใสในปาพจน์ คือในพระธรรมวินัย หรือในพุทธศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ก็มี

    ฉะนั้น ก็ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุเคราะห์ ทรงรับฟัง รักขา เครื่องรักษา หรือ ปริตร เครื่องป้องกันอันชื่อว่า อาฏานาฏิย เพื่อความเลื่อมใสของบรรดายักษ์ทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อคุ้มครองรักษา เพื่อความไม่ต้องถูกเบียดเบียน เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายดั่งนี้

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับโดยอาการดุษณีภาพ คือ นิ่ง
    ท้าวเวสวัณมหาราชครั้นทราบการรับของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงได้กล่าว อาฏานาฏิยรักขา หรือ อาฏานาฎิยปริตรนี้ในเวลานั้น ซึ่งมีความแปลว่า

   
    ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีจักษุ ผู้มีสิริ
    ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระสิขีพุทธเจ้า ผู้มีปกติอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง
    ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้มีกิเลสอันล้างแล้ว ผู้มีตบะ
    ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนา
    ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระโกนาคมนพุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว ผู้มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว
    ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
    ความนอบน้อมแห่งข้าพเจ้า จงมีแด่พระอังคีรสพุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสแห่งศากยราชผู้มีสิริ
    พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ได้ทรงแสดงแล้วซึ่งธรรมนี้ เป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวง
    อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดก็ดี ที่ดับกิเลสแล้วในโลก เห็นแจ้งธรรมตามเป็นจริง


    พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ไม่มีความส่อเสียด เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีความครั่นคร้ามไปปราศแล้ว เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย นอบน้อมอยู่ ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้เป็นโคตมโคตร ผู้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีความครั่นคร้ามไปปราศแล้ว

    ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้โคตมโคตร ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ พระพุทธเจ้าเหล่านี้ก็ดี เหล่าอื่นก็ดี หลายร้อยโกฏิ พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ทั้งหมดเสมอกัน ไม่มีใครเหมือน
    พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ล้วนมีฤทธิ์มาก ล้วนประกอบแล้วด้วยทศพลญาณ ประกอบไปด้วยเวสารัชชญาณ พระพุทธเจ้าเหล่านั้นล้วนตรัสรู้ซึ่งอาสภฐานคือฐานะอันประเสริฐอันอุดม


เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร
(พระรูปฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

    พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้องอาจไม่ครั่นคร้าม บันลือสีหนาทในบริษัททั้งหลาย ยังพรหมจักรให้เป็นไป อันใคร ๆ ยังไม่ให้เป็นไปแล้วในโลก
    พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ประกอบแล้วด้วยพุทธธรรมทั้งหลาย ๑๘ เป็นนายกผู้นำ
ผู้ประกอบด้วยพระลักษณะใหญ่อันเรียกว่ามหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ และทรงซึ่งอนุพยัญชนะคือลักษณะน้อย ๘๐ มีพระรัศมีอันงาม ด้วยพระรัศมีมีมณฑลข้างละวา


    พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ล้วนเป็นมุนีผู้ประเสริฐ
    พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ล้วนเป็นพระสัพพัญญู ล้วนเป็นพระขีณาสพผู้ชนะ มีพระรัศมีมาก มีพระเดชมาก มีพระปัญญามาก มีพระกำลังมาก มีพระกรุณามาก เป็นนักปราชญ์ผู้ทรงปัญญา นำสุขมาเพื่อสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง และเป็นที่อาศัย เป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้นของสัตว์ เป็นคติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นที่ยินดีมาก เป็นที่ระลึก หรือเป็นที่พึ่งที่นับถือ ทรงแสวงหาประโยชน์ เพื่อสัตว์โลกกับเทวโลก
    พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ล้วนเป็นเบื้องหน้าของสัตว์ทั้งปวง


    ข้าพเจ้า ขอวันทาพระบาทของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า และขอวันทาพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้เป็นบุรุษอันอุดม ผู้เป็นตถาคต ด้วยวาจาและใจทีเดียว ในที่นอนด้วย ในที่นั่งด้วย ในที่ยืนด้วย แม้ในที่เดินด้วย ในกาลทุกเมื่อ พระพุทธเจ้าผู้กระทำความระงับ จงรักษาท่านด้วยสุข ในกาลทุกเมื่อ ท่านผู้อันพระพุทธเจ้าเหล่านั้นรักษาแล้ว จงเป็นผู้ระงับพ้นแล้วจากภัยทั้งปวง และพ้นแล้วจากโรคทั้งปวง เว้นแล้วจากความเดือดร้อนทั้งปวง ล่วงเสียซึ่งเวรทั้งปวง ท่านจงเป็นผู้ดับทุกข์ทั้งปวงด้วย ความจัญไรทั้งปวงจงเว้นไป โรคทั้งปวงจงฉิบหายไป อันตรายจงอย่าได้มีแก่ท่าน ขอท่านจงเป็นผู้มีสุข มีอายุยืน

     ธรรมทั้งหลาย ๔ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้อภิวาท กราบไหว้ต่อบุคคลควรอภิวาทกราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญเป็นนิตย์



    นี้เป็นความแปลของอาฏานาฏิยปริตรหรืออาฏานาฏิยสูตรนี้ ตามตำนานที่เล่าซึ่งได้แสดงมาข้างต้นนั้น ก็แสดงว่าไม่ใช่เป็นพระพุทธพจน์มาก่อน แต่เป็นถ้อยคำของท้าวเวสวัณมหาราชได้มากราบทูลพระพุทธเจ้า แสดงข้อความทั้งหมดนี้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้พระองค์ได้ทรงรับเอาไว้
    เพื่อให้บรรดาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายทรงจำไปสาธยายในเวลาเข้าไปอยู่ในป่า
    และเมื่อสาธยายข้อความนี้ บรรดายักษ์ทั้งหลายที่อยู่ในป่า ซึ่งไม่เลื่อมใสในปาพจน์
    คือ ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังข้อความนี้ก็จะเลื่อมใส


    ฉะนั้น การสาธยายข้อความนี้ จึงเป็นไปเพื่อความคุ้มครองรักษาป้องกันผู้สวดสาธยาย จากบรรดายักษ์ทั้งทลาย และในพระสูตรที่ท่านรจนาไว้นั้นยังได้เล่าต่อไปว่า
    วันรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงเล่าเรื่องที่มหาราชทั้ง ๔ ได้มาเฝ้าพร้อมทั้งบริวาร และท้าวเวสวัณมหาราชได้มากราบทูลข้อความนี้แก่พระองค์ โดยได้กล่าวในคำกราบทูลดังที่ได้เล่ามานั้น และก็ได้ทรงอนุญาตให้สาธยายพระสูตรนี้ได้

    พระสูตรนี้ได้แสดงเริ่มด้วยนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นต้น
    ซึ่งขึ้นว่า วิปสฺลิสฺสนมตฺถุ จกฺขุมนฺตสฺสิรีมโต และโดยมากนั้นการสวดมนต์ในพิธีต่างๆ ก็มักจะสวดไปจนถึงพระองค์ที่ ๗ คือ พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายที่มีพระนามว่า พระโคดมศากยบุตร
    และลงด้วยคำว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน พุทธํ วนฺทามิ โคตมนฺติ
    ข้าพเจ้าทั้งหลายขอนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้โคตมโคตร ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ


    ส่วนตอนต่อไป ที่แสดงสรุปถึงพระพุทธเจ้ามากมาย และแสดงพระพุทธคุณ
    คือ คุณของพระพุทธเจ้ามีประการต่างๆ ตลอดจนถึงให้พระพุทธเจ้าคุ้มครองรักษา
    มักไม่ใคร่ได้สวดโดยปกติ ในเวลาที่สวดเต็มจึงสวด
    และในพระสูตรนี้ได้มีแสดงถึงท้าวจตุโลกบาลตามที่มีความเชื่อถือมาเก่าก่อน และมาถึงยุคพุทธศาสนาก็ยังมีติดมาในคัมภีร์พุทธศาสนาดังในพระสูตรนี้ และแสดงถึงเรื่องพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ ซึ่งได้เกิดมีมาแล้วในอดีต อันเป็นแนวความเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งมีอ้างว่าพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้



    แม้ในพระสูตรนี้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นพระวาจาของพระพุทธเจ้าทีแรก
    แต่เป็นวาจาของท้าวเวสวัณมหาราชมากราบทูล

    เนื้อความในพระสูตรนี้ ก็เป็นการแสดงความนอบน้อมในพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ แสดงถึงพระคุณของพระองค์ และขอความคุ้มครองพระพุทธเจ้าให้อภิบาลรักษา อันเป็นความเชื่อของท้าวเวสวัณมหาราช และก็แสดงว่า ผู้มากราบทูลนี้ได้เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและในพระพุทธศาสนา และพระพุทธเจ้าก็ได้มาตรัสต่อแก่ภิกษุทั้งหลายและอนุญาตให้สาธยายต่อไปได้


    ยังมีเรื่องที่น่าจะได้สาธยายประกอบเกี่ยวแก่เทพ และเกี่ยวแก่พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ แต่จะได้กล่าวต่อไปในเมื่อมีเวลา


ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/somdej-preach-index-page.htm
ขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net/,https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 08, 2013, 10:56:23 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ