ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 5 ภิกษุณี ผู้ประเสริฐ แห่งพุทธกาล  (อ่าน 1049 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
5 ภิกษุณี ผู้ประเสริฐ แห่งพุทธกาล
« เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2018, 06:00:58 am »
0




5 ภิกษุณี ผู้ประเสริฐ แห่งพุทธกาล

หากพูดถึงบทบาทของผู้หญิง ย้อนไปถึงในสมัยพุทธกาลก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้หญิงหลายคนในเวลานั้นได้บวชเป็น ภิกษุณี ภิกษุณี หลายรูปที่เราไม่ค่อยคุ้นชื่อกันนัก แต่ประวัติของท่านสะท้อนถึงการต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ กว่าจะบรรลุอรหันต์ และสุดท้ายได้รับยกย่องเป็น “เอตทัคคะ” หรือผู้ที่ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง ซึ่ง ซีเคร็ต ขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง 5 รูป

@@@@@@


๑. พระปฏาจาราเถรี

นางเกิดในตระกูลเศรษฐีในกรุงสาวัตถี เมื่อบิดามารดาจัดหาชายหนุ่มชนชั้นเสมอกันให้แต่งงานด้วย นางก็หนีไปกับคนรักที่เป็นลูกจ้างในบ้าน หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อนางมีบุตรคนแรกก็คิดจะกลับไปหาแม่ แต่สามีไม่ให้ไป พอตั้งครรภ์ลูกคนที่สองนางจึงแอบสามีไปหาแม่ แต่สามีตามมาทันกลางทาง ระหว่างนั้นเกิดฝนตกหนัก สามีออกไปหาที่กำบังฝนแต่ถูกงูกัดตาย และคืนนั้นเองที่นางคลอดบุตรคนที่สอง

รุ่งเช้านางออกตามหาสามี เมื่อมาพบศพนางเสียใจมาก โทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้สามีเสียชีวิต แต่นางต้องหักใจพาลูกสองคนเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี เมื่อถึงฝั่งแม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำไหลเชี่ยวกราก นางให้ลูกคนโตรออยู่ที่ฝั่ง อุ้มลูกคนเล็กข้ามไปก่อน ระหว่างข้ามกลับมารับลูกคนโตได้ครึ่งทาง ก็หันไปเห็นเหยี่ยวกำลังจะโฉบลูกคนเล็กไป นางส่งเสียงโบกมือไล่เหยี่ยว แต่ลูกคนโตที่ยืนรออยู่อีกฝั่งเห็นแม่ส่งสัญญาณแบบนั้นคิดว่าแม่เรียกจึงเดินลงน้ำไปหา แล้วถูกแม่น้ำพัดหายไป นางเสียใจมากรำพึงรำพันกับตัวเองว่า

“บุตรของเราคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายเสียในที่เปลี่ยว”

@@@@

ถึงอย่างนั้นนางก็ยังมุ่งหน้าต่อไปยังบ้านของพ่อแม่ แต่สิ่งที่พบคือ ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ฝนตกหนักเมื่อคืนทำให้บ้านพังถล่มทับพี่ชายและพ่อแม่เสียชีวิตทั้งหมด เมื่อรู้เรื่องนางเสียใจจนเสียสติ เดินเสื้อผ้าอาภรณ์หลุดลุ่ยไปตามท้องถนน นับแต่นั้นคนก็เรียกนางว่า ปฏาจารา ไปไหนคนก็ขับไล่ จนนางเดินมาถึงพระวิหารเชตวัน พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรแล้วทรงเห็นบารมีที่นางบำเพ็ญมาในอดีตชาติ จึงทรงให้นางเดินเข้ามาทางที่ประทับ แล้วตรัสกับนางว่า

“จงกลับได้สติเถิดน้องหญิง”

นางกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพ มีชายคนหนึ่งโยนผ้าให้นางนุ่งห่ม นางถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์และกราบทูลเล่าเรื่องราวต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า

@@@@

“ดูก่อนปฏาจารา เธออย่าคิดเลยไปเลย เธอมาหาเราซึ่งสามารถเป็นที่พึ่งของเธอได้ ก็บัดนี้เธอหลั่งน้ำตาเพราะความตายของลูกเป็นต้นเป็นเหตุฉันใด ในสังสารวัฏที่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายไม่ปรากฏก็ฉันนั้น น้ำตาที่หลั่งเพราะความตายของลูกเป็นต้นเป็นเหตุ ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ น้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ยังมีปริมาณน้อย ความเศร้าโศกของนรชนผู้ถูกทุกข์กระทบแล้ว น้ำจากน้ำตามิใช่น้อยมีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่นั้นเสียอีก แม่เอย เหตุไรเจ้าจึงยังประมาทอยู่เล่า”

เมื่อความเศร้าโศกของนางทุเลาลง พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ไม่มีบุตรที่จะช่วยต้านทาน บิดาก็ไม่ได้ แม้พวกพ้องก็ไม่ได้ เมื่อความตายมาถึงตัวแล้ว แม้หมู่ญาติก็ช่วยไม่ได้เลย สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ และทมะมีอยู่ในผู้ใด พระอริยะทั้งหลายย่อมคบผู้นั้น นั่นเป็นอนามตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย = นิพพาน) ในโลก บัณฑิตรู้ใจความข้อนี้แล้ว สำรวมในศีล พึงรีบเร่งชำระทางไปพระนิพพานทีเดียว”

@@@@

เมื่อได้ฟังดังนั้น นางปฏาจาราตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลก็ทูลขอบรรพชากับพระพุทธเจ้า เมื่อนางบวชเป็นภิกษุณีได้ไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ นางได้ศึกษาพระวินัยจนสามารถกล่าวพระวินัยทั้งมวลได้กว้างขวาง พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นภิกษุณีผู้เลิศทางทรงพระวินัย

นอกจากนี้พระปฏาจาราเถรีมีความสามารถในการแสดงธรรม ทำให้สตรี 30 คนพากันออกบวชเป็นภิกษุณีอยู่บำเพ็ญวัตรปฏิบัติในสำนักของท่านและสามารถบรรลุอรหันต์ใด้ในเวลาต่อมา


@@@@@@


๒. พระนันทาเถรี

นางเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระมหาปชาบดีโคตมีแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นผู้มีรูปโฉมงดงาม มีชื่อว่านันทา และเป็นพระกนิษฐภคนี (น้องสาว) ของพระพุทธเจ้า ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จนิวัตกรุงกบิลพัสดุ์ พระราหุลและพระนันทะออกบวช ต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะนิพพาน พระมหาปชาบดีโคตมีและพระนางพิมพาเสด็จออกผนวชเป็นภิกษุณีแล้ว พระนันทาจึงขอออกบวชบ้าง แต่พระนางบวชแค่ร่างกายเท่านั้น จิตใจยังยึดติดในความงามแห่งร่างกายของตนอยู่

พระนันทาเถรีไม่ยอมเผชิญหน้ากับพระพุทธเจ้าเพราะได้ยินว่า พระพุทธเจ้ามักตรัสสอนว่า ขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระเถรีเกรงว่าพระองค์จะตรัสถึงโทษของรูปร่าง เพราะยังเชื่อว่าแท้จริงแล้วร่างกายของตนงดงาม น่าดูน่าชม

แต่พอนานเข้าพระนันทาเถรีได้ฟังคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าจากผู้ที่ได้ไปฟังธรรม จึงอยากลองไปฟังธรรมดูบ้าง พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า พระนันทาเถรีหนักในรูปมีความรักในอัตภาพอย่างรุนแรง จึงทรงบรรเทาความเมาในรูปดุจการบ่งหนามด้วยหนาม

@@@@

เมื่อพระนันทาเถรีมาถึง พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตหญิงรูปงามอายุ 16 ปี ยืนถวายงานพัดอยู่ใกล้พระองค์ พอพระนางถวายบังคม และสายตามองไปที่หญิงสาวรูปโฉมงดงามนางนั้น พระนันทาเถรีรู้สึกว่าตนเองเหมือนนางกาอยู่หน้าหงส์ ทรงชื่นชมหญิงนั้นว่างามทุก ๆ ส่วน พระพุทธเจ้าทรงทราบแล้วจึงทรงดลบันดาลให้รูปหญิงนั้นเปลี่ยนจากหญิงอายุ 16 เป็น 20 ปี พระนางเห็นแล้วคิดว่า

“ไม่งามเหมือนรูปก่อน”

จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้หญิงนางนั้น เป็นหญิงคลอดบุตร หญิงกลางคน หญิงแก่ ฟันหัก ผมหงอก หลังโกง มีซี่โครงขึ้น มีไม้เท้ายันอยู่ข้างหน้างก ๆ เงิ่น ๆ ต่อมาก็ทิ้งไม้เท้าแล้วร้องเสียงขรมล้มลงที่พื้น นอนกลิ้งเกลือกอยู่ในอุจจาระปัสสาวะ พระนางนันทาเถรีเกิดความเบื่อหน่ายทันที และสุดท้ายพระพุทธเจ้าทรงให้หญิงนางนั้นถึงแก่ความตาย มีศพขึ้นพอง มีหมู่หนอนคลานออกจากทวารทั้ง 9

@@@@

พระนันทาเถรีมีจิตสลด เมื่อทรงพิจารณาเห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ เห็นว่าสภาพนั้นจะมาถึงตนเช่นกัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“ดูก่อนนันทา เธอจงดูรูปที่กระสับกระส่ายเปื่อยเน่าดังซากศพ จงอบรมจิตให้ตั้งมั่น มีอารมณ์เดียว คืออารมณ์ที่ไม่สวยงาม รูปนี้เป็นฉันใด รูปเธอก็เป็นฉันนั้น รูปเธอเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น รูปนี้มีกลิ่นเหม็นเน่าฟ้งุ ไป พวกคนพาลยินดีย่งิ นัก พวกบัณฑิตผ้มู ิได้เกียจคร้านย่อมพิจารณาเห็นรูปเป็นอย่างนั้น ทั้งกลางคืนกลางวัน เธอจงเบื่อหน่าย พิจารณาดูรูปนั้นด้วยปัญญาของตน”

เมื่อจบพระเทศนา พระนันทาเถรีได้บรรลุอรหัตตผล และภายหลังได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นภิกษุณีผู้เลิศทางยินดีในฌาณ

@@@@@@


๓. พระภัททากุณฑลเกสาเถรี

นางเกิดในตระกูลเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ เมื่อโตเป็นสาว วันหนึ่งได้เห็นบุรุษผู้หนึ่งจะนำโจรไปฆ่า นางเกิดตกหลุมรักโจรนั้น วันที่โจรจะต้องถูกนำตัวไปประหาร นางมีสีหน้าระทมทุกข์ พอบิดาสอบถามได้ความแล้วก็ไม่อยากให้ลูกสาวคนเดียวเป็นทุกข์ จึงไปติดสินบนเพชฌฆาตช่วยโจรออกมา แล้วยกลูกสาวให้โจร

ฝ่ายโจรเห็นว่าภรรยามีเครื่องประดับมากมาย เกิดความโลภจึงออกอุบายให้นางใส่เครื่องประดับให้เต็มที่ เพื่อไปแก้บนเทวดาบนหุบเขาที่ตนได้บนไว้ให้รอดตายจากการประหารชีวิต เมื่อไปถึงบนภูเขาแล้วโจรบังคับให้นางถอดเครื่องประดับใส่ห่อซ่อนไว้ตรงทางขึ้น แล้วคิดจะฆ่านาง พอรู้ดังนั้นนางจึงออกอุบายพร่ำพรรณาออกไปว่า

“ตั้งแต่ฉันระลึกได้ เป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ฉันไม่รู้จักบุรุษอื่นว่าเป็นที่รักยิ่งกว่าท่าน มาเถิด ฉันจะขอกอดท่าน จะทำประทักษิณ แล้วจะไหว้ท่าน เพราะท่านกับดิฉันจะไม่ได้อยู่ร่วมกันอีกต่อไป”

@@@@

พอโจรเผลอนางจึงผลักเขาตกเหวเสียชีวิต แล้วออกบวชในสำนักของปริพาชกที่ครองผ้าขาว พวกปริพาชกเอาแหนบถอนผมนางจนหมด ถือเป็นการบวช นางคิดว่าคณะปริพาชกทำกับนางผู้เป็นมนุษย์ดังว่าเป็นสุนัข ต่อมานางเห็นนิมิตเป็นหมู่หนอน จึงถามพวกปริพาชกถึงนิมิตที่ตนเห็น แต่พวกเขาบอกเพียงว่า มีแต่ภิกษุศากยบุตรที่ตอบได้ นางจึงเข้าไปหาสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านพานางเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

จากนั้นพระองค์ทรงแสดงธรรมว่า

“ขันธ์ อายตนะ และธาตุทั้งหลายไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา”

@@@@

นางบรรลุธรรมจักษุ กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณี และเมื่อพิจารณาน้ำล้างเท้าก็เห็นความเกิดและความดับ คิดว่าสังขารทั้งปวงก็ย่อมเป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกัน จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านว่าเป็นภิกษุณีผู้เลิศทางขิปปาภิญญา (รู้เร็ว คือ บรรลุธรรมเร็ว)


@@@@@@


๔. พระภัททกาปิลานีเถรี

นางภัททาเป็นหญิงสาวที่งดงามมาก แม้นั่งอยู่ในห้องไม่ต้องใช้ประทีปก็มีแสงสว่างออกจากร่างของนางไกลประมาณ 12 ศอก ส่วนปิปผลิมาณพ เมื่ออายุได้ 20 ปี บิดามารดาต้องการให้เขามีภรรยาเพื่อมีบุตรไว้สืบสกุล แต่เขาไม่ได้มีจิตคิดอยากครองเรือน เมื่อทนความรบเร้าของบิดามารดาไม่ได้ เขาจึงจ้างช่างทองให้ปั้นรูปสตรีขึ้นรูปหนึ่งนำไปแสดงแก่บิดามารดา แล้วบอกว่า หากท่านหาหญิงได้ดังรูปนี้จะยอมแต่งงาน

บิดามารดาของปิปผลิมาณพจึงสั่งพราหมณ์ 8 คน ช่วยกันไปสืบหาผู้หญิงที่มีลักษณะเหมือนรูปทองคำนี้ในตระกูลที่เสมอกัน หากพบแล้วให้ยกรูปปั้นให้นาง แล้วสู่ขอนางมาให้บุตรชาย เหล่าพราหมณ์จึงนำรูปทองไปตามหาหญิงสาว จนถึงท่าน้ำสาคลนครในมัททรัฐ และก็ได้พบกับหญิงสาวในที่สุด แถมหญิงสาวที่พบยังงามกว่ารูปปั้นเสียอีก

@@@@

แต่เมื่อปิปผลิมาณพและนางภัททาทราบข่าวว่าจะต้องแต่งงานกัน ทั้งคู่ไม่อยากแต่งเพราะประสงค์จะออกบวชเหมอื นกนั ทงั้ สองฝา่ ยจงึ ใหค้ นไปสง่ จดหมายบอกจดุ ประสงค์ของแต่ละฝ่ายให้ทราบ แต่ระหว่างทางผู้นำจดหมายไปส่งแกะจดหมายออกอ่าน ทราบความแล้วจึงพากันเปลี่ยนข้อความในจดหมายให้กลายเป็นข้อความแสดงความรักความต้องการที่จะแต่งงาน การรอคอย สุดท้ายทั้งสองจึงต้องแต่งงานกันในที่สุด

หลังแต่งงานทั้งสองคนไม่ได้มีความสุขในการครองเรือน ปิปผลิมาณพร้อยมาลัยขึ้นพวงหนึ่ง นางภัททาก็เช่นกัน ทั้งสองวางพวงมาลัยกั้นกลางที่นอน ยามนอนปิปผลิมาณพจะขึ้นนอนทางขวา นางภัททาจะขึ้นนอนทางซ้ายหรือแม้กระทั่งตอนกลางวันทั้งสองไม่เคยคิดคุยเล่นคุยหัวกัน จนกระทั่งบิดามารดาตายลง

@@@@

ทั้งสองตัดสินใจจะออกบวช ปลงผมให้แก่กัน แล้วกล่าวว่า

“พระอรหันต์เหล่าใดมีอยู่ในโลก เราทั้งหลายจงบวชอุทิศพระอรหันต์เหล่านั้น”

ครั้นบวชแล้วปิปผลิมาณพเดินไปข้างหน้าเหลียวกลับมาดูนางจึงคิดได้ว่า นางเป็นหญิงที่มีค่าที่สุดในชมพูทวีป เดินตามข้างหลังแบบนี้จะทำให้ใคร ๆ คิดว่า แม้บวชแล้วทั้งสองก็ไม่ยอมพรากจากกัน ไม่สมควรเลย จะทำให้พวกเขาตกนรก พอเดินมาถึงทางแยกจึงหยุดยืน แล้วกล่าวให้นางเลือกไปทางหนึ่ง ส่วนตนจะไปอีกทางหนึ่ง

ในกาลที่ทั้งสองแยกกันทำให้เกิดแผ่นดินไหว พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงแผ่นดินไหว ทรงใคร่ครวญดูก็พบว่าเกิดจากกำลังคุณของทั้งสองคน พระองค์ทรงรอรับการมาของปิปผลิมาณพ ทรงอุปสมบท และแสดงธรรมแก่ปิปผลิมาณพ จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนนางภัททกาปิลานีไปบวชในสำนักปริพาชกอยู่ 5 ปี จากนั้นก็มาบวชในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ไม่นานก็บรรลุพระอรหันต์ มีความช่ำชองในบุพเพนิวาสญาณ ต่อมาพระพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็นภิกษุณีผู้เลิศทางบุพเพนิวาสญาณ

@@@@@@


๕. พระอุบลวรรณาเถรี

นางอุบลวรรณาเกิดในตระกูลเศรษฐี เป็นสตรีสาวสวยที่มีผิวเหมือนดอกบัวขาบ บิดาจึงตั้งชื่อว่า อุบลวรรณา เมื่อเติบโตเป็นสาว มีหนุ่มน้อยใหญ่หมายปอง มีพระราชาจากทั่วชมพูทวีปพากันส่งทูตไปสู่ขอ บิดาเล็งเห็นแล้วว่าไม่อาจทำตามใจทุกคนได้ จึงขอให้นางอุบลวรรณาออกบวช และเน่อื งจากนางได้สั่งสมบุญบารมีมาแต่อดีตชาติ จนกระท่งัชาตินี้นางเป็นปัจฉิมภวิกสัตว์ (สัตว์ผู้เกิดเป็นภพสุดท้าย) นางจึงตกลงใจที่จะบวชในทันที

เมื่อเป็นเช่นนั้นบิดาจึงพานางไปบวชที่สำนักภิกษุณี เมื่อนางบวชได้ไม่ถึงครึ่งเดือน ได้ถึงเวรดูแลพระอุโบสถ นางจุดประทีปแล้วกวาดโรงอุโบสถ และได้ถือนิมิตในเปลวประทีปนั้นทำเตโชกสิณจนเกิดฌาน ทำฌานเป็นบาท เจริญวิปัสสนา จนบรรลุพระอรหันต์ พระอุบลวรรณาเถรีเชี่ยวชาญการใช้ฤทธิ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นภิกษุณีผู้เลิศทางฤทธิ์

@@@@

แม้จะบวชแล้ว พระอุบลวรรณาเถรียังต้องประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ ช่วงที่พระพุทธเจ้ายังไม่ออกกฎห้ามภิกษุณีอยู่ในป่า พระอุบลวรรณาเถรีเที่ยวจาริกไปในชนบท เมื่อกลับมาที่ป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี ได้อาศัยกระท่อมที่ชาวบ้านทำไว้ รุ่งเช้าพระเถรีอออกไปบณิ ฑบาต นันทมาณพผู้แอบรักพระเถรีตั้งแต่ท่านยังเป็นคฤหัสถ์ได้แอบไปซ่อนตัวอยู่ใต้เตียงในกระท่อม พอพระเถรีกลับมาก็ข่มขืนพระเถรีแล้วหนีออกไปจากกระท่อม สุดท้ายถูกธรณีสูบตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงขอให้พระเจ้าปเสนทิโกศลจัดสร้างที่อยู่ให้ภิกษุณีภายในพระนคร พระราชาก็สนองพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี

วันหนึ่งเมื่อพระเถรีทำอาหารด้วยเนื้อแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้า แต่ไม่พบ พบแต่พระอุทายี พระเถรีจึงฝากถวายเนื้อแด่พระพุทธเจ้าด้วย แต่พระอุทายีกล่าวว่า น้องหญิงกระทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอิ่มเอิบด้วยเนื้อ เธอควรถวายผ้าอันตรวาสก (สบง) เพื่อให้อาตมาอิ่มเอิบผ้าอันตรวาสกเหมือนกัน แต่พระเถรีปฏิเสธคำขอนี้

@@@@

พระอุทายีก็ไม่ยอมเช่นกัน สุดท้ายพระอุบลวรรณาเถรีต้องยอมถวายผ้าอันตรวาสกไป ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง พระองค์จึงทรงบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุรับจีวร (ไตรจีวร) จากมือภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ เว้นแต่แลกเปลี่ยนกัน

ภิกษุณีทั้งห้าแสดงให้เห็นว่า แม้จะเกิดเป็นผู้หญิงและต้องประสบเคราะห์กรรมความยากลำบากเพียงใดก็ตาม ก็สามารถปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ได้เช่นกัน



ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :-
• หนังสือ ๔๐ ภิกษุณีพระอรหันต์ ชีวประวัติและคำสอนของพุทธสาวิกาในสมัยพุทธกาล
• หนังสือ อัครพุทธสาวก – สาวิกา อดีตชาติและชาติสุดท้ายของสาวกในพุทธกาล
ที่มา : นิตยสาร Secret ปี 2561 ฉบับที่ 231 (มี.ค. 61) หน้า 86-89
คอลัมน์ : scoop
ขอบคุณที่มา : http://goodlifeupdate.com/healthy-mind/99968.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: 5 ภิกษุณี ผู้ประเสริฐ แห่งพุทธกาล
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2018, 01:27:17 pm »
0
 :25: st11 st12
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

sinsae

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 277
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: 5 ภิกษุณี ผู้ประเสริฐ แห่งพุทธกาล
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2018, 12:38:50 am »
0
 st11 st12 st12
บันทึกการเข้า