ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ผีนัต กับศาสนาของผู้หญิงในพม่า  (อ่าน 103 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ผีนัต กับศาสนาของผู้หญิงในพม่า
« เมื่อ: มีนาคม 20, 2024, 07:21:34 am »
0
.

"พระอินทร์" หัวหน้าแห่งเหล่าผีนัท ณ เจดีย์ชเวดากอง เมียนมาร์ //David Clay


ผีนัต กับศาสนาของผู้หญิงในพม่า

“นัต” คือผีที่ตายร้าย ตายโหง แล้วกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิมของพม่า

นัตจึงเป็นกึ่งเทพกึ่งผี แต่มีฐานะสูงกว่าผีทั่วไป การถือผีนัตก็เช่นเดียวกับพุทธศาสนา เป็นระบบความเชื่อที่ซับซ้อน มีพิธีกรรมการปฏิบัติ และการดูแลตั้งแต่ระดับของครัวเรือนไปจนถึงที่สาธารณะ แถมเรายังสามารถเห็นผีนัตไปโชว์ตัวอยู่ในวัดของพุทธศาสนาได้เป็นเรื่องปกติในพม่าอีกด้วย

ในทางทฤษฎีถือว่าประเพณีการนับถือผีนัตมีปรากฏอยู่เฉพาะในประเทศพม่าเท่านั้น ส่วนทางปฏิบัติทัวร์คนไทยเวลาไปเที่ยวพม่า ต่างก็นิยมพากันไปเช่าผีนัตอย่าง “เทพทันใจ” มาบูชากันจนเทพทันใจต้องมาเปิดแฟรนไชส์ในวัดไทยหลายแห่งกันเลยทีเดียว

แต่กว่าที่ผีนัตจะเข้ามาอยู่ในปริมณฑลของพระพุทธศาสนาของพม่าได้นั้น ก็ใช้เวลานานอย่างน้อยก็เฉียดๆ จะพันปีเลยทีเดียวนะครับ

เรื่องของเรื่องนั้นเริ่มมาจากครั้งที่พระเจ้าอโนรธา แห่งดินแดนเจดีย์ 5,000 องค์อย่างพุกาม จะนำศาสนาพุทธเข้ามาประดิษฐานในอาณาจักรของพระองค์ เมื่อราวๆ เรือน พ.ศ.1500 ระบบความเชื่อแบบใหม่ในพระพุทธศาสนาต้องปะทะเข้ากับระบบความเชื่อแบบเก่า คือระบบผีนัต อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีนัตประจำเป็นของตนเอง ก็ยิ่งทำให้เรื่องดูยุ่งยากขึ้น

และวิธีจัดการกับปัญหาที่ดังกล่าว ที่พระเจ้าอโนรธาทรงเลือกที่จะกระทำก็คือ “การจัดระเบียบผีนัต”


@@@@@@@

ตำนานเล่าว่า พระเจ้าอโนรธาทรงรวบรวมผีนัตในแต่ละท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น 32 ตน จากนั้นจึงทรงแต่งตั้ง “ท้าวสักกะ” ขึ้นเป็นหัวหน้าของนัตทั้ง 32 ตนนั้น เรียกได้ว่าเป็นนัตทั้ง (32+1 รวมเป็น) 33 ตนนี้เป็น “ผี” ที่ได้การรับรอง และสถาปนาขึ้นโดยรัฐ

แต่นัตทั้ง 33 ตนที่พระเจ้าอโนรธาสถาปนาขึ้นมานี้ ก็อาจจะไม่ใช่นัตตนเดียวหรือกลุ่มเดียวกับชาวพม่านับถือในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับที่นัตทั้ง 33 ตนนี้ ก็อาจจะไม่ใช่ผีที่ชาวพม่าในยุคก่อนพระเจ้าอโนรธานับถือด้วยเช่นกัน

เพราะอย่างน้อยที่สุด หัวหน้าคณะผีนัตคือ “ท้าวสักกะ” ก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธมาก่อน

ตามข้อมูลในวรรณคดีฝ่ายพุทธศาสนาเถรวาท “ท้าวสักกะ” คือชื่อหนึ่งของ “พระอินทร์” เทพเจ้าองค์สำคัญในพุทธศาสนา โดยนัยยะหนึ่ง พระเจ้าอโนรธาจึงใช้ศาสนาพุทธในการควบคุมผี เพราะนอกจากพระองค์จะทรงมอบหมายให้ ท้าวสักกะเป็นหัวหน้าของคณะผีนัตทั้งหลายแล้ว ยังเชื่อกันว่าจำนวน 33 ตนนั้น ก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่องภพภูมิ หรือจักรวาลวิทยาจากอินเดีย เพราะสวรรค์ของพระอินทร์ คือสวรรค์ชั้นที่เรียกว่า “ดาวดึงส์” นั้นเป็นที่ประทับของพระอินทร์ และเทพเจ้าอีก 32 พระองค์ รวมเป็น 33 นั่นเอง

และก็โดยนัยยะหนึ่งอีกเช่นกัน การสถาปนานัตทั้ง 33 ตน ของพระเจ้าอโนรธา จึงเปรียบได้กับการควบคุมอำนาจของกลุ่มเมือง หรือสังคมต่างๆ ที่มีมาแต่เดิม ผ่านทางความเชื่อ เพราะแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีนัตประจำเป็นของตนเอง

และแน่นอนด้วยว่า กระบวนการสถาปนาในครั้งนั้น ย่อมมีทั้งการคัดเลือก ตัดทอน หรือแม้กระทั่งสร้างนัตขึ้นมาใหม่ (ในทำนองเดียวกับที่ ท้าวสักกะ ไม่ใช่นัตพื้นเมืองของพม่ามาแต่เดิม)

@@@@@@@

โครงข่ายของนัตที่ต่างก็ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่ถูกสถาปนาไว้ภายใต้ท้าวสักกะทั้งหลาย จึงเปรียบได้ไม่ต่างกับปริมณฑลภายใต้อำนาจเมืองพุกาม ที่มีพระเจ้าอโนรธาเป็นผู้นำ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงความเชื่อในพุทธศาสนาที่ว่า พระอินทร์ หรือท้าวสักกะ คือราชาเหนือเทวดาทั้งปวงแล้ว ปริมณฑลของพระราชอำนาจในพระเจ้าอโนรธา ก็คงจะไม่ต่างไปจากอำนาจของท้าวสักกะที่มีต่อผีนัตอีกทั้ง 32 ตนเท่าไรนัก

กษัตริย์พม่าหลายพระองค์ที่ครองราชย์ต่อมาจากพระเจ้าอโนรธา นับตั้งแต่ราชวงศ์พุกามเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์คองบอง (ราชวงศ์คองบองมีอำนาจอยู่ระหว่าง พ.ศ.2295-2428) ต่างก็ทรงพยายามจำกัดขอบเขตของความเชื่อ ความศรัทธา และพิธีกรรมบูชานัต เพื่อให้ประชาชนหันไปให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามากขึ้นมาโดยตลอด

จึงไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก ที่รายชื่อของนัตที่ถูกสถาปนาจะไม่ต้องตรงกันทุกสมัย เพราะปริมณฑลในเครือข่ายอำนาจสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อผีนัตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในปริมณฑลจักรวาลของพุทธศาสนาแบบพม่าอย่างนี้แล้ว ก็จึงไม่ได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธหรอกนะครับ

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามเมื่อระหว่างปี พ.ศ.2504-2505 ของนักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ชื่อ เมลฟอร์ด สไปโร (Melford Spiro, พ.ศ.2463-2556) กระทำการสำรวจความเชื่อเรื่อง “ผีนัต” ในชุมชนชนบทที่ห่างไปออกไปทางตอนเหนือราว 10 ไมล์ จากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า

พบสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเลยว่า ในชุมชนแห่งนั้นมีผู้ชายเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่เชื่อผีนัต

@@@@@@@

ในขณะที่ผู้หญิงทั้งชุมชนเชื่ออย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งชายและหญิงต่างก็ยอมรับว่า ผู้หญิงจะเกี่ยวข้องกับการนับถือผีนัตมากกว่า กลัวมากกว่า และประกอบพิธีกรรมมากกว่าผู้ชาย

สไปโรยังพบด้วยว่า ผีนัตประจำหมู่บ้านมักจะผู้หญิงเป็นผู้ดูแล และมีผู้หญิงทั้งหมู่บ้านมาร่วมประกอบพิธีกรรม คนทรงก็เป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมด ผู้หญิงมักมาบนบานต่อผีนัตในขณะที่ผู้ชายมักจะไม่เชื่อ

ในพิธีฉลองผีนัตทุกบ้านจะเอาของมาถวายหรือเซ่นผีนัตทั้งที่สืบสายมาทางแม่ และทางพ่อ แต่ถ้าหากพ่อแม่ถือผีนัตคนละตนกันก็มักจะเลือกสืบสายทางแม่มากกว่า

ผู้หญิงจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาอาหารมาถวายผี ส่วนผู้ชายจะเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเต็มตัวอย่างเห็นได้ชัด แถมมักจะเลิกนับถือผีนัตไปเลยกันอยู่บ่อยๆ ลักษณะอย่างนี้ของชุมชนดังกล่าว ยังสามารถเป็นภาพแสดงแทนของชุมชนชาวพม่าได้เกือบทั้งประเทศ เพราะชุมชนไหนๆ ในประเทศพม่าก็มักจะเป็นอย่างนี้นั่นเอง

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า สำหรับกรณีของพม่าแล้ว “ผีนัต” เป็นศาสนาของ “ผู้หญิง” ในขณะที่ “พุทธ” เป็นศาสนาของ “ผู้ชาย”

นิยามของคำว่า ศาสนา ในยุคสมัยใหม่ (modernity) ทำให้ในปัจจุบันชาวพม่าถือว่า “ผีนัต” ไม่ใช่ “ศาสนา” แต่ในความเป็นจริงผีนัตก็เป็นระบบความเชื่อหนึ่งเช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ซ้ำยังมีความขัดแย้งกันเล็กน้อยระหว่างทั้งสองความเชื่อนี้ เพราะในขณะที่พุทธศาสนายอมรับการมีอยู่ของภูติผีปีศาจ ดังจะเห็นได้จากเรื่องเล่าในทำนองที่เป็นนิทานชาดก หรือพุทธประวัติจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติกลับปฏิเสธอำนาจของผีมันเสียอย่างนั้น

@@@@@@@

ทั้งศาสนาพุทธและการนับถือผีนัตต่างก็มีอิทธิพลต่อวิถีการดำรงชีวิตของชาวพม่าอย่างลึกซึ้ง และถึงฝ่ายหนึ่งจะถูกกดให้บี้แบนเสียจนมีสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังจะเห็นได้จากการที่พุทธศาสนาถูกมองว่ามีอำนาจเหนือกว่า ในขณะที่การถือผีนัตไม่ถูกนับว่าเป็นศาสนาเสียด้วยซ้ำไป พระสงฆ์ซึ่งเป็นเพศชายได้รับการยกย่อง ต่างจากคนทรงที่มักเป็นผู้หญิงจะถูกดูถูกและเหยียดหยามว่างมงายไร้สาระ สถานภาพที่สูงส่งกว่าของศาสนาพุทธ

ทำให้น่าสงสัยว่า ทำไมการถือผีนัตจึงยังเจริญอยู่ในพม่าตราบจนกระทั่งทุกวันนี้?

ที่เป็นอย่างนี้ นักมานุษยวิทยาเขาอธิบายกันไว้ว่าเป็นเพราะ การถือผีนัตอยู่ในอาณาบริเวณของการควบคุมดูแลของ “ผู้หญิง” ที่อยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ของ “ผู้ชาย” ในพระพุทธศาสนา โดยนักมานุษยวิทยาชื่อดัง แถมยังป๊อบปูลาร์อย่าง คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz, พ.ศ.2469-2549) เคยอธิบายถึงกรณีอย่างนี้ในอุษาคเนย์เอาไว้ว่า

“ปิตาธิปไตย จากศาสนาที่รับจากภายนอก…ไม่สามารถเอาชนะระบบการสืบสกุลทั้งสองฝ่ายของประชากรส่วนใหญ่ในอาณาบริเวณนี้ได้ เนื่องจากศาสนาใหม่เหล่านั้น ถูกเลือกรับเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่บรรลุเพียงความชอบธรรมในเชิงพิธีกรรม และสัญลักษณ์ท่ามกลางการถือผีที่มีปัจเจกเป็นศูนย์กลางเท่านั้น”

การถือผีและการทรงเจ้าที่มีบทบาทอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการครอบงำของศาสนาพุทธ ฮินดู และอิสลาม ในทุกกลุ่มสังคมวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ล้วนสนับสนุนคำอธิบายของเกียร์ซ ศาสนาดั้งเดิมจึงมีส่วนถ่วงดุลอำนาจระหว่างชายกับหญิง และเปิดช่องว่างให้มีความเป็นอิสระของบุคคลในชีวิตประจำวันนั่นเอง •


 



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2567
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_753554
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ