เรื่องทั่วไป > เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม

ความเข้าใจที่ผิดพลาด เกี่ยวกับ "หลักกรรม"

<< < (3/3)

raponsan:




เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม (1)

วันนี้ขอ “จับเข่าคุย” กันถึงเรื่องราวเก่าๆ ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์บ้าง เณรคัมภีร์บ้าง เอ๊ย ที่ได้รับบอกเล่ากันมาบ้าง สักสองสามเรื่องนะครับ

เรื่องที่หนึ่ง สาวๆ ควรจะรับฟังเป็นอย่างยิ่ง พระนางโรหิณี พระกนิษฐภคินี (น้องสาวคนเล็ก) ของพระอนุรุทธะเถระ เป็น “หยิน” ที่มีพระสิริโฉมงดงามเป็นอย่างยิ่ง วันหนึ่งเกิดโรคผิวหนังขึ้นแก่พระนาง แรกๆ ก็คันตามผิวหนังธรรมดาๆ แต่พอเกาๆ ไป ผิวหนังก็แตกเป็นแผลพุพองไปเรื่อยๆ เกือบทั่วร่างกาย รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ในที่สุดพระนางก็มิได้ออกสังคม คงเก็บตัวอยู่แต่ในห้องด้วยความเศร้าพระทัยว่าทำไมนางจึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้

ในช่วงที่เกิดเรื่องนี้ พระอนุรุทธะเชษฐาของนางได้ออกบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ติดตามพระพุทธเจ้าไปเผยแพร่พระศาสนายังเมืองต่างๆ หลายปี มิได้กลับมายังเมืองมาตุภูมิเลย ท่านจึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับน้องสาวคนสวยของท่าน

วันหนึ่งท่านอนุรุทธะเดินทางกลับมายังเมืองกบิลพัสดุ์ บรรดาพระญาติทั้งหลายได้นิมนต์ท่านไปฉันภัตตาหารที่ตำหนักเก่าของท่าน ไม่เห็นกนิษฐภคินีมาคุยด้วย จึงถามหา

     พระญาติทั้งหลายเรียนท่านว่า “นางโรหิณี ขลุกอยู่ในห้อง ไม่กล้ามาหาท่าน”
    “ทำไมล่ะ” พระเถระถาม
    “นางเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง คงจะอายกระมัง” พระญาติทั้งหลายบอก
     พระเถระจึงให้คนไปตามนางมาหา บอกแก่นางว่า “โรคนี้เป็นผลของกรรมเก่าที่นางได้กระทำไว้ ขอให้นางจงทำบุญกุศลเพื่อ “ลบล้าง” กรรมเก่าตั้งแต่บัดนี้เถิด”

@@@@@@@

เมื่อถามว่าจะให้ทำบุญอะไรบ้าง พระเถระบอกว่า ไม่ต้องทำอะไรมากมาย ให้สร้าง “อุปัฏฐานศาลา” (หอฉัน) แล้วให้ปัดกวาดเช็ดถู ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้สำหรับพระสงฆ์ ตลอดจนล้างถ้วยล้างชาม กวาดลานวัดให้สะอาดเสมอ

นางก็ได้ปฏิบัติตามที่พระเถระ เป็นเชษฐาแนะนำ เวลาล่วงไปหลายเดือน โรคผิวหนังที่เป็นมาหลายปีก็หายยังกับปลิดทิ้ง เป็นที่น่าอัศจรรย์

เมื่อพระอนุรุทธะกลับมายังมาตุภูมิอีกครั้ง นางโรหิณีได้มานมัสการพระเชษฐา เล่าเรื่องราวให้ทราบด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสที่ได้กลับมาเป็น “หยิน” ที่สดสวยน่ารักเหมือนเดิม พร้อมเรียนถามพระพี่ชายว่า ชาติก่อนตนทำกรรมอะไรไว้ จึงเสวยผลเช่นนี้

พระเถระเล่าว่า ในอดีตกาลนานแล้ว นางโรหิณีเป็นพระมเหสีของพระราชาพระองค์หนึ่ง ไม่พอใจที่พระสวามีไป “ติด” นางรำคนหนึ่ง จนกระทั่งไม่สนพระทัยพระนางซึ่งเป็นพระมเหสี หึง ว่าอย่างนั้นเถอะ เมียมีทั้งคนไม่สน ไปหลงอีนางรำต่ำต้อย มันน่านัก (ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงนึกถึงเป็ดขึ้นมาตงิดๆ ว่าเป็ดมันคงหิว น่าจะหาอาหารให้มันกินสักหน่อย ว่าอย่างนั้นเถอะ บรื๊อ!)

@@@@@@@

นางทำทีว่าเมตตารักใคร่นางรำคนโปรดของพระสวามี เรียกมาสนทนาพูดคุยอย่างสนิทสนมทุกวัน ข้างฝ่าย “พระเอก” ก็ดีพระทัยว่าบ้านใหญ่กับบ้านเล็กเข้ากันได้ดี โนพลอมแพล็มดีแท้ มันจะสุขใจอะไรปานนั้น

หารู้ไม่ว่ามารยาหญิงนั้น หลายร้อยรถบรรทุกก็บรรทุกไม่หมด พระมเหสีสั่งซื้อชุดแต่งตัวอย่างสวยงามให้นางรำใหม่ชุดหนึ่ง สำหรับให้นางใส่ออกงานสำคัญต่อหน้าพระที่นั่ง เป็นปลื้มทั้งแก่พระสวามีและนางรำคนโปรดเป็นอย่างยิ่ง

วันเฉลิมฉลองใหญ่ก็มาถึง นางรำคนสวยร่ายรำอยู่ในชุดที่หรูหรางดงามยิ่ง ท่ามกลางมหาสันนิบาตที่มีพระราชาและพระมเหสีประทับเป็นประธาน และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

นางรำเกิดอาการคันที่ร่างกาย ทีแรกก็คันเพียงเล็กน้อย แต่ยิ่งนานไปก็ยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน จนกระทั่งทนร่ายรำไปไม่ไหว เพราะมันปวดแสบปวดร้อนไปทั่วสรรพางค์กาย เปลี่ยนจากท่าร่ายรำมาเป็นท่าลิงเกาหิดไปโดยอัตโนมัติ ในขณะที่สายตาอำมหิตคู่หนึ่งจ้องมองด้วยความสะใจ

พระมเหสีของพระราชานั่นเอง พระนางได้เอาผง “หมามุ่ย” โรยไว้ทั่วชุดแต่งตัว ทำให้ผู้สวมใส่เกิดอาการคะเยอไปทั่วสรรพางค์ ยังผลให้นางรำเกิดเป็นโรคผิวหนังรักษาอยู่ตั้งนานกว่าจะหาย หายแล้วก็ยังเป็นรอยกะดำกะด่างผิวไม่สวยงามเหมือนเดิมอีกต่างหาก

“พระมเหสีนางนั้น มาเกิดเป็นน้องหญิงโรหิณีในบัดนี้ เพราะกรรมที่ทำไว้ครั้งนั้นด้วยจิตอิจฉาริษยาต่อผู้อื่น มาบัดนี้จึงเกิดเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังรักษาไม่หาย” พระอนุรุทธะเถระเจ้าสรุป

@@@@@@@

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ความอิจฉาริษยาทำให้ผิวพรรณไม่สวย มองได้ทั้งผลในปัจจุบันและผลที่ข้ามภพข้ามชาติ ผลในปัจจุบันเห็นได้ครับ ถ้าเราอิจฉาตาร้อนใคร จิตใจเราจะไม่มีความสุขสงบภายใน มีแต่ความร้อนรุ่ม นั่งก็ไม่เป็นสุข นอนก็ไม่เป็นสุข วันๆ คิดแต่จะสาปแช่งให้ (ไอ้ อี) คนที่เราไม่ชอบขี้หน้ามันฉิบหายวายป่วง

คนที่เราอิจฉาตาร้อน สาปแช่งทุกวันนั้น เขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วย เขายังสุขสบายดีตามประสาของเขา แต่เราสิครับ ยิ่งเห็น ยิ่งได้ยินว่าเขายังสบายดี ไม่เป็นอะไรอย่างที่เราต้องการให้เขาเป็น เราก็ยิ่งเร่าร้อนภายในยิ่งขึ้น

คนที่ใจไม่สงบสุข ร้อยทั้งร้อยใบหน้าก็ไม่ผุดผ่องสดใส หน้านิ่วคิ้วขมวดยังกับเหม็นขี้ตลอดทั้งวัน ไม่เป็นที่สบายใจของผู้พบเห็น ใบหน้าไม่ผุดผ่องสดใส นึกว่าผิวพรรณจะผุดผ่องสดใส ผิวหน้าฉันใด ผิวกายก็ฉันนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น ใครอยากสดสวยตลอดเวลา ก็อย่าริเป็นคนอิจฉาริษยาโกรธเคือง หรืออาฆาตพยาบาทคนอื่น ขอให้มีจิตเมตตากรุณา รักและปรารถนาดีต่อทุกคนด้วยใจบริสุทธิ์





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2561
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน   : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2561
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_114305

raponsan:




เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ตัวอย่างวิบากแห่งกรรม (จบ)

ในแง่การให้ผลข้ามภพข้ามชาตินั้น ปุถุชนอย่างเราท่านรู้ไม่ได้ เมื่อไม่รู้ ก็ฟังท่านผู้รู้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รู้ที่ว่ามิใช่คนธรรมดา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก

พระองค์ตรัสไว้ว่า มีเรื่องอยู่ 4 เรื่องที่ปุถุชนไม่ควรคิด ขืนคิดมากมีแต่ทางจะเป็นบ้า เรื่อง 4 เรื่องคือ

   1. พุทธวิสัย เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ก็ไม่พึงคิดหาเหตุผลเอาเองว่า ทำไมพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วจึงพูดได้เดินได้ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงมีสัพพัญญุตญาณ เหนือบุคคลอื่น ทรงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือคนอื่น
    2. ฌานวิสัย เรื่องราวเกี่ยวกับฌานสมาบัติ ผู้ได้ฌานแล้วสามารถบันดาลฤทธิ์ต่างๆ เป็นที่อัศจรรย์ได้
    3. กัมมวิปาก เรื่องราวเกี่ยวกับกรรมและ ผลของกรรม ว่าทำกรรมอะไรไว้ มันจะได้ผลอย่างไร เมื่อใด
    4. โลกจินตา การคิดเกี่ยวกับโลก เช่น โลกนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อใด มันจะแตกสลายไปอย่างไร เมื่อไร

เรื่องเหล่านี้ปุถุชนคนมีกิเลส ไม่มีใครรู้จริงดอกครับ ถึงจะมีบางกลุ่มบัญญัติว่าโลกมีคนนั้นคนนี้สร้าง โลกมันจะดับเมื่อนั้นเมื่อนี้ ก็ “คิดเอาเอง” ทั้งนั้น ไม่ได้บัญญัติด้วยความรู้เห็นแต่อย่างใด ถ้าใครมามัวคิดหาคำตอบในสิ่งที่ “เหลือวิสัย” อย่างนี้

พระผู้ตรัสรู้เท่านั้นที่จะรู้ว่า มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร เรื่องกรรมและผลของกรรมนี้เป็น “พุทธวิสัย” โดยเฉพาะ พระผู้ตรัสรู้เท่านั้นจึงรู้ เมื่อพระองค์ทรงรู้แล้วก็ทรงสั่งสอนให้เหล่าสาวกฟัง สาวกที่ยังไม่ “ตรัสรู้ตาม” ก็รับฟังและปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน

เมื่อพระผู้ตรัสรู้ตรัสสอนว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เราก็พึงเชื่อท่าน แต่การเชื่อนี้มิใช่เชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือเชื่อแบบมืดบอด เราเชื่ออย่างมีปัญญากำกับด้วย นั่นก็คือ พิจารณาเห็นความจริงบางอย่างที่สอดคล้องกับคำสอนนั้นด้วย

@@@@@@@

ที่ว่าทำดีได้ดี เราอาจใช้ปัญญาพิจารณาว่า “ได้ดี” สองระดับคือ
    – ได้ดีในปัจจุบัน
    – ได้ดีข้ามภพข้ามชาติ

ได้ดีระดับข้ามภพข้ามชาติ เกินวิสัยที่ปุถุชนคนไม่ตรัสรู้อย่างเราจะรู้ได้ แต่ที่เราสามารถรู้ได้แน่ๆ คือ “ได้ดีในปัจจุบัน” เราลองพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า

     1) เวลาเรามีจิตศรัทธา ทำบุญตักบาตร หรือถวายทานแก่พระสงฆ์จิตใจเรามีความผ่องใส สดชื่น ในขณะที่ทำและหลังจากทำแล้ว นึกขึ้นมาทีไรก็มีแต่ความปลื้มใจ สุขใจ นี้คือเรา “ได้ดี” ในปัจจุบัน ดีอะไรเล่าครับที่จะเท่าความสุขใจใช่ไหม
     2) เวลาเราเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยากหรือประสบทุกข์ภัยบางอย่าง เรามีความกรุณาสงสารเขา อยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ยาก เราช่วยเหลือเขาได้ เมื่อเห็นเขามีความสุข เพราะความช่วยเหลือของเรา เราก็มีความสุขด้วย และมีความภูมิใจที่สามารถช่วยเหลือคนอื่น นี้ก็คือการ “ได้ดี” ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน
     3) เห็นคนอื่นเขากำลังจะถลำลงสู่ความตกต่ำบางอย่าง ช่วยฉุดเขาขึ้นมาได้ ผู้ช่วยเหลือเขาก็มีความสุข ยิ่งเห็นคนที่ตนช่วยเหลือนั้นเจริญก้าวหน้าในชีวิต ก็ยิ่งมีความสุขใจเพิ่มทวีคูณ นี้ก็คือการ “ได้ดี” ในปัจจุบันเหมือนกัน

@@@@@@@

มีเรื่องจริงเรื่องหนึ่ง เด็กวัดสุทัศน์ อาศัยพระและวัดอยู่ และเรียนหนังสือระดับมหาวิทยาลัยด้วย เปิดเทอมจะต้องเสียค่าเทอมจำนวนหลายร้อย ดูเหมือนจะสองหรือสามร้อยสมัยก่อน ไม่มีเงินจะเสียค่าเทอม เพื่อนเด็กวัดด้วยกันออกความคิดว่า ให้จับนกพิราบที่เกาะอยู่หลังคาโบสถ์ไปขาย จับได้สักห้าสิบตัวก็จะขายได้เงินจำนวนหนึ่ง รวมกับที่มีอยู่บ้างก็คงจะพอเสียค่าเทอม โดยเพื่อนรับอาสาคอยดูทางให้

เด็กโค่งคนนี้ก็ขึ้นไปจับนกพิราบใส่กระสอบได้ครบตามต้องการ ผูกปากกระสอบแล้ววางไว้หน้าห้อง กะว่าพรุ่งนี้เช้าจะรีบตื่นแต่ตีห้านำไปขายให้ร้านอาแปะข้างวัด

เช้าขึ้นมา ปรากฏว่ากระสอบปากถุงเปิดอ้าอยู่ นกพิราบหายไปหมดเกลี้ยง แทบลมจับ แต่พอเอามือล้วงเข้าไปในกระสอบ ปรากฏว่ามีเงินวางอยู่ 500 บาท ไม่ทันคิดว่าเงินได้มาอย่างไร ด้วยความดีใจ จึงรีบไปเสียค่าเทอม เรียนหนังสือจนสอบจบเป็นบัณฑิตทางรัฐศาสตร์ รับราชการเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และรองผู้ว่าฯ ซึ่งอนาคตจะต้องเป็นถึงผู้ว่าฯ แน่นอน

วันหนึ่งเขาคิดถึงหลวงพ่อที่วัดขึ้นมา จึงเดินทางไปนมัสการท่าน เล่าเรื่องนกพิราบให้ท่านฟัง พลางรำพึงว่า
    “ไม่ทราบว่าใครเอาเงินไปวางไว้ให้”
หลวงพ่อเขกกบาลศิษย์พลางพูดว่า
    “ข้าเอง เห็นเอ็งจะทำบาป ข้าก็เลยช่วยฉุดเอ็งจากขุมนรก”
แล้วท่านก็บอกต่อไปว่า
    “เมื่อเห็นเอ็งไปดี ทำงานเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ ข้าก็มีแต่ความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือเอ็งครั้งนั้น”

นี่แหละครับ การ “ได้ดี” เพราะทำดีไว้ เห็นได้ในปัจจุบันนี้ เมื่อทำดีได้ดีในปัจจุบัน ชาติหน้าก็ย่อมจะได้ดี (ตามที่พระท่านบอก) แน่นอน

ว่าจะเล่าสักสองสามเรื่อง เล่าได้เรื่องเดียวก็หมดหน้ากระดาษแล้ว เอาไว้ต่อฉบับหน้าก็แล้วกัน

@@@@@@@

คนจะเป็นเช่นใดอยู่ที่ “กรรม” ทำมาอย่างไร

อยากชวนให้แฟนหนังสือ “หยิน” อ่านหนังสือสักเล่ม ไม่เชิงหนังสือธรรมะ แต่อ่านแล้วได้ “ธรรมะ” แน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “นานาทัศนะเกี่ยวกับพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)” สัมภาษณ์รวบรวมเรียบเรียงโดย ดร.สุนทร พลามินทร์ และ ชุติมา ธนะปุระ มูลนิธิพุทธธรรมจัดพิมพ์จำหน่าย

พระธรรมปิฎกเป็นใคร พระเถระและคฤหัสถ์ผู้คงแก่เรียนหลายท่าน แสดงทัศนะหลากหลายเกี่ยวกับตัวท่านทำไม คำถามนี้หลายท่านคงทราบคำตอบแล้ว แต่คงมีอีกหลายคนยังไม่ทราบ ขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้เสียเลย

เมื่อปลายปีที่แล้ว องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้รางวัลแก่ พระธรรมปิฎก สาขาการศึกษาเพื่อสันติภาพ นับว่าเป็นคนไทยคนแรก และเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

ผู้ที่แสดงทัศนะ ผ่านการสัมภาษณ์บ้าง เขียนเองบ้าง ประกอบด้วยพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทะภิกขุ) พระเมธีธรรมาภรณ์ พระมหาสิงห์ทน นราสโภ พระชยสาโร ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ รศ.ดร.สมศีล ฌานวังสะ อ.ชัชวาล ปุญปัน และเสฐียรพงษ์ วรรณปก

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก หรือที่เรียกกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธไทยว่า “เจ้าคุณประยุทธ์” ท่านทำอะไรหรือ จึงปรากฏต่อสายตาและจิตใจขององค์การยูเนสโก จนถึงกับมอบถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้ คงไม่มีใครทราบ และไม่คาดคิดมาก่อน ว่าฝรั่งมังค่าจะสนใจงานของท่าน เพราะเท่าที่เราทราบ ท่านเจ้าคุณก็เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่เทศน์สอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้รณรงค์เรื่องสันติภาพอะไร จนถึงกับต้องให้รางวัล

@@@@@@@

พูดง่าย ๆ ก็ว่า ท่านเจ้าคุณท่านสอนพระพุทธศาสนา มิได้มีบทบาทเด่นในเรื่องสันติภาพ แต่ลองฟังคำประกาศสดุดี ของประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลดูสิครับ เขากลับมองเห็นว่า การเทศน์สอนพระพุทธศาสนานี้แหละ เป็นการทำหน้าที่ให้การศึกษาเรื่องสันติภาพแท้จริง

     “คณะกรรมการตัดสินรางวัล ได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการถวายรางวัล และผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก ก็ได้รับรองข้อเสนอของคณะกรรมการ พวกเราทุกคนเปี่ยมด้วยความชื่นชม สรรเสริญอย่างสูงสุดต่อแนวความคิดของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ

      แนวความคิดดังกล่าว เน้นความสำคัญยิ่งยวดของสันติภาพภายใจ และเน้นความร่วมมือของมนุษย์ทุกคนที่จะรับผิดชอบร่วมกันแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรมอย่างสันติ

      ท่านเน้นความคิดที่ว่า สันติภาพเป็นค่านิยมที่ลึกซึ้งอยู่ภายใจ เป็นค่านิยมของความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นจากพลังภายในของมนุษย์ และทอแสงออกมาให้ประจักษ์เมื่อได้สัมผัสกับผู้อื่น และในที่สุดก็จะสะท้อนออกมามีผลต่อความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ ระหว่างประชาชนและระหว่างรัฐ

     เจ้าคุณประยุทธ์ เสนอแนวปรัชญาใหม่ในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง ข้าพเจ้าขอแสดงความปีติยินดีต่อท่านผู้ได้รับรางวัล และข้าพเจ้าขอถวายพรให้พระคุณเจ้ามีสุขภาพพลานามัยดี…”

@@@@@@@

ฟังแล้วก็ได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า แม้ว่าท่านเจ้าคุณจะทำหน้าที่เทศน์สอนพระพุทธศาสนา สอนตามแนวของพระพุทธศาสนาแก่ชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ แต่ “สาระ” แห่งคำสอนของท่านเน้นเรื่อง “สันติภาพ” อย่างยิ่ง และการเน้นสันติภาพ ก็เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสันติภาพ และสันติภาพที่พระพุทธศาสนาย้ำเน้นก็คือ สันติภาพภายใน หรือสันติภาพทางจิตนั้นเอง

ท่านเจ้าคุณได้ย้ำสอนให้มนุษย์ทุกคนพยายามสร้างสันติภายในให้มากๆ เมื่อจิตใจมีสันติ หรือมีความสงบแล้ว ความสงบนั้นก็จะฉายออกภายนอกผ่านกาย วาจา คนที่มีการแสดงออกอันสงบทางกาย วาจา ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่ตนอยู่ และแผ่ขยายวงกว้างไปถึงระดับนานาชาติ

ถ้าทุกคนในโลกปฏิบัติตามแนวทางนี้ โลกก็จะมีสันติภาพอย่างแท้จริง ท่านผู้กล่าวสดุดีจึงเน้นตอนท้ายว่า “ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต เสนอแนวปรัชญาในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง”

สรุปแล้ว เขามองเห็นว่า ท่านเจ้าคุณสอนพระพุทธศาสนาก็จริง แต่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น เน้นการสร้างสันติภาพภายใน หรือความสงบภายใน สอนแต่ละบุคคลให้สร้างสันติภาพภายในก็จริง แต่เมื่อแต่ละคนมีความสันติแล้ว การอยู่ร่วมกันก็พลอยสันติสุขไปด้วย สันติภาพสากลย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้

แนวการคิดอย่างนี้ เป็นแนวที่คนตะวันตกส่วนมากคิดไม่ถึง เพราะส่วนมากมักจะคิดสร้างความสงบจากภายนอก บังคับให้คนอื่นสงบ บังคับให้สังคมสงบ โดยที่ตัวเองไม่ได้มีความสงบแม้แต่นิดเดียว สันติภาพแบบนี้มักจะมิใช่สันติภาพแท้จริง

@@@@@@@

แนวคิดที่ว่าอยากให้โลกทั้งโลกมีสันติภาพ ภายในใจของแต่ละคนต้องมีสันติภาพเสียก่อนนั้น เป็นแนวทางพระพุทธศาสนา ที่ท่านเจ้าคุณนำเสนอ ท่านผู้กล่าวคำสดุดีถึงกับยกย่องว่าเป็น “นวัตกรรมอันแท้จริง” คือเป็นแนวคิด (ที่ฝรั่งเข้าใจว่า) “สร้างขึ้นใหม่” หรือ “แนวคิดใหม่” ซึ่งความจริงมิได้ใหม่อะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีผู้ย้ำเน้นกัน ท่านเจ้าคุณได้นำมาย้ำเน้นเป็นพิเศษกว่าคนอื่น

พระเถระ และคฤหัสถ์ที่เอ่ยนามมาข้างต้น ใครแสดงทัศนะชื่นชมในพระธรรมปิฎกว่าอย่างไร คงไม่มีหน้ากระดาษพอจะนำมาถ่ายทอดให้อ่านกัน แฟนๆ ที่ใคร่รู้รายละเอียด ขอให้ไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านเอาก็แล้วกัน

ส่วนที่ผมอยากจะเน้นก็คือ กรรมและวิบากแห่งกรรม ของท่านเจ้าคุณ ท่านเจ้าคุณได้ทำกรรมอันเป็นกุศล หรือกรรมดีไว้มากมาย จึงได้รับวิบากหรือผลแห่งกรรมดี ที่ทำไว้นั้น คือได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปราชญ์ ผู้มีความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ยากจะหาใครเหมือนในยุคปัจจุบัน

ความสำเร็จที่ว่านี้ มิใช่อยู่ๆ มันมีมาเอง แต่เป็นผลของการสร้างสรรค์เป็นผลของการศึกษาอบรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ลองย้อนหลังดูจะเห็นความจริงข้อนี้

สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ก่อนบวชได้เรียนจบมัธยมปีที่ 3 บวชมาแล้วมีวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง เรียนนักธรรมและบาลี จนจบนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค

@@@@@@@

ขณะที่เรียนนักธรรมและบาลีอยู่นั้น สามเณรประยุทธ์ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย เรียนควบคู่กันไประหว่างปริยัติธรรม (ธรรมะและบาลี) กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจะต้องให้ความพากเพียรอย่างหนัก พระเณรบางรูปไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ เพราะ “หนักเกินไป”

แต่สามเณรประยุทธ์สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง มีโรคประจำหลายอย่าง หลังจากจบเปรียญ 9 ประโยคไม่กี่ปี ก็จบพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1)

จบแล้ว ท่านเจ้าคุณไม่ยอม “จบ” อยู่แค่นั้น ได้ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมากขึ้น จนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้ค้นคว้าเฉพาะในแวดวงพระพุทธศาสนา ศาสตร์ต่างๆ ที่จำเป็น และเห็นว่าจะเป็น “สื่อ” สำหรับถ่ายทอดพระพุทธศาสนาได้ เช่น ปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ท่านก็อ่านและศึกษาอยู่เสมอ

ตั้งแต่จบพุทธศาสตรบัณฑิตมา ท่านเจ้าคุณไม่เคยไปศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกต่อ เหมือนพระเณรอื่นๆ ไม่เคยผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ แต่น่าทึ่งก็คือ ภาษาอังกฤษของท่านเจ้าคุณ เป็นภาษาอังกฤษของผู้เชี่ยวชาญ ตัวท่านเรียกได้ว่าเป็น “นาย” ของภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง แม้สำเนียงจะไม่เป็นฝรั่งเปี๊ยบ แต่ความรู้ความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ นักปราชญ์ฝรั่งเองยังยกย่อง

@@@@@@@

ความสามารถอันน่าอัศจรรย์นี้ ท่านได้มาจากที่ไหน

ท่านฝึกฝนอบรมตัวเองตลอดเวลา ผสมกับมันสมองอันเป็นเลิศอยู่แล้ว ท่านจึงมีความสามารถทางด้านนี้อย่างน่าทึ่ง จนกระทั่งได้รับนิมนต์ไปสอนยังมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น ถ้าท่านย้อนดูความหลังแล้ว ท่านจะไม่แปลกใจดอกครับ ทำไมอดีตสามเณรน้อยที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงด้วยซ้ำ จึงกลายเป็นนักปราชญ์ มีผลงานเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป

ความพากเพียรพยายามฝึกฝนตนเอง ด้วยปณิธานอันแน่วแน่นี้เอง ที่ได้สร้างสรรค์นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในวงการพระศาสนา สมดังพระบาลีพุทธวจนะว่า อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง

เห็นหรือยังครับว่า คนเราจะเป็นอย่างไรอยู่ที่กรรมทำมาอย่างไร ท่านเจ้าคุณทำมาทางนี้จึงได้รับผลในทางนี้




ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2561
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน   : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2561
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_116548

raponsan:




เสฐียรพงษ์ วรรณปก : คนจะเป็นเช่นใดอยู่ที่ “กรรม” ทำมาอย่างไร.?

อยากชวนให้แฟนหนังสืออ่านหนังสือสักเล่ม ไม่เชิงหนังสือธรรมะ แต่อ่านแล้วได้ “ธรรมะ” แน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้น หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “นานาทัศนะเกี่ยวกับพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)” (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) สัมภาษณ์รวบรวมเรียบเรียงโดย ดร.สุนทร พลามินทร์ และชุติมา ธนะปุระ มูลนิธิพุทธธรรมจัดพิมพ์จำหน่าย พระธรรมปิฎกเป็นใคร พระเถระและคฤหัสถ์ผู้คงแก่เรียนหลายท่านแสดงทัศนะหลากหลายเกี่ยวกับตัวท่านทำไม คำถามนี้หลายท่านคงทราบคำตอบแล้ว

แต่คงมีอีกหลายคนยังไม่ทราบ ขอเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้เสียเลย เมื่อปลายปีที่แล้วองค์การยูเนสโกได้ประกาศให้รางวัลแก่พระธรรมปิฎก สาขาการศึกษาเพื่อสันติภาพ นับว่าเป็นคนไทยคนแรก และเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

ผู้ที่แสดงทัศนะ ผ่านการสัมภาษณ์บ้าง เขียนเองบ้างประกอบด้วย พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) พระเมธีธรรมาภรณ์ พระมหาสิงห์ทน นราสโภ พระชยสาโร ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ดร.ระวี ภาวิไล อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ รศ.ดร.สมศีล ฌานวังสะ อ.ชัชวาล ปุญปัน และเสฐียรพงษ์ วรรณปก

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก  (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) หรือที่เรียกกันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธไทยว่า “เจ้าคุณประยุทธ์” ท่านทำอะไรหรือ จึงปรากฏต่อสายตาและจิตใจขององค์การยูเนสโก จนถึงกับมอบถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้ คงไม่มีใครทราบ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าฝรั่งมังค่าจะสนใจงานของท่าน

เพราะเท่าที่เราทราบ ท่านเจ้าคุณก็เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งที่เทศน์สอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้แสดงบทบาทเป็นผู้รณรงค์เรื่องสันติภาพอะไรจนถึงกับต้องให้รางวัล พูดง่ายๆ ก็ว่า ท่านเจ้าคุณท่านสอนพระพุทธศาสนา มิได้มีบทบาทเด่นในเรื่องสันติภาพ

แต่ลองฟังคำประกาศสดุดีของประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลดูสิครับ เขากลับมองเห็นว่าการเทศน์สอนพระพุทธศาสนานี้แหละ เป็นการทำหน้าที่ให้การศึกษาเรื่องสันติภาพแท้จริง

@@@@@@@

“คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการถวายรางวัล และผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโกก็ได้รับรองข้อเสนอของคณะกรรมการ พวกเราทุกคนเปี่ยมด้วยความชื่นชม สรรเสริญอย่างสูงสุดต่อแนวความคิดของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ

แนวความคิดดังกล่าว เน้นความสำคัญยิ่งยวดของสันติภาพภายใน และเน้นความร่วมมือของมนุษย์ทุกคนที่จะรับผิดชอบร่วมกันแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรมอย่างสันติ

ท่านเน้นความคิดที่ว่า สันติภาพเป็นค่านิยมที่ลึกซึ้งอยู่ภายใน เป็นค่านิยมของความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นจากพลังภายในของมนุษย์ และทอแสงออกมาให้ประจักษ์เมื่อได้สัมผัสกับผู้อื่น และในที่สุดก็จะสะท้อนออกมา มีผลต่อความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ ระหว่างประชาชนและระหว่างรัฐ

เจ้าคุณประยุทธ์เสนอแนวปรัชญาใหม่ในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง ข้าพเจ้าขอแสดงความปีติยินดีต่อท่านผู้ได้รับรางวัล และข้าพเจ้าขอถวายพรให้พระคุณเจ้ามีสุขภาพพลานามัยดี…”

ฟังแล้วก็ได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า แม้ว่าท่านเจ้าคุณจะทำหน้าที่เทศน์สอนพระพุทธศาสนา สอนตามแนวของพระพุทธศาสนาแก่ชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ แต่ “สาระ” แห่งคำสอนของท่านเน้นเรื่อง “สันติภาพ” อย่างยิ่ง และการเน้นสันติภาพก็เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องสันติภาพ และสันติภาพที่พระพุทธศาสนาย้ำเน้นก็คือ สันติภาพภายใน หรือสันติภาพทางจิตนั้นเอง

ท่านเจ้าคุณได้ย้ำสอนให้มนุษย์ทุกคนพยายามสร้างสันติภายในให้มากๆ เมื่อจิตใจมีสันติหรือมีความสงบแล้ว ความสงบนั้นก็จะฉายออกภายนอกผ่านกาย วาจา คนที่มีการแสดงออกอันสงบทางกาย วาจา ก็จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ในสังคมที่ตนอยู่ และแผ่ขยายวงกว้างไปถึงระดับนานาชาติ

ถ้าทุกคนในโลกปฏิบัติตามแนวทางนี้ โลกก็จะมีสันติภาพอย่างแท้จริง ท่านผู้กล่าวสดุดีจึงเน้นตอนท้ายว่า “ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต เสนอแนวปรัชญาในการแก้ปัญหาสันติภาพสากล ซึ่งเป็นนวัตกรรมอันแท้จริง”

@@@@@@@

สรุปแล้วเขามองเห็นว่า ท่านเจ้าคุณสอนพระพุทธศาสนาก็จริง แต่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นเน้นการสร้างสันติภาพภายใน หรือความสงบภายใน สอนแต่ละบุคคลให้สร้างสันติภาพภายในก็จริง แต่เมื่อแต่ละคนมีความสันติแล้ว การอยู่ร่วมกันก็พลอยสันติสุขไปด้วย สันติภาพสากลย่อมเกิดด้วยประการฉะนี้

แนวการคิดอย่างนี้ เป็นแนวที่คนตะวันตกส่วนมากคิดไม่ถึง เพราะส่วนมากมักจะคิดสร้างความสงบจากภายนอก บังคับให้คนอื่นสงบ บังคับให้สังคมสงบ โดยที่ตัวเองไม่ได้มีความสงบแม้แต่นิดเดียว สันติภาพแบบนี้มักจะมิใช่สันติภาพแท้จริง

แนวคิดที่ว่าอยากให้โลกทั้งโลกมีสันติภาพ ภายในใจของแต่ละคนต้องมีสันติภาพเสียก่อนนั้น เป็นแนวทางพระพุทธศาสนาที่ท่านเจ้าคุณนำเสนอ ท่านผู้กล่าวคำสดุดีถึงกับยกย่องว่าเป็น “นวัตกรรมอันแท้จริง” คือเป็นแนวคิด (ที่ฝรั่งเข้าใจว่า) “สร้างขึ้นใหม่” หรือ “แนวคิดใหม่” ซึ่งความจริงมิได้ใหม่อะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีผู้ย้ำเน้นกัน ท่านเจ้าคุณได้นำมาย้ำเน้นเป็นพิเศษกว่าคนอื่น

พระเถระและคฤหัสถ์ที่เอ่ยนามมาข้างต้น ใครแสดงทัศนะชื่นชมในพระธรรมปิฎกว่าอย่างไร คงไม่มีหน้ากระดาษพอจะนำมาถ่ายทอดให้อ่านกัน แฟนๆ ที่ใคร่รู้รายละเอียด ขอให้ไปหาหนังสือเล่มนี้อ่านเอาก็แล้วกัน

ส่วนที่ผมอยากจะเน้นก็คือ กรรมและวิบากแห่งกรรมของท่านเจ้าคุณ ท่านเจ้าคุณได้ทำกรรมอันเป็นกุศลหรือกรรมดีไว้มากมาย จึงได้รับวิบากหรือผลแห่งกรรมดีที่ทำไว้นั้น คือได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนักปราชญ์ ผู้มีความเชี่ยวชาญในพระพุทธศาสนา ยากจะหาใครเหมือนในยุคปัจจุบัน

ความสำเร็จที่ว่านี้ มิใช่อยู่ๆ มันมีมาเอง แต่เป็นผลของการสร้างสรรค์ เป็นผลของการศึกษาอบรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและต่อเนื่อง ลองย้อนหลังดูจะเห็นความจริงข้อนี้

@@@@@@@

สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร ก่อนบวชได้เรียนจบมัธยมปีที่ 3 บวชมาแล้วมีวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่ง เรียนนักธรรมและบาลีจนจบนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค

ขณะที่เรียนนักธรรมและบาลีอยู่นั้น สามเณรประยุทธ์ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ด้วย เรียนควบคู่กันไประหว่างปริยัติธรรม (ธรรมะและบาลี) กับมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งจะต้องให้ความพากเพียรอย่างหนัก พระ-เณรบางรูปไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ เพราะ “หนักเกินไป”

แต่สามเณรประยุทธ์สามารถทำได้ ทั้งๆ ที่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง มีโรคประจำตัวหลายอย่าง หลังจากจบเปรียญ 9 ประโยคไม่กี่ปี ก็จบพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1)

จบแล้ว ท่านเจ้าคุณไม่ยอม “จบ” อยู่แค่นั้น ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกมากขึ้น จนกระทั่งมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ไม่ได้ค้นคว้าเฉพาะในแวดวงพระพุทธศาสนา ศาสตร์ต่างๆ ที่จำเป็น และเห็นว่าจะเป็น “สื่อ” สำหรับถ่ายทอดพระพุทธศาสนาได้ เช่น ปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ท่านก็อ่านและศึกษาอยู่เสมอ

ตั้งแต่จบพุทธศาสตรบัณฑิตมา ท่านเจ้าคุณไม่เคยไปศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกต่อเหมือนพระ-เณรอื่นๆ ไม่เคยผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ภาษาอังกฤษของท่านเจ้าคุณ เป็นภาษาอังกฤษของผู้เชี่ยวชาญ ตัวท่านเรียกได้ว่าเป็น “นาย” ของภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง แม้สำเนียงจะไม่เป็นฝรั่งเปี๊ยบ แต่ความรู้ความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ นักปราชญ์ฝรั่งเองยังยกย่อง

@@@@@@@

ความสามารถอันน่าอัศจรรย์นี้ ท่านได้มาจากที่ไหน ท่านฝึกฝนอบรมตัวเองตลอดเวลา ผสมกับมันสมองอันเป็นเลิศอยู่แล้ว ท่านจึงมีความสามารถทางด้านนี้อย่างน่าทึ่ง จนกระทั่งได้รับนิมนต์ไปสอนยังมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น

ถ้าท่านย้อนดูความหลังแล้ว ท่านจะไม่แปลกใจดอกครับ ทำไมอดีตสามเณรน้อยที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงด้วยซ้ำจึงกลายเป็นนักปราชญ์ มีผลงานเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป

ความพากเพียรพยายามฝึกฝนตนเองด้วยปณิธานอันแน่วแน่นี้เอง ที่ได้สร้างสรรค์นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในวงการพระศาสนา สมดังพระบาลีพุทธวจนะว่า อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา บัณฑิตย่อมฝึกฝนตนเอง เห็นหรือยังครับว่าคนเราจะเป็นอย่างไรอยู่ที่กรรมทำมาอย่างไร ท่านเจ้าคุณทำมาทางนี้จึงได้รับผลในทางนี้



ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 กรกฎาคม 2561
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน   : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_118558

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว