ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัมมาทิฏฐิ คืออย่างไร ?  (อ่าน 2436 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
สัมมาทิฏฐิ คืออย่างไร ?
« เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2011, 06:51:48 am »
0




สัมมาทิฏฐิ คืออย่างไร ?



สัมมาทิฏฐิสูตร
              ว่าด้วยความเห็นชอบ
     [๑๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:
     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุพวกนั้น
รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ที่เรียกว่า
สัมมาทิฏฐิๆ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไป
ตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ พวกภิกษุกล่าวว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ ในสำนักของท่าน
พระสารีบุตร ดังพวกกระผมขอโอกาส เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งกะท่านพระสารีบุตรเถิด
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อท่านพระสารีบุตรแล้ว จักทรงจำไว้ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ถ้าอย่างนั้น
จงฟังเถิด ท่านผู้มีอายุ จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุพวกนั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว.
     [๑๑๑] ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่ง
อกุศลและรากเง่าอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเง่าของกุศล แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่า
เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้วประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่
พระสัทธรรมนี้
ก็อกุศลเป็นไฉน? ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ อยากได้ของผู้อื่น ปองร้ายเขา เห็นผิด อันนี้เรียกว่า
อกุศลแต่ละอย่างๆ
 รากเง่าของอกุศลเป็นไฉน? ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อันนี้เรียกว่ารากเง่า
ของอกุศลแต่ละอย่างๆ
กุศลเป็นไฉน? ได้แก่ ความเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด
ในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่ปองร้ายเขา
เห็นชอบ อันนี้เรียกว่า กุศลแต่ละอย่างๆ
รากเง่าของกุศลเป็นไฉน? ได้แก่ อโลภะ อโทสะ
อโมหะ อันนี้เรียกว่า รากเง่าของกุศลแต่ละอย่างๆ
ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัด
ซึ่งอกุศลและรากเง่าของอกุศลอย่างนี้ๆ รู้ชัดซึ่งกุศลและรากเง่าของกุศลอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละ
ราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัยว่า เรามีอยู่โดยประการทั้งปวง
ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันนี้เทียว แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ  มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอัน
แน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
     [๑๑๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า สาธุ ท่านผู้มีอายุ
แล้วได้ถามปัญหากะท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือปริยายแม้อย่างอื่น
ที่อริยสาวกซึ่งชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 09, 2011, 06:55:13 am โดย patra »
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

patra

  • RDNpromote
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรมรรค
  • *
  • ผลบุญ: +100/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 971
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
พระปุณณะ ผู้กลับทิฏฐิ เป็นสัมมาทิฏฐิ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2011, 06:58:24 am »
0
ประวัติท่านปุณณะ

ในชาติสุดท้ายของพระปุณณเถระนี้ ท่านเกิดอยู่ในตระกูลพ่อค้าของสุนาปรันตชนบท ได้ชื่อว่า "ปุณณะ" และมีน้องชายหนึ่งคนก็เป็นพ่อค้าเช่นกัน

มีอยู่คราวหนึ่ง ปุณณะได้บรรทุกสินค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวขายสินค้าไปตามเมืองต่างๆ จนกระทั่ง มาถึงกรุงสาวัตถีนครหลวงของแคว้นโกศล แวะพักกองเกวียนอยู่ใกล้กับ พระเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่

ยามเช้าของวันใหม่ ปุณณะเห็นผู้คนจำนวนมากพากันเดินไปสู่พระวิหาร อดสงสัยไม่ได้ จึงถามชายคนหนึ่งว่า

"พวกท่านมากมายไปที่พระเชตวันมหาวิหารด้วยเหตุใดกันหรือ"

"อ้าว!ท่านยังไม่รู้อะไรเลย รัตนะ คือ พระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะเหตุนี้ มหาชน จึงพากันไปฟังธรรมกถา (การกล่าวธรรม) ของพระพุทธเจ้า องค์สมณะโคดม ที่พระวิหาร"

คำว่า พุทธะ (คือผู้รู้อริยสัจ-ผู้ตื่นจากกิเลสแล้ว-ผู้เบิกบานในธรรม) ที่ชายคนนั้นเอ่ยถึง เสมือนความเย็นฉ่ำ แทรกผิวหนังเข้าถึงเยื่อในกระดูกของปุณณะทันที เขาจึงชักชวน พรรคพวกในกองเกวียนไปสู่พระวิหาร แต่ได้อยู่ท้ายสุด ของอุบาสกอุบาสิกา (ชายหญิงที่ยึดถือ พระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง) ทั้งหลาย ในที่นั้น

เมื่อได้ฟังธรรมอันวิเศษที่พาสู่ความพ้นทุกข์แล้ว เขาบังเกิดดวงตาเห็นธรรม ศรัทธายิ่งนัก ในพระศาสดา มีความปรารถนาอยากบวช จึงทูลนิมนต์พระศาสดา เสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้

เช้ารุ่งขึ้น เขาได้ถวายมหาทานแด่หมู่สงฆ์ ซึ่งมีพระศาสดาเป็นประธาน หลังภัตกิจ(ฉันอาหารเสร็จ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนา(ยินดีด้วย)ในบุญของเขา แล้วเสด็จกลับพร้อมหมู่สงฆ์

พอพระศาสดาไปแล้ว เขาเรียกบริวารทั้งหมดมารวมกัน ประกาศว่า

"ท่านทั้งหลายข้าพเจ้าจะออกบวช ฉะนั้นสินค้าและบ้านช่องทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ พวกท่านช่วยมอบ ให้แก่น้องชายของข้าพเจ้าด้วยเถิด"

จากนั้นเขาก็ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา บวชอยู่ในพระพุทธศาสนา แล้วพากเพียรบำเพ็ญ ในข้อปฏิบัติ ทั้งหลาย ตั้งอกตั้งใจประพฤติกรรมฐาน (วิธีปฏิบัติลดละกิเลส อย่างเหมาะสม) แต่ก็ยังไม่อาจ บรรลุธรรมได้ จึงเกิดความคิดว่า

"เราสมควรไปขอกรรมฐานจากพระศาสดา แล้วกลับคืนสู่ชนบทเดิม อันเป็นที่เหมาะแก่ การปฏิบัติธรรมของเรา"

ภิกษุปุณณะจึงออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ ได้สดับธรรมแล้ว พึงเป็นผู้เดียวหลีกออกจากหมู่(กิเลส) ไม่ประมาท มีใจเด็ดเดี่ยว มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่เถิด"

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า

"ดูก่อนปุณณะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะบอกให้รู้ดังนี้

รูปที่เห็นได้ด้วยตา หรือเสียงที่ได้ยินด้วยหู หรือกลิ่นที่ได้ดมด้วยจมูก หรือรสที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น หรือสัมผัส ที่ได้แตะต้องด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุ เพลิดเพลิน ยินดี กล่าวสรรเสริญ พัวพันติดใจในสิ่งนั้น ความใคร่อยากย่อมเกิด นั่นแหละทุกข์จึงเกิด

แต่ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่พัวพันติดใจในสิ่งนั้น ความใคร่อยากย่อมดับไป นั่นแหละทุกข์จึงดับ"

พระศาสดาตรัสถึงตรงนี้ มีภิกษุรูปหนึ่งในที่นั้น อดใจไม่ได้ที่จะทูลถามด้วยความสงสัยว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ ความสลัดออกแห่งสัมผัสในอายตนะทั้ง ๖ (คือ ๑. รูปสัมผัสตา ๒. เสียงสัมผัสหู ๓. กลิ่นสัมผัสจมูก ๔. รสสัมผัสลิ้น ๕. สิ่งที่สัมผัสกาย ๖. อารมณ์สัมผัสใจ)"

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

"ดีล่ะ!ภิกษุ เธอจงพิจารณาเห็นให้ดี ด้วยปัญญาอันถูกตรงตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ตา-หู-จมูก-ลิ้น - กาย - ใจ นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

หากเธอพิจารณาสัมผัสในอายตนะทั้ง ๖ ได้ดังนี้ เป็นอันว่าเธอละขาดแล้ว เพื่อความไม่เกิด (กิเลส)อีกต่อไป"

แล้วทรงหันมาถามภิกษุปุณณะว่า

"ดูก่อนปุณณะ เรากล่าวสอนเธอแล้วด้วยโอวาทย่อๆ แล้วเธอจะไปอยู่ในชนบทไหน"

"ข้าพระองค์จะไปยังสุนาปรันตชนบท พระเจ้าข้า"

พอทรงสดับว่าเป็นชนบทนั้น พระศาสดาทรงถามต่อทันทีว่า

"พวกชาวสุนาปรันตะนั้น ดุร้ายหยาบคายนัก ถ้าพวกเขาด่าเธอ กล่าวโทษเธอ เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาด่า กล่าวโทษเรา ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ได้ทุบตีเราด้วยฝ่ามือ"

"ก็ถ้าพวกเขาทุบตีเธอด้วยฝ่ามือเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาทุบตีเราด้วยฝ่ามือ ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ขว้างปาเราด้วยก้อนดิน"

"ก็ถ้าพวกเขาใช้ก้อนดินขว้างปาเธอเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาขว้างปาเราด้วยก้อนดิน ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ทำร้ายเราด้วยท่อนไม้"

"ก็ถ้าพวกเขาทำร้ายเธอด้วยท่อนไม้เล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาทำร้ายเราด้วยท่อนไม้ ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ใช้อาวุธมีคมฟันแทงเรา"

"ก็ถ้าพวกเขาฟันแทงเธอด้วยอาวุธมีคมเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า พวกเขาฟันแทงเราด้วยอาวุธมีคม ยังดีนักหนาแล้วที่ไม่ฆ่าเราให้ตาย"

"ก็ถ้าพวกเขาเจตนาฆ่าเธอให้ตายเล่า เธอจะคิดอย่างไร"

"ข้าพระองค์จะคิดว่า ภิกษุบางรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อึดอัดระอา เกลียดชังร่างกาย และชีวิตนั้นมีอยู่ จึงแสวงหาอาวุธฆ่าตัวตาย แต่นี่เราไม่ต้องแสวงหาเลย ก็ได้ตายแล้ว"

"ดีละ ! ปุณณะ เธอมีทมะ (การฝึกข่มใจในกิเลสตน) และอุปสมะ (ความสงบใจจากกิเลส) เช่นนี้ จะอยู่ใน สุนาปรันตชนบทได้แน่"

หลังจากนั้น ภิกษุปุณณะก็เดินทางไป จนกระทั่งถึงสุนาปรันตชนบท อยู่จำพรรษาในที่นั้น

ในระหว่างพรรษานั้นเอง พระปุณณเถระสามารถทำให้ชาวสุนาปรันตชนบทเกิดศรัทธาอย่างยิ่ง กลับใจ จากมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มาแสดงตนเป็นอุบาสก (ชายที่ยึดถือพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์เป็น ที่พึ่ง) ๕๐๐ คน แสดงตนเป็นอุบาสิกา (หญิงที่ยึดถือพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง) ๕๐๐ คน และทำตนให้รู้แจ้งในวิชชา ๓ (คือ ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ = รู้ระลึกชาติ ของกิเลสได้ ๒. จุตูปปาตญาณ = รู้การเกิดและดับของกิเลสสัตว์โลกได้ ๓. อาสวักขยญาณ = รู้ความหมดสิ้นไป ของกิเลสตนได้) ภายในพรรษานั้นด้วยเช่นกัน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งแล้ว จึงได้ประกาศว่า

"ในโลกนี้ ศีลเท่านั้นเป็นเลิศ แต่ผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุด ความชนะ (กิเลส) ย่อมมีเพราะศีลและปัญญา ทั้งในหมู่มนุษย์ (ผู้มีจิตใจประเสริฐ) และหมู่เทวดา (ผู้มีจิตใจสูง)"

บันทึกการเข้า
ข้าพจ้า สนับสนุนการเผยแผ่ พระกรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ