ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่สุภา..เกจิ 5 แผ่นดิน เคล็ดวิชาแมงมุมไม่จน  (อ่าน 1698 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


หลวงปู่สุภา..เกจิ 5 แผ่นดิน เคล็ดวิชาแมงมุมไม่จน

“หลวงปู่สุภา”...พระเกจิชื่อดัง อริยสงฆ์ 5 แผ่นดินละสังขารแล้วด้วยวัย 118 ปี ที่วัดคอนสวรรค์ จังหวัดสกลนคร แต่ยังทิ้งปาฐกถาธรรมอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง

“ถ้าเสียสัตย์ ก็เสียศีล...เสียศีลแล้ว ธรรมก็ไม่บังเกิด”

“ฆ่าจิตของเราให้มันตาย อย่าให้มีโกรธ อย่าให้โลภ อย่าให้มีหลง”

สองประโยคธรรมข้างต้นนี้น่าจะคุ้นเคย คุ้นหูลูกศิษย์หลวงปู่เป็นอย่างดี...พลิกแฟ้มประวัติ หลวงปู่สุภาเป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว “วงศ์ภาคำ” มีนามเดิมว่า “สุภา วงศ์ภาคำ”


หลวงปู่สุภา

เกิดวันพฤหัสบดีที่ 17 พุทธศักราช 2438 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ที่บ้านคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

สมัยเยาว์วัย เด็กชายสุภารูปร่างหน้าตาอ้วนท้วนสมบูรณ์ ผิวขาว น่ารัก น่าชัง ใช้ชีวิตไม่ต่างกับเด็กๆทั่วไป เที่ยววิ่งเล่นซุกซนไปตามเรื่องตามราว มีโอกาสจะร่ำเรียนเขียนอ่านก็เมื่อพ่อแม่พาไปฝากวัด ให้พระท่านสอน

“วัด”... จึงเป็นสถานที่ที่เด็กชายสุภาได้แสวงหาความรู้ ส่วนใหญ่ก็คือบวชเป็นเณร

อายุได้ 7 ขวบ ขณะที่วิ่งเล่นริมทุ่งชายป่า เด็กชายสุภาได้พบกับพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดอยู่ใต้ต้นตะแบกต้นใหญ่ เด็กคนอื่นๆที่วิ่งเล่นอยู่ด้วยกันเห็นพระก็ไม่ได้สนใจ ใคร่จะเข้าไปกราบไหว้ พากันเล่นกันต่อ ผิดกับเด็กชายสุภาที่เมื่อเห็นพระก็ยิ่งชอบที่จะเข้าไปหา เพราะชอบไปวัด เมื่อเห็นจึงเข้าไปหา

ตรงเข้าไปกราบ...พระภิกษุชราที่นั่งอยู่มองดูด้วยความเมตตา เพ่งดูลักษณะอยู่ครู่หนึ่งก็บอกเด็กน้อยว่า “...ต่อไปภายภาคหน้าจะได้บวช เมื่อบวชแล้วอย่าลืมไปหา”



พระภิกษุรูปนี้ คือ “หลวงปู่สีทัตต์” จำพรรษาอยู่ที่วัดท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

ช่วงเวลานั้นแน่นอนว่าเด็กชายสุภายังไม่ทันได้คิดอะไร มากไปกว่าวัยที่เป็นอยู่ ได้แต่นั่งคุยกับหลวงปู่ไม่นานนักก็นมัสการลากลับไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ...

ย่างเข้าวัย 9 ขวบ ก็ได้บวชเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์สอนเป็นอุปัชฌาย์

“หลวงปู่สีทัตต์” เป็นพระป่ามีชื่อเสียงด้านวิปัสสนากรรมฐาน นอกจากนี้ยังทรงวิทยาคมด้านคาถาอาคมไสยเวท เมื่อสามเณรสุภาได้เดินทางมานมัสการจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์...เริ่มฝึกกรรมฐานและออกธุดงค์

ติดตามหลวงปู่สีทัตต์กระทั่งอุปสมบทภายในถ้ำภูเขาควาย โดยมีหลวงปู่สีทัตต์เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “กนฺตสีโล”

8 ปีเต็มที่เรียนรู้อยู่กับหลวงปู่สีทัตต์...เมื่อครั้งที่จะต้องเดินไปสู่เส้นทางใหม่ กราบลาหลวงปู่ออกธุดงค์ หลวงปู่สีทัตต์ได้สั่งสอนว่า “ไปให้ดีเถอะเณรน้อย เดินให้สม่ำเสมอ จิตรู้อารมณ์ อย่าเร็วนัก อย่าช้านัก ให้อยู่ในกลางๆโบราณาจารย์ได้สั่งสอนศิษย์เป็นคติสอนใจว่า อยากถึงเร็วให้คลาน อยากถึงนานให้วิ่ง รู้ไหม...หมายความว่าอย่างไร



อยากถึงเร็วให้คลาน คือไปแบบไม่รีบร้อนด่วนได้ จะถึงที่หมายปลอดภัย ให้ลุกลี้ลุกลนเกินไป ก็จะเหมือนคนวิ่งไปด้วยความคะนอง สะดุดล้ม แข้งขาหัก เดินไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องช้าไปอีกนานทีเดียว...”

หลวงปู่สีทัตต์ยังได้แนะนำด้วยความห่วงใยอีกว่า “เณรน้อยจงไปภูเขาควาย ออกจากภูเขาควายแล้วให้ไปท่าเดื่อจากท่าเดื่อไปหนองคาย ที่นั่นเธอจงสละธุดงค์วัตรแล้วเร่งเดินทางไปทางเหนือ ที่นั่นเธอจะได้พบพระอาจารย์องค์หนึ่ง มีความเชี่ยวชาญด้านกสิณและวิชชาแปดประการ มีอภิญญาสูงมาก

เธอจะได้รับความรู้จากท่านเป็นอันมาก ที่ต้องให้สละธุดงค์วัตร เพราะท่านเหลือเวลาไม่มากแล้วในการสั่งสอนเณรน้อย...หากเดินธุดงค์แบบธรรมดาน่าจะสายเกินไป”

เมื่อเดินทางไปตามเส้นทางที่หลวงปู่สีทัตต์ ระหว่างอยู่ที่กรุงเทพฯ มีคนเล่าลือกันว่า “อาจารย์ศุข” หรือ “หลวงปู่ศุข” อยู่ที่วัดปากคลอง-มะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท หลวงปู่สุภาจึงเดินทางออกจากกรุงเทพฯ

จนมาถึงอำเภอวัดสิงห์ แม้จะเหนื่อยเหน็ดกับการเดินทาง แต่เมื่อเข้าเขตวัดก็รู้สึกว่าเยือกเย็น มีอะไรบางอย่างที่บอกว่านี่แหละคือเส้นทางที่หลวงปู่สีทัตต์กำหนดให้มา

หลวงปู่สุภาขณะล้างเท้ากำลังขึ้นกุฏิก็ได้ยินเสียงหลวงปู่ศุขดังมาจากข้างบน “มาถึงแล้วหรือพ่อเณรน้อย กำลังรออยู่พอดี ล้างเท้าแล้วขึ้นมาเห็นหน้าตากันหน่อย”



เมื่อคลานเข้าไปกราบหลวงปู่ศุขต่อหน้าท่าน หลวงปู่ศุขก็เอ่ยขึ้นอีกว่า “นี่เอง...เณรที่ท่านสีทัตต์ได้บอกไว้ในฌาน เป็นคุณนี่เอง...เณรน้อยต้องการอะไร จะเรียนอะไรก็บอกมาได้ไม่ขัดข้อง ท่านสีทัตต์ฝากมาแล้วนี่”

หลวงปู่สุภา ฝากตัวเป็นศิษย์ ตอบกลับไปว่า “กระผมขอให้เป็นเรื่องที่ท่านอาจารย์จะเมตตาอบรมสั่งสอนก็แล้วกันขอรับ เห็นว่าอะไรเหมาะ อะไรควร ก็สั่งสอนให้กระผมก็แล้วกัน”

หลวงปู่ศุขหัวเราะ หึ...หึ ด้วยความพอใจ แล้วบอกว่า “สมแล้วที่เป็นศิษย์ท่านสีทัตต์ มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัวใช้ได้ หลายรูปมาถึงไม่ดูวาสนาบารมีตนเองว่าจะสามารถรองรับได้หรือไม่ จะเรียนโน่น จะเรียนนี่ สุดท้ายก็กลับไปมือเปล่า เพราะขาดวาสนาบารมี

...เพราะเมื่อขาดวาสนา บารมี และการเจียมตัวแล้ว อะไรก็ไม่สำเร็จ เอาละ ไปพักผ่อนก่อน ถึงเวลาจะเรียนมาสอบฐานความรู้ และประสิทธิ์ประสาทวิชาต่อไป”


 ans1 ans1 ans1

หลวงปู่ศุขเน้นเรื่องการรักษาศีลและการปฏิบัติมาก ท่านสอนว่า... “ถ้าศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษจะมีมาเอง” หลวงปู่สุภาได้ศึกษาธรรมและวิทยาคมต่างๆมากมาย เรียนอยู่นาน 3 ปี...หลวงปู่ศุขถือเป็นอาจารย์คนที่สองของหลวงปู่สุภา และที่จะต้องกล่าวถึงคือ สุดยอดเคล็ดวิชา สำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า

วิชานี้เรียกว่า  “แมงมุมมหาลาภ”...อยู่ในตำราที่หลวงปู่ศุข

มอบให้เณรน้อยก่อนที่จะลาจากกัน กลับไปสู่เส้นทางธุดงค์อีกครั้ง เหตุผลสำคัญหลวงปู่ศุขบอกว่าต่อไปจะต้องสะเดาะเคราะห์ผู้คนอีกมาก ความจน ความขัดข้อง การทำมาหากินฝืดเคือง เป็นทุกข์อย่างยิ่งสำหรับฆราวาส

นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ทางโลก

“เคยเห็น...แมงมุมตัวไหนอดอยากปากแห้ง ตายคาใยที่มันขึงไว้ดักอาหารหรือไม่ แมงมุมเป็นสัตว์ขยันและสะอาด แมงมุมไม่ออกล่าเหยื่อในที่ต่างๆเหมือนสัตว์ทั่วไป แต่แมงมุมจะชักใยสร้างเป็นอาณาเขตเอาไว้เพื่อดักแมลง ใยแมงมุมของแมงมุมกว่าจะได้ต้องมีความมานะพยายามอย่างยิ่ง


 st12 st12 st12

ที่ว่า...แมงมุมเป็นสัตว์สะอาดก็คือ มันจะไม่ออกไล่ล่าเหยื่อนอกเขตใยของมัน มันจะไม่ไล่แมลงตกใจบินหรือคลานมาติดใยของมัน แต่มันจะรออยู่กับที่ รอให้เหยื่อเข้ามาติดใยของมัน มันจึงออกมาพันซ้ำด้วยใยและจับกิน”

พูดให้เข้าใจง่ายๆ แมงมุมจะกินสัตว์ที่ถึงฆาตหรือถึงแก่วาระหมดชีวิต ถือว่าหลงเข้ามาในใยที่ดักไว้...ถึงที่ตายแล้ว ไม่ต้องออกล่าเหยื่อจนเจ้าแมงมุมหมดบุญ...ก็คือ ตายจากโลกตามเวลาอันสมควร

เส้นทางชีวิตหลวงปู่สุภา...ยังมีรายละเอียดอีกยาวไกล ผลแห่งแรงศรัทธาทั้งแรงกาย...แรงใจ ที่ท่านได้ทำไว้ก็ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันมากมาย อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีอุปสรรคใดมาขวางได้ ถ้าเรื่องที่จะทำเป็นสิ่งที่หลวงปู่ฯได้ตั้งใจเอาไว้แล้ว


 :25: :25: :25:

หลวงปู่สุภา เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติอยู่ในความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ ความมุ่งมั่นใจการปฏิบัติธรรม แม้จะมีวัยล่วงเลยมากว่าหนึ่งศตวรรษ แต่หลวงปู่สุภาก็ไม่เคยย่อท้อ ท่านมีแต่คำว่า “ให้” และ “สร้าง” ทุกอย่างได้สำเร็จ ด้วยเมตตาบารมีธรรม.


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/367662
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ