ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 'มหาเจดีย์' งดงามระดับโลก ด้วยพลังศรัทธาแห่งวัดประยุรฯ  (อ่าน 1706 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


'มหาเจดีย์'งดงามระดับโลก ด้วยพลังศรัทธาแห่งวัดประยุรฯ : ผกามาศ ใจฉลาด รายงาน

พระบรมธาตุมหาเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่ตั้งตระหง่านกลางวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นเจดีย์ทรงลังกา มีสัณฐานรูประฆังคว่ำ สูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับวัดเมื่อปี พ.ศ.2371 แต่ด้วยอายุเก่าแก่ถึง 186 ปี ทำให้เสาแกนกลางพระบรมธาตุมหาเจดีย์เริ่มเอียงจนหวั่นเกรงว่าจะหักลงมา พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส  จึงจัดโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา ขึ้นในปี 2549

การบูรณะครั้งนี้กลายเป็นผลงานโดดเด่นจนได้รับการยกย่องให้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากองค์การยูเนสโก ซึ่งถือเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลระดับนี้ พระพรหมบัณฑิต เล่าว่า “การบูรณะครั้งแรกนั้นเราไม่ได้นึกถึงว่าจะได้รับรางวัลอะไร เพียงแต่ต้องการทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่สุด เพราะเป็นมหาเจดีย์สำคัญ มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า มีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ภายในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ โดยไม่มีพยานบุคคล รู้เห็น หรือเอกสารหลักฐานชี้ชัดว่าบรรจุไว้ตรงส่วนไหนและตั้งแต่เมื่อไหร่"


 :25: :25: :25:

“ก่อนการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ อาตมาได้ขึ้นไปสำรวจบนยอดเจดีย์พร้อมกับอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ด้วยการเคาะตามจุดต่างๆ จนกระทั่งพบห้องลับอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานของระฆังก่ออิฐ 2 ชั้น ปิดปากห้องลับแล้วฉาบปูนสีขาวทับไว้อย่างกลมกลืน จึงไม่มีใครพบเห็นตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา”

สิ่งที่พบในห้องลับ ประกอบไปด้วย เศียรพระพุทธรูป เครื่องเขิน ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่รายล้อมด้วยพระพุทธรูปบูชาสมัยต่างๆ เมื่อเปิดฝาออกก็จะพบสถูปจำลองทรงเดียวกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ตั้งอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูป 4 องค์ ทำจาก ทอง นาก เงิน ส่วนฐานของสถูปทำด้วยเงิน ด้านบนครอบด้วยกระจกสีขาวใส ภายในสถูปมีแผ่นทองคำม้วนกลมขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยห่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ นอกจากนี้ยังพบพระบรมสารีริกธาตุ มีสีขาว สัณฐานขนาดเท่าเมล็ดถั่วและข้าวสารหัก ที่บรรจุไว้ในผอบเงินส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในล็อกเกตรูปหัวใจทำด้วยเงิน

 st11 st11 st11

หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การค้นพบ “กระดานชนวน” เขียนด้วยลายมือ พระครูสาราณิยคุณ (พระสุมห์ปุ่น) ทั้ง 2 ด้าน มีคำจารึกไว้เป็นอักษรไทยว่า “พระสมุห์ปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 หลัง ปี มะแม พระพุทธศาสนา 2450 เป็นส่วนอดีต 2549 ส่วนอนาคต ขอให้เป็นปัจจัยแด่พระวิริยาธิกโพธิญาณในอนาคตกาลเทอญ”

การค้นพบครั้งนี้ ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ความยิ่งใหญ่และความสำคัญของวัดประยุรวงศาวาสฯ ปัจจุบันทางวัดได้นำพระบรมสารีริกธาตุกลับไปบรรจุในพระเจดีย์ ส่วนพระพุทธรูปบูชา และพระพิมพ์นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์พระ “ประยูรภัณฑาคาร” ในอาคารพิพิธภัณฑ์พรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา เป็นสมบัติของพระศาสนาและเป็นมรดกของแผ่นดิน


 st12 st12 st12

“สำหรับการบูรณะครั้งนี้ ยังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาร่วมบูรณะกับเทคนิคสมัยโบราณ โดยเฉพาะบริเวณแกนกลางของเจดีย์ สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาที่เหลือเพียงแห่งเดียว มีความสูง 20 เมตร น้ำหนัก 144 ตัน แต่เดิมมีลักษณะหักและพิงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง จึงคิดค้นแนวทางในการบูรณะเสาแกนกลางใหม่ โดยนำโครงเหล็กมาหุ้มแกนกลางก่อนใช้แม่แรงยกเสาแกนกลางให้กลับมาตรงเช่นเดิม ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการใหม่ จึงมีการจดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว”

ด้าน ทิม เคอร์ติส ประธานคณะกรรมการตัดสินและหัวหน้าแผนกวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้ได้ส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาทางสังคมในย่านกะดีจีน ย่านประวัติศาสตร์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจลึกซึ้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัวของยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วยการเสริมความแข็งแรงให้แก่โครงสร้างภายใน อีกทั้งยังมีการบูรณะซ่อมแซมที่บูรณาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิถีการก่อสร้างแบบดั้งเดิมได้สื่อสารขนบโบราณและสุนทรีย์แห่งยุคเก่า ความร่วมมือร่วมใจที่น่ายกย่องระหว่างพระสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญและชาวบ้านเป็นประจักษ์พยานถึงความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างวัดและชุมชนในการธำรงรักษาพุทธศาสนสถานให้ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชุมชนตราบจนทุกวันนี้


ขอบคณภาพและบทความจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140506/184126.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ