ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว อยากมีลูก ไม่อยากมีผัว  (อ่าน 99 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว อยากมีลูก ไม่อยากมีผัว

อยู่ก่อนแต่ง เป็นประเพณีดั้งเดิมของอุษาคเนย์รวมทั้งไทย มีเหตุจาก “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว” [หมายถึงหญิงมีอำนาจสูงกว่าชาย (ชายมีอำนาจบ้าง แต่ต่ำกว่าหญิง) เป็นคำคล้องจองของตระกูลไท-ไต มีมาแต่ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์]

เมื่อชายเป็นบ่าวรับใช้บ้านหญิง เพื่อหวังจะแต่งงานเป็นผัวเมียต่อไปข้างหน้า ต้องยอมเป็นบ่าวไปจนกว่าเครือญาติฝ่ายหญิงจะยอมรับ ซึ่งใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือหลายปีก็ได้ เช่น 5 ปี 10 ปีก็มี ระหว่างนี้สังคมยุคนั้นยอมให้ “อยู่ก่อนแต่ง” แล้วมีลูกก็ได้

@@@@@@@

อยากมีลูก ไม่อยากมีผัว

“อยากมีลูก แต่ไม่อยากมีผัว” และ “ลูกรู้จักแม่ แต่ไม่รู้จักพ่อ” น่าจะเป็นร่องรอยวิถีชีวิตดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่ยกย่องหญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม (สมัยหลังเรียกเรียกแม่, เม)

หมัวซัวเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนานในจีน ฝ่ายชายจะไปที่บ้านหญิงคนรักแล้วนอนค้างคืนด้วยกัน พอรุ่งเช้าฝ่ายชายก็กลับบ้านของตน

ในเอกสารจีนโบราณ (หมานซู) ระบุว่าบริเวณนี้ลงไปทางใต้จรดทะเล ราว 2,000 ปีมาแล้ว เป็นหลักแหล่งของชนเผ่าร้อยพ่อพันแม่

ยาย เป็นใหญ่สุดในครอบครัว ที่มีสมาชิกราว 40-50 คน

แม่ เป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการงานทุกอย่างในครอบครัว (ซึ่งประกอบด้วย ลุง, ป้า, น้า และเจ๊ๆ หลายคน)

ส่วนลุงและน้าชายมีหน้าที่ทำงานก่อสร้างซ่อมแซมเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้

ไม่มีพ่อ ไม่รู้จักพ่อจริงๆ และไม่มีศัพท์คำว่า พ่อ, ผัว เป็นพยานการสืบสกุลทางฝ่ายหญิง เพราะหญิงเป็นเจ้าของบ้าน

@@@@@@@

หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว

คําคล้องจองเก่าแก่ว่า “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว” มีมาครั้งไหน? ไม่มีใครบอกได้

แต่แสดงให้เห็นว่าสังคมดั้งเดิมของคนดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ หญิงมีอำนาจสูงกว่าชาย (ชายมีอำนาจบ้างเหมือนกัน แต่มีต่ำกว่าหญิง) แล้วเป็นรากเหง้าให้เรียกหญิงชายในพิธีแต่งงานว่า เจ้าสาว-เจ้าบ่าว

“เอาแฮงโต๋ ต่างควายนา” เป็นภาษาลื้อ (สิบสองพันนา) ถอดเป็นคำไทยว่า เอาแรงตัว ต่างควาย

เป็นคำพังเพยเพื่อจะอธิบายว่าประเพณีลื้อ เมื่อหญิงชายจะแต่งงานเป็นผัวเมียกัน ชายต้องไปทำงานรับใช้พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านฝ่ายหญิง ต้องใช้แรงตัวเองของชาย ทำงานเหมือนควายให้ฝ่ายหญิง

ชาวขมุ ถือว่าบ้านไหนมีลูกสาว บ้านนั้นมั่งคั่งร่ำรวย เพราะต่อไปจะมีบ่าว คือชายมารับใช้ทำงานทำไร่ไถนาเพื่อเป็นเขย (อย่างนี้ทางปักษ์ใต้เรียก เขยอาสา ทางอีสานเรียก เขยสู่)

เมื่อชายเป็นบ่าวรับใช้บ้านหญิง เพื่อหวังจะแต่งงานเป็นผัวเมียต่อไปข้างหน้า ต้องยอมเป็นบ่าวรับใช้ไปจนกว่าเครือญาติฝ่ายหญิงจะยอมรับ ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ หรือหลายปีก็ได้ เช่น 5 ปี 10 ปีก็มี

ระหว่างนี้สังคมยุคนั้นยอมให้ “อยู่ก่อนแต่ง” ได้ แล้วมีลูกก็ได้ แต่ต้องเป็นบ่าวไพร่อยู่ในโอวาทฝ่ายหญิง จะทำขึ้นเสียงไม่ได้

นาง แปลว่า หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่ ใช้กับเพศหญิง (มีความหมายอย่างเดียวกับนายที่ใช้กับเพศชาย)

สาว หมายถึงวัยรุ่นหญิง หนุ่ม หมายถึงวัยรุ่นชาย

เจ้าสาว หมายถึงหญิงที่เข้าพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าว หมายถึงชาย (ซึ่งเป็นหนุ่ม) ที่เข้าพิธีแต่งงาน แต่ไม่เรียกเจ้าหนุ่ม ต้องเรียกเจ้าบ่าว เพราะต้องทำงานรับใช้เป็นขี้ข้าในบ้านสาว

ในพิธีส่งเข้าหอ เจ้าบ่าวต้องเดินเกาะหลังเจ้าสาวที่เดินนำหน้า (มีตำนานบันทึกในราชพงศาวดารกัมพูชา)

แล้วต้องเป็นเขยอยู่บ้านเจ้าสาว เพราะเจ้าสาวเป็นผู้รับมรดกบ้านกับที่ดิน และสืบสายตระกูล เจ้าบ่าวต้องรับใช้ในบ้านเจ้าสาวตลอดไป



เจ้าบ่าวต้องไปไหว้ผีและเคารพญาติของฝ่ายเจ้าสาวในพิธีแต่งงานของไทดำ หรือชาวโซ่งที่ จ.สุพรรณบุรี (ภาพเมื่อ พ.ศ.2549)

ฉุด, หนีตาม

หญิงสาวชายหนุ่มรักใคร่ชอบพอกัน แต่ฝ่ายชายยากจน ไม่มีสินสอดพอจะสู่ขอแต่งงานได้ตามประเพณี หรือถูกกีดกันจากพ่อแม่เครือญาติฝ่ายหญิง

มีทางออกให้เลือก คือ ฉุด หรือ หนีตาม เพื่อรวบรัดเป็นผัวเมียกันก่อน แล้วฝ่ายชายจัดพิธีเสียผีขอขมาทีหลัง

ฉุด หมายถึงชายฉุดหญิงไปทำเมีย โดยทั่วไปเข้าใจกันด้านเดียวว่าชายใช้ความรุนแรงตามอำเภอใจฉุดหญิง แต่ในความจริงมักเกิดจากหญิงชายนัดแนะรู้กัน โดยหญิงเต็มใจไปในที่ให้ชายฉุด ส่วนที่ชายหักหาญตามอำเภอใจ เพราะหญิงไม่ชอบชายก็มีไม่น้อย

หนีตาม หมายถึงหญิงหนีพ่อแม่ตัวเองไปอยู่กับชายเป็นผัวเมีย เพราะพ่อแม่ไม่ยอมให้แต่งงาน ซึ่งมีคำชาวบ้านนินทาฝ่ายหญิงว่า “หอบผ้าผ่อนหนีตามผู้ชาย” เพราะร่านและแรดอยากมีผัว แต่พ่อแม่เครือญาติฝ่ายหญิงจะแก้ตัวว่าลูกสาวถูกฉุด

@@@@@@@

แต่งงาน

แต่งงาน หมายถึงพิธีเสียผีที่ฝ่ายชายขอขมาพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่ฉุดลูกสาวเขาไปร่วมเพศทำเมียโดยมิได้สู่ขอ เมื่อพ่อแม่รวมทั้งเครือญาติฝ่ายหญิงและชุมชนยอมรับ จะได้อยู่กินเป็นผัวเมียมีลูกเต้าต่อไปตามปกติ [มีรายละเอียดในหนังสือ ปลูกเรือน-แต่งงาน ของเสฐียรโกเศศ สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2507 หน้า 110-121]

ครั้นนานเข้าก็เพิ่มเติมรายการอันเป็นมงคลต่างๆ จนไม่เหลือเค้าดั้งเดิม



เสาสลักรูปนมสองเต้าของ “ลองเฮาส์” คือบ้านยาวของหญิงที่แสดงวัฒนธรรมนับถือผู้หญิงเป็นใหญ่ของชาวเอเด (เรอแดว) บริเวณที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม

ท้องแรก, ท้องก่อนแต่ง

ท้องก่อนแต่ง หมายถึงหญิงกับชายมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงานเป็นทางการ แล้วฝ่ายหญิงตั้งท้องอ่อนๆ เลยต้องรีบจัดพิธีแต่งงานตามประเพณีให้เป็นที่รู้ทั่วกัน

เมื่อครบกำหนดคลอดลูก บางทีมีชาวบ้านจับผิด แล้วนินทาว่าเพิ่งแต่งงานไม่กี่เดือน ทำไมคลอดเร็วนัก น่าสงสัย?

ผู้ใหญ่ที่มีเมตตาและรู้เท่าทันจะชิงอธิบายตัดบทว่า “ท้องแรกก็เป็นธรรมดาอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครครบเก้าเดือนหรอก เด็กในท้องมันดิ้นเร็ว”

ก็มีเซ็กซ์กันจนท้องก่อนแต่งเป็นปกติ ไม่เห็นจะต้องงง

@@@@@@@

ชายอยู่บ้านหญิง หลังแต่งงาน

เมื่อเลือกชายขยันทำมาหากินได้ถูกใจ ครอบครัวฝ่ายหญิงก็ให้มีพิธีแต่งงาน แล้วขยายเรือนมีครัวให้อยู่กินออกไปต่างหาก เรียก “แยกครัว” เพราะทำใหม่เพิ่มเฉพาะครัว แต่ตัวเรือนอยู่รวมกันลักษณะเรือนยาว (หรือ “ลองเฮาส์”) สมัยหลังถึงแยกเรือนอีกหลังหนึ่ง

หมายความว่าโดยประเพณีแล้วชายต้องอยู่บ้านหญิง เรียก “แต่งเขยเข้าบ้าน” เท่ากับคนเป็นผัวต้องสงบปากสงบคำ เพราะอยู่ท่ามกลางเครือญาติของเมีย ถ้าโหวตเมื่อไรผัวก็แพ้เมียวันยังค่ำ

เหตุมาจากหญิงเป็นผู้รับมรดกจากครอบครัว เป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน แล้วเป็นผู้สืบตระกูล ไม่ใช่ชาย •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_751932
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 16, 2024, 05:57:09 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ