ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บัวแดงบานเหนือหนองหาน “กุมภวาปี” งามจริงๆ  (อ่าน 2025 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

บัวแดงบานเหนือหนองหาน “กุมภวาปี”

อดีตที่ไม่ไกลออกไปเท่าไหร่นัก เมื่อท้องทุ่งชนบทยังไม่ถูกสังคมเมืองเข้าไปคุกคาม กลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่นที่น่าเมียงมองในภาพพื้นบ้านนั้นยังพอมีให้เห็น ดั่งเพลงลูกทุ่งหลายยุคสมัยที่ครูเพลงบรรจงถ่ายทอดภาพเหล่านั้นออกมาจากจินตนาการ ผสมผสานกับเครื่องดนตรี ทำให้คนฟังสามารถมองเห็นมโนภาพแห่งท้องทุ่งและหนองน้ำ กับฝูงวัวควายที่กำลังผายผันสู่กระท่อมข้างกองฟาง ก่อนตะวันจะลับฟ้าเลือนรางจางไปได้อย่างน่าประทับใจ

หรือถ้าจะมองให้ใกล้กันเข้าไป ทั้งท้องร่องท้องนาและหนองน้ำแต่ละแห่ง มักจะเห็นกอบัวสุมรุมกันอยู่ทั่วผิวน้ำ บางกอจะมีช่อชูชันยันกลีบดอกที่อูมเต่งรอวันเบ่งกลีบบาน ขณะที่อีกหลายกอมีช่อชูดอกบานรับผีเสื้อและแมลง ที่แข่งกันเข้าไปจับจ่อจิกกินตรงกลิ่นเกสร

บัวเหล่านั้นถ้าดูอิ่มอยู่ในกลิ่นท้องนา ชาวบ้านมักจะเหมาเรียกรวมกันไปว่า “บัวนา” มีทั้งที่อวดกลีบแดง กลีบเหลือง และขาว คละเคล้ากันอยู่ตรงนั้น

หนึ่งในนั้นมีบัวชนิดหนึ่ง ที่กิ่งก้านชูสง่าอยู่เหนือผิวน้ำไปพร้อมกับใบบัวที่บานคลุมเหนือแผ่นน้ำคู่กัน ขณะที่เรียวดอกจะอูมอวบด้วยกลีบเขียวอ่อนหุ้มซ่อนดอกไว้ข้างใน บัวชนิดนี้เขาเรียกมันว่า “บัวขาว” ที่ชาวบ้านนิยมเก็บเอาไปขึ้นหิ้งบูชาพระ บัวชนิดนี้เคยมีให้เห็นมากในหนองน้ำข้างทางรถไฟแถวชานกรุง ตั้งแต่ตลิ่งชันไปยันคลองมหาสวัสดิ์

ทว่า ปัจจุบันน่าเสียดายที่บัวเหล่านี้เป็นแค่ตำนานกับการกล่าวขานถึง เพราะผืนน้ำและกอบัวกับดอกที่เคยคลุมผืนน้ำทั่วไป กลับถูกดินกลบให้กลายเป็นแผ่นดินทอง สำหรับการสร้างบ้านจัดสรรชานกรุงขึ้นมาแทนที่ เหมือนกับแปลงนาอีกหลายหมื่นไร่ที่ต้องกลายเป็นทำเลทองของบ้านจัดสรรขึ้นแข่งกับโรงงานอุตสาหกรรม ทำลายภาพท้องนาซึ่งเคยงามตาด้วยเหล่าบัวนาหลากสีไปอย่างน่าเสียดาย....



ครั้นเมื่อถึงวันนี้...เกิดมีการค้นพบกันว่า “หนองหาน” หนองน้ำซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 22,500 ไร่ อยู่ทางตอนเหนือของ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี และได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งต้นน้ำของลำน้ำปาว แห่งเมืองน้ำดำกาฬสินธุ์ กับได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งสำคัญของภาคอีสาน คือแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ของเหล่าบัวแดง ที่พากันเจริญพันธุ์อยู่ทั่วอาณาหนองน้ำ นับแต่เดือนตุลาคมข้ามปีไปจนชนเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม

บัวแดงเป็นชื่อสามัญพื้นบ้าน ที่เรียกขานกันตามสีที่ปรากฏอยู่บนกลีบดอกของบัวชนิดนี้ แต่ชื่อที่ปรากฏตามตำราที่แท้จริงแล้ว เขาเรียกมันว่า ’บัวสาย“ หรือ Pink Water lily อยู่ในวงศ์ NYMPHAEACEAE โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nympha lotus

ลักษณะโดยทั่วไปของบัวสายนั้น จัดอยู่ในพวกพืชน้ำอายุหลายฤดู มีลำต้นใต้ดินคล้ายหัวเผือก ใบเดี่ยวรูปเกือบกลม ฐานใบนั้นหนักลึก ขอบใบจักแหลม เส้นใบด้านล่างนูนเห็นเด่นชัด ส่วนดอกเดี่ยวชูขึ้นเหนือผิวน้ำ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอกรูปปรีแกมไข่เรียงซ้อนกันหลายชั้น

อย่างไรก็ตาม บัวสายเป็นพืชโบราณที่มีการค้นพบมากว่า 3,000-4,000 ปี โดยเชื่อกันว่าเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับบูชาเทพเจ้า มีการพบอยู่ในหลุมฝังศพของกษัตริย์อียิปต์ เมืองไทยเรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “อุบลชาติ” และให้คุณประโยชน์ด้านอาหารในชีวิตประจำวัน ตรงลำต้นนั้นสามารถนำมาใช้เป็นสายบัว สำหรับจิ้มกินกับน้ำพริก หรือต้มกะทิกินกับข้าวสวยร้อน ๆ

แล้วก็เพราะหนองหานเป็นแหล่งที่ร่ำรวยดอกบัวแดง หรือบัวสายมากสุดในยามนี้ สถานที่แห่งนี้จึงถูกขนานนามให้เป็น ’ทะเลบัวแดงบาน“ ขานรับกับฤดูหนาวประจำปี อันเนื่องมาจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลนั้น ต่างแดงเรื่อไปด้วยมวลหมู่ดอกบัวแดง ที่แข่งกันบานรับตะวันตั้งแต่ยามเช้าตรู่ไปจนถึงก่อนเที่ยงวัน และจะพากันหุบดอกกลับเข้าไปในเรียวกลีบ เพื่อรอบานรับกับตะวันใหม่ในวันรุ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะโรยราไปตามกาลเวลาโดยธรรมชาติของมันเอง



ด้วยความงามที่ปรากฏตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ให้ หลายฝ่ายจึงรีบนำเอาความมหัศจรรย์แห่งนั้นมาร่วมกันเสกสรรปั้นแต่ง ให้กลายเป็นหนองหานอันตระการตาสำหรับการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่จำเป็นจะต้องไปแข่งขันกับใคร เพราะที่ไหน ๆ ก็คงไม่มีให้เห็นเป็นอัศจรรย์ตาเหมือนที่นี่!

จากปีที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี จึงได้จับมือร่วมกันอีกครั้งหนึ่งกับ อบจ. อุดรธานี โดยยึดเอาช่วงเวลาที่ดอกบัวแดงเริ่มผลิดอกออกกลีบ นับแต่เดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา เป็นห้วงเวลาของการเริ่มต้น “ฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลบัวแดงบาน หนองหานกุมภวาปี” ซึ่งใช้บริเวณพื้นที่ขอบคันดินหนองหาน แห่งบ้านเดียม ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เป็นสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน

ณ ที่ตรงนั้น นอกจากจะมีการกำหนดให้เป็นบริเวณลานจอดรถส่วนหนึ่งแล้ว ห่างออกไปตามแนวคันดินประมาณ 200 เมตร ได้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือเป็นแนวไม้สำหรับรองรับคนไปใช้บริการ เพื่อเดินผ่านไปลงเรือเหล็กท้องแบน ที่ อบจ.อุดรธานี เป็นผู้จัดหามาจำนวน 31 ลำ ในจำนวนนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีมา 10 ลำ

เรือดังกล่าวติดตั้งเครื่องยนต์ไว้ตอนท้าย แต่เสียงเครื่องยนต์ไม่ถึงกับก้องดังทำลายมลพิษด้านเสียง เรือ 1 ลำ สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 10-12 คน พร้อมเสื้อชูชีพประจำเรือนำเที่ยวทุกลำ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากท้องน้ำหนองหานมีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 2.50-3 เมตร



เรือดังกล่าวเริ่มรายการท่องเที่ยวกลางหนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนทะเลผืนใหญ่ที่ถูกปกคลุมไว้ด้วยหมู่ดอกบัวแดงแผ่กระจายไปทั่วอาณาบริเวณ ที่ใครได้เห็นเป็นต้องออกปากอุทานถึงความงามมหัศจรรย์กันทุกรายไป

ไม่เพียงเท่านั้น ไกลสุดลูกหูลูกตาที่เหล่าบัวแดงแข่งขันกันชูช่อ มันคือภาพของแนวภูเขา คาดโค้งฟ้ารองรับเป็นฉากกำบังอยู่ด้านหลัง ขณะที่หมู่นกน้ำจำนวนไม่น้อยพากันโผบินว่อนอยู่เหนือแนวดอกบัวแดง จนยากที่จะพรรณนาถึงความงามที่สูงค่านี้ได้ ระหว่างท้องน้ำเปี่ยมบัวแดง กับภูผาเคียงท้องน้ำ กับหมู่นกที่อยู่กันได้อย่างสมดุลซึ่งกันและกัน

เรือนำเที่ยวทุกลำจะแล่นตรงออกไปยังเบื้องทิศตะวันออก ให้คนโดยสารทุกคนได้เห็นกลุ่มบัวแดงอย่างใกล้ชิด ขนาดเอื้อมมือแตะสัมผัสกับมันได้ ขณะเดียวกันหมู่เรือไม้ขนาดเล็กก็เห็นสาละวนอยู่กับการวางลอบวางไซ ในการทำประมงขนาดย่อมเพื่อการยังชีพ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของท้องน้ำแห่งนี้ จึงส่งผลให้ท้องน้ำที่ว่า ใช่ว่าจะมีแต่บัวแดงเป็นสีสันแต้มหนองน้ำเท่านั้น หากแต่ยังมีสัตว์น้ำมากพันธุ์เจริญพันธุ์ให้กับเหล่าประมงประจำถิ่นควบคู่ไปด้วยแบบแทบไม่รู้ตัว

ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ที่เรือนำเที่ยวแล่นลำอยู่กลางท้องทะเลบัวแดง หนองหาน กุมภวาปี ให้ทุกคนได้ชื่นชม และฉ่ำชื่นท่ามกลางสายลมที่พัดผ่านเข้ามาพร้อมไอเย็นที่สะท้านผิวเพียงเล็กน้อย ก็วนกลับเข้าสู่บริเวณท่าเทียบเรือ เป็นอันสิ้นสุดการได้เบิกตามองโลกกลางท้องน้ำที่สดใส และมีสีสันโดยธรรมชาติเป็นผู้ปรุงแต่งแต้มไว้ให้ในช่วงฤดูหนาวปลายปีก่อนกระทั่งจรดปี 2555 ที่ยังไม่อาจรู้ได้ว่าธรรมชาติของการเมืองไทยจะปรับเปลี่ยนมีสีสันขึ้นเหมือนดงดอกบัวแดงแห่งนี้


หรือมันจะเน่าสนิท อยู่กับหนองน้ำครำเช่นปีที่ผ่าน ๆ มากระนั้นฤา?.



รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว

บริการล่องเรือชมทะเลบัวแดง ตั้งแต่วันนี้ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 06.00- 11.00 น. ทุกวัน ณ ท่าเรือบ้านเดียม ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี

เรือบริการขนาดเล็กนั่งได้ 2-3 คน ค่าบริการ คนละ 100 บาท เรือใหญ่นั่งได้ 10-12 คน ค่าบริการคนละ 100 บาท หมู่คณะเหมาพิเศษลำละ 500 บาท ระยะทางอุดรธานี-บ้านเดียม 40 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอุดรธานี-ขอนแก่น แล้วแยกซ้ายมือที่บ้านนาดีเข้าไปประมาณ 14 กิโลเมตร

งานเทศกาลบัวแดงบาน วันที่ 13-15 มกราคม 2555 ณ วัดบ้านเดียม การแสดงของนักเรียน, ประกวดวาดภาพและถ่ายภาพทะเลบัวแดง, ประกวดธิดาบัวแดง, ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง และโปงลางนักเรียน, แข่งขันเต้นแอโรบิก, จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ที่ทำการปกครองอำเภอกุมภวาปี 0-4233–4446, เทศบาลตำบลเชียงแหว 0-4223-6022 หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี 0-4232-5406-7



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.dailynews.co.th/article/224/6339
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ