ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ผู้หญิงขับรถให้พระไม่ได้ ให้ทองพระก็ไม่ได้  (อ่าน 8006 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
วินัยของพระภิกษุสงฆ์ ที่ประชาชนควรทราบ
รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระเทพวิสุทธิญาณ (อุบล นนฺทโก ป.ธ. ๙) วัดบวรนิเวศวิหาร

พุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ควรรู้จักพระวินัยบางข้อ ของพระภิกษุสงฆ์ไว้ด้วย เพราะว่าพระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่อันสำคัญที่สุด คือรักษาตัวอย่าให้มีโทษทางพระวินัย จึงจะสมเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบรมศาสดา

และจะได้สมเป็นผู้ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นนาบุญของชาวโลก ไม่บริโภคจตุปัจจัยของเขาให้เปลืองเปล่า เปรียบเหมือนอย่างพื้นนาอันปราศจากวัชพืช คือหญ้าที่เป็นโทษ ย่อมจะอำนวยให้ข้าวที่ชาวนาหว่านลงเจริญงอกงามมีผลเต็มเมล็ดเต็มรวง

แต่หากว่านารกไปด้วยวัชพืช ข้าวที่หว่านลงก็มีผลไม่เต็มที่ ข้อนี้ฉันใด พระภิกษุหรือสามเณร ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าศีลไม่ขาด ไม่มีโทษทางพระวินัย ก็เท่ากับนาที่ไม่รก พืชบุญที่หว่านลงก็ย่อมมีผลมาก มีกำไรมาก แต่ถ้าศีลขาดมากมีโทษทางพระวินัยมาก ก็เท่ากับที่นารก พืชบุญที่ชาวโลกหว่านลงก็มีผลน้อยมีกำไรน้อย

ด้วยเหตุนี้ หระภิกษุสามเณรผู้ตระหนักในหน้าที่ของตน จึงพยายามรักษาตัวมิให้เป็นนาที่รกด้วยวัชพืชก็ในการรักษาตัวนั้น พระภิกษุสามเณรบางรูปบางครั้งบางคราว ไม่สามารถจะให้บริสุทธิ์เท่าที่ควรได้ เพราะคฤหัสถ์หรือบุรุษ สตรีหรือทายกทายิกา ผู้ไม่รู้วินัยของพระ และมีธุระเกี่ยวข้องกับพระในวาระต่างๆ เช่นในคราวทำบุญ แต่ทำไม่ถูกต้องพระวินัย ภิกษุเกรงใจคฤหัสถ์ บางทีคฤหัสถ์เกรงใจภิกษุ

จึงทำให้พระต้องอาบัติ คือต้องโทษทางพระวินัย อย่างนี้คฤหัสถ์ได้บุญก็จริง แต่ได้น้อยเพราะขณะเดียวกันนั้นพระได้บาปต้องโทษไม่บริสุทธิ์ เหมือนนาที่รกเสียแล้ว

อนึ่ง บางทีบางรูปไม่รู้วินัยของตนเองดีพอ หรือบางรูปรู้วินัยดีแล้ว แต่ไม่เอื้อเฟื้อในวินัยก็ย่อมเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ในทางที่ผิดๆ และคฤหัสถ์ก็ไม่รู้วินัยของพระจึงพากันปฏิบัติผิดร่วมกันอย่างนี้ จึงรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะกับพุทธศาสนิกชนเลย

ด้วยเหตุนี้ เพื่อที่จะให้คฤหัสถ์ บุรุษ-สตรีทั้งหลายช่วยกันรักษาภิกษุสงฆ์ให้บริสุทธิ์เป็นนาบุญอย่างดี จะได้เพิ่มปริมาณผลแห่งพืชบุญที่บริจาคหว่านลงไปให้มากยิ่งๆ ขึ้น จึงได้รวบรวมพระวินัยบางข้อที่คฤหัสถ์ทั้งบุรุษและสตรีควรทราบนำมาเรียบเรียงเป็นข้อๆ พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ ดังต่อไปนี้

      ๑.     สุภาพสตรี อย่าถูกต้องภิกษุสามเณร(สังฆาทิเสส ข้อ ๒)
      ๒.     สุภาพบุรุษ หรือสุภาพสตรี ไม่ควรวานให้พระชักสื่อชายหญิงให้เป็นสามีภรรยากัน แม้ชั่วครั้งชั่วคราว(สังฆาทิเสส ข้อ ๕)
      ๓.     สุภาพสตรี ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาไปด้วย ไม่ควรเข้าไปหาพระในที่ลับตาหรือลับหู เพราะอาจจะทำให้พระถูกโจทด้วยอาบัติต่างๆ หรือเป็นทางให้เกิดความเสียหายมาก(อนิยต ข้อ ๑-๒)
      ๔.     สุภาพบุรุษหรือสตรี เมื่อศรัทธาจะถวายเงินทองแก่พระภิกษุหรือสามเณรต้องมอบให้แก่ไวยาจักร (ผู้ที่รับทำกิจของท่าน) และแจ้งให้ท่านทราบ อย่ามอบให้ในมือหรือในย่าม หรือในบาตรของท่าน เป็นต้น
(จีวรวรรค ข้อ ๑๐-โกสิยวรรค ข้อ ๘)
      ๕.      บุรุษผู้เป็นไวยาจักร เมื่อรับเงินทองของพระรูปใดไว้เท่าไร ต้องจัดสิ่งของที่พระต้องการถวายพระรูปนั้น ในราคาเท่าเงินทองที่ตนรับไว้นั้น ในเวลาที่ท่านขอ ถ้าเงินทองมากพระขอของน้อย ก็จ่ายเท่าที่ท่านต้องการ เก็บส่วนที่เหลือไว้จ่ายคราวต่อไป(จีวรวรรค ข้อ ๑๐)

      ๖.      บุรุษ-สตรี ผู้เป็นพ่อค้า-แม่ค้า ไม่ควรขายของแก่พระภิกษุ หรือสามเณรผู้ที่จับต้องเงิน (ธนบัตร-เหรียญบาทเป็นต้น) มาซื้อด้วยตนเอง(โกสิยวรรค ข้อ ๙)
      ๗.      บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาสิ่งของของตนแลกกับสิ่งของของพระ-ของสามเณร(โกสิยวรรค ข้อ ๑๐)
      ๘.      บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาผ้าอาบน้ำฝนถวายพระก่อนเข้าพรรษามากกว่า ๑ เดือน แม้พระขอก็ไม่ต้องถวาย เว้นไว้แต่พระที่เป็นญาติ และพระที่ตนปวารณาไว้(ปัตตวรรค ข้อ ๔)
      ๙.      บุรุษ-สตรี เมื่อเตรียมสิ่งของจะถวายแก่สงฆ์ (ไม่เฉพาะบุคคล) ถ้าพระแนะนำให้ถวายเฉพาะตัวท่านเอง หรือให้ถวายเฉพาะพระรูปใดๆ ก็ตาม ไม่ต้องถวายตามคำแนะนำนั้น(ปัตตวรรค ข้อ ๑๐-สหธรรมิกวรรค ข้อ ๑๒)
      ๑๐.   บุรุษ-สตรี เมื่อเรียนธรรมกับพระ อย่าออกเสียงบทพระธรรมพร้อมกับพระ(มุสาวาทวรรค ข้อ ๔)


      ๑๑.    บุรุษ เมื่อนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระครบ ๓ คืนแล้ว ต้องเว้นเสีย ๑ คืน ต่อไปจึงนอนได้อีก
(มุสาวาทวรรค ข้อ ๕)
      ๑๒.   สตรี ห้ามนอนในที่มุง ที่บัง อันเดียวกับพระแม้ในคืนแรก(มุสาวาทวรรค ข้อ ๖)
      ๑๓.   บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ขุดดินเหนียวล้วนหรือดินร่วนล้วน ไม่ควรขุด แต่ถ้าพระแสดงความประสงค์ว่าต้องการหลุมหรือคูเป็นต้น หรือว่าต้องการขุดดินให้สูงเท่านั้นเท่านี้เป็นต้น ก็ควรจัดการให้ตามประสงค์(มุสาวาทวรรค ข้อ ๑๐)
      ๑๔.   บุรุษ-สตรี ถ้าพระใช้ให้ตัดต้นไม้ หรือดายหญ้าที่เกิดอยู่กับดิน หรือให้รื้อถอนผักหญ้าต่างๆ ที่เกิดอยู่ในน้ำ ไม่ควร ตัด-ดาย-รื้อถอน แต่ถ้าพระบอกว่า เราต้องการไม้-หญ้า-ผัก หรือว่าเราต้องการทำความสะอาดในที่ซึ่งเกะกะรุงรัง ด้วยต้นไม้หรือผักหญ้าดังนี้เป็นต้น จึงทำให้(ภูตคามวรรค ข้อ ๑)
      ๑๕.   บุรุษ-สตรี นิมนต์พระให้ฉันอาหารอย่าออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ควรใช้กัปปิยโวหารหรือคำพูดที่สมควร เช่น พูดว่า “ขอนิมนต์ฉันเช้า” หรือว่า “ขอนิมนต์ฉันเพล” และต้องบอกวัน เวลาสถานที่ให้ชัดเจน ทั้งบอกให้พระทราบด้วยว่าให้ไปกันเอง หรือจะมารับ อนึ่งการที่นิมนต์พระให้ฉันนั้นปรารภเรื่องอะไรก็ควรบอกให้ทราบด้วย(โภชนวรรค ข้อ ๒)

      ๑๖.   บุรุษ-สตรี เมื่อเลยเวลาเพลแล้ว คือตั้งแต่เที่ยงวันไปจนถึงวันใหม่ อย่านำอาหารไปประเคนพระ หากเป็นของที่เก็บค้างคืนได้ ไม่บูด ไม่เสีย เช่น ข้าวสาร ปลาดิบ เนื้อดิบ อาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง เป็นต้น ก็มอบไว้แก่ไวยาวัจกรของท่านได้(โภชนวรรค ข้อ ๗)
      ๑๗.   บุรุษ-สตรี ถ้าพระที่มิใช่ญาติและตนไม่ได้ปวารณาไว้ ไม่เป็นไข้ ขอโภชนะอันประณีต คือข้าวสุกที่ระคนด้วยเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม แม้อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ควรถวาย แต่ถ้าขอเพื่อผู้เป็นไข้ควรถวายโดยแท้(โภชนวรรค ข้อ ๙)


      ๑๘.   บุรุษ-สตรี เมื่อประเคนอาหารหรือยาเป็นต้น ทุกอย่างที่พระจะต้องกลืนกิน (ฉัน) ต้องประเคนให้ถูกวิธี ดังนี้ (โภชนวรรค ข้อ ๑๐)

ก.    ภาชนะหรือห่อของนั้น ไม่ใหญ่หรือหนักจนเกินไป ยกคนเดียวได้อย่างพอดี
ข.    เข้าอยู่ในหัตถบาสของพระ ห่างจากพระประมาณ ๑ ศอก เป็นส่วนสุดของสิ่งของหรือของบุคคลผู้ประเคน
ค.    น้อมกายถวายด้วยความเคารพ
ง.     กิริยาที่ถวายนั้น ถวายด้วยมือหรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่นช้อน-ภาชนะก็ได้
จ.     พระรับด้วยมือ หรือของที่เนื่องด้วยมือ เช่น บาตร-ผ้าก็ได้


      ๑๙.   สตรีไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่เป็นเพื่อน ต้องไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดิน ในห้องกับพระ แม้จะมีสตรีหลายคนก็ไม่ได้(อเจลกวรรค ข้อ ๔)
      ๒๐.   สตรีต้องไม่นั่ง ไม่นอนในที่แจ้งกับพระ หนึ่งต่อหนึ่ง ถ้าสตรีหลายคนนั่งได้ แต่การนอนนั่นไม่ควร แม้การยืน การเดินกับพระ หนึ่งต่อหนึ่ง ด้วยอาการซ่อนเร้นก็ไม่ควร(อเจลกวรรค ข้อ ๕)

      ๒๑.   บุรุษ-สตรี ที่ไม่ใช่ญาติของพระ แม้จะเป็นเขย สะใภ้ หรือภรรยาเก่าของพระ (ปุราณทุติยิกา) หากมิได้เกี่ยวข้องทางสายโลหิต ก็ชื่อว่ามิใช่ญาติ ถ้ามีศรัทธาจะให้พระขอปัจจัย ๔ หรือสิ่งของต่างๆ จากตนได้ ก็ต้องปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระขอได้โดยลักษณะ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

ก.    กำหนดปัจจัยหรือสิ่งของ เช่น จีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง ยา หนังสือ สมุด ปากกา ฯลฯ
ข.    กำหนดเวลา คือให้ขอได้ตลอดเท่านั้นวัน เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี ตั้งแต่วันที่เท่าไรถึงเท่าไร
ค.    กำหนดทั้งปัจจัย-สิ่งของ และเวลา
ง.     ไม่กำหนดทั้งปัจจัย สิ่งของและเวลา ถ้าจะให้ขอได้เป็นนิตย์ ต้องบอกว่า นิมนต์ขอได้ตลอดกาลเป็นนิตย์

เมื่อปวารณาแล้ว ถ้าพระขอเกินกำหนดหรือเกิน ๔ เดือน ไม่ควรถวาย เว้นไว้แต่ตนปวารณาอีก หรือปวารณาเป็นนิตย์(อเจลกวรรค ข้อ ๗)

หมายเหตุ :- คำว่า ญาติ ได้แก่คนที่เกี่ยวเนื่องกัน ๗ ชั้น คือ ๑. ทวด ๒. ปู่ย่าตายาย ๓. พ่อแม่ ๔. พี่น้อง ๕. ลูก ๖. หลาน ๗. เหลน


      ๒๒.   บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเสพติดให้โทษ เช่น สุราเมรัย ฝิ่น เฮโรอีน กัญชาถวายพระ
(สุราปานวรรค ข้อ ๑)
      ๒๓.   บุรุษ-สตรี อย่าเอาน้ำที่มีตัวสัตว์ไปตั้งไว้ให้พระบริโภค คือ ดื่ม อาบ ล้างเท้า ใช้สอย
(สัปปาณวรรค ข้อ ๒)
      ๒๔.   บุรุษ-สตรี ผู้นำสินค้าหนีภาษี ไม่ควรเดินทางร่วมกับพระ หรือไม่ควรให้เกี่ยวข้องกับพระ
(สัปปาณวรรค ข้อ ๖)
      ๒๕.   สตรี ไม่ควรชวนพระเดินทางไกล แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง แม้นั่งรถ นั่งเรือ ไปเพียงหนึ่งต่อหนึ่งก็ไม่ควร แม้สตรีหลายคน แต่ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสานั่งไปด้วย ก็ไม่ควร แม้บุรุษไปด้วย หากสตรีขับรถเรือเอง ก็ไม่ควร เว้นไว้แต่เรือข้ามฟาก(สัปปาณวรรค ข้อ ๗)

      ๒๖.   บุรุษ-สตรี จะถวายอาหารแก่พระผู้อยู่ในป่าอันเป็นที่เปลี่ยว ต้องแจ้งข่าวล่วงหน้าก่อน
(ปาฏิเทสนียะ ข้อ ๔)
      ๒๗.   บุรุษ-สตรี เมื่อพระรับบิณฑบาตเต็มบาตรแล้ว อย่าเอาอาหารวางบนฝาบาตร หรืออย่าใส่ถุงให้พระหิ้ว(โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๔)
      ๒๘.   บุรุษ-สตรี เมื่อนิมนต์พระมาฉันในบ้านต้องจัดที่ฉันให้พร้อม เช่นน้ำล้างเท้า ผ้าเช็ดเท้า น้ำฉัน น้ำใช้ กระโถน ผ้า-กระดาษเช็ดมือ เช็ดปาก ช้อนส้อมและช้อนกลาง อย่าให้บกพร่อง(โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๓๐)
      ๒๙.   บุรุษ-สตรี เมื่อจัดที่ให้พระสวดหรือแสดงพระธรรมเทศนา หรือปาฐกถาธรรม ต้องจัดที่ให้พระนั่ง อย่าให้ยืน และต้องไม่ต่ำกว่าที่ของผู้นั่งฟัง(ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ข้อ ๑๓, ๑๔)
      ๓๐.    บุรุษ-สตรี เมื่อฟังธรรมเทศนาหรือฟังปาฐกถาธรรม ต้องฟังด้วยกิริยาอาการเคารพ แม้ฟังพระสวดในงานมงคลหรืองานศพเป็นต้น ก็ต้องเคารพเช่นเดียวกัน ไม่ควรนั่งคุยกันเลย จะคุยในเวลาพระหยุดสวดได้
(ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ทุกข้อ)


      ๓๑.   บุรุษ-สตรี จะถวายร่มแก่พระต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่สลับสี เช่นร่มผ้าดำล้วน ร่มกระดาษ ร่มพลาสติก สีน้ำตาล สีดำ สีเหลืองล้วน(วิ. ๒/๓๕)
      ๓๒.   บุรุษ-สตรี จะถวายรองเท้าแก่พระต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่มีส้นสูง ไม่มีปกส้น ไม่มีปกหลังเท้า มีแต่สายรัดหลังเท้ากับสายที่คีบด้วยนิ้ว และมีสีหม่นหมอง เช่น สีน้ำตาลแก่(วิ. ๒/๓๖)
      ๓๓.   บุรุษ-สตรี เมื่อจะถวายเตียงตั่งแก่พระต้องเลือกเอาแต่ที่มีเท้าสูงไม่เกิน ๘ นิ้วพระสุคต หรือ ๙ นิ้วฟุต เว้นไว้แต่แม่แคร่ และไม่มีรูปสัตว์ร้ายที่เท้า เช่น เตียงจมูกสิงห์ หรือบัลลังก์ และเตียงนั้นต้องไม่ใหญ่ถึงนอนได้ ๒ คน ที่นอนก็ไม่ใหญ่อย่างเตียง ฟูกเตียง ฟูกตั่ง และที่นั่งที่นอนไม่ยัดนุ่นหรือสำลี
 (รตนวรรค ข้อ ๕ และ วิ. ๒/๓๙)
      ๓๔.   บุรุษ-สตรี เมื่อจะถวายหมอนหนุนศีรษะแก่พระ ต้องให้มีขนาดหนุนได้ศีรษะเดียวไม่ถึง ๒ ศีรษะ หมอนข้างไม่ควรถวาย(วิ. ๒/๔๐)
      ๓๕.   สตรี ต้องไม่นั่ง บนอาสนะผืนเดียวกัน บนเตียงม้านั่งเดียวกันกับพระ แม้บนพื้นที่ไม่มีอะไรปูลาดเลย ก็ไม่ควรนั่งเสมอกับพระหรือสูงกว่าพระ ไปในรถ-เรือมีที่จำกัด จะต้องนั่งที่ม้านั่งเดียวกันกับพระต้องให้มีบุรุษนั่งคั่นไว้เสียก่อน(วิ. ๒/๗๐)

      ๓๖.   บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาวัตถุอนามาสประเคนพระ วัตถุอนามาส คือสิ่งที่พระไม่ควรแตะต้อง มี ๖ ประเภท ดังนี้ :- (วิ. ๒/๗๓)
   ก.  คนหญิง คนกะเทย เครื่องแต่งกายของคนเหล่านั้น แต่ที่เขาสละแล้วไม่นับ ตุ๊กตาหญิง สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
   ข.  ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์ที่ขัดแล้ว ศิลาชนิดดี เช่น หยก โมรา
   ค.  ศัสตราวุธต่างชนิด ที่ใช้ทำร้ายชีวิตร่างกาย
   ง.  เครื่องดักสัตว์บก-น้ำ
   จ.  เครื่องประโคม
   ฉ.  ข้าวเปลือกและผลไม้อันเกิดอยู่ในที่
      ๓๗.   สตรี ไม่ควรเกลี้ยกล่อม ยั่วเย้าพระด้วยการพูดประเล้าประโลม หรือด้วยการแต่งตัวชะเวิกชะวาก หรือล่อด้วยทรัพย์(วิ. ๒/๙๑)
      ๓๘.   บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาของเด็กเล่น เช่นเรือน้อยๆ รถน้อยๆ ถวายพระ(วิ. ๒/๑๑๘)
      ๓๙.   บุรุษ-สตรี ไม่ควรชักชวนพระเล่นการพนัน มีแพ้ มีชนะ เช่นหมากรุก หมากแยก ฯลฯ
(วิ. ๒/๑๑๘)
      ๔๐.   บุรุษ-สตรี ไม่ควรเรียนดิรัจฉานวิชาจากพระ และไม่ควรบอกดิรัจฉานวิชาแก่พระ ดิรัจฉานวิชาคือความรู้ในการทำเสน่ห์ ในการใช้ภูตผีปีศาจทำผู้อื่นให้ถึงความวิบัติในทางอวดฤทธิ์เดชต่างๆ ในทางทำนายทายทักบอกหวยบอกเบอร์ ในทางที่นำให้หลงงมงาย เช่นหุงเงิน หรือทองแดงให้เป็นทอง(วิ. ๒/๑๒๐)


      ๔๑.   บุรุษ-สตรี ไม่ควรใช้พระในกิจนอกพระพุทธศาสนา แต่จะขอให้ช่วยกิจพระพุทธศาสนา เช่นให้ช่วยนิมนต์พระไปในการบำเพ็ญบุญอยู่ได้(วิ. ๒/๑๒๐)
      ๔๒.  บุรุษ-สตรี ไม่ควรนำสิ่งของอันมีค่าฝากไว้กับพระ เพราะอาจเกิดอันตรายแก่พระได้ เช่น อันตรายในการเจริญสมณธรรม ถูกปล้น ถูกเป็นผู้สำนองในเมื่อของนั้นหาย(วิ. ๒/๑๒๒)
      ๔๓.  บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อสัตว์ที่ไม่นิยมเป็นอาหารถวายพระ เนื้อที่ไม่นิยมเป็นอาหาร คือ เนื้อมนุษย์ ช้าง-ม้า-สุนัข-งู-สีห์-เสือโคร่ง-เสือเหลือง-หมี-เสือดาว(วิ. ๒/๑๓๓)
      ๔๔.  บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นอาหารแต่ยังดิบ ไม่สุกด้วยไฟ เช่น ปูเค็ม กุ้งส้ม หอยเค็ม ปลาเค็ม แหนม กะปิ ลาบเนื้อดิบ ไข่ลวกไม่สุก ประเคนพระ ควรมอบไว้แก่กัปปิยการก คือผู้มีหน้าที่ทำให้เป็นของควรแก่พระ(วิ. ๒/๑๓๓)
      ๔๕.  บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาอุทิศมังสะถวายพระ อุทิศมังสะ คือเนื้อหรือไข่สัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงภิกษุสามเณร(วิ. ๒/๑๓๓)

      ๔๖.   บุรุษ-สตรี อย่าเอาพีชคาม คือผลไม้มีเมล็ดสุกบางอย่าง เช่นพริกสุก มะเขือสุก อ้อยที่ยังไม่ได้ปอก ผักบุ้ง ขมิ้น กระชาย กระเทียม หอม โหระพา กะเพรา ฯลฯ ที่พ้นจากที่เกิดที่อยู่แล้ว แต่ยังปลูกให้งอกได้อีกถวายพระ ควรทำให้เป็นของที่ไม่อาจปลูกให้งอกได้แล้ว จึงถวายพระ(วิ. ๒/๑๓๕)

      ๔๗.   บุรุษ-สตรี จะทำน้ำปานะถวายพระ ควรเลือกเอาผลไม้สุกที่นิยมเป็นอาหาร ชนิดที่ไม่โตกว่าผลมะตูมหรือผลกระเบา ขนาดเล็กไม่จำกัด เอามาทำความสะอาด คั้นแล้วกรองให้หมดกาก เจือน้ำจืดที่สะอาดบ้างก็ได้ แต่อย่าใช้น้ำร้อน และอย่าต้มน้ำปานะด้วยไฟ จะเจือน้ำตาลเกลือบ้างก็ได้ ทำแล้วต้องถวาย ให้พระฉันในวันนั้น อย่าปล่อยให้ข้ามราตรี(วิ. ๒/๑๓๙)

      ๔๘.   บุรุษ-สตรี ไม่ควรถือเอามรดกของพระผู้มรณภาพไปแล้ว ไม่ว่าพระรูปนั้นจะเป็นพ่อ ลูก ญาติ มิตร หรือเกี่ยวข้องกันโดยสถานะไรๆ ก็ตาม แม้พระได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ ก็ถือเอาไม่ได้ เพราะทางวินัยของสงฆ์มีอยู่ว่า มรดกของพระผู้มรณะตกเป็นของสงฆ์ทั้งหมด แม้พระได้พูดไว้ด้วยคำอันเป็นอนาคตว่า “ถ้าฉันตายแล้ว เธอจงเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป” ดังนี้ ก็ถือเอาไม่ได้ แต่สิ่งที่พระมอบให้ด้วยคำเป็นปัจจุบันว่า “ฉันให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่เธอ” ก็ถือเอาได้เฉพาะสิ่งที่ระบุถึง หากระบุทั้งหมดก็ถือเอาได้ทั้งหมด(วิ. ๒/๑๕๔/๑๕๕)

      ๔๙.   บุรุษ-สตรี เมื่อจะถือเอาสิ่งของของพระด้วยวิสาสะ ต้องให้ครบองค์ ๓ คือ(วิ. ๒/๑๕๗)
ก.     เคยเห็นกัน เคยคบกัน เคยพูดกันไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ข.     รู้ว่าถือเอาแล้ว เจ้าของจักพอใจ
ค.     เจ้าของยังมีชีวิตอยู่

      ๕๐.   บุรุษ-สตรี เมื่อพยาบาลพระผู้เจ็บหนัก ฉันอาหารไม่ได้ ครั้นถึงเวลาวิกาลหิวจัด หากมิได้อาหารอาจเป็นอันตราย จะต้มข้าวหรือเนื้อสัตว์ที่นิยมเป็นอาหาร (เว้นอุทิศมังสะ) ให้เหลว กรองให้หมดกาก เอาแต่น้ำข้าว น้ำเนื้อที่ใสถวายให้พระดื่มในเวลาวิกาลได้ การที่จะอ้างว่า แพทย์สั่งให้พระป่วยฉันอาหารในวิกาลได้ แล้วนำอาหารชนิดต่างๆ ไปถวายในวิกาลนั้น ไม่ควรเลย หากพระอยากฉันอาหารในวิกาลโดยไม่เอื้อเฟื้อต่อวินัยแล้ว ควรให้สึกเสียก่อน จึงจัดถวายให้รับประทาน(วิ. ๒/๑๗๕)

      ๕๑.   สตรีที่เป็นโสเภณี เป็นหม้าย เป็นสาวเทื้อ เป็นชี และกะเทย ไม่ควรไปมาหาสู่กับพระ โดยไม่เป็นกิจจลักษณะหรือผิดเวลา(วิ. ๒/๑๘๑)
      ๕๒.  บุรุษ-สตรี ไม่ควรนิมนต์พระเข้านั่งในร้านสุรา จะเป็นที่ขาย หรือที่กลั่นสุราหรือที่ดองเมรัยก็ตาม
(วิ. ๒/๑๘๑)
บุรุษหรือสตรีก็ตาม เมื่อหวังความเจริญแก่ตนแก่วงศ์สกุลของตน และแก่พุทธศาสนา ควรศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับวินัยของภิกษุสงฆ์บางข้อ ตามที่รวบรวมไว้นี้ และปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็ย่อมจะเหมาะสมแก่ความเป็นพุทธศาสนิกชน และย่อมช่วยประดับพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองแล


ที่มา http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-vinai-01.htm
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ผู้หญิงขับรถให้พระไม่ได้ ให้ทองพระก็ไม่ได้
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 09, 2011, 11:48:16 am »
0
ขอสรุปวินัยที่สำคัญ ตามความเห็นส่วนตัวผม ดังนี้ครับ

๑. ถวายเงินให้พระโดยตรงไม่ได้
สุภาพบุรุษหรือสตรี เมื่อศรัทธาจะถวายเงินทองแก่พระภิกษุหรือสามเณรต้องมอบให้แก่ไวยาจักร (ผู้ที่รับทำกิจของท่าน) และแจ้งให้ท่านทราบ อย่ามอบให้ในมือหรือในย่าม หรือในบาตรของท่าน เป็นต้น


๒. ขายของให้พระไม่ได้ 
    บุรุษ-สตรี ผู้เป็นพ่อค้า-แม่ค้า ไม่ควรขายของแก่พระภิกษุ หรือสามเณรผู้ที่จับต้องเงิน (ธนบัตร-เหรียญบาทเป็นต้น) มาซื้อด้วยตนเอง

๓. เรียนธรรมกับพระ ออกเสียงพร้อมพระไม่ได้
         บุรุษ-สตรี เมื่อเรียนธรรมกับพระ อย่าออกเสียงบทพระธรรม พร้อมกับพระ


๔. นิมนต์พระฉัน ห้ามบอกชื่ออาหาร    
    บุรุษ-สตรี นิมนต์พระให้ฉันอาหารอย่าออกชื่อโภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ ควรใช้กัปปิยโวหารหรือคำพูดที่สมควร เช่น พูดว่า “ขอนิมนต์ฉันเช้า” หรือว่า “ขอนิมนต์ฉันเพล” และต้องบอกวัน เวลาสถานที่ให้ชัดเจน ทั้งบอกให้พระทราบด้วยว่าให้ไปกันเอง หรือจะมารับ อนึ่งการที่นิมนต์พระให้ฉันนั้นปรารภเรื่องอะไร ก็ควรบอกให้ทราบด้วย

๕. ผู้หญิงนั่งในที่แจ้งกับพระคนเดียวไม่ได้

         สตรีต้องไม่นั่ง ไม่นอนในที่แจ้งกับพระ หนึ่งต่อหนึ่ง ถ้าสตรีหลายคนนั่งได้ แต่การนอนนั่นไม่ควร แม้การยืน การเดินกับพระ หนึ่งต่อหนึ่ง ด้วยอาการซ่อนเร้นก็ไม่ควร


๖. ผู้หญิงขับรถให้พระนั่งไม่ได้
     สตรี ไม่ควรชวนพระเดินทางไกล แม้สิ้นระยะบ้านหนึ่ง แม้นั่งรถ นั่งเรือ ไปเพียงหนึ่งต่อหนึ่งก็ไม่ควร แม้สตรีหลายคน แต่ไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสานั่งไปด้วย ก็ไม่ควร แม้บุรุษไปด้วย หากสตรีขับรถเรือเอง ก็ไม่ควร เว้นไว้แต่เรือข้ามฟาก


๗. ของเต็มบาตร ห้ามวางบนฝาบาตร หรือใส่ถุงให้พระหิ้ว
 บุรุษ-สตรี เมื่อพระรับบิณฑบาตเต็มบาตรแล้ว อย่าเอาอาหารวางบนฝาบาตร หรืออย่าใส่ถุงให้พระหิ้ว

๘. ห้ามถวายรองเท้าหุ้มส้นให้พระ
    บุรุษ-สตรี จะถวายรองเท้าแก่พระต้องเลือกเอาชนิดที่ไม่มีส้นสูง ไม่มีปกส้น ไม่มีปกหลังเท้า มีแต่สายรัดหลังเท้ากับสายที่คีบด้วยนิ้ว และมีสีหม่นหมอง เช่น สีน้ำตาลแก่

๙. ห้ามถวายทองให้พระ
         บุรุษ-สตรี ไม่ควรเอาวัตถุอนามาสประเคนพระ วัตถุอนามาส คือสิ่งที่พระไม่ควรแตะต้อง มี ๖ ประเภท  ตัวอย่างคือ ทอง เงิน มุกดา มณี ไพฑูรย์ ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์ที่ขัดแล้ว ศิลาชนิดดี เช่น หยก โมรา


๑๐. ห้ามพระใบ้หวย
         บุรุษ-สตรี ไม่ควรเรียนดิรัจฉานวิชาจากพระ และไม่ควรบอกดิรัจฉานวิชาแก่พระ ดิรัจฉานวิชาคือความรู้ในการทำเสน่ห์ ในการใช้ภูตผีปีศาจทำผู้อื่นให้ถึงความวิบัติในทางอวดฤทธิ์เดชต่างๆ ในทางทำนายทายทักบอกหวยบอกเบอร์ ในทางที่นำให้หลงงมงาย เช่นหุงเงิน หรือทองแดงให้เป็นทอง

๑๑. พระมรณภาพแล้ว สมบัติต้องตกเป็นของสงฆ์ทั้งหมด
        บุรุษ-สตรี ไม่ควรถือเอามรดกของพระผู้มรณภาพไปแล้ว ไม่ว่าพระรูปนั้นจะเป็นพ่อ ลูก ญาติ มิตร หรือเกี่ยวข้องกันโดยสถานะไรๆ ก็ตาม แม้พระได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ ก็ถือเอาไม่ได้

เพราะทางวินัยของสงฆ์มีอยู่ว่า มรดกของพระผู้มรณะตกเป็นของสงฆ์ทั้งหมด แม้พระได้พูดไว้ด้วยคำอันเป็นอนาคตว่า “ถ้าฉันตายแล้ว เธอจงเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป” ดังนี้ ก็ถือเอาไม่ได้ แต่สิ่งที่พระมอบให้ด้วยคำเป็นปัจจุบันว่า “ฉันให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่เธอ” ก็ถือเอาได้เฉพาะสิ่งที่ระบุถึง หากระบุทั้งหมดก็ถือเอาได้ทั้งหมด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 09, 2011, 11:54:07 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

prachabeodee

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 135
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ผู้หญิงขับรถให้พระไม่ได้ ให้ทองพระก็ไม่ได้
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 09, 2011, 02:42:00 pm »
0
เรื่อง พระวินัยของสงฆ์ที่ห้ามทำอย่างโน้น,ห้ามทำอย่างนี้....นั้น ป้ากลับมองต่างออกไป....เพราะปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีมากมาย....จนทางศาสนาตามไม่ทัน(ในเรื่องความเคร่งครัดหรือกฎระเบียบวินัยของพระสงฆ์)..............
สมควรที่จะมีการสังคยณากฎระเบียบของสงฆ์ขึ้นมาใหม่....เพื่อจะได้เข้ากันได้กับความก้าวหน้าในปัจจุบัน(โดยไม่ทำให้ข้อธรรมในพระพุทธศาสนาเปลี่ยนไปจากอดีต)...............
 :33: :33: :33: :33: :33: :33: :33: :33:         :49: :49: :49: :49: :49: :49: :49: :49:
บันทึกการเข้า

juntra

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 108
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ผู้หญิงขับรถให้พระไม่ได้ ให้ทองพระก็ไม่ได้
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 10, 2011, 12:38:51 am »
0
ผู้หญิง สร้างวัดมากกว่าผู้ชายนะคะ

พวกผู้ชาย ปฏิบัติธรรมน้อยกว่า พวกผู้หญิง คะ

บางครั้งก็หาผู้ชายมาช่วยงาน ลำบากคะ

 :41:
บันทึกการเข้า