ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ความต่างระหว่าง "พระบ้านและพระป่า" | พระป่าหรือพระธุดงคกรรมฐาน สาย ลป.มั่น  (อ่าน 9 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28487
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์ใหญ่พระธุดงคกรรมฐาน


ความต่างระหว่าง "พระบ้านและพระป่า" | ต้นเค้า พระป่าหรือพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต .?

ปัจจุบันพระสงฆ์ในประเทศไทย หากแบ่งตามวิถีชีวิตเครื่องดำเนินในแต่ละวันแล้ว สามารถอนุมานแบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ได้แก่ พระบ้าน และ พระป่า

     • พระบ้าน จะเน้นไปทางการศึกษาทางด้านปริยัติธรรม เรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ เผยแผ่ธรรมะ เป็นกิจธุระให้กับญาติโยมที่นิมนต์ วัดบ้านจึงมักตั้งอยู่แหล่งชุมชนในตัวเมืองเป็นส่วนใหญ่

     • พระป่า จะเน้นไปทางด้านการปฏิบัติภาวนา ทำสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน วัดป่าจึงมักตั้งอยู่ในป่าเขาหรือที่เงียบสงัดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่สงบวิเวกสัปปายะเหมาะกับการปฏิบัติภาวนาเป็นสำคัญ

พระป่ากรรมฐานที่ทราบกันดีในปัจจุบัน

หลักใหญ่ล้วนมาจาก ท่านพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งในแวดวงพระป่าจะถือกันว่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต คือบูรพาจารย์ใหญ่ของพระป่ากรรมฐานทั่วสังฆมณฑล ท่านเป็นผู้วางรากฐานปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐานเอาไว้ นำหลักพระวินัยทั้ง ๒๒๗ ข้อมาปฏิบัติได้จริงอย่างเคร่งครัด ตลอดจนธุดงควัตรและข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ อันเอื้อต่อการภาวนาเพื่อมรรคผลนิพพานโดยถ่ายเดียว

ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

พระภิกษุฝ่ายที่มุ่งศึกษาธรรมโดยการกระทำหรือลงมือปฏิบัติและพำนักอยู่ตามป่าเขาที่สงบสงัด สะดวกต่อการปฏิบัติ เรียกว่าพระฝ่ายอรัญวาสี พระธุดงคกรรมฐาน หรือพระป่า พระภิกษุที่ได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นพระบุพพาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐานในประเทศไทย ได้แก่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้ได้บำเพ็ญความเพียรในขั้นเอกอุจนบรรลุถึงธรรมชั้นสูงสุด

พระป่าหรือพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีต้นเค้าดั้งเดิมประมาณ เริ่มแต่พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับพระเถระผู้มีบทบาทในการสร้างหลักปักธงชัยพระกรรมฐานในแผ่นดินที่ราบสูงแดนอีสานได้แก่ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อุบลราชธานี และหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถร ซึ่งกาลต่อมาได้ให้การอบรมสั่งสมบารมีธรรมแก่พระภิกษุสามเณรจนมีศิษย์เป็นพระธุดงคกรรมฐานผู้ทรงคุณธรรมสัมมาปฏิบัติ ออกจาริกธุดงค์เผยแผ่ธรรมนำศรัทธาสาธุชนได้ผลดีเป็นอันมาก ต่อกิจการงานพระศาสนาสร้างสำนักป่าวัดวาศาสนสถานในพระพุทธศาสนาตามแบบที่เรียกว่า “วัดป่า” ที่เน้นธรรมชาติความเรียบง่าย สะอาด สงบ สว่างด้วยแสงธรรม

พระสายนี้ชาวบ้านศรัทธาเรียกว่า พระธุดงคกรรมฐานหรือพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งดำเนินปฏิปทาตามแนวพ่อแม่ครูอาจารย์พระป่าพระธุดงคกรรมฐาน จะปฏิบัติต่อครูอาจารย์ที่เรียกท่านด้วยความเคารพอย่างสูงว่า “พ่อแม่ครูอาจารย์” ด้วยความเคารพนับถือดุจบิดรมารดาแลครูอาจารย์ ผู้เป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ก็จะปกครองอบรมดูแลลูกศิษย์ด้วยความเมตตาดุจพ่อแม่แลครูอาจารย์เช่นกัน




ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นต้นมา พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เริ่มทยอยเพิ่มจำนวนมาขึ้น ขยายงานการเผยแผ่ในภาคอีสาน โดยเฉพาะทางจังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่รังสีธรรมแห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตได้แผ่ไปถึง

พระป่าทุกองค์จะต้องรักษาศีลอย่างบริสุทธิ์ ในกระบวนไตรสิกขาศีลสมาธิปัญญานั้น ศีลเป็นข้อที่ง่ายที่สุดและเท่ากับเป็นเครื่องทดสอบสมณะเพศ เพราะการรักษาศีลต้องการศรัทธาความตั้งใจ ถ้าผู้ใดรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ได้ก็อย่าหวังเลย ที่จะก้าวหน้าในทางธรรมชั้นสูงเป็นฐานที่ตั้งแห่งสมาธิ ทำให้บังเกิดสมาธิและตั้งมั่น ศีลจะต้องดีก่อน สมาธิจึงจะดีได้

นอกจากนั้นในการจาริกธุดงค์แสวงหาที่สัปปายะสำหรับอบรมจิต ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ พระป่าจึงเชื่อว่าศีลที่บริสุทธิ์จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด พระธุดงคกรรมฐานหรือพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตแต่ละรูป ตามประวัติได้เคยบุกป่าฝ่าดงไปตามป่าเขา เผชิญกับสิงสาราสัตว์ที่ดุร้าย ผจญกับภัยธรรมชาติ และมนุษย์ที่ตั้งตนเป็นศัตรู แต่ด้วยศีลที่บริสุทธิ์ของท่านได้เป็นเกราะแก้ว คุ้มกันพิทักษ์รักษาพระคุณเจ้าประสพสวัสดิภาพด้วยดี ด้วยศีล ด้วยบุญกุศล

พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเป็นสุปฏิปันโนที่มีปฏิปทาคือข้อวัตรข้อปฏิบัติต่างๆ ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา เป็นปฏิปทาที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะเป็นปฏิปทาที่ทวนกระแสโลก ทั้งทางกาย วาจา และใจ ซึ่งหลักปฏิปทานี้คือ ธุดงควัตร ๑๓ ขันธวัตร ๑๔ เป็นเครื่องบำเพ็ญทางกาย และมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นเครื่องบำเพ็ญทางใจสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปในอริยาบทต่างๆ ของความเพียร ทั้งนี้เพราะธุดงควัตร ๑๓ และวัตรต่างๆ ตลอดจนกรรมฐานทั้งมวลล้วนเป็นธรรมเครื่องอบรมบ่มนิสัยที่ติดกายมา ตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาสและเป็นธรรมที่จะทำลายล้างข้าศึกภายในใจคือกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป

การถือธุดงค์ของ พระป่า พระธุดงคกรรมฐานเป็นเจตนาที่แสดงออกเพื่อประหารกิเลสของตน เกี่ยวกับเรื่องเครื่องนุ่งห่ม อาหารการขบฉัน ที่อยู่อาศัยและความเพียร ด้วยข้อปฏิบัติ “ธุดงควัตร” เป็นข้อปฏิบัติที่เข้มงวดเป็นพิเศษเพื่อความขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบังคับให้ภิกษุถือปฏิบัติ ใครจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ผู้ที่จะปฏิบัติธุดงควัตรนั้นสามารถเลือกได้เองตามความสมัครใจ ว่าจะปฏิบัติข้อใดบ้าง เป็นเวลานานเท่าใด เมื่อจะถือปฏิบัติก็เพียงแต่กล่าวคำสมาทานธุดงควัตรข้อที่ตนเลือก แล้วก็เริ่มปฏิบัติได้เลย





ธุดงควัตร ๑๓ ประกอบด้วย

หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร)

๑. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือการใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าใหม่ทุกชนิด (บังสุกุล = คลุกฝุ่น)

๒. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง(ผ้านุ่ง) จีวร(ผ้าห่ม) สังฆาฏิ(ผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น คลุมกันหนาว ปูนั่ง ปูนอน ปัดฝุ่น ใช้แทนสบง หรือจีวรเพื่อซักผ้าเหล่านั้น ปัจจุบันภิกษุไทยมักใช้พาดบ่าเมื่อประกอบพิธีกรรม)

หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต)

๓. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน

๔. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป

๕. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม

๖. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร จะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาดของอาหาร

๗. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม

หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ)

๘. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือจะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส

๙. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร คือจะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง

๑๐. ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย

๑๑. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร คือจะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท

๑๒. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร คือเมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้นๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที

๑๓. ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร จะงดเว้นอิริยาบถนอน อยู่ใน ๓ อิริยาบทเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน

@@@@@@@

หมายเหตุ : วัดแสงธรรมวังเขาเขียว วัดบวชในโครงการ มีธุดงควัตรที่ถือปฏิบัติตลอดมาไม่เคยขาด ได้แก่ ข้อ ๓ การถือบิณฑบาตเป็นวัตร, ข้อ ๔ ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร, ข้อ ๕ ถือการฉันข้าวมื้อเดียวเป็นวัตร, ข้อ ๖ ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร, ส่วนข้อ ๗ ถือการฉันภัตตาหารที่ได้จากการบิณฑบาตเท่านั้น (จะฉันอาหารเฉพาะที่ได้จากการใส่บาตร ไม่รับอาหารที่ประเคนถวายหลังบิณฑบาตไปแล้ว) พระในวัดมักจะสมาทานถือปฏิบัติข้อ ๗ นี้ในช่วงเข้าพรรษา

ทั้งนี้ อาจเห็นพระในวัดบางรูป มีการสมาทานถือปฏิบัติธุดงควัตรจำนวนข้อที่มากกว่านี้ ตามวาระ ตามโอกาส ตามความสมัครใจของพระเอง เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลสและเอื้อต่อการปฏิบัติจิตตภาวนา แต่สำหรับพระบวชใหม่ในโครงการ ซึ่งเป็นการบวชในช่วงเข้าพรรษา จะถือปฏิบัติธุดงควัตรโดยพื้นฐาน ๔ ข้อดังที่กล่าวไว้แล้ว(ข้อ ๓, ๔, ๕, ๖)





ขอขอบคุณที่มา :-
https://buatwatpa.com/
https://buatwatpa.com/patipata/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 05, 2024, 08:13:17 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ