สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

ธรรมะสาระ => สนทนาธรรม ทั่วไป ตามความชอบใจของท่าน => ข้อความที่เริ่มโดย: pakorn ที่ ธันวาคม 15, 2009, 10:52:47 pm



หัวข้อ: การปฏิบัติภาวนา เพื่อสู่การเป็นพุทธสาวกนั้น ต้องมีสมาธิ ระดับไหนครับ
เริ่มหัวข้อโดย: pakorn ที่ ธันวาคม 15, 2009, 10:52:47 pm
ผมได้ไปสวดมนต์แปลที่วัดชลประทาน มาในเรื่องของ สัมมาสมาธิ ซึ่งมีข้อความแปลว่า สัมมาสมาธิ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติฌาน จตุตถฌาน แล้วไปจบที่เรื่องของ อุเบกขา 6

แท้ที่จริงแล้ว การภาวนา ในฝ่ายปัญญาวิมุตติ ก็ควรจะมีสมาธิ ถึงขั้น ปฐมฌาน ใช่มั๊ยครับ


หัวข้อ: Re: การปฏิบัติภาวนา เพื่อสู่การเป็นพุทธสาวกนั้น ต้องมีสมาธิ ระดับไหนครับ
เริ่มหัวข้อโดย: noppadol ที่ ธันวาคม 17, 2009, 08:14:31 pm
ตั้งแต่ ขณิกะสมาธิ ขึ้นไปครับ ( มหาสีสะดายอ )
อุปจาระสมาธิ ในพระสูตรส่วนใหญ่ จะอ่านพบตรงนี้มากๆ :angel:


หัวข้อ: Re: การปฏิบัติภาวนา เพื่อสู่การเป็นพุทธสาวกนั้น ต้องมีสมาธิ ระดับไหนครับ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 28, 2009, 03:58:07 pm
ขอติดเอาไว้ก่อน ปีหน้า จะหาคำตอบโดนๆ มาฝาก

อดใจรอสักนิด


หัวข้อ: Re: การปฏิบัติภาวนา เพื่อสู่การเป็นพุทธสาวกนั้น ต้องมีสมาธิ ระดับไหนครับ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 02, 2010, 05:13:04 pm
ผมได้ไปสวดมนต์แปลที่วัดชลประทาน มาในเรื่องของ สัมมาสมาธิ ซึ่งมีข้อความแปลว่า สัมมาสมาธิ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติฌาน จตุตถฌาน แล้วไปจบที่เรื่องของ อุเบกขา 6

แท้ที่จริงแล้ว การภาวนา ในฝ่ายปัญญาวิมุตติ ก็ควรจะมีสมาธิ ถึงขั้น ปฐมฌาน ใช่มั๊ยครับ


คุณปกรณ์ ลองอ่าน ข้อความข้างล่างนี้ แล้วจะทราบคำตอบที่อยากรู้

อรหันต์ ๒ (ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, ท่านผู้สมควรรับทักษิณาและการเคารพบูชาอย่างแท้จริง — an Arahant; arahant; Worthy One)

๑. สุกขวิปัสสก (ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ว คือ ท่านผู้มิได้ฌาน สำเร็จอรหัตด้วยเจริญแต่วิปัสสนาล้วน ๆ — the dry-visioned; bare-insight worker)

๒. สมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือ ท่านผู้เจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จอรหัต — one whose vehicle is tranquillity; the quiet-vehicled)
____________________________________________________________

แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น ๒ อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น ๕ อย่างบ้าง  ที่เป็น ๕ คือ
 
๑. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
 
๒. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)

๓. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ — one possessing the Threefold Knowledge)

๔. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา ๖ — one possessing the Sixfold Superknowledge)

๕. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ๔ — one having gained the Four Analytic Insights)
 
ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น ๒ คือ

พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น 

พระสุกขวิปัสสก ที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน ๕ ประเภท)
 
พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ที่ไม่ได้โลกิยวิชชาและโลกิยอภิญญา ก็มี  ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้ง ๔ ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต

ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ของ ป.อ.ปยุตโต


คุณปกรณ์ อ่านที่ตัวหนังสือสีแดงให้ดี โดยเฉพาะคำว่า "สุกขวิปัสสก" จะทราบว่า อรหันต์ประเภทปัญญาวิมุต ไม่มีฌานเลย


หัวข้อ: Re: การปฏิบัติภาวนา เพื่อสู่การเป็นพุทธสาวกนั้น ต้องมีสมาธิ ระดับไหนครับ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 02, 2010, 05:43:20 pm
ตั้งแต่ ขณิกะสมาธิ ขึ้นไปครับ ( มหาสีสะดายอ )
อุปจาระสมาธิ ในพระสูตรส่วนใหญ่ จะอ่านพบตรงนี้มากๆ :angel:

ผมขออนุญาตช่วยเสริมคุณนพดล โดยขอนำคำเทศนาของพระอาจารย์สองท่านมาให้อ่าน ดังนี้

เปรียบเทียบสมถะ-วิปัสสนา
โดย พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)


(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/normal_%BE%C3%D0%A4%C3%D9%E0%A1%C9%C1%B8%C3%C3%C1%B7%D1%B5%202.jpg)


ขอนำบทความบางตอนมาแสดงดังนี้

การเจริญวิปัสสนานั้นเมื่อทำถึงขั้นโลกุตระแล้วกิเลสจะขาดลง
แต่ขณะที่ ยังไม่ถึงโลกุตระขณะที่ยังเป็นวิปัสสนาญาณอยู่
ก็จะละเป็น ตทังคปหานเป็นขณะๆ ไป

มีสติรู้ทันกิเลสก็ถูกละไปขณะหนึ่ง เผลอสติอ้าว กิเลสเกิดขึ้นอีก
เพราะฉะนั้นเจริญวิปัสสนาที่ใช้ขณิกสมาธิคือสมาธิสงบเล็กน้อย
นิวรณ์ย่อมเกิดขึ้นได้ ความงาวงเหงาหาวนอน ความท้อถอย
ความกำหนัดยินดี ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความพยาบาทเกิดขึ้นได้ในจิตใจของโยคาวจร
คือ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาอยู่ ที่ไม่ได้ฌาน แบบว่าทำวิปัสสนาไปเป็นขณิกสมาธิ

เพราะฉะนั้น นิวรณ์หรือกิเลสต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ ก็เจริญสติระลึกรู้ไป
กิเลสอันใดเกิดก็รู้ไป ก็ละไปขณะหนึ่ง เผลอสติก็เกิดขึ้นก็รู้ทัน
เหมือนการเดินทาง คนเจริญวิปัสสนาก็เหมือนเดินทางไปกลางแดดไม่มีที่พัก
มันก็ร้อนหน่อย

คนเจริญสมถะก็เหมือนกับว่าเดินทางไปมีศาลาพักร้อนหลบร้อนเย็นสบาย
แต่ถ้าไม่เดินต่อไปก็ไม่ถึงเป้าหมายที่หมายเหมือนกัน จะติดอยู่ที่ศาลาพักร้อนชมนกชมไม้ชมแม่น้ำลำธาร เหมือนคนที่เจริญสมถะพอได้สมาธิก็ติดสมาธิ ติดในความสุขติดในความสงบ ก็หยุดแค่นั้นไม่ได้ปัญญาได้แต่ความสงบ

ฉะนั้นถ้าจะเจริญสมถะก่อนก็อย่าหยุดยั้งแค่ความสงบเท่านั้น ก็ต้องต่อให้ขึ้นสู่วิปัสสนา
หรือคนจะเจริญวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปหันทำฌานก่อนก็ได้เหมือนกัน

แต่ก็ย่อมมีนิวรณ์รบกวนอยู่ แต่ก็ต้องมีความฉลาด คือเมื่อเกิดกิเลสเกิดนิวรณ์อันใด ก็เอานิวรณ์หรือเอากิเลสนั้นน่ะเป็นกรรมฐาน คือเป็นที่ตั้งของสติ เอาสติกำหนดรู้
เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ก็เอาโลภะ โทสะ โมหะ เป็นกรรมฐาน

กรรมฐานก็คือที่ตั้งของสติ ก็กลายเป็นประโยชน์ได้ กิเลสก็กลายเป็นประโยชน์ได้ การเจริญวิปัสสนานั้นก็จะต้องระลึกที่ปรมัตถ์ ระลึกที่ปรมัตถธรรม ปรมัตถ์ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นจริง มีจริง เป็นของจริง

___________________________________________________________

ส่องทางสมถวิปัสสนา
แสดงธรรมโดย พระราชนิโรธรังสี (เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

(http://www.openbase.in.th/files/u4/12_0.jpg)

ขอนำคำเทศนาบางตอนมาแสดงดังนี้

วิปัสสนาปัญญา วิปัสสนาปัญญาเป็นผลออกมาจากอุปจารสมาธิโดยตรง ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นว่า อุปจารสมาธิเป็นที่ตั้งขององค์ปัญญา อธิบายว่า วิปัสสนาปัญญาจะเกิดนั้น สมาธิต้องตั้งมั่นลงเสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นได้ มิใช่เกิดเพราะฌานซึ่งมีแต่การเพ่งความสุขสงบอยู่หน้าเดียว และมิได้เกิดจากอัปปนาสมาธิอันหมดจากสมมติสัญญาภายนอกเสียแล้ว

จริงอยู่ เมื่อจิตยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ วิปัสสนาปัญญาไม่สามารถจะทำหน้าที่ละสมมติของตนให้ถึงอาสวขัยได้ แต่ว่าอัปปนาเป็นของละเอียดกว่าสัญญาภายนอกเสียแล้ว จะเอามาใช้ให้เห็นแจ้งในสังขารนี้อย่างไรได้ อัปปนาวิปัสสนาปัญญาเป็นผู้ตัดสินต่างหาก อุปจารวิปัสสนาปัญญาเป็นผู้สืบสวนคดี

ถ้าไม่สืบสวนคดีให้มีหลักฐานถึงที่สุดแล้ว จะตัดสินลงโทษอุปาทานอย่างไรได้ ถึงแม้ว่าอัปปนาวิปัสสนาปัญญาจะเห็นโทษของอุปาทานว่าผิดอย่างนั้นแล้ว แต่ยังหาหลักฐานพยานยังไม่เพียงพอ ก็คงไม่สมเหตุสมผลอยู่นั่นเอง เหตุนั้น วิปัสสนาปัญญาจึงได้ยึดเอาตัวสังขารนี้เป็นพยาน เอาอุปจารสมาธิเป็นโรงวินิจฉัย


____________________________________________________________


ถึงตรงนี้ คุณปกรณ์และคุณนพดล อาจจะสงสัยว่า ทำไม สัมมาสมาธิ หมายถึง ฌาน ๔

ผมก็สงสัยเหมือนกัน และกำลังหาคำตอบอยู่

อย่างไรก็รบกวนคุณทั้งสอง ช่วยไปถามอาจารย์สนธยา ในห้องสนทนาธรรม นะครับ