ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ฌานมีองทั้ง 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา  (อ่าน 10273 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

เด็กวัด

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 150
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
   เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม ในการปฏิบัติสมาธินั้น แนวทางปฏิบัติทั่วไป ก็อาศัยแนวทางแห่งองค์ทั้ง ๕ ของปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ อันคำว่า ฌาน นั้นตามศัพท์แปลว่าความเพ่ง หมายถึงจิตที่เพ่งแนบแน่น เป็นอัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่แนบแน่น จึงจะเรียกว่าฌานคือความเพ่ง เป็นความเพ่งของจิตในกรรมฐานอย่างแนบแน่น จึงจะเรียกว่าฌาน ซึ่งอัปปนาสมาธิ สมาธิอย่างแนบแน่นอันเรียกว่าฌานนั้น ก็ยังมีลักษณะของความแนบแน่นเป็นชั้นๆขึ้นไป

     สำหรับในชั้นแรกซึ่งเป็นปฐมฌานความเพ่งที่ ๑ นั้น มีองค์ ๕ คือ ๑ วิตก ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐาน ซึ่งเราแปลกันทั่วไปว่าความตรึก แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความตรึกนึกคิดทั่วไป แต่หมายถึงความตรึกนึกกำหนดในอารมณ์ของกรรมฐานเท่านั้น ๒ วิจาร ความตรอง ที่แปลกันทั่วไปว่าความตรอง แต่สำหรับสมาธิหมายถึงความประคองจิตไว้ในอารมณ์ของกรรมฐาน คือให้ตรึกนึกกำหนดอยู่จำเพาะอารมณ์ของกรรมฐานเท่านั้น ความที่คอยประคองจิตไว้ดั่งนี้เรียกว่าวิจาร ซึ่งมักแปลกันทั่วไปว่าความตรอง แต่ไม่ได้หมายความถึงความตรองเรื่องอะไรต่ออะไร ๓ ปีติ ความอิ่มใจดูดดื่มใจ ๔ สุข ความสบายกายความสบายใจ และ ๕ เอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์อันเดียว ซึ่งเป็นลักษณะของสมาธิโดยตรง เพราะสมาธิโดยตรงนั้นจะต้องมีเอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว หรือความมีอารมณ์เป็นอันเดียวกันของจิต เรียกว่าเอกัคคตาเป็นลักษณะของสมาธิทั่วไป องค์ทั้ง ๕ นี้เป็นองค์ของฌาน ตั้งต้นแต่ปฐมฌานคือฌานที่ ๑ แต่แม้ว่าจิตจะยังไม่เป็นสมาธิแนบแน่นถึงปฐมฌาน ในการปฏิบัติสมาธิตั้งแต่เบื้องต้นที่เป็นขั้น บริกัมมภาวนา การภาวนาเริ่มต้น อุปจารภาวนา ภาวนาที่จิตเป็นสมาธิใกล้จะแนบแน่น ก็จะต้องอาศัยการปฏิบัติในองค์ฌานทั้ง ๕ นี้ เป็นอันว่าจะต้องมีการอาศัยองค์ฌานทั้ง ๕ นี้ปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น คือ ๑ ในการเริ่มปฏิบัติในขั้นบริกัมมภาวนา ก็จะต้องมีวิตก คือความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ ดั่งเช่นจะยกเอาลมหายใจเข้า ลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ของสมาธิ คือเป็นกรรมฐานที่จะปฏิบัติ ก็ต้องยกจิตมากำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ตั้งต้นแต่ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้ว่านั่งกายตรง ดำรงสติมั่น จำเพาะหน้า คือนำสติมาตั้งอยู่จำเพาะลมหายใจเข้าออก เรียกว่าจำเพาะหน้า เพราะว่าต้องการลมหายใจเข้าออกมาเป็นกรรมฐาน ลมหายใจเข้าออกจึงได้ถูกยกขึ้นมาไว้จำเพาะหน้า จำเพาะหน้าของจิตนั้นเอง เหมือนอย่างจิตเป็นบุคคล ก็มีหน้าจับอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ดูอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เห็นอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ด้วยสติคือความกำหนด อาการที่ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจเข้าออก กำหนดอยู่ด้วยสติ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ ดั่งนี้เรียกว่าวิตกคือความตรึก ต้องใช้วิตกคือความตรึกนี้ ตรึกถึงสมาธิ คือตรึกถึงอารมณ์ของสมาธิ แต่ไม่ตรึกนึกคิดไปในเรื่องอื่นตั้งแต่ในเริ่มต้น อันนี้แหละเป็นตัวบริกัมมภาวนา คือการภาวนาที่เป็นการปฏิบัติเบื้องต้น ต้องมีการกระทำโดยรอบ

      ความหมายของคำว่าบริกรรมภาวนา บริกัมมนั้นตามศัพท์ก็แปลว่ากระทำโดยรอบ ก็หมายความว่ากระทำสติ คือความกำหนดลมหายใจนี้โดยรอบ คือว่าทั่วถึง เมื่อไม่ทั่วถึงก็แปลว่าไม่โดยรอบ ทั่วถึงก็คือว่าลมหายใจเข้าก็ให้รู้ ลมหายใจออกก็ให้รู้ และซึ่งความทั่วถึงนี้ ท่านอาจารย์จึงได้มีอธิบายดังที่กล่าวแล้ว ว่าหายใจเข้านั้นก็เข้าไป ๓ จุด ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน อุระคือทรวงอก นาภีที่พองขึ้น และเมื่อหายใจออกก็ ๓ จุด นาภีที่ยุบลง อุระคือทรวงอก และก็มาออกที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน แปลว่ามีสติกำหนดให้ทั่วถึงดั่งนี้จึงเรียกว่าบริกัมมที่แปลว่ากระทำไว้โดยรอบ คือกระทำสติกำหนดลมหายใจเข้าออกทั้งหมดคือโดยรอบ และก็ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้วว่า เมื่อจิตรวมตัวเข้ามาแล้ว ก็ไม่ต้องเอาจิตเดินทางดูลมหายใจ เข้าไป ๓ จุด ออก ๓ จุดดั่งกล่าวนี้ เพราะว่าเมื่อนำจิตเดินทางเข้าเดินทางออก ตามลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่ดั่งนี้ จิตก็ยังไม่เป็นเอกัคคตา คือยังไม่มีอารมณ์เป็นอันเดียว ยังต้องเดินทางเข้าเดินทางออกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เมื่อรวมจิตเข้าแล้ว ท่านจึงตรัสสอนให้ทิ้งเสีย ๒ จุด เหลือแต่จุดเดียว ซึ่งบางอาจารย์ก็ได้แนะให้ใช้ริมฝีปากเบื้องบนหรือปลายจมูกดังกล่าวนั้น อันเป็นที่ๆลมกระทบเมื่อหายใจเข้า กระทบเมื่อหายใจออก และก็ให้รู้อยู่ตลอด

     เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตจึงจะมี เอกัคคตา คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว ซึ่งท่านเปรียบเหมือนช่างกลึง ช่างกลึงนั้นเมื่อกลึงไม้ กลึงสั้นก็รู้ กลึงยาวก็รู้ และก็ดูอยู่ที่จุดเดียวไม่ต้องไปตามดู ทีแรกนั้นก็จะต้องตามดูสิ่งที่กลึงนั้นทั้งหมด แต่เมื่อการกลึงนั้นดำเนินไปด้วยดีแล้ว ก็กำหนดดูอยู่เพียงจุดเดียวได้ หรือเหมือนอย่างว่าทอผ้า หรือเหมือนอย่างว่านั่งชิงช้า เมื่อนำเด็กลงนั่งชิงช้า แล้วก็พี่เลี้ยงก็แกว่งชิงช้า ไกวชิงช้าไปมา ทีแรกก็ดูชิงช้าทั้งหมด ทั้งตรงที่เด็กนั่ง และทั้งหัวทั้งท้าย แต่เมื่อไกวชิงช้าเข้าที่แล้วก็ไม่ต้องตามทั้งหมด ดูที่จุดเดียว เช่นว่าดูตรงที่เด็กนั่ง จะเห็นเด็กแกว่งไปแกว่งมา ไม่ต้องไปดูหัวดูท้ายของชิงช้า การกำหนดลมหายใจเข้าออกก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จิตจึงจะมีอารมณ์เป็นอันเดียว ดั่งนี้ต้องใช้วิตกคือความตรึก คือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ด้วยสติ และกำหนดดูให้รอบคอบ เรียกว่าเป็น บริกัมม คือการกระทำโดยรอบ ซึ่งเป็นภาวนาเบื้องต้นทีแรก และเมื่อจิตออกไปจากอารมณ์ของสมาธิเช่นจากลมหายใจเข้าออก ก็ต้องนำจิตเข้ามาด้วยสติในเวลาปฏิบัติทีแรก เพราะบางคราวนั้น หรือบ่อยๆเสียด้วยในเวลาปฏิบัติทีแรก จิตจะแว่บออกไปข้างนอก ไม่อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ สติตามไม่ทันทีแรก หลุดออกไปเสียก่อนแล้วจึงได้สติ ก็ต้องมีสติ เอาสตินำจิตกลับเข้ามาตั้งไว้ใหม่ แล้วก็ใช้สตินี้เองคอยประคองเอาไว้ คือคอยระมัดระวังที่จะไม่ให้จิตหลุดออกไป ดั่งนี้เรียกว่าวิจารคือความตรอง คือการที่คอยประคองจิตไว้ให้อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ ต้องมีวิตกและมีวิจารดังกล่าวนี้อยู่ตลอดเวลา สำหรับในขั้นบริกัมมภาวนา การปฏิบัติในเบื้องต้น จิตจึงยังไม่ได้สมาธิในเบื้องต้น แต่เมื่อได้ใช้วิตกวิจารดั่งนี้อยู่ไม่ขาดแล้วจิตก็จะเริ่มเชื่องคืออยู่ตัวขึ้น กำหนดอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ และเมื่อกำหนดอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ ก็แสดงว่าจิตใกล้ต่อความเป็นสมาธิเข้ามา จึงเรียกอุปจาระสมาธิ สมาธิที่เป็นอุปจาระ หรืออุปจารคือใกล้ที่จะเป็นตัวสมาธิ คือที่แนบแน่นเข้ามา และการปฏิบัติในขั้นนี้ก็เรียกว่าอุปจารภาวนาดังที่ได้กล่าวแล้ว เมื่อจิตเริ่มรวมตัวเข้ามาดั่งนี้แล้ว ก็จะทิ้งวิตกวิจารไม่ได้ ก็จะต้องมีวิตกวิจาร อันเป็นตัวสตินี่เอง ไม่ใช่อื่น คอยยกจิตเอาไว้ กำหนดจิตอยู่ในอารมณ์ของสมาธินั้น และต้องคอยประคับประคองจิตเอาไว้ ไม่ให้ออกไปอยู่ตลอดเวลา และเมื่อปฏิบัติดั่งนี้เป็นผลขึ้น ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจจากการปฏิบัตินั้น อันปีตินี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอันดับของวิตกวิจาร นับว่าเป็นข้อที่ ๓ และเมื่อได้ความอิ่มใจ ได้ความดูดดื่มใจในสมาธิที่เริ่มจะมีขึ้น จิตก็จะสยบอยู่กับสมาธิได้ สยบอยู่กับอารมณ์ของสมาธิได้ วิตกวิจารนั้นก็จะไม่ต้องทำงานหนักมาก แต่ก็ต้องมี วิตกวิจารก็จะเบาลงได้ แต่ว่าสตินั้นต้องมีอยู่ประจำ เป็นวิตกวิจารอย่างละเอียด ประคับประคองจิตอยู่ร่วมกับปีติคือความอิ่มใจ จิตก็จะอยู่ตัวขึ้น เพราะว่าในเบื้องต้นนั้น การที่จิตยังไม่ยอมอยู่กับสมาธินั้น เป็นธรรมดาของสามัญชนทั้งปวง เพราะว่าจิตนั้นมีปรกติเป็นกามาพจร คือเที่ยวไปในกาม คืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย กามคุณารมณ์จึงเป็นเหมือนอย่างที่อยู่ของจิต ในชั้นที่เป็นกามาพจรนี้ของสามัญชนทั่วไป จึงได้ตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนอย่างปลาที่มีน้ำเป็นที่อาศัย เรียกว่า อาลัย อาลัยนั้นก็คือว่าที่อาศัย น้ำเป็นอาลัยคือที่อาศัยของปลา จิตที่เป็นชั้นกามาพจรก็เช่นเดียวกัน มีกามคุณารมณ์เป็นอาลัยคือเป็นที่อาศัย และอาลัยนี้เองที่เป็นเครื่องหน่วงจิต หรือดึงจิตที่จะให้ไปสู่กามคุณารมณ์อยู่เสมอ จิตยังได้ปีติคือความดูดดื่มใจ พร้อมทั้งความสุขอยู่ในกามคุณารมณ์ อันเรียกว่าเป็นกามสุข มีความคุ้นเคยอยู่ในกามคุณารมณ์ อยู่ในกามสุข เพราะฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นมาสู่อารมณ์ของสมาธิ ซึ่งจิตยังไม่ได้ปีติพร้อมทั้งไม่ได้สุขอยู่ในสมาธิ สมาธิจึงเป็นของแห้งแล้ง และจิตเมื่ออยู่กับสมาธิเพราะเหตุว่ามีวิตกวิจารนำเข้ามาดั่งนี้ จิตจึงไม่มีปีติ ไม่ได้ความอิ่มใจอะไร แล้วก็ไม่ได้สุขคือความสบาย จึ่งได้มีอาการที่เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความรำคาญ แปลว่าไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้นจะต้องหลบออกไปสู่กามคุณารมณ์ เหมือนอย่างปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำวางไว้บนบก ก็จะต้องดิ้นที่จะไปลงน้ำ ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลา จิตก็เช่นเดียวกัน ก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปสู่กามคุณารมณ์ ซึ่งเป็นอาลัย หรือเป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นชั้นกามาพจรดั่งกล่าว จนกว่าจะเริ่มปฏิบัติเป็นขั้นบริกรรมภาวนา และเมื่อเริ่มมีสติที่มีพลังขึ้น สมาธิที่มีพลังขึ้น ก็แปลว่าจับจิตเอาไว้พออยู่ หรือว่าดักจิตเอาไว้พออยู่ จะเรียกว่าเป็นการบังคับก็ได้ บังคับจิตเอาไว้พออยู่


ธรรมกถาในการฝึกหัดอบรมจิต
โดย
สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปริณายก
ณ  ตึก  สว.  ธรรมนิเวศ  วัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพมหานคร
ปีพุทธศักราช  ๒๕๒๖ - ๒๕๓๖

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก www.jozho.net
บันทึกการเข้า

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ฌานมีองทั้ง 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 09, 2013, 03:44:27 pm »
0
สาธุครับเป็นประโยชน์อย่างสูงครับ

พอดีผมไปเจอในคำสอนกรรมฐานส่วนนี้ของหลวงปู่ฝั้น ซี่งมีเนื่อหาเกื้อหนุนร่วมกันกับที่ท่านเด็กวัดนำมาตั้งกระทู้ ซึ่งผมคิดว่าหากนำทั้ง 2 ส่วนคือของสมเด็จพระญาณสังวรฯ และ หลวงปู่ฝั้น มาปฏิบัติร่วมกันจะเกิดประโยชน์อย่างสูงสำหรับผู้ปฏิบัติศึกษาครับ จึงขออนุญาติโพสท์ส่วนนี้เพิ่มเติมครับ


--------------------------------------------------------------------------------------------------

พระธรรมเทศนา กัณฑ์ที่ ๒

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร

ที่เรามาพร้อมกันวันนี้ให้พากันดูใจของตน ให้รู้จักที่อยู่ที่อาศัยของตน เกิดมาแล้วเราต้องแสวงหาที่พึ่งของเรา ถ้าเราไม่มีที่พึ่งที่อาศัยแล้วเราก็ไม่มีที่อยู่ เหตุฉะนั้นเราก็ต้องหาหลักฐาน ต้องอบรมกรรมฐาน เหตุไฉนเรียกว่ากรรมฐาน กรรมว่างานที่ทำ ฐานะคือที่ตั้ง เวลานี้จิตเราตั้งอยู่ ณ สถานใด ในภูมิอันใด ในภพใด อยากรู้ต้องกำหนดจิตเข้า นึกคำภาวนาไปให้รู้จักหลักฐานของเรา เราเคยทำบริกรรมภาวนา ระลึกคำภาวนาอันใดแล้ว เราก็ระลึกคำภาวนานั้นๆ เพ่งดูจิตดวงนั้นว่าอยู่สถานใด เวลานี้จิตของเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จิตสงบหรือไม่สงบ เราต้องการความสุขต้องการความเจริญ จงทำจิตให้สงบอยู่ในกรรมฐาน ฐานที่ตั้งนี้พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ หลักของพระพุทธศาสนาคือศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเครื่องวัด

ศีลเวลานี้เราทั้งหลายก็เป็นผู้สำรวมอยู่แล้ว กายก็ดีวาจาก็ดีใจก็ดีเป็นปกติหรือสงบระงับอยู่แล้ว ยังอยู่แต่สมาธิ สมาธิเป็นผู้ตั้งจิตมั่นอยู่ภายใน ก็ลองตั้งดูซิ จิตตั้งมั่นนั้นเป็นอย่างไร มันไม่ได้ส่งไปข้างหน้ามาข้างหลัง ข้างช้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง ตั้งจำเพาะอยู่ที่รู้ ความรู้อยู่ตรงไหนเราก็เพ่งดูอยู่ตรงนั้น เราไม่ต้องหา ดูสิ่งที่มีอยู่ มีอยู่ในดวงจิตของเรา มันอยู่อย่างไรก็ดูอยู่อย่างนั้น เพื่อว่าจะได้รู้จักความเป็นอยู่ของเรา มันเป็นสุขเราก็รู้จัก มันเป็นทุกข์เราก็รู้จัก มันเฉย ๆ เราก็รู้จัก สมาธิคือมันว่างจากอารมณ์สัญญาหมดเราก็รู้จัก จิตของเราตกอยู่ในชั้นใดภูมิใดเราก็รู้จัก เช่นตกอยู่ในกามาวจรหรือพ้นจากกามาวจร อย่างนี้เราก็รู้จัก

จิตพ้นจากกามาวจรนั้นอย่างไร คือจิตอยู่ในกามาวจรนั้นมันท่องเที่ยวอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ทั้งหลาย เป็นที่อารมณ์อยู่ ที่เรียกว่าผู้มีความยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ทั้งหลาย อย่างนี้เรียกว่าจิตอยู่ในกามาวจรภูมิ อยู่ในภพที่เรียกว่ากามภพ

จิตพ้นจากกามาวจรเป็นอย่างไร คือมันปล่อยวางรูปภายนอกเสียงภายนอกกลิ่นภายนอกรสภายนอก สัมผัสอารมณ์ที่หลายไม่มี เห็นแต่อัตตภาพร่างกายของเรานี้ มาพิจารณาสังขารร่างกายของเรานี้อยู่จำเพาะตัวของเรา ไม่ได้ส่งจิตไปอื่นไปไกล เห็นแต่สังขารร่างกายของเราเอง ความชำรุดทรุดโทรม หรือเห็นสังขารร่างกายอย่างที่เป็นอยู่นั้นอย่างนั้น มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เหล่านี้ ไม่มีสิ่งอื่นจะยิ่งไปกว่านี้จะเหนือไปกว่านี้ ความสุขก็ดีความทุกข์ก็ดี เห็นความชำรุดทรุดโทรมหรือเห็นความแตกสลายไป จิตมันก็เลยละจากรูปนี้ เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปนี้ เพราะรูปนี้ไม่มีแก่น ไม่มีสาร ไม่มีสาระ เราถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นเราเป็นเขา เมื่อเราพิจารณาในมูลกรรมฐานแล้ว เห็นว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนไม่ใช่เราไม่ใช่เขา เหตุใดจึงว่าเช่นนั้น เราก็พิจารณาดูซี่ ยกขึ้นมาอย่างนี้ ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว เขโล น้ำลาย สิงคานิกา น้ำมูก ลสิกา น้ำไขข้อ มูตตัง น้ำมูตร นี่มันเป็นคนที่ไหน มันไม่ได้เป็นผู้หญิงผู้ชาย ไม่ได้เป็นใครทั้งหมด มันเป็นอย่างนั้น

เมื่อเราเห็นอย่างนี้แล้วเราจึงละสักกายทิฐิได้ วิจิกิจฉา ความสงสัยเคลือบแคลงว่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ไม่มี เป็นจริงอย่างนั้น เราเห็นอย่างนั้นแล้วจิตของเราก็ว่าง สงบลงไป เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ก็พิจารณาเห็นได้ เช่นว่าน้ำมูกนี่มันจะเป็นคนได้อย่างไร น้ำลายจะเป็นคนได้อย่างไร น้ำมูตรจะเป็นคนได้อย่างไร พิจารณาดู เมื่อเราพิจารณาเห็นจริงแจ้งประจักษ์อย่างนั้นแล้ว เห็นว่ามันไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล ไม่มีเราไม่มีเขา สิ่งเหล่านั้นเขาไม่ได้เป็นอะไร เขาต่างอยู่อย่างนั้น เราหลงถือเอาเขาเป็นตัวเป็นตนเสียเอง เราพิจารณาแยกธาตุจำแนกออกแล้ว เลยเห็นว่าไม่มีตัวตน มันก็เลยละสักกายทิฐิ สัตว์บุคคลมันก็ละได้วางได้ อารมณ์ สัญญาทั้งหลายวิจิกิจฉาก็ไม่มีแล้ว สีลัพพัตตปรามาส ความลูบคลำว่าจะดีอย่างนั้นจะดีอย่างนี้ก็ไม่มีแล้ว มันก็เลยละได้

เมื่อจิตละได้แล้วมันก็วางจากรูป วางจากรูปมันก็ถึงอรูปภพ อรูปภพคือเป็นอย่างไร คือจิตว่างหมดไม่มีอะไร เหลือแต่ผู้รู้

ความรู้นี่แหละเป็นของสำคัญ ที่เรียกว่า “พุทธะ” คือผู้รู้

เพราะเหตุนี้เราก็มาแสวงหาความรู้ จักเราต้องการความรู้ เราก็ทำความรู้นั้นอยู่ พิจารณาความรู้นั้นอยู่ ความรู้นี้ไม่ใช่มืด ไม่ใช่แจ้ง ไม่ใช่สว่าง ไม่ใช่หลง ความที่มันหลงเราก็รู้อยู่ มืดเราก็รู้อยู่ สว่างเราก็รู้อยู่ สุขมันก็รู้ ทุกข์มันก็รู้ อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ต้องกำหนดความรู้นี้ให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์ในตัวของเรา ความรู้นี้เป็นของสำคัญมาก เช่นทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ใช้ความพิจารณาให้เห็นจริงว่าเวทนาก็เป็นส่วนเวทนา ผู้รู้ไม่ได้เป็นอะไรไปด้วย ไม่ได้แตกทำลายอะไรหรอก มันยังรู้อยู่ สุขเวทนาก็เช่นกัน สุขเกิดขึ้นก็รู้ว่าสุขมันเกิด รู้อยู่อย่างนั้น ไม่ไปหลงว่าสุขนั้นเป็นตัวตนของเรา ทุกข์เกิดขึ้นเราก็ดูให้รู้อยู่ว่ามันเกิดขึ้น ไม่ไปยึดความทุกข์เอาเป็นตัวเรา มืดเกิดขึ้นเราก็ดูมันรู้อยู่ สว่างเกิดขึ้นเราก็ดูมันรู้อยู่ ความรู้นี้เหนืออะไร ๆ หมด เหนือโลกเหนือโลกุตตรธรรมทั้งหลาย มันเป็นอย่างนั้นแหละความรู้ เกิดมันก็รู้ แตกมันก็รู้ แต่ว่าเราทั้งหลายเห็นความเกิดขึ้นมาก็หลง เห็นความตายขึ้นมาก็หลง แท้ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น แก่เราก็รู้ว่าแก่ ผู้รู้มันไม่ได้แก่ด้วย เจ็บไข้ได้พยาธิมันก็รู้อยู่ ผู้รู้ไม่ได้เจ็บไม่ได้ไข้ไปด้วย ตายมันก็รู้อยู่ ผู้รู้มันไม่ได้ตาย ที่จริงมันเป็นอย่างนี้

เหตุฉะนั้นให้พากันเร่งปฎิบัติภาวนา เพ่งเล็งดู กำหนดดู ไม่ต้องหาของสำหรับดูที่ไหน ดูของที่เรา เรามีอยู่หมดแล้วในตัวของเรา ที่ว่างก็มีอยู่แล้ว ไม่ว่างก็มีอยู่แล้ว สุขก็มีอยู่แล้ว ทุกข์ก็มีอยู่แล้ว มีทุกอย่างเดี่ยวนี้แหละ ดูที่เรามีอยู่น่ะแหละ มันตั้งอยู่อย่างไรก็เฝ้าดูมันอย่างนั้น ดูให้รู้ แล้วอย่าไปยึดเอาสิ่งโน้นสิ่งนี้มาเป็นตัวเป็นตน เรื่องมันเป็นอย่างนั้นแหละ เราต้องพากันเข้าใจข้อนี้ เหตุฉะนั้นจึงได้มาทำกรรมฐาน กรรมคือการที่กระทำ ฐานฐานะคือที่ตั้ง ตั้งให้มันอยู่ ว่างอยู่ก็ให้รู้ ไม่ว่างก็ให้รู้ เราจะละได้ต้องเพ่งมูลกรรมฐาน ท่านสอนมูลกรรมฐานก็เพื่อให้รู้ตามจริง ท่านสอนเรื่องผมให้เรารู้ว่าผมมันเป็นยังไง มันเป็นคน หรือเป็นอะไร ผมนี่มันเป็นของสะอาดหรือไม่สะอาด นี่เป็นวิธีที่จะกำจัดราคะ โลภะ โทสะ โมหะของเรา เพื่อให้กำจัดความทะเยอทะยานเรื่องตัวตนของเรา ขนล่ะมันเป็นคนที่ไหน เล็บอย่างนี้มันเป็นคนที่ไหน ฟันอย่างนี้เป็นคนที่ไหน หนังมันเป็นคนที่ไหนเล่า เนื้ออย่างนี้เป็นคนที่ไหน เส้นเอ็นเป็นคนที่ไหน กระดูกเป็นคนที่ไหน เยื่อในกระดูกเล่าเป็นคนที่ไหนเล่า พิจารณาดูซี่ หทัยวัตถุเป็นคนที่ไหน ตับไตไส้น้อยไส้ใหญ่อาหารเก่าอาหารใหม่นั่นเป็นคนที่ไหน เราพากันมาเพ่งดูสิ่งเหล่านี้ให้เห็นอย่างว่านั้น เราจึงจะละอุปาทานการยึดถือได้ เราจึงจะละสักกายทิฐิได้ ถ้าเราไม่พิจารณาอย่างนี้แล้วมันละไม่ได้มันวางไม่ได้ ถ้าเราเห็นตามความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่มีที่ยึดไม่มีที่จะถือเอาในตัวของเรา เมื่อจิตมันเห็นแล้วมันก็ปล่อยเองวางเอง

เหตุนั้นให้พากันกำหนดเพ่งเล็งดู วางอารมณ์ลงไป ดูลมหายใจเข้าลมหายใจออก เพ่งลงไป ดูให้รู้ใครเป็นผู้ว่านี้คือผม นี้คือขน นี้คือเล็บ นี้คือฟัน นี้คือหนัง ผมก็เป็นผม ขนก็เป็นขน เล็บก็เป็นเล็บ ฟันก็เป็นฟัน หนังก็เป็นหนัง ยังเหลืออะไรล่ะ ดูเข้าชี่ เราจะเห็นตนละ ตนก็คือผู้รู้ว่านี่ผม นี่ขน นี่เล็บ นี่ฟัน นี่หนัง ตนคือผู้รู้ว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าดี ว่าชั่ว ผู้นั้นแหละตนละ ไปจ้องดูซี ให้มันเห็นแน่นอนซี ผู้นั้นไม่ได้เป็นอะไรนี่ ไม่ได้เป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง มันเป็นแต่ผู้รู้เท่านั้น ผู้รู้มันไม่ดับไม่หาย ไม่แตกไม่สูญ ไม่ทำลาย ว่างมันก็รู้ว่าว่าง หมดมันก็รู้ว่าหมด แต่ผู้รู้มันไม่รู้จักหมด เป็นอยู่อย่างนั้นตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ถ้าเราหลงแล้วเอาผู้รู้ไปผสมผะเส ไปยึดอะไรเข้ามา ก็เป็นตัวสมุทัย เป็นตัวภพตัวชาติขึ้นมา นี่มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเรากำหนดให้รู้จริงแล้วมันไม่มีอะไรไม่เป็นอะไรหรอก มันเป็นแต่รู้เท่านั้น ธรรมชาติมีอยู่อย่างนั้น เกิดมันก็ไม่เกิด ถ้าจะเกิดมันก็รู้ แล้วจะไปเกิดทำไมล่ะ แก่มันก็รู้ จะไปแก่ทำไมล่ะ เจ็บมันก็รู้ จะไปเจ็บทำไมล่ะ ตายมันก็รู้ จะไปตายทำไมล่ะ หลงมันก็รู้แล้วจะไปหลงทำไม นี่จึงว่า “พุทธะ” คือผู้รู้ ความรู้นี้แหละสำคัญมาก เราต้องเจริญให้ยิ่ง ทำให้ยิ่ง พิจารณาให้ยิ่ง กำหนดให้ยิ่ง ต้องเพ่งอยู่สิ่งเดียว พอเรากำหนดจิตนิ่งอยู่สิ่งเดียวแล้ว โรคทั้งหลายมันก็ระงับดับหมด ภัยมันก็ดับหมด กิเลสตัณหาราคะโลภะโทสะโมหะมันก็ดับไปเอง เพราะจิตนั้นไม่เป็นแล้วใครจะมาเป็นเล่า ภัยเวรมันก็ดับไปเอง ผู้นั้นไม่มีภัยแล้ว ภัยมันจะมาจากไหนเล่า ผู้นั้นไม่มีเวรแล้ว เวรมันจะมาจากไหนเล่า ผู้นั้นไม่มีกรรม กรรมมันจะมาจากไหนเล่า ผู้นั้นไม่มีความชั่ว ความชั่วมันจะมาจากไหนเล่า ผู้นั้นไม่ทุกข์ ทุกข์มันจะมาจากไหนเล่า มันก็เป็นแต่ผู้รู้เท่านั้น ทำให้รู้เสียเดี๋ยวนี้ ให้เห็นแจ้งประจักษ์เชื่อมั่นลงไปซิ ความรู้ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นภัย ไม่มีได้เป็นเวร เวลานี้เราไปยึดเอาภัย มันก็เป็นภัย ไปยึดเอาเวร มันก็เป็นเวร ไปยึดเอากรรม มันก็เป็นกรรม ยึดเอาทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ ยึดอย่างไหนมันก็เป็นอย่างนั้น

เพราะเหตุนั้นท่านจึงให้ไม่ยึดอะไรทั้งหมด ท่านให้ปล่อยให้วางให้ละ ในธัมมจักกัปวัตนสูตร ท่านว่า “จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย” จาโค คือความสละหรือความละความวางความปล่อยให้ เมื่อจิตเราเป็นหนึ่งอยู่แล้ว เป็น เอกัง จิตตัง จิตดวงเดียวแล้ว เอกัง ธัมมัง เป็นธรรมดวงเดียวแล้ว สิ่งทั้งหลายก็ว่างไปเอง ไม่มีอะไร ว่างหมด จิตเป็นธรรมอยู่ดวงเดียวนั่นแหละ ไม่ต้องส่งหน้าส่งหลัง คำนึงถึงอื่นละ จะพ้นทุกข์ก็พ้นตรงนั้นแหละ พ้นทุกข์ก็เมื่อจิตมันไม่ทุกข์น่ะแหละ มันเป็นแต่ผู้รู้ รู้มันไม่ใช่ทุกข์ มันกำหนดรู้อยู่อย่างนั้น สิ่งใดเกิดขึ้นก็รู้อยู่อย่างนั้น ท่านว่าปัญญาวิปัสสนากรรมฐานผู้รู้จักที่เกิดแห่งสังขาร รู้จักที่ดับแห่งสังขาร เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยในสังขาร อย่างนี้เป็นวิปัสสนาคือความรู้แจ้งเห็นจริง เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เหตุนี้แหละจึงให้พากันทำให้เข้าใจ พวกเรากระทำศีลสมาธิปัญญาให้มันแน่นอนลงไปซิ ปัญญานั่นคือความรู้ว่าจิตของเรามีอยู่อย่างไร สมาธินั่นคือจิตของเราตั้งมั่น เมื่อตั้งแล้วจะเอนเอียงอย่างไรเราก็รู้ มันตรงอยู่เราก็รู้ มันนิ่งอยู่เราก็รู้ นี่แหละความสุขทั้งหลายเกิดจากความสงบเป็นสมาธิ ปัญญาก็เกิดจากสมาธินี่แหละ ถ้าเราตั้งหลักตั้งฐานได้แล้วมันก็มีรากฐาน ปัญญาก็เกิดขึ้น พอจิตเคลื่อนไหวมันก็รู้แล้ว นั่นเรียกว่าปัญญา จิตนิ่งมันก็รู้อีกแหละ นั่นเรียกว่าสติ ปัญญาอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล ให้พากันเข้าใจ แต่นี้ต่อไปให้พากันหมั่นทำข้อปฏิบัติอยู่เสมอ เราต้องการพ้นทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายไม่ได้อยู่บนฟ้าอากาศ ไม่ได้อยู่ในต้นไม้ภูเขาเหล่ากอ อยู่จำเพาะที่จิตของเรา เมื่อจิตของเราไม่ทุกข์แล้วจะเอาอะไรมาทุกข์เล่า มันก็พ้นที่จิตไม่ทุกข์น่ะแหละ จะพ้นตรงไหน ถ้าจิตไม่ทุกข์ก็แปลว่ามันพ้นน่ะชี จิตยังมีทุกข์ก็แปลว่ายังไม่พ้น เมื่อจิตยังมีภพอยู่ก็แปลว่ามันยังไม่พ้นจากทุกข์ เมื่อจิตไม่มีภพมันก็หมดภพเพราะมันไม่ได้ไปยึดอะไรนี่ ไม่ได้ไปเกาะอะไร มันเป็นแต่ผู้รู้อยู่เท่านั้น มันจะเอาภพมาจากไหน ได้ยินได้ฟังแล้วต้องทวนกระแสเข้ามา เอหิปัสสิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ก็ดูรูปธรรม นามธรรมของเราเองน่ะซิ รูปธรรม ก็อัตภาพร่างกายของเรา นามธรรมก็ดวงใจของเรา เรามาดูชี่ ธรรมนี้เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมหรืออัพยากตธรรม เราต้องรู้จัก กุศลธรรมคือความสุข อกุศลธรรมคือความทุกข์ อัพยากตธรรมสุขก็ไม่ ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ ดีก็ไม่ใช่ ชั่วก็ไม่ใช่ ปฏิเสธทั้งหมด

เพราะฉะนั้นเมื่อเราทั้งหลายต้องการความพ้นทุกข์ ต้องรู้ว่ามันพ้นที่จิตสงบ เมื่อจิตของเราสงบแล้วมันก็พ้นตรงนั้นเอง ไม่ต้องไปหาที่อื่น นี่แหละข้อปฏิบัติ

เพราะฉะนั้นให้พากันทำจิตของเราให้แน่วแน่ลงไป กำหนดผู้รู้เอาไว้ ผู้รู้นั้นไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว ผู้รู้คือพุทธะ ให้เราถึงพุทธสรณะ ธรรมสรณะ สังฆสรณะ ได้สรณะที่พึ่งอย่างแน่วแน่จริง แจ้งประจักษ์ลงไป ไม่มีสรณะอื่นจะยิ่งไปกว่านี้ เมื่อท่านทั้งหลายได้สดับตรับฟังแล้ว ในโอวาทานุศาสนี ธรรมะคำสั่งสอนนี้ ซึ่งแสดงโดยย่นย่อ พอเป็นข้อปฏิบัติประดับสติปัญญาบารมี ก็ให้พากันโยนิโสมนสิการ กำหนดจดจำนำไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนของตนให้เป็นไปในศีล เป็นไปในธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พวกท่านทั้งหลายจะประสบแต่ความสุขความเจริญงอกงามดังได้แสดงมา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ถอดจากบันทึกในแถบบันทึกเสียงของนายแพทย์อวย เกตุสิงห์

ม.ร.ว. เสริมศรี เกษมศรี ผู้ถอด อวย เกตุสิงห์ ผู้เรียบเรียง

คัดจากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๑

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดสติปัฏฐาน ๔ กระทู้ 18109 โดย: เรือนธรรม 26 ธ.ค. 48

ขอบคุณที่มา http://www.dharma-gateway.com และ http://www.watpanonvivek.com/index.php?option=com_content&view=article&id=4097:2013-03-05-18-46-40&catid=111:2012-07-14-14-08-22&Itemid=233
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 09, 2013, 06:05:02 pm โดย Admax »
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ