ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนานศาลาโกหก ไม่ใช่เรื่องโป้ปดมดเท็จ แต่เป็นโกหกแก้เหงา  (อ่าน 718 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ศาลาโกหก” ในปัจจุบัน


ตำนานศาลาโกหก ไม่ใช่เรื่องโป้ปดมดเท็จ แต่เป็นโกหกแก้เหงา
โดย โรม บุนนาค

        “โกหก” เป็นการกระทำที่เลวร้าย เป็นที่รังเกียจของสังคมที่มีจริยธรรม แต่ความจริงการโกหกก็ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด อยู่ที่เจตนา บางทีก็จำต้องพูดโกหกเพื่อให้บรรยากาศหรือเหตุการณ์ดีขึ้น ไม่มีเจตนาประสงค์ร้ายเพื่อหลอกลวงแต่อย่างใด โดยเฉพาะกับคนที่นอนอยู่ข้างๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นการโกหกเพื่อให้คนฟังสบายใจ
       
       ที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องโกหกเพื่อความสุขใจอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องโป้ปดมดเท็จที่จะทำให้คนหลงลม คนฟังก็รู้ว่าเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ แต่ก็เบิกบานสำราญใจเมื่อได้ฟัง เป็นการโกหกแก้เหงา สรรหาเรื่องโกหกมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งยังเพื่อแข่งฝีปากว่าใครจะโกหกได้สนุกกว่ากัน
       
       นั่นก็คือตำนานของ “ศาลาโกหก” เมืองนครศรีธรรมราช

       
        :32: :32: :32: :32:

       ศาลาแห่งนี้นี้เป็นแบบที่ทางการยุคนั้นนิยมสร้างไว้หน้าประตูเมือง ให้เป็นที่พักของคนเดินทาง หรือมาถึงเมื่อประตูเมืองปิดแล้วเข้าเมืองไม่ได้ ก็จะมีที่พักนอน จึงเป็นที่ชุมนุมของคนเดินทางมาจากต่างอำเภอ เมื่อค่ำลงหมดภารกิจก็สังสรรค์กันก่อนจะเข้านอน ต่อมาก็มีคนหัวใสไอเดียปิ๊งเสนอขึ้นว่า เราจะมานั่งเหงาเจ่าจุกกันอยู่ทำไม หานิทานมาเล่าสู่กันฟังรอเวลาง่วงดีกว่า ตามสไตล์ของคนเมืองคอนที่เป็นนักเล่านิทาน ครั้นจะเอานิทานทั่วไปมาเล่าก็ดูจะเด็กไป อย่ากระนั้นเลย เอานิทานโกหกชวนขันมาเล่ากันดีกว่า
       
       ไอเดียนี้เป็นที่ถูกใจของนักเดินทาง ต่อมานอกจากจะนำสินค้ามาขายแล้ว หลายคนยังสรรหานิทานโกหกมาเล่าให้พรรคพวกฟังด้วย       
       ศาลาที่พักของนักเดินทางแห่งนี้ จึงเป็นที่เรียกขานกันว่า “ศาลาโกหก”


        :49: :49: :49: :49:

       แต่คนนครฯดูจะไม่สบอารมณ์กับคำนี้นัก รู้สึกว่าเป็นคำไม่ดี อีกทั้งภาษาภาคใต้ก็ไม่มีคำว่า “โกหก” มีแต่ “ขี้หก” หรือ “ขี้เท็จ” และเห็นว่าคำนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “โดหก”มากกว่า เพราะบริเวณศาลานี้มีต้นประดู่อยู่หกต้น ซึ่งคนใต้เรียกต้นประดู่ว่า “โด”
       
       เมื่อครั้งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จมาเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับสั่งถึง “ศาลาโดหก”นี้ว่า เมื่อคนเมืองอื่นมาเรียกเพี้ยนเป็น “ศาลาโกหก” ก็ขอตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “สัจจศาลา”

       
ป้ายหน้าศาลา

       พระรัตนธัชมุนี (ม่วง สิริรัตน์) ท่านเจ้าคุณวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เขียนกลอนตามทำนองเพลงบอกของภาคใต้เกี่ยวกับ “ศาลาโกหก” ไว้ตอนหนึ่งว่า
       
       มีศาลาหน้านครินทร์ พื้นเป็นดินก่อด้วยอิฐ
       หลังคาปิดบังร้อน ทั้งได้ซ่อนฝน
       ศาลานี้มีเป็นหลัก ที่สำนักประชาชน
       ผู้เดินหนได้หยุดอยู่ ทุกฤดูกาล
       มีประดู่อยู่หกต้น ซึ่งสูงพ้นแต่หลังคา
       รอบศาลากิ่งโตใหญ่ แผ่อยู่ไพศาล
       อยู่ในถิ่นประจิมถนน เป็นที่ชนได้สำราญ
       แต่ก่อนกาลดึกดำบรรพ์ เป็นสำคัญกล่าว
       ชาวบ้านนอกออกสำเหนียก นิยมเรียกคำสั้นสั้น
       ชอบแกล้งกลั่นพูดห้วนห้วน ตัดสำนวนยาว
       เรียกว่าศาลาโดหก โดยหยิบยกวัตถุกล่าว
       เรียกกันฉาวทั่วทั้งบ้าน มีพยานไป
       นิยมวัตถุประจักษ์เห็น ตามกาลเป็นสมัยก่อน
       ใช่เติมทอนหันเห ไปทางเฉโก
       กระบิลเมืองเรียกกันอยู่ คือเรียกประดู่ว่าโด
       ไม่ใช่พึ่งโผล่พึ่งนึก เรียกมาแต่ดึกดำ
       ชนต่างด้าวชาวต่างเมือง ไม่รู้เรื่องประถมถิ่น
       พูดเล่นลิ้นปลายฝีปาก จึงถลากถลำ
       เรียกว่าศาลาโกหก ซึ่งแกล้งยกเอาความระยำ
       ตัดถ้อยคำที่เป็นจริง เปลี่ยนออกทิ้งไป
       หามีศาลาโกหกไม่ เป็นคำใกล้โดกับโก
       เมื่อใครโผล่ขึ้นสักคำ ชวนกันซ้ำใหญ่
       ถ้าโดหกคือโกหกอย่างที่นึก จะจารึกไว้ทำไม
       เพราะผู้ใหญ่ปกครองถิ่น ใช่ว่าดินทราย
       ไม่อาจสร้างซึ่งหลักฐาน ตั้งสำนักงานที่พูดปด
       ย่อมเสียยศผู้ครองถิ่น ไม่รู้สิ้นหาย
       บุคคลที่ไม่รู้อะไร พูดได้พูดไปตามสบาย
       เหมือนแกล้งขยายกองกิเลศ ให้ต่างประเทศฟัง
       ในสมัยแห่งพระองค์ กรมดำรงฯ สถิตที่
       เสนาบดีทราบกิจจะ ตามกิระดัง
       ท่านไม่ชอบพระหฤทัย ตามวิสัยที่ด่วนฟัง
       เพราะทรงหวังบำรุงประเทศ ไปทุกเขตคาม
       โดยคำโกหกลามกมาก แบ่งเป็นภาคของความชั่ว
       ไม่ให้กลั้วติดถิ่น ในแผ่นดินสยาม
       จึงโปรดเกล้ากรุณา ให้เรียกศาลาสัจจนาม
       สมกับความศรีวิไล มีอยู่ในแดน
       ทำใหม่หลังคาจารึกหมาย เป็นแผ่นป้ายขึ้นมั่นคง
       เพื่อดำรงอยู่ยืนนาน ด้วยกระดานแผ่น
       ให้เรียกสัจจวาจา ต่างพาราไม่ดูแคลน

       
        :29: :29: :29: :29: :29:

       น่าเสียดายที่นิทานโกหกซึ่งเล่ากันไว้เป็นร้อยๆ เป็นพันๆเรื่อง ไม่มีการบันทึกไว้ คงมีเล่าถ่ายทอดต่อๆกันมาบ้าง อย่างเรื่อง “ช้างเหาะ” ที่จะขอเอามาเป็นหนังตัวอย่างในครั้งนี้
       
       เรื่องมีอยู่ว่า ทิดอ่ำบ้านอยู่เชิงเขา มีธุระจะต้องเดินทางไปเข้าเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาอ้อมเขาหลายวัน แต่ถ้าหาทางลัดข้ามเขาไปได้ ก็จะย่นระยะทางใช้เวลาไม่นาน
       
       ขณะที่กำลังครุ่นคิดอยู่นั้น สายตาทิดอ่ำก็เหลือบไปเห็นช้างพลายนอนตายพองอืดอยู่เชือกหนึ่งที่ชายป่า มีแร้งนับร้อยนับพันรุมกันเจาะทวารช้างมุดเข้าไปกินตับไตไส้พุง


        :s_hi: :s_hi: :s_hi: :s_hi:

       ทิดอ่ำเห็นดังนั้นจึงเกิดความคิดขึ้นมา รอจนแร้งทั้งหมดมุดเข้าไปในท้องช้างแล้ว ก็รีบเอากระสอบป่านหลายใบมาเย็บติดกันปิดรูทวารช้างไว้ จากนั้นก็โดดขึ้นนั่งบนตัวช้าง คว้าท่อนซุงกระทุ้งท้องช้างอย่างแรง
       
       แร้งในท้องช้างตกใจก็กระพือปีกขึ้นพร้อมกัน พาเอาช้างเหาะขึ้นไปบนท้องฟ้า ทิดอ่ำคอยคัดท้ายให้ช้างเหาะไปตามทิศที่ต้องการ พอถึงตัวเมืองก็ค่อยๆ เปิดช่องทวารให้แร้งบินออกไปทีละตัวสองตัว จนตัวสุดท้ายช้างก็พาทิดอ่ำแลนดิ้งลงตรงที่จะไปพอดี
       
       ตอนนี้ “ศาลาโดหก” ก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม สร้างใหม่เป็นศาลาทรงไทย มีป้ายชื่อติดไว้ว่า “ศาลาประดู่หก”


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000094852
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ