ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมปฏิบัติ : วิธีการทำจิตให้สงบ  (อ่าน 975 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ธรรมปฏิบัติ : วิธีการทำจิตให้สงบ
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 13, 2014, 07:42:40 pm »
0


ธรรมปฏิบัติ : วิธีการทำจิตให้สงบ

การทำจิตให้สงบ เรียกว่า “การทำสมาธิ” หรือเรียกว่า “การทำกรรมฐาน” จิตของเรานี้มันเป็นสิ่งที่กลับกลอกมาก ดูที่เราทำกันมา เห็นไหมล่ะ บางวันนั่งสมาธิพักเดียวก็สงบแล้ว บางวันนั่งยังไงมันก็ไม่สงบ มันดิ้นออกมาอยู่จนได้ บางวันก็สบาย บางวันมันก็ไม่สบาย มันแสดงอาการขึ้นมาให้เราเห็นอย่างนี้
       
       ให้เข้าใจว่ามรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น มันรวมอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้รวมอยู่ที่อื่น เมื่อเรารวมเข้ามาแล้ว มันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เช่น เราทำกรรมฐานปัจจุบันนี้ก็คือ เราทำมรรคให้เกิดขึ้นนั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกลหรอก


        :s_hi: :s_hi: :s_hi:

       วิธีการนั่ง ท่านให้หลับตา ไม่ให้มองเห็นสิ่งต่างๆ เพราะว่าท่านจะให้รู้จิตของเรานั่นเอง ให้มองดูจิตของเราน่ะ ถ้าหากว่าเราหลับตาเข้าไป มันจะกลับเข้ามาข้างใน มันจะมีความรู้หลายๆอย่างเกิดขึ้นมาในที่นั่น นี้ก็เป็นวิธีอันหนึ่งที่จะเป็นวิธีที่ให้เกิดสมาธิ
       
       เมื่อเรานั่งหลับตา ให้ยกความรู้ขึ้นไว้เฉพาะที่ลมหายใจ เอาลมหายใจเป็นประธาน เรียกว่าน้อมความรู้สึกตามลมหายใจไว้ เราจึงจะรู้ว่า สติมันจะมารวมอยู่ตรงนี้ ความรู้มันจะมารวมอยู่ตรงนี้ เมื่อมรรคนี้มันสามัคคีกันเมื่อไรเราจะมองเห็นได้ว่า ลมเราเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ จิตเราเป็นอย่างนี้ อารมณ์เราเป็นอย่างนี้ แล้วจึงจะรู้จักที่รวมของสมาธิ ที่รวมแห่งมรรคสามัคคีในที่แห่งเดียวกัน

        :49: :49: :49:

      เมื่อเราทำสมาธิ กำหนดจิตกับลม นึกในใจว่า ที่นี่เรานั่งอยู่คนเดียว รอบๆข้างเราไม่มีใคร ไม่มีอะไรทั้งนั้น ทำความรู้สึกอย่างนี้ จนกว่าจิตของเรามันวางข้างนอกหมด รู้ลมออกอย่างเดียวเท่านั้น มันวางข้างนอก
       
       อย่ามีความนึกว่าคนนี้นั่งอยู่ตรงโน้น คนโน้นนั่งอยู่ตรงนี้ อะไรให้วุ่นวาย อย่าให้มันเข้ามา เราเหวี่ยงมันออกเสียดีกว่า ไม่มีใครอยู่ที่นี่ มีแต่เราคนเดียวนั่งอยู่ตรงนี้ จนกว่าทำสัญญาอย่างนี้ให้หมดไป จนกว่าจะไม่มีความสงสัยในรอบๆข้างเรานี้ แล้วก็กำหนดลมเข้าออกอย่างเดียว ปล่อยลมให้เป็นธรรมชาติ ปล่อยลมหายใจออกและเข้าให้เป็นธรรมชาติ อย่าไปบังคับลมให้มันยาว อย่าบังคับลมให้มันแรง ปล่อยสภาพมันให้มันพอดี แล้วนั่งดูลมหายใจเข้าออก


        :96: :96: :96:

       เมื่อมันปล่อยอารมณ์ข้างนอก เสียงรถยนต์ก็ไม่รำคาญ เสียงอะไรก็ไม่รำคาญ ไม่รำคาญสักอย่างหนึ่งข้างนอก จะเป็นรูปเป็นเสียงไม่รำคาญทั้งนั้นแหละ เพราะว่ามันไม่รับ แล้วมันมารวมอยู่ที่ลมหายใจเรานี้
       
       ถ้าจิตของเราวุ่นวาย สิ่งต่างๆมันไม่ยอมรวมเข้ามา ก็ต้องสูดลมเข้าให้มากที่สุด จนกว่าไม่มีที่เก็บ แล้วปล่อยลมออกให้มากที่สุด จนกว่ามันจะหมดในท้องเราสักสามครั้ง ก็ตั้งอยู่ในความรู้ใหม่ เราตั้งขึ้นใหม่พักหนึ่ง มันก็สงบไปเป็นธรรมดาของมัน สงบไปอีกสักพักหนึ่ง มันก็ไม่สงบอีก ก็มีวุ่นวายติดมา

        :25: :25: :25:

       เมื่อมันเป็นเช่นนั้นขึ้นมาอีก ก็กำหนดจิตเราให้ตั้งมั่น แล้วก็สูดลมเข้าให้มากที่สุด ปล่อยลมออกไปให้หมดในท้องเรา แล้วก็สูดลมเข้ามาให้มากที่สุด พักหนึ่งแล้วก็ตั้งใหม่อีก กำหนดลมนั่นต่อไปอีก แล้วก็กลับมาตั้งสติกับลมหายใจออกเข้า ทำความรู้สึกต่อไปอีกอย่างนี้
       
       ในเมื่อเป็นเช่นนี้หลายครั้งจะได้ชำนาญ มันจะวางข้างนอก มันจะไม่มีอะไร อารมณ์ข้างนอกก็จะส่งเข้ามาไม่ถึง เมื่อส่งเข้ามาไม่ถึงแล้วก็จะเห็นจิตของเรา จิตคือความรู้สึกอย่างหนึ่ง แล้วก็ลมหนึ่ง แล้วก็อารมณ์หนึ่ง อยู่ที่ปลายจมูกเรานี้ สติตั้งมั่นดูลมเข้าออกสบายต่อไปอีก

        :s_hi: :s_hi: :s_hi:

       ถ้าจิตสงบ ลมที่มันหยาบแล้ว มันจะน้อยเข้าน้อยเข้าไปทุกที มันน้อยเข้าไป อารมณ์มันละเอียด อารมณ์ละเอียดมันจะน้อยเข้าไปๆ ร่างกายเราก็เบา จิตเรามันก็เบาขึ้น มันก็วางอารมณ์ข้างนอก ดูข้างในต่อไป
       
       ต่อนั้นไปความรู้ข้างนอกมันจะรวมเข้ามาข้างใน เมื่อรวมเข้าข้างในแล้ว ให้ความรู้สึกอยู่ในที่มันรวม เมื่อเราหายใจนั้นมันจะเห็นลมออกลมเข้าชัดเจน แล้วมันจะมีสติชัด จะเห็นอารมณ์ชัดขึ้นทุกอย่าง ในตรงนั้นมันจะเห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา โดยอาการมันรวมกันอยู่นี่เรียกว่า “มรรคสามัคคี” เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ไม่มีอาการที่วุ่นวายในจิตใจของเรา มันก็รวมลงเป็นหนึ่ง เรียกว่า “สมาธิ”

        st12 st12 st12

      เมื่อเรามองในที่อันเดียว คือลมหายใจเข้าออกนั้น มันจึงมีความรู้สึกเห็นชัด เพราะว่าเรามีสติอยู่เสมอ จะเห็นลมชัด เห็นลมชัดมันมีสติขึ้นมาแล้ว มีความรู้สึกชัดขึ้นมาหลายอย่าง เห็นจิตอยู่ในที่นั่น รวมเป็นอันเดียวกัน มีความรู้สึกเข้าข้างใน ไม่ส่งออกไปข้างนอก อยู่ข้างในบ้านรวมเป็นก้อนหนึ่งสบาย
       
       ความรู้สึกนั้นว่างจากข้างนอก บางทีมันก็มีความรู้สึกอยู่กับลมหายใจนานไป ดูลมหายใจเข้าไปอีก จนกว่าที่มันละเอียดเข้าไปอีก แล้วความรู้สึกนั้นจะหมดไป หมดไปจากลมหายใจก็ได้ อื้อ.. ลมหายใจนี่ หมดไปก็ได้ มีความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นมา ลมหายใจมันจะหายไป คือมันละเอียดจนเกินไปน่ะ


        :58: :58: :58:

       บางทีนั่งอยู่เฉยๆ ลมไม่มี ที่จริงมันมีอยู่ แต่เหมือนว่ามันไม่มี เพราะอะไร เพราะว่าจิตตัวนี้มันละเอียดมากที่สุด มันมีความรู้เฉพาะของมัน มีเหลือความรู้อันเดียว ถึงลมหายใจไปแล้ว ความรู้ที่ว่าลมมันหายไปก็ตั้งอยู่ ทีนี้จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ต่อไปอีก ก็เอาความรู้นี่แหละเป็นอารมณ์ต่อไปอีก อารมณ์ที่ว่า ลมไม่มี ลมไม่มี อยู่อย่างนี้เสมอ นี่เรียกว่ามีความรู้อันหนึ่งตั้งขึ้นมาอีก
       
       ในจุดนี้บางคนอาจมีความสงสัยขึ้นมาก็ได้ เพราะตรงนี้มันจะเกิดนิมิตขึ้นมาก็ได้ เสียงก็มีได้ รูปก็มีได้ มันมีทุกอย่างได้ สิ่งที่เราคาดไม่ถึง มันเกิดขึ้นมาได้ตรงนี้ เมื่อหากว่านิมิตเกิดขึ้นมาตรงนี้ (นิมิตนี้บางคนก็มี บางคนก็ไม่มี) ก็ให้เรารู้ตามเป็นจริง อย่าสงสัย อย่าตกใจ
       
        ans1 ans1 ans1

      ทีนี้ท่านจงตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้มาก บางคนก็เห็นว่าลมหายใจไม่มีแล้วตกใจ ตกใจเพราะธรรมดาลมมันมีอยู่ เมื่อเรามาพบว่าลมไม่มี แล้วก็ตกใจว่าลมไม่มี กลัวว่าเราจะตายก็ได้ ตรงนี้ก็ให้ตั้งความรู้สึกขึ้นมา อันนี้มันเป็นอย่างนี้ของมัน เราจะดูอะไร ดูลมไม่มีนั่นอีกต่อไปเป็นความรู้ นี้ท่านจัดว่าเป็นสมาธิอันแน่แน่วที่สุดของสมาธิ มีอารมณ์เดียวแน่นอนไม่หวั่นไหว เมื่อสมาธิถึงจุดนี้ จะมีความแตกต่างสารพัดอย่างที่จะรู้ในจิตของเรา
       
       ร่างกายนี้บางทีมันเบาที่สุด เมื่อมันเบาที่สุด บางทีก็ไม่มีร่างกาย คล้ายๆนั่งอยู่กลางอากาศอย่างนี้ เบาทั้งหมด ลองนึกดูที่ไหนไม่มีแล้ว อยู่กลางอากาศอย่างนี้ ถึงแม้บางทีเรานั่งอยู่นี่ก็เปล่าทั้งนั้น ว่าง อันนี้มันเป็นของแปลก


        :sign0144: :sign0144: :sign0144:

       อันนี้ก็ให้เข้าใจว่า ไม่เป็นอะไร เราทำความรู้สึกอย่างนั้นไว้ให้มั่นคง เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง เพราะว่าไม่มีอารมณ์อะไรเข้ามาเสียดแทง อยู่นานเท่าไรก็ได้ไม่มีรู้สึกเวทนาเจ็บปวดอะไรอยู่อย่างนั้น
       
       การทำสมาธิมาถึงที่นี่ เราจะออกจากสมาธิก็ได้ ไม่ออกก็ได้ ออกจากสมาธินี่ก็เรียกว่า ออกสบาย ออกอย่างสบาย ไม่ออกเพราะขี้เกียจ ไม่ออกเพราะว่าเหน็ดเหนื่อย ออกเพราะว่าสมควรแล้วก็ออกมา ถอยออกมา

        :s_good: :s_good: :s_good:

       อย่างนี้ก็อยู่สบาย ออกมาสบาย ไม่มีอะไร นี้เรียกว่าสมาธิ จิตใจมันจะสบายถ้าเรามีสมาธิอย่างนี้ อย่างนั่งวันนี้ มาเข้าสมาธิกันอยู่สัก ๓๐ นาที หรือชั่วโมงหนึ่ง จิตใจของเราจะเยือกเย็นไปตั้งหลายวัน เมื่อจิตเยือกเย็นหลายวันนั้น จิตเราจะสะอาด เห็นอะไรจะรับพิจารณาทั้งนั้น อันนี้มันเป็นเบื้องแรกของมัน นี้เรียกว่า ผลที่เกิดจากสมาธิ

       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9570000013184
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ