สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 14, 2019, 06:06:00 am



หัวข้อ: วิธีรักษา โรคทางกาย จาก "พระไตรปิฎก"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 14, 2019, 06:06:00 am


(https://i2.wp.com/goodlifeupdate.com/app/uploads/2018/12/11fb0f80-%E0%B8%9B%E0%B8%81-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2.jpg?w=1200&ssl=1)


วิธีรักษา โรคทางกาย จาก "พระไตรปิฎก"

พระไตรปิฎกนับว่าเป็นแหล่งคลังทางปัญญา สามารถแสวงหาความรู้ได้ในหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศาสนศาสตร์ แม้กระทั่งศาสตร์ทางการแพทย์ พระพุทธเจ้าทรงเป็นแพทย์ผู้รักษาเวไนยสัตว์ให้หายจากการหลงในอวิชชาด้วยยาคือคำสอนของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาโรคทางกายด้วยวิธีทางการแพทย์ มาดูกันค่ะว่า วิธีรักษาโรคทางกายจากพระไตรปิฎก มีอะไรกันบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงจำแนกผู้ป่วยออกเป็น 3 ประเภท คือ 
     (1) ผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย
     (2) ผู้ป่วยที่รักษาหายเป็นปลิดทิ้ง และ
     (3) ผู้ป่วยที่เดี๋ยวหายเดี๋ยวไม่หาย

วิธีการรักษาโรคทางกายสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท
     (1) การรักษาด้วยสมุนไพร
     (2) การรักษาด้วยเทคนิค
     (3) การรักษาด้วยพุทธมนต์ และ
     (4) การรักษาด้วยการบำเพ็ญภาวนาทางจิต

@@@@@@

แต่ในวันนี้เราจะนำเสนอเพียงการรักษาโรคด้วยสมุนไพร ซึ่งเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมิใช่น้อย การรักษาโรคด้วยสมุนไพรในสมัยพุทธกาล ประกอบด้วยสมุนไพรจากพืช สัตว์ แร่ธาตุ และสมุนไพรหลายตัวมารวมกัน การรักษาโรคด้วยสมุนไพรมีปรากฏในพระไตรปิฎกว่า

ครั้งพระพุทธเจ้าประทับยังเมืองสาวัตถี มีภิกษุหลายรูปอาพาธ บางรูปต้องการฉันรากไม้เพื่อเป็นยา บางรูปต้องการฉันน้ำฝาดเพื่อเป็นยา บางรูปต้องการฉันใบไม้เพื่อเป็นยา บางรูปต้องการฉันผลไม้เพื่อเป็นยา บางรูปต้องการฉันยางไม้เพื่อเป็นยา บางรูปต้องการฉันยาดองเพราะป่วยเป็นโรคลมในท้อง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้บัญญัติพระวินัยว่าภิกษุฉันรากไม้ น้ำฝาด ใบไม้ ผลไม้ ยางไม้ และยาดองเพื่อรักษาโรคได้เท่านั้น

หรืออย่างกรณีพระปิลินทวัจฉะอาพาธด้วยโรคลม แพทย์ต้องรักษาท่านด้วยน้ำมันผสมน้ำเมา(เหล้า) พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตยกเว้นให้ภิกษุสามารถฉันน้ำเมาได้ในฐานะที่เป็นยารักษาโรคเท่านั้น

@@@@@@

หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่งพระอรหันต์อย่างพระสารีบุตรอาพาธเป็นไข้ตัวร้อน พระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นสหายสอบถามอาการ พระสารีบุตรขอให้พระเถระไปเก็บรากและเหง้าบัวมาเพื่อฉันเป็นยาลดไข้ให้ทุเลา พระมหาโมคคัลลานะก็ไปนำรากและเหง้าบัวมาจากสระโบกขรณีมันทากินี พอพระสารีบุตรฉันรากและเหง้าบัวแล้วอาการทุเลาลงจนหายเป็นปกติ

พระสารีบุตรป่วยอีกครั้งเป็นโรคลมเสียดท้อง พระมหาโมคคัลลานะก็ช่วยเหลือโดยการนำกระเทียมมาให้พระสารีบุตรฉัน อาการจึงดีขึ้น

พระพุทธเจ้าทรงเคยถ่ายหนักไม่ออกหลายวัน หมอชีวกโมมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์แนะนำให้พระอานนท์ทำพระวรกายของพระพุทธเจ้าให้ชุ่มเป็นเวลา 2-3 วัน (น่าจะหมายถึง การเช็ดพระวรกายด้วยน้ำ) หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าต้องเสวยยาถ่าย แต่หมอชีวกเกรงว่าการถวายยาเนื้อหยาบแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร (อาจเพราะตอนประชวร พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุมากแล้ว) ท่านจึงอบก้านบัวด้วยยาต่างๆ สำหรับช่วยขับถ่าย โดยหากทรงสูดดมหนึ่งครั้งจะช่วยให้พระองค์ทรงถ่ายหนักถึง 10 ครั้ง หมอชีวกถวายก้านบัวอบยาแด่พระพุทธเจ้า 3 ก้าน ทำให้พระองค์ทรงถ่ายหนักถึง 30 ครั้ง

@@@@@@

ระหว่างที่หมอชีวกทูลลากลับ ในใจคิดว่าพระพุทธเจ้าพึงถ่ายหนักแค่ 29 ครั้งเป็นพอ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยทิพยญาณจึงถ่ายหนักแค่ 29 ครั้ง เมื่อหมอชีวกเข้าเฝ้าเพื่อตรวจพระอาการ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราถ่าย 29 ครั้ง ตามที่ท่านแนะนำ เรื่องสร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่หมอชีวกเป็นอย่างมาก หมอชีวกถวายคำแนะนำพระพุทธเจ้าว่า ห้ามเสวยพระกระยาหารที่ปรุงจากน้ำต้มผักจนกว่าพระอาการหายเป็นปกติ

พระพุทธเจ้าตรัสถึงโทษของการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน (อาจเทียบได้กับการแปรงฟันในปัจจุบัน) 5 ประการ คือ
(1) นัยน์ตาไม่สดใส
(2) ปากเหม็น
(3) ลิ้นรับรสอาหารไม่เต็มที่
(4) ดีและเสมหะจะห่อหุ้มอาหาร 
(5) ไม่ชอบทานอาหาร

@@@@@@

มีภิกษุและภิกษุณีที่ล้มป่วยพอฉันเนื้อสัตว์แล้วหาย เช่น ภิกษุณีเป็นไข้ ฉันปลาและเนื้อแล้วหาย ภิกษุถูกผีเข้า พอฉันเนื้อสดแล้วหาย เป็นต้น

มีกรณีที่ภิกษุดื่มยาถ่ายแล้วเป็นไข้หนัก อยากฉันน้ำเนื้อต้ม นางสุปปิยาก็อาสาทำมาถวาย นางให้คนใช้ไปซื้อเนื้อที่ตลาด แต่กลับไม่มีเนื้อขาย นางสุปปิยาต้องแล่เนื้อขาของตนเองปรุงเป็นน้ำเนื้อต้มแล้วให้คนใช้นำไปถวายพระภิกษุรูปนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมายังเรือน ด้วยพุทธคุณทำให้แผลที่ขาของนางหาย

พระเวลัฏฐสีละ พระอุปัชฌาย์ของพระอานนท์ป่วยเป็นโรคฝีดาษ ก็รักษาด้วยหินผสมขี้วัว (โคมัย) แต้มตามจุดฝี
พระภิกษุถูกงูกัด พระพุทธเจ้าทรงให้รักษาด้วยยามหาวิกัฏ 4 อย่าง คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน
พระพุทธเจ้าตรัสถึงการที่ปราศจากโรค คือ ไม่เบียดเบียนสัตว์และกินอาหารแต่น้อย โรคก็จะไม่เบียดเบียน


 

ที่มา : การรักษาโรคในพระไตรปิฎก โดย วิโรจน์ นาคชาตรี
ภาพ : pixabay
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/129094.html#cxrecs_s
Bynintara1991 ,12 December 2018


หัวข้อ: Re: วิธีรักษา โรคทางกาย จาก "พระไตรปิฎก"
เริ่มหัวข้อโดย: fasai ที่ พฤษภาคม 14, 2019, 12:53:00 pm
 st11 st12 st12 st12