ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...  (อ่าน 6842 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
เคยได้รับฟังพระพุทธภาษิตว่า

  การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

 แต่วันหนึ่งได้ฟังพระรูปหนึ่งท่านบรรยาย การให้ อภัยทาน เป็น ทานที่เลิศกว่าทานทั้งปวง

 คือไม่ทราบว่า อันไหนกล่าวถูกต้อง คร้า...

 อยากให้เพื่อน ๆ ช่วยกันวิจารณ์ เนื้อหา ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ หน่อยคร้า... ฟังแล้วก็ยัง งง  ๆ อยู่

ขอบคุณคร้า.....

 :c017:
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง

pongsatorn

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 242
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 06:01:29 am »
0
ธรรมทาน คือ การให้ธรรมเป็นทาน ซึ่งคำว่า ธรรม นี้ มิใช่การบอกเล่า พูดชี้แนะ นำพุทธพจน์มากล่าว
แต่เป็นการทำให้มี ธรรม เกิดขึ้นแก่ผู้รับ ไม่ใช่เรื่องที่จะให้กันได้ง่าย ๆ เลย

คำว่าให้ ธรรมเป็นทาน นั้น ไม่ใช่ "การกล่าวธรรม"

แต่หมายถึงการทำให้บุคคลนั้น ๆ มีธรรมขึ้นมาในใจจริง ๆ เช่น

- ทำให้ผู้อื่นบรรลุอรหันต์
- ทำให้ผู้อื่นบรรลุโสดาบัน
- ทำให้ผู้อื่นเลื่อมใสในพระรัตนตรัย
- ทำให้ผู้อื่นมีศีล มีหริ โอตตัปปะ
- ทำให้ผู้อื่นมีใจเมตตา รู้จักอภัย เป็นต้น

ทั้งนี้หมายความว่า ทำให้เป็นอย่างนั้นได้จริง ๆ ไม่ใช่พยายามทำ

กล่าวได้ว่า ผู้ที่จะให้ธรรมเป็นทาน ย่อมขจัดกิเลสในจิตใจ ย่อมทำให้ใจผ่องใส่ ชื่อว่ามีใจเป็นธรรม
นอกจากจะมีธรรมประจำใจแล้ว ยังทำให้ผู้อื่นมีธรรมขึ้นได้ดุจเดียวกัน

ส่วนการให้ความรู้ทางธรรมะ แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ฟังเกิดธรรมอะไรขึ้นมาในใจสักอย่าง
อีกทั้งบางทีตัวผู้แสดงธรรมก็ไม่ได้เข้าใจในธรรมนั้นอย่างถ่องแท้
อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการให้ธรรมทาน แต่อย่างใด
บันทึกการเข้า

doremon

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 171
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 06:04:27 am »
0
มีแต่พุทธภาษิตว่า สพพทานํ ธมมทานํ ชินาติ

               การให้ธรรม เป็นทาน ย่อมชนะ การให้ทั้งปวง


ยังไม่เคยได้ยินหรือมีพุทธภาษิตว่า
               
              สัพเพทานัง อภะยะทานัง ชินาติ เลยครับ

เพราะฉะนั้น ธรรมทาน คือการให้ธรรมะ ดีสุดในหมวดทาน

อีกอย่าง การแบ่งหมวดหมู่ของทานที่เข้าข่าย
มีแต่อามิสทาน การให้สิ่งของ  กับธรรมทาน การให้ธรรมะ
ถ้าอภัยทานจะมี ก็จะอยู่ในธรรมทานเท่านั้น 

ไม่ใช่แยกออกเป็นอีกข้อต่างหาก
บันทึกการเข้า

samapol

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 304
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 06:06:52 am »
0
......พิจารณาคำว่าอภัยทาน

อภัยทาน ให้ความไม่มีภัย, ให้ความปลอดภัย

http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อภัยทาน&detail=on

จาก ปุญญาภิสันทสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=23&A=5079&Z=5126
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=129

( บางส่วน )

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ ประการนี้ เป็นมหาทาน อันบัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน
เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะเป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจายไม่เคยกระจัดกระจาย
อันบัณฑิตไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ อันสมณพราหมณ์
ผู้เป็นวิญญูไม่เกลียด

ทาน ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกใน
ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต
งดเว้นจากปาณาติบาต ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้งดเว้นจากปาณาติบาต

ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน แก่สัตว์หาประมาณมิได้

ครั้นให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน
แก่สัตว์หาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัยความไม่มีเวร
ความไม่เบียดเบียน หาประมาณมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นทานประการที่ ๑

ที่เป็นมหาทาน บัณฑิตพึงรู้ว่าเป็นเลิศ มีมานาน

......ตามนัยของปุญญาภิสันทสูตร ศีล ๕ จัดเป็นมหาทาน และอภัยทานก็จัดอยู่
ในระดับศีลนั่นเอง คือให้ความไม่มีภัยให้ความปลอดภัย ไม่เบียดเบียนแก่ชีวิต
ทรัพย์สิน ฯลฯ ของผู้ที่เราให้อภัยทาน

พิจารณา :

บุญกิริยาวัตถุ

http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=บุญกิริยาวัตถุ#find2

อภัยทานอยู่ในระดับศีล จัดเข้าในสีลมัย

ส่วนธรรมทานนั้นอยู่ในระดับปัญญา จัดเข้าในภาวนามัย
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ธรรมทาน

....ธรรมทานจึงมีอานิสงส์มากกว่าอภัยทาน

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ     สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ 
สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ    ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.

                 การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง
                 ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดี
                 ทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง
                 ความสิ้นตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.

http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=137 

  ซ้ำบางที่ ยังบอกว่า อภัยทานก็คือธรรมทาน...  ผมเลยค่อนข้างสับสนนิดหน่อย พอจะมีผู้รู้ท่านใด
ไขข้อข้องใจนี้ได้บ้างมั๊ยครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูง

.......ที่มาตอบไม่ใช่ผู้รู้นะคะ แต่เป็นผู้จำได้ว่าเคยสนทนาในเรื่องนี้มาก่อน จึงตามลิงค์มาตอบ
ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจในส่วนไหน ก็ขอให้บอกนะคะ เพราะได้สนทนาในแง่มุมต่างๆ
ไว้มาก เลือกนำบางส่วนมาตอบพอทำความเข้าใจเท่านั้น

.......ที่ว่าอภัยทานก็คือธรรมทานนั้น  มาจากอรรถกถานี้ค่ะ

อรรถกถาทานสูตร
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=278

( บางส่วน )

ในอธิการนี้ อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทานนั่นเอง.

แต่ควรอ่านทั้งพระสูตรก่อนนะคะ

ทานสูตร
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6453&Z=6470

[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรม
ทาน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ

.......ว่าด้วยทาน ๒ อย่าง

ดูคำว่าอามิส ก่อนดีกว่า ทบทวนไปด้วยกันนะคะ

อามิส เครื่องล่อใจ, เหยื่อ, สิ่งของ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อามิส

......อภัยทานก็เหมือนกับธรรมทาน คือไม่ใช่อามิส อภัยทานจึงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทาน

......จำได้ว่าเมื่อเราสนทนาในข้อธรรมนี้ดิฉันกับพี่สนุกมากเลย แต่ดิฉันถ่ายทอดไม่เก่ง
งั้นเรามาปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ กันไปเลยนะคะ

มาดูในแง่ผู้ให้ :

      การให้อภัยทาน ก็คือผู้ให้ ผู้ให้ได้รักษาศีล คือ ได้ควบคุม กาย วาจา
ไม่ให้ไปทำอันตรายผู้ที่รับอภัยทาน คือให้ความไม่มีภัย

      การให้ธรรมทานผู้ให้ ก็ต้องมีการศึกษาในข้อธรรมนั้นๆ จากการอ่าน การฟัง
( ธัมมัสสวนมัย ) และต้องมีความเห็นให้ตรง ( ทิฏฐุชุกัมม์ )จึงจะให้ธรรมทานได้
( ธัมมเทสนามัย)

        ถ้ารวมการถวายพระไตรปิฎก การให้หนังสือธรรม จัดไว้ในธรรมทาน ผู้ให้
ก็ให้โดยไม่ได้อ่านหรือทำการศึกษาก็ได้ แต่ถึงกระนั้น ผู้ให้ย่อมมีความเลื่อมใสว่า
ได้ให้ในสิ่งที่เลิศ  วิบากอันเลิศย่อมมีแก่ชนผู้เลื่อมใสในสิ่งเลิศ

ตามนัยของปสาทสูตร

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=912&Z=944&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=34

ในแง่ของผู้รับ :

      ผู้รับอภัยทาน ก็ได้รับความปลอดภัย ในชีวิต ทรัพย์สิน ไม่ถูกหลอกลวง
ด่าว่า ฯลฯ จากผู้ให้อภัยทาน

      ผู้รับธรรมทาน จะได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่เหตุปัจจัย เช่นมีความเข้าใจในธรรม
มีความเห็นตรงคือมีสัมมาทิฎฐิ บ้างก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ( จากหลายพระสูตรเมื่อ
ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ) ได้ทั้งประโยชน์ในโลกนี้ โลกหน้า กันเลยทีเดียว

       บางคนเมื่อฟังธรรมแล้ว เกิดเกรงกลัวบาปกรรม หันมาทำบุญ ละบาปก็ได้ประโยชน์
ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเลยทีเดียว

........แต่ไม่ว่าทานไหนจะได้อานิสงส์มากหรือน้อย เราก็ทำทั้งนั้น ตามเหตุปัจจัย
การพิจารณาข้อธรรมต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อการศึกษาพระสัทธรรม พิจารณาดูเหตุดูผล

การให้ทาน ( แจกจ่ายอามิส ) ก็เป็นไปเพื่อละความโลภ ละความตระหนี่
อภัยทานก็เพื่อละโทสะ ให้มีเมตตากรุณา ธรรมทานก็เป็นไปเพื่อปัญญา

........การสงสัยในข้อธรรมและถามปัญหา ก็เป็นโอกาสที่จะให้เราได้ฟังธรรมและ
ได้แสดงธรรม ทั้งยังได้ทำความเห็นให้ตรงอันเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่เรา
ได้ทำตามโอกาส และหาโอกาสที่จะทำ

ขอบคุณสหายธรรม rtid
บันทึกการเข้า

pimpa

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 138
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 06:15:31 am »
0
พิจารณาแล้ว อภัยทาน น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ ธรรมทาน คะ
 :25:
บันทึกการเข้า

สถาพร

  • พอพึ่งพาได้
  • ***
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 220
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 06:25:39 am »
0


ความสำเร็จ ๓ หมวดคืออามิสทาน อภัยทานและธรรมทาน
ด้วย ๓ หมวดคือ ทาน ศีลและปัญญา ด้วยประการฉะนี้แล.
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.3&i=36&p=6

อันนี้อามิสทานอีก
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.3&i=36&p=5

การทำความอนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนมากด้วยการสละเครื่อง
อุปกรณ์ความสุข ร่างกายและชีวิตด้วยการกำจัดภัย และ การชี้แจงธรรมเป็นข้อ
ปฏิบัติของทานบารมี.

              ในทานบารมีนั้นมีทาน ๓ อย่าง โดยเป็นวัตถุที่ควรให้ คือ อามิสทาน
 ๑  อภัยทาน ๑ ธรรมทาน ๑.



1.      อามิสทาน
              ในทานเหล่านั้น วัตถุที่พระโพธิสัตว์ควรให้มี ๒ อย่าง คือ วัตถุภายใน
 ๑  วัตถุภายนอก ๑.


1.1.
              ใน ๒ อย่างนั้น วัตถุภายนอกมี ๑๐ อย่าง คือ ข้าว ๑ น้ำ ๑ ผ้า ๑ ยาน
๑ ดอกไม้ ๑ ของหอม ๑ เครื่องลูบไล้ ๑ ที่นอน ๑ ที่อาศัย ๑ ประทีป ๑.

              บรรดาวัตถุมีข้าวเป็นต้น มีวัตถุหลายอย่าง โดยจำแนกของควรเคี้ยว
และของควรบริโภคเป็นต้น.

              อนึ่ง วัตถุ ๖ อย่าง คือรูปารมณ์จนถึงธรรมารมณ์.

              อนึ่ง บรรดาวัตถุมีรูปารมณ์เป็นต้น วัตถุหลายอย่าง โดยการจำแนกเป็น
สีเขียวเป็นต้น.

              อนึ่ง วัตถุหลายอย่าง ด้วยเครื่องอุปกรณ์อันทำความปลาบปลื้มหลาย
ชนิด มีแก้วมณี กนก เงิน มุกดา ประพาฬ นา ไร่ สวน ทาสหญิง ทาสชาย โค
กระบือเป็นต้น.

              ในวัตถุเหล่านั้น พระมหาบุรุษ เมื่อจะให้วัตถุภายนอกรู้ด้วยตนเองว่า จะ
ให้วัตถุแก่ผู้มีความต้องการ. แม้เขาไม่ขอก็ให้ ไม่ต้องพูดถึงขอละ. มีของให้จึง
ให้. ไม่มีของให้ย่อมไม่ให้. ให้สิ่งที่ปรารถนา. เมื่อมีไทยธรรมย่อมไม่ให้สิ่งที่
ไม่ปรารถนา. อาศัยอุปการะตอบย่อมให้. เมื่อไม่มีไทยธรรมย่อมแบ่งสิ่งที่
ปรารถนาให้สมควรแก่การแจกจ่าย.

              อนึ่ง ไม่ให้ศัตรายาพิษและของเมาเป็นต้น อันจะนำมาซึ่งความเบียด
เบียนผู้อื่น. แม้ของเล่นอันประกอบด้วยความพินาศ และนำมาซึ่งความประมาท
ก็ไม่ให้.

              อนึ่ง ไม่ให้ของไม่เป็นที่สบาย มีน้ำดื่มและของบริโภคเป็นต้น หรือของ
ที่เว้นจากการกำหนดแก่ผู้ขอที่เป็นไข้. แต่ให้ของเป็นที่สบายเท่านั้นอันสมควร
แก่ประมาณ.

              อนึ่ง คฤหัสถ์ขอก็ให้ของสมควรแก่คฤหัสถ์. บรรพชิตขอก็ให้ของ
สมควรแก่บรรพชิต. ให้ไม่ให้เกิดความเบียดเบียนแก่ใครๆ ในบรรดาบุคคลเหล่า
นี้ คือ มารดาบิดา ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ บุตรภรรยา ทาสและกรรมกร.

              อนึ่ง รู้ไทยธรรมดีมาก ไม่ให้ของเศร้าหมอง.

              อนึ่ง ไม่ให้อาศัยลาภสักการะความสรรเสริญ. ไม่ให้อาศัยการตอบ
แทน. ไม่ให้หวังผลเว้นแต่สัมมาสัมโพธิญาณ. ไม่ให้รังเกียจผู้ขอหรือไทยธรรม.

              อนึ่ง ไม่ให้ทานทอดทิ้ง ยาจกผู้ไม่สำรวม แม้ผู้ด่าและผู้โกรธ. ที่แท้มี
จิตเลื่อมใสให้อนุเคราะห์ด้วยความเคารพอย่างเดียว. ไม่ให้เพราะเชื่อมงคลตื่น
ข่าว. ให้เพราะเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมเท่านั้น. ไม่ให้โดยที่ทำยาจกให้เศร้า
หมองด้วยการให้เข้าไปนั่งใกล้เป็นต้น. ให้ไม่ทำให้ยาจกเศร้าหมอง.

              อนึ่ง ไม่ให้ประสงค์จะลวงหรือประสงค์จะทำลายผู้อื่น. ให้มีจิตไม่เศร้า
หมองอย่างเดียว. ไม่ให้ทานใช้วาจาหยาบ หน้านิ่วคิ้วขมวด. ให้พูดน่ารัก พูด
ก่อน พูดพอประมาณ. โลภะมีมากในไทยธรรมใด เพราะความพอใจยิ่งก็ดี
เพราะสะสมมานานก็ดี เพราะความอยากตามสภาพก็ดี. พระโพธิสัตว์รู้อยู่
บรรเทาไทยธรรมนั้นโดยเร็ว แล้วแสวงหายาจกให้.

              อนึ่ง ไทยวัตถุใดนิดหน่อย แม้ยาจกก็ปรากฏแล้ว แม้ไม่คิดถึงไทยวัตถุ
นั้น ก็ทำตนให้ลำบาก แล้วให้ยาจกนับถือเหมือนอกิตติบัณฑิต ฉะนั้น.

              อนึ่ง มหาบุรุษ เมื่อบุตรภรรยา ทาสกรรมกร บุรุษของตน ไม่ร้องเรียกถึง
ความโทมนัสขอ ย่อมไม่ให้แก่ยาจกทั้งหลาย. แต่เมื่อชนเหล่านั้นร้องเรียกถึง
ความโสมนัสโดยชอบ จึงให้.

              อนึ่ง เมื่อให้รู้อยู่ย่อมไม่ให้แก่ยักษ์ รากษส ปีศาจเป็นต้น หรือแก่
มนุษย์ผู้ทำการงานหยาบช้า.

              อนึ่ง แม้ราชสมบัติก็ไม่ให้แก่คนเช่นนั้น. ให้แก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติเพื่อความ
ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เพื่อความพินาศแก่โลกผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม คุ้มครอง
โลกโดยธรรม.

              พึงทราบการปฏิบัติในทานภายนอกด้วยประการฉะนี้.



1.2.

              ส่วนทานภายในพึงทราบโดยอาการ ๒ อย่าง.
              อย่างไร?

              เหมือนบุรุษคนใดคนหนึ่งสละตน เพราะเหตุอาหารและเครื่องปกปิดแก่
ผู้อื่น. ย่อมถึงความเป็นผู้เชื่อฟัง ความเป็นทาสฉันใด. พระมหาบุรุษก็ฉันนั้น
เหมือนกัน มีจิตปราศจากอามิสเพราะเหตุสัมโพธิญาณ ปรารถนาประโยชน์สุข
อันยอดเยี่ยมแก่สัตว์ทั้งหลาย ประสงค์จะบำเพ็ญทานบารมีของตน จึงสละตน
เพื่อคนอื่น ย่อมถึงความเป็นผู้เชื่อฟัง ความเป็นผู้ต้องทำตามความประสงค์.
ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ มอบอวัยวะน้อยใหญ่มีมือเท้าและนัยน์ตาเป็นต้นให้แก่
ผู้ต้องการด้วยอวัยวะ นั้นๆ. ไม่ข้องใจ ไม่ถึงความสยิ้วหน้า ในการมอบให้นั้น
เหมือนในวัตถุภายนอก.

              เป็นความจริงอย่างนั้น พระมหาบุรุษยังความปรารถนาของยาจกเหล่า
นั้นให้บริบูรณ์ ด้วยการบริโภคตามสบาย หรือด้วยความชำนาญของตน จึงสละ
วัตถุภายนอกด้วยอาการ ๒ อย่าง ด้วยหวังว่า เราให้ทานหมดสิ้นแล้วจักบรรลุ
สัมโพธิญาณด้วยการเสียสละอย่างนี้ดังนี้.

              พึงทราบการปฏิบัติในวัตถุภายใน ด้วยประการฉะนี้.


              ให้วัตถุภายในที่ให้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ยาจก โดยส่วนเดียว
เท่านั้น. ใช่จะให้พวกนั้น.

              อนึ่ง พระมหาบุรุษ เมื่อรู้ย่อมไม่ให้อัตภาพหรืออวัยวะน้อยใหญ่ของตน
แก่มารหรือแก่เทวดาผู้ เนื่องด้วยหมู่มาร ผู้ประสงค์จะเบียดเบียน ด้วยคิดว่า
 ความ ship หายอย่าได้มีแก่มารเหล่านั้น. ย่อมไม่ให้แม้แต่ตุ๊กตาแป้ง เหมือนไม่
ให้แก่เทวดาผู้เนื่องด้วยหมู่มาร ฉะนั้น. ไม่ให้แม้แก่คนบ้า. แต่คนพวกนั้นขอให้
ตลอดไป เพราะการขอเช่นนั้นหาได้ยาก และเพราะการให้เช่นนั้นทำได้ยาก.



2.      อภัยทาน

              ส่วนอภัยทาน พึงทราบโดยความป้องกันจากภัยที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้ง
หลาย จากพระราชา โจร ไฟ น้ำ ศัตรู สัตว์ร้ายมีราชสีห์ เสือโคร่งเป็นต้น.




3.      ธรรมทาน
              ส่วนธรรมทาน ได้แก่การแสดงธรรมไม่วิปริตแก่ผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง.

              การชี้แจงประโยชน์อันสมควร นำผู้ยังไม่เข้าถึงศาสนาให้เข้าถึง ผู้เข้า
ถึงแล้วให้เจริญงอกงาม ด้วยทิฏฐธรรมิกประโยชน์ สัมปรายิกและปรมัต-
ถประโยชน์.

              ในการแสดงธรรมนั้น พึงทราบนัยโดยสังเขปดังนี้ก่อน คือ ทานกถา ศีล
กถา สัคคกถา โทษและความเศร้าหมองของกามและอานิสงส์ในการออกจากกาม.


              ส่วนโดยพิสดาร พึงทราบประดิษฐานและการทำให้ผ่องแผ้วในธรรม
นั้นๆ ตามสมควร ด้วยสามารถการประกาศคุณของธรรมเหล่านั้นแก่ผู้มีจิตน้อมไป
แล้วในสาวกโพธิญาณ คือ การเข้าถึงสรณะ การสำรวมศีล ความคุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย ความรู้จักประมาณในการบริโภค การประกอบความเพียร
เนืองๆ สัทธรรม ๗  การประกอบสมถะ ด้วยการทำกรรมในอารมณ์ ๓๘
การประกอบวิปัสสนา ด้วยหัวข้อคือการยึดมั่นตามสมควรในการยึดมั่นวิปัสสนา
ในรูปกายเป็นต้น.

              ปฏิปทาเพื่อความหมดจดอย่างนั้น การยึดถือความถูกต้อง วิชชา ๓
อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ สาวกโพธิญาณ.


              อนึ่ง พึงทราบการประดิษฐาน การทำให้ผ่องแผ้วในญาณทั้งสอง ด้วย
การประกาศความเป็นผู้มีอานุภาพมาก ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ในฐานะแม้ ๓
อย่าง โดยหัวข้อประกาศมิสภาวะ ลักษณะและรสเป็นต้นของบารมีมีทานบารมี
เป็นต้น ตามสมควรแก่สัตว์ทั้งหลายผู้น้อมไปในปัจเจกโพธิญาณ และในสัมมา
สัมโพธิญาณ.


              พระมหาบุรุษย่อมให้ธรรมทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.



ที่มา.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา
บันทึกการเข้า
ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 09:04:25 pm »
0
การให้อภัยทาน(ธรรมทาน)ย่อมชนะเสียซึ่งทานทั้งปวง

"อภัยทานัง อามิสทานัง ชินาติ" ซึ่งแปลว่า "การให้อภัยทานย่อมชนะเสียซึ่งการให้ทั้งปวง" ดังนี้

คำว่า ทาน แปลว่า การให้


การให้นี้มีอยู่ ๒ อย่างด้วยกันที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสไว้
ให้สรรพสิ่งของต่าง ๆ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อามิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุ จะเป็นเงินหรือวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องบริโภคก็ตาม เรียกว่า อามิสทานทั้งนั้น


ทานอิกส่วนหนึ่งที่องค์สมเด็จภควันต์ทรงกล่าวก็ได้แก่ ธรรมทาน ธรรมทานในที่นี้ก็ได้แก่ การบอกธรรม คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ชี้เหตุผล ให้รุ้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อย่างนี้เป็นต้นอย่างหนึ่ง อย่างนี้เขาเรียกว่า ธรรมทาน
 
ธรรมทาน อิกส่วนหนึ่งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่าสำคัญที่สุดจัดว่าเป็น ปรมัตถทาน คือ เป็นทานที่ไม่ต้องลงทุน คือ อภัยทาน
 
ทานทั้งสองอย่างนี้ คือ อามิสทานกับอภัยทานนี้มีผลต่างกัน
อามิสทานนั้นให้ผลอย่างสูงก็แค่กามาวจรสวรรค์ ตามนัยที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสไว้ว่า "ทานัง สังคคโส ปาณัง" คือว่า การให้ทานย่อมเป็นปัจจัยเป็นบันไดไปสู่สวรรค์ นี่สำหรับ อามิสทาน


แต่สำหรับ ธรรมทาน กล่าวคือ ให้ธรรมเป็นทานก็ดี ให้อภัยทานก็ดี ให้อภัยทานก็ดี ทานทั้งสองประการนี้เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพาน

สำหรับธรรมทาน ทานที่ ๒ นี่มีความสำคัญมาก การให้ธรรมเป็นทานกล่าวคือ นำพระคำคำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เอามาแนะนำแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าเทศน์เองไม่เป็นก็ไปหาคนอื่นมาเทศน์แทน อย่างนี้ก็ชื่อว่า เจ้าภาพเป็นผู้เทศน์เหมือนกัน เรียกว่าเอาคนมาพูดแทน
 
การให้ธรรมทานเป็นปัจจัยใหญ่ เพราะการให้ธรรมทานบุคคลได้ฟังแล้วจะเกิดปัญญา สิ่งใดที่ไม่เคยรู้มาแล้วก็จะได้มีความรู้ขึ้น เมื่อมีความรู้แล้วก็เกิดความมั่นใจ มีปัญญาเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ใด บุคคลผู้นั้นก็เป็นผู้หลีกความทุกข์ได้ ถ้าปัญญามีมาก ก็หลีกความทุกข์ได้มาก ปัญญาน้อยก็หลีกความทุกข์ได้น้อย ดีกว่าคนที่ไม่มีปัญญาเลย ไม่มีโอกาสจะหลีกความทุกข์ได้ นี่ว่ากันถึงธรรมทาน

ธรรมทานอีกส่วนหนึ่งที่มุ่งหมายจะเทศน์กันในวันนี้ก็คือ อภัยทาน อภัยทานนี้เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องลงทุนด้วยวัตถุ แล้วก็เป็นทานสูงสุด พระพุทธเจ้ากล่าวว่า

ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว คำว่า ปรมัตถบารมีนี้ เป็นบารมีสูงสุดเป็นบารมีที่จะทำให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน คำว่า อภัยทาน

ก็ได้แก่ การให้อภัยซึ่งกันและกัน หามายความว่าคนใดก็ตาม เขาทำให้เราขุ่นเคือง ทำให้เราไม่ชอบใจ ด้วยกรณีใดๆก็ตาม ถ้าหากเราคิดพิจารณาเข่นฆ่าจองล้างจองผลาญ ถ้าเขาด่าเรา เราคิดว่าโอกาสสักวันหนึ่งข้างหน้าเราจะด่าตอบ เขาลงโทษเรา เราจะลงโทษเขาตอบ เขาตีเรา เราคิดว่าเราจะตีตอบ แต่โอกาส มันยังไม่มี คิดเข้าไว้ในใจว่า เราจะทำอันตรายตอบ

อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่า เป็นอาฆาต คือ พยาบาท เป็นไฟเผาผลาญดวงจิต เพราะคนที่เรากำลังคิดจะฆ่าก็ดี คิดจะประทุษร้ายก็ดี นี่เขายังไม่ทันรู้ตัว เขามีความสุข เราคนที่คิดจะทำเขานั่นแหละ ตั้งแต่แรกหาความสุขไม่ได้ คบไฟแห่งความพยาบาทมันเข้าเผาผลาญ มีแต่ความร้อนรุ่มกลุ้มใจ คิดวางแผนการต่าง ๆ ว่า เราทำยังไงถึงจะแก้มือเขาได้ โดยคนอื่นเห็นว่าไม่มีความผิด
 
อารมณ์ที่คิดอยู่อย่างนี้ ยังตัดสินใจไม่ได้ ยังทำไม่ได้ มันเป็นไฟเผาผลาญคนคิดนี่แหละ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เพราะอำนาจโทสะเข้าสิงใจ นี่อำนาจโทสะหรือพยาบาทมันเริ่มเผาผลาญตั้งแต่คิด แต่คนที่ถูกคิดประทุษร้ายนั้น เขายังมีความสุข ทีนี้ถ้าเราไปทำเขาเข้าอีก ไอ้โทษมันก็จะหนักขึ้น ทำเขาเข้าอีก เขายิ่งจะแก้มือใหญ่ ถ้าเขาไม่แก้มือ ทางกฏหมายก็จะยื่นมือมาช่วยเหลือ ความทุกข์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้น
(หนังสือ ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๑๐๖ หน้า ๗๕-๗๘)
 
ทำไมองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงไม่มีความโกรธในพระเทวทัต เพราะเขาแกล้งในทีนะ ที่เป็นคนทำความถูก ท่านเลยบอกว่าไอ้การโกรธไม่มีประโยชน์ การพยาบาทไม่มีประโยชน์ มันเป็นไฟเผาผลาญ พราะเราบำเพ็ญบารมีมาก็ปรารถนาให้ถึงซึ่งพระโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า
 
ถ้าเราไปคบกับความโกรธอยู่ก็ดี ความพยาบาทก็ดี กรรมทั้งหลายเหล่านี้มันจะกำจัดต่อความดีของเรา แม้แต่สวรรค์ชั้นกามาวจรสวรรค์ก็จะไม่ได้พบ จะพบแต่อบายภูมิทั้ง ๔ ประการ กล่าวคือ ตกในนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง หรือว่าเป็นคนที่เกิดมาเต็มไปด้วยความทุกข์บ้าง

พระพุทธเจ้าจึงทรงปรารภแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เธอจงปรารภอภัยทานเป็นสำคัญเมือบุคคลผู้ใดก็ดีที่เขาทำให้เราไม่ชอบใจ จงคิดเสียว่าเรามีกรรมเก่าที่เคยทำให้เขาไม่ชอบใจไว้มาชาตินี้เขาจึงได้ จองล้างจองผลาญเรา เราคิดให้อภัยเสีย มันก็จะปลอดภัย แล้วอิกประการหนึ่ง ถ้ามีการให้อภัยเกิดขึ้น ความเร่าร้อนของจิตก็จะไม่มี มีแต่ความผ่องใส

(หนังสือ ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๑๐๖ หน้า ๘๑)
ที่มา  เว็บพลังจิต


๑๔. การถวายวิหารทานแม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐ หลัง ) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "ธรรมทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม "การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ"

๑๕. การให้ธรรมทานแม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ "อภัยทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

การให้อภัยทานก็คือ "การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู" ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ "ละโทสะกิเลส" และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม"

อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง "พยาบาท" ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง

อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า "ฝ่ายศีล" เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน


วิธีสร้างบุญบารมี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
ที่มา  เว็บพลังจิต



อภัยทาน ให้ความไม่มีภัย, ให้ความปลอดภัย

อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก ได้แก่กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ที่เลิกให้ผล เหมือนพืชที่หมดยาง เพาะปลูกไม่ขึ้นอีก (ข้อ ๔ ในกรรม ๑๒)


ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์(ป.อ.ปยุตโต)


อภัย, อภัย- [อะ ไพ, อะไพยะ-] น. ความไม่มีภัย, ความไม่ต้องกลัว. (ป., ส.), นิยมใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น ขออภัย หมายความว่า ขอให้ยกโทษให้ ขออย่าได้ถือโทษ, ให้อภัย หมายความว่า ยกโทษให้. ก. ยกโทษ เช่น ฉันอภัยให้เธอ.
อภัยทาน [อะไพยะทาน] น. การให้ความไม่มีภัย เช่น ให้อภัยทาน. ว. ที่ให้ความไม่มีภัย เช่น เขตอภัยทาน. (ป.).


อโหสิ [อะ-] ก. เลิกแล้วต่อกัน, ยกโทษให้.
อโหสิกรรม [อะ-] น. กรรมที่เลิกให้ผล; การเลิกแล้วต่อกัน, การไม่เอาโทษแก่กัน. (ป. อโหสิกมฺม).


ที่มา พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2011, 10:06:56 pm »
0
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปัญจมวรรค ทานสูตร
อรรถกถาทานสูตร
(บางตอน)

              แสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุอมตธรรม นี้ชื่อว่าธรรมทานขั้นสุดยอด.
               บทว่า เอตทคฺคํ ตัดบทเป็น เอตํ อคฺคํ แปลว่า (ธรรมทานนี้เป็นเลิศ).
               บทว่า ยทิทํ ความว่า บรรดาทานสองอย่างเหล่านี้ ธรรมทานที่กล่าวแล้วนี้นั้น เป็นเลิศคือประเสริฐสุด ได้แก่สูงสุด.
               อธิบายว่า บุคคลจะหลุดพ้นจากอนัตถะทั้งปวง คือก้าวล่วงทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นได้ ก็เพราะอาศัยธรรมทานอันเป็นอุบายเครื่องยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน ก็ธรรมทานที่เป็นโลกิยะ เป็นเหตุแห่งทานทุกอย่าง คือเป็นรากเง่าของสมบัติทั้งปวง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

                         การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง
                         รสแห่งพระธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง
                         ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
                         ความสิ้นไปแห่งตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง
ดังนี้.๑-
                    ____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔

               ในอธิการนี้ อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทานนั่นเอง. การไม่บริโภคปัจจัยทั้งหลายเสียเอง แต่ปัจจัย ๔ อันตนพึงบริโภคแล้วแจกจ่ายแก่คนเหล่าอื่น โดยมีความประสงค์จะเผื่อแผ่แก่คนทั่วไป ชื่อว่า อามิสฺสํวิภาโค (แจกจ่ายอามิส). ความเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายน้อย แสดงอ้างธรรมที่ตนรู้แล้ว คือบรรลุแล้วแก่คนเหล่าอื่น โดยมีความประสงค์จะเผื่อแผ่ธรรมแก่คนทั่วไป ชื่อว่า ธมฺมสํวิภาโค (แจกจ่ายธรรม).

ที่มา  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=278&p=1



อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สโมธานกถา(บางส่วน)


ทานเป็นปฏิปักษ์แก่โลภะ
เมตตาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภ
อุเบกขาเป็นปฏิปักษ์แก่ความโลภ


ในทานบารมีนั้นมีทาน ๓ อย่าง โดยเป็นวัตถุที่ควรให้ คือ อามิสทาน ๑ อภัยทาน ๑ ธรรมทาน ๑.

ส่วนอภัยทาน พึงทราบโดยความป้องกันจากภัยที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย จากพระราชา โจร ไฟ น้ำ ศัตรู สัตว์ร้ายมีราชสีห์ เสือโคร่งเป็นต้น.

ที่มา  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.3&i=36&p=4

อรรถกถาด้านบนอยู่ใน

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
สโมธานกถา
สรุปการบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ


อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9478&Z=9526


ในพระไตรปิฎกไม่ได้บอกว่า อภัยทานเลิศกว่า ธรรมทาน

พุทธพจน์ที่หาเจอระบุชัดเจนว่า ธรรมทานเป็นทานสูงสุด


แต่ถ้านำคำกล่าวในหนังสือธัมมวิโมกข์ ที่ีเทศน์หลวงพ่อฤาษีลิงดำมาพิจารณา

ในหนังสือได้เขียนไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"ใครเป็นผู้มีอภัยทานประจำใจ คนนั้นก็เป็นผู้เข้าถึงปรมัตถบารมีแล้ว"

คำว่า ปรมัตถบารมีนี้ เป็นบารมีสูงสุดเป็นบารมีที่จะทำให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

             
เราลองมาดูข้อความใน อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค ทานสูตร

บรรดาทานสองอย่างเหล่านี้ ธรรมทานที่กล่าวแล้วนี้นั้น เป็นเลิศคือประเสริฐสุด ได้แก่สูงสุด.

อธิบายว่า บุคคลจะหลุดพ้นจากอนัตถะทั้งปวง คือก้าวล่วงทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นได้

ก็เพราะอาศัยธรรมทานอันเป็นอุบายเครื่องยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน

ก็ธรรมทานที่เป็นโลกิยะ เป็นเหตุแห่งทานทุกอย่าง คือเป็นรากเง่าของสมบัติทั้งปวง



ถ้าดูคำอธิบายตามพยัญชนะแล้ว จะเห็นว่า อภัยทาน กับ ธรรมทาน มีผลทำให้ถึงนิพพานได้เหมือนกัน


ปฏิเสธไม่ได้ว่า การให้อภัย ก็คือ พรหมวิหารสี่นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วย

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ขอยกตัวอย่าง "เมตตา"

เพื่อนครับ การเจริญ"เมตตาเจโตวิมุตติ" ก็ทำให้ถึงนิพพานได้เช่นกัน

และที่สำคัญอีกอย่าง พรหมวิหารสี่ ก็เป็นข้อธรรมหนึ่งในธรรมทาน



ถึงตรงนี้อาจกล่าวได้ว่า "อภัยทาน" เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ "ธรรมทาน"

หรือ "ธรรมทาน" คลุม "อภัยทาน" ไว้แล้วนั่นเอง

ซึ่งสอดคล้องกับในอรรถกถาทานสูตร ที่ีกล่าวไว้ว่า

"ในอธิการนี้ อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทานนั่นเอง"



แต่พระอาจารย์เคยคุยกับผมว่า การที่พระพุทธเจ้าไม่โกรธพระเทวทัต

แต่รักพระเทวทัต เหมือนรักตัวเองนั้น เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์

ผมคิดวิเคราะห์ดูแล้ว สรุปเอาเองว่า

ปุถุชน ให้อภัยได้เพียง กายกับวาจา เท่านั้น แต่จะให้ใจยินยอมด้วยนั้น

เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากยังมี อัตตา มานะ อยู่


ดังนั้น ที่บอกว่า การให้อภัยทานนั้น สูงกว่า ธรรมทานนั้น

หากนำความบริสุทธิ์ของจิตหรือสังโยชน์มาวัดล่ะก็

อภัยทาน ย่อมอยู่สูงกว่า ธรรมทาน ครับ

 ;) :25:

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 02, 2011, 08:16:27 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน กับ ธรรมทาน อันไหนมีอานิสงค์มากกว่าคร้า...
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2011, 02:58:48 am »
0
ขอบคุณคร้า.. ที่มาร่วมวิจารณ์ ธรรม คร้า.. ได้ความรู้ขึ้นมากเลยคร้า...
แต่ก็อยากฟังเพื่อน ๆ ชี้แนะกันเพิ่มขึ้นอีกคร้า..

 :25:
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง